คนรุ่นผม กลายเป็นสลิ่ม…

วริทธิ์ ชูวารี | ผู้เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks 2021

“วริทธิ์” เป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนรุ่น 4 เกิดและเติบโตที่จังหวัดภูเก็ต

สมัยเป็นเด็ก เขาเดินทางตามพ่อไปทำงานตามจังหวัดต่าง ๆ แถบภาคใต้เพราะเป็นข้าราชการ เขาจึงได้เห็นชีวิตราชการที่วริทธิ์คิดว่าน่าเบื่อ จำเจ และตั้งใจไว้ว่าจะไม่รับราชการ แม้หมอดูหลายรายจะทักว่ามีโอกาสเจริญก้าวหน้าเป็นเจ้าคนนายคน

เขาใกล้ชิดกับแม่ที่เป็นนักธุรกิจและเลือกที่จะเดินทางสายนี้มากกว่า โตเป็นวัยรุ่นเขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียนมหาวิทยาลัยสายธุรกิจย่านหัวหมาก เลือกเรียนบริหารธุรกิจสายการเงินการธนาคาร และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำงานเป็นพนักงานในบริษัทไฟแนนซ์ เป็นมนุษย์ทองคำที่ใคร ๆ ก็ต้องการตัว ถึงปลายปีมีโบนัสเป็นกอบเป็นกำ 

สลิ่ม

เส้นทางชีวิตเป็นเหมือนที่เขาขีดเส้นล่วงหน้าเอาไว้ เริ่มแรกทำงานในธนาคาร แต่ในเวลาอันรวดเร็วเขาเปลี่ยนไปทำงานในบริษัทเดินเรือ และได้ไปหาประสบการณ์ที่ประเทศสิงคโปร์ เส้นทางนี้กลายเป็นความโชคดีที่เขารอดพ้นผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ไม่โดนเลย์ออฟจากการล้มระเนระนาดของบริษัททางการเงินช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในทศวรรษที่ 90s

หลังจากสิงคโปร์เขาย้ายตัวเองกลับมาที่บ้านเกิดและเข้าทำงานในบริษัทถลุงแร่ นับแต่นั้นจนถึงปัจจุบันยาวนาน 27 ปี ในระหว่างที่ทำงานเขาก็หาความรู้เพิ่มเติม โดยการเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย หลังจากจบการศึกษา ก็เข้ารับการฝึกอบรมของสภาทนายความฯ และสอบได้ใบอนุญาตว่าความด้วย ปัจจุบันเขาทำหน้าที่ทนายความ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมขั้นพื้นฐานด้วย 

ปี 2547 ขณะที่คลื่นยักษ์โถมเข้าใส่ฝั่งอันดามัน ภูเก็ต กระบี่ พังงา กลืนสามจังหวัดที่เป็นเมืองหลวงของการท่องเที่ยวภาคใต้กลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนจมอยู่ในความเศร้า เศรษฐกิจซบเซาอยู่หลายปี ขณะนั้นเขาทำงานอยู่บนเขา มองไปยังทะเลอันเวิ้งว้างโดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ชายหาดของไข่มุกอันดามัน 

หน้าที่ของผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อนั้นน่าสนใจ เพราะทำให้เขาได้เดินทางหลายประเทศ ไปตรวจสอบประวัติและการทำงานของเหมืองในหลายแหล่ง (โดยเฉพาะหลายประเทศในแอฟริกา ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา) ก่อนที่จะตกลงซื้อสินแร่ดีบุกเพื่อนำเข้ามาในประเทศ จากนั้นผ่านกระบวนการถลุงแร่แล้วส่งออกอีกครั้งเป็นโลหะ การที่ต้องตรวจสอบประวัติการทำธุรกิจของแต่ละเหมือง ก็เพราะมีข้อตกลงระหว่างประเทศว่าการซื้อขายจะต้องซื้อจากแหล่งแร่ของบริษัทที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งบริษัทเหล่านั้นไม่ได้นำเงินจากการขายสินแร่ไปสนับสนุกกลุ่มกบฏ หรือจัดหาอาวุธเพื่อทำสงคราม 

การเดินทางทำให้เขาเห็นโลกกว้าง ทั้งความเจริญ การคอร์รัปชัน ความร่ำรวยของชนชั้นปกครองและความยากไร้ของประชาชน ในประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงความโหดร้ายของสงครามที่กระทำโดยชนชาติเดียวกัน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

วริทธิ์เล่าให้ฟังว่าคนไทยควรภูมิใจที่มีโรงถลุงแร่ดีบุกติดระดับโลกอยู่ในเมืองไทย ที่เกาะภูเก็ตสมัยก่อนมีโรงถลุงแร่หลายแห่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียว แล้วเขาก็เล่าย้อนกลับไปว่า โรงถลุงแร่แห่งแรกของเกาะภูเก็ตเริ่มจากสายพระเนตรที่ยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 คราวเสด็จภาคใต้เมื่อราว ๆ 60 ปีที่แล้ว พระองค์ตั้งข้อสงสัยว่าเรามีวัตถุดิบที่หาได้มากในประเทศ ทำไมเราต้องส่งแร่ดีบุกไปสิงคโปร์และมาเลเซียเพื่อถลุงแร่ ต่อมาโรงถลุงแร่แห่งแรกจึงเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

แล้วทำไมภูเก็ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีดีบุกมาก ถึงไม่มีโรงถลุงแร่? 

วริทธิ์อธิบายว่า เหตุที่นายเหมืองต่อต้านไม่ให้เกิดโรงถลุงแร่ เพราะถ้ามีโรงถลุงในประเทศ รัฐบาลจะสั่งห้ามการส่งออกสินแร่ และนายเหมืองก็ต้องขายสินแร่ให้โรงถลุงในประเทศซึ่งจะได้ราคาต่ำ และหากส่งออกตามกฎหมายก็จะต้องเสียค่าภาคหลวงในเปอร์เซ็นต์ที่สูง ดังนั้น หากจะได้กำไรมาก จึงต้องทำธุรกิจสีเทาคือลักลอบส่งออกเถื่อนเพราะได้ราคาสูงกว่า

ฉะนั้น บางนโยบายจึงต้องการความเด็ดขาดในการสั่งงาน ซึ่งในกรณีโรงถลุงแร่นี้เกิดขึ้นในรัฐบาลทหารเพราะเขาไม่ต้องเกรงใจใคร รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำอะไรก็ต้องเกรงใจหัวคะแนน กลัวเสียคะแนนจากนโยบายที่กระทบฐานเสียง ทําให้ธุรกิจที่มีประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนไม่สามารถตั้งขึ้นได้

สลิ่ม

ในงาน Thailand Talks ปีที่ผ่านมา การได้คุยกับคนแปลกหน้าที่มีความคิดต่างกัน เป็นยังไงบ้าง

วริทธิ์ : ผมถูกจับคู่กับน้องพยาบาล ก็ไม่มีอะไรนะ คุยกันได้ดี เขาฟังและเห็นด้วยกับผม

ผมอายุมากกว่าเขาเยอะเหมือนกัน เขาสามสิบกว่า สังคมไทยยังให้ความเคารพอาวุโส เราก็เลย fine tune กันได้ เขาก็ปรึกษาผมนะ ช่วงโควิดเขาบอกว่าทำงานหนัก เครียด รู้สึกท้อและอยากลาออก ผมก็ให้กำลังใจน้องเขา อธิบายเขาว่าการที่ได้ทำงานอยู่ที่ศิริราช คุณต้องภูมิใจนะ เพราะในหลวงรัชกาลที 9 ทรงสนับสนุนและรักษาพระวรกายที่นั่นจนสวรรคต การได้ทำงานที่นี่คือการได้สนองนโยบายของในหลวงท่านที่จะช่วยเหลือราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วย 

คุณคิดว่าการคุยกับคนต่างเจเนอเรชัน ผู้อาวุโสกว่าควรวางตัวยังไง

วริทธิ์ : ต้องให้ความรู้เขานะ เราอายุมากกว่าต้องใส่ใจ มองเขาเป็นเพื่อนให้ได้ สังคมไทยดีอย่างเสียอย่าง 

ข้อเสียคือคนอาวุโสกว่าจะมองว่าเด็กไม่ได้เรื่อง ไม่มีความคิด ปัญหาที่ตามมาคือคนรุ่นก่อนพยายามจะยัดเยียดความคิดของเขาให้กับเด็กรุ่นใหม่ แทนที่จะรับฟังความคิดเห็นเขาด้วย ซึ่งสมัยก่อนอาจจะใช้ได้ ตอนโน้นไม่มีใครกล้าเถียงครู ครูว่าผิดก็ผิด แต่สมัยนี้มันโต้แย้งกันได้ เด็กหาความรู้ได้กว้างขวางกว่าสมัยก่อน ก็เหมือนผมกับลูกสาว ห่างกัน 33 ปี ชีวิตเกิดมากับดิจิทัล สมัยผมยังเล่นหม้อข้าวหม้อแกง ขี่ม้าก้านกล้วยอยู่เลย อยู่ต่างจังหวัดได้อ่านหนังสือพิมพ์สัปดาห์ละสองสามวันก็ถือว่าโชคดีแล้ว

เขา self confident สูงมาก บอกว่าหาความรู้กันได้เอง อันนั้นก็จริงแต่เขาไม่สามารถสังเคราะห์ได้ว่ามีความจริง ความเท็จเท่าไหร่ ถ้าฟังแหล่งข้อมูลแหล่งเดียว เขาก็ได้ความรู้ที่จำกัด ถ้าเขาเปิดใจรับฟังหลาย ๆ แหล่งข้อมูล ซึ่งเป็นความได้เปรียบของยุคสมัยของเขา เขาจะประมวลข้อมูลได้ดีกว่า 

ผมโชคดีที่ความคิดโตกว่าอายุ ตั้งแต่เรียนจบชอบอยู่และทำงานกับผู้ใหญ่มาตลอด เพื่อนส่วนใหญ่จะอายุมากกว่าผมทั้งนั้น ผมจึงมีโอกาสได้เรียนรู้ ซึมซับประสบการณ์ของพวกเขา ไม่ต้องมี learning curve เป็นข้อได้เปรียบคือไม่ต้องไปเถียงเรื่องที่คนอื่นเขาเถียงกันมาแล้ว สำหรับผมการมีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน คือสิ่งที่มีค่าที่สุด อย่าลืมว่าคนมีอายุผ่านมา 40-50 ปีมันมีความหมายทั้งนั้น สำหรับคน ๆ หนึ่งที่จะเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิต 

คุณคิดว่าคนเห็นต่างคุยกันได้ไหม

วริทธิ์ : เขาเห็นต่างเพราะเขาไม่รู้ความจริง พอเขารู้เขาก็เห็นด้วยกับเรา สมัยนี้มีข่าวไม่จริงเยอะ น้อง ๆ อาจรับข่าวสารข้างเดียว ไม่รอบด้าน ไม่เปิดใจ เลยไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง คนรุ่นใหม่คุยอยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง ใครเห็นต่างจากเราก็ไม่ใช่พวกเราแล้ว อย่างคนรุ่นผมนี่ก็กลายเป็นสลิ่ม สมัยผมเราคุยกันได้ทุกเรื่อง ทะเลาะกัน ไม่พอใจกันก็กระโดดเตะกันนิด ๆ หน่อย ๆ จบแล้วก็ไปกินข้าวกันต่อได้ ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย มันเป็นกันทั่วโลก ผมทำงานกับคนต่างชาติเยอะ ในสังคมตะวันตกก็มีความคิดต่างกันมาก

ผมคิดว่าการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันได้มันควรจะมีความแตกต่างหลากหลาย มันเป็นสิ่งที่สวยงาม ถ้าเราคิดเหมือนกันหมด โลกมันจะน่าเบื่อมากนะ ความแตกต่างมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ที่มันเกิดปัญหาเพราะแต่ละคนคิดว่าตัวเองถูก คนอื่นผิด ผมเชื่อว่าในความต่างมันไม่ต่างกันโดยสิ้นเชิง มันมีบางจุดที่เราเห็นร่วมกันได้ 

อย่างในครอบครัวสมัยก่อนมีความเชื่อว่าพ่อแม่เป็นเจ้าของชีวิตลูก แต่ไม่ใช่หรอก ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง เราไม่สามารถบังคับให้ใครทำอะไรได้ เราเลี้ยงเขาได้แต่ตัว แต่ไม่สามารถบังคับจิตใจเขาได้ ยกตัวอย่างเวลาเลือกตั้ง พ่อแม่อยากให้ลูกเลือกพรรคโน้นพรรคนี้ ทำไม่ได้หรอก เขาบอกว่าเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกพรรคที่เขาชอบ เราก็ต้องยอมรับ

มันต้องเปิดใจทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีอคติ สังคมมันถึงจะไปได้

สลิ่ม
  • The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening
  • ดูคลิปสัมภาษณ์ “วริทธิ์” ใน

Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน