เปิดโลกคู่ขนาน เส้นทางสุราเสรี

สาเก หรือ เหล้าญี่ปุ่น เครื่องดื่มหมักจากข้าว มีต้นกำเนิดใน ประเทศญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่มีความประณีต ในอดีตสาเกถูกนำมาใช้เพื่อถวายแด่พระเจ้า เราจึงเห็น ถังสาเก ได้ทั่วไปในศาลเจ้า นอกจาก สาเก จะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเป็นมายาวนานและผูกพันกับวัฒนธรรมการดื่มของคนญี่ปุ่น ยังมีการกำหนดให้วันที่ 24 สิงหาคม เป็นวันสำคัญเพื่อส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว โดยใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง สาเก เป็นสื่อกลางอีกด้วย

“วันแห่งความรักสุรา” (愛酒の, Aisake no Hi) มีขึ้นเพื่อระลึกถึง โบคุสุอิ วาคายามะ Wakayama Bokusui นักกวีในสมัยเมจิ ปี ค.ศ. 1885 ผู้หลงรักการดื่มสาเกเป็นชีวิตจิตใจ เขาชอบท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับการดื่มและเขียนกวี นั่นทำให้เขามีความสุขอย่างมาก กระทั่งสิ้นลมด้วยโรคเกี่ยวกับตับ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมาจนชั่วชีวิต ญี่ปุ่นจึงยกให้วันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของเขา ให้เป็นวันแห่งความรักสุรา เพื่อระลึกถึงกวีผู้ชอบร่ำสุราคนนี้

ส่วน ประเทศเกาหลีใต้ ที่ผลักดัน “โซจู” จนกลายเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทุกคนรู้จักดีผ่านฉากในซีรีส์ รวมถึงรายการวาไรตี้ Paik’s Spirit บน Netflix เพราะความอิสระของภาพลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สามารถเฉิดฉายบนสื่อของเกาหลีใต้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “โซจู” โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ และต่างชาติก็ไม่ได้มองว่า “เหล้า” เป็นสิ่งไม่ดี แต่กลับมองว่านี่เป็นวัฒนธรรมการดื่มที่มีมานานแล้ว

สวนทางกับ ประเทศไทย ที่อดีตเคยโฆษณาเหล้าเบียร์กันได้อย่างเสรี มีโฆษณาบนจอโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือบิลบอร์ดโฆษณาได้อย่างไม่มีปัญหา อย่างในปี 2541 มีโฆษณาชุด “เบียร์ผู้ว่า” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาดื่มเบียร์ฉลองบนเวทีงานแต่งงาน หรือในปี 2544 มีโฆษณาชุด “คนไทยหรือเปล่า” พร้อมกับสโลแกนว่า ‘กินแล้วภาคภูมิใจ เบียร์คนไทยทำเอง’ แต่ใน 2551 รัฐบาลยุค พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในมาตรา 32 ของ พ.ร.บ. มีเนื้อความว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”

The Active ชวนมอง “โซจู” ซอฟต์พาวเวอร์มูลค่าเเสนล้านบาท สะท้อนตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ท่ามกลางการผลักดันกฎหมายสุราก้าวหน้า กับโอกาสที่ไทยจะเสรีที่อาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์เหล้าพื้นบ้านได้บ้าง? ผ่านการสนทนากับ วรสิทธิ์ เกาะศิริ K-Influencer เพจ เกาหลี Everyday และ ผศ.เจริญ เจริญชัย คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพจ สุราไทย

ไอคอนซีรีส์ “โซจู” เครื่องดื่มประวัติศาสตร์เกาหลี

วรสิทธิ์ เกาะศิริ เริ่มต้นตั้งคำถามว่า รู้หรือไม่…? สุรากลั่นที่ขายดีที่สุดในโลก คือ จินโร (Jinro Soju) จากเกาหลีใต้ ส่วนสุรารวงข้าวของไทย อยู่อันดับ 2

วรสิทธิ์ เกาะศิริ

เมื่อพูดถึงโซจูในประวัติศาสตร์ โซจูดั้งเดิมของเกาหลีคือโซจูเมืองอันดง ในสมัยราชวงศ์โครยอ ค.ศ. 1300 แต่เดิมก่อนจะมาเป็นเกาหลี ชนเผ่ามองโกลรุกรานประเทศเกาหลีและได้ตั้งรกรากขึ้นมา ชาวมองโกลเป็นผู้ริเริ่มการทำเหล้ากลั่น อาจเพราะทักษะที่มีอยู่ ในสมัยนั้นเรียกว่า อารักจู ที่แรกที่เริ่มทำโซจูก็คือที่เมืองอันดง ในจังหวัดคย็องซังเหนือ สมัยนั้นเมืองอันดงคือที่รวบรวมเสบียง ซึ่งเสบียงที่รวบรวมมาได้จากหลายเส้นทาง ทั้ง เกาะเจจู เมืองแคซอง (ปัจจุบันอยู่ที่เกาหลีเหนือ) ปัจจุบัน ทั้ง 2 เมืองนี้ก็ขึ้นชื่อเรื่องของโซจูเช่นกัน ในเมืองอันดงมีสถานที่ท่องเที่ยวเป็นพิพิธภัณฑ์โซจู บอกเล่าเรื่องราวของโซจูอย่างสมบูรณ์

หลังจากสมัยโครยอถึงโชซอน ในสมัยโชซอนมีการทำโซจูเองที่บ้านได้ โซจูในสมัยโชซอน เรียกว่า คายังจู แต่ในสมัย ค.ศ. 1910 ช่วงการรุกรานของประเทศญี่ปุ่น ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้ทำสุราที่บ้าน เพราะต้องมีการจัดเก็บภาษี หลังปี 1945 แม้หลุดพ้นอาณานิคมญี่ปุ่นแล้ว แต่ก็ยังมีการสั่งห้ามทำสุราเองที่บ้าน ไม่ให้ใช้ข้าวหรือวัตถุดิบบางประเภทมาใช้ทำสุรา เพราะเป็นช่วงของการฟื้นฟูประเทศ ประเทศค่อนข้างยากจน และวัตถุดิบหลักของการทำเหล้า คือ ข้าว มันสำปะหลัง แป้ง เหล่านี้เป็นอาหารสำคัญต้องมีสำรองเพียงพอต่อคนในประเทศ

ต่อมารัฐบาลได้เข้ามาควบคุม ปริมาณ คุณภาพ เพราะรัฐบาลจะทำสุราเอง อีกทั้งหัวเชื้อแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม จึงต้องมีการเจือจางด้วยน้ำเปล่ามากขึ้น ราคาจึงค่อนข้างถูก เปอร์เซ็นแอลกอฮอล์ลดต่ำลง คนเข้าถึงได้ง่าย ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแผ่ขยายของโซจู

วัฒนธรรมการดื่มที่แข็งแกร่งของชาวเกาหลีใต้ ทำให้เข้าถึง “เหล้า” ได้ง่ายขึ้น

การจับคู่ว่า เหล้ากินกับอะไรอร่อย เป็นแนวคิดของคนเกาหลีที่วางแผนว่าการผสมผสานแบบไหนถึงจะดีที่สุด

ในส่วนของวัฒนธรรมการดื่ม ที่มีการดื่มหลังเลิกงานอย่างฮเวชิก (회식) เป็นหนึ่งในสิ่งที่พนักงานชาวเกาหลีต้องปฏิบัติ แม้ตามกฎหมาย ฮเวชิก (회식) ไม่ถือว่าเป็นเวลางาน แต่เป็นงานอย่างหนึ่ง คือต้องทำ ถ้าไม่ทำอาจเติบโตในหน้าที่การงานยากขึ้น ฮเวชิก (회식) ว่ากันง่าย ๆ คือการไปกินเลี้ยงหลังเลิกงาน เท่าที่ทราบมา ฮเวชิก (회식) ของหลายบริษัท บริษัทเป็นคนจ่าย แม้ว่าไม่รบกวนสตางค์ในกระเป๋า แต่บางคนก็ไม่ชอบไปกับที่ทำงาน ไม่ชอบการสังสรรค์ หรือไม่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ ฮเวชิก (회식) จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาอย่างยาวนาน และน่าจะมีตลอดไป

การจับคู่การดื่ม เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เรียกว่า อันจู (안주) ไม่เพียงการจับคู่อาหารกับเครื่องดื่ม เขาจะจับคู่อาหารกับอาหาร อาหารกับของหวานอีกด้วย เช่น โซจูต้องกินคู่กับปิ้งย่าง มักกอลลีกินคู่กับจอน (แพนเค้กเกาหลี) เบียร์กินคู่กับไก่ทอด ชิคฮเยกินกับไข่ต้ม

นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติในการดื่มที่คนเกาหลีใต้ซีเรียส อย่างการรินเหล้าให้กับผู้ใหญ่ มารยาทการดื่ม ที่แฝงมากับ ซอฟต์พาวเวอร์ที่เราได้เห็นกันตามซีรีส์อีกด้วย

ชูเอกลักษณ์โซจูท้องถิ่น สินค้าโอทอปจังหวัด

ใครที่ดื่มโซจูน่าจะเคยเห็นว่ามีหลายแบรนด์มาก โดยเฉพาะหากเคยไปที่เกาหลีใต้ โซจูจะมีความแตกต่างกันตามแต่ละจังหวัด ที่เกาหลีใต้มีกฎหมายที่ว่าด้วยการจำหน่ายสุรา กำหนดว่า แต่ละเมือง แต่ละจังหวัด จะต้องมีบริษัทโซจูได้เพียงหนึ่งเดียว และต้องวางจำหน่ายในเมืองนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 50 % จะส่งออก 100 % ไม่ได้ ซึ่งเกาหลีใต้มีโซจูขึ้นชื่อประจำจังหวัด เช่น โซล จะมีแบรนด์ จินโร, คังวอนโด มี แบรนด์ ชออึมชอรอม โดยชูจุดเด่นจุดขายที่ไม่เหมือนใคร จังหวัดคังวอนโด โซจูจะมีแร่ธาตุที่มาจากน้ำในภูเขาแทแบกวาน รสชาติจะอ่อนนุ่มกว่าแบรนด์อื่น ๆ จังหวัดชุงชองใต้ มีแบรนด์ อีเจอูริน คุณสมบัติที่บอกว่าดื่มแล้วจะสร่างเมาเร็วกว่าแบรนด์อื่น 30 นาที เพราะมีการใส่ออกซิเจนมากกว่า ฯลฯ

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 5.32 แสนล้านบาท และจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่ไทยเสียโอกาสไปมากกับการไม่เป็นตลาดเสรี ซึ่งหากเทียบกับเกาหลีใต้ ที่มีการแก้ไขกฎหมายภาษีสุรา โดยยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าต้นทุน การผลิต ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การตลาด มาเป็นการเก็บภาษีจากปริมาณที่ขายได้แทน เมื่อภาษีน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตสินค้าแข่งขันกับรายใหญ่ได้มากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับโรงงานสุรา ที่เปิดช่องสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีกำลังผลิตสามารถร่วมการผลิตกับโรงงานสุราของบริษัทใหญ่ได้ เป็นการพึ่งพากันระหว่างภาคเอกชน และทำให้ผู้ผลิตรายเล็กลืมตาอ้าปากได้

เสรี (ไม่จริง) ตลาดวงการสุราไทย

ส่วนมุมมองเรื่องตลาดเสรีในประเทศไทย ผศ.เจริญ เจริญชัย บอกว่า บ้านเราเสรีในระดับหนึ่ง ช่วงปี พ.ศ. 2543 ก่อนหน้านั้น การผลิตสุราจะเป็นการผลิตโดยรัฐ รัฐผูกขาด ประชาชนทั่วไปห้ามผลิต แม้ว่าจะเป็นเครื่องดื่มเบา ๆ อย่างสุราแช่ สุรากลั่น พอปี พ.ศ. 2544 ก็ปลดล็อกให้ผลิตไวน์ผลไม้ออกมาได้ พอปี พ.ศ. 2546 ให้ทำสุรากลั่นได้

“จริง ๆ เป็นกระแสเรียกร้องของประชาชนที่อยากทำมานานแล้ว เพราะการทำเหล้าจากข้าว เหล้าพื้นบ้านทำมานานแล้ว”

ผศ.เจริญ เจริญชัย

ในอดีตการทำเหล้าผิดกฎหมาย ต้องวิ่งหนีเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ในที่สุดพอเปิดเสรี คำว่าเปิดเสรีก็คือ Monopoly หรือการผูกขาด โรงงานสุราที่เป็นของรัฐก่อนหน้า ก็ขายออกมาให้เอกชนซื้อ แต่ก่อนหน้านั้นต้องทำความเข้าใจว่าสุราบ้านเรา เมื่อผูกขาดแล้วรัฐให้สัมปทานเอกชนไปผลิต การให้สัมปทานคือการที่เขาสามารถผลิตได้แต่ผู้เดียว เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นของตนแล้วให้เอกชนไปผลิต เหล้าดั้งเดิมของคนไทยดีจนต่างชาตินำไปเลียนแบบ อย่าง อาวาโมริ ของโอกินาวา ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นยังพูดว่า ได้ต้นแบบมาจากอยุธยา ทำจากเหล้าข้าวเจ้า แต่เหล้าข้าวเจ้าในบ้านเรากลับสาบสูญไป เนื่องจากพอมีโรงงานใหญ่ที่ได้สัมปทาน ไม่มีคู่แข่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำจากข้าวที่แพง ก็ไปหาวัตถุดิบที่ถูกที่สุด เป็นต้นกำเนิด เหล้ากากน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นเหล้าขาว เหล้าสี พื้นฐานมาจากกากน้ำตาล แต่คุณภาพไม่เอาไหน แล้วใครจะชอบกิน ถ้าหากว่ามีกำลังทรัพย์ที่มากขึ้น ก็หันไปกินสุราต่างประเทศ เป็นวิสกี้ วอดก้า

“ต้องโทษเรื่องของการผูกขาดหรือสัมปทานโดยตรงเลย ไม่มีเหตุผลอื่น พอไม่มีคู่แข่งก็สามารถเลือกใช้วัตถุดิบอะไรก็ได้”

แต่ที่เกาหลีใต้ไม่เป็นแบบนี้ ถึงโซจูจะมีผู้ผลิตเจ้าใหญ่ อย่าง จินโร เป็นแบรนดน์ดังที่ได้รับความนิยมมานาน ใครไปต้องไปดื่มเพราะเป็นของพื้นบ้าน แต่ถ้าเป็นประเทศไทย ถ้ามีชาวต่างชาติมาเที่ยว เขาคงคาดหวังว่าเมืองไทยมีเหล้าอะไรน่าสนใจ แต่พอเจอเหล้าโรงงาน เหล้าขาว เหล้าสี ที่ไม่อร่อย ก็ไปต่อไม่ได้ เลยไม่ทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ของเหล้าไทย แต่ของเกาหลีเขาทำมาอย่างต่อเนืองจนสร้างคุณค่าได้ บ้านเราถ้าจะเอาเรื่องเหล้ากากน้ำตาลมาเล่าเรื่องก็เล่าไม่ได้ แต่เกาหลีทำซีรีส์ มีรายการ ที่ทำออกมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เพราะมีเรื่องราว ในขณะที่ไทยมีวัตถุดิบแต่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

ในปี 1996 ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ ได้สั่งยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายเซนเซอร์ และเปิดเพดานเสรีภาพทางความคิดให้เหล่าผู้ผลิตงานสร้างสรรค์และศิลปินได้คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และนำเสนอออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่การออกอากาศฉากโซจูในซีรีส์เกาหลีใต้ไม่ได้มีความอิสระ (ขนาดนั้น) เเต่ก็ไม่ได้บังคับจนทำให้งานด้านครีเอทีฟสูญเสียเนื้อหาสำคัญไป (ถ้าสังเกตดี ๆ เห็นขวดโซจูเขียว ๆ ได้แต่จะไม่เห็นยี่ห้อ หรือเป็นสลากยี่ห้อที่ไม่มีอยู่จริง เพราะกฏหมายเรื่องโฆษณาแฝง)

รัฐไม่ส่งเสริม? ซ้ำเติมด้วยโครงสร้างภาษีเหล้า

ความนิยมของ “โซจู” เกาหลีใต้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งคือรัฐบาลส่งเสริม จริง ๆ รัฐบาลไทยก็เคยส่งเสริมเมื่อปีแรก ๆ รัฐบาลไทยส่งเสริมสุราชุมชน ปี 2545 ที่เปิดให้ทำ เป็นช่วงเจริญรุ่งเรือง ถึงขั้นมีเทศกาลสุราแช่ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ว่าเพิ่งจะหัดทำกัน คนแห่ไปให้ความสนใจ แต่ผู้ที่นำไปขายก็ยังไม่มีความรู้ ถึงขั้นมีขวดระเบิดกลางงาน หรือรสชาติเปรี้ยวเกินไป แต่พอ ปี 2551 ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนหน้านี้รายเล็กผลิตได้ รายเล็ก ๆ สามารถทำอะไรได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นไวน์ผลไม้ อุ กระแช่ สาโท เป็นภูมิปัญญาที่ฝังอยู่ ถูกหลบซ่อน พอเปิดแล้วก็ขุดรื้อฟื้นขึ้นมา

แต่รัฐบาลกลับมีแนวทางต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการสร้างภาพให้แอลกอฮอล์เป็นปีศาจในสังคมไทย ทุกหน่วยงานก็เลยเลิกสนับสนุน ส่งค่านิยมการต่อต้านของไทยเข้าไปสู่สถาบันการศึกษา ไปทุกองคาพยพของหน่วยราชการ กรมที่ดูแลเรื่องการผลิตก็ไม่ส่งเสริมให้มีการผลิตอีกแล้ว อ้างว่า ทำไปแล้วเหนื่อย ทำแล้วเดือดร้อน กฎหมายบังคับเยอะแยะ วุ่นวาย อย่าทำเลย หากนักวิจัยบอกคณบดีว่าจะทำวิจัยเกี่ยวกับสุราแช่ สุรากลั่น คณบดีคงบอกว่าอย่าทำเลย เรื่องนี้รัฐบาลไม่ส่งเสริม เมื่อไหร่มีคำว่าแอลกอฮอล์หรือสุรา นักวิจัยที่ทำเรื่องนี้จะไม่ได้ทุน ฉะนั้น การพัฒนาของเราก็หยุดชะงัก มีกรมเดียวที่ยังทำอยู่แต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมอะไรมาก คือ กรมการพัฒนาชุมชน ที่เขายังมีสินค้าโอทอปอย่างสุราชุมชนอยู่ที่อยู่มาตั้งแต่แรก แต่ปรากฏว่าสินค้าที่เป็นสุราน้อยลงเพราะว่าขาดการส่งเสริม รวมทั้งการโฆษณาหรือสื่อสารกับผู้บริโภคก็ทำไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แต่ของเกาหลีใต้ และไม่ใช่ประเทศเดียว ประเทศที่มีสินค้าที่ทำรายได้ให้กับประเทศ แม้เป็นแอลกอฮอล์แต่ไม่ได้มองว่าเป็นของมึนเมา มองว่าเป็นสินค้าหนึ่ง เกาหลีใต้ โซจูเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ อยู่ในซีรีส์ ทำให้คนไทยคลั่งไคล้อยากจะทำโซจู โซจูผลไม้ขายดีมาก จนกระทั่งในไทยมีหลายโรงงานลงมาตลาดนี้ เป็นขาขึ้นของตลาด ชุมชนก็อยากจะทำ แต่ชุมชนมีผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่แล้วแต่ก็ยังไม่เหมือนโซจูเพราะโซจูคือข้าวที่ไม่เหลือกลิ่นข้าว อย่างสาโทนำมาแต่งสีแต่งกลิ่นอย่างไรก็ยังเป็นกลิ่นสาโทอยู่ เรายังทำให้เหมือนเขาไม่ได้เพราะเรายังขาดการพัฒนาอยู่ ขาดนักวิจัย นักพัฒนา จริง ๆ แล้วองค์ความรู้มีอยู่ตลอด แต่มีข้อจำกัด กฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย

อีกเรื่องคือเรื่องภาษี เกาหลีใต้เขาช่วยเรื่องภาษีด้วย โรงงานเล็กไปทำกับโรงงานใหญ่ได้ ส่วนไทยมีข้ออ้างทางภาษีว่าเก็บภาษีที่ผลิตในเมืองไทยพอ ๆ กับต่างประเทศ นอกจากภาษีที่เรทเท่ากับต่างประเทศแล้ว เรายังมีภาษีเพิ่ม อย่างบางหน่วยงานได้รับเงินจากภาษีสุราตรงนี้ 1.5 หรือ 2 % เพื่อเอาไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม แต่ในแง่ของคนทำสุรา ภาษีสรรพสามิตคือภาษีที่เราเสียให้รัฐบาลแล้ว เข้าไปยังกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง ก็แจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่เมื่อมีภาษีเพิ่ม มหาดไทย 10 % มี สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่เอาเงินจากเหล้าต้านเหล้า ทำให้ภาษีแอลกอฮอล์ของไทยเป็นภาระ ผู้ประกอบการบอกว่าภาษีไปขายเป็นราคาที่ลูกค้าซื้อ ฉะนั้น ภาระภาษีอยู่กับคนซื้อ ซึ่งก็ไม่เชิง เพราะถ้าบอกว่าจะขึ้นเท่าไหร่ก็ได้เพื่อเอากำไรเยอะ แฝงภาษีในนั้นให้ผู้บริโภครับผิดชอบ แต่ก็ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่ซื้อสินค้าไทย หันไปซื้อของต่างประเทศ

ตลาดสุราเสรี-เหล้าพื้นบ้านไทย พัฒนาอย่างไร?

เหล้าบ้านเรา ผู้ประกอบการเขาพัฒนากันมาเองเป็น 20-30 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ไม่ดัง ขายแบบน้ำซึมบ่อทราย ตอนเริ่มต้นได้บอกกันว่าถ้าจะทำเหล้าตลาดล่างราคาถูก กำไรต่อขวดน้อย คุณจะไม่สามารถพัฒนาได้ จะวนลูปไปเรื่อย ๆ

“ปัญหาสุราพื้นบ้านไทยคือการวนลูป ขายถูก-ได้กำไรน้อย-ได้เงินน้อย-ไม่มีเงินพัฒนาสินค้า สถานที่การผลิตก็ไม่ได้มาตรฐาน ได้สุราที่ไม่มีคุณภาพเลยต้องขายถูก วนไปเรื่อย ๆ ทางออกคือการทำสุราที่มีคุณภาพ อย่างน้อยคือแพ็กเกจสวย ตัวสุราไม่มีตำหนิ ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ รสไม่เพี้ยน”

ทำกำไรต่อขวดให้ดี เหนื่อยน้อยกว่า แต่ได้กำไรมากกว่า ลูกค้าซื้อซ้ำ ให้เกิดเป็นสังคมของคนทำสุราที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีพื้นบ้าน แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนา บ้านเรามีวัตถุดิบดีกว่าเกาหลีใต้ เรามีผลไม้สารพัดอย่างที่นำมาทำเหล้าได้ บ้านเรามีอ้อย ลิ้นจี่ ส้ม สัปปะรด ฯลฯ เพียงแต่ว่าพอมีกระแสการส่งเสริมสุราพื้นบ้านของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำให้ขายดีมากขึ้น หลายคนอยากจะมีไว้ เพราะเดี๋ยวขาดตลาด ต้องมีเก็บไว้ ทำให้คนที่ขายได้ทีละนิดตอนนี้เลยหมดโรงงาน กระแสสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลเป็นตัวทำให้เกิดสุราเหล่านี้ไหม คงไม่ใช่ เขาเกิดมานานแล้ว แต่นี่เป็นการส่งเสริมให้ขายได้ดีขึ้น อันนี้ยอมรับเพราะเห็นได้ชัดเจน พอเมื่อขายดีก็จะมีคนอยากขายบ้าง ตอนนี้มีคนสนใจการทำสุราเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ หากต่างคนต่างทำแบบไม่มีความรู้ จะเหมือนกระแสสาโทเมื่อก่อน ที่พากันล้ม ไวน์ผลไม้ที่พังลง เพราะเข้ามาแบบที่ไม่มีความรู้ เมื่อกลไกตลาดใครทำดีก็อยู่ได้ แต่ทำไม่ดีก็ต้องหายไป ตอนนี้ขอแค่อย่าขัดขวาง แต่ความจริงหรือมีแฝงอยู่ในกฎหมาย 2 ฉบับ ทั้ง การควบคุมการผลิตของสรรพสามิต และการควบคุมการจำหน่ายของสาธารณสุข 2 ฉบับนี้จะต้องมีการแก้ไข ก่อนหน้านี้มีความหวังขึ้นมาเมื่อ เราอาจจะมี ”สุราก้าวหน้า” ทุกคนในวงการสุราเลือกเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้ก็ต้องไปแก้ในสภาฯ อาจใช้เวลามากหน่อย แต่ถ้าได้เป็นรัฐบาลเรื่องนี้ก็จะเร็ว เพราะพอเป็นนโยบาย ก็แก้กฎกระทรวงลดอุปสรรคได้

แนวทางเหล้าไทยให้ไปไกลระดับโลก

ผศ.เจริญ มองว่า เราต้องทำเหล้าที่ดี ให้นักท่องเที่ยวได้พบเห็น มีเหล้าท้องถิ่นที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ อย่างเช่น กระบี่ ภูเก็ต เชียงใหม่ คนที่ไปจะเจอเหล้าที่ทำการสื่อสารกับผู้บริโภคได้บอกกันปากต่อปากไปสู่สากล ทำให้เห็นว่า มาเมื่อไทยต้องมากินเหล้าตัวนี้ เราคงต้องทำในประเทศก่อน กระแสนี้ทำให้คนบุกไปถึงโรงงาน-โรงกลั่น ต้องพัฒนาโรงกลั่นให้รับแขกได้ ผู้ประกอบการปรับโรงกลั่นให้สวยงาม โรงกลั่นต้องสามารถเข้าชมได้ มีที่นั่ง มีจุดให้ชิม พอมีการยอมรับในระดับคนไทยด้วยกันก็จะสามารถกระจายไปสู่ต่างชาติได้ การส่งประกวดตอนนี้มีปัญหาว่า พอส่งแล้วเอามาพูด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ไม่ได้ จะทำให้สุราไทยไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ได้ ต้องแก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนตัวมองว่าไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสุรา หรือการดื่มสุรา คนที่ดื่มเมาไม่ได้เป็นสุราที่มีเอกลักษณ์ เป็นสุราตลาด กินเอาเมา นี่ไม่ได้เป็นการควบคุมที่ได้ผล เป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มราชการมาวิ่งไล่ล่าเงินรางวัลนำจับ

ส่วน วรสิทธิ์ คิดว่าควรมองการดื่มใหม่ คนเกาหลีมองการดื่มเป็นวัฒนธรรม การดื่มจึงถูกฝังอยู่ในความคิด ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีขนาดนั้น สอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งกฎหมายการดื่มแล้วขับของเขาค่อนข้างแรงมาก ๆ เขาไม่ได้เน้นไปที่การเซ็นเซอร์ การแบน การห้าม แต่เน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ถ้ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้เขาสามารถเผยแพร่เรื่องของสุราต่อสาธารณชนได้มากขึ้น แต่ในบ้านเรากฏหมายอาจไม่ได้บังคับใช้จริงจัง เกาหลีใต้มองเรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัยต้องมาก่อน แต่จริง ๆ ที่ไทยก็คงทำได้เหมือนกัน เพราะไทยมีทรัพยากร กำลังคน มีฝีมือที่ดี แต่อาจจะยังขาดเรื่องผลักดัน ส่งเสริม

คงจะดีถ้าผู้ผลิตแอลกอฮอล์ไทยมีการแข่งขันที่เป็นธรรม  วลี “รวยกระจุก จนกระจาย” อาจจะเบาบางลง และ เหล้าพื้นบ้านไทยอาจโด่งดังไปไกลจนเป็น Soft Power ได้เหมือนกัน

อ้างอิง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"