ข้อสอบ(ไม่)เป็นภัยคุกคามชาติ : ว่าด้วยความเข้าใจ เรื่องที่ ‘พูดยาก’ ในวิชาสังคมฯ

“ห้องเรียนต้องสนุก และเป็นพื้นที่ถกเถียงทางวิชาการ
ช่วยกันทำให้ ‘สังคมศึกษา’ ไม่เป็นวิชาที่น่าเบื่ออีกต่อไป

นั่นอาจเป็นความตั้งใจ จนทำให้ข้อสอบปากเปล่า วิชาสาระร่วมสมัย สังคมศึกษา ของ ‘ครูบะหมี่-ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล’ โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กลายเป็นที่พูดถึงในสังคมวงกว้าง เพราะต้องยอมรับว่าข้อสอบของครูบะหมี่ แตกต่างจากข้อสอบที่ผ่าน ๆ มา

ข้อสอบปากเปล่าของครูบะหมี่ จะให้นักเรียนสุ่ม Keyword ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแหลมคม และสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย, ลี้ภัยทางการเมือง, นิติสงคราม, มาตรา 112 เป็นต้น โดยนักเรียนต้องพูดแลกเปลี่ยนความเห็น และตอบคำถามกับครูผู้สอน ซึ่งจะเห็นชอบหรือเห็นต่างอย่างไรก็ได้ ไม่มีการปิดกั้นหรือชี้นำคำตอบแต่อย่างใด บนหลักการที่ครูบะหมี่ เชื่อว่า “ห้องเรียนต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ” นักเรียนจึงจะไปได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง

แต่หลังเปิดเผยแนวข้อสอบไม่นาน ด้านหนึ่งสังคมก็มองว่า เป็นแนวคิดการเรียนการสอนที่ออกนอกกรอบ สร้างการคิด วิเคราะห์ ให้กับเด็ก แต่แน่นอนอีกด้านกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบางฝ่าย เพราะมองว่าข้อสอบอาจหมิ่นเหม่ กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ร้อนถึง สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมสั่งระงับการสอบวิชา ‘สาระร่วมสมัย’ โดยให้เปลี่ยนรูปแบบการสอบอัตนัย (เขียนตอบ) และตัด Keyword บางคำออก

ถ้าหากเป็นไปตามที่ถูกครหา การสอบปากเปล่าเป็นภัยคุกคามชาติ! แล้วข้อสอบวิชาสังคมศึกษาระดับชาติ ต้องมีหน้าตาอย่างไร ? วิชาสังคมฯ จะเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจริงหรือ ?

The Active อาสาติวเข้ม และชวนมองวิชาสังคมศึกษา ผ่านข้อสอบระดับชาติ ‘O-NET’ เทียบหลักสูตรแกนกลางอายุร่วม 20 ปี ไปกับ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้เขียนบทความ ‘กษัตริย์นิยมในสังคมศึกษาและพระราชอำนาจนำในหลักสูตรและข้อสอบโอเน็ต’

2 ทศวรรษ กับมุมมอง ‘พระราชอำนาจนำ’ ในหลักสูตร-ข้อสอบ O-NET

ในฐานะผู้เขียนบทความ ภิญญพันธุ์ เริ่มต้นอธิบายว่า บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย เป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการ และการเมืองมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยช่วงหลังทศวรรษ 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่-ต้มยำกุ้ง ทำให้คนไทยต้องหันกลับมามองตัวเองใหม่ ว่าจะมีเครื่องมือใดบ้าง เพื่อต่อกรกับชาติตะวันตก ที่เข้ามาคุมเศรษฐกิจผ่าน IMF, นโยบายควบคุมการเงินการคลัง และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว วิธีคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ และ ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ ก็ถูกเผยแพร่ในฐานะข้อเสนอใหม่ และถูกอัญเชิญเข้ามาเป็นปรัชญาในการพัฒนาชาติ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545 – 2549) และอยู่คู่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 และล่าสุดก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

“ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ บทบาทของพระมหากษัตริย์ คือ ‘ผู้นำทางรอด’ ให้กับสังคมไทยผ่านเศรษฐกิจพอเพียง หรือมาในบทบาทของพระมหากษัตริย์ ผู้ที่มีคุณธรรมเป็นต้นแบบ ดังนั้น นี่คือที่มาว่าทำไมพระมหากษัตริย์ ถึงมีอิทธิพลหรือมีอำนาจนำในระบบการศึกษาไทยมากพอสมควร”

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
No description available.
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ ยังระบุด้วยว่า แม้จะมีพระราชอำนาจนำปรากฏในหลักสูตรจริง แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญคือ ‘การปรากฏอยู่ในโอเน็ต‘ เพราะโอเน็ตเป็นข้อสอบที่ใช้วัดผลทางการศึกษา ดังนั้น แนวข้อสอบของแต่ละปีที่ออกก็จะกลายเป็นต้นฉบับในการเก็งข้อสอบในหมู่ติวเตอร์หรือครู นำไปสู่การผลิตซ้ำ และให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ยึดโยงกับพระราชอำนาจนำไปด้วย

จากการศึกษาและค้นคว้าส่วนตัวของ ภิญญพันธุ์ ยังพบว่า ในเนื้อหาของข้อสอบโอเน็ต ป.6, ม.3 และ ม.6 ในแต่ละปี มีอยู่ 3 เรื่องหลักที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้ง คือ 1. เรื่องพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้มีคุณธรรม เป็นบุคคลต้นแบบ 2. บทบาททางประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ และ 3. เศรษฐกิจพอเพียง และพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา

ทำให้พบว่าสาระวิชาประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เป็นสาระยอดนิยม ที่มีการออกเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันฯ อยู่บ่อยครั้ง สอดคล้องกับตารางสรุปข้อมูลข้างล่างนี้

ข้อมูลดังกล่าวรวบรวมจากข้อสอบวิชาสังคมฯ ที่ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ตั้งแต่ปี 2548 – 2567 โดยปีที่มีการถมดำ หมายถึง ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อสอบและเฉลยออกมาอย่างเป็นทางการ สำหรับข้อสอบของระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ถูกยกเลิกการวัดผลวิชาสังคมฯ ไปตั้งแต่ปี 2560

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า สำหรับสาระศาสนาฯ ในข้อสอบชั้น ป.6 และ ม.3 นั้นไม่ได้มีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์เลย แต่ในช่วงชั้น ม.6 กลับมีการกล่าวถึงเพิ่มขึ้นมาก

ส่วนที่เห็นเป็นรูปแบบชัดมากที่สุด พบว่า ข้อสอบสาระประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ของชั้น ม.6 นั้น กล่าวถึงสถาบันฯ ทุกปี โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2558 เป็นต้นมา ความถี่ของข้อสอบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ภิญญพันธุ์ มองว่า พอเด็กโตยิ่งขึ้น คนเขียนตำรา หรือคนวางหลักสูตรโดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ก็อาจจะให้ความสำคัญกับกระบวนการการวิพากษ์มากขึ้น ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่น่าสนใจ

ข้อสอบโอเน็ตมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคม อย่างที่เรารู้ว่า ข้อสอบเกิดขึ้นในปี 2548 และมันได้ยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองและวิธีคิดในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 และออกมาเป็นรูปธรรมอย่างหลักสูตรแกนกลางฯ ในปี 2551 ขณะที่คณะรัฐประหาร และผู้มีอำนาจนั้นให้ความสำคัญกับสถาบันฯ หลังการรัฐประหารมากขึ้นจริง ๆ”

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ เสริมว่า การรัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นหลังจากการที่มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากคัดค้านการดำรงอยู่ของพรรคไทยรักไทย ดังนั้นศัตรูหรือว่าปีศาจร้ายในสังคมไทยในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ฝั่งตรงข้ามกับ นักการเมือง ต้องมองหาผู้นำที่ถือว่ามีคุณธรรมสูงส่งมากกว่า จนเห็นได้ว่า สถานะของสถาบันฯ ถูกยกให้สูงขึ้นมากจากการตอบโต้ทางการเมืองช่วงก่อนรัฐประหาร และมีคำสำคัญจำนวนมากเริ่มปรากฏในหลักสูตร เช่น เศรษฐกิจพอเพียง, การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้หลังจากนั้นมาประชาธิปไตยมีนามสกุลห้อยท้ายอยู่เสมอ

เรื่อง สถาบันฯ เด็กไทยต้องเรียนแทบทุกชั้นปี

อีกจุดที่น่าสนใจ ภิญญพันธุ์ อธิบายให้เห็นว่า เมื่อกางตัวชี้วัดทั้ง 5 สาระวิชาจะพบว่า วิชาภูมิศาสตร์ เป็นเพียงสาระเดียวที่ไม่มีตัวชี้วัดเกี่ยวกับสถาบันฯ เลย นั่นหมายความว่าห้องเรียนไม่ต้องพูดถึงเรื่องสถาบันฯ ในวิชาภูมิศาสตร์เลยก็ได้ แต่กลายเป็นว่าข้อสอบโอเน็ตวิชาภูมิศาสตร์กลับถามถึงแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่, เศรษฐกิจพอเพียง, พระราชดำริป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ ปรากฏอยู่ในข้อสอบ เทียบเป็นสัดส่วนพอ ๆ กันกับข้อสอบวิชาศาสนาฯ ด้วยซ้ำ

“การออกข้อสอบนอกตัวชี้วัดไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็เป็นการแสดงถึง ‘พระราชอำนาจนำ’ ในวิชาสังคมศึกษาฯ โดยไม่ต้องพึ่งตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง”

หมายเหตุ: ‘สีเหลือง’ หมายถึง ปรากฏตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ในรายวิชานั้น ๆ, ‘สีเทา’ หมายถึง ไม่ปรากฏ

ตามนิยามของ สพฐ. ระบุว่า ตัวชี้วัด หมายถึง การระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรรู้และปฏิบัติได้ รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ สำหรับนำไปกำหนดเนื้อหา จัดทำหน่วยการเรียนรู้ และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดและประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน

จากตารางข้างต้นพบว่า นักเรียนไทยจะต้องเจอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แทบทุกชั้นปี (ยกเว้น ป.2) และในช่วงชั้น ม.ปลาย ก็จะมีให้เรียนและวัดผลอย่างเข้มข้น เช่น สาระศาสนาฯ ต้องวิเคราะห์หลักธรรมของราชา (ทศพิธราชธรรม), สาระหน้าที่พลเมืองฯ ต้องวิเคราะห์ความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

ภิญญพันธุ์ ยังสะท้อนว่า แม้เด็กไทยจะต้องพบเนื้อหาดังกล่าวแทบทุกชั้นปี แต่รูปแบบการออกข้อสอบ O-NET ถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ส่วนมากเป็นการวัดความจำ มีบ้างในช่วงปี 2560 – 2561 ที่เป็นข้อสอบเชิงวิพากษ์มากกว่าที่ผ่านมา เช่น

  • ข้อสอบในปี 2560 ข้อ 28 “ข้อใดเป็นพระราชอำนาจที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ”

  • ข้อสอบในปี 2561 ข้อ 29 “ข้อใดไม่ใช่พระราชอำนาจส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ”

แต่ในภาพรวมแล้ว ยังมีข้อสอบลักษณะนี้ไม่มากนัก

“ปัญหาสำคัญคือ การเน้นท่องจำ เมื่อเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ เราพูดได้ด้านเดียวแล้วไม่สามารถวิเคราะห์ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะว่าถ้าเราพูดความผิดพลาด มันก็ต้องไปถึงที่ตัวบุคคล ถ้าถามว่า ห้องเรียนมีเครื่องมือให้เด็กใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์ไหม ผมว่าไม่มีโดยตัวหลักสูตร แต่ว่าโดยตัวการสอนก็มีความพยายามสำหรับครูรุ่นใหม่ ที่จะทำตรงนี้อยู่เหมือนกัน”

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ไปต่ออย่างไร ? เมื่อครูต้องสอน นักเรียนต้องสอบ ในเรื่องที่ ‘พูดยาก’

การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไม่มีขอบเขตแน่ชัดว่าสามารถพูดหรือแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้แต่การ Retweet หรือแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็สามารถถูกฟ้องได้ ล่าสุด สถานการณ์มีความคลุมเครือมากยิ่งขึ้น ภายหลังที่พรรคก้าวไกล ถูกวินิจฉัยว่าการกระทำในการหาเสียงถึงการแก้ไข ม.112 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลอ้างถึงมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ซึ่งกำหนดไว้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ ตลอดจนไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

“การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112…”

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยข้างต้นถูกตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางว่าจะส่งผลถึงการพูด เขียน พิมพ์ และการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ ของประชาชนคนทั่วไปด้วยหรือไม่ ?

ผลกระทบของการวินิจฉัยนั้น จะลุกลามมาถึงพื้นที่ทางวิชาการในชั้นเรียนด้วยหรือเปล่า ?

และแล้วมันก็ปรากฏขึ้น เมื่อมีห้องเรียนวิชาสังคมศึกษา ต้องยุติการวัดผลในชั้นเรียน ด้วยเหตุว่า การประเมินวัดผลนั้นหมิ่นเหม่ และอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ภิญญพันธุ์ มองว่า การเรียนรู้วิชาสังคมศึกษามีอยู่หลายวิธี และการทดสอบเองก็ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว หากการทดสอบนั้น ขัดขวางต่อการแสดงออกทางวิชาการ ทำให้นักเรียนไม่อาจพูดหรือคิดได้อย่างอิสระ เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการวัดผล ไม่ใช่บิดเนื้อหาของวิชาให้เอื้อต่อการออกข้อสอบได้ง่ายจนเสียแก่นของสาระวิชา

ขณะที่การสอนเรื่องสถาบันฯ ต้องมองมุมของชาติอื่นเปรียบเทียบด้วย จะช่วยทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงการก่อกำเนิด รุ่งเรือง หรือล่มสลายในแต่ละบริบทของแต่ละประเทศ เช่น ศึกษาว่า สหราชอาณาจักร เขามีวิธีในการเรียนรู้เพื่อร่วมกันอย่างไร

ไม่ต่างจากสาระอื่น ๆ ห้องเรียนควรสอนประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ศาสนาเปรียบเทียบ เศรษฐกิจเปรียบเทียบ เพื่อทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่า เรายืนอยู่จุดไหนในสังคมโลก เข้าใจความเป็นมาของตัวเองไปพร้อมกับรู้จักความสัมพันธ์ของนานาชาติ

นอกจากนี้ ภิญญพันธุ์ ย้ำด้วยว่า ข้อสอบการวัดผลจำเป็นจะต้องมีความหลากหลายมากขึ้น อย่างข้อสอบในอเมริกา หรือแคนาดาจะให้ข้อมูลกับเด็กเป็นเล่มแล้วสอบเขียนวิเคราะห์ เป็นโจทย์ที่รัฐและสถานศึกษาต้องดูกันว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนได้ฝึกทดสอบในหลายหลายรูปแบบ ไม่งั้นเด็กไทยก็จะเป็นคนที่กาแม่น แต่ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นตัวอักษรได้เลย

“ถึงปลายทางการศึกษา จะมีข้อสอบที่มีคุณภาพและหลากหลายมากขึ้น แต่ถ้าต้นทางอย่างหลักสูตรและวิธีการสอนไม่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่เกิดประโยชน์ ห้องเรียนต้องสอนให้นักเรียนถึงวิธีการคิดและให้เหตุผลในจุดยืนของตัวเอง และนี่ไม่ใช่หน้าที่ของครูหรือโรงเรียน เพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมที่ต้องคิดร่วมกัน”

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล