รัฐสวัสดิการ: ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม? | นวลน้อย ตรีรัตน์

: UBI หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หนทางสู่ความเท่าเทียม เคียงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ?

กระแสการกล่าวถึง “รัฐสวัสดิการ” ได้ถูกหยิบมาพูดถึงกันมากขึ้น พร้อม ๆ กับการตั้งคำถามถึงทิศทาง “สังคมไร้คนจน” ที่มีการจัดสรรสวัสดิการให้กับคนในประเทศ ที่หลายครั้ง รัฐต้องกู้เงินเพื่อกระจาย “สิทธิ” ให้ทุกคนได้เข้าถึงอย่างไม่ต้องร้องขอ

คำถามคือ แล้วระบบอะไรที่จะมารองรับ “ปัญหาด้านรายได้” ที่ประชาชนกังวลต่อปัจจัยการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล และ เรื่องพื้นฐาน

Universal Basic Income (UBI) หรือการมีระบบให้เงินสด เป็น ‘รายได้พื้นฐานที่ถ้วนหน้า’ อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนกีดกัน แต่ยังมีความกังวลในการเข้าถึงระบบและการจัดเก็บ จัดสรร ภาษีเพื่อให้ได้มาซึ่ง “รัฐสวัสดิการ” ที่ นักเศรษฐศาสตร์พยายามจะหาโมเดลของรัฐสวัสดิการแบบไทย ๆ ที่มีเส้นบาง ๆ แยกระหว่าง “ถ้วนหน้า” กับ “ประชานิยม”

The Active ถอดความบทสนทนาเกี่ยวกับ “รัฐสวัสดิการ” ในมุมมองของ ‘รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์’ นักเศรษฐศาสตร์ด้าน Public Economics และ Quantitative Economics

ความเปลี่ยนแปลงของโลก ต่อระบบการให้ความช่วยเหลือ ควรจะมีอะไรมารองรับการเปลี่ยนแปลงบ้าง?

มีการพูดถึงระบบของการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการที่ต้องพูดเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะมีสาเหตุมาจากการที่โลกในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก แล้วในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ต้องพูดได้อย่างหนึ่งว่า มีลักษณะบางอย่างที่ไม่แน่นอน

การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ขณะที่โลกกำลังเผชิญอยู่ คือ การเปลี่ยนแปลงที่เนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้เราได้ยินศัพท์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา AI Machine Learning อะไร ฯลฯ แล้วก็อีกเรื่องที่คนจะพูดกันเยอะว่า อนาคตของงานจะเป็นอย่างไร เพราะเรามี AI Machine Learning ที่เรียนรู้จะทำงานแทนมนุษย์ได้ ที่มีค่อนข้างเยอะ Machine สามารถเรียนรู้พัฒนาตัวเอง แล้วก็มีความสลับซับซ้อนในกระบวนการทำงานทำได้แล้ว เมื่อก่อนทำไม่ได้ ต้องทำเป็นอย่าง ๆ ไป โต้ตอบได้ อะไรได้สารพัดเรื่อง

เพราะฉะนั้นพอเป็นอย่างนี้ ก็จะมีการพูดกันถึงเรื่องที่ว่า ถ้าอย่างนั้น งานบางอย่างที่เคยมี เราคุ้นเคยมาเป็นหลายสิบปี อาจจะหายไป มันก็มีการประเมิน มีรายงานที่ออกมาว่า จะมีงานประเภทไหนบ้างที่หายไป แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้มีแต่เรื่องของความทุกข์ขนาดนั้นอย่างเดียว มันจะมีงานประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งานประเภทใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น คนมี Skill ที่จะไปลองรับงานใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เขาก็บอกว่า มันก็ยังขาดอยู่เยอะ หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานอยู่แล้ว ในปัจจุบันที่งานยังอยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำงานแบบเดิม ๆ ได้ ก็ต้องทำงานในรูปแบบใหม่ เพราะฉะนั้นในแต่ละประเทศ ในแง่ของตลาดแรงงาน ต้องมีการปรับตัว มันจะมีคำว่า “Up skill, Re skill” คือเพื่อที่จะทำให้ทันกับทักษะใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของงานในอนาคต

เมื่อก่อนพอเรียนจบ คนก็ปรารถนาจะเข้าไปทำงานในองค์กร มีความมั่นคง บางคนบอกว่า ทั้งชีวิตทำอยู่ชิ้นเดียว ทำอยู่ที่เดียวจนจบ ตั้งแต่เริ่มเข้างานจนจนออกเกษียณ เสร็จแล้วตอนนี้มีการทำนายใหม่ว่า ในสมัยใหม่คนจะเปลี่ยนงานบ่อยมาก 2-3 ปีจะเปลี่ยนงานแล้ว การเปลี่ยนงานจะมีความไวขึ้น แต่ที่มากกว่านั้น คือ เด็กรุ่นใหม่ เด็กในเจเนอเรชันใหม่ ไม่ได้มีความต้องการที่เข้าไปทำงานในองค์กร และเติบโตในองค์กรนั้นเท่าไรแล้ว อันนี้เป็นเทรนด์ของโลก

ต่อไปจะมีคนที่มีการทำงานบอกว่า อยากรับงานเป็นชิ้น ๆ ทำงานเป็นชิ้น ๆ จบก็จบอันนี้ แล้วเขาก็พัฒนางาน อาจจะรับงานชิ้น จากส่วนอื่นเพราะฉะนั้นเลยเกิดศัพท์สมัยขึ้นมาที่เราเรียกว่า “Gig Work” งานที่รับเป็นชิ้นไป อันนี้เป็นแนวโน้ม เพราะฉะนั้น เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ จะทำให้ระบบของการออกแบบเดิม ที่จะมีเรื่องของที่สำคัญที่สุดอย่าง เช่น พวกระบบประกันสังคม จะเป็นแบบเดิม คงไม่ได้แล้ว เพราะพอคนไม่เข้าสู่ระบบ ไม่ได้มาจ้างงาน เป็นเรื่องเป็นราว รับงานเป็นชิ้น ๆ ไป คนจะไม่ได้เข้าสู่ระบบของประกันสังคม ก็ต้องมีการปรับตัว เพราะฉะนั้น จึงได้มีการออกมาใหม่ มาดูกันใหม่ด้วย 2 เรื่องคน คนอาจจะแบบหลุดจากงาน แล้วไม่รู้จะไปทำอย่างไร ที่จะหางานใหม่ คนต้องปรับปรุง Skill ตัวเองใหม่ คนส่วนหนึ่งไม่ต้องการที่จะทำงานในองค์กร ในระบบอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น จะทำให้รูปแบบเดิมที่ออกแบบไว้ใช้ไม่ได้ ช่วงหลังถึงมีการศึกษาว่า จะสร้างระบบที่เราเรียกว่า “Social Protection” การคุ้มครองทางสังคมอย่างไร ที่จะเหมาะสมกับโลกในสมัยหน้า มันก็ยังเป็นไอเดียที่มีการนำเสนอ มีการวิเคราะห์วิจัยเยอะแยะหลายเรื่อง

ความไม่แน่นอนในชีวิต ความผันผวนในการทำงาน รัฐ สามารถมีระบบอะไรมารองรับตรงนี้ได้บ้าง?

ส่วนหนึ่งในนี้ แต่จะมี หลักคิดว่า การที่เราจะทำให้ทุกคน สามารถมีระบบอะไรที่รองรับ เพราะว่าการที่เราต้องเปลี่ยนงาน การที่เราจะต้องตกงาน จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หมายถึงมีความผันผวนในชีวิตการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเราไม่เคยทำงานในระบบเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำงานไปถึงจุดหนึ่ง ที่เราไม่สามารถทำงานต่อได้ เช่น สูงอายุแล้ว เราต้องเตรียมการเรื่องของรายได้ ที่เราจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร เพราะฉะนั้นจะมีหลาย ๆ ประเด็นที่เข้ามา จึงมีการเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิด คือ อาจจะต้องคิดถึงระบบว่า ระบบพวกนี้สามารถเป็นไปได้ในทิศทางใดบ้าง เพราะฉะนั้นเขาก็บอกว่า จะมีอยู่  3 ประเภทใหญ่ ๆ

ประเภท 1 คือ เป็นเงินที่มาจากการอุดหนุนของรัฐ การให้ความช่วยเหลือของรัฐ แต่เงินที่มาจากการช่วยเหลือของรัฐ ส่วนใหญ่จะจะน้อย ไม่ได้เยอะพอที่คุณจะแบบมีชีวิตที่ดีมาก ๆ ได้ มันจะเล็กน้อย เพื่อให้คุณมีชีวิตอยู่ได้แล้ว

ประเภท 2 อาจจะมาจากการมีกฎหมาย หรือการสร้าง Incentive บางประการ ที่จะทำให้คุณออม ฉะนั้นเราจะเห็นว่า การบังคับบางอย่าง เช่น เรื่องประกันสังคมของเรา คือการบังคับออม หรือราชการอาจจะเป็นเรื่องของ กบข. หรือมี คือแต่ละหน่วยอาจจะต้องมีการบังคับว่า คุณต้องมีรูปแบบการออมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา หรืออาจจะสร้างเป็น Incentive เช่น ถ้าคุณทำอย่างนี้แล้ว คุณก็ไปหักภาษีได้ อันนี้คือ Incentive เพื่อทำให้เกิดการออมขึ้นมา

ประเภทที่ 3 คือ การออมแบบสมัครใจ อาจจะมีคนที่วางแผนในชีวิตได้ดี และรู้เลยว่ารายได้ที่เรามี เราควรจะออมสัก 10%, 20% เพื่อที่จะสำหรับในข้างหน้า โดยผ่านรูปแบบการประกัน หรือรูปแบบต่าง ๆ หรือการลงทุนบางประเภท หรืออะไรทั้งหลาย มีรูปแบบต่าง ๆ กัน หมายถึงว่า เขาต้องเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจ มีความรู้เรื่องการเงินดี มีวินัยในตัวเองแล้วทำ ไม่ต้องมีใครมาบังคับ แต่ว่าสมัครใจที่จะทำ

ทั้ง 3 รูปแบบนี้ บางคนอาจจะมีการผสมผสานทั้ง 3 รูปแบบเข้าด้วยกัน หรือบางคนอาจจะเป็น 2 กับ 3 หรือบางคนอาจจะเป็นแค่ 1 กับ 2 แต่หมายถึงว่า ถ้าเราคิดถึงระบบแบบนี้ ให้คิดให้ครบถ้วนว่า มันสามารถเป็นอะไรได้บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น รัฐจะต้องพยายามที่จะคิดเรื่องอันนี้ว่า ถ้ามันจะเป็นได้ใน 3 รูปแบบ จะทำอย่างไรให้ 3 รูปแบบนี้ ทำให้ไม่มีใครที่ไม่มีสักอันหนึ่งใช่ไหม?  ถ้ามีบางคนที่ไม่มีอะไรเลยสักอันหนึ่ง ชีวิตลำบากแน่นอน เพราะว่าไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย รัฐก็ไม่อุดหนุน เข้าไม่ถึงอะไรสักอย่าง อย่างนี้ไม่ได้ ทำอย่างไรให้ 3 อย่างนี้ อยู่ในระบบของเราได้อย่างดี

ในสถานการณ์โรคระบาด รัฐบาลพยายามช่วยเหลือเยียวยา หากมองโครงการที่รัฐกำลังเดินหน้าในเวลานี้ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

ที่เราเห็นตอนนี้ เราก็จะเห็นปัญหาว่า ถ้าเรามาพูดถึงเรื่องการจ่ายเงินแบบนี้โดยตรง เราจะเห็นว่า มันเกิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จ่ายเงิน 2,000 บาท แล้วตอนนั้นก็หาวิธีจ่ายให้ไม่ได้ เพราะตอนนั้นวิกฤตเศรษฐกิจหนัก แล้วมันก็กระทบเป็นลูกระนาด เริ่มจากอเมริกา มายุโรป และไล่มาเรื่อย ๆ ทุกประเทศได้รับผลกระทบหมด จาก Hamburger crisis เพราะฉะนั้น ทำให้ทุกคนรู้สึกต้องรีบพยุงเศรษฐกิจ คือ อย่าให้กำลังซื้อหรือการบริโภคในประเทศลดลง หลายประเทศจึงใช้วิธีการแจกเงิน แทนที่รัฐจะไปทำโครงการเอง ก็แจกให้ทุกคนไปใช้ เพื่อคงคงอำนาจซื้อเอาไว้ เพราะว่าผลกระทบในครั้งนั้นก่อให้เกิดการล้มเจ๊งของกลุ่มธุรกิจบางประเภท เพราะฉะนั้น บางประเภทก็หนัก บางประเภทก็ไม่หนัก         

แต่ประเทศไทยไม่ได้โดนเยอะ แต่ว่ารัฐบาลในสมัยนั้น พยายามรีบใช้ เพราะฉะนั้นเลยจะอยากจะจ่ายเงิน 2,000 บาท แต่ตอนนั้นหาวิธีจ่ายไม่เจอ เลยจะทำอย่างไรที่ทำได้ เพราะถ้าจ่ายไม่ดี เดี๋ยวจะโดนข้อหาเรื่องคอร์รัปชันทั้งหลาย เขาก็เลยไปจ่ายผ่านพวกระบบประกันสังคม เพราะว่ามีชื่อ มีอะไรอยู่แล้ว อันนั้นก็คล้าย ๆ เป็นจุดเริ่มต้น ที่ยังไม่ได้มีเทคโนโลยี ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ถ้าจากจุดอยู่ตรงนั้น เรามาดูจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ารูปแบบการให้เงินช่วยเหลือในภาวะที่เกิดวิกฤต มันมีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าเรามีเทคโนโลยี มีอะไรต่าง ๆ มาช่ว เราจึงเจอการจ่ายเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยตรง จำนวนเยอะ ๆ จำนวนมาก ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งจ่าย 3 เดือน คนละ 5,000 บาท แล้วก็มีการลงทะเบียน และเข้าใจว่ารอบนั้นมีคนลงทะเบียนราว 15 – 16 ล้านคน และมีการจ่ายกลุ่มเกษตรกรอีก กลุ่มเกษตรกรมีทะเบียนอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ยากเท่าไร

แต่ในกลุ่มแรก เราจะเห็นความทุลักทุเล ของการลงทะเบียน ตั้งแต่รอบแรกว่า เนื่องจากมีความพยายาม ในการกำหนดเงื่อนไขเยอะ แล้วก็ปรากฏว่าเงื่อนไขที่กำหนดไป ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะว่าพอวิกฤตที่เกิดขึ้น และมีการล็อกดาวน์ในหลาย ๆ เรื่อง ลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีลักษณะเป็น Chain ผลกระทบ หรือมี Linked มีความเชื่อมให้ธุรกิจนี้ปิด ธุรกิจอื่นไม่ได้ถูกสั่งปิด แต่ก็จะถูกล้มไปด้วย เพราะได้รับผลกระทบ เพราะว่าธุรกิจนี้ อาจจะเป็นธุรกิจที่ขายของ ให้กับธุรกิจที่ถูกสั่งปิด เพราะฉะนั้นจะมีเป็นระลอกไปอย่างนี้ แต่ตอนนั้นรัฐบาลอาจจะประเมิน เอาเฉพาะธุรกิจที่ปิดก่อน ที่ได้รับผลกระทบที่คิดว่าใช่ แต่ปรากฏว่าพอในสภาพความเป็นจริง ประชาชนก็ร้องว่า เขาก็ได้รับผลกระทบ ถึงแม้ว่าจะอันนี้ แต่พอปิดไม่มียอดซื้อ ไม่มีอะไร มันก็กระทบไปกับ Supply chain ทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันถูกกระทบไปหมดใช่ไหมคะถึงมีการแก้กันหลายรอบ มีการลงทะเบียนกันหลายรอบ แล้วก็ทุลักทุเลมาก แต่ว่าในครั้งแรกต้องน่าเห็นใจว่าทุลักทุเลจริงที่เกิดขึ้น

จ่ายเงินแล้ว เจ็บแต่ไม่จบ

ทีนี้ ปรากฏว่าโควิด-19 ไม่ได้หายไป มันกลับมาใหม่ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นต้องเริ่มโครงการอื่น ๆ อีกเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะรอบนี้ต้องถือว่าประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเยอะ ผลกระทบโควิด-19 โดยตรงต่อสุขภาพเยอะ ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเยอะ เพราะว่าเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวมีอิทธิพลในส่วนประกอบ ในรายได้ของประเทศ 10% คือจะมีการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนหนึ่ง เข้าใจว่า 12-13 % และมีการบริโภคในประเทศเราเอง คือ ท่องเที่ยวกันเองประมาณ 5-6 % เมื่อรวมแล้วเข้าใจว่า จะไปถึง 17-18%

พอเราไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา จากการที่ทุกคนต้องถูกล็อกหมด คนในประเทศก็ไม่กล้าเที่ยวกันเองด้วย เที่ยวกันเองน้อยลงมาก ๆ อาจจะมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้เลยก็ระเนระนาดไปหมด พอผลกระทบสูง รัฐบาลก็พยายามให้ความช่วยเหลือ เพราะธุรกิจต้องปิดตัวลง หรืออะไรทั้งหลาย คนต้องตกงาน แต่เราจะสังเกตเห็นอีกว่า จะมีความพยายามในการที่จะจ่ายให้กับคนที่รัฐบาลคิดว่าได้รับผลกระทบ แต่ข้อมูลรัฐบาลเองก็ไม่สมบูรณ์ จึงพบว่าจะมีการลงทะเบียนเหมือนรอบแรก แล้วก็ทุลักทุเลรอบแรก ซึ่งจะเห็นว่ามีการแก้ มีอะไรทั้งหลายรองรับอีก

อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจัดการกับเรื่องของข้อมูลได้ไม่ดี เพราะว่ารอบที่แล้วก็ลงทะเบียนรอบหนึ่งแล้ว น่าจะวิเคราะห์ได้ จากข้อมูลในรอบแรกบ้าง แต่นี่ทุกคนต้องทำใหม่หมด จริง ๆ มีหลายอย่างที่เรารู้อยู่ ไม่ใช่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคน ตัวเลขที่ว่า ประเทศไทยคนที่ใช้สมาร์ตโฟนมีเท่าไร บอกหมด เดี๋ยวนี้สำนักงานสถิติ มี Survey ทุกปี เมื่อก่อนทุก 2 ปี เดี๋ยวนี้เขาทำทุกปี คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แล้วจะมีเรื่องการมีสมาร์ตโฟน โทรศัพท์ มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเข้า ที่จะใช้ควบคู่ไปกับเรื่องอินเทอร์เน็ต มี Survey เพราะฉะนั้น ตัวเลขมันบอก

แต่ปรากฏว่า ลืมคิด มันก็เกิดอาการทุลักทุเลอีก จนกระทั่งเกิดสิ่งที่ คนก็มีความรู้สึก ที่จริงรัฐให้เงินอุดหนุน คนก็รู้สึกว่าดีนะ คนที่เดือดร้อนเขารู้สึกดีมาก แต่ว่าก็ไปทำลายกำลังใจ หลายเสียงสะท้อนออกมาในรูปว่า เหมือนเขาต้องมาขอ แล้วขอด้วยความความยากลำบากอันนี้ก็สะท้อนไปถึงสภาพสังคมไทยแล้วว่า การเข้าถึงบริการภาครัฐ หรือการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ของคนไม่เท่ากัน จากเครื่องมือที่มีไม่เท่ากัน ความรู้ที่มีไม่เท่ากัน การอยู่ในพื้นที่ ที่อาจจะเข้าถึงได้ไม่เท่ากัน

เช่น ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ธนาคารจะมีจุดที่ให้บริการ อยู่ที่ระดับอำเภอ แล้วจะมีจำนวนน้อยมาก จะมีแค่ 1 ถ้าเป็นเมืองที่เจริญมาก ๆ อาจจะมีมากกว่า 1 แต่ว่าผู้คนก็ไปอยู่ในชุมชนหมู่บ้านทั้งหลาย มันอยู่ไกลกันออกไป กว่าจะเดินทางกันมาถึง และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ จะต้องมีคนสูงอายุคนที่ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายตัวเองได้ คนที่ไม่เข้าใจระบบอะไรเลย เพราะฉะนั้นพอมารับบริการ ที่จะเข้าสู่ระบบ งง ทำอะไรไม่ถูก เจ้าหน้าที่พูดคำหนึ่งก็ไม่เข้าใจ คุณพูดอะไร ฉันต้องทำอย่างไร คือเขาไม่เข้าใจ มันมีปัญหาต่าง ๆ นา ๆ เยอะ เราจะเห็นเห็นภาพแบบนี้ ซึ่งเราก็คาดหวังว่า รัฐน่าจะทำให้เหล่านี้ต้องถูกปรับปรุง เพราะมันเป็นบทเรียนว่า สิ่งที่อะไรทั้งหลาย ที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ มันจะมีเพิ่มมากขึ้น

เป็นโอกาสดีที่รัฐพยายามจะแบ่งทุนให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มในสังคม แต่ถ้าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาเรื่องนี้ การหว่านหมดกับความคุ้มค่าของการจัดสรรตรงนี้?

แต่สุดท้ายก็แทบจะหว่านอยู่แล้วใช่ไหม เพราะมันขยายขอบเขตไปเรื่อย ๆ แต่ในระหว่างทางที่ขยายขอบเขต ก็มีต้นทุนตั้งแต่เรื่องของการกีดกัน และการวางกติกา ที่อาจจะไม่ถูก

เพราะว่ามีการพูดกัน ถ้าก่อนหน้านี้ เราพูดลืมไปเรื่องหนึ่ง คือช่วงที่รัฐบาลให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เคยมีการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกำหนดเงื่อนไข แล้วก็ให้ไปเยอะเหมือนกัน ถึง 14 ล้านใบ แต่ก็ปรากฏว่า มีการศึกษาและพบว่า คนจนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการแห่งรัฐ มีอยู่ 20% หรือตัวเลขจะสูงกว่านี้ แต่ว่าไม่น้อยกว่า 20 % แน่นอน ที่เขาไปศึกษาและพบแบบนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่า บางทีการวางเงื่อนไข และเรามีระบบที่ไม่ดี นอกจากการวางเงื่อนไข และระบบที่ไม่มันสร้างต้นทุนในการที่เราจะต้องไปจัดการกับคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ ให้ออกไปสูงมาก อันที่ 2 เป็นปัญหาใหญ่มากเลย คนที่ควรจะอยู่ เข้าไม่ถึง เพราะมันไม่ได้ง่ายนะ เพราะพอมีระบบที่จะกันคนออก เพราะฉะนั้นเท่ากับว่า ถ้าคนที่จะเข้า มันก็จะมีอุปสรรคนานัปการเหมือนกัน เพราะว่าเขามีเงื่อนไขเยอะแยะ อันนั้นจะเป็นปัญหาอันหนึ่งที่จะเกิดขึ้น

ตอนนี้มีข้อเสนอหนึ่งคือ UBI ขยายความคำนี้ ?

UBI ก็มีการพูดกันมาระยะหนึ่ง แต่ว่ามีงานที่รวบรวม และวิเคราะห์โดยธนาคารโลก ออกมาปีที่แล้ว ที่พูดถึงเรื่อง UBI  รายงานฉบับใหม่ และพยายามดูประเด็นต่าง ๆ ที่ครอบคลุม UBI หมายถึง การจะมีระบบการให้เงิน รายได้ให้มีหลักประกันทางด้านรายได้พื้นฐานที่ถ้วนหน้า แต่ว่าในระบบที่ใกล้กัน ก็มีคำอื่น ๆ แทนที่จะใช้ Basic Income เพราะว่าดูเหมือนกับว่าเป็นอะไรที่อาจจะเยอะสูง แต่ก็ไม่ได้ใช้คำว่า “Guarantee Income” คือมีการรับประกัน หรือบางอันเขาจะเติมด้วยคำว่า “Minimum guarantee” คือการรับประกันขั้นต่ำ

เพราะอะไร? เพราะถ้าเป็น U ตัวแรกที่ขึ้นหน้า คือ ถ้วนหน้า หมายถึงจ่ายทุกคน ซึ่งหมายถึงภาระทางการคลังจะสูงมาก เพราะถ้าจ่ายทุกคนจริง มันจะไปพูดกันถึงเรื่องในระบบสวัสดิการว่าจะมีระบบสวัสดิการอย่างนั้นหรือเปล่า แต่จริง ๆ ระบบสวัสดิการ เมื่อเห็นคำว่า “สวัสดิการ” ทุกคนก็จะกลัวว่าจะเป็นภาระทางการคลังเท่าไร แต่ในความเป็นจริงเวลาไปศึกษาระบบสวัสดิการที่ต่าง ๆ จะมีการกำหนดเงื่อนไข แต่ละเรื่อง เรื่องนี้ทำอะไร

เพราะฉะนั้นแต่ละประเทศ เขาก็จะต้องเลือกที่ระบบสวัสดิการที่สอดคล้อง ประเภท กิจกรรม ขนาด ที่สอดคล้องกับประเทศความสามารถทางการคลังของประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นภาระในอนาคต

ทีนี้ UBI ก็มีการเอาไปใช้กันหลากหลาย แล้วมีการโต้เถียงกัน เช่น ถ้าคุณทำ UBI แล้วเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการคลัง คุณเอา UBI ไปทดแทนระบบเดิมที่มีอยู่  คือ UBI ต้องเข้าใจหมายถึงว่า จ่ายกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าคุณจะจนหรือรวย คุณได้หมด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ประเด็นที่คนจะถามกลับมา ประเด็นว่า ถ้าเงินรัฐบาลไม่พอแล้ว รัฐบาลบอกว่า เงินที่เคยจ่ายแบบเก่า เช่น จ่ายโปรแกรมนี้ช่วยคนจน ตรงนั้นตรงนี้เลิก แล้วเอามาทำอันนี้ จากการศึกษาพบว่า UBI อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน เพราะคนยากจนจะไม่ดีขึ้น  จะแย่ลง เพราะว่าเงินที่เคยได้รับ เขาอาจจะได้รับสูง แต่ว่าลดต่ำลง ๆ เพราะว่าต้องจ่ายเฉลี่ย เพราะจำนวนคนที่รับจะมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม UBI ก็จะมีข้อดีตรงที่ว่า คุณไม่ต้องไปคิดหรือมีต้นทุนของการกีดกัน เพราะว่าทุกคนได้หมด ก็ไม่ต้องไปคิดต้นทุน เพราะฉะนั้นต้นทุนที่เราจะต้องจ่าย ซึ่งจริง ๆ ของการกีดกัน เขาเรียกว่า เป็นต้นทุนที่สูญเปล่า ไม่มีใครได้หรอก สังคมก็จ่ายไป เพราะเราสร้างอันนี้ขึ้นมา และเป็นการรับรองว่าทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือ เพราะถ้าเรามีการกีดกัน มันมีเหตุการณ์อย่างนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นทั่วโลกว่า คนที่ควรจะได้ เข้าไม่ถึง เข้าไม่ได้

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ UBI เมื่อจ่ายแล้ว จะมีเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะคุณควรได้รับในฐานะที่คุณเป็นพลเมือง เป็นสิทธิ ไม่ใช่การขอ เพราะฉะนั้น เขาไม่ต้องไปร้องขอ เมื่อเข้าไปใช้บริการ เขาจะถูกให้บริการเหมือน ๆ กัน แต่หากให้เป็นโครงการ มันต้องมีการกีดกัน กลายเป็นว่า คุณต้องไปสำรวจเขา คุณเป็นใคร คุณมีเงินในบัญชีเท่าไร คุณเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งกลไก หรือวิธีการ ทำให้เขารู้สึกว่าเขากลายเป็นผู้ขอ มันไปลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ บางคนก็คิดว่าคนพูดเรื่องนี้ เป็นแบบพวกนักอุดมคติ แต่อันนี้มันถูกเขียนอยู่ในเอกสารงานวิจัย ทางเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้

แต่  UBI จะไปสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน?

ในหลายประเทศ เขาเสนอให้ใช้ โดยเฉพาะโลกในสมัยหน้า คนจะเปลี่ยนงานกันมากขึ้น คนจะทำงานกันแบบเป็นชิ้น ๆ ที่สำคัญ เทคโนโลยีพัฒนาตัวเองตลอดเวลา คนไม่สามารถทำงานแบบเดิมได้ คือ ต้องทำงานรูปแบบใหม่ เมื่อจะทำงานในรูปแบบใหม่ ก็ต้องการทักษะแบบใหม่ ๆ ซึ่งถ้าเราทำงานแบบเดิม อาจจะไม่เพียงพอ ต้องไปพัฒนายกระดับทักษะของเราเพิ่มขึ้น

หรือแม้กระทั่งต้องไปเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่เขาเรียกว่า “Up skill / Re skill” ทั้งหลาย บางที่เขาก็เสนอว่า น่าจะมาใช้ในช่วงนี้ว่า ให้คนเวลาที่จะไป และการ Up skill / Re skill ไม่ควรจะถูกบังคับเสียทีเดียว คนต้องคิดเหมือนกันว่า คุณจะไป Up skill / Re skill อะไรที่สอดคล้องกับตัวเอง แล้วระยะเวลาอาจจะต้องการระยะเวลาหนึ่งที่จะต้องทำเรื่องนี้ เช่น กลับเข้าไปดูเรื่องนี้ ไปศึกษาเรื่องนี้ ไปทำเรื่องนี้ ไปถูก Training เรื่องพวกนี้ เพราะต้นทุนในแต่ละวิชาชีพมันไม่เท่ากัน ไม่ใช่ว่าให้คุณ 3 เดือน แล้วเขาจะทำสำเร็จ อาจจะไม่ใช่ บางคอร์สอาจจะต้องเป็น 6 เดือน 1 ปี เขาจึงบอกว่าเงิน UBI น่าจะไปทดแทนตรงนี้ แล้วน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะจริง ๆ จ่ายไปไม่เยอะ แต่ทำให้สุดท้าย เขาสามารถเข้าสู่การจ้างงาน ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม สามารถมีงานทำได้ เพราะฉะนั้น จะถือว่ามันประสบความสำเร็จ

ตัวเลข ที่ UBI จ่ายให้ ประมาณเท่าไร?

เป็นที่ ถกเถียงกันเยอะว่า มันควรจะเริ่มจากที่ไหน แต่โดยทั่วไป เขาจะบอกว่า UBI ควรจะครอบคลุม คล้าย ๆ มาตรฐานที่การดำรงชีวิตพื้นฐาน เช่น เรื่องค่าอาหาร ที่พักอาศัย เรื่องรักษาพยาบาล เรื่องพื้นฐาน ที่เราจะมีจะมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งพอมีคำว่ามีชีวิตอยู่ได้ เราอาจจะไปคิดถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่น ปัจจัย 4 แต่ในสังคมโลกสมัยนี้ มันต้องการอะไรมากกว่าปัจจัย 4 เช่น เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะมีต้นทุน ต้องมีอุปกรณ์ ต้องไปออกแบบเรื่องนี้ว่าเท่าไร แล้วต้องไปเปรียบเทียบกับภาระทางการคลังว่า จะมีแค่ไหน หรือจะหาเงินตรงไหนมาได้ เพราะว่าทุกเรื่องไม่ได้ง่าย

ทั้งโลกมีอาการที่คล้ายกันอย่างหนึ่ง ถ้ารัฐบาลบอกว่า จะต้องขึ้นภาษี ไม่มีใคร Happy ไม่มีใครชอบ เพราะฉะนั้น พอปัญหาอย่างนี้ ทำให้การขึ้นภาษีของรัฐบาล ไม่ได้ทำได้ง่าย ขึ้นอยู่กับจังหวะ หรือความสมเหตุสมผล เพราะว่ารัฐบาลประชาธิปไตย เขาต้องกังวลกับเสียงว่า ประชาชนจะชอบ ไม่ชอบ

ถ้าพูดง่าย ๆ ก็ไปขึ้นภาษี แต่รู้ว่าทำยาก แม้แต่รัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ยังรู้สึกต้องคิด 2 รอบว่าจะอย่างไรดี เพราะฉะนั้นคงต้องมีการทำ แต่ต้องมีการทำที่สมเหตุสมผล แล้วอาจจะไม่ได้สามารถขึ้นได้ทีเดียวแบบพรวดพราด

หรือ เงินจาก UBI อาจจะมาจากการที่เป็นลดโปรแกรมอื่น ๆ แต่ก็ต้องไปพิสูจน์หลายอย่าง คือโปรแกรมการจ่ายหลายอย่างของรัฐบาล ก็ใช่ว่าจะมีประสิทธิภาพทุกโครงการ มันต้องไปประเมิน อันไหนที่ทำแล้ว ไม่มีประสิทธิภาพ แทนด้วยอันนี้ไหม แทนที่จะลดตรงนั้น ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าทำแบบ UBI มีประสิทธิภาพกว่า มันก็จะสามารถไปตรงนี้ได้เหมือนกัน

ถ้าอยากจะทำ ไม่ควรเริ่มต้นที่เงินเยอะ แต่ที่จริงประเทศไทยมีพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะว่าในประเทศไทยมีการจ่ายเงินบางส่วนอยู่แล้ว เช่น เรื่องผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เราเรียกเบี้ยยังชีพ เพื่อให้รู้สึกคำว่าเบี้ยคือเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช่ไหม แต่ว่าตอนนี้มันก็จ่ายตั้งแต่ 600, 700, 800 บาท เข้าใจว่าคนที่ได้ 1,000 บาท คงน้อยมาก เพราะต้องอายุเท่า 90 ปีขึ้นไป แต่หมายถึงว่า มันมีพื้นฐานการจ่ายอยู่แล้ว เป็นจำนวนมาก เพราะว่าคนที่ไม่สามารถรับเงินก้อนนี้ได้ มีอยู่กลุ่มเดียว คือ ข้าราชการที่รับเงินบำนาญ เพราะฉะนั้น ก็สามารถพูดได้เหมือนกันว่า มันก็จะคล้ายกับหลักประกันสุขภาพ เพราะข้าราชการก็ไม่ได้ใช้

หากเสนอ คือ เอาจากเส้นความยากจน เพราะเส้นความยากจน มีการคำนวณแล้วว่า คุณรายได้ที่พอเพียงที่จะใช้จ่ายในเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ เล็กน้อยหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 เหรียญ หรือประมาณ 60 บาทต่อวัน หมายถึงเดือนหนึ่งประมาณ 1,800 บาท เราจะเริ่มจากตรงนั้น แล้วก็ค่อยดูอีกทีหนึ่ง ก็น่าจะได้ ถ้าเป็น UBI ก็จ่ายทุกคนแต่เขากำหนดว่าจ่ายในเรื่องอะไร ถ้าเราจะมาแทนเฉพาะเรื่องของผู้สูงอายุ มันก็จะเป็นแบบนี้ เราถือว่าถ้าผู้สูงอายุแล้ว อายุเกิน 60 คือผู้ที่ไม่มีงานทำ แล้วอาจจะไม่มี หรือมีปัญหาเรื่องเงินออม คือ เราไม่ได้ไปสนใจว่าเขาจะมีเงินออมเท่าไร แต่หมายถึงว่า อย่างน้อยที่สุด มันครอบคลุมคนที่ไม่มีเงินออม

แต่ถ้าสมมุติว่าถ้าเขายังมีงานทำอยู่บ้าง มีงานทำอยู่ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าจริง ๆ เราก็รู้อยู่แล้วว่า 1,800 บาท มันไม่พออยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าเขายังมีงานทำ มีรายได้ ก็ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น

เราต้องเข้าใจว่า เรามักจะอ้างว่าจะมีคนรวย มีนั่น มีนี่ เยอะแยะ แต่จริง ๆ สัดส่วนเมื่อเทียบกับประชากรเราแล้ว สัดส่วนพวกนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ว่าถ้าสัดส่วนของคนที่เป็นชนชั้นกลางหน่อย หรือชนชั้นกลางล่างเลย จนกระทั่งคนจน ถึงแม้ว่าเขาจะทำงาน พอหลังจาก 60 ปี ยังต้องทำงานอยู่ ไม่อย่างนั้นไม่มีเงิน แต่ก็จะพบว่าศักยภาพในการทำงานของเขาลดลง แต่รายได้ก็จะไม่เท่าเดิม

มีการพูดเรื่อง ภาษีติดลบ แต่ถ้าทุกคนอยู่ในระบบ จะมีข้อดีตรงที่ว่า เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ ถ้ามีก็ให้มีการจัดเก็บ แม้มีรายได้เป็นศูนย์ ก็ต้องอยู่ในระบบ เพราะฉะนั้นถึงคุณไม่มีงานทำ รัฐจะต้องจ่ายให้คุณ เขาจะมีการกำหนดว่า รายได้ที่รัฐจะไม่จ่าย Negative Income Tax เป็นเท่าไร

สมมุติถ้าบ้านเรา เอาง่าย ๆ คิดตัวเลขง่าย ๆ กำหนดที่ 10,000 บาทต่อเดือน แสดงว่าคนที่มีรายได้หมื่นบาท อาจจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่คนที่มีรายได้ต่ำกว่าหมื่นบาท จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ จนกระทั่งตัวเองไปมีรายได้อยู่ที่หมื่นบาท หลังจากหมื่นบาทขึ้นไป คุณก็ต้องเริ่มเป็นผู้ที่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ อันนี้เป็นตัวเลขสมมติ เพราะฉะนั้น โดยทั่วไปในการจ่ายเป็น Negative Income เขาก็จะมีหลายเรท

แล้วที่จริงเรื่องฐานข้อมูลมันก็ไม่ยาก เพราะประเทศไทยออกแบบเรื่องบัตรประชาชนมานาน เลขประจำตัวประชาชน ปัจจุบันหลักประกันสุขภาพก็ใช้แค่บัตรประชาชนเท่านั้น แค่บัตรประชาชนใบเดียว เข้าไปปุ๊บ คุณได้สิทธิ์อะไรบ้าง คุณใช้สิทธิ์อันนี้ได้ไหม มันจะดีมากเลย

แล้วสวัสดิการในประเทศไทย ?

พอคุยเรื่องสวัสดิการ อย่าลืมว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะจากอดีต เรามีหลักประกันสุขภาพ เรามีเรื่องการเรียนฟรี ซึ่งอาจจะไม่ได้ฟรีจริง ก็จ่ายค่าอุปกรณ์บ้าง แต่เขาก็พยายามที่จะทำให้ครอบคุลม แม้ว่ายังไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด แม้จะยังมีปัญหาว่า สำหรับคนจนเอง บางส่วนก็ยังไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาได้ ลูกหลานจน ต้องไปตั้งกองทุนสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงต่าง ๆ ขึ้นมาต่างหาก แล้วก็ค้นหา นั่นคือวิธีแก้ที่ชาญฉลาด

เพียงแต่ว่า เรายังไม่ได้คิดเรื่องของคนที่ไม่มีงานทำ ตอนนี้คนที่ไม่มีงานทำ มีอยู่ระบบเดียว ที่จะช่วยจ่าย ก็คือประกันสังคม แต่เขาต้องอยู่ในประกันสังคมก่อนและเขาตกงาน ก็จะได้อย่างจำกัด คือ ได้ครึ่งหนึ่งของ 15,000 บาท และได้ 3 เดือน แต่ว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม คนเข้าถึงระบบประกันสังคมมีอยู่เพียงแค่สิบกว่าล้านคน

ยังมีคนที่อยู่นอกระบบอีกเยอะ ตอนนี้ก็ถูกทำนายอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะระบบใหม่ที่แม้แต่คนที่มีความรู้ จะไม่เข้าสู่ระบบงาน ที่เป็นระบบไปทำงานแบบ Gig work คือรับงานเป็นชิ้น ๆ ไป จะทำให้สัดส่วนของประกันสังคม น่าจะเติบโตไม่เร็ว เพราะคนจะไม่ได้เข้าสู่ระบบ

บางประเทศ UBI ถูกเสนอว่า ให้ไปใช้สำหรับคนที่ตกงาน หรือต้องการเปลี่ยนงาน อย่างพวกไป Up skill / Re skill แต่ว่าบางประเทศก็เสนอว่า มันต้องครอบคลุมกลุ่มที่เกษียณ หลังจากที่ไม่มีรายได้แล้ว และเข้าสู่สูงวัยด้วย จึงมีหลายแบบมาก บางประเทศบอกว่า เราจะไปทดแทนเรื่องของโปรแกรมที่ให้กับคนจนดีไหม และมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเพิ่มเติม นอกจากนี้เรื่องนี้แล้ว เราจะสังเกตเห็นว่า เรายังมีเรื่องที่เราไม่รู้อีกเยอะ คือโครงการที่ถูกดำเนินการ โดยกระทรวงต่าง ๆ เราจะประหลาดใจ เราจะพบว่าบางกระทรวงจะมีเงินอุดหนุน เป็นเรื่อง ๆ ไป เราไม่รู้เลยว่า ระบบมันเป็นอย่างไร ตอนนี้เรามีหลายระบบ มีหลายโปรแกรมซ้อนกันหมด มันควรจะถึงเวลาที่ต้องเอามารีวิวกันไหม เพื่อทำให้เห็นว่ามันมีอะไร แล้วใครดูแลเรื่องอะไร อย่างไร ควรจะเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน มีฐานข้อมูลแห่งชาติ

เราจะได้ยินคำพูดเสมอ โปรแกรมไปจ่ายนู่นนี่นั่น ไม่รู้จ่ายอะไร ไปถึงจริงหรือเปล่า เราก็จะเจอตัวอย่างที่มีการโกงเงินจริงในโปรแกรมที่เราจะไปให้เงินช่วยเหลือต่าง ๆ มีการโกงกัน การทำให้อยู่ในระบบและฐานข้อมูล จะตรวจสอบง่าย

ประเทศไทยในปัจจุบัน เงินที่จะจ่ายในลักษณะของการให้เปล่ามีเยอะมาก มันควรจะอยู่ที่เดียว เพื่อให้การดูแลทั้งระบบมันชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจจะมีคนจนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงอะไรได้เลย ไม่รู้เงื่อนไข ไม่รู้อะไรเลยเป็นต้น เพราะทุกโปรแกรม จะมีเงื่อนไขอยู่เสมอ

กุญแจสำคัญที่จะทำให้เราไปถึง ระบบของป้องกันมีกระบวนการอย่างไร?

คิดว่าต้องมีการรวบรวม เพื่อมาจัดระบบก่อน เพื่อดูว่ามีอะไรที่ไหน และดูว่าถ้ามีโปรแกรมใหม่ ๆ ที่เขากำลังทำกันทั่วโลก กำลังพัฒนากันมีเรื่องอะไร แล้วดูเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย

ถ้าจะพูดถึง ระบบรัฐสวัสดิการ ก็ไม่ผิด เพราะคำว่า รัฐสวัสดิการไม่ได้จ่ายทุกเรื่อง แต่ละประเทศเขาก็ดู ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าหากว่าในประเทศที่เขารวยมาก ๆ เขาก็อาจจะครอบคลุมไปถึงค่าโดยสาร ค่าเดินทาง แต่ในประเทศที่มีจำกัด เขาก็จะเอาเรื่องสำคัญเท่านั้น เรื่องสำคัญ ๆ ก็มีไม่กี่เรื่อง จริง ๆ เรื่องที่สำคัญก็จะมีเรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา ซึ่งเราทำอยู่แล้วใช่ไหม ก็จะมีเรื่องการตกงานซึ่งเราเริ่มทำแล้ว คือ เรื่องของการที่รายได้อาจจะลดลง ช่วงที่เรามีลูก เพราะว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศต้องคิด

เนื่องจากเราต้องมีคนรุ่นใหม่ ๆ ต้องมีการกระตุ้น ไม่งั้นประชากรเราก็ไม่ไม่เติบโต มันต้องมีประชากรคนรุ่นใหม่ เพื่อมาทดแทนคนรุ่นเก่า ต้องมีเรื่องอย่างนี้ เวลามีลูก การที่จะทำให้ประชากรเหล่านั้นเติบโต ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี มันต้องการการดูแลอะไรทั้งหลาย ซึ่งเราจะเห็นว่า ในต่างประเทศ พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง ถ้ามีลูก 2 คน อาจจะต้องออกจากงาน เพื่อมาดูแลลูกนั้น เพราะฉะนั้นรายได้ในครอบครัวลดลงแน่นอน จะมีเงินช่วยเหลืออย่างไร หรือจะเจอประเภทครอบครัวแตกกัน พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แล้วคนใดคนหนึ่งเป็นมีภาระต้องรับเลี้ยงลูกอย่างเดียวเลยอย่างนี้ มีหลายเรื่อง ซึ่งประเทศต่าง ๆ ก็อยากให้เงินอุดหนุนในจุดเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้การที่เราจะดูแลเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในอนาคตมาก ๆ

แทนที่จะเป็นไปตามมี ตามเกิด แบบที่เป็นอยู่ของสังคมไทย สังคมไทยเราน้อยมาก ที่ทั้งผู้หญิง ผู้ชายที่ทำงานอยู่แล้ว เมื่อมีลูกแล้ว คนใดคนหนึ่งต้องออกจากงาน เพื่อไปดูแลลูก ทำไม่ได้เลย เพราะอะไร การที่ทำไม่ได้ เพราะรายได้ 2 คนรวมกันยังแทบไม่พอกิน ถ้าคนหนึ่งออกจากงานลำบากเลย เราต้องคิดว่า ถ้าอย่างนี้เด็กของเราจะถูกเลี้ยงมาด้วยคุณภาพแบบไหนใช่ไหม นี่คือประเด็นที่ต้องเอามาคลี่ให้หมด

แรงงานที่ต้องอาศัย Skill เราต้องปรับทั้งระบบใหม่ แล้วจะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีอย่างไร แล้วถ้าไม่มีภาษี ไม่มีเงินคงคลัง ทำอย่างไรบ้าง?

ประเด็น คือ ข้าราชการไม่ได้มีเงินทุนเป็นก้อน ๆ ว่า ปีนี้จ่าย 60,000 ล้านให้ข้าราชการ และตั้งเป็นกอง ไม่ใช่ มันเบิกจ่ายตามจริงว่า เบิกจ่ายเท่าไร แล้วค่อยไปรวมเป็นยอดว่า ปีนี้หมดไปเท่าไร เพราะว่าถ้าไม่พอ ก็ไปเบิกจากงบฯ กลาง ตัวที่เขาตั้งเอาไว้ เพราะฉะนั้น ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร ให้การจัดการเรื่องของรักษาพยาบาลข้าราชการ มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น จ่ายยามากเกินไป วันนี้หาหมอนี้ แล้วก็ไปหาอีกหมอหนึ่งซ้ำ แล้วก็อีกคนหนึ่ง ซ้ำต่อ ๆ กัน คนละวันเท่านั้น เพราะรู้สึกว่าฟรี มี แต่ไม่ได้เยอะ

หากไปจัดระบบให้มีประสิทธิภาพให้ดี มี แล้วก็เงินที่จ่ายมันจะลดลง แต่ว่าถ้าหากว่าเริ่ม บอกว่าเอาเงินมารวมกัน แล้วมาจ่ายอยู่ก้อนเดียว คุณก็ทะเลาะกันไม่จบ เพราะว่าถ้าคุณทำให้มีประสิทธิภาพ แล้วก็ควบคุม เพราะปัจจุบันก็เข้าใจว่า อันนี้จากประสบการณ์ตัวเอง เพราะยาที่เราได้รับ ทุกอย่างเป็นยาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งหมด บางคนยังหัวเราะเลย พอเราบอกว่า เราได้รับอันนี้มา ยาที่เรากินบางอย่าง ราคาถ้าเราไปซื้อเอง ก็เม็ดละ 1 บาท เราก็รู้สึกเฉย ๆ ในเมื่อหมอสั่งจ่ายแล้วใช้ได้ผล เราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่หมายถึงว่า มันจะมีคนที่ไปร้องขอหมอว่าอยากได้ยาแพง และหมอก็หาเงื่อนไขสั่งจ่าย ถ้าคุณไปทำในระบบ จะช่วยประหยัดมากกว่าไหม เพื่อที่ทำให้ประหยัดงบประมาณพวกนี้ลง

เข้าใจว่าตอนหลังมีการปรับ เช่น การจ่ายยาออกไป เมื่อก่อนนี้อาจจะจ่ายกันหลายเดือน ตอนหลังเขาก็พยายามปรับว่า จ่ายได้ไม่เกินเท่าไร อะไร อย่างไร และยาบางประเภทมันต้องใช้เป็นหลักก่อน แล้วไปควบคุม

เคยมีช่วงหนึ่ง มีการเรียกคืนเงิน ของบางที่ ที่เขาจ่ายอะไรเยอะแยะ คือ ถ้าทำเรื่องพวกนี้มันจะประหยัดมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยคิดว่าถ้าทำเป็นแบบนั้นจะดีกว่าหรือเปล่า นี่ไม่ได้ว่าเราจะต้องมาดู เพราะว่าเราเป็นข้าราชการนะ แต่หมายถึงว่าทำไปพร้อม ๆ กัน แล้วลองดูไหม ถ้าความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการเกิดจากอะไร ก็ลองทำปรับตรงนั้น

มีข้อเสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 3-10% และมีคนเสนอว่า ให้แยก 3% ไปไว้อีกบัญชีหนึ่ง และเขียนไว้ว่าเป็นบัญชีสวัสดิการ แต่แน่นอนว่าส่งผลต่อราคาสินค้า?

เราต้องยอมรับว่า ทุกอย่างมันแลกกันทั้งนั้น มันไม่สามารถว่าได้ทุกอย่าง ชนะหมด ส่วนตัวเห็นด้วยกับการขึ้น VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) คือ มีข้อที่บอกว่า เนื่องจาก VAT มันอัตราคงที่ ก็จะมีลักษณะของการ Regressive หน่อย คือลักษณะของการถดถอยในตัวมันเอง ในแง่ที่ว่าคนรวยหรือคนจนจ่ายอัตราเดียวกัน แต่ว่าถ้าเป็นภาษีเงินได้คนที่มีรายได้ คนจนกับคนรวยจ่ายคนละอัตราแน่นอน

แต่เขาได้ถูกพิสูจน์มาว่า เนื่องจากว่าภาษีอัตราเดียว มันเก็บง่าย แล้วก็เก็บจาก VAT มันเก็บจากโดยทั่วไป มันไม่ได้ไปก่อให้เกิดการบิดเบือนว่า สินค้าประเภทนี้เก็บแพง เก็บถูก ไม่ได้ไปคิด มีแต่ว่าเก็บและไม่เก็บ อาจจะมีลักษณะของการถดถอยนิดหน่อย แต่ถ้าเอาโปรแกรมเหล่านี้ ไปทำสวัสดิการ มันก็ไปแก้เหลื่อมล้ำได้แทน ไม่จำเป็นต้องคิดข้างเดียว เห็นด้วยถ้าจะขึ้นนะ เพียงแต่ว่าพอทุกครั้งที่จะขึ้นแค่ 1% ก็มีเสียงตอบว่าเยอะ อย่างที่ได้พูดไปภาษีเป็นเรื่องบาดใจทุกคน

หากไม่มีเงินพอต่อเงินคงคลังสำหรับจัดสวัสดิการ ซึ่งตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 1.3 ถึง 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าไม่มีเงินคงคลัง สวัสดิการก็ทำไม่ได้?

คือ ตอนนี้คิดด้านอื่น แต่สิ่งที่พูดตอนต้น อันนี้ก็เป็นแนวหนึ่งที่ว่า เราอาจจะต้องขึ้นภาษี แล้วควรจะขึ้นภาษีอะไร เพราะการขึ้นภาษีไม่ได้เพียงคาดหวังว่า ถ้าพูดถึงตามหลักการความถูกต้อง มันต้องเก็บภาษีเงินได้ ต้องไปเก็บภาษีทรัพย์สินอะไรทั้งหลาย แต่ก็ปรากฏว่า ผลที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน ต่างประเทศหนีกันอุตลุด ด้วยเงื่อนไขไปเป็นกองทุนบ้าง ภาษีมรดกก็มีวิธีการ จนทำให้สัดส่วนของภาษีพวกนั้น ในต่างประเทศเอง ในประเทศที่ตะวันตกเอง ก็ไม่ได้ใหญ่โตมาก เพราะฉะนั้นความใหญ่โต มันจะอยู่ที่ภาษีเงินได้ และตอนหลังพอมันรวมตัวเป็น Community โดยเฉพาะในยุโรป อันไหนแพงก็ไปอยู่อีกประเภทหนึ่ง มันวิ่งหนีกันได้เลย มันมีวิธีการ

ฉะนั้นช่วงหลัง มันมีข้อจำกัดเหมือนกัน แต่ว่าพอมาเป็นภาษีการบริโภค มันก็มีบางประเด็น ที่มีความก้าวหน้าอยู่นะ ในแง่ที่ว่า ใครบริโภคคนนั้นจ่าย ใครใช้ทรัพยากร ภาษีการบริโภคกำลังจะบอกว่า ใครใช้ทรัพยากร คนนั้นจ่าย  อันนี้คือข้อดี คือ ใครใช้ทรัพยากร คนนั้นจ่าย คิดจากการที่คุณใช้ทรัพยากร ถ้าคุณมีรายได้เยอะ ๆ คุณไม่ยอมใช้จ่าย คุณเก็บเอาไว้ คุณก็ไม่ได้ใช้จ่าย ไม่ได้แย่งชิงทรัพยากรกับใคร เพราะการใช้จ่ายคือการแย่งชิงทรัพยากรกัน

ต้องมีวิธีการจัดการทรัพย์สมบัติให้ไปอยู่ในอสังหาฯ ให้ไปอยู่กับที่ จะหนีภาษีได้ไหม

ใช่ อันนั้นก็ว่ากันไป เพราะถ้าคุณเก็บ Wealth (ทรัพย์สมบัติ) แล้วคุณไม่บริโภค มันมีประโยชน์อะไรกับคุณ ว่าคุณเก็บเงิน แล้วมันอย่างไร คือ ภาษีการบริโภคไม่ได้มีข้อดีทุกอย่างหรอก เพราะว่ากลายเป็นว่าคนจนคนรวยใช้จ่ายอัตราเดียวกัน แต่ก็มีความเป็นธรรมในบางมุม ที่เขาบอกว่า การบริโภคนี่คือการใช้ทรัพยากรนะ ถ้าคุณแบบประหยัดมากเลย คุณไปทำงาน คุณไม่ซื้อรถนะ คุณเดินไปนะ คุณไม่ซื้อรถ คุณไม่ได้ใช้จ่าย คุณจะไม่ได้ไปแย่งทรัพยากรกับใคร คุณก็โอเคที่คุณจะไม่จ่าย พอเราอยู่บ้านหลังนี้ คุณก็ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าคนรับใช้ใช่ไหม แต่นี่คุณอยู่บ้านหลังเล็ก ๆ อยู่คนเดียว ทำครัวเอง เหมือนรัฐมนตรีเยอรมัน คุณทำครัวเอง คุณเดินไปจ่ายกับข้าว มันก็จะบอกอะไรบางอย่างว่าคุณก็ไม่ได้ไปแย่งใช้ทรัพยากรกับใคร นั่นคือมุมที่ดีในเวลาเถียงเถียงกันว่า ภาษีควรจะอยู่ที่ไหนบ้าง

แต่เนื่องจากเรามีการเก็บภาษีทุกด้าน ไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าด้านไหน มันจะได้ง่าย แต่การเก็บภาษีการบริโภค มันเก็บได้ง่าย เพราะเวลาการบริโภค ถ้าคุณไม่อยากจะจ่ายภาษีการบริโภค ง่ายมากเลยคุณก็ปลูกเอง ปลูกผัก ทำเองหมด ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีการบริโภค แต่ถ้าคุณเข้าสู่ตลาด และตลาดก็จะมีบันทึกของมัน แม้จะมีรั่วไหลบ้าง แต่ว่าโดยทั่วไป มันก็ไม่ได้มาก แต่ว่ามันก็จะมีการถดถอยในประเด็นที่ว่า คนรวยกับคนจนจ่ายอัตราเดียวกัน เมื่อรายได้ตรงนี้เพิ่มสูงขึ้น และคุณเอาไปจ่ายในโปรแกรมที่ดูแลคนจน จะทำให้เขาก็ได้รับประโยชน์ ก็โอเค

แต่เพียงแค่ว่า พอบอกว่า กลับไปค่อย ๆ ขึ้นก็ได้ เพราะขึ้นทีเดียว 10% นะ มันก็ปาดใจคนขึ้น 1% ไหมล่ะ คิดหลาย ๆ วิธี ในการที่จะเป็นแหล่งที่มาของเงิน อย่าไปคิดทุ่มไปอยู่ที่วิธีเดียวกัน ต้องคิดหลายวิธีคิด หลายช่องทางว่า รายได้ที่จะเพิ่มจากอะไรได้บ้าง ส่วนรายจ่ายต้องไปดูโปรแกรมเก่า ๆ ว่า โปรแกรมเดิม เราจ่ายอะไรบ้าง แล้วจ่ายแล้ว หนี้มันมีประสิทธิภาพไหม ดูทั้งหมดเลย

เงินคงคลัง ในประเทศไทย?

อย่าไปเรียกเงินคงคลัง คือ บัญชีเงินคงคลังของบ้านเรา เป็นแค่บัญชีที่ไว้รองรับเงินบางประเภทที่ไหลเข้าแล้วมากองที่นี่ แต่เวลาจะใช้ มันก็จะไหลจากบัญชีนี้ไปอยู่อีกบัญชีหนึ่ง แต่ละปี มันจะไปขึ้นอยู่กับว่ารายได้ที่เราจัดเก็บได้เท่าไร เหมือนเวลาเขาพิจารณางบประมาณ เขาก็จะบอกว่า คาดการณ์ว่าเราจะมีรายได้เท่าไร รายได้เหล่านี้ แต่ละกรมภาษี เขาจะไปประเมิน (Estimate) แล้วก็มาใส่อยู่ในก้อนนี้ ส่วนใหญ่เขาพยายามทำให้ถึงเป้า ที่เขาบอกไว้ และรัฐบาลก็จะดูว่า เงินที่เรามีตรงนี้ ปีนี้เราควรจะใช้จ่ายเท่าไร  ถ้าไม่พอ เราจะต้องกู้เงินเท่าไร เพราะว่าเราประมาณการรายจ่ายไว้มากกว่า เราก็อาจจะกู้เงิน เพราะฉะนั้นประเด็นจะอยู่ที่ตรงนี้ ส่วนเงินสำรอง จะไปพูดถึงเรื่องเงินตราต่างประเทศ

เรามักจะได้ยินว่า รัฐแก้ปัญหาการกู้ยืมเงินบ่อย ?

เนื่องจากการจัดเก็บภาษี จะมีลักษณะของการที่การจ่ายภาษี มันมีไม่ได้สม่ำเสมอ ภาษีบางประเภท เช่น ภาษีเงินได้ จ่ายแค่ปีละครั้งใช่ไหม ภาษีเงินได้ธุรกิจ ก็จะจ่ายปีละ 2 ครั้ง แต่ว่าภาษีการบริโภค (Consumption) มันดี จ่ายทุกวัน เก็บทุกวัน และแต่ละเดือน เขาก็ต้องนำส่งภาษี ถ้าหากว่าช่วงที่รายได้ที่เข้ามา กับช่วงที่ออกไม่เท่ากัน ต้องไปกู้เงินมาเพื่อทำให้เกิดสภาพคล่อง ในการกู้เงินตั๋วเงินระยะสั้น เพื่อให้สภาพคล่องพอ ไม่ได้เป็นปัญหาทำงานอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ว่าสื่อมวลชนรู้ หรือไม่รู้ รู้แล้วก็มาพาดหัวข่าว ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หรือบางทีเขาบอกว่าจะต้องจ่ายภาษีเงินได้ แล้วก็เลื่อนไปอีก 3 เดือน แน่นอนแม้ว่าจะมีการหักภาษีมาแล้ว แต่สำหรับคนมีสตางค์ บางทีมันหักไม่พอหรอก ต้องจ่ายเพิ่ม ต้องชะลอไปอีก 3 เดือน ภาษีที่จะเก็บได้จะน้อย แต่คนที่จะเรียกภาษีคืน ก็รีบยื่นตั้งแต่เดือนมกราคม เพื่อจะขอภาษีคืน เงินก็จะถูกดึงออกไปคนที่จะต้องจ่าย เพราะฉันไปจ่ายมิถุนายนอาจจะมีได้ที่จะช็อต แต่ว่าถ้าเขาดู Overall ทั้งปี มันได้ตามเป้า ไม่ได้เป็นปัญหา อาจต้องดู เพราะว่ามันเป็นเรื่องสะท้อนสภาพคล่อง แต่มันไม่ได้สะท้อนเรื่องเงิน Saving

เวลาเราคิดโจทย์สวัสดิการ เราคิดว่า ถ้าเราจะต้องไปกู้ยืมเงินมาสำหรับคนในประเทศ ?

ไม่ได้ แต่เป็นบางครั้งได้ เช่น ในปีที่วิกฤต แต่ในปีปกติไม่ควร เราควรต้องมีรายได้ที่จะพอเพียง แต่ว่ามีบางปีที่จะเกิดวิกฤตอย่าง เช่น ปีนี้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกฮวบ เก็บภาษีก็จะลดฮวบ ปีนี้มีความจำเป็น แต่ไม่ใช่เป็นอย่างนี้ทุกปีไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกปี มันทำไม่ได้ บางปีได้ เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน เหมือนตอนนี้ที่คนด่าเรื่องกู้เงินเท่านู้นเท่านี้ แต่ถามว่าถ้าในช่วงวิกฤตแล้วไม่กู้ แล้วจะทำอะไรใช่ไหม

อีกอย่างสัดส่วนของการกู้เรา ด้วยสิ่งที่เราคิด เรา Conservative อยู่แล้ว 60 % ต่อ GDP  Conservative อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นปัญหา ถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่อันนั้นเป็นประเด็นทางการเมืองที่จะด่ากัน แต่สังเกตไหม ไม่ค่อยมีนักวิชาการไปโหมโรงด้วย เพราะว่าสิ่งที่เราเป็นมัน Conservative อยู่แล้ว และการที่ใกล้ 60 ในปีที่เราวิกฤต ถ้าไม่ทำแล้ว จะไปทำเมื่อไร เอาง่าย ๆ แต่ก็จะมีประเด็นว่า คนก็มักจะคิดว่า อันแรกเวลาที่รัฐจะก่อหนี้ ถ้ารัฐก่อหนี้เพื่อไปลงทุนดีกว่า เพราะเป็นศักยภาพในการสร้างงาน คือถ้าทำได้ดีมาก แต่ในภาวะวิกฤตที่เจอ และคนตกงานเยอะ ๆ ถ้าไม่กู้เงินเพื่อช่วยชีวิตคนเหล่านี้ แล้วจะมีไว้ทำอะไรใช่ไหม คนเหล่านี้ตาย เศรษฐกิจก็ไม่มีทางฟื้น

แต่ถ้าทำให้คนเหล่านี้ยังเป็นอีกจุดหนึ่ง การกระตุ้นเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่งก็คือ การที่คนจับจ่ายใช้สอยได้ ก็จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค มันต้องมีความสมดุล มันไม่สามารถดูและไปเอาอย่างนี้ เทอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ได้

เรียกว่ารัฐสวัสดิการ หรือ ประชานิยม ?

คือ ตอนนี้ประเภทถ้วนหน้า จะไปเรียกประชานิยมได้อย่างไร คือ ถ้าสิ่งที่รัฐบาลจ่ายเป็นรอบ ๆ อาจจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องประชานิยม ไม่นิยม มันสามารถทำให้เป็นประชานิยมได้ แต่อะไรที่จ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว จะเป็นเรียกประชานิยมได้ไหม มันต่างอะไร คือ ประชานิยม กับคำว่าสวัสดิการ มันมีเส้นบาง ๆ เท่านั้น อย่าไปซีเรียสกับมากเกินไป

ที่จริงคำว่าประชานิยม มันเริ่มต้นมาดี ก็คือพยายามทำให้โยบายที่ถูกใจประชาชน เหมือนกับเวลาที่พูดกลับไป ในสมัยอาร์เจนตินาใช่ไหม ในสมัยเปรอง ซึ่งสมัยนั้นก็ได้คะแนนเสียงจากพวกแรงงานเยอะมาก การทำอะไรเพื่อที่จะทำให้แรงงาน แต่สุดท้ายแล้วพอได้ประโยชน์จากตรงนี้ มันก็ไม่เอาแล้ว เอาทุกอย่างเพื่อดึงฐานเสียงกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ไม่ได้สนใจระบบ ใหญ่ (Macro) คือการทำถ้าเราดูภาพใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน มันจะไปได้ด้วยดี ถ้าถามว่า สวัสดิการ ให้สวัสดิการทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ประชานิยมเหรอ เส้นมันบาง เพราะตอนหลังเนื่องจากไปใช้เกินขอบเขต แล้วไม่ดูผลกระทบเชิงมหภาคหรืออะไรเลย คำว่าประชานิยม เลยเริ่มไปทาง Negative แต่โดยตัวพื้นฐานของมัน การทำสิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ดีเหรอ

รัฐจะประสบความสำเร็จได้ กลุ่มชนชั้นกลางต้องเอาด้วย มีสูตรสำเร็จอย่างนั้น แต่ในเมืองไทย ชนชนชั้นกลางไม่ค่อยชัด

คือ ชนชั้นกลางบ้านเรากว้างมาก เพราะว่ารวมตั้งแต่ชนชั้นกลางและชนชั้นกลางล่าง ซึ่งชนชั้นกลางล่างเป็นกลุ่มที่จริง ๆ พูดตรงไปตรงมานะ น่าสงสาร เพราะพวกนี้เป็นประเภทรายได้พออยู่พอกิน ต้องประหยัดมัธยัสถ์ทุกอย่าง และแทบจะเข้าไม่ถึงอะไรของรัฐเลย เพราะว่ารัฐจะมองข้าม คุณกลับไปกลุ่มที่คนจน คือ ตอนนี้เรามีความเข้าใจ พอเราพูดถึง Informal เรามักจะตีความว่าเขาจน เราพูดถึงคนชนบท เราจะตีความว่าเขาจน โดยภาพลักษณ์ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ชนชั้นกลางล่าง ที่กินเงินเดือน ๆ หนึ่ง 10,000 บาท หรือหมื่นต้น ๆ คุณคิดว่าเท่าไร แต่คนที่อยู่ใน Informal แล้วเขาบอกคุณว่า เพิ่งอ่านงานชิ้นหนึ่ง เขาทำเงินจากหาบเร่แผงลอย วันหนึ่งมีรายได้ประมาณ 500 ถึง 1,000 บาท ถ้าเขาได้มีเงินรายได้ 1,000 บาท เดือนหนึ่ง เขามีรายได้ 30,000 บาท และคนที่จบแล้วมีเงินเดือนหมื่นต้น ๆ คุณมองข้ามหมดเลยกับคนกลุ่มนี้ นี่คือสิ่งที่เราไปหลงกับภาพบางอย่าง ถ้าเป็น Informal คุณต้องจน

ถ้าคุณมีรถเข็นขายอาหารคุณจนใช่ไหม ถ้าคุณเป็นเกษตรกรคุณจน แต่ขอโทษ เดี๋ยวนี้เขาขายข้าวกันทีหนึ่ง ปีหนึ่งของภาคกลางเป็นล้าน  คือ ไม่ใช่ไม่มีคนจน ส่วนใหญ่คนจนจะไปกระจุกอยู่กับพวกที่ไม่มีที่ดินทำกิน ถ้าหากว่ามีที่ดินทำกิน ถือว่าไม่ค่อยจนหรอกใช่ไหม แต่ว่าพอเราพูดคำว่าเกษตรกรนะ เราต้องคิดว่าจนไว้ก่อน

การเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการแบบไทย อาจจะไม่ต้องเริ่มต้นจากสูตรแบบนั้นเลยก็ได้ ไม่ต้องมีกระบวนการ ไม่ต้องตั้งคำถาม ชนชั้นกลางคืออะไร

เพื่อที่จะบอกว่า ชนชั้นกลางของเรา พอชนชั้นกลางล่าง พวกที่ทำงานในระบบ เป็นข้าราชการ เป็นพนักงาน เราจะบอกเขาเป็นชนชั้นกลางล่าง แต่พวกนี้จะเป็นกลุ่มที่ Conservative ที่สุด เพราะถ้าเขาไม่ใช้ชีวิตด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ เขาอยู่ไม่ได้ ถามว่าเขาจะอยู่ได้ไหม ถ้าเขาไม่ประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาเลยต้องประหยัดมัธยัสถ์มาก และรูปแบบการดำเนินชีวิตเขาเหรอ ตรงไปตรงมามากเลย เช้าทำงาน เย็นกลับบ้าน กลางวันกินอาหารที่ทำงาน จะไปกินข้างนอกสักหน่อยไม่มี นี่คนกลุ่มใหญ่นะ ที่เราพูดเราอยากจะตีแผ่ชีวิตคนชนชั้นกลาง แล้วมันทำให้ต้นทุนชีวิตเขาถูก เขาถึงอยู่ได้ด้วยรายได้เท่านี้ แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็มีหลักประกันว่า เขาจะมีอย่างนี้ได้

แต่ก็ไม่ใช่ไปมองเขาแบบว่า เขาเป็นพวกชนชั้นกลาง ไม่เห็นใจคนจน เพราะว่าชีวิตถ้าเขาไม่อยู่อย่างนี้ เขาอยู่ไม่ได้ เขาจะ Conservative ทำอะไรทุกอย่าง จะกล้าเปลี่ยนแปลงไหม เขาก็จะไม่ค่อยกล้าเปลี่ยนแปลงเพราะว่าเขาไม่มี Buffer นอกจากว่าเขายังมีงานทำอยู่ คือถ้าเราเข้าใจแต่ละกลุ่ม เราก็จะสามารถคุยกับเขาได้ว่ามันเปลี่ยนได้นะ อย่าไปตีเหมารวม

เพราะว่าถ้าคุณไปศึกษาชีวิต อย่างที่บอก เราเห็นเลย ลูกน้องเราทำไรบ้าง วันหนึ่งกินข้าวที่ไหน แม้แต่ร้านกาแฟยังไม่เคยเข้าเลย ถ้าจะกิน จะชงกาแฟสำเร็จรูป (Instant coffee) กินน้ำที่อยู่ในโรงอาหาร คือเรารู้เลยว่าวันนี้เขาใช้จ่ายเท่าไร แล้วเขาต้องประหยัดแบบนั้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"