ทุกที่มีความต่าง เราต้องอยู่กับความเห็นต่าง

สมภพ กฤตยาวรกุล | ผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks 2021

เขาเป็นคนคุยเก่ง และน่าจะคุยสนุก แม้จะเป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งพบกันครั้งแรก ผมรู้สึกว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไม่เงียบเหงา เดดแอร์อาจจะไม่เกิดขึ้น หรือหากมี ก็คงเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เขาแซวตัวเองขำๆ ว่า “ไอทีขี้โม้”

บุคลิกของเขาต่างจากภาพจำของคนไอทีที่มักไม่ค่อยพูด ทักษะการคุยไม่ค่อยมี โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า เพราะคนในสาขาอาชีพนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับระบบและภาษาคอมพิวเตอร์ โดยที่พวกเขาไม่ต้องไปยุ่งกับใคร ความแตกต่างที่เป็นคนชอบคุยของสมภพ อาจจะเป็นเพราะพื้นเพครอบครัวที่หล่อหลอมให้เขามีตัวตนอย่างทุกวันนี้

สมภพเป็นคนอีสาน เกิดที่มหาสารคามและเติบโตในครอบครัวคนจีนครอบครัวใหญ่ เขาเป็นคนสุดท้องของพี่น้อง 9 คน เขาคงเป็นเจเนอเรชันท้าย ๆ ที่มีพี่น้องในครอบครัวมากขนาดนี้ ลูกชายของพี่สาวคนโตอายุเท่ากับเขา สมภพเป็นเด็กเรียนดี และเป็นคนที่เรียนสูงที่สุดในบ้าน โดยพื้นเพพ่อแม่ของเขาทำงานหนัก เคยทำไร่แถวจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ก่อนจะปักหลักและเปลี่ยนอาชีพมาทำธุรกิจร้านขายของชำ 

“คุณรู้ไหม ร้านขายของชำของครอบครัวผมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันไม่เคยหยุด เราผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนช่วยกันเฝ้า วันตรุษจีน สงกรานต์ ปีใหม่ เราก็ไม่เคยหยุด ร้านเราเลยขายดี เพราะคนอื่นหยุดหมด” สมภพเล่าให้ฟังถึงร้านขายของชำที่มีทำเลอยู่ใกล้สถานีขนส่ง และความขยันของพ่อแม่เชื้อสายจีนที่ส่งต่อมายังรุ่นลูก 

ความต่าง

การเป็นลูกชายคนเล็กของบ้าน ได้สิทธิพิเศษไหม

สมภพ : ไม่นะ อาจจะเป็นเพราะพี่สาวคนก่อนหน้าผมได้รับการสปอยไปแล้ว ผมเหมือนลูกหลงที่ห่างจากเขาสี่ปี พ่อแม่ก็เลี้ยงผมมาปกติ ช่วยงานที่บ้านเหมือนกับพี่น้องคนอื่น ๆ สมัยเป็นเด็ก ผมจะส่งการบ้านครูคนแรก ไม่ได้ขยันอะไรหรอก แต่เพราะผมจะได้มีเวลาเล่นที่โรงเรียนก่อนกลับบ้าน เพราะถ้ากลับบ้านแล้วเป็นอันจบ ผมต้องช่วยพ่อแม่ขายของที่ร้าน ขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อของส่งของ บางครั้ง ที่ถามว่าทำไมผมชอบคุยกับคนแปลกหน้า อาจจะเป็นเพราะตั้งแต่เด็กผมชอบการบริการนะ ชอบคุยกับคน คุยกับลูกค้า อีกอย่างผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อาจจะเพราะการเป็นคนอีสานที่กินง่าย อยู่ง่าย เข้ากับคนง่าย อย่างไปทำงานที่อินเดีย บังกลาเทศ ผมชอบหาอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ กิน ก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องท้องเสีย หลังเลิกงานก็ชอบไปต่อกับเพื่อนร่วมงาน เป็นคนแบบนี้

ตอนเด็ก ๆ ถูกคาดหวังไหม 

สมภพ : เขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเรามาก อาจจะเพราะเขายุ่ง และเขาไม่มีความรู้ว่าการทำงานในสายอาชีพใหม่ ๆ เป็นยังไง เขาก็ปล่อยให้เราคิดเองทำเอง 

ถึงแม้เขาจะเรียนสายบัญชี เพราะคุ้นเคยกับการค้าขาย แต่สมภพเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์เมื่อเห็นอาจารย์เขียนโปรเเกรมแล้วรู้สึกว่ามันสนุก ทั้ง ๆ ที่อาจารย์ท่านนั้นสอนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เขาก็เกิดความคิดว่าถ้าเขาทำงานในสายคอมพิวเตอร์และสามารถเขียนโปรแกรมสำหรับสายงานอื่น ๆ ได้ ก็น่าจะสนุกกว่าทำบัญชีที่เรียนอยู่ เขาจึงเริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับอาจารย์ท่านนั้น และหัดเขียนโปรแกรม ครูพักลักจำบ้าง หาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม หากไม่เข้าใจอะไรก็ถามอาจารย์ จนความสนุกสนใจกลายเป็นความหมกมุ่น 

“ผมเลยเลือกเรียนต่อภาคไอที ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คลอง 6 เราเป็น “สายอ้อม” คือไม่ได้เรียนมาโดยตรง ผมก็ว่าผมเก่งแล้วนะ มั่นใจพอสมควร แต่พอมาเจอเด็กกรุงเทพฯ สายอ้อมเหมือนกัน ผมรู้สึกว่าเขาเก่งกว่าเรามาก ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เช่น ความสามารถเฉพาะตัว ความรอบรู้ หรือคุณภาพการศึกษา ผมก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนั้น การเป็นเด็กต่างจังหวัดมีครอบครัวใหญ่มาอยู่หอพักคนเดียวก็ต้องปรับตัวมาก คือมันมีแรงเสียดทานทั้งภายในภายนอก แต่ก็ปรับตัวจนรอดมาได้ มองในแง่ดีอยู่กับคนเก่งทำให้เราพัฒนาตัวเอง ถึงตอนนี้เป็นหัวหน้าฝ่ายแล้ว ลูกน้องบางคนก็เก่งกว่าผม ผมไม่อายนะที่จะถามลูกน้องในเรื่องที่เราไม่รู้ ผมถือว่าเราก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน เขาสอนผมเรื่องเทคนิค ผมสอนเขาเรื่องการจัดการ การพัฒนาศักยภาพ” สมภพเล่าต่อเนื่องถึงชีวิตขณะที่ออกมาโบยบินตัวคนเดียวในเมืองหลวง 

ปัจจุบันสมภพเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ผ่ายไอที ของเอ็นจีโอจากอเมริกา ดูแลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก  17 ประเทศ เขาจึงมีโอกาสเดินทางหลายประเทศทั่วเอเชีย รับผิดชอบระบบทั้งหมด เขามีหน้าที่ดูแลระบบเน็ตเวิร์ก ซัปพอร์ตยูสเซอร์ ให้ราบรื่น จึงต้องประสานงานกับผู้ใช้ที่มีจำนวนมาก 

ความต่าง

คุณทำงานกับคนหลากหลายวัฒนธรรม และความเชื่อ คุณมีวิธีการทำงานยังไง

สมภพ : เราต้องทำงานโดยยึดถือธรรมเนียม กติกาขององค์กร เป็นหลัก เช่น ทีมงานในต่างประเทศมีวัฒนธรรมความเชื่อ ค่านิยมต่างกันออกไป ไทย อินเดีย มาเลย์ อินโด อาจจะคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งมันก็อาจจะไม่ราบรื่น แต่ผมก็มักจะบอกกับทีมว่าแม้คุณจะมีเรื่องวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่าง แต่ในการทำงานเราก็ต้องยึดหลักเกณฑ์ขององค์กรเป็นหลัก ให้คิดเรื่องค่านิยมของตัวเองเป็นรอง มันควรจะมีไม้บรรทัดอันเดียว เมื่อเรายึดกติกาของบริษัทเป็นหลักการทำงานในบริษัทก็จะราบรื่น ทุกคนทำงานด้วยกันได้ด้วยหลักการอันเดียวกัน ถ้าใครบอกว่าทำไม่ได้ ผมก็คิดว่าคน ๆ นั้นไม่เหมาะกับบริษัท

ในทีมเล็ก ๆ ก็มีความต่าง ทุกที่มีความต่าง ในหมู่บ้านก็ยึดหลักหมู่บ้าน ประเทศก็มีกฎหมายของแต่ละประเก็เหมือนกัน

คุณทำงานไอที ได้เข้าไปแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียบ้างไหม

สมภพ : ผมก็เข้าไปแสดงความคิดเห็นเหมือนกันนะบางที เขาฟังกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางทีก็โดนด่ากลับมานะ เดือดนะ มีอารมณ์โกรธเหมือนกัน ผมพิมพ์สวนกลับไปอย่างเร็วเลย แต่พอจะกดส่ง ก็ได้มาหยุดคิด หยุดให้ใจเย็นก่อน แล้วค่อยตอบ บางทีเราก็ลบทิ้ง พิมพ์ใหม่แบบใช้เหตุผล ทะเลาะกันแบบเกรียนคีย์บอร์ดมันไม่จบครับ ทางที่ดีเราควรจะหยุดคิดก่อน บางทีก็ตอบ “ครับ” อย่างเดียวแล้วก็ตัดใจให้มันจบไป ยิ่งในองค์กรนี่ต้องหยุด พิจารณาให้ดี ความเข้าใจผิดบางทีมันเกิดขึ้นได้ 

ถ้าเถียงกันบางทีผมก็ยอม ไม่อยากเถียงต่อ 

อะไรทำให้คุณสนใจอยากคุยกับคนแปลกหน้าที่เห็นต่าง

สมภพ : ผมอยากรู้ความคิดของคนอื่น ๆ เราอยากรู้คนอื่นเขาคิดยังไง พอดีเราได้คุยกับคนที่คล้าย ๆ กัน เป็น NGO กับคนที่คุยด้วยเราไม่คุยเรื่องการเมืองนะ ไม่อยากทะเลาะกัน ที่อยากคุยก็เรื่องสังคม เรื่องการศึกษา เพศศึกษา ในวัยรุ่น ในสถานศึกษา 

การสอนเพศศึกษาในไทยเป็นยังไง 

สมภพ : วัฒนธรรมไทยเราก็ไม่สอนเด็ก เหมือนที่รู้กัน ครูไม่พูด พ่อแม่ไม่พูด แล้วเด็กจะเรียนรู้จากใคร ก็เรียนรู้จากเพื่อน พอรู้จากเพื่อนก็พลาดกัน เพราะบางทีก็มีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่ก็มีอคติว่าวัยรุ่นจะเอาไปทดลองทำกัน อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักสูตรที่องค์กรของเราเข้าไปให้ความรู้คือ “สอนให้รู้เท่าทัน ไม่ใช่สอนให้ทำ” เพราะยังไงเด็กวัยรุ่นก็ทำอยู่แล้วเมื่อมีโอกาส ดังนั้น ก็ควรสอนให้รู้วิธีป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร วิธีการคุมกำเนิด หรือไม่ติดโรค

บางสังคมผู้ใหญ่มีอคติเราเข้าไปให้ความรู้ผ่านเขาไม่ได้ เราก็เข้าไปสอนเด็กบางคนที่มีแนวโน้มที่จะเข้าใจ มีวุฒิภาวะพอที่จะสอนเพื่อน ให้เข้าใจเรื่องเพศศึกษาแล้วให้เขาไปสอนเพื่อนอีกที 

แล้วเหตุผลของการมีศีลธรรมอันดี ?

สมภพ : มันเป็นธรรมชาติ  

คุณมีความคิดเห็นยังไงกับการสมรสเท่าเทียม

สมภพ : ผมรับได้นะ องค์กรที่ทำงานอยู่มีเพศทางเลือกเยอะ เขาก็เป็นพลเมืองจะรักกัน จะสมรสเพศเดียวกันไม่เห็นแปลก ตั้งแต่เรียนมัธยมเพื่อนที่สนิทกันก็เป็นเพศทางเลือกกันหลายคน ทุกวันนี้ก็คบกันอยู่ บางคนก็ข้ามเพศแล้ว ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ในการที่จะรักและการเลือก ทางสังคมผมว่าก็เปิดกว้างขึ้นมากแล้ว แต่เรื่องกฎหมายนี่ผมไม่ได้ตามนะ ไม่แน่ใจว่าเป็นยังไง แต่คิดว่าคงมีกฎหมายเรื่องมรดกอยู่ด้วย ผมคิดว่าถ้าพวกเขาสมรสกันแล้วมีคนหนึ่งตายจากไปคู่สมรสก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิทธิมรดกนั้นนะ ก็เขาอยู่กันมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาทั้งชีวิต

คุณไม่อยากคุยเรื่องการเมืองหรือ 

สมภพ : ในครอบครัวไม่เคยคุย เพราะผมประเมินแล้วว่าคุยไม่ได้ ก็ไม่คุย ครอบครัวเดียวกันผมไม่อยากให้มีปัญหา ชอบคุยเรื่องสัพเพเหระมากกว่า เวลาผมกลับบ้าน ผมก็อยากสบายใจ พี่น้องทะเลาะกันบางทีมันไม่จบ บางทีก็เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เหมือนเพื่อน บางทีทะเลาะกันก็หาย มันไม่มีความช้ำใจ คนไม่รู้จักทะเลาะกันไม่ต้องคุยกันก็ได้ผมไม่แคร์อะไร แต่กับครอบครัวเป็นเหมือนบ้าน เราก็อยากกลับบ้านด้วยความสบายใจ 

เรื่องการเมืองกับเพื่อนเราก็ไม่คุยนะ มันเหมือนรู้กันเอง เราคุยเรื่องอื่น เรื่องงาน เรื่องไอที 

แต่ช่วงพีค ๆ มันก็มีนะ คุยในบางบริบทกับบางคน แต่ก็ไม่ทะเลาะนะ 

  • The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening
  • ดูคลิปสัมภาษณ์ “สมภพ” ใน

Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน