สิ่งที่เราเชื่อ เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริง

เคล็ดวิชา คุยกับคนเห็นต่าง : บทเรียนที่ 1 

คุณเคยหงุดหงิดเวลาได้ฟังเรื่องราวที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่ตรงกับความเชื่อของเราไหม? 

แล้วคุณเคยตัดสินว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่ถูกต้อง” หรือเปล่า? 

เชื่อว่าคงมีสักครั้งในชีวิตของเรา ที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ เพราะมันคือธรรมชาติของมนุษย์ ที่มักรู้สึกปลอดภัยเสมอกับสิ่งที่เป็นเหมือนเรา แต่เราจะรู้สึกถูกคุกคาม เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่แตกต่าง

ณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรผู้เชี่ยวชาญสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างโลกภายในของตนเอง เพื่อเชื่อมโยงกับโลกของคนอื่น นำไปสู่การหลอมรวมความเชื่อและความรู้เข้าด้วยกัน เขามองว่า ความเชื่อที่ต่างกัน ไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งที่ทำร้ายกัน หากเรายังเคารพในความคิดของอีกฝ่าย โดยที่ ไม่คิดไปก่อนว่าเรื่องที่เราเชื่อนั้น “ถูกต้องทั้งหมด”

เศษเสี้ยวของความจริง กับสำนวน “ตาบอดคลำช้าง”

คุณเคยได้ยินสำนวนไทย “ตาบอดคลำช้าง” ไหม? ณัฐฬส ถามพร้อมยกตัวอย่าง สำนวนนี้สะท้อนว่าคนตาบอดไม่ว่าจะมีกี่คน แต่ต้องมาคลำช้างตัวเดียวกัน อาจคลำโดนคนละจุด แต่เมื่อต้องถามว่า “ช้าง” ลักษณะอย่างไร อาจได้รับคำตอบที่แตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่คำตอบของทุกคน คือ สิ่งเดียวกัน เขากำลังจะบอกว่า “ทุกคน ล้วนมีชิ้นส่วนของความจริง” ทั้งสิ้น

คนส่วนหนึ่ง มักเข้าไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นด้วยเจตนาที่จะ “ยืนยันว่าเราถูก แต่เขาผิด” ถ้าต่างฝ่ายต่างมีเจตนาแบบนี้ การสนทนาจะจบลงทันที แต่เราต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้น ถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเรามักเผลอคิดว่า “สิ่งที่เราเชื่อ” เป็นจริงทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะความเชื่อของแต่ละคนมาจากประสบการณ์ และข้อมูลที่แตกต่างกัน สิ่งนี้เป็น “สมมติฐาน” ของความเชื่อที่ทุกคนต้องเข้าใจ

แต่ถ้าเราตั้งเจตนาว่า “เราอยากลองคุยดู” เผื่อความคิดของเขาอาจมีอะไรที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน เราอยากเรียนรู้อะไรบางอย่างที่มากไปกว่าเดิม หรือเขาอาจจะยังไม่รู้มุมมองของเรา และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวเขาด้วย ถ้าเรามีทัศนคติที่โฟกัสไปที่ “การเรียนรู้” จะทำให้เรามีพื้นที่ในใจ เพื่อเปิดรับความคิดของคนอื่นมากขึ้น

“แต่ละคนมีชิ้นส่วนของความจริง การพูดคุยกันจะเป็นการปะติดปะต่อความจริงของกันและกัน โดยไม่ถือว่าสิ่งที่ตัวเองยึดถือนั้น จริง 100% ตั้งเจตนาของการสนทนาว่า “เราอยากลองคุยดู” เผื่อความคิดของเขา อาจมีอะไรที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน มันคือการโฟกัสไปที่การเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ความเข้าใจของเราเอง…” 

เมื่อ “ความแตกต่าง” คือ ภัยคุกคามในใจ ห้ามได้ด้วย “การรับฟัง”

ณัฐฬส เล่าว่า ปกติความขัดแย้ง เกิดขึ้นจากความคิดเห็นและความเชื่อที่ต่างกัน แต่ความแตกต่างกันตรงนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งที่ถึงขั้นทำร้ายกันได้ หากแต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์ คือ ความไม่เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ถ้าคน 2 คนคุยกัน แล้วใช้คำว่า “แลกเปลี่ยน” การ “แลก” อาจจะทำได้ทันที แต่การจะ “เปลี่ยน” อาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก หากเราไม่เคารพกัน

ด้วยความเคารพ นะคะ/นะครับ แต่ลึก ๆ จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้เคารพกันจริงหรอก…ณัฐฬส กล่าว เพราะการเคารพหมายความว่า เราต้องฟัง ในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ตั้งใจจะยัดความเห็นของเราให้อีกฝ่ายเท่านั้น ต้อง “ฟังให้เป็น” อย่ารีบขัดจังหวะ คนเราเมื่อได้ยินเรื่องที่ไม่เห็นด้วย มันจะมีเสียงข้างในที่อยากเถียงทันที ความคิดที่แตกต่างมันเป็น “ภัยคุกคาม” ของเรา ที่ต้องรีบกำจัดมันทิ้ง การมองผู้อื่นเป็นศัตรู อาจทำให้เกิดอารมณ์ และเราจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นความเห็นที่ต่างกันสุดขั้ว เราจะยิ่งมีอารมณ์กับสิ่งที่เราให้คุณค่ามาก เมื่อเราถูกคุกคามทางความคิด ควรทำอย่างไร?

“หายใจลึก ๆ กลับมาตั้งสติ” เมื่อเราได้ยินเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ให้มองว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองของเขา ให้หยุดมาตั้งหลัก ก่อนจะกระโจนไปทำร้ายอีกฝ่ายด้วยคำพูด หรืออารมณ์ 

“ไม่ขัดจังหวะ” ต้องรับฟัง อย่างใจเย็น หากมีเรื่องอยากถกเถียง อาจบอกเขาว่า “ถ้าคุณพูดจบแล้ว ผมขอแลกเปลี่ยนได้ไหม” เป็นการสื่อให้เขาพูดให้กระชับลง และเป็นการแสดงความเคารพอีกฝ่ายด้วย หากฝ่ายใดฝ่ายนึงไม่ยอมให้อีกฝ่ายพูดให้จบ มักนำไปสู่การทะเลาะกัน

“ใช้คำถาม เป็นเครื่องมือ” ในการพูดคุย ถ้าเราเจอความคิดที่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เราอาจจะต้องถามว่า ทำไมคุณถึงคิดแบบนี้? เพื่อค้นหาว่า เขาเชื่อด้วยกรอบคิดอะไร ความต้องการอะไร ประสบการณ์ส่วนตัวอะไร ก่อนที่เราจะสรุปว่า ที่เขาเชื่อแบบนี้ เพราะเขา… 

“หากเรารู้ข้อจำกัดของความคิด ว่ามันไม่สามารถอธิบายความจริงได้ทั้งหมดด เรื่องที่เราคุยกันเป็นแค่เศษเสี้ยวของความจริง การสนทนาที่ดี เป็นการช่วยกันสืบค้น ด้วยจิตใจที่อยากรู้ และอยากเข้าใจอีกฝ่าย และเราสามารถแขวนความเชื่อของเราไว้ก่อนได้…” 

มองหาประโยชน์ในเรื่องที่เขาพูด แม้เพียง 1% ก็ตาม

ถ้าอยากเป็นนักสนทนาที่ดี และคุยกันได้อย่างราบรื่น ณัฐฬส แนะนำว่า เราต้องพยายามค้นหา “ประโยชน์” จากความคิดอีกฝ่ายให้ได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ฝึกเปิดใจของตัวเอง และมองหาว่าสิ่งนั้นมีส่วนจริงมากแค่ไหน มีประโยชน์กับใครบ้างหรือไม่ แล้วเรื่องที่เขาพูดจะช่วยเติมมุมมองของเราให้ชัดเจนได้บ้างหรือไม่ 

การฟังที่ดี ไม่ได้ฟังแค่คำพูด ภาษาพูดไม่สามารถอธิบายทุกอย่างได้ แต่เราต้องฟังด้วยท่าทีของการสังเกต ว่าเขาพยายามจะบอกหรือร้องขออะไรหรือไม่ ในสิ่งที่เขาพูด มีอะไรหรือไม่ที่ไม่ได้สื่อออกมา แม้คำพูดเขาอาจจะเป็นลบทั้งหมด แต่ต้องค้นหาให้ได้ ว่าเขาจะบอกอะไร มากกว่ายึดถือเพียงสิ่งที่เขาพูดเท่านั้น

“แทนที่จะไปลดคุณค่าของเขา เรามองหาประโยชน์จากคำพูดของเขาดีกว่า บอกแค่ว่าคุณคิดแบบนี้ ผมเห็นต่างนะผมอยากขอแลกเปลี่ยนได้ไหม นี่เป็นทักษะในการค้นหาว่า ทั้งหมดที่พูดมา มีส่วนที่เราเลือกที่จะเรียนรู้ได้เท่าไหร่ ช่วยกันและกันในการเข้าถึงความจริงที่ซับซ้อนมากขึ้น…”

ณัฐฬส บอกว่า วิธีการนี้จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่สนทนา “ไว้เนื้อเชื่อใจ” กันมากขึ้น เป็นหลักการให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ ก่อนเข้าสู่การแก้ปัญหา บ่อยครั้งที่เราคุยกัน แต่มุ่งไปที่การตัดสินว่าผิดหรือถูก แต่ลืมไปว่าเราต้องอยู่ด้วยกัน พึ่งพาอาศัยกัน โดยเฉพาะ “คนในครอบครัว” ความสัมพันธ์นี้เป็นเหมือนสะพาน ถ้าสะพานขาดไปแล้ว เราจะข้ามไม่ได้ และเราจะ Unfriends กันไป สุดท้ายจะขาดโอกาสในการเรียนรู้ 

เริ่มพูดคุยด้วย “พื้นฐานความเป็นมนุษย์” 

“ผมชอบมีอารมณ์ขันนะ การมีบ้างจะทำให้เราไม่ยึดถือความคิดตัวเองมากเกินไป…” ณัฐฬส แนะนำเมื่อถามว่า ถ้าบทสนทนามันไม่เดินต่อไป ควรทำอย่างไร  ท่าทีสำคัญของการพูดคุย คือการ “ไม่ด่วนสรุป” อย่าเพิ่งไปจัดพวกให้กับเขาเวลาเจอคนแปลกหน้า แล้วตั้งป้อมที่จะรับมือเขา เพราะมองว่าเขาน่าจะเป็นคนแบบนั้น เป็นคนแบบนี้ นั่นเรากำลังสร้างกำแพงในการกำหนดพฤติกรรมตัวเอง 

เริ่มจาก “ความเป็นมนุษย์” ทักทาย พูดคุย สารทุกข์ สุขดิบกัน อาจใช้เวลาไม่เยอะมาก อย่าเพิ่งกระโดดไปที่ประเด็นที่ต้องพูดคุยกันเท่านั้น พูดคุยเรื่องชีวิตของกันและกัน จะเป็นการเริ่มต้นเพื่อมองหาวิธีการที่จะเดินทางกันไป แลกเปลี่ยน “ความรู้สึก” กันบ้าง คุยไปสักพักแล้ว อาจถามกันว่า กังวลอะไร รู้สึกยังไง กลัวเรื่องอะไร คาดหวังอะไรหรือไม่  “ค้นหาสิ่งที่มีค่าสำหรับเขา ไม่ใช่ของเรา” เราจึงจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเข้าใจแบบนั้น 

“การยืนบนพื้นฐานการเคารพกันสำคัญมากที่จะสร้างบรรยากาศและพื้นที่ปลอดภัยให้เรากล้าที่จะบอกว่าในใจเราคิดอย่างไร โดยที่เคารพว่าทุกคนมีสิทธิที่จะยึดมุมมองเดิมของตนเอง และอาจเปลี่ยนได้ เมื่อเห็นมิติบางอย่างที่เป็นประโยชน์…”

เพื่อให้การสนทนาราบรื่น เน้นการพูดให้กระชับ และใช้เวลาไม่มากเกินไปต่อคำถาม และพูดคุยกันทีละเรื่อง อย่าตั้งเป้ามาบรรยาย หรือโน้มน้าวใครให้เปลี่ยนความเชื่อ การพูดอย่างเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูด อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ยุติธรรม สังเกตคนฟังว่าเขาฟังอย่างไร เขายังสนใจเราหรือไม่ การที่เขามี Reaction แบบไหน กำลังสะท้อนว่าเขารู้สึกอย่างไรกับเรา…ณัฐฬสกล่าว

อย่าสร้างแผลในใจผู้ฟัง และรักษาตัวเองเมื่อบาดเจ็บจากการสนทนา

หลายกรณี เราพูดคุยกับคนที่เห็นต่างกับเรา ความเห็นที่กระแทกใส่เรา อาจทำให้เราบาดเจ็บ ณัฐฬส มองว่าเรื่องนั้นอาจเป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือความรู้บางอย่างในอดีตของเรา เช่น เรามีประสบการณ์สูญเสียคนรัก แล้วได้รับคำพูดที่ทิ่มแทงใจเรา ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะจะรู้สึกว่าสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวมันไม่ได้รับการมองเห็น ไม่ให้เกียรติ หรือลบหลู่ความคิดเรา… ต้องดูแลตัวเองก่อน 

หยุดคุยได้ทุกเมื่อ หรืออยากเบรกสักหน่อยก็ทำได้ ทบทวนตัวเอง ว่าตอนนี้ยังคุยไหวไหม หรือ อาจต้องถามเขา ว่าที่เขาพูดแบบนี้เพราะอะไร เนื่องจากเรารู้สึกไม่ดีแล้ว เพื่อให้เขาร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดคุยกัน แต่ถ้าเกิดมิติของการเปิดใจจริง ๆ เราไม่อยากทำร้าย ไม่อยากกดทับใคร เราอยากรับรู้และเปิดเผยความคิดเห็นของเรา และรับฟังอีกฝ่าย ถ้าตรงนี้เป็นความตั้งใจจริง ก็ต้องพร้อมเรียนรู้ เพราะอาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีได้

เช่นเดียวกัน หากเราเป็นฝ่ายที่ต้องพูด ต้องไม่เป็นการตัดสิน หรือลดคุณค่าของใคร ภาษาที่ใช้มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากแสดงความคิดเห็นอย่างไร ต้องเลือกคำ โดยระลึกไว้เสมอว่า เขาอาจจะเคารพในสิ่งนั้น อย่าทำให้ความคิดของเขาตกต่ำ หรือลดค่าความเป็นมนุษย์ของใคร แม้จะมีคนจำนวนไม่น้อย ที่พูดอะไรโพล่ง ๆ แบบนี้ออกไปแล้วสะใจ รู้สึกว่าได้รับชัยชนะก็ตาม 

“คำพูด เป็นได้ทั้ง อาวุธ ที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บ หรือเป็นดอกไม้ ที่เชื้อเชิญให้คนอยากฟัง คำพูดจะเป็นประตู หรือกำแพงขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้คำอย่างไร ถ้าเราอยากรับผิดชอบคำพูดของเรา เราต้องไม่ทำให้อีกฝ่ายถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ไป…”

ก่อน ณัฐฬส จะปิดท้ายว่า สังคมทุกสังคมยังไงก็ต้องเจอปัญหา เมื่อปัญหาหนึ่งจบไป ก็จะเกิดใหม่ขึ้นมาอีก แต่หัวใจสำคัญ คือ การเรียนรู้ (Learning) ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะหาวิธีการแก้ปัญหาอะไร ให้เหมาะสมกับยุคสมัยนี้ ความต่างอายุ และต่างความคิดสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ขอเพียงเราเคารพความคิดของกันและกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์