ฟัง & แฟร์ …นับหนึ่งให้ถึงร้อย

วงศกร จูเจี่ย | ผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks 2021

วงศกรเป็นกระบวนกร นักออกแบบการเรียนรู้ที่สนใจการพัฒนานวัตกรรมและการค้นพบตัวเอง แต่ก่อนที่เขาจะเข้าสู่แวดวง NGO หรือนักพัฒนาที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน วงศกรเคยทำงานในภาคการเงินและการเป็นติวเตอร์ แต่เส้นทางชีวิตของเขาที่หักเหก็คงเหมือนกับหลายคนที่ประสบกับวิกฤตโรคระบาด 

เขาเป็นคนหนุ่มอายุราว 30 เป็นคนสระบุรีและใช้ชีวิตวัยเรียนที่โคราช ก่อนจะเข้ามาเรียนสาขาวิชา Engineering Management ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร แล้วทำงานในภาคการเงิน เขาย้ายงานหาประสบการณ์การทำงานในหลายบริษัท เขาพูดติดตลกว่าตอนเด็ก ๆ คิดว่าถ้าทำงานเกี่ยวกับการเงินแล้วจะรวย ในขณะที่ทำงานด้านการเงินเขาก็ทำงานเป็นพาร์ทไทม์ติวเตอร์ไปด้วย

ฟัง

ช่วยเล่าประวัติให้ฟังหน่อย เราจะได้รู้จักกันมากขึ้นอีกนิด

วงศกร : ที่บ้านผมทำธุรกิจส่วนตัว ผมโตมากับร้านค้า ทุกเสาร์ อาทิตย์ผมจะเข้ากรุงเทพฯ บ่อย บ่อยมาก ๆ พอตี 3 ผมต้องตื่นเตรียมตัวขึ้นรถเข้ากรุงเทพฯ กับพ่อแม่ ส่วนใหญไปจตุจักรเพื่อซื้อของมาขายที่ร้าน ผมก็ชินกับการนอนรอในรถ สักพักสาย ๆ ก็ไปสำเพ็ง เยาวราช บางทีไปประตูน้ำ บางครั้งปล่อยแม่กับน้าซื้อของ พ่อแวบพาผมไปเที่ยวสยามสแควร์ จำได้ครั้งหนึ่งผม 3-4 ขวบ พ่อพาผมไปขอลายเซ็นนักร้องสองคนที่เป็นผู้หญิง ตอนนั้นพ่อเป็นแฟนคลับโดโจ ซิตี้ ทำให้ผมชอบฟังเพลง แม่ชอบโมเดิร์นด็อก ตอนท้องผมแม่ชอบเปิดเพลงบุษบา น้าเป็นติ่งแกรมมี่ แต่พอผมโตขึ้น ผมเป็นติ่งอาร์เอส 

ที่ร้าน ตอนเด็ก ๆ หลังเลิกเรียนผมช่วยพ่อแม่ขายเทปด้วย ผมชอบดนตรี เคยอยากเรียนมิวสิคโปรดักชั่น แต่ด้วยความที่เราเชื่อว่าเราเล่นดนตรีห่วย ที่บ้านก็ไม่เชียร์ ผมก็เลยเปลี่ยนสายไปเรียนบริหาร แต่ถึงแม้จะไม่ได้เรียนดนตรี สำหรับผมดนตรีก็เป็นแหล่งพลังให้ผม ชาร์จพลังงาน เหนื่อยหรือล้าก็มาฟังเพลงเหมือนเป็นการเยียวยาตัวเอง

วงศกรเล่าให้ฟังต่อหลังจากทำงานมาสักพัก เขาลาออกจากบริษัทด้านการเงิน และวางแผนว่าจะพักการทำงานสัก 2-3 เดือนเพื่อทบทวนชีวิตและวางแผนการทำงานในอนาคตให้ชัดเจนแล้วจะกลับไปลุยงานใหม่ แต่ขณะนั้นคือการเริ่มต้นของวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น ไม่นานต่อมา โลกที่เคยรู้จักก็เปลี่ยนไปตลอดกาล แผนการชีวิตที่วางไว้ต้องพับเก็บแล้วดิ้นรนกับชีวิตเบื้องหน้า 

ช่วงปี 2563 วงศกรเริ่มต้นการทำงานเป็น NGO ด้านสิทธิมนุษยชน เขาได้ไปเข้าร่วมการเป็นอาสาสมัครผ่านการชักชวนของเพื่อนโดยไปเป็นครูสอนภาษาในพื้นที่ห่างไกล และจุดเปลี่ยนของชีวิตเริ่มขึ้นตรงนี้ คือก่อนการเป็นครูอาสาฯ จะต้องผ่านเวิร์กช็อปการพัฒนาศักยภาพการเป็นครู คอร์สหนึ่งที่วงศกรได้เรียนรู้ คือการพัฒนาทักษะการฟังแบบ deep listening หรือ active listening ทำให้เขาได้เห็นอาณุภาพบางอย่างของการฟังเมื่อให้เวลาตัวเองในการฟัง (คนอื่น) มากพอ ทำให้เขาเห็นมุมมองบางอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งปกติเรามักจะเลือกฟังในสิ่งที่เราอยากจะได้ยิน สิ่งที่เราไม่อยากได้ยินเราจะถูกเซ็นเซอร์โดยอัตโนมัติ ทำให้เราอยู่ใน echo chamber ประสบการณ์ตอนนั้นทำให้วงศกรกล้าที่จะฟังเสียงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง เขาบอกว่าการได้ฟังคนหลายกลุ่มมันช่วยได้ มากแม้ว่าสิ่งที่กำลังฟัง บางครั้งขัดกับหลักการความเชื่อของเขา แต่มันก็ทำให้เขาเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นทั้งของคนอื่นและของตัวเราเอง 

คุณเป็นกระบวนกรที่ออกแบบการเรียนรู้ การพบกับคนเห็นต่างคงเป็นเรื่องปกติ อะไรทำให้สนใจเข้าร่วม Thailand Talks 

วงศกร : ผมอยากฝึกทักษะการฟังของผมให้มากขึ้น อยากรู้ว่าถ้าผมต้องไปฟังคนเห็นต่างจากเรามาก ๆ คนที่มี mind set ต่างจากเราคนละขั้ว เราจะสามารถพูดคุยกับเขาต่อได้ไหม อยากสังเกตตัวเอง เวลาได้ยิน key word บางคำที่มันขัดแย้งกับความคิดของเรา หรือไม่ถูกจริตเราจะรู้สึกยังไง รับมือกับมันได้ไหม

คุณอยากฟังเรื่องอะไรมากที่สุด 

วงศกร : เรื่องการเมือง เพราะการเมืองเป็นอะไรที่ท้าทาย มันเป็นความเชื่อที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเรา ความแตกต่างของเจเนอเรชัน แล้วมันก็มีประเด็นหลากหลาย คือถ้าเราได้ไปคุยกับคนที่มีมุมมองคนละ perspective เราจะคุยได้ไหม 

เล่าประสบการณ์ในการคุยกับคนเห็นต่างให้ฟังได้ไหม 

วงศกร : คู่คุยของผมน่าจะเป็นคนรุ่นที่อายุเท่ากับพ่อแม่ผม คือน่าจะประมาณ Gen X เขาจะรู้สึกว่า Gen Y, Z ค่อนข้างก้าวร้าว ไม่ค่อยให้ความเคารพกับคนที่มีอายุมากกว่า เราก็คุยกันเรื่องม็อบที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องทางการเมืองสร้างปัญหายังไง ผมก็ได้เห็นนะว่าเขามองยังไง ตอนแรกผมก็อึดอัดเหมือนกัน อยากจะแย้ง แต่ก็ฟังต่อไป ฟังไปฟังมา พอรู้ว่าทำไมเขาคิดแบบนั้นผมก็เห็นด้วยบางเรื่องนะ ผมคิดว่าพอเราเข้าใจมันทำให้เราเปิดใจรับฟังเขามากขึ้น ทำให้เรามองข้ามความขัดแย้งทางการเมือง คุยกันเรื่องอื่น ๆ ต่อได้ ฟังเสร็จผมก็อธิบายมุมของผม ผมรู้สึกดีเหมือนกันนะที่บทสนทนามันมีความเคารพซึ่งกันและกัน คือในระหว่างคุยไม่มีใครแย้งหรือเถียงในขณะที่อีกผ่ายพูดยังไม่จบ ซึ่งถ้าเทียบกับก่อนที่ผมจะฝึกกระบวนการการฟัง ผมไม่รอนะ อะไรที่ผมรู้สึกว่าเขาเข้าใจผมผิด ผมจะแย้งทันที รู้สึกว่าอยากอธิบาย ไม่อดทนฟัง หลังฝึกการฟังจริงจังมันก็ดีขึ้น มีประสบการณ์การฟัง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น

ตอนฝึกทักษะการฟังครั้งแรก ๆ สมัยตอนเป็นครูอาสาฯ ใช่ไหม มันเป็นยังไง 

วงศกร : แรก ๆ คุยกับคนที่เห็นต่างกันมาก ๆ ผมอึดอัดนะ ต้องจิกเบาะตลอด (ทำให้ดู) ทุกเบรกผมเข้าไปสบถในห้องน้ำ หยาบคาย เพราะทนไม่ไหว ไม่เข้าใจว่าเขาคิดแบบนั้นได้ไง เอาอะไรมาคิด เราไม่อยากจะยอมรับมัน แต่ในกระบวนการมีข้อแม้ว่าเราต้องฟัง เราก็อดทนฟังต่อไป ทุกวันก็ฟังไปเรื่อย ๆ ฝึกไปจนวันสุดท้ายเรารู้สึกว่าเออ… มันแปลก เพราะผมรู้สึกดีอยากจะคุยกับคนที่ทำให้ผมอึดอัดตลอดหลายวันที่ผ่านมา มาคิดดูผมก็แปลกใจตัวเองเหมือนกัน จากคนที่ไม่อยากฟังเขาพูด กลายมาเป็นเพื่อนกัน ผมคิดว่ามันคือผลของการพยายามทำความเข้าใจด้วยการฟัง เราเลยอยากเรียนรู้เรื่องนี้ต่อ 

ฟังแล้วพูดตอนไหน 

วงศกร : รอจังหวะตอนที่เขาถาม ผมมองว่าถ้าเขาถามเมื่อไหร่แสดงว่าเขาอยากรู้ 

ความจริงผมก็อยากพูดบ้างนะ แต่ในความเป็นจริงบางทีก็ไม่มีจังหวะให้พูด ผมก็ไม่พูดก็ได้ (หัวเราะ) ก็ฟังต่อไปก็แค่นั้นครับ… ฟัง 

รู้สึกเสียโอกาสไหม

วงศกร : ก็รู้สึกเสียดายนะ แต่พอเอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้รู้สึกโกรธอะไร เสียดายเฉย ๆ 

ฟัง

คุณคิดว่าคนเห็นต่างคุยกันได้ไหม 

วงศกร : ได้นะ แต่…เราต้องฟังให้เป็นก่อน มันเป็นประตูที่สำคัญมาก มันเป็น input ถ้าเราเซ็นเซอร์เรื่องที่เราไม่อยากฟังตั้งแต่แรก การเรียนรู้ก็ไม่สมบูรณ์ การไม่ตั้งใจฟังและรีบสรุปทำให้เกิดความเข้าใจผิด แค่ฟังให้จบเรายังทำไม่ได้ เราจะไปตัดสินคนอื่นได้ยังไง แล้วผมก็พิสูจน์กับตัวเองมาแล้วว่า ตั้งแต่เริ่มฟังความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ผมไม่สามารถฟังเรื่องอื่น ๆ ได้ ผมฟังได้ทุกเรื่อง สนุกขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น 

เคยไหมที่รู้สึกเป็นทุกข์กับการฟัง เช่นเคยเจอบางคนที่เขาใช้อารมณ์มาก ๆ 

วงศกร : ก็เคยนะครับ ผมเคยเจอคนที่พูดโดยใช้อารมณ์มาก ๆ เราก็กลัวเหมือนกันนะ แต่ก็พยายามใช้คำถามเพื่อให้เขาอธิบาย ถามไปฟังไป บางคนเวลาเขาได้อธิบาย เขาก็ calm down ก็โอเค แต่บางคนก็ยังใช้อารมณ์ไม่หยุด พอได้จังหวะเราก็ถามเขานะว่า “ผมเข้าใจนะพี่ แต่พี่ไม่คิดบ้างเหรอว่าผมจะรู้สึกยังไง ที่พี่ใส่อารมณ์กับผมแบบนี้” ที่ถามเพราะอยากให้เขาได้คิดถึงคนอื่นบ้าง แต่บางทีก็ไม่ได้ผลนะ เขาก็ยังใช้อารมณ์อยู่ดี 

ผมคิดว่าบางทีเราต้องรู้ว่าเรารับได้แค่ไหน นอกจากฟังคนอื่นแล้ว เราต้องฟังเสียงตัวเองด้วย ถ้าไม่ไหว เรามีสิทธิ์ที่จะพอ เราไม่จำเป็นต้องฟังจนจบทุกครั้งตลอดไป เราต้องแฟร์กับตัวเองด้วย 

เวลามีความคิดขัดแย้งกับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะ คุณได้คุยกับพวกเขาไหม 

วงศกร : คุยครับ แต่ยาก (หัวเราะ) พูดตรง ๆ ว่ายาก คือผู้ใหญ่เขารู้สึกว่าเขาผ่านประสบการณ์โชกโชนมาก่อน เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิดเขาเชื่อมันจริงนะ ซึ่งทำให้ยากที่เขาจะเปิดใจ โชคดีที่ผมกับพ่อแม่มีมุมมองทางการเมืองคล้ายกันอยู่ เลยคุยกันง่าย แต่มันก็มีประเด็นอื่น ๆ ที่คุยกันยากอยู่ เช่น การที่ผมไม่มีศาสนา พ่อแม่เขาก็กังวล แต่เขาก็ไม่ต่อต้านนะ เขาก็พยายามชักชวน สวดมนต์ไหม ไปทำบุญที่วัดนั้นวัดนี้กันไหม ไปอาบน้ำมนต์ไหม คือเรารู้สึกแบบ เราไม่ได้มีความเชื่อแบบนั้น มันก็มีความขัดแย้งในใจ คือเขาพยายามให้เราเชื่อในแบบที่เขาอยากให้เป็น เมื่อก่อนผมก็คุยเรื่องนี้ คุยบ่อย แต่ผมคิดว่าถึงอย่างไรเขาก็เชื่อเหมือนเดิม ผมก็เชื่อเหมือนเดิม ไม่มีใครเปลี่ยนความคิดใครได้ บางเรื่องก็คุยกันไม่ได้ ก็แค่ไม่ก้าวก่ายกัน ถือเป็นเรื่องส่วนตัว


Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน