สุขา ไม่สุขใจ: หากนักเรียนไทยจะมีห้องส้วมดี ๆ

“ไม่อยากเข้าห้องน้ำโรงเรียน”

เสียงของเด็ก ๆ หลายคน เมื่อพูดถึง ห้องน้ำโรงเรียน มักมีเหตุผลที่ไม่ต่างกันมากนัก คือ เรื่องสุขอนามัย ทั้งเรื่องกลิ่นและความสะอาด เมื่อห้องน้ำไม่สะอาด ก็ทำให้นักเรียนหลายคนเลือกจะไม่เข้าห้องน้ำของโรงเรียน

ช่วงวันเด็กแห่งชาติ ต้นปีที่ผ่านมา ผลสำรวจความเห็นของเด็ก ๆ เกี่ยวกับห้องน้ำโรงเรียนที่กลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย โดยการเปิดเผยของ Rocket Media Lab ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ที่สอบถามนักเรียนระดับชั้น ป.1 – ม.6 ทั่วประเทศทางออนไลน์ ยิ่งตอกย้ำถึงปัญหาห้องน้ำโรงเรียน เมื่อเด็ก 1,388 คน ให้คำตอบว่า สถานที่ที่อยากปรับปรุงที่สุดในโรงเรียนคือห้องน้ำ คิดเป็น 96.92% รองลงมา คือ ห้องเรียน 9.42% และโรงอาหาร 7.86%

ทำไม ห้องน้ำโรงเรียน จึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักเรียนหลาย ๆ คน?

ห้องน้ำโรงเรียนไทย(ควร)เป็นแบบไหน

ตาม คู่มือการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ของ กรมอนามัย ระบุว่าให้จัดให้มีห้องส้วม หรือห้องสุขาในโรงเรียนให้เหมาะสมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยกำหนดรายละเอียดว่า

ห้องน้ำชาย ต้องมีจำนวนห้องส้วม 1 ที่ ต่อนักเรียนชาย 50 คน จำนวนที่ปัสสาวะ 1 ที่ ต่อนักเรียนชาย 50 คน อ่างล้างมือ 1ที่ ต่อนักเรียนชาย 50 คน ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนชายเกิน 500 คน ให้เพิ่มอย่างละหนึ่งที่ ต่อจำนวนนักเรียนชาย 100 คน

ห้องน้ำหญิง ต้องมีจำนวนห้องส้วม 2 ที่ ต่อนักเรียนหญิง 50 คน และมีอ่างล้างมือ 1 ที่ ต่อนักเรียนหญิง 50 คน ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนหญิงเกิน 500 คน ให้เพิ่มห้องส้วม 2 ที่ และอ่างล้างมือ 1 ที่ ต่อจำนวนนักเรียนหญิงทุก 100 คน

ส่วนห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะตามคู่มือของกรมอนามัย แบ่งแยกย่อยโดยสรุป คือ ตัวเรือนส้วม ต้องสามารถปกปิดไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นจากภายนอก และสามารถป้องกันแสงแดด ลม และฝน รวมทั้งไม่เป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค

  • สร้างด้วยวัสดุทนทาน ทำความสะอาดง่าย มีระบบการขับเคลื่อนอุจจาระ และปัสสาวะลงสู่ที่เก็บกักที่ป้องกันสัตว์ และแมลง ไม่มีกลิ่นเหม็น และต้องไม่ซึมและปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำใต้ดินทุกขั้นตอน ที่สำคัญควรเลือกใช้สุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น และผนัง เป็นวัสดุไม่ดูดซับน้ำผิวเรียบ การเลือกสีควรใช้สีอ่อน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าส้วมกว้าง ไม่อึดอัด
  • ห้องส้วมต้องมีขนาดพื้นที่ภายในไม่น้อยกว่า 0.90 ตารางเมตรต่อ 1ที่นั่ง โดยต้องมีความกว้างภายในไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร และความยาวไม่น้อยกว่า 1 เมตร
  • ความสูงจากพื้นถึงเพดาน หรือสิ่งอื่นที่ติดกับคานหรือเพดานไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ทั้งที่มี่และไม่มีระบบปรับอากาศ
  • ต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศผนังกั้นห้องส้วมควรติดตั้งให้มีช่องว่างด้านบน และด้านล่าง
  • มีแสงสว่างไม่น้อยกว่า 100 ลักซ์ หรือสว่างพอมองเห็นลายมือชัดเจนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หรือหลังคาโปร่งแสงรับแสงจากธรรมชาติ จะช่วยประหยัดพลังงาน และต้องไม่ตรงกับอ่างเก็บน้ำ และพื้นห้องส้วมต้องแห้งเกือบตลอดเวลา เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดตะใคร่น้ำทั้งที่อ่างเก็บน้ำ และพื้นห้องส้วม
  • พื้นที่ห้องส้วมต้องมีความลาดเอียง ไม่น้อยกว่า 1:100 และมีจุดระบายน้ำทั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำสุดของพื้นห้อง จุดระบายน้ำทิ้งควรติดตั้งที่ดับกลื่นย้อน และดักขยะด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องส้วมมีกลิ่นเหม็น และท่ออุดตัน
  • จัดให้มีกระดาษชำระหรือน้ำสำหรับชำระ ให้เพียงพอสำหรับทุกห้อง
  • ควรจัดให้มีโถปัสสาวะและอ่างล้างมือ เป็นส่วนหนึ่งของส้วมด้วย และอ่างล้างมือต้องมีระบบดักกลิ่น และขยะ

สุขอนามัยที่ดีควรเริ่มที่โรงเรียนหรือไม่

คู่มือก็มี แต่ทำไมสุขอนามัยที่ดีถึงยังไม่ค่อยมีในห้องน้ำโรงเรียน? เมื่อมองถึงลักษณะของห้องส้วมตามที่กรมอนามัยระบุไว้อย่างละเอียด เราจึงลองไปสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนในโรงเรียนของรัฐในกรุงเทพมหานคร ถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่มีต่อห้องน้ำโรงเรียน นักเรียนส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกัน ทั้งความสะอาด กลิ่นเหม็น และท่อตัน ที่พวกเขามองว่า อาจมาจากระบบท่อของโรงเรียน รวมถึงนิสัยของการใช้ห้องน้ำของเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง

ที่น่าสนใจ คือ แม้บางโรงเรียนจะเป็นโรงเรียนของรัฐที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับแถวหน้า “ห้องน้ำโรงเรียน” ก็ยังเป็นปัญหาหนักใจของเด็ก ๆ ที่อยากให้แก้ไข ซึ่งการแก้ไขจำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากนักเรียนและผู้บริหาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พวกเขาอยากให้ช่วยรับฟังปัญหาของนักเรียน

“ห้องน้ำโรงเรียนมีรอยขีดเขียนบนกำแพง ห้องน้ำท่อตันไม่กล้าใช้ เพราะท่อตัน อยากให้น้ำสะอาด“

“ห้องน้ำรวมของโรงเรียนดูแลไม่ทั่วถึง สกปรก อยากให้ห้องน้ำใช้ได้ทุกห้อง”

“ห้องน้ำโรงเรียน บางห้องน้ำสภาพไม่ดี อยากให้พัฒนาห้องน้ำ“

ปัญหาเรื่อง ห้องน้ำโรงเรียน ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่ยังรวมไปถึงโรงเรียนต่างจังหวัด 

นักเรียนชั้น ม.ปลาย ในโรงเรียนของรัฐ จ.นราธิวาส บอกว่า นอกจากเรื่องความสะอาดแล้ว ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่ทำให้ห้องน้ำ ไม่ใช่ที่ปลดทุกข์ของนักเรียนเสมอไป

“ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็นและมียุง แม้จะมีการสร้างห้องน้ำใหม่แต่ห้องเก่ายังแคบ เสื่อมสภาพ ถังน้ำในห้องน้ำสกปรก มีตะกอน อยากให้ห้องน้ำสะอาดและกว้าง ผู้บริหารโรงเรียนควรมาแก้ไขดูแล เพราะเรื่องกลิ่นของห้องน้ำก็เป็นปัญหาใหญ่เหมือนกัน”

ดูเหมือนว่า ห้องน้ำสกปรก ประตูชำรุด ไม่มีกระดาษชำระ และนักเรียนทิ้งขยะเรี่ยราด จะกลายเป็นทุกข์ร่วมของนักเรียนไปแล้ว พวกเขาอยากให้ห้องน้ำสะอาด สะดวก และเหมาะกับการขับถ่ายปลดทุกข์

พวกเขาไม่ได้หวังว่านี่เป็นแค่หน้าที่ของผู้บริหารของโรงเรียนที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ยังหมายถึงตัวนักเรียนเองด้วยที่ต้องช่วยกันรักษาความสะอาด เพราะห้องน้ำโรงเรียนไม่ได้มีแค่นักเรียนหรือบุคลากรในโรงเรียนใช้เท่านั้น แต่รวมถึงคนภายนอกที่เข้ามาติดต่อหรือทำกิจกรรมกับโรงเรียน ห้องน้ำโรงเรียนจึงเหมือนหน้าตาของโรงเรียนด้วย

จากความเห็นทั้งหมด สะท้อนว่า แต่ละโรงเรียนไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็มีมีปัญหาเรื่อง ห้องน้ำโรงเรียน ต่างกันไป และส่วนใหญ่ต้องการให้เปลี่ยนจากส้วมนั่งยอง เป็นส้วมแบบนั่งราบ รวมถึงการให้ความเห็นในเรื่องการดูแลรักษาอนามัยไว้ว่า หน้าที่การรักษาความสะอาดเป็นหน้าที่ของทุกคนรวมถึงนักเรียน ไม่ใช่หน้าที่ของแม่บ้านหรือคุณครู

แล้วงบประมาณในการปรับปรุงห้องน้ำมาจากไหน

หากเป็น โรงเรียนเอกชน งบประมาณส่วนนี้มาจากค่าธรรมเนียมการศึกษาและเงินบริจาคจากผู้ปกครอง ซึ่งโรงเรียนเอกชนบางแห่งอาจใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนรายบุคคลจากกระทรวงศึกษาธิการด้วย

ส่วนงบประมาณในการปรับปรุงห้องน้ำของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นงบประมาณจากภาครัฐ ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จัดสรรให้โรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ หรือโรงเรียนสามารถเขียนแผนขอปรับปรุงห้องน้ำแยกได้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุง

ส่วน โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการใช้งบประมาณหลัก ๆ สองส่วน คือ เงินจัดสรรโดยเทศบาล และเงินอุดหนุนจากกรมปกครองส่วนท้องถิ่น

ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้ว ห้องน้ำโรงเรียนเทศบาล งบประมาณการก่อสร้างจะได้รับการจัดสรรโดยเทศบาล แต่ในส่วนของการดูแลซ่อมแซม จะใช้เงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นงบประมาณรายบุคคลที่ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียน

ส่วนการบริหารจัดการห้องน้ำ มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายอาคารสถานที่และนักการภารโรง แต่ละปีจะมีการทำ Big Cleaning โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วม ฝ่ายอาคารสถานที่จะมีหน้าที่ประเมินตรวจความสะอาด นอกจากนั้น โรงเรียนได้มีการให้ความรู้กับนักเรียนในการดูแลความสะอาดห้องน้ำ โดยสภานักเรียน และคุณครู

ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ บอกอีกว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงห้องน้ำให้ทันสมัย พร้อมใช้งาน โดยการดูแลห้องน้ำโรงเรียนมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่อง งบประมาณ และการให้ความรู้เพื่อดูแลรักษาความสะอาดแก่นักเรียน

โรงเรียนไม่น้อย ต้องปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน จากการบริจาค

เทใจดอทคอม แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคม เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่โรงเรียนใช้เป็นพื้นที่กลางระดมทุนปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน

สิรินาถ ต่อวิริยะเลิศชัย ที่ปรึกษาโครงการเทใจฯ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา โครงการที่เทใจฯ เข้าไปช่วยเหลือให้การปรับปรุงห้องน้ำ มีประมาณ 2-3 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนจากภาคอีสาน โดยโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือจะมีการระบุงบประมาณที่แตกต่างกัน เช่น งบประมาณเพื่อการปรับปรุง หรืองบประมาณเพื่อการสร้างใหม่ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อห้อง จนถึง 30,000 บาทต่อห้อง โดยการปรับปรุงจะสามารถใช้โครงสร้างจากห้องน้ำเดิมได้ ส่วนการสร้างใหม่ต้องเปลี่ยนจากฐานรากใต้ดิน 

ก่อนโรงเรียนจะขอความช่วยเหลือมาที่เทใจฯ บางโรงเรียนจะส่งโครงการไปที่ต้นสังกัดก่อน หากมีงบประมาณของรัฐอยู่แล้ว เทใจฯ จะไม่เข้าไปก้าวล่วง แต่เมื่อโรงเรียนไม่มีความมั่นใจว่าจะได้งบประมาณในส่วนนี้ และมีความจำเป็นต้องใช้ จึงดำเนินการเขียนแผนขอสร้างห้องน้ำมายังเทใจฯ ซึ่งการเป็นช่องทางการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) อาจไม่ได้จำนวนเงินตามเป้าที่วางไว้ โรงเรียนจึงต้องไปหางบประมาณเพิ่ม เช่น ไปขอจากหน่วยงานอื่นหรือวัด อีกตัวเลือกคือการใช้วิธีลดจำนวนห้องน้ำ สิรินาถ จึงอยากให้กระทรวงฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจโรงเรียนก่อนที่จะปรับปรุง การสร้างห้องน้ำต้องมีการติดต่อกับงานก่อสร้าง ติดต่อกับโรงเรียน เพราะบางโรงเรียนไม่มีความรู้ว่าต้องสร้างห้องน้ำในลักษณะใด

แฟ้มภาพ: สิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย

สิรินาถ ยังบอกอีกว่า ความจริงแล้วไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องห้องน้ำโรงเรียน ยังมีเรื่องของโรงเรียนบนดอย ที่ต้องการไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ การสร้างอาคารเรียน ให้ครูเป็นคนดูแล ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งยังไม่ทราบว่าต้องเริ่มตรงไหน ทำแผนขอสร้างหรือปรับปรุงอย่างไร อยากให้มีการทำงานเชิงบูรณาการ ให้ผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาประเมินและให้ความช่วยเหลือ

ผ้าป่าการศึกษา หนึ่งในตัวเลือกหาทุนปรับปรุงห้องน้ำ – โรงเรียน

การทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษา เพื่อใช้ในการปรับปรุงโรงเรียน กลายเป็นอีกตัวเลือกของโรงเรียนในประเทศไทย 

เมื่องบประมาณที่ได้จากงบประมาณของรัฐไม่เพียงพอ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมห้องน้ำโรงเรียนที่ดี จึงไม่ใช่สิทธิที่นักเรียนทุกคนควรได้รับและเข้าถึง

แม้นักเรียนต้องมีส่วนช่วยในการรักษาความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน แต่การเอื้อให้เด็ก ๆ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และมีสุขอนามัยที่ดี ก็เป็นโจทย์ของโรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน 

แน่นอนว่า ผลสำรวจความเห็นจากเด็กนักเรียนหลักพันคน ไม่อาจเป็นตัวแทนของเด็กนักเรียนไทยอีกหลายล้านคนในประเทศได้ แต่นี่ก็เป็นอีกครั้ง ที่เสียงของเด็ก ๆ สะท้อนว่าเรื่องที่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ อาจจะไม่เล็ก เมื่อสุขอนามัยของเด็กสัมพันธ์กับการบริหารจัดการงบประมาณและวัฒนธรรมความสะอาดที่ทุกคนต้องช่วยกัน


อ้างอิง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วิฆเนศ ตรีตรง

นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ วิชาโทภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล