ทะลุแก๊ซ: เมื่อรัฐชดเชยเวลาที่สูญหายไปไม่ได้ ก็ต้องจ่ายด้วยความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

เวลาอยู่ข้างเรา? EP.2

“เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา มันเดินไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของมัน การกระทำของเราต่างหากที่ขับเคลื่อนสังคม”

เก็ท โสภณ ผู้ต้องขังคดี ม. 112

เกือบทศวรรษที่สูญหาย มาจนถึงฉากการต่อสู้ที่ฉาบสีไปด้วยพลุ ประทัด และปืนไฟ บริเวณสมรภูมิดินแดงเมื่อปี 2564 มีน้อยคนที่ทราบว่าจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องของ ‘ทะลุแก๊ซ‘ นั้นเรียบง่าย เพียงแค่ต้องการเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่ง แต่สถานการณ์ได้บานปลายมากขึ้น เมื่อรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้มีท่าทีออกมารับฟังอย่างจริงจัง และตอบโต้ด้วยการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

นี่คือเสียงสะท้อนของกลุ่มทะลุแก๊ซที่เติบโตมาในโครงสร้างสังคมกดทับ และหวังว่าวันหนึ่งผู้มีอำนาจจะมองเห็นและรับฟัง

เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่…นี่เป็นแนวคิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่เชื่อมั่นในการต่อสู้แบบสันติวิธีเชิงตอบโต้ และไม่เชื่อว่าวันเวลาจะอยู่ข้างเรา ตราบใดที่เรายังรอคอยสังคมใหม่ โดยไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยมือของตัวเอง พวกเขาไม่ได้คาดคั้นพลังที่ยิ่งใหญ่จากคนตัวเล็ก แต่ด้วยพลังเล็ก ๆ เหล่านั้น หากรวมกัน เราอาจจะไปถึงสังคมใหม่ที่เคยเพียงเป็นแค่ฝันใหญ่ได้ ผ่านแคมเปญ #เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา

จริงหรือไม่ ที่วันเวลาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่เสมอ ในเมื่อเหล่า ‘เยาว์วัย’ นั้นห่างไกลจาก ‘วัยเยาว์’ ขึ้นทุกวัน

The Active ชวนผู้อ่านทำความรู้จักหน้าตาของ ‘กาลเวลา’ และตั้งคำถามถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่ยังคงเป็นพยานในทุกการต่อสู้ถึงสังคมใหม่ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และซัดทอดจนมาถึง 16 ตุลาคม 2563 ผ่านบทสัมภาษณ์ของ นินจา – กลุ่มทะลุแก๊ซ

เห็นด้วยกับคำว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” มากน้อยแค่ไหน? 

คำว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ ฟังดูแล้วมีความหวัง เหมือนท้ายที่สุดโชคชะตาจะเข้าข้างคนที่ไม่หยุดต่อสู้ ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เวลาเลือกอยู่ข้างผู้มีอำนาจและได้ครอบครองทรัพยากรเท่านั้น มีแต่ประชาชนที่สูญเสีย สูญหาย และตายจากไปโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“ถ้าเวลาอยู่ข้างเราจริง ประชาชนคงจะชนะตั้งแต่แรก บาดแผลจากกระสุนยาง ศพที่เสียชีวิตจากการออกมาชุมนุมตั้งแต่อดีต ร่างที่ลอยในแม่น้ำโขง ใบปิดประกาศตามหาผู้ถูกอุ้มหาย ตั๋วเครื่องบินผู้ลี้ภัย หมายศาลคดีการเมืองและ ม.112 สะท้อนให้เห็นว่า เวลาไม่ได้อยู่ข้างเราเลย”

นินจา ทะลุแก๊ซ

เพราะอะไร ทะลุแก๊ซถึงสร้างแคมเปญ “เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา” เพื่อท้าทายวาทกรรมดังกล่าวขึ้นมา?

ประโยค “เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา” มาจากบทสัมภาษณ์ของเก็ท โสภณ (นักศึกษาแพทย์ ผู้ต้องขังคดี ม. 112) กล่าวไว้ว่า “เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา มันเดินไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของมัน การกระทำของเราต่างหากที่ขับเคลื่อนสังคม” พอดีช่วงนั้นอยากทำโพรเจกต์อะไรสักอย่างที่สร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้มาบอกเล่าแนวทางการต่อสู้ของตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนคือแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะวาดรูป ทำกราฟิก ทำเพลง เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ หรือแม้แต่ช่วยกระจายข่าวสารก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เพื่อเป็นกระบอกเสียง และเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม จึงคิดว่าแคมเปญ #เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา น่าจะช่วยย้ำเตือนคนที่เพิกเฉยให้ฉุกคิดได้บ้างว่า อะไรที่อยู่ข้างเรากันแน่ ใครคือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง เวลา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมนุษย์เดินดิน 

วิธีการดำเนินกิจกรรมง่าย ๆ คือสร้าง Google form เพื่อผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา มาบอกเล่าการเคลื่อนไหวของตนเอง จากนั้นก็นำประโยคใจความสำคัญมาเขียนใส่กระดาษ A4 แล้วนำไปติดสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเผยแพร่ในโซเชียลอีกที ได้ประโยชน์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ มีคนไม่น้อยมาร่วมแบ่งปันไอเดีย เช่น การเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้ง สบทบทุนองค์กรประชาธิปไตย ตลอดจนชักชวนคนรอบข้างเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนประชาธิปไตยภาคประชาชน เป็นต้น

แม้ไม่มีทรัพยากรและงบประมาณสนับสนุน แต่ละคนก็พยายามขับเคลื่อนในแนวทางที่ตนเองถนัด ในวิธีการที่สามารถทำได้ พลังประชาชนนี่แหละคือกลไกสำคัญที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

ในฐานะนักเคลื่อนไหว เราสูญเสียอะไรไปบ้างในทศวรรษที่ผ่านมา?

คนที่ยังหายใจอยู่ สูญเสียเวลาการใช้ชีวิตและอิสรภาพในการแสดงออก ความเจ็บปวดที่พบเจอทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ บางคนถูกคุมขัง บางคนลี้ภัย ไม่มีใครสามารถใช้ชีวิตปกติทั่วไปได้อย่างสบายใจ 

ส่วนคนที่จากไปนั้น สูญเสียทุกอย่าง ทุกอย่างเลย แม้กระทั่งร่างกายของผู้ถูกอุ้มหายก็ยังไม่สามารถนำกลับมาให้ครอบครัวได้ แล้วฝ่ายผู้มีอำนาจหละสูญเสียอะไรบ้าง? คนสั่งฆ่าประชาชนยังกินหรูอยู่สบาย มียศลาภครบพร้อม ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาในบ้านที่อบอุ่น และจากไปอย่างสงบเพราะโรคชรา แล้วจะให้เชื่ออย่างไรว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา

ถึงขั้นมีเยาวชนสูญเสียชีวิตและเสียอนาคตไประหว่างการเรียกร้อง แต่ทะลุแก๊ซก็ “รอให้เวลาอยู่ข้างเรา” ไม่ได้ เป็นเพราะเหตุใด?

มีความหวังได้ แต่ถ้ามัวแต่รอหรือไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง จากความหวัง กลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นนิทานปลอบใจว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ซึ่งในโลกความเป็นจริงนั้นมันคือโศกนาฏกรรมชีวิต เพราะอะไรถึง “รอให้เวลาอยู่ข้างเรา” ไม่ได้ เพราะมีประชาชนที่ต้องสูญเสียชีวิต และอนาคตไประหว่างการเรียกร้อง เหมือนเราเดินทางมาด้วยกัน 100 คน เพื่อนร่วมทางก็ค่อย ๆ หายไปทีละ 2-3 คน จนรอบตัวไม่หลงเหลือใคร นอกจากเงาตัวเอง หรือท้ายที่สุดอาจจะหายไปหมดเลยก็ได้

ดังนั้น แค่เสี้ยววินาทีก็ไม่รอ ตื่นขึ้นมาก็ต้องอัปเดตจำนวนวันที่เพื่อนเข้าเรือนจำและอดอาหารประท้วงทุกวัน กระจายข่าวการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของภาคประชาชน วางแผนการทำกิจกรรมที่จะหล่อเลี้ยงกระแสการต่อต้านให้ไปต่อ ไม่ให้เหมือนพลุที่ถูกยิงให้สว่างวาบบนท้องฟ้าแล้วจางหายไปกับความมืด ไม่ให้เหมือนเทียนไขที่ละลายจนดับมอด เราต้องเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ทนทานและสว่างไสวตลอดเวลา

แล้วข้อเรียกร้องที่เคยผลักดันมาตลอดคืออะไร และตอนนี้ได้รับการแก้ไขอย่างไรบ้าง? 

ย้อนกลับไปปี 2564 ข้อเรียกร้องเด่น ๆ คือ ต้องการให้ประยุทธ์ลาออก เพราะคิดว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารงานที่ล้มเหลวของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในรัฐบาลอีกต่อไป หากได้รัฐบาลใหม่ คุณภาพชีวิตก็คงดีขึ้น จนโดนด่าว่าดึงเพดานลงต่ำ มวลชนไปไกลกว่าไล่รัฐบาลแล้ว 

ถ้าคุณมีปัญหาการใช้เงินจนไม่มีข้าวจะกิน หรือสูญเสียคนในครอบครัวเพราะโควิด-19 จะรู้ว่าความโกรธแค้นต่อรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย ยิ่งเจอความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐอีก ความรู้สึกที่อัดอั้นจึงระเบิดออกมาเสียงดังกว่าเสียงตะโกนด่าทอทั่วไป แต่เชื่อว่าหลายคนก็เรียกร้องไปไกลกว่านั้น เช่น ยกเลิก 112 หรือปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งไม่มีวี่แววการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และกลายเป็นว่าหลังจากนั้นประยุทธ์ลงจากตำแหน่งสบาย ๆ ไม่ได้เป็นไปตามข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ลาออก ณ ตอนนั้นโดยทันที ที่สำคัญเหล่าผู้มีอำนาจก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไรสักอย่าง มีแต่ประชาชนต้องจ่ายด้วยอิสรภาพของจากการออกมาชุมนุมประท้วง

รัฐบาลชุดใหม่มีสัญญาณท่าทีต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร?

ข้อเรียกร้องที่ผ่านมา คือต้องการให้ประยุทธ์ลาออก ศาลคืนสิทธิประกันตัวประชาชนให้ผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมือง และมีการยกเลิก 112 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะถูกแช่แข็งมากกว่าจะถูกตอบรับ โจทย์ต่อไปคือการผลักดันนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง แต่ตราบใดที่พรรคร่วมรัฐบาลยังมีฝ่ายที่ต้องการกำจัดคนเห็นต่างทุกวิถีทาง คงเป็นไปได้ยาก ก็ยังคงหวังว่าถ้านักการเมืองในสภาฯ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาชนร่วมกันเคลื่อนไหว ขอแค่ได้เริ่มและลงมือทำ น่าจะมีโอกาสเห็นป้าอัญชัญ (ผู้ต้องขังคดี 112) และเพื่อน ๆ ผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองได้กลับบ้าน

เหตุการณ์ “เดือนตุลา” ในภาพจำของเรา เป็นภาพของอะไร และให้บทเรียนอะไรบ้าง?

“คุณสมบัติของนักเรียนอาชีวะมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือบ้าเลือด สองเล่นลูกระเบิด” พลตรีสุตสาย (อดีตหัวหน้าขบวนการกระทิงแดง ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519) เป็นผู้กล่าวไว้ 

หนึ่งในภาพจำคือกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีวะที่แยกตัวจากนักศึกษา เนื่องจากชนชั้นปกครองและกลุ่มอนุรักษ์นิยมหวาดกลัวพลังมวลชนนักศึกษา จึงพยายามแยกอาชีวะให้ออกจากขบวนการนิสิตนักศึกษา และล้างสมองให้อาชีวะมองกลุ่มนักศึกษาเป็นศัตรู ภายใต้สโกแกน “สุขเถิดปวงประชา กระทิงแดงกล้าจะคุ้มภัย” 

กลุ่มกระทิงแดงได้รับการสนับสนุนจากทหาร ตำรวจ และผู้มีอำนาจ ดังนั้น เมื่อสร้างความรุนแรงก็จะไม่ได้รับโทษทางกฎหมาย เพราะฝ่ายขวาคิดว่าการใช้ความรุนแรงนั้นชอบธรรมแล้ว 

“ซากศพ กลิ่นเลือด เสียงหัวเราะ กัดเซาะ ความเป็นมนุษย์สูญสลาย” กลอนวรรคแรกที่เขียนบันทึกไว้ คือภาพจำสะท้อนให้เห็นด้านมืดของมนุษย์ที่ใช้ความจงรักภักดีสร้างความชอบธรรมในการสังหารมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดเหี้ยม 

นินจา ทะลุแก๊ซ

“จากละครจำลอง สี่ตุลา วันที่ห้า สื่อบิดเบือนว่าหมิ่นเจ้า หกตุลา ปิดล้อมปราบ ย่ำรุ่งเช้า ตามล่าเงาพวกชังชาติหนักแผ่นดิน สูญสิ้น สูญเสีย ไร้สติ สนองทิฐิ ความคลั่งชาติ ไร้เหตุผล เพื่อสถาบันจึงต้องเข่นฆ่าคน อุทิศแด่เบื้องบนด้วยโศกนาฏกรรม” กลอนบทสุดท้ายคือบทเรียนที่ตกผลึกว่าไม่ใช่แค่ความคลั่งและความศรัทธาแบบผิดเพี้ยนที่เป็นอาวุธสังหารคน สื่อที่บิดเบือน บิดเบี้ยว ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมเช่นกัน ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ในอดีตมากมาย แต่คนไทยก็ยังติดกับดักของชนชั้นปกครองซ้ำ ๆ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงก็คงไม่เกิดขึ้นกลางกรุงอีกครั้ง 

ในขณะที่อีกฝั่งเมืองเล่นสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ที่ดินแดงก็เช่นกัน ตอนนั้นมีประชาชนถูกทำร้ายร่างกาย ถูกยิง จนมีคนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร ผู้คนพากันปาร์ตี้สังสรรค์อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศ ก็ได้แต่หวังว่าความจริงและบทเรียนต่าง ๆ ที่ผ่านมา จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงกับประชาชนอีกในปัจจุบัน และอนาคต

จาก 14 ตุลา – 6 ตุลา จนมาถึง 16 ตุลา 63 สังคมไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

ความคิดของผู้คนแตกต่างไปจากเดิม มีการต่อต้านอำนาจนิยม ตระหนักรู้ในสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น มีการเข้าถึงสื่อที่หลากหลาย วิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จากที่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์และอคติกับเสื้อแดงจนฝังหัว ก็รับรู้ความจริงว่าใครคือเหยื่อ ใครคือฆาตกร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สังคมจะดีขึ้น เพราะยังมีการแบ่งชนชั้น มีคนโดนกดขี่และถูกโครงสร้างสังคมกดทับมากมาย จำนวนตัวเลขผู้ถูกคุมขังในเรือนจำที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือสิ่งที่ย้ำเตือนว่า ต่อให้ความคิดของประชาชนจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ถ้าระบบ โครงสร้าง และกฎหมายที่ล้าหลังไม่เปลี่ยนตาม ก็มีปัญหาเหมือนเดิมวนเวียนไปไม่สิ้นสุด

ท้ายที่สุดแล้ว ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้ ‘เวลา’ นั้นมีความหมายต่อเราได้บ้าง?

ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลก กล้าที่จะยื่นมือไปช่วยเหลือคนอื่น กล้าที่จะแหกคอก กล้าที่จะคิดต่าง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ลุยทุกวันที่ยังมีชีวิตอยู่ เชื่อเสมอว่าการที่มีคนสู้อยู่ ไม่ว่าจะ 1 คน 1,000 คน หรือ 1 ล้านคน มันคือความหมายของการไม่พ่ายแพ้ ถ้าเงียบหรือยอมจำนนเมื่อไหร่ก็เท่ากับแพ้เลย ดังนั้น ในเมื่อเวลาไม่อยู่ข้างเรา ก็จะพยายามใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจะไม่ได้เสียใจว่าครั้งหนึ่งของชีวิตมนุษย์ธรรมดา ๆ ได้ต่อสู้และดิ้นรนสุดกำลังที่มี

รัฐต้องชดเชยทศวรรษที่สาบสูญอย่างไรถึงจะเป็นธรรม?

ไม่สามารถย้อนคืนเวลาในอดีต และชีวิตคนที่สูญเสียไปก็ไม่สามารถประเมินราคาได้ ต่อให้แลกด้วยเงินทองหลายพันล้าน หรือจ่ายด้วยความตายของชนชั้นปกครองไม่สามารถทดแทนความเจ็บปวดได้เลยสักนิด 

ไม่เพียงแค่บุคคลที่บาดเจ็บและล้มตายจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เยาวชนที่เสียอนาคตเพราะหลุดออกจากระบบศึกษา ชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัย แรงงานที่ถูกนายจ้างกดขี่ค่าแรง คนที่ตัดสินใจจบชีวิตเพราะทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว ก็นับเป็นบาดแผลที่ถูกมองข้าม เป็นการสูญเสียที่รัฐเพิกเฉยมาโดยตลอด 

หากรัฐต้องการชดเชยทศวรรษที่สาบสูญไป สิ่งที่พอทำได้คือต้องสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม เช่น เขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 100% ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองและ 112 เซ็น ICC คืนความเป็นธรรมให้ผู้สูญเสียทุกคน ไม่จำกัดเสรีภาพการแสดงออก ทำลายอำนาจนิยม ทำลายโครงสร้างสังคมที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างรัฐสวัสดิการ ควบคุมทุนผูกขาด กระจายอำนาจสู่มือประชาชน เป็นต้น 

“เพราะเมื่อรัฐชดเชยเวลาที่สูญหายไปไม่ได้ ก็ต้องจ่ายด้วยความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น”

นินจา ทะลุแก๊ซ
นินจา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซ

เนื้อหาอื่น ๆ ในซีรีส์ เวลาอยู่ข้างเรา?

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง