“ขังข้ามปี” บทสะท้อนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีจริง ?

เมื่อรัฐต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “ความมั่นคง” และ “สิทธิ เสรีภาพ” การคุ้มครองประชาชนจึงเป็นเรื่องรอง มองหนทางสู่กฎหมายสูงสุดที่สังคมใฝ่ฝัน

การเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา เชื่อว่าคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหลายคน หลายครอบครัว ที่ได้พบเจอกับญาติ สนิท มิตรสหาย ร่วมนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ และเริ่มต้นใหม่ด้วยความสุขอย่างพร้อมหน้าพน้อมตา แต่ในเวลาเดียวกันนี้ ยังมีอีกหลายชีวิตที่วันขึ้นปีใหม่ ยังเป็นวันที่แสนยาวนานของพวกเขา การเริ่มต้นปีใหม่อาจไม่ได้สำคัญ มากไปกว่าอิสรภาพที่เขารอคอย เพื่อออกจาก “เรือนจำ” ที่พันธนาการพวกเขา จากการใช้สิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ตาม “รัฐธรรมนูญ”

จากการติดตามของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2565 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 11 คน และผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 6 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังในคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 3 คนด้วย เป็นตัวเลขที่สะท้อนว่ามีผู้ต้องกาคดีการเมืองที่ต้องถูก “ขังข้ามปี” ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงเกิดการตั้งคำถามว่าหลักประกันสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองมากแค่ไหนในความเป็นจริง และกลไกในกระบวนการยุติธรรมได้ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักการนั้นแล้วหรือไม่ 

The Active พูดคุยกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสภาพปัญหาการเคารพหลักการตามรัฐธรรมนูญ สู่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และความฝันของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่จะเข้ามาคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน อันเป็นหลักการสูงสุดที่ควรเกิดขึ้นในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงบัญญัติไว้ตามกฎหมายเท่านั้น

“สิทธิ และเสรีภาพ เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ” รศ.มุนินทร์ ย้ำในหลักการนี้อย่างชัดเจน ว่าทุกระบบกฎหมายที่บัญญัติขึ้น ล้วนถูกสร้างมาเพื่อจัดการการเรื่องนี้ หมายถึงให้ความคุ้มครอง และกำหนดขอบเขตในบางเรื่องเอาไว้เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือเสรีภาพในชุมนุมโดยสงบ และนอกเหนือจากสิทธิ เสรีภาพที่กำหนดเอาไว้แล้ว ยังต้องมีกลไกในการรองรับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วย 

“หากต้องพูดให้ถึงที่สุดนั้น สิทธิและเสรีภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์หวงแหนมากที่สุด เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ก่อตั้งระบบกฎหมาย ให้อำนาจและจัดวางองค์กรของรัฐทั้งปวง จึงจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ด้วย…” 

รศ.มุนินทร์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกลไกของการรับรองสิทธิเสรีภาพนั้น “กระบวนการยุติธรรม” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม โดยหลักแล้วจะอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ถูกกล่าวหานั้น ต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ด้วย เรื่องนี้จึงเป็นทั้งเรื่อง “หลักการ” และ “กลไก” ในการรับรอง 

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อหา” แต่คือ “กลไก” ในการคุ้มครอง

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเนื้อหาแล้วมีการบัญญัติ เรื่อง หลักประกันสิทธิเสรีภาพเอาไว้อย่างเพียงพอ ตามมาตรฐาน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหลายฉบับที่ผ่านมาไม่มีความแตกต่างกันมากนัก แต่ปัญหากลับเป็นเรื่องกลไกในการคุ้มครองมากกว่า ที่ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ในความเป็นจริง คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า กลไกต่าง ๆ ได้ถูกนำมาบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ รศ.มุนินทร์ ตั้งคำถาม

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่ามีกลไกในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ล้มเหลวมากที่สุด เพราะ มีปัญหามาตั้งแต่ที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่เกิดมาจากความวุ่นวายทางการเมือง สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง และมีอยู่เพื่อสืบทอดอำนาจ…” 

รศ.มุนินทร์ กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ว่าเป็นที่มาของปัญหา เนื่องจากที่มาของรัฐธรรมนูญ อาจไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่เกิดจากความวุ่นวายทางการเมือง กลไกในรัฐธรรมนูญ จึงถูกออกแบบมาเพื่อรักษาอำนาจให้กับผู้มีอำนาจได้อยู่ต่อไป เมื่อเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญต้องการคุ้มครองมากที่สุดเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจแล้ว สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นเรื่องรองลงไป 

โดยธรรมชาติแล้ว “การสืบทอดอำนาจ” เป็นเรื่องของเผด็จการ แต่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องของประชาธิปไตยที่ตรงกันข้ามกับเผด็จการ เมื่อ 2 สิ่งขัดแย้งกัน ระหว่างความมุ่งหมายที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ กับความต้องการในการทำลายระบบเผด็จการ รัฐธรรมนูญจึงเลือกคุ้มครองสิ่งที่สร้างมันขึ้นมามากกว่า คือ การรักษาอำนาจ จึงทำให้หลายครั้งรัฐธรรมไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น 

ความไม่ได้ “สัดส่วน” จากกระบวนการยุติธรรม บั่นทอนความเชื่อมั่นประชาชน

รศ.มุนินทร์ ยกตัวอย่าง “เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ” แม้จะเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อประชาชนใช้สิทธินั้น กลับต้องมีคนบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บสาหัส อย่าสถานการณ์ล่าสุดก็มีผู้ชุมนุมถูกทำร้าย จากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐมักเกิดปัญหาขึ้นตลอด สุดท้ายการปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 

หรือแม้แต่กระทั่ง หลักการว่าด้วย “การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” ในการกระทำความผิดทางอาญา แต่เราเห็นการบังคับใช้ “มาตรา 112” ถ้าเราดูถึงกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้ต่อมาตรานี้แล้ว ดูเหมือนว่าคนที่ถูกกล่าวหาจะถูก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทำผิด” กระบวนการสืบพยาน การแสวงหาพยานหลักฐาน หรือการปล่อยตัวชั่วคราวล้วนมีข้อจำกัดอย่างเห็นได้ชัด สุดท้ายเมื่อมาถึงในบางเรื่อง โดยเฉพาะ “ความมั่นคง” รัฐบาลก็มักจะเลือกความมั่นคงเอาไว้ก่อน สิทธิเสรีภาพของประชาชน 

สาเหตุที่การประกันสิทธิ เสรีภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง รศ.วิเคราะห์ว่า เนื่องจากแม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดแต่มีลักษณะเป็นนามธรรม ในระดับปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากไม่มีกฎหมายลำดับรอง อย่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กำหนดกระบวนการในการบังคับไว้อย่างชัดเจน  เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่รู้จะบังคับกลไกไปอย่างไร หรือจะให้หลักประกันต่อประชาชนตามที่กำหนดไว้อย่างไร เขาก็จะปฏิบัติตามกฎหมายของตัวเองที่ให้อำนาจเอาไว้ กฎหมายเขียนอย่างไร เขาจะทำตามนั้น

“จิตสำนึกเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน มันไม่ได้อยู่ในจิตใจของพวกเขา เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ได้สนใจเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน สนแค่ว่าปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แต่การบังคับใช้บางครั้งก็ตีความเคร่งครัด บางครั้งไม่เข้าใจเจตนารมณ์ว่าจริง ๆ แล้วกฎหมายเหล่านั้นถูกสร้างมาเพื่อรับรองหลักการที่เป็นนามธรรมที่อยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น…”

รศ.มุนินทร์ กล่าวต่อว่า จึงทำให้เกิดเป็น “วัฒนธรรมการใช้กฎหมายอย่างไทย ๆ” เมื่อเราเอาตัวหลักการของกฎหมายจากตะวันตกมา ที่เป็นมาตรฐาน หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ เรื่องของกระบวนการบังคับ การพิจารณาตัดสิน เรากลับใช้ดุลยพินิจกัน และตีความอย่างที่เราคิด เราเข้าใจ โดยไม่ได้สนใจเรื่องหลักการที่เป็นมาตรฐานเท่าไหร่นัก การตีความ พ.ร.บ. จึงต้องตีความให้สอดคล้องกับหลักการสูงสุดที่อยู่ในชีวิตประจำวัน 

ทุกหน่วยงาน และองค์กรของรัฐ ย่อมผูกพันอยู่กับหลักการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพให้กับประชาชน โดยปัจจุบันองค์กรที่ถูกจับตาจากสังคมอย่างมาก คือ ศาล เช่น หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์รศ.มุนินทร์ มองว่า เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนัก ระหว่างสิทธิเสรีภาพ และความมั่นคงของรัฐ ในการทำหน้าที่ หรือดุลยพินิจของคนในกระบวนการยุติธรรมนั้น หากไม่เข้าใจหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพว่าเป็นสิ่งสูงสุด และเป็นรากฐานของสังคม จึงมีแนวโน้มที่คนตีความกฎหมาย พยายามคุ้มครองเรื่อง ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยไว้ก่อน นำมาสู่ภาพที่คนในสังคมมองว่า “ไม่ได้สัดส่วน” 

“ประชาชนถูกจับเพราะออกมาพูดในขณะร่วมชุมนุม ถูกจับเพราะออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ หรือรัฐบาล มีข้อเสนอแก้ไข ม.112 หรือปฏิรูปสถาบัน ทั้งหมดเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่คนเหล่านี้ถูกปฏิบัติที่เข้มงวดมากกว่าความผิดฐานฆ่าคนตายเสียด้วยซ้ำ มันเป็นไปได้อย่างไร…” 

รศ.มุนินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมตั้งคำถามว่า การที่คนซึ่งแค่พูด หรือแสดงออก ไม่ได้ทำร้าย หรือฆ่าใคร กลับได้รับการปฏิบัติที่รุนแรง เหมือนกับการก่อการร้าย หรือไปทำความผิดอาญาร้ายแรง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมจากคนในสังคม แม้กระบวนการยุติธรรมภาพรวมจะสามารถดำเนินไปได้ แต่ถ้าเกิดกรณีแบบนี้มาก ๆ เข้า จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไปมากกว่านี้ อาจทำให้ส่วนอื่น ๆ ที่ดีอยู่แล้ว กลับมีปัญหาไปด้วย 

นอกจากนั้น รศ.มุนินทร์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า วัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติของรัฐ ที่ทำให้คนซึ่งอาจจะมีสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจที่ดีกว่า ได้โอกาสในกระบวนการยุติธรรมง่ายกว่า ได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า มีโอกาสได้รับการประกันตัวในทางตรงกันข้ามชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีสถานะเทียบเท่า กลับได้รับการปฏิบัติอีกอย่าง ทำให้เกิดการเปรียบเทียบในกระบวนการยุติธรรม

“ศาล มีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจ เรื่อง สิทธิ เสรีภาพในทางรัฐธรรมนูญ และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การตีความกฎหมายของตัวเองนั้นเชื่อมโยงอย่างไร กับหลักการสูงสุดที่รัฐธรรมนูญรับรอง ตอนนี้เหมือนทุกคนตีความกฎหมาย โดยมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นส่วนเกิน…” 

ในขณะที่องค์กรซึ่งบังคับใช้กฎหมายอย่าง “ตำรวจ” ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โดยตำรวจนั้นมีปัญหาที่ระบบการบริหารภายใน ที่ใช้ระบบทหาร หรือแบบบังคับบัญชา หมายถึง ผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่ หรือไปสลายการชุมนุม จะอ้างว่า “ผู้บังคับบัญชาสั่งมา” ไม่สามารถขัดคำสั่งได้ และทำให้ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย เป็นกลไกสำคัญในการรักษาอำนาจ การปฏิรูปองค์กรตำรวจในเข้าที่เข้าทาง อาจทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รศ.มุนินทร์ กล่าว

“เราเห็นใจตำรวจ อยู่ในจุดที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่ว่าผู้มีอำนาจจากฝ่ายไหนจะเข้ามา ระบบเขาจะรับคำสั่งผู้บังคับบัญชา ลูกน้องต้องทำตาม ขาดดุลยพินิจในการตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริงคุณมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมายแต่วัฒนธรรมของเขาทำไม่ได้…” 

เปรียบ “รัฐธรรมนูญ” เป็นโครงสร้างบ้าน ที่เกิดมาทีหลังการสร้างบ้าน

รศ.มุนินทร์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า หากระบบกฎหมายทั้งหมดเป็นบ้าน รัฐธรรมนูญควรเป็นโครงสร้างบ้าน ที่ต้องทำเป็นอันดับแรก แต่วัฒนธรรมการใช้กฎหมายบ้านเรา นักกฎหมายไม่ได้เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่สำคัญสุด เนื่องจาก การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นหลังสุดการปฏิรูปกฎหมายทั้งหมด เหมือนให้มีบ้านขึ้นมาก่อน โครงสร้างความแข็งแรงเอาไว้ทีหลัง และค่อยมาคิดกันว่าจะเปลี่ยนอย่างไร ถึงเวลาก็จะเปลี่ยนได้ยากแล้ว แต่ไม่พ้นวิสัยที่จะเปลี่ยนแปลง

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์กฎหมายไทย จะพบว่าเราปฏิรูปกฎหมายอื่นก่อน รัฐธรรมนูญ เรามีระบบกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว เรามีการศึกษากฎหมายเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ เวลาที่ใช้กฎหมาย หรือตีความกฎหมาย จึงกลายเหมือนส่วนเกิน วัฒนธรรมในทางกฎหมายของเราจึงไม่ได้มองว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในความเป็นจริง 

“หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในอนาคต จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแค่ในเชิงเนื้อหา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมในหมู่ของนักกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ให้เขาเข้าใจว่าหลักการของรัฐธรรมนูญซึ่งสำคัญที่สุด…” 

รศ.มุนินทร์ กล่าวว่า โดยสภาพของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นหลักการที่เป็นนามธรรม ถ้าคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมนักฎหมาย ที่ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มใด หรือแม้แต่คนทั่วไป ไม่เข้าใจคอนเซปต์จะขาดความเชื่อมโยงกันกับ รธน. และระบบกฎหมายปกติที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน สุดท้ายสิ่งที่เขียนไว้ไม่ถูกบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่เกิดผลสำเร็จทางเจตนารมณ์

หนทางสู่ “กฎหมายสูงสุด” ที่สังคมคาดหวัง

รศ.มุนินทร์ มองว่า ในระยะสั้น “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นอุปสรรคสำคัญมากที่สุด” นับเป็นกฎหมายที่มีกลไก”ซับซ้อนที่สุด” เท่าที่เราเคยมีมา ทั้งในแง่ของการรักษาอำนาจ การวางกลไกเชิงโครงสร้างเพื่อไม่ให้เกิดการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ เช่น การมีอยู่ของ ส.ว. 250 คน คือ การจำกัดเสรีภาพในทางการเมือง เพื่อเลือกผู้นำประเทศหากเราอยากจะวางแผนอนาคตของประเทศ ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า ว่าควรเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการวางแผนย่อมต้องทำผ่านผู้แทนของเรา แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกำหนดยุทธศาสตร์ที่ยาวถึง 20 ปีเป็นต้น เราจึงต้องเริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน

จนถึงปัจจุบัน รศ.มุนินทร์ มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ ทั้งในแง่ที่มา ที่เกิดจากการคัดเลือกตัวแทนของประชาชน จากหลายภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งกลไกในลักษณะสำคัญอย่างมาก ที่ไม่ใช่แค่ให้ประชาชนเลือกตัวแทนเท่านั้น แต่ตัวแทนนั้นต้องเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายด้วย เนื่องจาก หลักประกันสิทธิ เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญต้องให้ความคุ้มครองนั้น เป็นไปเพื่อคนทุกกลุ่ม ทั้งคนส่วนมาก และส่วนน้อยในสังคม 

“การสร้างวัฒนธรรมในการเคารพรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุด วัฒนธรรมสิทธิ เสรีภาพในหมู่ประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า เขาต้องตระหนักว่าสิทธิ เสรีภาพที่เขาได้รับการประกันไว้คืออะไรบ้าง เมื่อไหร่ที่ถูกละเมิดต้องสามารถแสดงออกมาได้ เป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันกับการกำหนดเนื้อหา

รศ.มุนินทร์ กล่าวว่า ความเชื่อว่าเรามีสิทธิ เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้นั้นสำคัญที่สุด แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่ทราบว่าเรามีสิทธิ เสรีภาพอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยกลไก ระบบ และกระบวนการทั้งหลายในสังคมไทย “พิกลพิการ” ทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญ และไร้ความหวังว่าสุดท้ายมันไม่ได้เกิดอะไรขึ้นจริง 

ก่อนจะปิดท้ายว่า เราต้องเชื่อจริง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญเป็น “กฎหมายสูงสุด” ในชีวิตประจำวัน ต้องทราบ และตระหนักว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเราเขียนไว้ในกฎหมายสูงสุด และเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่สิทธิเสรีภาพของเราถูกพรากไป ถูกล่วงล้ำ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเรียกร้อง ให้เขาชดใช้ผ่านกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ต้องตระหนักว่าการปฏิบัติใด ๆ ต้องสอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าสองส่วนทำงานไปด้วยกันได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดทั้งในเชิงหลักการ  และในการบังคับใช้จริงของเราด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้