เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่…ออกแบบชีวิตตัวเองได้

คำถามวันเด็ก นอกจาก “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แล้ว “วันเด็กเกิดขึ้นจากอะไรใครรู้บ้าง!”

การให้ความสำคัญกับเด็ก ผ่านการเฉลิมฉลองใน “วันเด็กสากล” หรือ Universal Children’s Day เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1954 โดย องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี

ส่วน “วันเด็กแห่งชาติ” ของไทย เริ่มต้นครั้งแรกในปีถัดมา ตรงกับจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ทำให้ในช่วงเริ่มต้นกำหนดให้วันเด็กตรงกับวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม แต่เพราะเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน อีกทั้งยังเป็นวันทำงานของผู้ปกครอง และมีปัญหารถติด ทำให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนวันเด็กแห่งชาติมาเป็นช่วงต้นปี ในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เพื่อย้ำว่าทุกภาคส่วนของประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรก ๆ

นอกจากเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น “วันเด็กแห่งชาติ” ของไทย ยังหวังกระตุ้นให้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ ปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม และเตรียมพร้อมเป็นกำลังของชาติ โดยไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศ ที่มีวันเด็ก

ขณะที่ “วันเด็กเกาหลี” เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 1920 ที่เหล่านักศึกษาเกาหลีและผู้นำทางสังคม ต้องการส่งเสริมและปรับปรุงสถานภาพทางสังคมของเด็ก ๆ และกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ให้ความรู้เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยที่ถูกลิดรอน หลังการได้รับอิสรภาพจากอาณานิคมของญี่ปุ่น

The Active ชวนมองจากจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์สู่ความสำคัญของวันเด็ก กับ ผศ.กรนภา บุญพิสุทธิ์ศิลป์ หัวหน้าสาขาเกาหลีศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.กรนภา บุญพิสุทธิ์ศิลป์ หัวหน้าสาขาเกาหลีศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากสงครามสู่ต้นกำเนิดความเป็นชาติ

ที่มาของวันเด็กเกาหลีมาจากช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่น ยึดครองคาบสมุทรเกาหลี เป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 1910 – 1945 นับเวลากว่า 35 ปี ในยุคนั้นญี่ปุ่นดำเนินนโยบายในเรื่องการต่างประเทศ กิจการต่าง ๆ ในเกาหลี ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นสตรี หรือว่าเด็ก โดยญี่ปุ่นมีแนวคิดที่จะลบล้างความเป็นเกาหลีหรือความเป็นชาติ ใครจะรู้ว่าจะมีวันที่เกาหลีได้ประเทศกลับคืนมา ฉะนั้น ในยุคนั้นญี่ปุ่นคิดว่าต้องการที่จะสร้างวัฒนธรรมญี่ปุ่นในเกาหลีหรือฝังรากลึกลงไปในนั้น ในตอนนั้นเองมีกลุ่มนักเคลื่อนไหว กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ถ้ามองง่าย ๆ ก็คือ ขบวนการเสรีเกาหลี คนกลุ่มนี้ได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และในกลุ่มนี้มี บังจองฮวาน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนเกาหลี เด็กในสังคมยุคนั้นอาจไม่ได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือเขาไม่ได้รับรู้ว่าความเป็นชาติเกาหลีของเขากำลังจะถูกกลืนกินไป เด็ก ๆ ก็ใช้ชีวิตสนุกสนานไปในทุก ๆ วัน  บังจองฮวานจึงมีแนวคิดที่จะปลูกฝังเยาวชนเกาหลีให้ได้ทราบถึงความเป็นตัวตน ความเป็นชาติเกาหลี แต่ไม่ได้สื่อสารแค่เพียงแต่กลุ่มเด็ก ๆ ว่าเรายังเป็นชาติเกาหลีอยู่

귀여운 자식 매로 키운다 (เลี้ยงลูกที่รักใคร่เอ็นดูด้วยไม้เรียว) VS รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี สะท้อนสิทธิเด็กในสังคมเกาหลีใต้และไทย

ถ้ามองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้หรือประเทศไทยก็มุ่งให้ความสำคัญกับเด็ก ส่งเสริมเรื่องสิทธิของเด็ก แต่ถ้าเราย้อนมองไปที่อดีต มีทั้งความเหมือนและความต่าง ทราบกันดีว่าสังคมเกาหลีคือสังคมอาวุโส ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาขงจื้อ คำว่าเด็กและผู้ใหญ่จะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน มีการระบุหน้าที่ว่าผู้ใหญ่จะต้องทำอะไร เด็กจะต้องทำอะไร หลักคิดแบบนี้จะส่งผลและสะท้อนให้กับสังคมเกาหลี ในอดีต เราจะเห็นว่าผู้ใหญ่สามารถสั่งหรือบังคับเด็กให้ทำอะไรก็ได้ เช่น การแต่งงานมีคู่ครองตามที่ได้กำหนดเอาไว้ ในอดีตสังคมเกาหลีเด็กจะถูกใช้ให้ไปทำงานเพื่อที่จะตอบแทนบุญคุณ หรือในยุคที่ญี่ปุ่นเข้ามา เด็กเกาหลีถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมากจากรัฐบาลญี่ปุ่น อาจจะเคยได้ยินว่าผู้หญิงจะถูกส่งไปทำงานด้านบริการ ผู้ชายจะถูกส่งไปทำงานในเหมือง ใช้แรงงาน หรือเกณฑ์ทหาร ซึ่งในกลุ่มนี้ทั้งหญิงและชายก็จะมีเด็กรวมอยู่ด้วย

ตัดภาพมาที่ไทยในอดีต สุภาษิตไทยก็ยังมีคำว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี สะท้อนสังคมไทยในอดีตว่า สิทธิเสรีภาพของเด็ก ๆ ยังไม่ได้มีความเข้าใจมากเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ทั้งไทยและเกาหลีใต้ มีพัฒนาการและกำลังร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลง สร้างเสริมสิทธิเสรีให้กับเด็กมากขึ้น

มรดกคำขวัญอาจไม่สำคัญเท่านโยบายส่งเสริมสิทธิและพัฒนาศักยภาพเด็ก

หากมองเดือนพฤษภาคมของเกาหลีใต้ เป็นเดือนที่สำคัญเดือนหนึ่งของประชาชนชาวเกาหลีใต้ เพราะมีทั้งวันเด็ก วันครู วันพ่อแม่ แต่วันที่เป็นวันหยุดราชการก็คือวันเด็ก วันเด็กเป็นวันที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน กิจกรรมวันเด็กในเกาหลีใต้ มีความใกล้เคียงกับประเทศไทย มีกีฬาสี ไปเที่ยวสวนสนุก สวนสัตว์ เน้นให้ครอบครัวได้มีการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน แต่ภาคส่วนราชการไม่ได้เปิดให้เข้าไปเยี่ยมชมเหมือนกับบ้านเรา เป็นวันที่ผู้ใหญ่อยากจะส่งความสุขให้กับเด็ก ๆ โดยเฉพาะสังคมเกาหลีที่เด็กมีความเครียดสูง เพราะเรื่องการแข่งขันทางการเรียน กิจกรรมส่วนใหญ่ที่จะเสริมสร้างความรู้ ความคิด ให้เด็กได้มองว่าอนาคตเขาอยากจะเป็นอะไร หรือการเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ เพื่อให้รู้ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร อีกทั้งแต่ละท้องถิ่นจะมีการจัดกิจกรรมให้มีความหลากหลายเพื่อเด็ก ๆ มากขึ้น

ที่เกาหลีใต้ไม่มีคำขวัญวันเด็กประจำปีเหมือนกับประเทศไทย แต่ว่ามีเพลงวันเด็ก ที่เด็กทุกคนจะร้องได้

และมีผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมาร่วมอวยพร ส่งความสุขให้กับเด็ก การจะมีคำขวัญหรือไม่มีคำขวัญ ไม่ได้สะท้อนหรือสร้างความแตกต่างมากนัก แต่การให้คำขวัญอย่างที่ไทยทำก็เล็งเห็นประโยชน์ เป็นการส่งสารให้กับเด็กว่าเขาจะต้องมีหน้าที่อย่างไร และผู้ใหญ่คิดกับเขาอย่างไร นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ส่งต่อไปยังเด็กได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้ความสำคัญกับเด็ก ตอบสนองโดยการสร้างนโยบายจนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ?

ไทยมีนโยบายส่งเสริมศักยภาพ “เด็ก” แล้วหรือยัง?

เกาหลีใต้มีนโยบายที่จะส่งเสริมศักยภาพของเด็กอยู่มาก ทั้งเป็นนโยบายของส่วนกลาง แต่ขอหยิบยกนโยบายของกรุงโซล ที่เป็นนโยบายเสริมสร้างศักยภาพของเด็ก ภายใต้คำขวัญของกรุงโซลที่ว่า “Seoul, my soul” เมืองแห่งจิตวิญญาณของทุกคน

กรุงโซลมีการวางแผนดำเนินนโยบายในเวลา 4 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวดด้วยกัน

  1. หมวดการมีส่วนร่วมและการให้เกียรติ
  2. หมวดการสร้างพื้นที่แห่งความสุข
  3. หมวดการเสริมสร้างความฝันและอนาคตของเด็ก
  4. หมวดเสริมสร้างความปลอดภัย
  5. หมวดสุขภาพจิตเด็ก

จากการที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เกาหลีใต้ ที่เกาหลีใต้จะมีรถห้องสมุดเคลื่อนที่ ซึ่งเด็กสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นี้ได้ จากตัวอย่างจะเห็นว่าเกาหลีมุ่งที่จะใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมศักยภาพ ไปพร้อม ๆ กับการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กให้เติบโตและพัฒนาได้

สังคมเกาหลีใต้ เด็กจะได้รับการส่งเสริมในหลายด้าน สังเกตได้จากเด็กจะมีความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกีฬา หรือดนตรี เมื่อเด็กเล็กเลิกเรียนแล้ว จะมีรถบัสของโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนสอนเปียโน โรงเรียนสอนเทควันโด มารับ ผู้ปกครองจะฝากเด็ก ๆ ไปกับโรงเรียนเหล่านี้ตามสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งปัจจุบันการกีฬาของเกาหลีใต้ก้าวหน้ามาก เพราะเขาปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เน้นย้ำคือเรื่องสังคมปลอดยาเสพติด เด็กเกาหลีใต้จะไม่ถูกคุกคาม หรือถูกทำร้ายจากเรื่องยาเสพติด ถ้าเราจะพัฒนาเด็กไทย อันดับแรกจะต้องปราบเรื่องยาเสพติดให้หมด และช่วยกันส่งเสริมศักยภาพด้านกีฬาหรือดนตรี

เกาหลีใต้ค่อนข้างที่จะพร้อมและให้สิทธิเด็กได้อย่างดี แต่เกาหลีใต้ยังมีการที่ผู้ใหญ่บังคับให้เด็กเรียน ใช้เวลากับการเรียนมากจนเกินไป โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย คือ มีความกดดัน การฆ่าตัวตาย นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ควรปรับเปลี่ยน

ส่วนการให้ความสำคัญและสิทธิของเด็กไทย สิ่งสำคัญคือการเข้าถึงการศึกษา ถ้ามองในเมืองไทยมีเด็กเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ หรือสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษา เพราะที่ไทยมีเด็กที่ยังตกหล่นจากระบบการศึกษา ที่อาจจะมาจากสภาพทางเศรษฐกิจ และครอบครัว  หากเราแก้ปัญหาและให้การศึกษาได้อย่างเท่าเทียมแล้ว เราคงจะต่อยอดไปถึงเรื่องการพัฒนาทักษะ ศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา หรือความสามารถทางด้านอื่นๆที่เด็กมี ควรจะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่จะต้องเข้าไปส่งเสริม หรืออาจจะมีกลุ่มคนที่ต้องเข้าไปพูดคุยกับเด็กเพื่อที่จะดึงศักยภาพ พร้อมช่วยให้คำปรึกษา เพราะบางครั้งเด็กเองก็ต้องการที่พึ่ง จึงควรมีหน่วยงาน องค์กรหรือภาครัฐ ให้กลุ่มนี้สามารถเข้าไปช่วยให้ความรู้ คำแนะนำเพื่อให้เด็กสามารถต่อยอดศักยภาพ ต่อยอดอนาคตของพวกเขาได้

เริ่มต้นจากเข้าใจ รับฟัง ร่วมสร้างอนาคตเด็กไทย

ทุกภาคส่วนสามารถเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสอดส่องดูแล สร้างสิทธิให้กับเด็กได้ เริ่มได้ง่าย ๆ ก็เริ่มจากครอบครัวก่อน อันดับแรกจะต้องเข้าใจสิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน 4 ประการก่อน

สิทธิที่จะมีชีวิตรอด, สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา, สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิในการมีส่วนร่วม 

ถ้าเราเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ ในครอบครัวจะไม่มีการลิดรอนสิทธิเด็ก สามารถสร้างความสุข สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ได้ และต่อยอดไปถึงการพัฒนา การให้ความรู้ ให้การศึกษา ให้อิสระกับเด็กไปจนถึงการให้เขามีส่วนร่วม เยาวชนควรมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น เด็กสามารถที่จะบอกได้ว่าเขาอยากทำอะไรหรือไม่อยากทำอะไร อยากให้สังคมเป็นแบบไหน หรือเราควรให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการในทุก ๆ การสร้างสังคมของเรา

เด็กทุกคนมีศักยภาพมีจิตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความฝันของเขา เพียงแต่ว่าในสังคมปัจจุบันยังไม่ได้ถูกสะท้อนออกมา ถ้าจะเริ่มต้น ควรเริ่มต้นจากการฟัง ฟังว่าสิ่งที่เขาต้องการจะเรียนรู้และเป็นประโยชน์กับเขา แท้จริงแล้วคืออะไร ข้อมูลเหล่านี้ นักจัดการศึกษา ผู้บริหารระดับกระทรวงศึกษาธิการ ควรนำเอาเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ มาใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้ง 100 เสียง จะต้องทำให้เด็กทั้ง 100 เสียงนี้ แต่ต้องมองภาพรวมให้ได้ว่า เด็กไทยไปในทิศทางไหน รายวิชาหรือหลักสูตรแบบไหนที่จะเหมาะสมกับเยาวชนไทย

โตขึ้นอยากเป็นอะไร?

เด็กเป็นทรัพยากรที่ทุกคนต้องช่วยกันพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา ศักยภาพ ความสามารถพิเศษ รวมไปถึงด้านสุขภาพจิตใจ แต่ไม่ว่าผู้ใหญ่อยากจะให้เด็กเติบโตไปในทิศทางไหนแต่เราอย่าลืมว่า เด็กก็คือเด็ก เด็กจะต้องมีพื้นที่ มีเวลาที่เขาจะต้องได้เล่น ได้เรียนรู้ตัวตนของเขา เพราะนี่เป็นพื้นที่และเวลาที่ให้เขาเรียนรู้ สร้างสรรค์ เด็ก ๆ ต้องรู้ความต้องการของตัวเองก่อน เขาถึงสามารถมีความมั่นใจ แสดงออก และขับเคลื่อนสังคมได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็ก ๆ บอกว่าไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่รู้ความฝันของตัวเอง นั่นหมายความว่าภาพที่เขาเห็นยังไม่เพียงพอ จากประสบการณ์ที่เคยไปสอนเด็ก ๆ ที่ดอย หากเราถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบมีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ทหาร ตำรวจ ครู เพราะว่าเขามีข้อมูล หรือเห็นเพียงไม่กี่อาชีพ เมื่อไหร่หากเราพบเด็กที่บอกว่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร นั่นคือข้อมูลของเขาอาจจะยังไม่เพียงพอให้ตัดสินใจ เราจะต้องส่งเสริมประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูล การให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม หรืออาจจะเป็นการจำลอง เพื่อให้เขานำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจว่าโตขึ้นว่าเขาอยากเป็นอะไร

ท่ามกลาง “วันเด็ก” ที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับเยาวชนและเด็ก ๆ ประวัติศาสตร์ของ 어린이날 (วันเด็กเกาหลี) ที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญ และการเปลี่ยนแปลง “วันเด็ก” 1 วัน จาก 365 วัน ความสุข ความสำคัญของเด็กที่เป็นอนาคตของชาติไม่ควรจบเพียงแค่ 1 วัน และ “ผู้ใหญ่” เคยถามพวกเขาหรือไม่ ว่า เด็ก…อยากมีอนาคตแบบไหน?

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชาลี คงเปี่ยม