คำต่อคำ “ทำไมต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม?”

ปรากฏการณ์ จับ – ปล่อย…

จับ – ปล่อย แกนนำชุมนุมทางการเมือง เป็นอีกครั้งที่ “กระบวนการยุติธรรม” ถูกท้าทายภายใต้การเรียกร้องให้ยกเครื่องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ

โดยเฉพาะขั้นตอนการปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ที่หลายฝ่ายมองว่า ไม่เป็นไปตาม “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” หรือ ป.วิอาญา

สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) หรือ Institute of Justice Reform เป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

แม้ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” จะเป็นวาระสำคัญ ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ว่าจะต้องดำเนินการหลังรัฐประหาร เมื่อปี 2557

เนื้อหาเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถูกบรรจุไว้เป็นประเด็นสำคัญ ทั้งใน “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” และ “คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ” ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน รวมถึง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม” ที่ อัชพร จารุจินดา เป็นประธาน

แต่ผ่านมากว่า 6 ปี หลายปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข…

The Active คุยกับ พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถึงโจทย์ใหม่ที่เข้ามาท้าทายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง

ศาลยกฟ้อง = กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว

สังคมไทยคิดว่า “คำพิพากษายกฟ้อง” เป็นเรื่องที่ดี แต่ถูกแค่บางส่วน เพราะถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาก็เดือดร้อน หรือ ถ้าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ศาลยกฟ้อง ก็เท่ากับฟอกความผิด หรือกรณีที่ผู้เสียหายต้องการหาคนผิด ศาลยกฟ้องก็เท่ากับยุติกระบวนการค้นหาความจริง
ดังนั้น โดยหลักการ ศาลยกฟ้องไม่ควรมี

“ประเทศเรามีจำเลยต่อสู้คดีแล้ว ศาลยกฟ้องราว 40% ขณะที่ประเทศเจริญแล้วทั่วโลกจะมีแค่ 1% หรือน้อยกว่านั้น เพราะเป็นความเสียหายของกระบวนการยุติธรรมอย่างใหญ่หลวง…”

“หมายจับล้น” สะท้อนความวิปริตกระบวนการยุติธรรมไทย

“หลักสากล คือ ต้องแจ้งข้อหาให้ยาก แจ้งแล้วศาลได้ลงโทษจริง ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายเรียก หรือ หมายจับ ไม่ควรออกกันง่าย ๆ แบบในปัจจุบัน การปฏิบัติต้องยึดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่า คดีที่มีโทษจำคุก 3 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียก…”

เขายกตัวอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ที่มีโทษจำคุก 5 ปี เมื่อมีคนไปแจ้งความว่าโพสต์ข้อความเป็นเท็จ ตำรวจก็เสนอศาลออกหมายจับ โดยยังไม่ได้เรียกไต่ถามว่าผิดหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ พันตำรวจเอก วิรุตม์ มองว่า เป็นการนำคนมาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ

“การจับ ไม่ได้หมายถึงต้องยื้อยุดเสมอไป การที่เอาคนมาอยู่ในความควบคุม หรือ มีหมายจับแล้วบอกว่า คุณถูกจับแล้ว ก็ถือเป็นการจับมาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐแล้ว เพราะฉะนั้น จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น…”

เขาบอกว่า การจะจับกุมหรือควบคุมตัวใคร จะอยู่บนพื้นฐานข้อสันนิษฐานว่า 1. ถ้าไม่จับ อาจจะข่มขู่หรือทำลายพยานหลักฐาน หรือที่เรียกว่ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และ 2. อาจจะหลบหนี หรือไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง

ส่วนกระบวนการจับกุมที่ไปควบคุมตัวในตอนกลางคืน ตรงนี้ไม่มีระเบียบควบคุม เขาเสนอให้ ผบ.ตร. ออกระเบียบในการออกหมายจับ และการฝากขัง ไม่ควรมี

“พร้อมถูกจับ เมื่อจับแล้วฟ้อง ฟ้องแล้วศาลลงโทษ ประเทศเจริญทั่วโลกไม่มีการฝากขัง เรือนจำเรามีผู้ต้องขังทั้งที่เป็นนักโทษอยู่ระหว่างพิจารณา ประมาณ 3.5-3.8 แสนคน
ในนั้นเป็นคนที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา 60,000 คน แล้วใครรับผิดชอบ”

หลักการ The presumption of innocence

“หลักการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เราก็ใช้หลัก presumption of innocence หมายความว่า ให้สันนิษฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นหลักยุติธรรมสากล เป็นอุดมคติ และอยู่ในรัฐธรรมนูญ”

แต่เขาบอกว่าในความเป็นจริง เจ้าพนักงานยุติธรรมหลายฝ่ายไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติของรัฐธรรมนูญ มีจำนวนหนึ่งยังคิดว่า ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้กระทำความผิด การปฏิบัติจึงไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะออกหมายเรียก หรือหมายจับก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามอุดมคติของรัฐธรรมนูญคืออะไร

“เจ้าพนักงานยุติธรรมที่อยู่ในระบบทหาร จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แม้ว่าคำสั่งนั้นจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามตามข้อเท็จจริง”

“ระบบเราไม่เอื้อ” คือสิ่งที่ พันตำรวจเอก วิรุตม์ มองเห็น เขาบอกว่าเจ้าพนักงานยุติธรรม โดยเฉพาะในชั้นสอบสวน อยู่ในระบบทหาร ตำรวจไทย อยู่ในยศแบบทหาร พนักงานสอบสวน ก็อยู่ในระบบยศแบบทหาร เมื่อมียศ มีวินัยแบบทหาร ทุกอย่างก็ต้องทำตามคำสั่ง ทั้งที่ในความเป็นจริง เจ้าพนักงานยุติธรรมไม่ควรจะมียศ ประเทศที่เจริญทั่วโลก ไม่มีระบบนี้

ข้อเสนอตรวจสอบอำนาจ-ลดหมายล้น

เขาบอกว่า นอกจากแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การออกหมายเรียกและหมายจับ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ เพื่อตรวจสอบว่าเมื่อพยานหลักฐานออกมาแล้ว ออกหมายเรียกมาแล้ว เพียงพอที่จะฟ้องลงโทษได้หรือไม่ จากนั้นค่อยอนุมัติให้จับ รวมถึงต้องตรวจสอบว่าเพียงพอที่จะฟ้องหรือไม่ และต้องมั่นใจว่า จับมาแล้วฟ้องแน่ ขณะที่อัยการต้องพัฒนาความคิดเรื่องการสั่งฟ้อง โดยต้องมั่นใจถึงระดับที่สิ้นสงสัยจึงมีความเห็นสั่งฟ้อง ศาลจะพิจารณาลงโทษ

“การพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ต้องอยู่ในชั้นสอบสวน พนักงานอัยการต้องร่วมตรวจสอบ และตำรวจต้องทำตามพนักงานอัยการ เพราะอัยการจะเป็นผู้ฟ้อง บกพร่อง 2 ทอด ชั้นออกหมายเรียก อัยการไม่รับรู้ สุดท้ายแม้จะไม่กระทำผิดก็ต้องตะแบงเสนออัยการฟ้อง เพราะกลัวจะฟ้องกลับ อัยการกลัวตำรวจเดือดร้อนก็ฟัองให้ทั้งที่รู้ว่าไม่ผิด เห็นแต่คำให้คำการ แต่ไม่เห็นพยานหลักฐาน”

พันตำรวจเอก วิรุตม์ มองว่า สังคมไทยยังอยู่ในขั้นการให้อัยการเข้าไปตรวจสอบการสอบสวน ไปร่วมสอบสวน แต่การออกหมายเรียกหรือหมายจับ ยังไปไม่ถึง ตำรวจเป็นคนออกหมายเรียกเอง ออกหมายจับเอง

เขายกตัวอย่าง กรณี คนถูกจับตามหมาย แต่ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขัง เพราะมีคนถือหมายมารอจับอีก แล้วข้อเท็จจริงปรากฏว่าหมายนั้นเขาเคยมอบตัวในคดีนั้นไปแล้ว แต่ตำรวจบอกยังไม่ถอนหมายจับ แล้วใช้หมายนี้มาอายัด มาจับตัวอีก

“มันตลกมาก ตราบใดหมายที่ยังไม่ได้ถอน นำมาใช้จับได้เสมอ มันไม่ถูกต้อง เพราะเขามอบตัวชั่วคราวไปแล้ว เท่ากับว่าหลายหมายถือไว้ พอปล่อยจากเรือนจำนี้ ก็ไปอายัดตัว นำไปอีกเรือนจำ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่วิปริต และสร้างความเดือดร้อน”

สุดท้ายแล้ว อัยการจะฟ้องหรือไม่ ศาลจะลงโทษหรือไม่ โดยเฉพาะคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นความผิดรุนแรง ใกล้ ๆ กับความผิดฐานกบฎ ซึ่งเป็นนามธรรมมาก โดยเฉพาะพฤติการณ์ประทุษร้ายหรือก่อให้เกิดความไม่สงบในแผ่นดิน

ข้อเสนอทบทวนกฎหมายอื่นที่ไม่เป็นธรรม ยุค คสช.

เขาบอกว่าเป็นปกติที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐถูกปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่ออกโดย สนช. หลังยึดอำนาจปี 2557 ซึ่ง คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ใช่ ส.ส.

“ขยับซ้าย ขยับขวาก็ผิด เพราะฉะนั้น เท่ากับไปลิดรอนสิทธิการชุมนุมของประชาชน ตำรวจเป็นการขออนุญาต แจ้งให้ทราบ ถ้าเจ้าพนักงานขอให้เลิก สั่งให้ยุติการชุมนุมทั้งผู้ชุมนุม และผู้จัดการชุมนุม ประเทศเราถูกดำเนินคดีมากมาย แค่อยากแสดงก็ถูกจับ เรื่องพวกนี้ต้องทบทวน ถ้ากลไกสภาทำงานได้อย่างเต็มที่ ต้องพิจารณาใหม่หมด ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ”

อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ จะนำไปสู่การฉ้อฉลเสมอ

“เมื่อก่อนหวังท่านนายกฯ สุดท้ายท่านไปฟังตำรวจผู้ใหญ่ การปฏิรูปจริง ๆ ที่มีปัญหาที่สุด คือ ชั้นสอบสวน ตำรวจผูกขาดการสอบสวน และไม่ถูกตรวจสอบ”

เขายกตัวอย่างข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ที่ออกข้อบังคับให้ตำรวจรับผิดชอบฝ่ายเดียว ตั้งแต่ยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ – จอมพล ประภาส จารุเสถียร แต่เมื่อตำรวจไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่หลายคดีไปร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

ขณะที่ยุค พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ให้ตำรวจสอบสวนฝ่ายเดียว แต่เมื่อมาถึงปี 2556 ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอก็เรียกไม่ได้ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็ไม่ต้องทำตาม

“ทั้งที่ ป.วิอาญา ร่มใหญ่ เป็นตรรกะวิบัติที่ตำรวจทำความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างร้ายแรง”

บทส่งท้าย

การส่งสัญญาน ทิศทางลม ไม่ควรเป็นตัวแปรในกระบวนการยุติธรรม นั่นหมายความว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ควรมีใครถูกจับ โดยต้องพิจารณาว่าความผิดตามข้อกล่าวหาทุกวันนี้ สอดคล้องกับความชั่วร้าย หรือ เป็นเพียงความเห็นทางการเมือง หรือเป็นสิทธิการชุมนุม ที่รัฐธรรมนูญก็ให้การรับรองว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน