บทบาท “คนจน” ที่สวมมาตลอดชีวิต
หากเอ่ยถึง รางวัลนาฏราช การประกาศผลรางวัลยอดเยี่ยมด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดโดย สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภาพจำที่ทุกคนจำได้ คงเป็นรางวัลที่มอบให้ดาราเจ้าบทบาท ทั้งที่จริง ๆ แล้ว รางวัลนาฏราชยังมีประเภทรางวัลหลากหลายที่มอบให้วงการสื่อมวลชน โดยให้คนที่ทำงานตัวจริงในวงการเป็นผู้พิจารณา
การมอบรางวัลประจำปี 2564 ที่มอบกันในเดือนกันยายน ปี 2565 มีถึง 36 รางวัล รวมถึง สารคดีคนจนเมือง ตอน ซอกหลืบเยาวราช ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ที่ได้รับรางวัล “สารคดียอดเยี่ยม”
“สารคดีคนจนเมือง” เปิดให้เห็นแผลลึกของสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ผ่านชีวิตของ ตาไหม หรือ ทองคูณ โพสลิต เจ้าของต้นเรื่อง ทีมผู้ผลิตสารคดีเชิญตาไหมมาร่วมรับรางวัล ในโอกาสที่สมาพันธ์ฯ นำรางวัลมามอบให้ถึงที่ เนื่องจากปีนี้งดจัดงานเพราะสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ตาไหมมาในชุดที่แกบอกว่า “ไม่ค่อยได้แต่งแบบนี้มากนัก” ปกติใส่เสื้อกล้ามกางเกงเก่า ๆ เดินเก็บของเก่าแถวเยาวราช
รู้จักรางวัลนาฏราชไหม? เราถามตาไหม ระหว่างรอการรับรางวัล
ตาไหมตอบทันทีว่า “ไม่” แต่เมื่อเราอธิบายต่อว่า รางวัลที่เขามอบให้ดารา ภาพจำของตาไหมที่มีต่อรางวัลนาฏราชชัดเจนขึ้น ก่อนจะร้อง อ๋อ! “เคยเห็นแต่พวกดาราเขาขึ้นไปรับ แต่คนจนเมืองมารับได้ยังไง ก็งงอยู่เหมือนกัน” (หัวเราะ)
ก่อนหน้านี้ สารคดีคนจนเมืองเคยได้รับรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2564 จาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล มาแล้ว
2 รางวัลระดับประเทศ นี่อาจเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพและความเข้มข้นของเนื้อหา
ในมุมมองของตาไหมมองว่า เพราะความจนที่ฉายผ่านชีวิตของแกไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง “เราพูดความจริง เราให้เขาไปถ่ายที่บ้านของจริง ไม่ได้พูดเรื่องโกหก เราจนจริง ๆ ไม่มีที่จะไป”
แต่หากฟังในมุมของ วัชระ แวววุฒินันท์ รักษาการ นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ บอกสั้น ๆ ขณะที่นำรางวัลมามอบให้กับทีมผู้ผลิตสารคดีถึงไทยพีบีเอส ว่า “สารคดีคนจนเมือง มีเนื้อหาโดดเด่น มีความยากในการถ่ายทอด และหากเนื้อหามีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก็น่าจะเป็นมุมมองหนึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งเราก็เปิดกว้างโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่หากสร้างผลกระทบกับสังคมได้ นี่เป็นสิ่งที่คนทำงานสื่อต้องการทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสารคดี ข่าว รายการ หรือแม้แต่ละคร”
ส่วน ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ส.ส.ท. ผู้ผลิตสารคดี พูดถึงเป้าหมายของการผลิตสารคดีคนจนเมือง ซึ่งทำออกมาต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 ว่ารางวัลที่ได้รับยืนยันว่าเรื่องราวที่เล่าได้รับการยอมรับ ทั้งเนื้อหาสาระ มีความหมายต่อสังคม ปัญหานี้มีความซับซ้อน แต่สารคดีค่อย ๆ เล่าข้อเท็จจริงในมิติต่าง ๆ ให้คนดูค่อย ๆ รับรู้ รู้สึก ซึ่งมีผลต่อการสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย
“หากความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ที่เอื้ออาทรต่อกันยังทำงานได้อยู่ ปัจจุบันจะเห็นว่าปัญหาคนจนเมือง เป็นปัญหาที่เราต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วยกัน เราหวังว่าอย่างนั้น ถึงได้ผลิตออกมาถึงซีซั่นที่ 3 แล้ว ยังพบคนจนเมือง เรื่องราวมิติอื่น ๆ อีกมากมาย ผลิตไปก็คิดว่าจะมีทางออก หรือทางแก้ปัญหาเพื่อออกจากความยากจนได้ยังไง ถึงจะทำทุกรัฐบาล หากไม่จริงจังต่อเนื่อง ก็ยากที่จะหลุดพ้น โดยเฉพาะรุ่นลูกหลานของพวกเขา”
ณาตยายังบอกอีกว่า รางวัลถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติแก่คนทำงานที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่ไม่เคยมีปากมีเสียง เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย แม้คนจนไม่หมดไป แต่อย่างน้อยพวกเขาต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เป็นบทบาทของสื่อสาธารณะอยู่แล้ว”
อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ขยายประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า การได้รับรางวัลนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าเสียงของพวกเขาดังขึ้นและมีคนได้ยิน แต่จะทำอย่างไรต่อให้ปัญหาได้รับการคลี่คลาย
“สารคดีทำให้เสียงที่ไม่เคยได้ยินถูกบอกกล่าวออกมา เสียงของคนที่ไม่เคยมีปากเสียงในสังคมดังขึ้น แสดงว่าสังคมตระหนักว่าควรแก่การรับฟัง เราควรฟังร่วมกัน และแก้ปัญหา เราเชื่อว่าเสียงเหล่านั้นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง”
วันนี้ตาไหมอาจเป็นตัวแทนของคนจนเมืองที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่คนจนทุกคนจะขี้เกียจ และแม้ว่าจะทุ่มเทแรงกายทั้งชีวิต ก็ไม่อาจจะการันตีได้ว่าวันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ เรากำลังหลงลืมคนเหล่านี้หรือไม่ ความจนของพวกเขา เราช่วยได้? หรือเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของรากปัญหานี้?
ตาไหม…ยังคงทำงานหนักทุกวัน ต่างเพียงแค่วันนี้ แรงของแกอ่อนล้าลงทุกที
“เจ็บเข่าที่ลื่นล้ม เดินขึ้นบันไดแบกของไม่ได้เหมือนเดิม มันเจ็บ ซื้อยามาทาแล้ว แต่ไม่ได้ไปหาหมอ”
ตาไหมกำลังจะไม่มีบ้านอยู่ เพราะเจ้าของที่ไม่ต่อสัญญาเช่า เขาบอกว่าอาจต้องไปอาศัยศาลเจ้าอยู่ จนกว่าจะหาห้องเช่าได้ ตาไหมบอกว่าจ่ายไหวเดือนละ 1,000 บาท แต่ห้องเช่าที่มีคนเสนอให้เช่าในละแวกเดิมราคาถึงเดือนละ 3,000 บาท
“ผมอยากอยู่ที่นี่ เพราะหลานที่เขาไปเรียนประจำกลับมา เขาจะไม่เจอ แล้วเราก็เดินเก็บของเก่าที่นี่ ไปไหนมาไหนคนก็รู้จัก ปลอดภัย”
อะไรที่ทำให้ตาไหมกลายเป็นคนจน? ตาไหมอยากกลับไปแก้ไขอะไรหรือไม่
ตาไหมบอกกับเราว่า “ไม่มี”
ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอหน้าพ่อหน้าแม่ อายุ 10 กว่าขวบก็ออกมาเร่ร่อน เมื่อมีครอบครัวก็ถึงได้ลงหลักปักฐานหากินแถวตลาดน้อย ย่านเยาวราช จนชีวิตล่วงเลยมาถึงวัย 62 ปี และแกรู้สึกว่าไม่เคยประสบผลสำเร็จอะไรสักอย่างในชีวิต
หากเลือกได้ ตาไหมกลับไม่อยากเปลี่ยนบทบาท “คนจนที่สวมมาตลอดชีวิต” เพราะคนจนมี “อิสระ” และตราบใดที่ลูกเมียมีข้าวกิน มีที่ซุกหัวนอน มีงานทำ แม้จะจน…แต่แค่นี้ชีวิต…ก็มีความสุขแล้ว