‘ความหวัง’ และ ‘ความเป็นไปได้’ รัฐสวัสดิการไทย

การจัดสรรงบประมาณ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ รัฐสวัสดิการเป็นจริง

ฐานะการเงินการคลัง โครงสร้างประชากร กับความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัย ที่หยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ ในงาน ปาฐกถา We Fair ประจำปี 2565 หัวข้อ “90 ปี ประชาธิปไตย อนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตสังคมไทย” ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในช่วง เสวนาหัวข้อ : หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย?

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบุ รัฐสวัสดิการ สามารถดำเนินการได้เลยจากงบประมาณปี 2566 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อนหน้านี้ก็ค่อยๆ พัฒนามาเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือนโยบายเรียนฟรี ก็เป็นส่วนสำคัญของการก้าวสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ

โดยสวัสดิการที่สามารถดำเนินการได้เลย คือ บำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เพราะมีผู้สูงอายุ เป็นแรงงานนอกระบบได้เฉพาะเบี้ยยังชีพ หากจะจ่ายบำนาญถ้วนหน้าจะใช้เงินราว 450,000 ล้านบาท สวัสดิการสำหรับเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาท เริ่มต้นแบบนี้และค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานในระยะต่อไป เพราะสังคมไทยยังได้ผลประโยชน์จากสวัสดิการไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐาน ขณะที่ประเทศ OECD และกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ ล้วนอยู่ระดับสูงมาก อย่างไรตาม หลายประเทศจำเป็นต้องปฏิรูประบบสวัสดิการเพื่อความยั่งยืนทางการเงินของระบบงบประมาณ ที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก

กังวลรัฐถังแตก ควรลดภาระการคลัง-สร้างระบบออม ไม่ควรลดสวัสดิการ

แต่ รศ.อนุสรณ์ วิเคราะห์งบประมาณที่ต้องดูแลผู้สูงวัย 7.5 แสนล้านบาท หรือ 4.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 64 จะเพิ่มขึ้นเป็นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 56 และอาจจะทะลุ 1 ล้านล้านบาท ในปี 2576 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้นสุดยอด รัฐบาลอาจจะต้องเจอกับวิกฤตฐานะการคลังได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีตัดลดสวัสดิการในอนาคต ควรลดภาระการคลังด้วย และสร้างระบบออมเพื่อการชราภาพ ปฏิรูประบบแรงงานให้มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

โดยปี 2564 มีประชากร 66.7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือ 19% ของประชากร แต่ในปี 2565 เข้ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 20% จึงมีข้อเสนอให้ปี 2576 เปิดตลาดเสรีแรงงาน หรือรับผู้อพยพที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการแปลงสัญชาติอย่างรอบคอบรัดกุม โดยต้องเตรียมการศึกษาวิจัยให้รอบคอบ และต้องตัดสินใจเพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า ส่วนงบประมาณที่จำมาจัดสวัสดิการ สามารถนำมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่มเติม ลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และตัดลดงบประมาณบางอย่างที่ไม่จำเป็น

โครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษี (Taxation) ของประเทศรัฐสวัสดิการ จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า มีสัดส่วนรายรับรวมทางภาษี ต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 35 – 48% ส่วนโครงสร้างระบบภาษีของไทยขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อม และภาษีเงินได้เป็นหลัก สัดส่วนรายได้จากภาษีเทียบ GDP คิดเป็น 14.6% เท่านั้น (ต่ำค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14.9%)”

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

ระบบภาษีไทยเมื่อเทียบ ประเทศสแกนดิเนเวียแล้ว ถือว่ามีอัตราก้าวหน้าน้อยมาก รัฐบาลต้องตั้งเป้าขยายฐานภาษีใหม่เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2576 โดยควรตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากตลาดการเงิน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมา เชื่อว่า ประเทศไทยจะประสบปัญหาฐานะทางการคลังอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะแรงกดดันทางนโยบายที่ต้องปรับลดสวัสดิการบางอย่างลง

ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในการจัดทำรัฐสวัสดิการ ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากโดยอธิบายถึงรายได้ของรัฐว่า 90% เป็นภาษีอากร 10% เก็บจากอื่น ๆ โดยข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่าส่วนใหญ่มาจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% และ 10% เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหากเทียบกับต่างประเทศ ถือว่าน้อย เพราะในต่างประเทศ เก็บกันอยู่ที่ 30%-40% โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการ อ.ดวงมณี อธิบายต่อว่า ปัจจุบันไทยขยายฐานภาษีรายได้บุคคลธรรมกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นควรปฏิรูประบบภาษีให้รัฐมีเงินมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง มีหนทางการลงทุนมากมาย รัฐอาจจะไม่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ได้ และควรปฏิรูประบบภาษีให้รัฐมีเงินมากขึ้น เช่นเดียวกับการกำกับตรวจสอบการเลี่ยงภาษี

สวัสดิการ = การลงทุน ได้กำไร 4 เด้ง

พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวกล ระบุ การจัดสรรงบประมาณ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริง โดยฉายภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำปัจจุบันผ่าน คำว่า Thailand หมายถึง ดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำ 8 มิติ ประกอบด้วย

  • T-Technology เทคโนโลยี /ดิจิทิล ทำให้เห็นชัดว่าเป็นเส้นแบ่งความเหลื่อมล้ำ
  • H-Healthcare แบ่งเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม ข้าราชการ แบ่งเป็น บัตรทองประมาณ 48 ล้านคน 1.66 แสนล้านบาท ประกันสังคมประมาณ 11 ล้านคน 3.7 หมื่นล้านบาท บัตรข้าราชการ 4.7 ล้านคน 6 หมื่นล้านบาทซึ่งหากเทียบกันแล้วจะเห็นชัดว่า ใช้งบประมาณ มากกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม และต่างกันหลายเท่าตัว
  • A-Affluence จากข้อมูลพรรคก้าวไกล ปี 2018 พบว่า คน 1% บนของประเทศ ครอบครองทรัพย์สิน 67% ขณะที่คน 99% ล่างของประเทศครอบครองทรัพย์สินร่วมกันอยู่ที่ 33% เท่าโดยคนรวยถือครองทรัพย์สิน 2 ใน 3 ของประเทศ
  • I-Identity ความเหลื่อมล้ำมิติตัวตน ความหลากหลายทางเพศ
  • L-Learning ความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ พบค่าเล่าเรียนฟรีไม่จริง โรงเรียนไม่มีคุณภาพ และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง
  • A-Area ความเหลื่อมล้ำระหว่าง กทม. กับ ภูมิภาค โดยมีข้อเสนอกระจายอำนาจ = การปลดล็อกกระจายการพัฒนา ทั้งงาน เงิน และคน
  • N-Natural ทรัพยกรธรรมชาติ การถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม
  • D-Democracy อำนาจการเมือง และประชาธิปไตย

ด้วยสถานการณ์โลกที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ทั้งมิติการพัฒนาของเทคโนโลยี สถานการณ์สังคมสูงวัย, ภาวะโลกและสิ่งแวดล้อมรวน, โลกาภิวัฒน์ ฯลฯ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น โดยมองว่า รัฐสวัสดิการ คือทางรอดของสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ

พริษฐ์ ย้ำว่า ‘สวัสดิการ’ เท่ากับ ‘การลงทุน’ ที่ได้ผลกำไร 4 เด้ง คือ ประชาชนมี ตาข่ายรองรับ โนโลกที่คาดการณ์ยาก, เศรษฐกิจและนวัตกรรมถูกปลดล็อก, รัฐมีรายได้จากภาษีสูงขึ้น, สังคมน่าอยู่เพราะสังคมเหลื่อมล้ำต่ำลง นอกจากนี้ยังมองว่า สวัสดิการแบบถ้วนหน้า ช่วยครัวเรือนรายได้น้อยได้มากกว่า มีประสิทธิภาพแก้ปัญหาการสำรวจตกหล่น โดย การจัดสรรงบประมาณ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ รัฐสวัสดิการเป็นจริงได้

ขอนำเสนอโมเดลการจัดการภาษีคือ

  1. จัดหาสวัสดิการเป็นตัวเงิน (In-cash) เป็นแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่
    1. วัยแรกเกิด (0-6 ปี) 1,200 บาท/คน/เดือน
    2. วัยเรียน (7-22 ปี) 800 บาท/คน/เดือน
    3. วัยทำงาน (23-59 ปี) ปฏิรูปประกันสังคม
    4. วัยสูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) 3,000 บาท/คน/เดือน
  2. จัดหาสวัสดิการแบบไม่เป็นตัวเงิน (In-kind) เช่น น้ำประปา ผ้าอนามัย
  3. จัดหารายได้เพิ่ม ด้วยการเก็บภาษีเป็นธรรม โดยยกตัวอย่างภาษีที่ดินรวมแปลง สวนกล้วยชาญเมือง โดยคาดการณ์จาก TDRI ว่าจะมีรายได้ 100,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวทางปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีโดยมีสัดส่วนการจัดเก็บประมาณ 16-17% ของ GDP

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน