ถอดระบบการปกครองเยอรมนี ความเหมือนในความต่างของ “ประชาธิปไตย”

แม้เยอรมนีจะเป็นประเทศที่เคยแพ้สงคราม แต่หลังสิ้นสุดสงครามไปไม่นานเยอรมนี ก็ใช้บทเรียนจากความเจ็บปวดรวมชาติ และกลับมาเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพทางการเมือง

กุญแจของความสำเร็จนี้ คือ การจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่ไม่ยอมให้รัฐบาลพรรคเดียวเข้มแข็งเกินไป ขณะเดียวกันพรรคการเมืองในเยอรมนี ยังมี ข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ต้องประกาศให้สาธารณชนรับรู้ เพราะเยอรมนี เชื่อในหลักการประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน The Active ชวนเดินทางท่องเยอรมนี – สูดกลิ่นความเจริญผ่านบทความนี้ไปพร้อมกัน

เพราะเคยมีอดีตที่เจ็บปวด ก่อนรวมชาติ “เยอรมนี” ประชาธิปไตย จึงมีค่า

เราได้มีโอกาสเดินทางกับ คณะทำงานมูลนิธิฟรีดิชเนามัน ประเทศไทย และคณาจารย์จากไทยอีกหลายท่าน เพื่อดูระบบการปกครองของเยอรมนี โดยวันนี้ได้พบกับ Dr.rer.pol.Philipp Christoph นักรัฐศาสตร์ – เชี่ยวชาญยุโรปตะวันออก จึงทำให้เข้าใจว่า กว่าที่จะมาเป็นเยอรมนีทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย Dr.rer.pol.Philipp เล่าว่า ประวัติศาสตร์ของเยอรมนี 200 ปี มีความคล้ายกับอิตาลี และหลายประเทศคล้ายกันตรงที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลังสงครามโลก เยอรมนีเริ่มต้นจากติดลบ เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และเป็นผู้แพ้สงคราม

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1933-1945 เป็นปีที่พรรคนาซี เริ่มเข้ามามีบทบาท เป็นจุดกำเนิดของระบบการเมืองใหม่ ๆ โดยเฉพาะแนวคิดชาตินิยมที่เข้ามามีอำนาจ จนในปี 1945-1990 เยอรมนี ถูกแบ่งออกเป็น เยอรมนีฝั่งตะวันตก-เยอรมนีฝั่งตะวันออก ขณะที่เมืองเบอร์ลิน ก็ถูกแบ่งครึ่งภายในเมืองเองด้วย โดยในยุคล่าอาณานิคม เยอรมนีถูกแบ่งการปกครองออกเป็น 4 เขตการปกครอง โดยให้ฝรั่งเศส ปกครองดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้, อังกฤษ ปกครองดินแดนฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ, อเมริกา ปกครองดินแดนทางตอนใต้, และสหภาพโซเวียด ปกครองฝั่งตะวันออก

ความเจ็บปวดที่ทำให้ครอบครัว คนรักในเยอรมนีต้องถูกแยกออกจากกัน กลายเป็นบาดแผลที่ทำให้ เยอรมนี หันมาฟื้นฟูประเทศอย่างแข็งขัน และนำมาสู่ การรวมชาติใน ปี 1990 โดยมีประตูชัยบรันเดินบวร์ค ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเยอรมนีตะวันตก-ตะวันออก สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพ และสันติภาพของยุโรป และปัจจุบันยังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเยอรมนี ซึ่งอยู่ใกล้กับ รัฐสภาเยอรมนี อีกด้วย

ซึ่งภายในรัฐสภาฯ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติ และยังได้เก็บรวบรวมอิฐ กำแพงสมัยสงครามโลกที่ประชาชนมาเขียนร้องทุกข์ ขอความช่วยเหลือเอาไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ ตอกย้ำ-เตือนใจของบรรดา ส.ส. ว่า การเข้ามาทำงานในสภาฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย และการกระทำของ ส.ส. ในพื้นที่แห่งนี้ จะส่งผลสะเทือนถึง ประชาชน เช่นกัน สังเกตจากด้านหน้าทางเข้า Bundestag รัฐสภาของเยอรมนี ยังมีตัวอักษรภาษาเยอรมันว่า “DEM DEUTSCHEN VOLKE” หมายถึง “สำหรับประชาชนชาวเยอรมนีเท่านั้น”

ภายในอาคารรัฐสภาจึงเห็นบรรยากาศของประชาชนที่เข้ามาดูการทำงานในที่ประชุมสภาฯ อย่างใกล้ชิด และมี โดมแก้วตั้งอยู่กลางอาคารไรชส์ทาค หรือรัฐสภาเยอรมนี เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ของความโปร่งใส ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของบรรดา ส.ส.

“รัฐบาลผสม และระบบสหพันธรัฐ” หัวใจสำคัญการปกครอง เยอรมนี

ประเทศเยอรมนี มี 16 มลรัฐ 407 เมือง(จังหวัด) 10,789 เทศบาล(อำเภอ) ส่วนท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพราะแต่มลรัฐจะมีการเลือกตั้งเป็นของตัวเอง มีนครรัฐ 3 เมือง คือ เบอร์ลิน, ฮัมบูร์ก, เบรเมน มีการบริหารจัดการที่แตกต่างหลากหลาย ตามภูมิหลัง และวัฒนธรรม

ระบบรัฐสภา(Parliamentarism) ในระดับสหพันธรัฐ เป็นการปกครองระดับชาติ หรือ รัฐบาล จะประกอบด้วย ประมุขของประเทศ คือ ประธานาธิบดี ซึ่งจะได้รับเลือกจากที่ประชุมสหพันธ์ (Federal Convention) ประกอบด้วย 2 สภา แบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีหน้าที่หลักในการออกกฎหมาย เลือกนายกสหพันธ์ และตรวจสอบรัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งคือ สภาตัวแทนมลรัฐ (Bundesrat) ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของมลรัฐต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวของรัฐบาลของแต่ละมลรัฐ

ขณะที่ ฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ โดยมีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบาย ให้ฝ่ายปฏิบัตินำไปใช้กับพื้นที่ของตัวเอง โดยแบ่งหน้าที่การปกครองออกเป็น 5 ระดับ คือ สหภาพยุโรป, รัฐบาลกลาง,มลรัฐ,เขตท้องถิ่น และเทศบาล

EU สหภาพยุโรป : การค้า การเกษตร ระบบการเงิน เงินยูโรเพิ่งมี 20-30 ปีที่ผ่านมา มีการตกลงทางด้านการเมือง เป็นสิ่งที่ยากเพราะแต่ละประเทศมีระบบที่ต่างกัน เช่น ชีวิตความเป็นอยู่ 

Federal Government  รัฐบาลกลาง : การป้องกัน การต่างประเทศ การขนส่งทางอากาศ  การขนส่งทางรถไฟ(ดอชเชอร์บาน) พลังงาน หลังมีสงครามยูเครน จะทำอย่างไรให้การขนส่งพลังงานดีขึ้นสำหรับประเทศเล็ก ๆ ให้สามารถมีอำนาจใช้พลังงานกับตัวเอง หรือการทำสัญญากับประเทศเล็กเพื่อช่วยเหลือด้านการทำงาน ภาษีเป็นเรื่องยากสำหรับเยอรมนี การรักษาความปลดภัยของสังคม ทุกคนต้องจ่ายสวัสดิการตรงนี้ให้ บำเหน็จ บำนาญ

Federal State มลรัฐ : เน้นการศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับล่าง-มหาวิทยาลัย เป็นสัญญาการทำงานที่ทำขึ้นจากรัฐ ปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละรัฐ, ตำรวจ เช่น อยู่ในเขตนอทไรเวสฟาเลีย พอถึงเขตแดนต้องเปลี่ยนตำรวจรับหน้านี้ต่อ แต่จะมีการประสานงานระหว่างกัน แต่ละรัฐจะให้ความสำคัญแตกต่างกัน 

Counties เขตท้องถิ่น : เป็นการทำงานร่วมกันของเขตเทศบาลเล็กๆ มีความสำคัญจัดหาพลังงาน รัฐบาลกลางจัดการหาว่ามีพลังงานเพียงพอหรือไม่ แต่การส่งต่อให้ประชาชนใช้ต้องขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและเขต การทำความสะอาดถนน เมืองต่าง ๆ, มิติการศึกษารัฐกลางจัดหาครู ส่วนท้องถิ่นจัดการดูอาคารห้องเรียนให้อยู่สภาพที่เหมาะสม เช่น การพูดคุยตกลงร่วมเรื่องการปิด หรือไม่ปิดโรงเรียนขนาดเล็ก, การสร้างโรงเรียน และเส้นทางคมนาคมระดับท้องถิ่น

Municipalities เทศบาล : ภารกิจเช่น ถนน, พิพิธภัณฑ์, แรงงาน, กิจกรรมสันทนาการ รพ. จัดการโดยท้องถิ่น 

Dr. Monika Ballin-Meyer-Ahrens ที่ปรึกษาทางการเมืองสมาชิกพรรคเสรีนิยม และนักเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของทีมรัฐบาล หรือผู้ว่าการมลรัฐในทางการเมืองของเยอรมนี เน้นความมีเสถียรภาพ ส่วนใหญ่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาแล้วจะอยู่จนครบวาระ การเลือกตั้งจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง โดยในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จะเป็นพื้นที่ให้ประชาชนสามารถโหวตคนที่ไม่พอใจออกได้ แต่จะไม่ใช้วิธีการปลดออก แต่จะนำคะแนนเสียงไปให้คนอื่นแทนเมื่อถึงเวลาของการเลือกตั้ง

แต่กรณีที่นักการเมืองทำผิดกฎหมาย เช่น ผิดกฎหมายอาญา คอร์รัปชันเรื่องการบริหาร ใช้อำนาจในทางที่ผิดจะมีทางเลือกให้สภาล่าง สามารถลงโทษได้ อาจจะทำให้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งได้ โดยตั้งกระบวนการสอบสวน ขับคนนั้นออกจากพรรค แต่ในเยอรมนี ไม่ค่อยมีกรณีเกิดขึ้นมากนัก เพราะถ้ามีสมาชิกพรรคผิดกฎหมายอาญาก็จะเสียภาพลักษณ์ของนักการเมือง แต่หากมีเคสเกิดขึ้นจริง ๆ พรรคการเมืองจะลุกขึ้นมากดดันเอง 

16 ปี ของอดีตนายกฯ หญิง อนุรักษ์นิยม สะท้อนคนเยอรมนีต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สู่ จุดเปลี่ยนพรรคเสรี ในวันนี้

หลังสิ้นสุดสงครามโลก เยอรมนีพัฒนาระบบการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะระบบรัฐสภาฯ ที่เป็นรัฐบาลผสม เพื่อไม่ให้รัฐบาลมีเสียงที่เข้มแข็งมากจนเกินไป และไม่ทำให้เกิดพรรคเล็ก พรรคน้อยมากจนเกินไป ผ่าน กฎ 5% ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง และมลรัฐ โดยกำหนดให้พรรคที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล จะต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อย 5% ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จึงจะสามารถเข้าไปมีที่นั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ เช่น ในช่วงปี 2013-2017 พรรค SDP ได้คะแนนเสียง 4.8% ของผู้มีสิทธิ์มาใช้เสียง พรรคนี้ก็ไม่สามารถเข้าสู่สภาฯ นั่นเอง

ปัจจุบันพรรคการเมืองหลักๆ ในเยอรมนี มีทั้งพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม อย่าง พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี (CDU/CSU) ปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ให้ความสำคัญกับเรื่องสถาบันครอบครัว และค่านิยมแนวคริสต์ดั้งเดิม เน้นส่งเสริมเศรษฐกิจ, พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) เป็นการเมืองดั้งเดิมถูกนิยามให้อยู่ในพรรคการเมืองขวากลาง, พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ซึ่งเป็นพรรคของ โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเยอรมนี ในอดีต SPD เป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงาน ปัจจุบันมีนโยบายที่เน้นความเท่าเทียมในสังคม สุดท้ายคือ พรรค Grünen (Bündnis 90/ Die Grünen) เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก เน้นการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ถูกนิยามว่าเป็นพรรคการเมืองซ้ายกลาง และได้รับคะแนนนิยมจากคนรุ่นใหม่ในเยอรมนีค่อนข้างมากนั่นเอง

ท่านผู้อ่านคงจะทราบอยู่แล้วว่า ปัจจุบันรัฐบาลผสมของเยอรมนี มาจากการ 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD), พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ,พรรค Grünen (Bündnis 90/ Die Grünen) แต่กว่าจะมารวมกันได้ พรรคการเมืองจะต้องเจรจาต่อรอง ให้เห็นถึงแนวนโยบายที่จะผลักดันร่วมกันก่อน เช่น ในปี 2021 สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีมีทั้งหมด 736 ที่นั่ง เสียงที่ได้มากที่สุดเป็นของ พรรค SPD กวาดไปทั้งหมด 206 เสียง จึงเป็นพรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ในเวลานั้นจึงมีทางเลือกในการจัดตั้งรัฐบาล 3 แนวทาง (ดังภาพประกอบ) และสุดท้ายพรรค SPD ของโอลาฟ ชอลซ์ ก็จับมือกับ พรรค FDP และ พรรค Grünen และถูกตั้งฉายา หรือชื่อเล่น ให้เป็น รัฐบาล Traffic light ซึ่งมาจากสีประจำของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนจดจำได้ง่าย

การเจรจาจัดตั้งรัฐบาล สู่ ข้อตกลงร่วม “Coalition agreement” ที่ประชาชนต้องรู้

หลังการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่ สิ่งที่ต้องทำทันที คือ การเจรจาในเชิงนโยบาย เพื่อให้ออกมาเป็น “ข้อตกลงร่วมรัฐบาล” หรือ “Coalition agreements” เพราะหลักการสำคัญที่พรรคการเมืองต้องยึดถือ คือ ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก เพียงพรรคเดียว เพราะสุดท้ายจะต้องทำงานร่วมกัน เจตนาร่วมคือ ต้องประสานงานร่วมกันแม้จะเคยเป็นศัตรูทางการเมือง…

“ระบบรัฐสภาเยอรมนี ออกแบบมาให้จับมือทำงานร่วมกัน หลังการต่อสู้ฟาดฟัน สิ่งที่ตลก ก็คือจะต้องไปจับมือกับพรรคที่พยายามแย่งชิงฐานเสียง

เส้นแบ่งตรงกลาง การทำข้อตกลงร่วมรัฐบาล หรือ Coalition agreement ไม่ใช่การรวมพรรคกันแบบ แต่งงาน

แต่สิ่งสำคัญ คือ จะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนเห็น ท่ามกลางจุดยืนที่ต่างกันของแต่ละพรรคการเมืองได้อย่างไร…”

Manfred Richter คณะกรรมการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี

Manfred Richter คณะกรรมการมูลนิธิฟรีดริชเนามันน์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี เล่าว่า ระบบรัฐสภาเยอรมนี ออกแบบมาให้หลังการฟาดฟัน ต่อสู้ ต้องจับมือร่วมกันทำงาน แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ตลกเพราะต้องจับมือกับพรรคที่พยายามจะแย่งชิงฐานเสียง แต่สุดท้ายจะมีกลไกสำคัญให้พรรคการเมืองสามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ การทำข้อตกลงร่วมรัฐบาล เพื่อจะบอกว่า ถ้ามาร่วมกันบริหาร 4 ปี ไปด้วยกัน จะวางแผนอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย โดยจะต้องลงรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น รัฐบาลล่าสุดเป็นรัฐบาล 3 พรรค คือ SPD, FDP, Green มีข้อตกลงร่วมเป็นเอกสารความยาวกว่า 150 หน้า เป็นผลการเจรจาที่ทำร่วมกัน บางครั้งอาจจะมีประเด็นที่ไม่สามารถเจอกันครึ่งทางได้ เช่น กฎหมายการทำแท้ง ก็ต้องมาช่วยกันลงรายละเอียดเป็นข้อ ๆ ว่าพรรคไหนจะยอมข้อไหน แลกข้อไหน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานนับเดือน

จากนั้น หัวหน้าพรรค และ ส.ส. 3 พรรคการเมืองจะมานั่งด้วยกัน เพื่อถ่ายทอดสดข้อตกลงร่วม ทุกขั้นตอนให้ประชาชนได้รับรู้อย่างละเอียด เป็นเหมือนสัญญาว่าจะทำ แม้จะไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่เป็นเหมือนคำสัญญาที่ต้องเปิดเผยในทางออนไลน์ รัฐบาล หรือประชาชนสามารถกลับมาตรวจสอบได้ว่า รัฐบาลได้ทำตามแนวทางที่ตกลงกันไว้หรือไม่

แต่หากในบางครั้งสถานการณ์เปลี่ยนแปลง เช่น สงครามยูเครน อยู่ ๆ ก็มีเรื่องกองกำลัง อาวุธ ก็ต้องกลับมาดูกันว่าจะทำอย่างไรเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน หากต้องทำข้อตกลงใหม่ก็ต้องได้มาจาก “ฉันทามติ” เท่านั้น ขณะเดียวกัน ถ้าข้อตกลงที่ทำไว้ไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยของพรรคเล็กในสภาฯ และเตรียมคิดไปถึงกลไกรับมือกับความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมเอาไว้อย่างด้วยเช่นกัน

กฎพื้นฐานของการจัดตั้งพรรคร่วม และกติกาที่สำคัญสุด คือ พรรคที่ร่วมจะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน คณะกรรมการกำกับขับเคลื่อน 3 พรรคจะต้องทำไปพร้อมกัน เป็นการปกป้องพรรคเล็ก กติกานี้จะถูกตั้งขึ้นมาในทุกสมัยการเลือกตั้ง จะทำให้พรรคร่วมที่เป็นเสียงข้างน้อยเสียประโยชน์ ขณะที่ วิปฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้นโยบายที่วางไว้เดินหน้าได้เร็ว Manfred Richter บอกว่า กลไกนี้เปรียบวิปพรรคการเมือง เหมือน แซ่ มีไว้เพื่อคอยควบคุมสมาชิกให้ไปได้เร็ว และไม่ผิดทาง

Manfred Richter คณะกรรมการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี

Manfred Richter ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการมี “ข้อตกลงร่วมรัฐบาล” หรือ “Coalition agreements” ผ่านการทำเรื่องนี้ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งในสภาฯ ซึ่งเป็นช่วงที่เยอรมนียังแบ่งประเทศ แต่มีจุดยืนในการรวมชาติ ตอนนั้นโซเวียตกำลังจะล่มสลาย สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำให้ได้คือ การหาลายเซ็นของฝ่ายทุกฝ่ายทั้งโซเวียต อังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส ต้องเร่งทำให้ข้อตกลงร่วมเกิดขึ้นโดยใช้เวลาถึง 327 วัน ตั้งแต่วันที่กำแพงล่ม และเกิดการรวมประเทศขึ้นอย่างเป็นทางการของ 2 ระบบ จากเยอรมนีฝั่งตะวัน และตะวันออก ซึ่งไม่เข้ากันเลย และเป็นครั้งแรกที่เกิดการทำงานร่วมกันในระบบรัฐสภาของเยอรมนี ในรูปแบบของรัฐบาลผสม หากเทียบกับประเทศอื่นอาจมองว่าการทำ “ข้อตกลงร่วมรัฐบาล” หรือ “Coalition agreements” ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง แต่หันมาดูเยอรมนีแล้วจะเห็นว่า ที่นี่มีเสถียรภาพในทางการเมือง ในขณะที่อิตาลี มีการจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ตลอดปี…

“หากเทียบกับประเทศอื่น อาจมองว่าการทำ “ข้อตกลงร่วมรัฐบาล” ทำให้ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง ให้หันมามองเยอรมนี

ตั้งแต่วันที่กำแพงล่ม และเกิดการรวมประเทศขึ้นอย่างเป็นทางการ
มีการรวมกันของ 2 ระบบ (เยอรมนีตะวันตก-ตะวันออก) ซึ่งไม่เข้ากันเลย 

แต่นั่นเป็น ครั้งแรก! ที่เกิดการทำงานร่วมกันใน ระบบรัฐสภาของเยอรมนี”

Manfred Richter คณะกรรมการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน