ไขข้อข้องใจ ทำไมคนไทยติด ตม.
‘เกาหลีใต้’ เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ยังครองแชมป์จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่จากข่าวที่ปรากฏบ่อยครั้ง มีคนไทยจำนวนไม่น้อย ถูก ตม. เกาหลีใต้ส่งกลับ
หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลของการ “ปฏิเสธ” การเข้าประเทศ ที่แม้จะมีหน้าที่การงานมั่นคง แผนการเดินทางแน่น มีตั๋วคอนเสิร์ต จองที่พัก มีไฟลต์บินกลับอย่างชัดเจน จึงอดสงสัยไม่ได้ ว่ามาตรฐานการคัดเลือกคนเข้าประเทศของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศเกาหลีใต้นั้นอยู่ตรงไหน? หลายคนเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดการแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย อย่าง “ผีน้อย“
ผีน้อยที่ไหนจะซื้อตั๋วคอนเสิร์ต?
The Active ชวนทำความเข้าใจ “ทำไมคนไทยตกเป็นเป้าในการเข้าประเทศเกาหลีใต้” สู่แนวทางแก้ไขปัญหา กับ ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วิมลมาส หมื่นหอ สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สะท้อนปรากฏการณ์ #แบนเที่ยวเกาหลี ว่าจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดมาโดยตลอด ซึ่งเป็นปัญหาปลายเหตุ ต้องมาดูกันว่าปัญหาต้นเหตุคืออะไร ทำไมเกิดปฏิกิริยาเหล่านี้ สิ่งที่น่าสนใจคือปรากฏการณ์แบบเดิมทำไมก่อนหน้านี้ไม่ค่อยพูดถึงอย่างจริงจัง ตอนนี้กลับมาจริงจัง หรือเป็นเพราะระบบ K-ETA เป็นระบบ Preregister online ซึ่งทำให้คนลงทะเบียนก่อนแล้วคาดหวังว่าจะได้เข้าประเทศ พอคาดหวังแล้วไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วไม่ได้เข้า ก็เกิดความผิดหวัง สำหรับนักท่องเที่ยวตัวจริง แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีระบบ register online ไปถึงก็ต้องไปวัดดวงเอาหน้างานเลย นักท่องเที่ยวตัวจริงก็เลยมีอาการหัวเสีย
ว้าวุ่นเลย…ไม่ผ่าน ตม. เกาหลี?
ถ้าเอาตัวเลขมาวิเคราะห์ คนไทยที่ทำงานถูกกฎหมายในเกาหลีใต้ มีเพียง 10,000 กว่าคนเท่านั้น ขณะที่แรงงานผิดกฎหมาย (illegal workers) หรือ ผีน้อย มีอยู่มาก ในบางสำนักรายงานว่า 140,000 คน ตม. เกาหลีรายงานว่า เกือบ ๆ 160,000 คน ซึ่งมากกว่า 10 เท่า หรือหากเทียบง่าย ๆ คือ ใน 100 คน 90 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เรื่องนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้
อีกเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ตม. ที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมถูกตำหนิอย่างมาก เพราะช่องทางที่แรงงานผิดกฎหมายเข้ามามีเพียงทางเดียวคือ Free Visa ต้องยอมรับว่านี่เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหา จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกาหลีใต้ได้มีการเริ่มใช้ K-ETA แต่ในเขตการปกครองพิเศษเจจู ต้องการให้คนเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน K-ETA สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนไทยแห่ไปเจจูและส่วนตัวเชื่อมั่นด้วยว่านี่คือผีน้อยที่ถูกส่งกลับยกลำ อาจเป็นที่มาของความเข้มงวด
อีกเหตุผลก็คือ ก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวไทยไม่เคยติด 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเกาหลีใต้ ยกเว้นไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งอันดับ 1) คือ ญี่ปุ่น 2) สหรัฐอเมริกา 3) ไต้หวัน 4) จีน และอันดับ 5) คือประเทศไทย ไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจไม่ดี มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเกาหลีใต้ไป 91,000 คน แต่ในบรรดานี้ ตม. ไม่ได้รายงานว่า มีคนกลับออกมาเท่าไหร่ เป็นนักท่องเที่ยวจริงเท่าไหร่ เพราะ 57.7% บอกว่ามาท่องเที่ยว ไพบูลย์ มองว่าคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศไทยจะเป็นเป้า เพราะคนลักลอบเข้าทำงานอย่างผิดกฎหมายเมื่อปีที่แล้วจากการสุ่มจับ 100 คน 36 คนเป็นคนไทย กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะเข้มงวดการตรวจคนที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่แค่ไทย เพราะมีเวียดนามและฟิลิปปินส์ด้วย เพียงแต่ว่าของไทยอาจจะเยอะในปีที่ผ่านมา
วิมลมาส หมื่นหอ ให้ข้อสังเกตว่าคำว่า “ผีน้อย” จะเรียกคนที่พำนักเกิน 90 วัน แต่จริง ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ผีน้อยอย่างเดียว แต่ยังมีคนที่เข้าไปโดยใช้ Free Visa 90 วัน ไปแอบทำงาน ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะ หมอนวด คนทำงานกลางคืน มีการเข้าประเทศไปทำงาน กลุ่มนี้ไม่ใช่ผีน้อย เพราะไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ได้อยู่เกิน 90 วัน แต่เขาอาจจะอยู่ 85 วัน 88 วัน แล้วกลับ ซึ่งไม่ได้ผิดกฎหมาย Free Visa ต้องนับถือ ตม. เกาหลีใต้ เพราะการทำงานของเขา มีช่องทางออนไลน์ที่เชื่อมโยง มีประวัติการเข้า-ออก ทั้งหมด บางทีคนที่เข้าไปตามช่วงเวลาหลายครั้ง เข้ามาเฉพาะช่วงเดือนที่เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยว หรือช่วงที่คนเกาหลีใต้ต้องการการผ่อนคลายที่อาจจะต้องใช้หมอนวดจำนวนมาก (เกาหลีก็มีช่วงฤดูของการทำงาน ช่วงของการพักผ่อน) ซึ่งมีคนเข้าประเทศไปทำงานแบบนี้ ปีก่อน ๆ มีจำนวนผีน้อยกว่า 170,000 คน แล้วคนที่ไปทำงานโดยไม่ได้เป็นผีน้อยอีกเท่าไหร่ ส่วนตัวคิดว่ามีประเด็นแบบนี้ด้วย ซึ่งหลายคนบอกว่าไปมาหลายครั้งแล้ว ทำไมครั้งนี้ไม่ผ่าน ตม. บางครั้งข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้บอกรายละเอียด
รัฐบาลเกาหลีปิดตาข้างหนึ่ง เข้มตรวจคนเข้าเมือง แต่ผีน้อยก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้
เคยได้ยินคำว่า “รัฐมักจะปิดตาข้างหนึ่งเสมอ” วิมลมาส มองว่าแรงงานที่ผิดกฎหมายไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชนได้มีการเรียกร้องเรื่องนี้ รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายใหม่ให้แรงงานผิดกฎหมายสามารถขึ้นทะเบียนได้ แม้ว่าจะมีมาตรการออกมาแต่ยังไม่มีการบังคับใช้ ซึ่งเหตุผลอาจจะต้องมีเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย
สมมติว่ามีการออกเป็นกฎหมายในการขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฏหมาย แล้วใครจะมีสิทธิในการขึ้นทะเบียน ปัญหาที่ตามมาคือ การดูแลคนในประเทศเกาหลีใต้ ที่พัก สวัสดิการ เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมีสวัสดิการที่ค่อนข้างดีมาก เกาหลีใต้จะต้องเอาเงินมาดูแลแรงงานต่างประเทศเหล่านี้ อาจจะได้ไม่คุ้มเสียต่อการเก็บภาษี ถ้าหากนายจ้างไม่ทำให้ถูกต้องตามระบบ ไม่ส่งภาษี อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้
ปัจจุบันเกาหลีใต้พยายามแก้ไขปัญหามากขึ้น เช่น คนที่ถือ Visa แต่งงาน F5 (Visa สำหรับผู้อาศัยในเกาหลีแบบถาวร) และ F6 (Visa แต่งงาน) สามารถเชิญญาติเข้ามาในช่วงที่เป็นฤดูการทำการเกษตรได้ 6 เดือน ที่เป็น E8 (แรงงานระยะสั้นในภาคการเกษตร) เป็นการเปิดโอกาสในการทำงานมากขึ้น โดยในมุมมองเกาหลีใต้ แม้จะปิดตาข้างหนึ่ง แต่กฎหมายมีความชัดเจน เข้มข้น
มาตรฐาน ตม. เกาหลี อยู่ตรงไหน?
ตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง การจะไม่ให้ใครเข้าประเทศมีอยู่ 3 ระดับ
- ห้ามไม่ให้เข้า การห้ามคือคนที่อยู่ใน Blacklist อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนนี้ค่อนข้างเป็นการถาวร
- ปฏิเสธไม่ให้เข้า ระยะจะสั้นลงมาแต่ไม่ใช่ถาวร คน ๆ หนึ่งอาจจะอยู่ในรายชื่อการปฏิเสธก็ได้ แต่ไม่ใช่ห้ามเข้า การห้ามถือเป็นบุคคลอันตราย การปฏิเสธอาจจะมีหนังสือจากประเทศต้นทางว่าคนนี้ไม่ควรให้เข้าประเทศ ขอร้องเป็นบางกรณี
- ไม่อนุญาตให้เข้า คือ กรณีที่คนไทยถูกส่งกลับ การไม่ได้รับอนุญาตไม่มีผลต่อการ Record แต่อย่างใด การอนุญาตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งเป็นผู้ได้มอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว ทำงานกันเป็นทีม เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกฝนกระบวนการตั้งคำถาม
“แม้ว่าคำถามของเขาอาจจะดูเหมือนไร้สาระ แต่คำถามเหล่านี้คือคำถามที่ถูกฝึกมาในเชิงจิตวิทยา แม้ว่าจะเป็นคำถามว่า ต้นไม้หน้าโรงแรมมีกี่ต้น มีไฟกี่ดวง คอนเสิร์ตจัดที่ไหน นั่งตรงไหน จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่เขาต้องการจะรู้คือเจตนาของเรา ว่าเป็นการมาท่องเที่ยวจริง ๆ ใช่ไหม”
ไพบูลย์ ปีตะเสน
ถ้าเราตอบไปตามความเป็นจริง โดยที่ไม่โอเวอร์ ไม่ลุกลนผิดปกติ ซึ่งเขาใช้หลายมาตรฐานมากในการวิเคราะห์ แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้ Over stay แต่คุณอาจจะมาทำงานหรือเปล่า? ซึ่งนี่ก็ผิดประเภทเหมือนกัน เกาหลีใต้อนุญาตให้มาท่องเที่ยว มาใช้เงิน ไม่ได้อนุญาตให้มาหาเงิน หรือมาติดต่อการค้าที่เป็นในเชิงพาณิชย์ ตม. จึงต้องตรวจเข้มว่าคุณคือนักท่องเที่ยวจริงหรือไม่ ในความเป็นจริง คือเรื่องของคน สายตาของคน บางคนเจอ ตม. คนนี้แล้วผ่าน หรือเจอคนนี้ไม่ผ่าน ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับการสัมภาษณ์งาน กรรมการคนนี้มองเราผ่าน แต่อีกคนมองเราไม่ผ่าน เราจะไปตั้งคำถามทั้ง ๆ ที่เขาเป็นกรรมการมาจากบริษัทเดียวกัน นี่เป็นเรื่องของบุคคล อาจจะต้องไปจัดการกันในระยะยาว ในเชิงระบบอาจจะให้เขาเข้มงวด แต่ให้เขาเฟ้นหาตัวจริงที่เป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ เข้าไปได้ไหม อันนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการจะไปบอกให้เขาไม่เข้มงวดเลย เพราะถ้าตรวจกรองที่หย่อนเกินไปก็อาจจะทำให้ผีน้อยเข้าประเทศได้เยอะขึ้น
เกาหลีใต้ เป้าหมายยอดนิยม แรงงานผิดกฏหมาย
Illegal workers หรือแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศแล้วทำผิดกฎหมาย เท่าที่เห็นก็มีแต่ประเทศเกาหลีใต้ ที่เราเรียกผีน้อย ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร ไต้หวันก็ไม่มีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะ
“เราไม่เคยเรียกแรงงานผิดกฎหมายของไต้หวันว่า ชานมโดดร่ม ญี่ปุ่นก็ไม่มีนะ ไม่มีกิโมโนพลัดถิ่น ถ้าถึงขนาดมีชื่อเรียก เกาหลีใต้ก็ต้องเป็น destination ที่ยอดนิยมของคนที่ทำงานผิดกฎหมาย”
ไพบูลย์ ปีตะเสน
อีกเหตุผลคือเกาหลีใต้ยังมีธุรกิจ SMEs ที่อยู่ต่างหวัด ยังไม่พร้อมเข้าระบบอย่างเป็นทางการ รัฐอาจตรวจสอบไปไม่ถึง อยู่ในฟาร์มห่างไกล เหล่านี้อาจต้องการแรงงานผีน้อย ประกอบกับมีนายหน้าเกิดขึ้นมากในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเหล่านี้ ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ขณะที่ญี่ปุ่นแม้จะเป็น Free Visa แต่หากไม่ได้มีนายจ้างรับเข้าไป ก็คงอยู่ไม่ได้ จะไปเร่ขายแรงงาน ก็คงไม่มีใครรับ อย่างไต้หวันเจอปั๊บจับเลย ไม่มีการอะลุ่มอล่วย ถ้าเกาหลีใต้เข้มงวดขึ้นมา ต่อไปอาจจะเดือดร้อนหลายคน ถ้า 100,000 กว่าคนที่กลับมาอาจจะเป็นภาระต่อประเทศในอนาคตก็ได้
Soft power ทรงพลัง #แบนเที่ยวเกาหลี ทำไม่ได้จริง? เรื่องนี้ต้องระดับรัฐบาลเจรจา
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา คุณศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นทูตไทยประจำเกาหลีใต้เข้าใจปัญหานี้ดีว่าปัญหาต้นน้ำคือปัญหาผีน้อยที่นำมาสู่ความเข้มงวด ได้คุยพูดคุยเรื่องนี้กับ คุณชาง โฮจิน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้แน่นอนในทางการทูต กระทรวงต่างประเทศไม่ได้ดูแล ตม. และสิ่งที่เขาทำ คือ ขอโทษไว้ก่อน ไม่อยากให้มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทย ไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ที่มีอยู่ยาวนาน แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าจะไปลดความเข้มงวดของ ตม. ซึ่งแน่นอนไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ แต่ก็จะมีมาตรการให้คนผิดกฎหมายมาลงทะเบียนก็จะได้คนเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ซึ่งจะได้เพิ่มแรงงาน และจะยืดหยุ่นเวลา
หนึ่งในเหตุผลที่คนจะไปทำงานแบบถูกฎหมายไม่ค่อยได้ คือ หากเป็นการไปแบบถูกกฎหมาย EPS (Employment Permit System) จะต้องสอบภาษา และไม่รู้ว่าจะถูกเรียกตัวเมื่อไหร่ โชคดี 1-2 เดือนก็ได้ไปแล้ว แต่บางครั้งก็อาจต้องรอนานนับปี ระหว่างนั้น แรงงานจะทำอะไร
การมีโครงการระยะสั้น ลดความเข้มงวดของภาคเกษตร แล้วไปภายใต้ EPS จะเพิ่มแรงงานอีก 48,000 คน ซึ่งตัวเลขความต้องการแรงงานในภาคเกษตรของเกาหลีใต้ต้องการมากกว่า 100,000 คน ส่วนผลกระทบด้านการท่องเที่ยวไม่ได้พูดก็จริง แต่ในเชิงสถิติ การที่จะดูว่าประเทศหนึ่งให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากขนาดไหน ให้ดูรายได้ รายรับที่เกิดจากการท่องเที่ยวคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของ GDP ประเทศไทยช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 18-20% มาโดยตลอด
“แต่เกาหลีใต้รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 4.7% หมายความว่าเกาหลีใต้ไม่มีการท่องเที่ยวก็ได้ แต่ประเทศไทยถ้าเกาหลีใต้ไม่มาเที่ยวอาจจะเดือดร้อน”
ไพบูลย์ ปีตะเสน
เกาหลีใต้ตอนนี้เปิดกลยุทธ์ท่องเที่ยวโดยไม่ต้องมา การที่คนต้องการจะเสพ Content ของเหลีใต้ มีอยู่ 2 แบบ คือ 1. Tourism ต้องมาเสพที่ประเทศเกาหลีใต้ 2. K-content ไม่จำเป็นต้องมา เราสามารถกินอาหารเกาหลีที่เมืองไทยได้ เช้าดูคอนเสิร์ตออนไลน์ บ่ายดูซีรีส์ เย็นฟังเพลง K-POP ก็ได้ สิ่งที่เกาหลีใต้พยายามจะขายคือ K-content ซึ่งมีสัดส่วนรายได้กว่า 30% ซึ่งหากเรายังไม่ได้ไป หรือยังไม่พร้อมไปก็ไม่ใช่ปัญหา เราสามารถท่องเที่ยวผ่าน K-content ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้
ทางออก ทางใจ เฟ้นหาตัวจริง
วิมลมาส สะท้อนทิ้งท้ายว่า ถ้านึกถึงใจเขา ใจเรา ถ้าวางแผนไปแล้ว เสียเงินไปแล้ว ไม่ได้เข้าประเทศก็เสียค่าใช้จ่ายและเสียใจ เข้าใจคนที่ตั้งใจจะไปเที่ยวเกาหลีแล้วถูกปฏิเสธ แต่อยากจะบอกว่า ตม. เกาหลีไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แม้ว่าจะติดห้องเย็น แม้พูดภาษาเกาหลีไม่ได้ ก็มีล่าม ตม. แต่คนที่ติด ตม. อาจจะมีจำนวนน้อยก็เป็นได้ อยากจะสนับสนุนใครที่อยากไปเที่ยวจริง ๆ เกาหลีใต้ก็ยังเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยว จากกระแสนี้อาจจะมีแนวทางออก หรือมีการปรับมาตรฐานการตรวจคนเข้ามากขึ้นก็เป็นได้
ไพบูลย์ มองทางออกของปัญหานี้ว่า เกาหลีใต้อาจต้องมีตัวคัดกรองที่แม่นยำมากขึ้น คนที่ไปท่องเที่ยวจริง ๆ อาจจะต้องขอเอกสารที่พิสูจน์ตัวตนได้ การตอบให้เป็นธรรมชาติ ไม่มีสิ่งที่ผิดสังเกต เช่น ในเอกสารเป็น นาย แต่ตัวจริง แลดูเป็นนางสาว หรือหน้าตาไม่ตรงปก การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล การใส่เครื่องประดับแบบเว่อร์วังอลังการ ทำตัวน่าสงสัย สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้อง Defence ให้ตัวเราเองได้ ตอบคำถามได้ เพราะ ตม. ต้องสนทนาเพื่อหาว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวตัวจริงไหม เชื่อว่าเกาหลีใต้ยังคงอยากได้เงินจากการท่องเที่ยว แต่หากเทียบแม้ 1% ที่มีโอกาสเป็นผีน้อยแล้วเข้าไปทำให้เกิดปัญหาหลาย ๆ อย่างตามมา อย่างปัญหายาเสพติด อาชญากรรม การคลอดบุตร เมื่อเทียบกับเงินได้ 4.7% อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย