แม่ค้าเถื่อน: ความมั่นคงทางอาหารของเมืองใหญ่ บนความไม่แน่นอน

“แมวกินปลา คนกินเจนะจ๊ะ มาเลยจ้า ขายปลาทูถูก ๆ สองตัว 20 บาท”

“ขนมทำเอง 25 บาททุกอย่าง น้องเป็นเด็กพิเศษ แม่เป็นมะเร็ง ช่วยซื้อหน่อยคร้าบบบ”

“ช่วงก่อนมีโควิดก็พอขายได้ แต่ช่วงโควิดนี่ขายไม่ดีเลย…”

“หวานอร่อย หวานอร่อยจ้า ส้มขายโลถูก ๆ 45 บาทจ้า”

“ผมขายผลไม้ที่ตลาดบางแคมาดั้งเดิม จนเขาจะไล่ที่รอบสองแล้ว เขาบอกให้เราขายได้ก็จริง แต่ต้องจัดระเบียบ คือ ไม่วางเกะเกะทางเท้า ต้องทำความสะอาด ก็พยายามขยับแผงเข้าจนชิดริมทางเท้าให้มากที่สุด ให้ทางเท้าขยาย คนเดินได้มากขึ้น ช่วงนี้ต้องมีแอลกอฮอล์ให้คนล้างมือด้วยถึงจะขายของได้ ทุกสัปดาห์ต้องหยุดล้างตลาดทุกวันจันทร์”

“รัฐบาลแทบไม่ต้องมาช่วยอะไรเรา ถ้าเราขายของได้ เราก็สามารถส่งลูกเรียนได้”

เสียงพ่อค้าแม่ค้าแข่งขันกันร้องขายของเพื่อเรียกลูกค้าขาจรรายทาง และตั้งแต่มีรถไฟฟ้ามาเปลี่ยนเมืองให้ทันสมัยมากขึ้น ตลาดริมทางย่านบางแคจำเป็นต้องปรับภาพลักษณ์ให้ดูดี  เริ่มตั้งแต่สีผ้าใบ ไปจนถึงเศษขยะบนทางเท้า ผู้ค้าแผงลอย ก็ต้องถูกจัดระเบียบด้วย

“ที่เขาไม่ให้หาบเร่แผงลอยขาย เพราะมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบความสะอาด หาว่าพวกเราสกปรก” พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ต้องปรับตัวกับแนวทางจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยมาตลอดชีวิตการค้าขายริมถนน

“30 ปีผ่านมา ผมหากินบริสุทธิ์ ขายผลไม้แบบนี้ยังถูกจับเลยครับ” ‘ชอุ่ม ฤทธิ์สำอาง’ พ่อค้าแผงผลไม้ รำพันความทุกข์ให้ฟัง และน้อยใจที่เกิดมาเป็นคนไทย

‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน’ เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงย่านตลาดบางแคไปจากเดิม ร้านค้าแผงลอยที่ปักหลักมาก่อน ต้องพยายามปรับตัวตามกฎระเบียบของกรุงเทพมหานคร ที่เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ‘ชอุ่ม ฤทธิ์สำอาง’ พ่อค้าเจ้าของแผงส้มบนทางเท้าหน้าตลาดบางแคเล่าว่า ตนเองต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด 30 ปี ตั้งแต่ยุครัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ไปรวมตัวกันประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ แต่กลับถูกดำเนินคดี ถูกเรียกว่าเป็น “กบฏไม้คาน” ทุกวันนี้ เขาและเพื่อนร่วมอาชีพในละแวกนี้ยังต้องยอมเสียค่าปรับให้แก่ ‘เจ้าหน้าที่เทศกิจ’ เพื่อให้สามารถตั้งแผงขายของทำมาหากินได้ ยังคงต้องเผชิญความจริงว่า รัฐไม่ได้มีความเข้าใจหาบเร่แผงลอยมากขึ้นแต่อย่างใด

กล่าวย้อนไป “สำนักเทศกิจ” เป็นหน่วยงานหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ถือกำเนิดจากการจัดตั้ง “กองตรวจพิเศษ” ของเทศบาลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบแก้ปัญหาความเดือดร้อนรำคาญที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503 ต่อมาปี 2518 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวยกระดับจากเทศบาลเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในลักษณะท้องถิ่นพิเศษ

“สำนักเทศกิจ” ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้ “หาบเร่แผงลอย” เป็นไม้เบื่อไม้เมามาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ช่วงปี 2528-2532 เน้นบริหารงานดูแลหาบเร่แผงลอยยึดหลัก 3 ประการ คือ มีความสะอาด ปลอดภัย และเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการรณรงค์ จับทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ที่ซื้อขายกีดขวางเกะกะทางเท้า และให้หยุดเพื่อทำความสะอาดในทุกวันพุธ มีการกำหนดจุดกวดขันพิเศษ ห้ามตั้งวางขายของโดยเด็ดขาด เช่น บริเวณป้ายรถเมล์ สะพานลอยคนข้าม บริเวณทางเท้าที่มีความกว้างไม่ถึง 2 เมตรเป็นต้น และเป็นนโยบายที่ปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงยุคผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน จะเปลี่ยนไปบ้าง เพียงเปลี่ยนวันหยุดทำความสะอาดจากวันพุธมาเป็นวันจันทร์ เมื่อปี 2558 เท่านั้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง “กรุงเทพมหานคร” “สำนักเทศกิจ” และ “พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย” จำนวนหนึ่ง ทำให้พวกเขากลายเป็น “แม่ค้าเถื่อน พ่อค้าเถื่อน” เพราะการขายอยู่อย่างนี้ ยังต้องเสียค่าปรับในทุกเดือน เดือนละ 500 บาท ฐานผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ  แม้จะเป็นความอะลุ่มอล่วยที่รัฐผ่อนปรนให้ แต่จะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ ให้การค้าขายอยู่บนท้องถนนสามารถถูกกฎหมายได้

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้จัดทำภาพฝันที่ตั้งเป้ายิ่งใหญ่ ครอบคลุมระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปีในอนาคต ให้ “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” นี่คือวิสัยทัศน์ของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561-2580)

ทว่า นโยบายใหญ่โตระดับประเทศเหล่านี้ กลับไม่ได้รับเอาภาพรถเข็นหมูปิ้งควันโขมงที่เราคุ้นตา หรือแผงขายผลไม้ตามฤดูกาลที่เราคุ้นเคย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย ทั้งที่ร้านค้าริมทางเหล่านี้ เป็นแหล่งพลังงานคอยหล่อเลี้ยงให้ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ได้กินอาหารอร่อย ราคาถูก เป็นฟันเฟืองที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้ประเทศ แต่กลับถูกเบียดขับให้เหลือพื้นที่ทำกินน้อยลงทุกวัน ด้วยนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้กับประชาชน ให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตคนเมืองมากพอ

ทั้งที่ ความจริงแล้ว ช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา หาบเร่แผงลอยเพิ่มจำนวนมากขึ้น สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม และสนับสนุนการพึ่งตนเองของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย ‘นฤมล นิราทร’ อธิบายความสำคัญของพ่อค้าแม่ค้าเถื่อนเหล่านี้ไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “หาบเร่แผงลอยอาหาร : ความสำเร็จและตัวบ่งชี้” ว่า หาบเร่แผงลอยที่เป็นอาชีพทางเลือกหลักของคนจนเมืองนั้น ใช้เงินทุนต่ำ ใช้ความรู้ที่ติดตัวมา ใช้แรงงานของตัวเอง จึงผลิตสินค้าได้ราคาต่ำ ส่งผลให้ค่าครองชีพในเมืองไม่สูงเกินเอื้อม

วันนี้ พ่อค้าแม่ค้าตลาดบางแค ถึงจะมีพื้นที่ให้ค้าขาย แต่ก็ไม่ได้มีความมั่นคงแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับอนุญาตให้ได้ขายไปอีกนานแค่ไหน หรือถึงวันหนึ่งจะถูกจัดระเบียบ นำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือไม่ เป็นความไม่แน่นอนของที่ทำมาค้าขาย


ทุกเช้าก่อนดวงอาทิตย์จะฉายแสงแสดงตัว หลายชีวิตในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ตื่นนอนอยู่ก่อนแล้ว เพื่อเตรียมข้าวของใส่รถเข็น มารอขายให้แก่ลูกค้า มีทั้งข้าราชการ พนักงานห้างสรรพสินค้า ลูกจ้างรายวันของร้านค้าต่าง ๆ ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง ‘อ้อยทิพย์ กริ่มใจ’ เป็นหนึ่งในนั้น บ้านของอ้อยทิพย์เป็นครอบครัวใหญ่อยู่ร่วมกันกว่า 12 ชีวิต ทุกคนต้องช่วยกันทำมาหากินตั้งแต่เช้า อ้อยทิพย์ขายหมูปิ้งกะทิสดในย่านราชเทวี ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเวลา 9.00 น. จึงกลับบ้านมาพักผ่อนเอาแรง ก่อนจะไปเปลี่ยนมือกับลูกชายที่เช่าพื้นที่ขายหมูปิ้งอยู่ที่ทางเท้าหน้าตึกใบหยก 2

“9 โมงกว่าก็เก็บร้านช่วงแรก เพื่อไปพักผ่อน แล้วไปขายต่อซอกตึกย่านใบหยกช่วงบ่าย เพราะเรากลัวความจน ต้องขยันหน่อย ของยังไม่หมดเข็นไป เดี๋ยวก็มีคนซื้อระหว่างทาง” อ้อยทิพย์อธิบายกิจวัตรประจำวัน

“หาบเร่แผงลอย” คือแหล่งอาหารราคาย่อมเยาของคนเมือง ยิ่งในยุคที่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19  ทุกคนต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด เช่น หมูปิ้งไม้ละ 5 บาท ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมือง ทั้งความประหยัดและความสะดวกรวดเร็ว 

“บ้านพี่อยู่ชุมชนริมทางรถไฟ เพราะอยู่ใกล้ถึงเข็นของออกมาขายได้ อยู่ไกลคงเข็นมาขายไม่ไหว”

เราเดินทางพร้อมอ้อยทิพย์จากจุดที่เธอยืนขายหมูปิ้งบริเวณสี่แยกราชเทวี เพื่อกลับบ้าน – ในชุมชนริมทางรถไฟแถวมักกะสัน ระหว่างทางต้องเข็นรถขายหมูปิ้งลงถนนใหญ่กลางเมืองสวนกับรถยนต์ขวักไขว่ไปมา เธอบอกว่า “ถึงอันตราย เราก็เสี่ยง”

“บิ๊ก” เป็นลูกชายของอ้อยทิพย์ เขาพยายามเรียนจนจบ ปวส.  แต่เมื่อไม่มีเงินไปจ่ายค่าเทอม  เขาก็ไม่ได้รับวุฒิการศึกษาไปสมัครงานดี ๆ  ทุกวันนี้ บิ๊กช่วยแม่ขายข้าวเหนียวหมูปิ้งในซอยตึกใบหยก 2 คนแม่ลูกผลัดกันขายทั้งเช้าและบ่าย เพื่อให้มีรายได้คุ้มกับค่าเช่าแผงเดือนละ 7,000 บาท แม้ในช่วงโควิด-19 นายทุนเจ้าของที่ก็ไม่ได้ลดค่าเช่าให้คนเล็กคนน้อยแต่อย่างใด

“ช่วงเช้าขายได้ 1,800 บาท แต่ช่วงบ่ายขายได้น้อยกว่า วันนี้ได้กำไรแค่ 500 บาท แบ่งให้ลูกชายไปสองร้อย หักเก็บไว้ร้อยหนึ่งไว้เป็นค่าเช่า” รายได้ของอ้อยทิพย์ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนสวัสดิการคนจนได้ เพราะเธอมีเงินเก็บในธนาคารประมาณหมื่นบาท เพื่อใช้เป็นทุนขายของ โดยไม่ต้องกู้ยืมหนี้นอกระบบ ขณะนี้ครอบครัวเธอมีเพียงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ที่เป็นเบาะรองรับความเจ็บป่วยไม่ทำให้ครอบครัวล่มสลาย

“ขอให้เราขยันอย่างเดียว สู้ไปข้างหน้า” อ้อยทิพย์ย้ำถึงความขยันอยู่เสมอ แม้เศรษฐกิจในปัจจุบันจะทำให้รายได้ลดลงกว่าครึ่ง หลายครั้งต้องดึงเงินออมออกมาใช้ ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าความขยันจะทำให้ความจนหายไป ตราบใดที่ยังคงใช้ชีวิตบนความเสี่ยงทั้งในแง่รายได้และที่อยู่อาศัย

สองข้างทางรถไฟ ที่เริ่มต้นจากหัวลำโพงมุ่งหน้าเส้นทางสายตะวันออก มีเพิงพักอาศัยของคนจนเมือง เรียงรายต่อเนื่อง แม้จะมีสภาพเป็นเพียงที่ซุกตัวโทรม ๆ แต่ที่อาศัยตรงนี้ก็ทำให้พวกเขาออกไปทำงานได้ เป็นทั้งงานที่เลี้ยงตัวและเลี้ยงเมือง ทว่า พื้นที่ใจกลางเมืองตรงนี้ก็เป็นเป้าหมายการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กว่าหนึ่งในสี่ของที่ดินการรถไฟบริเวณมักกะสันนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพนักงานซ่อมบำรุงของการรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้อยู่อาศัย และกลุ่มผู้ใช้พื้นที่มักกะสันทำมาหากิน ภายใต้ชื่อชุมชนอย่างเป็นทางการ 5 ชุมชน คือ ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนนิคมมักกะสัน ชุมชนหลังวัด ชุมชนโรงเจ และชุมชนหมอเหล็ง รวมจำนวนกว่า 1,300 คน ยังไม่นับผู้คนบริเวณ ชุมชนบุญรุ่มไทร หลังซอยเพชรบุรี 5 และ 7 เขตราชเทวี ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา ฯลฯ นี่คือผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนในกรุงเทพฯ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน จากสถานีพญาไท มักกะสัน ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร

ทั้งนี้ แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีจำนวนสถานีให้บริการทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา คณะทำงานของสลัม 4 ภาคกำลังประเมินสถานการณ์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ทั้ง 5 จังหวัด

โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลภายใต้แกนนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งรัดผลักดันเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการลงทุนหลักของประเทศ นำความเจริญเติบโตด้านต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่ EEC สร้าง New S-Curve ใหกับเศรษฐกิจของไทย

แน่นอน “โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน” ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจทำให้ชีวิตของอ้อยทิพย์และเพื่อนบ้านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากมีการเรียกคืนพื้นที่จากชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน 5 ชุมชนนี้ เพราะในทางกฎหมายพวกเขาคือ “ผู้บุกรุก” แต่หากมองอีกมุม พวกเขาคือ “ผู้บุกเบิก” พื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 พัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่ออยู่อาศัยใกล้กับแหล่งทำมาหากินในเมือง


“ที่มาของชุมชนริมทางรถไฟ เขามาอยู่ได้อย่างไร?”

เนื่องจากการใช้แรงงานในการเดินรถไฟสมัยก่อน ที่เป็นรถจักรไอน้ำ ต้องใช้แรงงานคนในการโยนฟืน เพื่อให้เป็นพลังงานในหัวรถจักร รวมทั้งนายท่าสถานียอมในชาวบ้านบริเวณนั้นเปิดเป็นตลาดค้าขายเล็กน้อย ๆ ในย่านสถานีที่เอื้ออำนวยเสบียงแก่ผู้โดยสารและให้บริการเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ไปพร้อมกัน บางส่วนที่ดินริมทางรถไฟ แบ่งให้เจ้าหน้าที่ นายสถานีอยู่ ก็มีการชวนคนรู้จักให้มาอยู่ ช่วงแรกก็อยู่กันเป็นเพิงพักอาศัย นานไปก็อยู่แน่นถาวรมากขึ้น เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม ชนบททยอยล่มสลาย คนที่อยู่เดิมชวนญาติพี่น้องและเพื่อนมาอยู่จนกลาย เป็นชุมชน กรณีชุมชนริมทางรถไฟแถวมักกะสันและย่านราชเทวี มีชาวบ้านที่เคยถูกไล่รื้อกรณีทางด่วนยมราชไปอยู่ด้วย

ความขัดแย้งระหว่างชุมชนริมทางรถไฟกับการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น เริ่มตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดต้องแปรรูปซึ่งรวมถึงการรถไฟฯ ที่ต้องการเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดของการรถไฟฯ ทั่วประเทศให้เป็นที่โล่ง ๆ เพื่อจะได้ชวนกลุ่มทุนที่มีกำลังในการเช่าแปลงใหญ่ สร้างอาคารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินให้มากขึ้น จึงมีนโยบายการไล่รื้อชุมชนในที่ดินการรถไฟทั่วประเทศ

จากสาเหตุนี้ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงไปเรียกร้องกับกระทรวงคมนาคม ว่าควรจะมีนโยบายให้กับคนจนในการเช่าที่ดินการรถไฟฯ ในราคาที่คนจนรับไหว และสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ปี 2543 ได้มีมติบอร์ดของการรถไฟฯ จัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ของการรถไฟทั้งหมด 61 ชุมชน และที่ผ่านมา ได้มีการเดินหน้าแก้ไปปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อพบว่ามีชุมชนอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา การรถไฟฯ ไม่ควรมองว่า นอกเหนือจากหน้าที่และมติดังกล่าว ก็ควรมีนโยบายแก้ไขปัญหาในแบบเดียวกันให้กับชุมชนรถไฟที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย

เป็นข้อเท็จจริงว่า ที่ดินดังกล่าวของการรถไฟฯ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลได้ หากให้เอกชนเช่า แต่ขณะนี้กำลังมีประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย จากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของการรถไฟฯ ที่กำลังดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ นับแสนกว่าครอบครัวที่กำลังถูกทอดทิ้งโดยไม่มีนโยบายใดรองรับ คนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน

“ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้ลงมาพิพาทโดยตรงกับทางชุมชน จึงมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกฟ้องขับไล่ หากใครไม่รื้อย้าย ก็ถูกดำเนินคดีจับขัง จนกว่าจะรื้อย้าย” ‘คมสัน จันทร์อ่อน’ กองเลขานุการ เครือข่ายสลัม 4 ภาคเล่าสถานการณ์

“มีบางพื้นที่ เช่น ชุมชมริมทางรถไฟแถวราชเทวี มักกะสันอยู่ระหว่างการเจรจากับ ‘ฝ่ายบริหารโครงการที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย’ จะให้คนที่ทำงานบริเวณราชเทวีไปอยู่ที่หลักหก การเดินทางจากที่อยู่อาศัยหลักหกมาทำงานที่ราชเทวี ต้องนั่งรถอะไร ยิ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่ได้ตอบสนองกับคนชั้นล่าง การคมนาคมสาธารณะยังไม่พร้อม แต่ว่ารัฐคิดย้ายคนจนออกนอกเมืองเป็นทางออกเดียว”


ตัวอักษร และหมายเลขที่ถูกพ่นสีไว้ที่ผนังกำแพงบ้านตลอดแนวสองฝั่งริมทางรถไฟ คือ สัญลักษณ์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะขอพื้นที่คืนจากผู้บุกรุก การถูกไล่รื้อ คือ สถานการณ์เดียวกันที่กำลังเกิดขึ้นกับคนจนเมืองที่อาศัยในชุมชนบุญร่มไทร ซึ่งอยู่ไม่ห่างกัน

“เจ้าหน้าที่ มาพ่นสัญลักษณ์ไว้ เมื่อต้นปี 2563 วัดความกว้าง ยาว ให้เซ็นใบยินยอมให้ย้ายออก”

“ถ้าการรถไฟฯ มาไล่รื้อ เราก็ต้องต่อต้าน เพราะทรัพย์สินในบ้านเป็นของผม การรถไฟฯ มาคุยกันไหม ตกลงกัน มาหาทางออกร่วมกัน อย่าใช้กฎหมายฟ้องให้พวกผมออก ผมยินยอมที่จะออกจากที่หากมีการตกลงที่พอรับกันไหว ไม่ใช่ไล่ผมออกไปไกลนอกเมือง สุดท้ายวงจรชุมชนแออัด ความยากจนกลับมาที่เดิมหมด”

“ผมอยากเห็นเมืองที่พัฒนาเหมือนกัน แต่ขออยู่ดูเมืองที่พัฒนาแล้วด้วยได้ไหม?” นี่คือคำพูดของ ‘ลุงเล็ก’ หรือ ‘ฐานพัฒน์ เดชอรุณ’ ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟ และประกอบอาชีพพ่อค้าขายไก่ทอดริมทางเท้าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว การที่พวกเขาต้องย้ายออกจากบ้านเดิม อาจจะส่งผลให้เขาต้องสูญเสียทั้งที่อยู่และอาชีพไปพร้อมกัน

การเจรจาร่วมกันระหว่างชาวบ้านและการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่มีทางออก แต่ชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเหล่านี้ยังต้องทำมาหากินไปตามกำลังของแต่ละครอบครัว

ชีวิตประจำวันของ ‘ลุงเล็ก’ และภรรยา ก็คือออกมาตั้งร้านทอดไก่และนึ่งข้าวเหนียว ตั้งแต่หกโมงเช้า จัดร้านให้ทันผู้ปกครอง นักเรียนรอบเช้า จากนั้นก็กลับไปอาบน้ำ ไปจัดร้านข้างนอกที่อยู่หัวมุมซอยศรีอยุธยา 5 ลูกค้าคือข้าราชการและลูกจ้างรายวัน ใกล้ที่ทำการเขตราชเทวี ทำวนเวียนเช่นนี้มากว่า 20 ปี เพื่อเลี้ยงคนเมืองให้เติบโตไปพร้อมกัน

‘ลุงเล็ก’ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมชนบุญร่มไทร และเครือข่ายสลัม 4 ภาค เขาเคยออกมาชุมนุมร่วมกับคนจนเมืองที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง พวกเขายื่นหนังสือถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ใน “วันที่อยู่อาศัยโลก” ซึ่งองค์การสหประชาชาติ กำหนดให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกรวมถึงรัฐบาลไทย จัดการให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย

และสำหรับ “คนจนเมือง” ที่อยู่อาศัย อาชีพ และที่ทำมาหากินนับเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเขาต้องทำให้ต้นทุนชีวิตต่ำ ใช้เงินทุนต่ำ ใช้ความรู้ที่ติดตัวมา ใช้แรงงานของตัวเอง จึงสามารถผลิตสินค้า อาหารได้ราคาถูก ส่งผลให้ค่าครองชีพในเมืองไม่สูงจนเกินเอื้อม

“คุณเคยเห็นพวกเขาไหม?”


เรื่องราวข้างต้น “ผมเรียกเขาว่า ‘คนแบกเมือง’

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องทบทวนหลักการจัดการพื้นที่ทำกินอย่างเป็นระบบ จัดสรรที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนในเมืองมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองอย่างเร่งด่วน และตั้งคำถามกับวิธีการเดิม ๆ ที่เบียดขับคนจนออกจากเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่

“การพัฒนาเมืองแนวใหม่ ต้องท้าทายตรรกะทุนนิยม ไม่เพียงการมีส่วนร่วมกลวง ๆ ไม่ใช่ใครมีสตางค์เยอะก็ประมูลได้ไป ซึ่งไม่ควรคิดแบบนี้ ควรจะให้ใครใช้ประโยชน์ แล้วได้ประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่า เมืองต้องเป็นเมืองของผู้คน ไม่ใช่เมืองเพื่อค้ากำไรเท่านั้น”

เมืองต้องไม่ถูกพิจารณาในฐานะสินค้าของผู้มีฐานะมั่งคั่งกว่าเข้าถึงได้ และกีดกันคนจน คนกลุ่มอื่น ๆ ออกไป หากแต่เมืองจะต้องเป็นที่รวมผลประโยชน์ของคนทั้งมวล โดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยในเมือง ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเมือง ไม่ใช่เป็นแค่เมืองของนายทุน เพราะหากพ่อค้าแม่ค้าเถื่อนเหล่านี้ต้องย้ายออกจากเมืองไป ไม่ใช่เพียงครอบครัวของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบ แต่พนักงานออฟฟิศในละแวกนั้นก็ต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300-500 บาท จากการสูญเสียแหล่งอาหารคุณภาพดีราคาถูกไปด้วย

“หากเป็นเช่นนั้น จะเกิดเมืองที่คนแบ่งขั้วกัน คือ เรารังเกียจคนจนเมือง แต่เราขาดเขาไม่ได้ รัฐบาลสิงคโปร์ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960-1970 มีความมุ่งมั่นพัฒนาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนประโยชน์อย่างอื่น มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างแฟลตที่มีคุณภาพ ราคาเข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้ ทำให้คุณภาพประชากรของเมืองพัฒนาเป็นแรงงานในระบบภาคบริการมากขึ้น เป็นพนักงานบริการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว งานบริการต่าง ๆ ได้ ทั้งหมดนี้มากจากจุดริ่มต้นจากประชากรมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงที่สามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจได้”

รวมทั้งการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ไม่ใช่การซุกปัญหาไว้ใต้พรมอย่างที่ผ่านมา หรือกำจัดพวกเขาออกไปให้พ้นทาง แต่ยอมรับว่า แหล่งอาหารราคาถูกเหล่านี้จำเป็นต่อเมือง เป็นฟันเฟืองที่ไม่อาจแยกขาดจากกลไกอื่นของเมืองได้ สังคมไทยต้องการจินตนาการใหม่ในการจัดระบบการจัดการที่ดีพอจะช่วยให้ผู้ค้ารายเล็กมีรายได้ ชนชั้นกลางมีเงินเก็บ เกิดความมั่นคงทางอาหารที่หลากหลาย เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าหาบเร่แผงลอยไม่เพียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียน “วัฒนธรรมร้านอาหารแผงลอย” (Hawker Culture) หรือ “สตรีตฟูด” ของสิงคโปร์ ในบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

เพราะเมื่อคนตัวเล็กๆ อยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุข
ทุกคนก็ได้รับประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย


สารคดีชุด “คนจนเมือง” ตอน “แม่ค้าเถื่อน” (4 เม.ย. 2564)

อ้างอิง

Carrillo-Rodriguez, Jorge and Sarah Orleans Reed. 2018. If street food disappears – Projecting the cost for consumers in Bangkok. WIEGO Resource Document No. 9. Manchester, UK: WIEGO.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active