“อยากเปิดร้านอาหารของตัวเอง ร้านอาหารตามสั่ง เค้กก็ได้ มีหลาย ๆ อย่างในร้านเดียวกัน
ขายในที่ของตัวเอง มีบ้านของตัวเอง บ้าน 2 ชั้น 3 ห้อง สำหรับพ่อแม่ พี่ชาย
มีลานจอดรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถเข็นของพ่อ”
สำหรับคนทั่วไป นี่อาจไม่ใช่ความฝันที่วิเศษเลิศเลอ แต่สำหรับ “ปูแป้น” เธอฝันอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองและเห็นคนในครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อันที่จริงแล้ว นี่ควรจะเป็นชีวิตพื้นฐานทั่วไปที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี แต่สำหรับปูแป้นความฝันอันแสนธรรมดา…แต่หนทางยาวไกล
ชีวิตจริงของเด็กสาววัย 17 ปี มีภาระในแต่ละวันไม่ธรรมดา เธอตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์นานกว่า 10 ปี และยังมีโรครุมเร้าอื่น ๆ ทั้งเบาหวาน ไขมัน ความดัน หัวใจตีบ สมองตีบ ต้อกระจก ก้อนเนื้อในนม ไทรอยด์ กระดูกทับเส้น และหัวใจโต
“แม่กินยาวันหนึ่งเกิน 10 เม็ด ต้องตื่นตี 4 ครึ่ง ลุกขึ้นมาดูแลแม่ แล้วก็ซื้อโจ๊ก พาแม่อาบน้ำ ถ้าเป็นวันหยุด ดูแม่เสร็จก็มาตั้งร้านที่สวนลุมฯ ถ้าเป็นวันไปเรียน ซื้อโจ๊กซื้อข้าวให้แม่ แล้วก็ไปเรียน”
ความเจ็บป่วยของแม่ทำให้ปูแป้นไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามวัยและยังต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ แถมหยุดเรียนบ่อยเพราะต้องพาแม่ไปหาหมอ บางครั้งหยุดไปขายของแทนพ่อ ช่วงโควิด-19 ระบาด ที่ต้องเรียนออนไลน์ เธอต้องนั่งเรียนข้างถนน ขายของไปด้วย เวลาส่วนใหญ่ของปูแป้นจึงหมดไปกับภาระครอบครัว
“เรียนอยู่ ม. 5 โรงเรียนสายปัญญา ตก 15 วิชา ครูสอนรู้เรื่องแต่ไม่ค่อยเข้าใจ ไม่พร้อม ถนนก็เสียงดัง ลูกค้ามาซื้อของก็ต้องขายของไปด้วย การบ้านทำไม่ทัน เพราะกลับบ้านไปก็ต้องดูแลแม่ จัดการแม่อาบน้ำนอน กว่าจะได้ทำก็ 4 ทุ่มกว่าแล้ว รู้สึกทำไม่ไหว ง่วง เลยต้องนอน”
พ่อของปูแป้นเป็นคนจังหวัดหนองคาย มาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ปี เมื่อไม่มีที่ไป ก็อาศัยสวนลุมฯ เป็นทั้งที่ทำมาหากินและหลับนอน จนกระทั่งมาเจอกับแม่ของปูแป้นซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิด ก่อนจะยึดอาชีพค้าขายริมถนนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องพออยู่ได้ตามอัตภาพ ซึ่งครอบครัวของปูแป้นอาศัยทำมาหากินมาแล้ว 3 รุ่น นับตั้งแต่รุ่นตา ยาย จนถึงรุ่นแม่ และหลาน แต่พอมีการจัดระเบียบสวนลุมฯ และพื้นที่สาธารณะ ส่งผลให้การค้าขายริมทางของพ่อและแม่ปูแป้นพลอยได้รับผลกระทบ สูญเสียพื้นที่ทำกิน ยิ่งแม่ของปูแป้นล้มป่วย ประกอบกับสถานการณ์โควิดช่วง 3 ปีมานี้ 4 คน พ่อแม่ลูกที่พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดในเมืองหลวงยิ่งลำบากมากขึ้น
“ต้องปากกัดตีนถีบ หากินอยู่สวนลุมฯ มาตั้งแต่เด็ก จนป่านนี้แล้วเราจะไปหาที่ไหน เขาถึงบอกว่าช่องว่างของคนรวยกับคนจนมันเยอะ ยิ่งเจริญเรายิ่งหากินลำบาก เมื่อก่อนหาเงิน อย่างน้อยก็ 2,000 บาท โอ้โห! ตอนนี้ลำบากมากเลย คนจนมีแต่จนลง ๆ ถ้ายิ่งเจริญเท่าไหร่ยิ่งจนลง ๆ เพราะเราหากินไม่ได้หรอกถ้าเจริญ ต้นทุนเราสู้เขาไม่ได้”
พ่อของปูแป้น
เงินจากการขายของทั้งสองร้าน ต้องเก็บไว้จ่ายหนี้รายวันให้กับเจ้าหนี้หลายราย ที่เหลือเอาไว้ลงทุนสำหรับวันต่อ ๆ ไป แต่ถ้าไม่พอก็จะกู้ใหม่ แล้วก็กลายเป็นหนี้ทบต้นทบดอก ไม่ใช่แค่เงินทุนค้าขายที่ต้องหยิบยืมมาหมุนเวียน แต่ค่าเช่าห้องเดือนละ 4,500 บาท ห้องเช่าเล็ก ๆ ในแฟลตบ่อนไก่ย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ที่คนหาเช่ากินค่ำพอจะเอื้อมถึง แต่บางเดือน ยังต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ
แต่ถึงอย่างไร ปูแป้นก็ชอบที่นี่ และความผ่อนคลายเดียวของปูแป้นที่มี คือ การได้นอนพักอยู่ในห้องเช่าเล็ก ๆ มองดูตึกใหญ่ระฟ้าผ่านลูกกรงหน้าต่างของห้อง แสงไฟที่ประดับประดา ตึกสว่างไสว ชวนสงสัยถึงความสามารถของการรังสรรค์ตึก หากละสายตาจากตึก ยังสามารถมองเห็นสวนเบญจกิติ สวนสาธารณะคนเมือง ที่แม้ปูแป้นจะอยู่ใกล้ แต่ก็ไม่เคยไป ไม่รู้จักแม้แต่ชื่อ
ชีวิตครอบครัวคนจนเมืองที่มีความเปราะบางซ้ำซ้อน ทั้งปัญหาที่ค้าขาย ความเจ็บป่วย และที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เป็นความจริงรอบตัวที่ทำให้เด็กวัยเรียนอย่างปูแป้นเสี่ยงที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา แม้ว่าพ่อและแม่ของปูแป้นจะรู้ดีว่าการศึกษาเป็นหนทางที่พอจะช่วยให้ลูกไม่ต้องมีชีวิตที่ลำบากเหมือนรุ่นพ่อแม่ แต่ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่บีบรัดตัว แม้ดิ้นรนทำงานหนักทุกวัน ประหยัดอดออม แต่ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้
“ถ้าพ่อตาย แม่ตาย ลูกมีความรู้ ถึงว่าเรียนไม่เก่ง แต่มีวุฒิใบเดียวก็ยังไปทำมาหากินจะได้ไม่ลำบาก อย่างลูกคนโตเขาเป็นคนเก่งอยู่แล้ว ความรู้รอบตัวเขาเยอะ แต่คนเล็กมันเหมือนเพิ่งเดินลงสนาม ถ้าแม่มีเงิน ลูกก็ดี ไม่ลำบาก ตอนนี้แม่ไม่มีเงิน ลูกต้องทำทุกอย่าง”
แม่ของปูแป้น
ฝันของปูแป้น คือ มีบ้าน มีร้านที่ไม่โดนไล่ มีรายได้เลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ เธอเชื่อว่าการเรียนให้จบ ม.6 และได้เรียนต่อในสิ่งที่เธอชอบ จะนำพาไปสู่ความฝันนั้นได้ แต่ชีวิตในแต่ละวันที่ริมถนนพระรามสี่กลางมืองใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เป็นความจริงที่ทำให้ความฝันของปูแป้นยากที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้
ฝันของปูแป้นกำลังบอกอะไรกับสังคมไทย
นี่เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งในสารคดีคนจนเมือง ซีซัน 3 ตอน ”ความฝันของปูแป้น” ฝันของปูแป้นกำลังบอกอะไรเกี่ยวกับเด็กเปราะบางในสังคมไทย และนอกจากปูแป้น ยังมีเด็กอีกมากแค่ไหนที่กำลังเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกันนี้
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นิยาม “ความเปราะบาง” พิจารณาจาก 3 เรื่องหลัก คือ รายได้ สุขภาพ และการศึกษา แตกต่างจากการนิยาม ”ความจน” ที่แม้ปัจจุบันจะนิยามในมิติที่หลากหลายมากขึ้น ทั้ง รายได้ การศึกษา ที่อยู่อาศัย สุขภาพและการเข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่ไม่ใช่ว่าคนจนทุกคนจะเปราะบาง หากปัญหาไม่ได้ซ้อนทับในหลากหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานและการลงทะเบียนจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อตามหาคนจน จากการสำรวจปี 2565 พบว่าจาก 36 ล้านครัวเรือน มีครอบครัวยากจน 3.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนจนเป้าหมายราว 1,002,000 คน ที่ระบุในฐานข้อมูลของ TPMAP ขณะที่ข้อมูลของกรุงเทพมหานครยังไม่อยู่ในระบบนี้เนื่องจากช่วงที่มีการสำรวจจัดทำ มีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนของหน่วยงาน ทำให้ฐานข้อมูลของกรุงเทพมหานครจึงเป็นพื้นที่เดียวที่ตกหล่น หากใช้การเปรียบเทียบสัดส่วนเพื่อคาดการณ์คนจนในเมืองหลวงจากจำนวนประชากรทั้งหมด ไม่รวมประชากรแฝง ที่มีอยู่ราว 5.5 ล้านคน คาดว่าจะมีคนจนอยู่มากกว่า 1.4 ล้านคน
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข นิยามความเประบางในมิติด้านสุขภาพ ข้อมูลปี 2564 พบกลุ่มคนเปราะบางด้านสุขภาพ 15,566,847 ล้านคน เป็นคนยากจน มีรายได้น้อย 8.2 ล้านคน และ 3 อันดับแรกของกลุ่มโรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และการบาดเจ็บจากการทำงาน
น่าเสียดายที่การเก็บรวบรวมฐานข้อมูลครอบครัวคนเปราะบางของหน่วยงานไทยอาจจะยังไม่ครอบคลุม หรือการระบุตัวเลขที่ชัดเจนว่าครอบครัวเปราะบางในมิติตามที่กล่าวมานั้น มีมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่พอมีข้อมูล ก็พอจะฉายให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหานี้ได้
3 จุดเปลี่ยน…สานฝันปูแป้นให้เป็นจริง
ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมสภาการศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคมไทย ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เห็นปัญหาและทำงานกับครอบครัวลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับชมสารคดีคนจนเมืองเรื่อง “ความฝันของปูแป้น” เห็นว่าเคสนี้เป็นเคสวิกฤตที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เพราะมีปัญหาชัดเจน การช่วยปูแป้นให้หลุดพ้นจากวังวนความยากจนข้ามรุ่นมีจุดเปลี่ยนสำคัญสามเรื่องที่ต้องทำ 1) เริ่มจากการหาที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย 2) หาอาชีพรายได้ให้มั่นคงเพื่อออกจากวงจรหนี้สิน และ 3) สุขภาพของแม่ต้องพึ่งนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ซึ่งมีให้บริการในโรงพยาบาลทุกสังกัด 1,500 คน
“นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์จะดูสภาพแวดล้อมนอกเหนือจากสุขภาพ ดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางและยังมีเงินช่วยเหลือ เป็นผู้จัดการเคสติดตามดูแลต่อเนื่อง”
นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จะเข้ามามีบทบาทและทำงานคล้ายกับอาสาสมัครที่เราคุ้นเคยอย่าง อสม. อสส. อพม. ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะร้องขอการใช้บริการนี้ได้ โดยแจ้งที่ระบบคัดกรองสิทธิ์ของโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือผ่านทางแพทย์ที่ทำการรักษาก็ได้เช่นกัน แต่จำนวนของผู้ให้บริการมีอัตราส่วน 1:25,000 คน ดังนั้น บริการแบบนี้จึงขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของแต่ละเคสด้วย
นอกจากนี้ยังมีช่องทางของการขอคำปรึกษาผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1330 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ อาชีพ หนี้สินนอกระบบ ฯลฯ แต่บริการนี้ก็ประสบกับข้อจำกัดเดียวกัน คือ ปัญหาเร่งด่วนจะได้รับการช่วยเหลือก่อน ดังนั้น หากโทรไปแล้วต้องรอ ขอให้เข้าใจว่าบุคลากรและเรื่องมีล้นมือมากว่าระบบรองรับ แต่อย่างน้อยนี่คือกลไกการช่วยเหลือที่พอจะมองเห็นความเป็นไปได้
“หลักการทำงานผ่านระบบเหล่านี้ ต้องพึ่งเครือข่าย ท้องถิ่น เคสเยอะ จัดลำดับความสำคัญที่มีความเร่งด่วนก่อน บางเรื่องวิกฤตต้องได้รับคำตอบภายใน 1-2 ชั่วโมง บางเคสติดเงื่อนไขอำนาจทางกฎหมาย ต้องพึ่งสหวิชาชีพต้องทำงานอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ”
ศาสตราจารย์ระพีพรรณ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ครอบครัวเปราะบางไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้น และการที่เด็กจากครอบครัวเหล่านี้จะสามารถหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นได้ รัฐบาลต้องมีแผนและมองไปให้ไกลกว่า 10 ปี ข้างหน้า
“ถ้ายังไม่มีแผนและนโยบายสำหรับเด็กรุ่นนี้ จะกลับเข้าสู่วงจรความจนข้ามรุ่น ต้องมีแผน นโยบาย ทำงานต่อเนื่องมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เพื่อวางระบบและกลไกให้ชัดเจน”
อาจารย์ยังทิ้งท้ายว่า แม้ครอบครัวปูแป้นจะยากจน เปราะบาง แต่ยังมีต้นทุนซึ่งอาจารย์สัมผัสได้จากแววตาที่ฉายผ่านสารคดี “ความรัก ความหวัง” ที่ส่งต่อกันอย่างเอื้ออาทร เป็นพลังที่พวกเขามอบให้กัน