รัฐสวัสดิการ: ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม? | เดชรัต สุขกำเนิด

ทำไมต้องเป็นรัฐสวัสดิการ?

แม้ดูเหมือนว่า การที่รัฐจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีคำถามว่า “รัฐสวัสดิการ” เป็นรูปแบบการจัดระบบสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่? แล้วหากประเทศไทยจะสร้างสังคมสวัสดิการแบบ “ถ้วนหน้า” หรือ “เท่าเทียม” เราควรเดินหน้าไปทิศทางไหน?

และแน่นอนว่า “รัฐสวัสดิการ” มีทั้งกลุ่มคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากจะแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องเป็น “รัฐสวัสดิการ” อย่างเดียวหรือไม่?

โอกาส รายได้ และทรัพย์สิน เป็น 3 สิ่งเริ่มต้นที่ ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ พยายามนำมาอธิบายความหมายของคำว่า “รัฐสวัสดิการ” ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

เพราะทั้ง 3 สิ่งนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของ “ความเหลื่อมล้ำ” ในหลายมิติ ทั้ง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้  ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน แล้วก็ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส เมื่อเราเข้าถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำ 3 ด้านนี้ จึงเกี่ยวพันกันตลอด

The Active ถอดความบทสนทนาเกี่ยวกับ “รัฐสวัสดิการ” ในมุมมองของ ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรและนโยบายสาธารณะ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวและความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมแบบรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนชั้นกลาง ที่เริ่มพูดถึงแนวทางนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

นิยาม “รัฐสวัสดิการ” ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากร

นิยามจริง ๆ คำนี้ก็คือ การที่ประเทศแต่ละประเทศ มีระบบที่จะดูแลคุ้มครองสวัสดิการของประชาชน โดยผ่านทางระบบภาษี หมายความว่า สวัสดิการส่วนใหญ่ แทนที่จะมาจากการที่แต่ละครัวเรือน ดูแลกันเอง หรือมาจากการที่เราไปซื้อประกัน ในระบบตลาด ประกันสุขภาพประกันชีวิต อันนี้เป็นระบบที่รัฐบาลพยายามดูแลให้ครอบคลุม โดยมีที่มาของเงินผ่านระบบภาษีเป็นหลัก

หลายประเทศมีสวัสดิการเรียนฟรี สวัสดิการสุขภาพ เราเข้าใจว่าเหล่านี้เป็นสวัสดิการ แต่ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการ จะยกระดับขึ้นอย่างไร?

คือมันก็จะพยายามที่จะครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม แล้วก็พยายามที่จะให้เข้าถึง สิ่งที่จำเป็นอย่างเช่น ในกรณีของประเทศไทย ที่เราเห็นได้ชัด คือ เรื่องของการบริการทางด้านสุขภาพ ในอดีตก่อนปี 2543 เราก็จะต้องเตรียมเงินไปหาหมอ แม้ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐบาลก็ตาม หากเราไม่ได้บัตรสงเคราะห์ เราก็จะจำเป็นจะต้องมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมันก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถที่จะเข้ารักษาพยาบาลได้

พอรัฐบาลเปลี่ยนมาเป็นระบบที่รัฐบาลจัดให้ผ่านภาษี เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเตรียมเงิน เงินไม่ได้เป็นอุปสรรคของเรา ในการที่จะเข้าสู่การรับบริการทางด้านสุขภาพ คราวนี้ถามว่าเงินมาจากไหน ก็เป็นเงินที่เราจะต้องเก็บมาจากภาษี ซึ่งกรณีของเรื่องหลักประกันสุขถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค นั่นคือเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของการที่เรามีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมโดยรัฐ 

อีกเรื่องหนึ่งที่ตามมาในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 คือเรื่องของการเรียนฟรี 12 ปี ในอดีตนั้นก็จะมีการเก็บค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะไม่ได้มากนัก แต่มันก็มากพอที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับหลาย ๆ ครอบครัว ที่จะไม่ได้เข้าเรียน คราวนี้การที่รัฐบาลจะต้องจัดให้เรียนฟรี 12 ปีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มันก็ทำให้คนมีโอกาสได้เข้าเรียนสูงขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะตัวเลขของกลุ่มที่เป็นกลุ่มที่ยากจน ในอดีตเขาเคยเรียนถึงมัธยมปลาย ประมาณไม่ถึง 10% แต่ว่าหลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2540 นี้ เขาได้มีโอกาสเรียนจนถึงมัธยมปลายประมาณ 40 – 50% 

“เพราะฉะนั้นอันนี้คือโอกาสที่มันเพิ่มพูนมากขึ้นอย่างมาก แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะต้องมาจากตัวภาษีที่เพิ่มขึ้นด้วย”

การให้เงินสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้?

ความเหลื่อมล้ำ มันเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน แล้วตัวความเหลื่อมล้ำเอง มันก็มีหลายมิติ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้  ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน แล้วก็ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส คือ เราเข้าถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความเหลื่อมล้ำ 3 ด้านนี้ มันเกี่ยวพันกันตลอด

“พอเราเลื่อมล้ำทางด้านรายได้ เราก็เลยมีทรัพย์สินไม่เท่ากัน แล้วพอมีรายได้หรือทรัพย์สินไม่เท่ากับคนอื่นเขา เราก็อาจจะมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นเขา พอเรามีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น ต่อไปรายได้ของเราก็อาจจะเหลื่อมล้ำ 3 ด้านมันไปด้วยกัน”

คราวนี้ตัวประเด็นเรื่องสวัสดิการ มันจะเข้ามาพยายามแก้ ประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสกับทางด้านรายได้ แต่ผมอยากจะขอพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสก่อน

ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ในที่นี้หมายความว่าทำให้คนที่เดิมทีไม่มีโอกาส เช่น เรื่องของการศึกษา เพราะว่าในอดีต เราพบว่าครัวเรือนที่ยากจน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่ามาก คนที่จนที่สุด อาจจะได้เรียนถึงมัธยมปลายประมาณ 10% แต่พอมีสวัสดิการการ คือ การศึกษาฟรี 12 ปี ปรากฏว่าจาก 10% ที่ได้มีโอกาสเข้าเรียนจนถึง ม.ปลาย กลายเป็น 40-50% การที่เขาได้มีโอกาสเรียนถึง ม.ปลาย เราก็คาดหวังว่ารายได้ของเขาจะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าดูจากตัวเลขเฉลี่ยของผู้ที่จบการศึกษาระดับประถมกับผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย

ชี้ชัดว่า ผู้ที่จบมัธยมปลาย จะมีรายได้มากกว่าผู้ที่จบทางด้านประถมศึกษา ถ้าเราช่วยยกระดับของคนที่ขาดโอกาสในการที่จะเข้าเรียน ให้มีโอกาสเพิ่มพูนขึ้นได้ มันก็จะช่วยทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต 

หรือ เรื่องของสุขภาพในอดีต ก่อนที่เราจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราก็จะพบว่า คนจนอาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 5-8%ในขณะที่คนรวยมีภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพประมาณ 1% ของรายได้ ในขณะที่เรามองว่าคนรวย เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอาจจะดูเยอะ เมื่อเราคิดเป็นตัวเงินเทียบกับรายได้แล้ว มันกลายมีภาระน้อยกว่าคนจนเยอะเลย

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพที่คนจนจะต้องจ่าย มันลดลงมาจาก 5-8% ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ  แปลว่าตอนนี้ภาระค่าใช้จ่ายของคนจนกับคนรวยในประเทศไทย ถ้าเทียบเป็น % ต่อรายได้แล้วเท่ากัน 

ในกรณีเรื่องของสุขภาพ อันนี้คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยว่า แสดงว่าเขาสามารถเข้าถึงบริการได้ เขาสามารถที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งแต่เดิมเขาเคยต้องเสียเยอะตอนนี้เขาก็เสียน้อยลง

ส่วนสวัสดิการ ที่ช่วยลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ที่เห็นชัดเจนมากที่สุด คือการให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ ก่อนหน้าปี 2552 การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจนเท่านั้น แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ได้รับเบี้ยยังชีพน้อยกว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ยากจนอีก

สมมุติว่าเรามีผู้สูงอายุที่ยากจนประมาณ 2 ล้านคน เราให้เงินเบี้ยยังชีพประมาณล้านกว่าคนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นแสดงว่าอย่างไรมันก็ครอบคลุมไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว ตัวเลขที่น่าสนใจ ณ ปีนั้นก็คือผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มคนที่มีความยากจนสูงที่สุด ในบรรดากลุ่มช่วงอายุต่าง ๆ ของในประเทศ แต่ปรากฏว่าหลังจากที่มีการเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพ ที่ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน มาเป็นเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า คือ จนก็ได้ รวยก็ได้ ได้เหมือนกันหมด ตั้งแต่ปี 2552 – 2554 ที่ทยอยให้ ปรากฏว่าจำนวนความยากจน ของผู้สูงอายุลดลงอย่างมาก  จนปัจจุบันนี้ ผู้สูงอายุไม่ใช่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 

ฉะนั้นแสดงว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสวัสดิการ อาจจะไม่ได้ทำงานในแง่โอกาสซะทีเดียว แต่มันไปทำงานในแง่การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ แต่มันก็มีส่วนช่วยในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ในกรณีที่ผู้สูงอายุจะสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมได้มากขึ้น ก็เป็นโอกาสสำหรับผู้สูงอายุ เหมือนตอนที่เรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันมาช่วยหน้าที่ในด้านของการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากกว่า

การใช้รัฐสวัสดิการ มีทั้งกลุ่มคนเห็นด้วยและกลุ่มคนไม่เห็นด้วย ถ้าจะแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องเป็น”รัฐสวัสดิการ”อย่างเดียวหรือไม่?

เรื่องความเห็นที่แตกต่างกัน มันเป็นเรื่องปกติของเรื่องนี้ แล้วมันควรจะเห็นแตกต่างกัน และได้มาคุยแลกเปลี่ยนกันสม่ำเสมอด้วยซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะมีความเห็นว่า ระบบสวัสดิการของประเทศ มันควรจะพัฒนาไปในลักษณะไหนอย่างไร ผมคิดว่าความแตกต่าง มันเป็นสิ่งที่เป็นปกติ

ความแตกต่าง มันอาจจะเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะด้วยกัน

  1. ความแตกต่างที่เราอาจจะเรียกว่าเชิงแนวคิด หรือเชิงอุดมการณ์
  2. ความแตกต่างในลักษณะของความพร้อมทางการเงิน หรือทางด้านเศรษฐกิจ 
  3. ความแตกต่างในการที่เราได้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่มันเกี่ยวข้อง                

ข้อแรก ความแตกต่างเชิงอุดมการณ์ ซึ่งเราอาจจะแบ่งคนออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ลักษณะแรก เราก็จะคิดว่าสวัสดิการก็คือพยายามช่วย มีแค่ไหนเราก็พยายามช่วย  ไม่ว่าจะเป็นบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือโรงเรียนของรัฐบาล จะมีลักษณะที่คนจนใช้บริการเยอะ แต่คนรวยใช้บริการน้อย ซึ่งคนกลุ่มแรกก็จะบอกว่าก็โอเค เพราะอย่างน้อยคนจนก็ได้ใช้ ตอนนี้ได้ใช้ทั่วถึงแล้ว ส่วนที่คนรวยไม่ใช้ก็โอเค เพราะว่าคนรวยก็คงเลือกไปใช้โรงพยาบาลเอกชน แต่ถ้าเรามองให้ลึกขึ้น เราก็อาจจะมีการตั้งคำถามจากคนกลุ่มที่ 2 ที่มองว่า ระบบสวัสดิการ ถ้ามันเป็นแบบที่คนที่ 1 ว่ามันโอเค จริง ๆ มันไม่โอเค เพราะระบบสวัสดิการที่มันดีจริง มันต้องดีพอ ที่คนทุกกลุ่มจะรู้สึกว่า เข้าไปใช้บริการนี้ได้ดีเหมือนกัน เหมือนกับคำถามที่ว่า แล้วทำไมคนรวยถึงไม่ใช้บัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คำตอบคือ ต้องรอนาน ต้องไปโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ ต้องใช้เวลาในการไปรักษาพยาบาลแต่ละครั้งนานขึ้น

ซึ่งคนกลุ่มที่ 2 ก็มองว่า แสดงว่าระบบสวัสดิการที่มันเป็นอยู่ มันไม่ค่อยโอเค ระบบสวัสดิการมันควรจะดีพอ และดีสำหรับทุก ๆ คนอย่างเท่ากัน แต่ในขณะที่คนกลุ่มแรกบอกว่า ขอให้ทั่วถึงก็โอเคแล้ว ขอให้คนจนได้ใช้ ในระดับที่เป็นมาตรฐาน เช่น เราสบายใจ เมื่อไปโรงพยาบาลของรัฐ แต่เราต้องรอนานก็โอเคแล้ว 

แต่เรายังมีคนกลุ่มที่ 3 อีก ซึ่งไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 กลุ่ม เห็นว่าเรื่องสวัสดิการ มันควรมีไว้ให้กับคนจนเท่านั้น ไม่ควรที่จะให้คนที่มีรายได้เพียงพอ หรือมีรายได้สูง เพราะฉะนั้น กลุ่มที่ 3 ก็จะมีการตั้งคำถามว่า จริง ๆ แล้วเรามีความจำเป็น จะต้องให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้เยอะหรือเปล่า หรือเราจะบังคับให้คนที่มีรายได้เยอะมาร่วมจ่าย แทนที่จะไปรับบริการในบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือเปล่า 

เพราะฉะนั้นคนกลุ่มที่ 3 จึงมีความเห็นว่า สวัสดิการของรัฐ ควรจะกันเอาไว้ให้กับคนจนเท่านั้น

คนกลุ่มที่ 3 ปัจจุบันได้เป็นรัฐบาลมาประมาณ 6 – 7 ปี เขาก็เลยไปคิด เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้ที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องพิสูจน์ความจนก่อนว่า ตัวเองมีเงินในบัญชีน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถึงจะเรียกว่าเป็นคนจน และจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการพิสูจน์เหล่านี้ เราจะเห็นว่าไม่มีในการที่เราจะไปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในการที่เราจะไปรับบริการในบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

เราจะเห็นความแตกต่างเชิงอุดมการณ์ 3 แบบนี้ มันเป็นความแตกต่างที่ มันทำให้เรามองว่า ถ้าอย่างนั้นสวัสดิการของเรา มันควรจะเป็นอย่างไร อันนี้ก็เป็นความแตกต่างระดับแรกเลยว่า มันควรจะเป็นอย่างไร 

ทีนี้ความแตกต่างกันแบบที่ 2 ต่างกันทางความพร้อมทางการเงิน หรือทางด้านเศรษฐกิจ คือบางกลุ่มก็มองว่าถ้ามันจะต้องมีระบบสวัสดิการที่ดีขึ้น มันมาจากการลงทุนด้วยเงินของแต่ละคนเองได้ไหม เช่น การออม การซื้อประกันสุขภาพ หรือการที่จะซื้อประกันที่จะมีรายได้ ในช่วงผู้สูงอายุ ซึ่งโดยส่วนตัวเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมไม่ปฏิเสธข้อที่ 2 ผมเป็นพวกที่จะต้องวางแผนตามข้อที่ 2 ด้วย แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า เรามีคนจำนวนมากในประเทศไทย ที่เราไม่สามารถที่จะทำตามข้อที่ 2 ก็คือวางแผนการเงินในอนาคต  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการออม เรามีคนน้อยกว่า 1 ใน 5 ของประเทศที่มีเงินออม เพียงพอสำหรับตอนเกษียณอายุ เพราะฉะนั้น มันก็กลายเป็นเรื่องที่มันไม่ทันการณ์แล้ว มันอาจจะเป็นไปได้แล้ว 

ถ้าย้อนกลับไปเรื่องรักษาพยาบาล ผมคิดว่า ถ้าเราไม่มีบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2543 ผมว่าความลำบากที่เกิดตอนเกิดโควิด-19 มันคงจะเยอะกว่านั้นอีกมาก เพราะความสามารถในการรองรับความเสี่ยงด้านสุขภาพ ต้องแปลงออกมาเป็นตัวเงิน ตัวค่าใช้จ่าย มันเยอะมาก จนเรารับไม่ไหว ในประเด็นข้อ 2 ผมคิดว่าเราจำเป็นจะต้องพูดข้อเท็จจริงกันว่า จริง ๆ แล้วเรามีความพร้อมกันมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับผู้ที่มีความพร้อม ผมไม่ติดใจที่จะทำให้เขามีสวัสดิการส่วนเพิ่มขึ้นมา

ส่วนสุดท้าย ความต่างเรื่องของข้อมูลเชิงประจักษ์ ผมยกตัวอย่างเรื่องข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าสนใจ คือเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเราคุยกันแล้วว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็คือมาจากแนวคิดเชิงอุดมการณ์ที่ว่า สวัสดิการควรมีไว้ให้กับคนจนเท่านั้น แล้วก็ต้องมีการพิสูจน์ ต้องมีการคัดกรองความจน เพื่อที่จะทำให้เงินของรัฐไปถึงคนที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเราพูดแบบนี้มันก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ว่าพอเราไปดูตามข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ บางทีมันไม่เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่าง คนที่จนที่สุด 20% สุดท้ายของประเทศ สมมติว่ามีร้อยคน ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 40 กว่าคน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนที่จนที่สุด ก็ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในขณะที่คนกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่ม 40% ที่จนที่สุด ก็คือกลุ่ม 60% ที่มีรายได้ดี คนกลุ่มนี้ก็ยังมีอีกประมาณ 10% กว่า ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้กระทั่งกลุ่ม 20% ที่รวยที่สุดก็ยังมีประมาณ 3% ที่ยังได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เพราะฉะนั้นระบบการคัดกรองของรัฐบาล ที่แม้จะตั้งใจทำภายใต้อุดมการณ์ความคิด เรื่องสวัสดิการนั้น  มันอาจจะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่ามันไม่ได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นส่วนที่เราเรียกว่า ตกหล่น หมายถึงส่วนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ แต่เราช่วยเหลือไม่ถึง ตกหล่นไปประมาณ 50%และอีก 10% กว่า เราเรียกว่าส่วนรั่วไหล คือคนกลุ่มนี้ คิดว่าไม่ควรรั่วไหล แต่มันก็ยังไหลอยู่ดี 

พูดง่าย ๆ คือ ควรจะได้ แต่ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มันหมายความว่า ด้วยวิธีการที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถที่จะเข้าถึง คนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือ เมื่อเราตั้งเกณฑ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์พิสูจน์ความจนในแง่ไหนก็ตาม สิ่งที่เราจะเจอมันก็คือการตกหล่นในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ เพราะฉะนั้นเวลาเราคุยกัน เราจะต้องจำเป็นจะต้องคุยใน 3 ประเด็นนี้ไปคู่กัน ระหว่างความคิดอุดมการณ์ ซึ่งแน่นอนการคิดแตกต่างกัน มันไม่ใช่ความผิด แต่เราจำเป็นจะต้องมาพูดคุยกันถึงเรื่องความสามารถทางการเงิน ซึ่งหลายคนอาจจะพูดถึงความสามารถทางการเงินของรัฐด้วย เพราะอันนี้ก็แน่นอนก็เดี๋ยวเราคงได้คุยรายละเอียด 

และประเด็นสุดท้ายก็คือ ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไร  ไม่ว่าเราจะหวังอย่างไร สุดท้ายเราต้องเช็กว่า สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราหวัง มันเกิดผลอย่างที่เราคิด อย่างที่เราหวังหรือไม่

ไม่ทราบตัวเลขชัดเจนของจำนวนคนจน และคนจนไม่มีวิธีการออม จะช่วยดูแลควบคุมตรงนี้ได้อย่างไร?

จริง ๆ ตัวเลขคนจน เป็นตัวเลขที่มีพลวัต คือว่ามันก็อาจจะขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ความน่าสนใจ คือ มีคนที่นอกจากคนจน ที่เราจะพูดถึงประมาณสัก 5 ล้านคน เรายังมีคนอีกประมาณสัก 10 ล้านคน ที่เราเรียกว่าคนเกือบจน คือ คนจน 5 ล้าน กับคน 10 ล้านคนที่เป็นคนเกือบจน ในแต่ละปีนี้จริง ๆ มันสลับกันไปมา หมายความว่าบางปี เขาก็อาจจะกระโดดจากจน มาเป็นเกือบจน แต่บางปีเขาไม่ได้ทำงานสม่ำเสมอ เขาก็อาจจะร่วงจากคนเกือบจน ไปเป็นคนจน

เพราะฉะนั้นโดยเบ็ดเสร็จ เรามีตัวเลขที่จะต้องพยายามทำอย่างไร ให้ชีวิตเขามีความมั่นคงประมาณ 15 ล้านคน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลก็อาจจะบอกว่า ตัวเลขคนจนก็จะประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร ในแต่ละปีมีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน แต่มีคนอยู่ 10 ล้านคน เราอาจจะเรียกว่าเกือบจน หรือพร้อมจะกลายเป็นคนจน ได้ ถ้าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย

เพราะฉะนั้นคนประมาณ 15 ล้านคน คือสิ่งที่เราจะต้องพยายามเข้าไปดูแล แต่มันก็จะย้อนกลับมาเต็มความเห็นเชิงอุดมการณ์ คนกลุ่มที่ 3 ที่มองว่า สวัสดิการควรจะถึงเฉพาะคนจนเท่านั้น โจทย์ข้อแรกก็คือ เราจะไปหาคนละ 15 ล้านคนนี้ ได้อย่างไร ถ้าเหมือนกราฟ คนกลุ่มนี้สมมติว่า อยู่ต่ำกว่าเส้นเกณฑ์เรากำหนด เราจะต้องไปพยายามหาคนกลุ่มนี้ให้เจอ นี่คือความคิดของคนกลุ่มที่ 3 

แต่ในขณะที่ความคิดของคนอีกกลุ่มหนึ่ง คือพยายามที่จะยกเส้นกราฟทั้งเส้นให้มันพ้นจากความยากจน ซึ่งอันนี้ก็คือแนวความคิดเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า หรือรัฐสวัสดิการ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ทุกคน แน่นอนที่มันเป็นข้อที่หลายคนกังวลเพราะต้องใช้งบประมาณนี้เพิ่มมากขึ้น จริง ๆ แล้วความพยายามนี้มันก็เห็นผลชัดเจน ในกรณีของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พอเปลี่ยนมาเป็นถ้วนหน้า ปรากฏว่าเข้าถึงผู้สูงอายุทุกคน 

“ตัวเลขมันประมาณ 90% ส่วนที่เหลือมันเป็นความผิดพลาดในเชิงสุดวิสัยจริง ๆ เช่น อยู่ห่างไกล ไม่รับรู้ข้อมูล หรือปฏิเสธการที่จะเข้ามารับ แต่ว่าถ้าเกิดมีความต้องการจะรับ ก็สามารถเข้ามาได้ เพราะว่าไม่ได้มีเกณฑ์แบ่งไว้ มันก็เลยทำให้ตัวเลขผู้สูงอายุที่ยากจน ลดลงจาก 10% กว่า เหลือประมาณ 8% ภายในเวลา 3 ปี เรียกว่าสามารถที่จะเข้าถึงได้ทันที ตรงนี้มันก็เลยกลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่จะต้องมีการถกเถียงกัน”

วิเคราะห์สถานการณ์คลัง งบประมาณของรัฐ กับเรื่องของภาษีจัดสรรอย่างไร

อาจจะต้องแบ่งคำถามเป็น 2 เรื่อง คือ สวัสดิการของรัฐ และ งบประมาณของรัฐ เราต้องเข้าใจก่อนว่า มันเริ่มต้นมาจากวิธีคิดว่า รัฐบาลมีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ในชีวิตของผู้คนตัวเล็ก

ง่ายที่สุดที่เราจะดู คือ รัฐบาลเก็บภาษีกี่ % ของ GDP คือ GDP ก็คือเหมือนกับรายได้โดยรวมของทั้งประเทศ แล้วตัวรัฐบาลไปเก็บภาษีมาเท่าไร คือเก็บภาษีมา เพื่อที่จะมาดูแลประชาชนสักเท่าไร อย่างประเทศที่ทำและสวัสดิการเต็มที่ เช่น เดนมาร์ก สวีเดน เขาอาจจะเก็บภาษีมาประมาณ 45% ของ GDP พูดง่าย ๆ คือรายได้ 100 เขาเก็บมา 45 แล้วก็มาใช้เพื่อระบบสวัสดิการประมาณร้อยละ 30

แต่ในกรณีของไทยเรา เก็บภาษีโดยภาพรวมในประมาณร้อยละ 15 ของ GDP เท่านั้น แล้วเราก็มาใช้เพื่อระบบสวัสดิการประมาณร้อยละ 5 – 7 เท่านั้น เวลาเราพูดว่าเงินรัฐบาลเราอาจจะไม่พอ ที่จะรองรับสวัสดิการนี้ มันจึงพูดบนฐานที่เราเก็บภาษีมาร้อยละ 15 มันก็ไม่ผิดอะไร หมายความว่าเราเก็บภาษีมาน้อย เราก็มีเงินจ่ายน้อย แต่ประเทศที่เขามีรัฐสวัสดิการ เขาก็มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และการพอเพียงของเงิน ที่มาใช้ในเรื่องสวัสดิการ มันจึงไม่ใช่มาจากรัฐบาลอย่างเดียว มันมาจากข้อตกลงร่วมกัน เพราะเวลาเราจ่ายภาษีรัฐบาล เขาก็จะต้องมีการออกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี หรือออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี และถ้าเกิดเราไม่พอใจ เราก็ไม่เลือกเขามาเป็นรัฐบาลต่อ รัฐบาลหน้าก็ลดภาษี 

เพราะฉะนั้นเวลาการที่จะมีภาษีหรือไม่มีภาษี มันเป็นข้อตกลงร่วมกัน ของคนทั้งสังคม จริง ๆ แล้วคำถามที่ว่ารัฐบาลไม่มีเงินจ่าย มันจึงไม่ใช่คำถามซะทีเดียว คำถามจริง ๆ ก็คือเราจะเราจะตกลงกันไหมว่า เราจะให้รัฐบาลนี้เก็บภาษีเพิ่มขึ้น และก็มีสวัสดิการที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

แต่แน่นอนมันมีประเด็นอีกส่วนหนึ่งก็คือส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาลจัดสรรทรัพยากร คือรัฐบาลได้เงินมาจะเอาเงินไปใช้ตรงไหนอย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องเป็นคนตอบด้วยว่า จะเอาไปใช้ตรงไหนอย่างไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ตามกลไกประชาธิปไตย ก็ทำให้รัฐบาลจะต้องตอบทุกปี ตอนที่ออกพระราชบัญญัติงบประมาณ รัฐบาลก็ต้องเป็นคนทำหน้าที่ตอบคำถาม ของผู้แทนราษฎรว่า จะเอาเงินไปใช้ตรงไหน อย่างไร 

โดยสรุปสั้น ๆ คือว่า ถ้าเราคิดว่าเงินไม่พอ สิ่งที่เราทำก็คือการเพิ่มภาษี การเพิ่มภาษีมันก็คือการตกลงกันว่า แทนที่เราจะเอารายได้บางคนที่มีไปซื้อประกัน แล้วก็คนที่เหลือก็ไม่มีเงินที่จะซื้อประกัน เรามาตกลงกันว่า เราจะมาจ่ายเงินของเราลงทุนร่วมกัน ผ่านระบบภาษี แล้วรัฐบาลก็จะไปสร้างสิ่งที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการ มาให้กับพวกเรา

ในต่างประเทศ กว่าจะได้รัฐสวัสดิการมา ต้องทำอย่างไรบ้าง?

พูดง่าย ๆ คือ แลกมาด้วยการที่เราจะต้องมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล ผมไม่แน่ใจว่าเราจะใช้คำว่าแลกมาถูกไหมนะ แต่มันก็ว่าเราก็ต้องมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล กับขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีความเชื่อมั่นร่วมกันว่า ระบบรัฐสวัสดิการ มันมีขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือพี่น้องบางส่วนในสังคม แต่มันทำให้พวกเราทั้งสังคม  มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

ในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่พัฒนารัฐสวัสดิการ มันเกิดมาจากการที่เขาพ่ายแพ้สงครามกับเยอรมนี และเขาก็คิดทบทวนว่า วิธีการที่จะทำให้ประเทศเล็ก ๆ ของเดนมาร์ก สามารถดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งในแวดล้อมมหาอำนาจอย่างไร เขาก็ได้คำตอบว่า มันต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็ง

วิธีการที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งคืออะไร วิธีการจะทำให้ประชาชนก็คือการสร้างให้ประชาชนได้รับโอกาสที่ดี เลยต้องมีระบบสวัสดิการที่ดี มาให้ประชาชนมีโอกาสที่ดีได้ด้วย คำถามคือ แล้วใครจะเป็นคนลงทุน? คือประชาชนด้วยกันเองเป็นผู้ลงทุน เพื่อที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และประเทศก็จะเข้มแข็ง 

เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูจากโจทย์ความคิดของเดนมาร์ก เราอาจจะเห็นได้ชัดเลยว่า มันแตกต่างจากโจทย์ความคิดของประเทศไทยพอสมควร โจทย์ความคิดของประเทศเราคือ มีใครยากจน มีใครเดือดร้อน เราจะไปช่วยเหลือเขาอย่างไร โจทย์มันจะบอกว่า ถ้างั้นก็อย่าช่วยคนที่ไม่จดแล้วกัน อันนี้มันคือสิ่งที่แตกต่างกันเชิงความคิด แต่ถ้าเป็นเดนมาร์ก มันไม่ได้เริ่มต้นจากใครคือคนจน แล้วเราจะไปช่วยเขาได้อย่างไร แต่มันเกิดขึ้นมาจากว่า เราจะเข้มแข็ง ไม่เจอกับภัยอันตราย ที่เราไม่ได้คาดฝัน คือหมายถึงในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าเกิดเราเกิดเหตุ เกิดตกงานเกิดขึ้น มันก็มีตัวมาตรการรองรับ เพราะเขามีความเชื่อว่า ไม่มีใครคาดฝันสิ่งนี้ ถ้าเราป่วยไม่มีใครอยากจะป่วย และทำยังอย่างไร ให้กลับคืนมาได้เร็วที่สุด กลับมาเข้มแข็งใหม่ ได้เร็วที่สุด

ถ้าทุกคนอยากเรียน ทำอย่างไรให้ได้เรียนให้ได้ไกลที่สุด ตามขีดความสามารถ ตามความฝันของเขาเอง ฉะนั้น ประเด็นเรื่องสวัสดิการในเดนมาร์ก มันจึงไม่ใช่ไปช่วยคนจน แต่มันเป็นเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งของประชาชน เพื่อไปสร้างความเข้มแข็งของประเทศต่อไป

ความเชื่อของไทย “เราต้องช่วยเหลือคนจน” เป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก อะไรคือ “ตรงกลาง” ที่จะทำให้ขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ ?

ต้องบอกก่อนว่า ชนชั้นกลางเป็นผู้ที่เลือกได้ ระหว่างจะไปเข้ารับสวัสดิการทั่วไป ที่รัฐบาลจัดให้ เช่นไปโรงเรียนรัฐบาล ไปโรงพยาบาลของรัฐบาล หรือจะจ่ายเงินไปโรงเรียนเอกชน โรงพยาบาลเอกชนที่แพงกว่า 

ในอดีตเราอาจจะรู้สึกว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ชนชั้นกลางยังพอไหว ดังนั้น ชนชั้นกลางก็ไม่ได้ไปเรียกร้องให้สวัสดิการมันมีความครอบคลุมถ้วนหน้า แต่ว่าตอนนี้ภาระตรงนี้ มันเริ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายสำหรับพ่อแม่ของชนชั้นกลางก็เพิ่มขึ้น มันเลยกลายเป็นสิ่งที่มันต่อกัน ทับถมกันจนเกิดเป็น มันเหมือนกับเป็นภาวะทาง 2 แพร่งว่า เราจะไปแบบเดิม 

พูดง่าย ๆ ก็คือมีเงินจ่ายก็จ่ายไป บางคนก็จะบอกว่าตัดช่องน้อยแต่พอตัว ก็คือพยายามจะดิ้นรนต่อไป เพื่อที่จะทำให้เราได้รับบริการที่ดี โดยที่ระบบสวัสดิการของประเทศยังเหมือนเดิม หรือเราจะเปลี่ยน มาเป็นการรณรงค์เคลื่อนไหวร่วมมือ เพื่อที่จะทำให้สวัสดิการของประเทศมันดีขึ้น สำหรับพี่น้องคนจนผมไม่แปลกใจนะชีวิตที่เดือดร้อนอยู่ อย่างไรเขาก็เรียกร้องสวัสดิการแน่อยู่แล้ว

ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นคนจนในเดนมาร์ก ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีสวัสดิการ เขาก็ต้องเรียกร้องสวัสดิการอยู่แล้ว แต่โจทย์มันอยู่ที่คนชั้นกลาง ในกรณีของเดนมาร์กคนชั้นกลาง และแม้กระทั่งชนชั้นสูงในเดนมาร์ก ณ ตอนที่เริ่มต้นทำเรื่องรัฐสวัสดิการ เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว เขาเชื่ออยู่แล้วด้วยตัวเองว่า การมีรัฐสวัสดิการไม่ใช่แค่ช่วยคนจน จริง ๆ ไม่ใช่ตัวหลักเรื่องการช่วยคนจน ตัวหลักคือการทำให้ประชาชนเข้มแข็ง 

แต่ในกรณีประเทศไทย ซึ่งเราไม่ได้เริ่มต้นจากความคิดนั้น ผมคิดว่าชนชั้นกลางตอนนี้ ด้วยข้อวิกฤตที่มันมาบีบคั้นเขามากขึ้น ผมอาจจะขออนุญาตพูดถึงเรื่องพ่อแม่เพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ในกรณีของการดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุขึ้นหรือญาติที่สูงอายุขึ้น ผมคิดว่ามันอาจจะมีโจทย์ถึงขณะที่บางคนจะต้องลาออกจากงาน เพื่อมาดูแล มันกลายเป็นอาจจะเรียกว่าข้อจำกัด ในการที่เขาเคยคาดหวังไว้เดิม มากขึ้นไปอีก มากขึ้นไปกว่าการจ่ายเงินอีก มันกลายเป็นการที่เขาหาเงิน ก็หาไม่ได้ หรือหาได้น้อยลง ตอนนี้ชนชั้นกลางกำลังเริ่มเริ่มคิด

หากจำสิ่งที่เราคุยกันเมื่อตอนต้นได้ การที่เราจะเชื่อว่า เราจ่ายเงินภาษี เพื่อไปทำให้ประชาชนเข้มแข็ง มันมีจิ๊กซอว์อยู่ตัวหนึ่งที่สำคัญมาก คือ จิ๊กซอว์ที่ว่ารัฐต้องเข้มแข็งด้วย นั่นคือจิ๊กซอว์ตัวที่เดนมาร์กเขามี คือความรู้สึกของประชาชนคือ เราจ่ายภาษีไป รัฐบาลไปทำหน้าที่ช่วยเหลือแทนเรา ไปมีระบบช่วยเหลือทุก ๆ คน ไม่ใช่เฉพาะคนจน ทุก ๆ คนที่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือแทนเรา ของเราพอดีมันยังไม่มีความเชื่อมั่นตรงนี้ มันก็เลยขาดจิ๊กซอว์ไปตัวหนึ่ง 

ตอนนี้ผมคิดว่าชนชั้นกลางเริ่มรู้สึกแล้วล่ะว่า มันจำเป็นจะต้องต้องมีระบบอื่นที่เข้ามา เริ่มตะเกียกตะกาย จริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นกลางประเทศไทยนะ ในสหรัฐอเมริกาก็แบบเดียวกัน มันจะเจอปัญหาลักษณะแบบนี้เหมือนกัน แล้วอีกตัวหนึ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกา จะเดือดร้อนหนักกว่าบ้านเรา คือเรื่องที่อยู่อาศัย คือของเรามันอาจจะยังอยู่กับพ่อแม่ไปก่อน ถ้าเราไม่มีความพร้อม อยู่ไกลหน่อย แต่ในกรณีของอเมริกาแบบว่า ภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย มันหนักมาก ในกรณีของเดนมาร์กที่อยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการมันทำให้ประชาชนเข้มแข็ง สามารถมีที่อยู่อาศัยได้ดีพอ ก็ไปทำงานได้ดีพอ เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมคิดว่าเมืองไทยมันเข้ามาสู่จุดนั้นแล้ว 

คราวนี้ทางแก้ง่าย ๆ ทางหนึ่ง ในประเด็นที่เราก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่า รัฐจะมีความเข้มแข็งพอไหม ทางแก้ง่าย ๆ ที่เราควรทำเลย คือ การแยกบัญชีเรื่องรัฐสวัสดิการออกมาเป็นบัญชีต่างหาก เป็นบัญชีที่รัฐบาลบอกไว้เลยว่าบัญชีนี้ มันคือเงินจำนวนเท่านี้

ในบัญชีนี้เราอาจจะบอกว่าเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากี่บาท เป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกี่บาท เป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็กกี่บาท สมมติว่าเรามีความจำเป็นจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อมาเติมเงินก้อนนี้ เงินทุกบาทที่เราได้มาจากการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เพิ่มขึ้น จะตรงเข้ามาตรงก้อนนี้ และเงินก้อนนี้เวลารัฐบาลต้องมาบริหารจัดการ ต้องมานำเสนองบประมาณต่อสภาผู้แทนราษฎร เวลาตัดลดงบประมาณต่าง ๆ ขอให้อยู่ในก้อนนี้ สมมุติว่าเราบอกว่าตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม แสดงว่าเงินตรงนี้มันจะไม่ได้ไหลไปสู่การสร้างถนน ไม่ได้ไหลไปสู่การสร้างอาวุธ แต่ว่าไหลกลับมาสู่สวัสดิการของคนกลุ่มอื่น ๆ แม้กระทั่งบางทีเราอาจจะไม่ได้จ่ายเต็มจำนวน เพราะว่าอาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เราก็เก็บไว้อยู่ในก้อนนี้อยู่ในกองทุนที่เราเรียกว่า กองทุนสวัสดิการของประชาชน 

ถ้าเราเริ่มมีสิ่งนี้ได้ การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ระหว่างภาครัฐประชาชน และประชาชนด้วยกันมันก็จะเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเป็นลำดับ  

กรณีประเทศเดนมาร์ก มีกลไกให้ประชาชนตรวจสอบว่ารัฐจัดการเงินนั้นอย่างไร ไทยมีไหม?

เดนมาร์ก คือ มีหมวดงบประมาณที่ชัดเจน แล้วก็นำเสนอกับประชาชนที่ชัดเจน ของประเทศไทยขาดเรื่องให้ความชัดเจนเท่านั้นเอง ที่เราจะบอกได้ว่า วงเงินงบประมาณที่จะมาใช้เรื่องสวัสดิการของประชาชน เป็นเท่าไร  

ปัจจุบันเมืองไทยเรานี่ไม่ได้มีตัวเลขชุดนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีตัวเลข เวลามันจะผ่านสภาเราก็ต้องมีตัวเลข แต่มันแฝงไปหมด เรื่องนี้ไปอยู่ในหมวดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องนี้ไปอยู่ในหมวดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องนี้ไปอยู่สารพัดที่ กระจายกันไปหมด ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรทำคือรวบมา แล้วก็อธิบายสมมติว่างบประมาณมันจะเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นไปเป็นอะไร 

ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเรื่องหนึ่ง คือ บัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขาจะบอกเลยว่า สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นคืออะไร เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันเป็นจุดสำคัญ แต่ขั้นตอนต่อไปคือว่า พอเรามีบัญชีนี้แล้ว การที่จะเพิ่มหรือในบางกรณีอาจจะลดในบัญชีตัวนี้ เราควรจะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เราควรจะเปิดให้มีการดีเบตกันอย่างเป็นสาธารณะผ่านสื่อมวลชน ทำไมถึงให้ได้ เป็นแบบถ้วนหน้า ทำไมไม่ควรเป็นแบบถ้วนหน้า แล้วเราจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร มันก็ย้อนกลับมาดูในวงเงินก้อนนี้ โดยที่ไม่ต้องมีคนไปตั้งคำถามว่า จะเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำหรือเปล่า เอาเงินไปทำนู่นทำนี่หรือเปล่า มันก็อยู่ในวงเงินก้อนนี้ แล้วถ้าเกิดเรามีความคิดว่า เราจะเพิ่มวงเงินก้อนนี้ มันก็เป็นการที่เราจะตัดสินใจได้อย่างชัดเจน บนพื้นฐานของการเลือกตั้ง บนพื้นฐานของการรณรงค์เรียกร้องในหลักการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราไม่ได้อยู่ไกลเกินกว่านั้นเลย

พูดแบบชัด ๆ เราสามารถทำได้ในปีหน้าเลย ข้อเสนอแนะนี้ แต่คำว่าทำได้ในปีหน้า ไม่ใช่หมายความว่า เราจะได้รับบำนาญแบบเดียวกันกับที่เดนมาร์กได้รับทุกอย่าง แต่ว่ามันจะเป็นพื้นฐานหรือตกลงเราควรจะได้รับอะไร ผมพูดตรง ๆ ว่าเราคิดว่ามันมีความจำเป็น ถ้าสวัสดิการดีขึ้นกว่านี้ นอกเหนือจากการที่จะตัดงบประมาณบางส่วนของรัฐ เราก็จำเป็นต้องขึ้นภาษี แต่การขึ้นภาษีที่ทำให้ทุกคนมั่นใจว่าขึ้นภาษีแล้ว สวัสดิการคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ต้องแยกระบบบัญชีออกมา

ในแง่ข้าราชการที่เกรงจะเสียประโยชน์ในการแชร์ทรัพยากร หรือการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ควรแตะต้องระบบราชการ?

คือมันแยกได้เป็นก้อนอยู่แล้ว ผมคิดว่าเรื่องไปแตะระบบราชการ  ไปทำให้ระบบสวัสดิการระบบสวัสดิการของข้าราชการน้อยลง คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงเลย คงจะไม่มีระบบนั้น แต่ว่าถ้ามันไปทำให้พี่น้องข้าราชการ มีสวัสดิการที่ไม่ได้ดีเป็นพิเศษไปกว่าคนอื่น ๆ ถ้าเรามองในมุมนั้น ก็ต้องถือว่ามี ก็คือกระทบในแง่ที่ว่าต่อไปก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการเป็นพิเศษอีกต่อไป 

ซึ่งผมเชื่อว่าข้าราชการรุ่นใหม่ ๆ จำนวนมาก ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น คือ รู้สึกว่าตัวเองดีที่ได้รับสวัสดิการ และจะดีกว่านั้น ถ้าทุกคนได้รับสวัสดิการใกล้เคียงกับตัวเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"