“อย่าเพิ่งตาย แล้วออกมาสู้พร้อมกัน…” เสียงถึง ตะวัน–แบม และการร้องขอต่อกระบวนการยุติธรรม

ผลแห่งการพร้อมแลกชีวิต ที่พาข้อเรียกร้องเดินมาไกลเกินจินตนาการ เมื่อทุกฝ่ายยอมลดเงื่อนไขของกันและกัน นั่นอาจเป็นทางออกของวิกฤตศรัทธา และการรักษาชีวิต

ข่าวคราวอันน่าวิตก ที่ถูกส่งผ่านแพทย์ ทนายความ และคนในครอบครัวของ 2 นักกิจกรรม ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม- อรวรรณ ภู่พงศ์ หลังอดอาหารประท้วง เข้าสู่วันที่ 20 เพื่อ 3 ข้อเรียกร้อง คืนสิทธิผู้ต้องหาทางการเมือง ทั้ง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนในคดีทางการเมือง และพรรคการเมืองต้องเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ด้วยความแน่วแน่ และกล้าหาญจนถึงตอนนี้

“ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง แต่ผมไม่เห็นด้วยเลย กับวิธีการนี้…” คือสิ่งที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เปิดเผยกับ The Active ทั้งในฐานะคนที่เคยสัมผัสกับหนึ่งในผู้เรียกร้อง คือ ตะวัน และเป็นนักกิจกรรมที่ร่วมผลักดันในประเด็นคล้าย ๆ กันนี้ โดยเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อสู้ ใกล้ตัวที่สุด คือ กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ที่ทุกคนล้วนเห็นด้วยในข้อเรียกร้อง และออกมาเพื่อบอกว่ามีคนพร้อมยืนอยู่ข้างพวกเธอมากแค่ไหน และอยากให้เธอออกมาสู้พร้อม ๆ กัน

“ทุกคนอยากจะบอกว่าให้กลับมากินข้าว ที่ไปชุมนุม ไม่ได้บอกว่าสนับสนุนกับวิธีการ ผมตั้งใจไปบอกเขา ไม่ใช่บอกศาลด้วย บอกตะวัน และแบม ให้เห็นว่าถ้าคุณเดินออกมา จะมีคนสู้กับคุณเยอะขนาดนี้ ยืนยันว่า 3 ข้อเรียกร้องนี้ ต้องสู้กันยาว ๆ ถ้าถึงเพดานที่คุณพอใจแล้ว กินข้าว แล้วเดินออกมาสู้ด้วยกันเถอะ…”

ยิ่งชีพ บอกว่า สิ่งที่ทั้งสองเรียกร้อง เดินทางมาไกลมากแล้ว จากเสียงที่ไม่เคยได้ยิน เรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึง หรือความคิดที่ไม่เคยกลับมาทบทวน ว่าสังคมนี้ยุติธรรมจริงหรือไม่ กลับดังขึ้น เพราะ การกระทำของทั้ง 2 คน ย้อนกลับไปสัปดาห์ก่อน ยิ่งชีพ นั่งอยู่ในวงพูดคุยที่นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เบื้องหน้าที่ออกมาเป็นแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เขามองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะ จริง ๆ แล้ว ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเป็นเรื่องที่ควรทำให้เกิดขึ้นได้

แต่เรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนอ แล้วทำไม่ได้ คือ เขาเสนอให้กระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพชวนศาล หรือผู้พิพากษา ลงมานั่งคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยไม่ใช่เป็นการกำหนด ว่าให้ศาลจะตัดสินอย่างไร แต่ให้ศาลบอกกับประชาชนว่าความต้องการของท่านคืออะไร หากไม่สามารถให้ได้แน่ ๆ ก็ต้องบอกมา เพื่อสารนี้จะถึงผู้ที่ประท้วงว่า ไม่ควรเอาชีวิตมาแลก กับสิ่งที่ไม่มีวันเป็นไปได้

“ที่ผ่านมาท่านแอบอยู่หลังฉากเสมอ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะคุยกันในฐานะมนุษย์บ้าง นอกจากยืนอยู่บนบัลลังก์ แล้วตัดสิน หลบอยู่เบื้องหลังตัวบทกฎหมาย แล้วอ้างว่าทุกอย่างนั้นทำไปตามกฎหมาย ไม่เคยชินกับการพูดคุย มันเหมือนเอาคนที่ต้องรับผิดชอบไปหลบอยู่หลังม่านจนเกินไป…”

หากเริ่มการพูดคุยได้ ยิ่งชีพ มองว่า ถ้าที่ผ่านมาศาลไม่ให้ประกันตัว ด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ต้องเสนอเงื่อนไขที่ศาลคาดหวัง และเป็นไปได้ เช่น หากขณะนี้มีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายประกัน ศาลไม่ยอมให้ประกันตัว แล้วหากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะยอมหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะทราบได้ ต้องมีการพูดคุย แต่น่าเสียดาย เมื่อไม่ใช่สิ่งที่องค์กรตุลาการของเราเคยชิน

3 ข้อเรียกร้องที่ไม่ง่าย และต้องใช้เวลา

“การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ยิ่งชีพ กล่าวว่า สิ่งที่ทั้งสองคนเน้นเป็นพิเศษสำหรับเรื่องนี้ คือ ให้ศาลตัดสินคดี โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เพียงประโยคนี้ แค่ประโยคเดียวก็ใช้เวลายาวนานแล้ว ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายเพียงฉบับใด ฉบับหนึ่งได้ เพราะ สิ่งสำคัญยังอยู่ที่ทัศนคติ ที่ต้องค่อย ๆ สร้าง และส่งต่อกันเป็นวัฒนธรรมขององค์กรด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในระยะหลังนั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

แต่สิ่งสำคัญอีกประการ ที่สามารถทำได้ทันที คือ ให้ผู้พิพากษามีอำนาจในการตัดสินคดี โดยที่ไม่ต้องปรึกษาผู้บริหารศาล โดยแก้ไขระเบียบประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญ พ.ศ. 2562 ที่เขียนไว้ว่า “ผู้พิพากษาเจ้าของคดี ต้องส่งร่างคำพิพากษาให้กับอธิบดีผู้พิพากษาเป็นผู้ตรวจทานก่อนเสมอ…” โดยหลักการแล้วผู้บริหาร ไม่มีอำนาจในการแก้ไขคำพิพากษา ถ้าเจ้าของคดีอยากได้แบบใด  ต้องตัดสินแบบนั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หากผู้ใหญ่ซึ่งนั่งอยู่ด้านบน ต้องการอะไร ผู้น้อยคงต้องแก้ ระเบียบนี้ต้องแก้ไขให้ชัดเจน ว่าผู้บริหารไม่มีอำนาจในการแก้ไข เพียงให้ตรวจทานเท่านั้น

“ผู้พิพากษาที่อยู่บนบัลลังก์ ทำหน้าที่ไต่สวน ไม่เคยมีอำนาจตัดสิน เวลายื่นอะไรไป จะไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที ต้องรอก่อน ต้องมีการไปปรึกษาก่อน เพราะ คนที่มีอำนาจตัดสินใจจริง ๆ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพิ่มบรรทัดเดียวในระเบียบ ไม่เสียหายอะไร และสามารถทำได้ทันที หากประธานศาลฎีกาเห็นว่าควรแก้…”

ข้อเรียกร้อง เรื่อง การยุติคดีทางการเมือง ยิ่งชีพ มองว่าต้องทำในระดับนิติบัญญัติ เพราะ ต้องมีการยกเลิกข้อหาบางอย่างในกฎหมาย เพื่อให้คดีนั้นหมดไป หรืออาจออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ได้ ซึ่งต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขั้นตอนนี้ไม่สามารถทำเร็วได้ แม้จะมีสภาฯ ที่สมบูรณ์แบบ คือ สมาชิกเห็นด้วยกันทั้งหมด อย่างเร็วก็ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ข้อนี้จึงเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลา และต้องให้ฝ่ายค้านตอนนี้ชนะเลือกตั้ง แล้วเป็นรัฐบาล จึงจะมีโอกาสเป็นไปได้ ซึ่งต้องรอการเลือกตั้งก่อน และมีสภาฯ ชุดใหม่ เป็นการใช้ฉันทามติร่วมกันในทางการเมือง ซึ่งในอนาคตตนเชื่อว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“เวลานี้ที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ มีคดีทางการเมืองนับพันคดี มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ และเมื่อไม่มีใครอยากทำคดีแบบนี้ ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล สุดท้ายจะต้องมีคำตอบอื่น นอกจากเอาคนเหล่านี้ไปไต่สวน และขึ้นศาลจนครบทุกคน…”

และข้อสุดท้าย คือ การยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ข้อเสนอของทั้งสองคน ไม่ได้เสนอ “ให้ยกเลิกในวันนี้”  แต่เสนอให้พรรคการเมือง “กล้าที่จะเสนอเรื่องนี้” ซึ่งเท่าที่สังเกตในวันนี้ ยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทยที่เพิ่งชัดเจนในเรื่องนี้ ได้ไม่นาน ว่าถ้าจะแก้ไข ก็ต้องระมัดระวัง เพราะ เป็นเรื่องที่เห็นต่างกันสุดขั้ว ยินดีที่จะพิจารณานำเข้าสู่สภา แต่พรรคจะเสนอยกเลิกหรือไม่ อาจไม่เป็นอย่างนั้น

และเราต้องยอมรับว่า “พรรคการเมือง” เป้าหมายสำคัญ คือ ชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับเสียงมากที่สุด จึงต้องเสนอในสิ่งที่พรรค คิดว่าได้คะแนนเสียงจริงๆ ถ้าหากว่าข้อเสนอมาจากตะวัน และแบม แล้วมีคนสนับสนุนเพียงกลุ่มหนี่ง แล้วอาจจะไม่ได้ช่วยให้มีเสียงเยอะขึ้น พรรคก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอ แต่ถ้าพรรคเห็นว่าเสนอแล้วจะได้คะแนนเสียงเพิ่ม ก็อาจจะเสนอด้วย นี่เป็นธรรมชาติ พรรคการเมืองจะเสนอเรื่องนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระแสตอบรับของสังคมถึงข้อเสนอของตะวัน และแบมด้วย

หวังว่าศาลจะหาทางลง และทั้งคู่พอใจในสิ่งที่ได้

ยิ่งชีพ กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมา ยิ่งเราไปตะโกนต่อหน้าศาล ยิ่งเรารณรงค์อย่างแข็งกร้าว ศาลจะยิ่งไม่ให้ เพราะ ศาลไม่ชอบคนดื้อ ถ้าคุณอดข้าว อดน้ำแล้วได้ในข้อเรียกร้อง คนต่อไปที่อยากได้ ก็จะทำแบบเดียวกัน ตรรกะของศาลอาจจะเป็นแบบนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สังคมเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น หากคุณจะใช้ไม้แข็ง มาต่อรองกับศาลอาจจะไม่ใช่วิธีการที่เป็นไปได้ง่ายนัก

สุดท้ายต้องมีไม้อ่อนเข้าแลก เช่น ในปี 2564 “เพนกวิน” อดอาหาร ก็ไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง แต่เมื่อมีการยอมรับเงื่อนไขบางประการ อย่าง การยอมสวมใส่ EM ศาลจึงให้ประกันตัว เป็นต้น เพราะฉะนั้น วันนี้ทั้งสองคนใช้ไม้แข็ง เพื่อให้มีเสียงดังขึ้นมา และมันก็ดังขึ้นมามากแล้ว เพราะ หากทั้งสองคนนี้ ไม่ทำอะไรเลย ทั้งเขา และเพื่อนของเขา ก็จะติดคุกเงียบๆ คนจะไม่สนใจ ใช้ชีวิตต่อไป เตรียมทำมาหากิน แล้วไม่ตั้งคำถาม เรื่อง กระบวนการยุติธรรม การเอาชีวิตเข้าแลกของพวกเขา ทำให้คนตั้งคำถามกับเรื่องนี้ ยิ่งชีพ กล่าว

การที่มีคำสั่งของศาล ให้หลายคนได้ถอดกำไล EM ทั้งที่ก่อนหน้านี้คำสั่งของศาล จะให้ติดกำไล EM ทุกคน โดยไม่ได้คิดว่ามันจำเป็นหรือไม่นั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีแล้ว โดยไม่ได้คิดว่าคนนั้นเขามีศักยภาพในการหลบหนีหรือไม่ ถูกตั้งคำถามน้อยมาก พอมีการเคลื่อนไหวของสองคนนี้ จากที่ศาลไม่เคยคิดเลย ก็เริ่มมาคิดบ้าง ว่าเขาไม่มีพฤติกรรมอะไรที่เป็นปัญหา ถึงขั้นต้องสวมใส่กำไล EM ตลอดเวลา

“ผมหวังว่าศาลจะหาทางลง คิดว่าศาล ก็คงไม่อยากให้มันตึงเครียดแบบนี้ อะไรที่พอจะให้ได้ คงจะให้ แต่ว่า อาจไม่ได้ให้ทุกคน หรือไม่อยากให้ทุกคน เพราะ อาจจะไม่เชื่อว่าคนนี้จะไม่หลบหนี พอไม่ใหทุกคน ตะวัน แบมก็อาจจะไม่เอา จะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก…”

ยิ่งชีพ ประเมินว่า เมื่อได้มาแล้ว อาจไม่ได้ทั้งหมด ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับใจของทั้งสองคน ก่อนหน้านี้ตนเข้าใจว่า ถ้าไม่ได้ทั้งหมด เขาคงจะยอมตาย ตอนนั้นรู้สึกเครียดมาก คิดว่าพวกเขาไม่มีวุฒิภาวะ และไม่เข้าใจว่าเรื่องต่างๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างที่ตั้งใจ แต่ตอนนี้ ตนเชื่อว่า ทั้งสองคนเข้าใจแล้วว่า บางอย่างมันมีกระบวนการ และมีเวลา กว่าจะเริ่มคุย เริ่มคิด บางทีการเอาชีวิตเข้าแลกภายในเวลาอันสั้น มันเป็นไปไม่ได้

“พูดตรงๆ คือ อย่าเพิ่งตาย มันค่อยๆ เห็นแล้ว ให้เวลาเรียนรู้ แต่สุดท้ายมันคงไม่ได้แบบ 100% ภายในระยะเวลาที่จะมีชีวิตได้ ถ้าเขาเข้าใจว่าการเรียกร้องด้วยวิธีนี้ นำมาซึ่งผลที่จะบรรลุได้ประมาณนี้ แล้วยอมกลับมารักษาชีวิตตัวเอง ก็อาจจะเป็นไปได้ ตอนนี้จึงอยู่ที่ใจของเขา 2 คน ว่าแค่ไหนที่เขาคิดว่าเหมาะสม…”

 ตอนนี้ต้องดูปฏิกิริยาของคนอื่นๆ ในสังคม ที่รู้สึกว่าน่าจะให้อะไรได้ แต่ยังไม่ได้ให้ แล้วต้องพูด และแสดงออกมาว่า “คุณจะทำให้” ตนหวังว่าจะไม่มีวันที่ ที่ทั้งสองรู้สึกไม่พอใจ แล้วหมดหวังไป เมื่อสุดทางของคนที่จะให้ได้ แล้วไม่ยอมทำอะไร หวังว่าจะมีเสียงของผู้คนตามมาเรื่อยๆ ส่วนตัวยังเชื่อว่าทั้งสองคน มีลิมิตอยู่ในใจ และรู้ว่าจะไม่ได้ทั้งหมด

“ถ้าท่านเห็นว่ายังมีบางอย่างที่พอจะทำได้ แล้วยังไม่ได้ทำ ทำให้สุดทางของท่าน ไม่ต้องกั๊ก หรือเผื่อต่อรอง แล้วสุดท้าย ถ้าทำแล้ว น้องไม่ยอม จนแย่ไปกว่านั้น คนจะด่าศาลน้อย แต่ถ้าคุณไม่ให้อะไรเลย แล้วปล่อยให้คนตาย ก็จะมีคนด่าศาลมาก…”

ยิ่งชีพ ทิ้งท้ายว่า มีเรื่องต้องเรียนรู้มากมายเหลือเกินสำหรับการกระทำของทั้งคู่ ปริมาณคดีการเมือง จำนวนนักโทษทางการเมือง บรรยากาศของการเมืองที่หดหู่ ท้อแท้ ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เป็นสิ่งที่อันตราย เมื่อไหร่ที่คนรู้สึกหมดหวัง แล้วยังมีคนเพิกเฉยต่อการเคลื่อนไหวเหล่านี้ เป็นสัญญาณให้รัฐ ต้องหาทางออก แต่เมื่อตะวัน กับแบม ออกมาบอกกับสังคมให้หันมาสนใจปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอาจจะไม่สำเร็จในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรืออาจจะรักษาชีวิตทั้งคู่ไว้ไม่ได้ แต่ทุกสิ่งที่เขาเรียกร้อง ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มต้น และทำกันไปเรื่อยๆ ในระยะยาว

“บางคนมองว่า เขาโง่ ทำแบบนี้ ก็ไม่สำเร็จหรอก แต่เท่าที่รู้จักกันมา ผมว่าเขาคิดแล้ว และให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ในใจเขามากจริงๆ จนเขาไม่สนใจคำดูถูก ดูแคลนอะไร และสุดท้ายมันต้องได้มา เชื่อว่า สุดท้าย แค่ไหน เพียงไร สุดทางที่มันจะเป็นไปได้…”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้