สงขลา เป็นเมืองสองทะเล ด้านนอกติดทะเลอ่าวไทย ด้านในติดทะเลสาบสงขลา
400 ปีก่อน ที่นี่คือ “ซิงกอรา” เมืองท่าสำคัญของทะเลฝั่งตะวันออก เรือสินค้าจอดเรียงรายพักรอลมมรสุมพัดผ่านไป
สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม อธิบายอดีตอันไกลโพ้น เพื่อให้เห็นภาพคนงานในเรือปีนขึ้นลง ซ่อมใบเรือให้พร้อมใช้งาน เรือสินค้าลำใหญ่โตมาแวะพักเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่นี่ ก่อนจะถูกส่งต่อยังเมืองจีน
50 ปีก่อน ที่นี่คือ “ความหวังใหม่” ของอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2525) กำหนดให้สงขลาเป็นเมืองหลักในภูมิภาค มีการจัดตั้งสถานีประมงทะเลขึ้นมาใหม่ 2 แห่งที่สงขลา และภูเก็ต ตามนโยบายพัฒนาภาคใต้ มีองค์การสะพานปลาและองค์การห้องเย็นคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจประมงในสงขลา แรงงานจากจังหวัดใกล้เคียงหลั่งไหลเข้ามาบุกเบิกที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ ลงหลักปักฐานเพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่ารออยู่ แต่แล้วเมืองสงขลาก็ซบเซาลง จนอยู่ในภาวะหลับไหล เมื่อความเจริญค่อย ๆ ย้ายไปสู่หาดใหญ่แทน
10 ปีก่อน ที่นี่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้กำหนด ‘พื้นที่เมืองเก่าสงขลา’ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ปลุกผู้คนในเมืองให้เห็นความสำคัญของย่านมรดกทางวัฒนธรรมศิลปะ อาคารบ้านเรือนโบราณที่ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ชาวเมืองร่วมใจกันก้าวไปสู่การเป็นเมืองมรดกโลก
และในยุคของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 สงขลาเป็นหนึ่งในสิบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียน จึงมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่มีแผนในการสร้างเส้นทางในสงขลา 2 เส้นทาง คือ 1. เส้นทางสุราษฎร์ธานี-สงขลา 2. เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์และมอเตอร์เวย์
จากเมืองอุตสาหกรรมประมง ผันตัวไปเป็นเมืองท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบ คนตัวเล็กตัวน้อยที่เคยเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของเมืองกลับกลายเป็น “ส่วนเกิน” ในบ้านที่พวกเขาร่วมสร้างขึ้นมา
ฟันเฟืองที่ถูกลอยแพ
ทศวรรษ 2500 ธุรกิจประมงพาณิชย์และประมงต่อเนื่อง เริ่มเติบโต เป็นธุรกิจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์เรือ เครืองมือจับสัตว์น้ำทางทะเล รวมไปถึงการกู้เงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานห้องเย็น โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการรองรับธุรกิจประมงพาณิชย์ อุตสาหกรรมประมงดึงดูดแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแรงงานจากเมืองรอบนอกสงขลาเข้ามาทำงานในเมืองสงขลา ความเฟื่องฟูของธุรกิจประมงดึงดูดแรงงานเข้ามาจำนวนมาก มีชาวบ้านในชุมชนแออัดจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นแรงงานประมง และเป็นแรงงานของธุรกิจประมงต่อเนื่อง เช่น งานแล่หมึก ปอกกุ้ง ขูด/คัดปลา เป็นต้น
พูดได้ว่า เรือประมงในจังหวัดสงขลามีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ เมื่อปี 2539-2540 กรมประมงคาดว่ามีเรือประมงพาณิชย์ที่สงขลามากถึง 1,300 ลำ มีทั้งเรือขนาดเล็ก และเรือขนาดใหญ่ แต่ขณะนี้ กว่าครึ่ง จอดนิ่งสนิทอยู่กับฝั่ง รอวันผุพังอย่างซังกะตาย เจ้าของเรือจำนวนมากยอมเลิกกิจการ เพราะผลพวงจาก “ใบเหลือง” ที่สหภาพยุโรป (EU) มอบให้รัฐบาลไทยเป็นการเตือนอย่างเป็นทางการ ต่อการทำประมงผิดกฎหมาย และซ้ำร้ายเมื่อรัฐบาล คสช. เร่งรัดออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด เพื่อให้ “ใบเหลือง” ถูกปลดออก แต่ก็กลับทำลายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของไทยทุกระดับแทน
‘ลุงเปลี่ยน’ ในวัย 60 ปี คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ จากที่เคยใช้ชีวิตกลางคลื่นลมมาตั้งแต่อายุ 17 ปี หลังจากย้ายถิ่นฐานมาจากนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นลูกเรือประมงในสงขลา เติบโตและเรียนรู้การเดินเรือจนเป็นไต้ก๋งมีลูกน้องมากถึง 33 คน ทำงานทั้งเช้าเย็น รายได้ไม่ขาดมือ แต่ทุกวันนี้ต่างคนต่างต้องแยกย้ายกลับบ้านเกิด จากการเป็นไต้ก๋งเรือ ขณะนี้ ‘ลุงเปลี่ยน’ คอยรับเหมาขึ้นเศษปลาจากเรือประมงไปส่งโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ รายได้ไม่มากนัก แต่เขาไม่มีทางเลือกอื่น ในเมื่อการกลับบ้านเกิด ไม่ใช่คำตอบของชีวิตสำหรับคนที่จากบ้านมาทั้งชีวิต
“ลำพังตัวผมไม่มีกินไม่ว่า แต่ผมสงสารลูก ผมต้องดูแลหลายชีวิต ต้องทำ เพื่ออยู่ได้กินไปวัน ๆ มันกระทบกันหมด ลูกไปโรงเรียนวันละร้อยแล้ว รายได้ผมวันละ 300 บาท”
‘ลุงเปลี่ยน’ กล่าวด้วยสีหน้าหนักอก เขาและสมาชิกในครอบครัวทั้ง 6 ชีวิต อาศัยพักพิงอยู่ในบ้านหลังน้อย ณ ชุมชนริมทางรถไฟสงขลา ที่กำลังจะถูกไล่รื้อในไม่ช้า
ผู้บุกเบิกที่ถูกบุกรุก
บ้านเรือนที่ปลูกสร้างขึ้นตลอดแนวรถไฟสายเก่าที่แล่นผ่านตัวเมืองสงขลา กลายเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่กลางเมือง มานานกว่า 42 ปี นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟสายใต้มายังหาดใหญ่ – สงขลาหยุดให้บริการเดินรถ
ที่นี่คือภาพสะท้อนถึงอดีตอันรุ่งเรืองจากการขยายเมืองสงขลาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาในภาคใต้ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดเส้นทางรถไฟสายเก่าของสงขลา มีผู้คนอาศัยอยู่มากถึง 1,584 ครัวเรือน 22 ชุมชน โดยแต่ละบ้านต้องจ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ในอัตราก้าวหน้าปีละ 1%
พวกเขาหลายคนต่อสู้อย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย ทั้งต่อรองกับเจ้าของที่ดิน ยอมรื้อถอนบ้านบางส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินที่ถูกเวนคืน ไปจนถึงเหมารถไปเดินขบวนเรียกร้องที่กรุงเทพฯ ต่อสู้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี แต่กลับไม่เคยรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไปถึงผู้มีอำนาจ
‘ลุงเปลี่ยน’ พาเดินสำรวจรอบ ๆ ชุมชนกุโบร์ หรือหมูบ้านนาลึก ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา และเล่าว่า
“นี่แหละคือสันรางที่รถไฟวิ่งแต่ก่อน สันรางที่ผมมาบุกเบิก บุกรุกอยู่ เพราะคนจนอย่างผมไม่มีที่อยู่ เลยมาอยู่ที่ดินรถไฟ”
หากนับย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เริ่มมีคนจนจากชนบทโยกย้ายเข้ามาทำงานในเมืองสงขลาหนาแน่นขึ้น เนื่องจากมีแรงจูงใจในเรื่องการทำงานและการเข้ามาสร้างชีวิตที่ดีกว่า รวมถึงความล่มสลายของภาคชนบทที่มีปัญหาจากการทำนา ประมงพื้นบ้าน
คนจนเมืองในอดีต เข้ามาเป็นแรงงานประมง แรงงานรับจ้างทั่วไป และอาชีพอื่น ๆ เช่น เก็บขยะ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เมื่อเข้ามาทำงานเมือง ที่พักอาศัยราคาถูกจึงเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้โยกย้ายมาค้าแรงงาน จึงได้ลงหลักปักฐานในพื้นที่ว่างของการรถไฟฯ จากพื้นที่ว่างเปล่าตลอดริมรางรถไฟ กลายเป็นชุมชนหนาแน่นด้วยบ้านเรือน เช่น ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนวัดชัยมงคล เป็นต้น ท้ายที่สุดก็เกิดเป็นชุมชนแออัดขึ้นจำนวนมากบนที่ดินรถไฟ พื้นที่สาธารณะตามลำคลอง ซึ่งในอดีตชุมชนชนแออัด มีความทรุดโทรมมาก
คนไม่เคยจนอาจไม่เคยสนใจรู้ว่า คนจนเมืองในอดีต พวกเขาแบกค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในอัตราที่สูงกว่าอัตราปกติ 2-3 เท่า เพราะพวกเขาพ่วงน้ำพ่วงไฟจากบ้านหลังอื่น ๆ ต่อกันมา ขณะที่รายได้ขั้นต่ำรายวันละ 200-300 บาท เมื่อมีสถานะเป็นผู้บุกรุกที่ดินรุถไฟ พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ถูกพัฒนาหรือบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น นอกจากไม่ได้รับการพัฒนาจากท้องถิ่นแล้ว ยังมีการพยายามไล่รื้อชุมชนออกไปจากพื้นที่การรถไฟฯ เพราะขัดขวางการพัฒนาเมือง
ต่อมาทศวรรษ 2520-2530 มีการไล่รื้อชาวบ้านมาตลอด ช่วงเวลานั้น ยังไม่มีองค์กรใดเข้ามาทำงานในประเด็นความมั่นคงที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดการไล่รื้อ ชาวบ้านจึงจำยอมออกไปจากพื้นที่ที่ถูกไล่รื้อ แต่สุดท้ายกลับไปบุกเบิกในที่เดิมหรือในที่รถไฟแห่งใหม่ แต่มีจำนวนมากที่ไม่ยอมรื้อย้าย เพราะความกลัวไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้กลับกลายเป็นกลุ่มคนจนเมืองที่ใช้วิธีการเช่าบ้านไปเรื่อย ๆ ยึดหลักใกล้กับที่ทำงาน เพื่อเป็นที่อยู่และที่ทำมาหากินให้ต้นทุนในชีวิตต่ำที่สุด ส่วนผลกำไรจากแรงงานพวกเขายังคงหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเมืองและประเทศตลอดมา
ในปี 2527 การรถไฟแห่งประเทศไทย เทศบาลนครสงขลา และจังหวัดสงขลา ประสบความสำเร็จในการไล่รื้อชุมชนแออัดที่มีความหนาแน่น 3 ชุมชน คือ ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนวัดชัยมงคลย้ายไปอยู่พื้นที่รถไฟแถบชานเมือง คือ ชุมชนกุโบร์ โดยแลกกับการให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ แบบหลังต่อหลัง ในราคาล็อกละ 560-800 บาทต่อปี แต่การทำสัญญาเช่าลักษณะนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการรถไฟฯ จะไม่ไล่รื้อชาวบ้านอีก
และไม่นานนัก ช่วงทศวรรษ 2530-2540 เป็นช่วงเศรษฐกิจประเทศรุ่งเรือง ที่ดินมีมูลค่าในการลงทุน เป็นยุคที่ชาวชุมชนแออัดเผชิญกับการไล่รื้อที่รุนแรงและต่อเนื่อง อาทิ เทศบาลต้องการไล่รื้อชาวชุมชนเก้าเส้งออกจากพื้นที่ ส่วนการรถไฟฯ มีนโยบายพัฒนารถไฟรางคู่และนำที่ดินให้เช่าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีหลักการ 3 ข้อ คือ (หนึ่ง) ที่ดินในเขตเมืองให้เช่าเพื่อธุรกิจ (สอง) ที่ดินชานเมืองให้เช่าเพื่อที่อยู่อาศัย และ (สาม) ที่ดินชนบทให้เช่าเพื่อการเกษตร
แน่นอน ชาวชุมชนแออัดในสงขลาได้รับผลกระทบจากการพยายามไล่รื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่การรถไฟมาโดยตลอด รวมทั้งชุมชนกุโบร์ของ ‘ลุงเปลี่ยน’ ด้วย
ยุคแรกที่คนจนเมืองในชุมชนแออัดสงขลาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย เพราะมีการไล่รื้อที่เข้มข้น ตำนานการต่อสู้พลิกภาพลักษณ์และสร้างพื้นที่อำนาจของคนจนเมืองสงขลา คือ ชุมชนเก้าเส้ง ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนหลังอาชีวะ ชุมชนคลองสำโรง ชุมชนกุโบร์ ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่ต่อมาได้เป็นกลไกเชื่อมกับชุมชนอื่น ๆ ที่เผชิญสถานการณ์ไล่รื้อเข้ามาต่อสู้และร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันชุมชนแออัดเมืองสงขลามีประเด็นการต่อสู้ร่วมกัน คือ การเรียกร้องที่อยู่อาศัยทั้งในด้านการผลักดันนโยบาย รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรชุมชนแออัดและเครือข่ายในระดับพื้นที่ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านในชุมชนแออัดสงขลากับเครือข่ายด้านที่อยู่อาศัยระดับชาติ 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ชุมชนแออัดมีสถานะในการเป็นผู้เช่าที่ดินรถไฟเพื่อการอยู่อาศัย มีชุมชนที่เซ็นสัญญาเช่ากับการรถไฟ โดยมีสัญญาเช่า 30 ปี ต่อสัญญาทุก 3 ปี
เรือเล็กริมฝั่ง
เมื่อกระทรวงคมนาคมมีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟรางคู่ ขยายเส้นทางจากหาดใหญ่มาที่สงขลา ซึ่งจะมีการรื้อย้ายชุมชนออกไปจากพื้นที่ที่อยู่และที่ทำมาหากินเดิม ไปยังพื้นที่ใหม่จัดสรรไว้ คือ บริเวณบ้านบางดาน ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา นั่นหมายความว่า ชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านบริเวณนี้ กำลังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งถึงตอนนี้กำลังหาแนวทางกันว่า คนที่ทำมาหากินอยู่ในเมืองสงขลาจะมีทางออกสำหรับอนาคตกันอย่างไร
ตัวเลขสีแดงที่พ่นตามผนังหน้าบ้าน ตีตราว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุก ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง หลายคนยังไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน กรณีนี้ ‘อัภยุทย์ จันทรพา’ กลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง มองต่างจากวิธีการของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เน้นการขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิมออกไปหมด แต่ชวนมองให้ลึกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและต้นทุนทางสังคมจากการมีตัวตนของวิถีชีวิตคนจนในเมือง
“แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด น่าจะเป็นลักษณะแบ่งปันที่ดิน เพื่อให้คนจนมีที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย และสอดคล้องกับวิถีชีวิต โครงการที่ผ่านมา ไม่เคยออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนจน หรือหากชุมชนต้องขยับออกจากพื้นที่ตรงนั้น ควรมีการจัดที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทำมาหากินจากถิ่นฐานเดิม”
ไม่ใช่แค่ ‘ลุงเปลี่ยน’ และครอบครัว หรือผู้คนที่เกี่ยวข้องใจสลายฝ่ายเดียวแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สั่นคลอนหัวใจนักวิชาการที่เฝ้ามองปัญหา แต่หาทางออกร่วมกันไม่เจอ
‘ปฐมฤกษ์ เกตุทัต’ นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และในฐานะประธานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ชี้ประเด็นที่หลายคนไม่เคยมองและย้อนทบทวนตั้งคำถาม
“คนที่ทิ้งถิ่น ย้ายเข้าเมืองใหญ่ บางคนยังกลับไปหาครอบครัวในชนบทได้ เพื่อเป็นตาข่ายรองรับการล้มละลาย (safety net) ให้ได้ แต่ก็มีไม่น้อยที่กลับไปไม่ได้ มีคนแบบนี้อีกเท่าไรที่ขาดจากรากเหง้า กลายเป็นผู้อพยพใหม่”
“เราเคยมีความคิดว่า จะกระจายความเจริญไปชนบท เราทำกันไปถึงไหนแล้ว?” เขาตั้งคำถามถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมประมง ที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากความคุ้นเคยของผู้คนในพื้นที่ ประกอบกับความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ ‘ลุงเปลี่ยน’ ต้องจำใจจำทน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองในวัยใกล้ฝั่ง เพราะกลับไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง ตัดขาดบ้านเดิมที่จากมานานหลายสิบปี สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้ว ครั้งเล่า…
ผู้คนทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ เมื่ออุตสาหกรรมยังคงกระจุกตัว ความเจริญยังไปไม่ถึงชนบท แต่ทุกคนต่างต้องกินต้องใช้ และไม่ว่าใครก็คาดหวังชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวันวาน
‘ลุงตุ้ม’ ผู้จากบ้านที่นครศรีธรรมราชมาเป็นแรงงานในเรือประมงตั้งแต่อายุ 11 ปี จึงต้องเปลี่ยนงานในวัย 64 ปี จากที่เคยหาเงินง่ายบนเรือประมงกลับขัดสนลง ต้องคอยลุ้นรายวันว่าเรือจะเข้าฝั่งหรือไม่ เขาเปลี่ยนมาขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาเงินหลักสิบหลักร้อยให้พออยู่ได้
“หัวใจเคยฝากไว้กับทะเล แต่หัวใจมันจมไปกับทะเลเสียแล้ว”
“ชีวิตนี้อยู่กับทะเล สามีฉันต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ครอบครัวแตกแยก ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะทะเลมันซบเซา ไม่มีปลา สงขลาตอนนี้ เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ มันไม่เหมือนเดิม”
อีกหนึ่งเสียงครวญจาก ‘ป้าแอ้’ ผู้ต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยของตนเองและเพื่อนบ้านมาตลอด จากที่เคยเป็นคุณนายไต้ก๋งเรือ นับเงินเดือนละ 50,000 บาท แต่วันนี้เธอต้องออกแรงหารายได้เสริม นวดแป้งทำขนมจากขายกับเพื่อนวัยเกษียณ แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยียนเมืองเก่าสงขลามากขึ้น แต่พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนก็ถูกห้ามขายในพื้นที่ทำเลดี เพราะภาพลักษณ์ขัดกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่นโยบายเมืองต้องการนำเสนอ ‘ป้าแอ้’ จึงไม่ได้มีส่วนร่วมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเมืองเก่า
หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นโยบายการพัฒนาเมืองสงขลามุ่งส่งเสริมการพัฒนาเมืองเพื่อการค้า หรือ “การทำให้เมืองกลายเป็นสินค้า” มีการรณรงค์ส่งเสริมเมืองเก่าสงขลา เป็น “เมืองมรดกโลก” และการดำเนินนโยบาย “เมืองสีเขียวที่ทันสมัย” (Green and Smart City) โดยเฉพาะนโยบายเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายพัฒนาเมืองเก่าสงขลาเป็นมรดกโลก จากต้นทุนเมืองเก่าสงขลาในอดีตที่เป็นเมืองท่าเก่าแก่ของภาคใต้ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ด้วยสถาปัตยกรรมห้องแถวและอาคารจีนที่ประยุกต์ตามอิทธิพลตะวันตก มีร่องรอยศิลปะของอาร์ตเดโค่ (Art Deco) และอาร์ตนูโว (Art Nouveau) เป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยุคสมัยโลกตะวันออกของโลกตะวันตกในยุคอาณานิคม (Colonial) ที่ไม่นับรวมวิถีชีวิตของคนจนเมืองเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมเก่าแก่ด้วย
เพราะนี่คือบ้านหลังสุดท้าย
“ตอนนี้ลุงอายุ 62 ได้เบี้ยเงินชราเดือนละ 600 บาท อยู่ไม่พอหรอก ทางที่ดีคือเราต้องมีงานทำไปด้วย ลุงหวังตรงนั้น”
“ทุกคน ทุกครอบครัว ลุงคิดว่าต้องมีที่ทำกินแน่นอน
ถ้ารัฐช่วยเรื่องมีงานทำ มีที่อยู่อาศัย มันอยู่ได้ นั่นคือความสุขของครอบครัว”
ความหวังในบั้นปลายของ ‘ลุงเปลี่ยน’ นั้นเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เป็นเสียงสะท้อนความเปราะบางของชีวิตที่ต้องดิ้นรนไปตามกระแสของการพัฒนา ทั้งที่ พวกเขาคือฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนความเจริญของเมือง
แต่ความจริงน่าเศร้ากว่านั้น เพราะงานวิจัยของ ‘รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์’ นักวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ใน “การเปลี่ยนไปของคนจนเมืองสงขลาในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง” สำรวจพบ สัดส่วนผู้สูงอายุในอัตราสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นและมีฐานะยากจน มีสวัสดิการเพียงเบี้ยผู้สูงอายุและสิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทเท่านั้น มีบางส่วนได้รายได้จากบุตรหลานที่มีฐานะยากจน และยังคงทำงานรับจ้างทั่วไป เป็นวงจรที่หาทางออกยากเหลือเกิน ถ้าพวกเขาไม่เริ่มต้นจากการมี “บ้านมั่นคง” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ต่อยอดขึ้นไป
และจากข้อมูลผู้สูงอายุที่พบข้างต้น คาดว่าในอนาคตอีก 30 ปี คนจนเมืองที่เป็นคนชราจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่มีรายได้ ไม่มีสวัสดิการ และไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับประเด็นคนจนเมืองในอนาคต ซึ่งรายงานของ UN กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุของโลกจะมีคนอายุ 65 ปี จำนวนถึง 703 ล้านคนในปี 2050 และส่วนใหญ่เป็นคนจน
ดังนั้น สิ่งที่ ‘ลุงเปลี่ยน’ พูดไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่ควรเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่เราต้องช่วยกันกรุยทางไปให้ถึง สอดคล้องกับที่ ‘อภินันท์ ธรรมเสนา’ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวถึง ความสำคัญของการทําให้คนเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน ทําให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรได้ ไม่ใช่เพียงเน้นกรอบทางเศรษฐศาสตร์ที่นับจากตัวเลขมวลรวม แต่ละเลยทุนทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย
เพราะนโยบายพัฒนาเมืองที่หลงลืมคนหาเช้ากินค่ำที่ร่วมสร้างเมืองมาด้วยกัน ย่อมไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
อ้างอิง
ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ และ กอแก้ว วงศ์พันธุ์. “การเปลี่ยนไปของคนจนเมืองสงขลาในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง”. ใน “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง”. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.). กรกฎาคม 2563.
ชม บ้านหลังสุดท้าย ในสารคดีชุด “คนจนเมือง” ออกอากาศ 18 เม.ย. 64