ประชาธิปไตยระดับชาติ ล้วนมีฐานรากจากห้องเรียน

ประชาธิปไตยในโรงเรียน: สร้างพลเรียน สู่พลเมือง

การที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ มากกว่าร้อยละ 75 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สะท้อนการตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนอย่างยิ่ง และนำมาซึ่งความพยายามจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ที่ให้สัญญากับประชาชนว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม

1 ใน 300 นโยบายของก้าวไกลได้พูดถึงการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นประชาธิปไตย ขจัดระบอบอำนาจนิยม ให้นักเรียนมีเสียงในบอร์ดบริหารโรงเรียน ตลอดจนผลักดันให้สภาเยาวชนมีอำนาจเสนอกฎหมายต่อสภาท้องถิ่นและสภาใหญ่

เพราะ ‘ประชาธิปไตยระดับชาติ ล้วนมีฐานรากมาจากห้องเรียน’ ระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดจะสำเร็จไม่ได้ หากระบบการศึกษาไทยยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรม ‘อำนาจนิยม’ และสภานักเรียนยังไม่ใช่ของนักเรียนอย่างแท้จริง

The Active ชวนผู้อ่านย้อนรอยบทเรียนเรื่องประชาธิปไตย จากวัยผู้ใหญ่สู่วัยเรียน สำรวจโรงเรียนซึ่งเป็นภาพจำลองของสังคมใหญ่ จะบ่มเพาะให้พลเรียนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ได้อย่างไร

ปัจจุบัน ‘กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน’ อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานบริหารกิจการนักเรียน มีหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยให้แก่ผู้เรียน ผ่านการอบรมและลงมือปฏิบัติจริง โดยกิจกรรมที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งเสริมให้มีในทุก ๆ สถานศึกษาคือ ‘กิจกรรมสภานักเรียน’ การดำเนินงานสภานักเรียนเปรียบเสมือนเวทีสำหรับฝึกให้นักเรียนเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีธรรมนูญในการบริหารจัดการสภา และมีโครงสร้างของการบริหาร รวมถึงรูปแบบการเลือกตั้งที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริบทและข้อกำหนดโดยธรรมนูญของโรงเรียน

ทว่า ‘กิจกรรมสภานักเรียน’ กลับเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมอำนาจนิยมภายในโรงเรียน ครูมีอำนาจในการกำหนดธรรมนูญของโรงเรียนและเป็นผู้กำหนดทิศทางการทำงานของสภานักเรียน ในขณะที่สภานักเรียนและคณะกรรมการนักเรียนจะต้องทำหน้าที่เพื่อรับรองอำนาจของครู เช่น การเป็นสารวัตรนักเรียนคุมความประพฤติของนักเรียน การเกณฑ์นักเรียนเข้าร่วมพิธีกรรม เป็นต้น 

ยิ่งไปกว่านั้น การกดขี่จากครูต่อนักเรียน กลายเป็นต้นแบบของการกดขี่ระหว่างนักเรียนด้วยกัน เช่น รุ่นน้องต้องเชื่อฟังคำสั่งรุ่นพี่ในกิจกรรมกีฬาสี การใช้คำสั่งเพื่อลงโทษในกิจกรรมค่าย เป็นต้น ลักษณะวัฒนธรรมเหล่านี้ย้อนแย้งโดยสิ้นเชิงต่อหลักการของการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนที่พึงกระทำ

‘กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน’ จึงกลายเป็นเพียงการนำโครงสร้างการบริหารมาปรับใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ไม่ได้นำหลักการของประชาธิปไตยมาปรับใช้ในระดับวัฒนธรรม สภานักเรียนกลายเป็นเครื่องมือในการกำหนดนิยามหลักของความหมายประชาธิปไตย และส่งต่อแนวคิดอำนาจนิยมที่ผิดเพี้ยนมายังผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนไป ผู้เรียนอาจกลายเป็น Passive Citizen ที่นิ่งเฉยต่อความไม่ปรกติและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม

แม้ประชาชนจะได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านไป แต่สถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่น่ากังวล เมื่อดัชนี Democracy Index ของ EIU (Economist Intelligence Unit) ระบุสถานะประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ยังบกพร่อง (Flawed Democracies) แม้ว่าตัวคะแนนจะมีความกระเตื้องมากขึ้นจากปีก่อน ๆ ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของประชาธิปไตยว่าประเทศไทยจะพ้นจากวงจรการรัฐประหารโดยกองทัพหรือไม่

ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในอำนาจอย่างสมบูรณ์ โรงเรียนจึงมีหน้าที่สอนให้เยาวชนรู้จักสิทธิ เข้าใจหน้าที่ และยึดมั่นในวิถีประชาธิปไตย เพื่อให้พวกเขาเติบโตมาเป็นพลเมืองที่เท่าทันต่ออำนาจเหนือและไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมในสังคม

ประชาธิปไตยเชิงพิธีกรรม: จุดเริ่มต้นความล้มเหลวของการศึกษาสู่พลเมือง

การวัดผลว่า ‘กิจกรรมสภานักเรียน’ มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไขหลัก คือ รูปแบบการเลือกตั้ง ธรรมนูญนักเรียน และโครงสร้างสภานักเรียน โดยธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานของรูปแบบการเลือกตั้ง และโครงสร้างสภานักเรียน แต่โรงเรียนส่วนใหญ่มักให้นักเรียนมีส่วนร่วมเฉพาะ ‘การเลือกตั้ง’

ผลสำรวจความคิดเห็นจากนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศที่มีการเลือกตั้ง 351 คน พบว่า 9 ใน 10 นักเรียนไทยไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในโรงเรียนครบทุกครั้ง โดยนักเรียนส่วนใหญ่ระบุเหตุผลว่า เป็นการทำตามหน้าที่และใช้สิทธิ์ในการเลือกผู้แทนของตัวเอง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งระบุว่าเป็นกฎระเบียบที่ทางโรงเรียนบังคับหรือเป็นการเก็บคะแนนในวิชาสังคม แม้ในภาพรวมดูเหมือนนักเรียนจะสนใจสิทธิและหน้าที่ของตนเองดี แต่สถิติระบุอีกว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของนักเรียนไทยเท่านั้นที่รู้เนื้อหาในธรรมนูญโรงเรียนของตัวเอง เท่ากับว่านักเรียนไทยไปเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้สิทธิ บทบาท และอำนาจหน้าที่ของตัวเองในโรงเรียนเลยด้วยซ้ำ

ธรรมนูญของโรงเรียน เปรียบเสมือนกฎหมายสูงสุดของโรงเรียน เนื้อหาระบุถึงสิทธิ เสรีภาพ บทบาท หน้าที่ ข้อตกลงเพื่อการอาศัยอยู่ร่วมกัน แนวทางการเลือกตั้ง ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของผู้แทนนักเรียน ตามหลักการแล้วธรรมนูญต้องร่างร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน ชุมชน และต้องผ่านการลงมติจากประชาคมในโรงเรียนทุกฝ่าย แต่ส่วนมากธรรมนูญกลับถูกเขียนขึ้นโดยผู้ใหญ่ ทำให้โครงสร้างของสภานักเรียนต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยครูฝ่ายกิจการนักเรียน และบอร์ดบริหารของโรงเรียน

ด้วยธรรมนูญที่ขาดการมีส่วนร่วมจากนักเรียน และการเลือกตั้งที่ขาดความเข้าใจในสิทธิและอำนาจ ทำให้โครงสร้างของสภานักเรียนส่วนใหญ่อยู่ใต้อำนาจครู ขาดประสิทธิภาพในการเสนอโครงการเพื่อสะท้อนเสียงของนักเรียนในโรงเรียน และไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงเพื่อนักเรียนได้อย่างแท้จริง

“ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูกลุ่มสาระสังคมศึกษา และอดีตหัวหน้างานส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน เปิดเผยว่า การส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนทำให้นักเรียนเข้าใจว่า ประชาธิปไตย = การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริง ประชาธิปไตยมีหลักการที่ต้องส่งเสริมมากกว่าหลักเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง เช่น หลักความเสมอภาค หลักความเท่าเทียม หลักเสรีภาพ หลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักนิติรัฐซึ่งหมายถึงการปกครองโดยกฎหมาย มิใช่มีผู้ใดอยู่เหนืออำนาจของกฎหมายที่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจ แต่โรงเรียนกลับเป็นสถานที่ที่ครูใช้อำนาจในทางที่ผิด ควบคุมสภานักเรียนเพื่อเป็นแขนขาให้กับตนเองในการควบคุมความประพฤติของนักเรียน

“เราค้นพบว่าแนวคิดประชาธิปไตยถูกทำให้เป็นอย่างแคบ คือเข้าใจว่า มีการเลือกตั้งเท่ากับมีประชาธิปไตย แต่จริง ๆ มันมีหลักการอื่นที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักนิติรัฐ ฯลฯ ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การเป็นนักเรียนในโรงเรียนนี้ สามารถมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง…เมื่อหลักการถูกลืม สภานักเรียนจึงเป็นพิธีกรรมแค่ให้มี อันนี้เฉพาะโรงเรียนที่มีธรรมนูญนะ ยังไม่นับโรงเรียนที่ไม่มีธรรมนูญด้วยซ้ำซึ่งมีเยอะมาก”

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

เช่นเดียวกับความเห็นของ “ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าและนักการศึกษา เห็นพ้องว่า สภานักเรียนสะท้อนเสียงของผู้เรียนได้ยาก เพราะทุกนโยบายต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดบริหารโรงเรียน นักเรียนขาดกลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลการทำงานของผู้แทนนักเรียนด้วยกันเอง  นอกจากนี้ ครูยังเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติผู้ลงสมัครเพียงฝ่ายเดียว ครูมีอำนาจเหนือนักเรียน เลือกตัวแทนเข้าสภาตามความต้องการ และสภานักเรียนขาดการเชื่อมโยงสภานักเรียนกับสภาท้องถิ่น ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด

“ตราบใดที่รัฐไทยยังมองเป็นพิธีกรรม ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ทั้งที่กลไกเหล่านี้มีประโยชน์มาก เราสามารถสร้างสภาเยาวชนที่เป็นผู้นำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรงได้”

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ครูจุ๊ยเสริมว่า หลักการที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งหมายให้สภานักเรียนเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยนั้นย้อนแย้งกับภาพในเชิงปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะประชาธิปไตยในโรงเรียนเกิดขึ้นมาเป็นเพียงพิธีกรรมวันเดียวแล้วจบลง ไม่ได้มีการรับฟังเสียงของเยาวชนในโรงเรียน และขยายผลไปสู่การพัฒนาในระดับท้องถิ่น ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้น คือผู้เรียนรับรู้ว่าเสียงของตัวเองไม่ได้มีความหมาย นิ่งเฉยต่อการออกสิทธิ์ออกเสียง และในท้ายที่สุดพวกเขาก็จะไม่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเสียงของเขาถูกละเลย

“ดังนั้นความสำคัญของการมีเสียงของเยาวชนมันไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้งและโครงสร้าง เพราะที่สุดแล้วห้องเรียนที่เขาเรียนอยู่ ณ ปัจจุบัน มันควรเป็นภาพจำลองของสังคมที่เขาอยู่ ถ้ามันเป็นแค่พิธีกรรม ประชาธิปไตยของเด็กในชีวิตจริงมันก็เป็นแค่พิธีกรรมทำ ๆ ไปเถอะ”

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ประชาธิปไตย ฉบับกระทรวงศึกษาฯ

กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (Quick Policy) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีการจัดทำคู่มือสภานักเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน โดยแนะให้แต่ละโรงเรียนดำเนินงานสภานักเรียนบน 3 หลักการ ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และ ปัญญาธรรม

ในคู่มือการคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบสภานักเรียนได้ระบุรูปธรรมของหลักการทั้ง 3 ไว้ว่า ‘คารวธรรม’ เช่น การยิ้ม การไหว้ การทักทาย ‘สามัคคีธรรม’ เช่น การร่วมมือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ และ ‘ปัญญาธรรม’ เช่น การใช้เหตุผลแก้ปัญหา การรับฟังผู้อื่น เหล่านี้เป็นเกณฑ์การประเมินบางส่วนของ ‘สภานักเรียนต้นแบบ’ ตามแบบฉบับของ สพฐ.

ทั้งนี้ พนัส​ บุญวัฒนสุนทร​ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน​ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ระบุเพิ่มเติมว่า กิจกรรมสภานักเรียนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาและออกแบบโรงเรียนตามความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง ซึ่งครูต้องเป็นต้นแบบในการสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน

“โลกมันเปลี่ยน เด็กก็พัฒนาขึ้นเยอะ แต่การที่ครูยังเลือกตัวแทนสภาเข้าไปทำงานโดยตรง มันจะทำให้เด็กเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยที่ผิดเพี้ยนไป ครูจะต้องไปให้องค์ความรู้เรื่องของประชาธิปไตยของโรงเรียนให้ถูกต้อง โดยเอาครูเป็นแนวให้เด็ก แล้วก็ให้เด็กเดินบนสิ่งที่ถูกต้องตามแนวทางของสภานักเรียน มีอยู่ 3 เรื่อง คือ คารวธรรม สามัคคีธรรม และ ปัญญาธรรม” พนัสระบุ

พนัส​ บุญวัฒนสุนทร​ 

นอกจากนี้ สพฐ. ยังมีการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี พนัส ระบุว่า กิจกรรมมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ของตัวแทนเยาวชนจากแต่ละพื้นที่ ให้เขาสามารถสะท้อนเสียงความต้องการของตัวเองไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางนโยบาย พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ตลอดจนนักวิชาการ ร่วมให้ความรู้ต่อเยาวชนถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่ ‘ถูกต้อง’ เพื่อนำไปต่อยอดการทำกิจกรรมสภานักเรียนในโรงเรียน

อ้างอิงจากนโยบายเร่งด่วนกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ระบุแนวทางการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียนผ่าน 3 เครื่องมือได้แก่ หลักสูตร กิจกรรม และสภาพแวดล้อม โดยมีนโยบายที่โดดเด่น เช่น  การสร้างเครือข่ายประชาธิปไตยกับโรงเรียนอื่น ๆ การส่งเสริมการเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลักสูตร การส่งเสริมวิชาลูกเสือเนตรนารี กิจกรรมแสดงออกความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น

“ทางโรงเรียนต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งการบริหารสถานศึกษา ในปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนแปลงไปเพราะฉะนั้น การพัฒนาโรงเรียนก็ต้องตอบโจทย์ของนักเรียน”

พนัส​ บุญวัฒนสุนทร​ 

นักเรียนตัวเล็ก แต่โรงเรียนตัวใหญ่

เมื่อนักเรียนไร้เสียง ไร้อำนาจ ไร้ตัวแทนในการสะท้อนปัญหา โรงเรียนจึงกลายเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีหลักอำนาจใดรองรับความปลอดภัยของผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์ จากสถิติของกรมสุขภาพจิตปี 2563 เผยว่า นักเรียนไทยกว่า 6 แสนคนถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาหรือคิดเป็น 4 ใน 10 ของนักเรียนทั้งหมด ในขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 373 คนระบุว่า นักเรียนกว่า 6 ใน 10 เคยถูกกดขี่ข่มเหงในโรงเรียน และร้อยละ 86.4 ของนักเรียนที่ถูกกดขี่ข่มเหงเผยว่า ตนถูกกดขี่ข่มเหงจากครู-อาจารย์ในโรงเรียนเสียเอง อันดับรองลงมาคือ รุ่นพี่ (53.9%) เพื่อน (37.3%) และซ้ำร้ายคือการกดขี่จากสภานักเรียนเสียเอง (13.9%)

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดานักเรียนที่เคยถูกกดขี่ในโรงเรียน ระบุว่า ความรุนแรงที่ตนเผชิญหน้ามากที่สุดคือ ‘การถูกบังคับให้เชื่อฟังและเข้าร่วมประเพณีในโรงเรียน’ (80.3%) รองลงมาคือ  ‘การถูกบังคับให้ทำตามคำสั่งของผู้ที่อาวุโสกว่า’ (74.9%) และ ‘การถูกบังคับให้รักและสามัคคีกับเพื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง’ (49.5%) ตามลำดับ ความรุนแรงเหล่านี้มักแสดงผ่านกฎระเบียบในโรงเรียนที่เอื้อให้ผู้อาวุโสกว่าอย่างครูหรือรุ่นพี่กดขี่ผู้น้อยได้ 

โดยสรุป ผลสำรวจความพึงพอใจของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 351 คนที่มีต่อสภานักเรียนยังเผยว่า นักเรียนไทยกว่าครึ่งหนึ่ง (51.5%) เห็นว่าสภานักเรียนสามารถแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมอำนาจนิยมหรือโซตัสได้น้อยจนถึงน้อยมาก

“ครูธัช” ธรัช ตรีคุณประภา ครูฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรมโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การใช้อำนาจของครูนั้นไม่ชอบธรรมเพราะอำนาจนั้นไม่สามารถถูกตั้งคำถามและตรวจสอบได้ ทำให้ความผิดของครูต่อนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกนำมาแก้ไข ตราบใดที่โรงเรียนหรือระบบการศึกษาไทยไม่เปิดพื้นที่ให้ครูและนักเรียนสามารถตั้งคำถามและแนะนำอย่างเคารพซึ่งกันและกันได้ การกดขี่ในโรงเรียนเกิดขึ้นก็จะยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ

“เราอยากให้เด็กเป็นผู้ออกแบบร่วม เรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ ร่วมกัน นักเรียนสามารถเรียกครูไปชี้แจงได้ การที่ครูใช้อำนาจเป็นปัจจัยหลัก มันไม่น่ากลัวเท่ากับการที่อำนาจนั้นมันไม่สามารถถูกตรวจสอบได้เลย ถ้าครูใช้อำนาจเกินเลยกับเด็กแล้วมันตรวจสอบได้ อันนี้มันก็แฟร์ ยิ่งถ้าเด็กสามารถพูดได้และผู้ใหญ่ตอบคำถามเขาได้ มันก็เป็น Active Citizen ทั้ง 2 ฝ่าย”

ธรัช ตรีคุณประภา

ครูธัชเสนอว่า สภาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนและครูสามารถหาข้อตกลงที่รอมชอมกันได้ ทั้งนี้ การจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้น โรงเรียนต้องทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในงบประมาณของโรงเรียนด้วย โดยเริ่มต้นจากงบส่วนที่มีความใกล้ชิดกับผลประโยชน์นักเรียนมากที่สุด เช่น ให้นักเรียนตัดสินใจว่าจะนำงบประมาณไปพัฒนาด้านกิจกรรม ด้านชมรม หรือด้านวิชาการ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของอำนาจในการพัฒนาโรงเรียนอย่างแท้จริง 

แนวคิดหลักของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน การออกแบบธรรมนูญโรงเรียนควรยึดโยงตามบริบทของโรงเรียนและความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก มิใช่ออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานเพื่อประโยชน์ของครูเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น นักเรียนจึงมีส่วนร่วมในการเขียนธรรมนูญฉบับแรกของโรงเรียน และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งแรกในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ์ 514 คนจาก 754 คน (68.1%)

โครงสร้างการบริหารของสภานักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง คือการเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียนซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร และเลือกตั้งคณะกรรมการชั้นปีซึ่งทำหน้าที่คล้ายฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อคอยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และนักเรียนสามารถลงชื่อถอดถอนได้ อภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากพบเห็นพฤติการณ์ส่อทุจริต ซึ่งหลักการการทำงานของสภาที่มีการตรวจสอบ-ถ่วงดุลเช่นนี้ ไม่ค่อยปรากฏนักในโรงเรียนอื่น ๆ

“ครูณต” วรพล ศิริชื่นวิจิตร ครูฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรมโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงว่า ไม่มีระบบประชาธิปไตยใดที่สมบูรณ์แบบที่สุด และที่โรงเรียนแห่งนี้ก็เช่นกัน ยังมีช่องโหว่และจุดบกพร่องอีกมากที่ต้องร่วมกันปรับแก้ไข แต่นั่นคือหัวใจหลักของระบบประชาธิปไตย ที่เชื่อมั่นในหลักการว่าสมาชิกของสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมของตนเองได้ หากผิดพลาดครูและนักเรียนก็เรียนรู้และช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้น หากอำนาจการบริหารโรงเรียนรวมไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วคนกลุ่มอื่นต้องทำตาม นั่นคงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ครูณต และ ครูจุ๊ย ต่างมองไปในทางเดียวกันว่า การใช้อำนาจระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ที่ผู้น้อยต้องเงียบฟังขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูด และหน้าที่ของผู้น้อยคือการเชื่อฟังและทำตาม มีสภาวะไม่ต่างอะไรไปจากห้องเรียนที่ต้องเงียบ ไร้เสียงนักเรียน ครูเป็นผู้คุมกฎ ดังนั้นการจะสร้างโรงเรียนที่เป็นประชาธิปไตยได้ ต้องเริ่มจากการที่ห้องเรียนต้องเปิดกว้าง ครูต้องรับฟังเสียงของนักเรียน และการส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยเช่นนี้ ต้องไม่ใช่การจัดกิจกรรมเลือกตั้งเพียงวันเดียวแล้วจบ แต่มันต้องถูกทำให้นักเรียนเห็นเป็นประจำทุกวัน ผ่านหนังสือเรียน ห้องเรียน คุณครู กฎระเบียบในโรงเรียน ตลอดจนสังคมหรือชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่นักเรียนเติบโตมา

“เป้าหมายที่ให้ห้องเรียนเงียบกริบ มันเป็นเผด็จการมากเลยนะ” 

“ถ้าดูจากทฤษฎีกระบวนการเรียนรู้ของเด็กแบ่งง่าย ๆ หยาบ ๆ คือ 50% เป็นการเรียนรู้ผ่านสังคม ผ่านปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น ถ้าพฤติกรรมในสังคมยังเป็นอำนาจนิยมอยู่ ถ่ายทอดลงมาจากผู้บริหาร ครู รุ่นพี่ เพื่อน แล้วจะให้นักเรียนหลุดออกจากวงจรนี้ได้ยังไง? มันชัดเจนมากว่าการเรียนรู้ครึ่งหนึ่งคือเราต้องมานั่งเรียนรู้ร่วมกัน แต่ห้องเรียนไทยเน้นให้นักเรียนไทยนั่งฟังตาแป๋วอย่างเดียว แล้วการเรียนรู้ที่เด็กเป็นศูนย์กลางจะเกิดขึ้นได้ยังไง?”

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

“ถ้าเด็กมีสำนึกว่าเขาคือเจ้าของอำนาจสูงสุด มันจะทำให้การเลือกตั้งดี แล้วเราจะมีวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้นถ้าครูยังมองว่าเด็กรวมกลุ่มที่ไหน เมื่อนั้นจะมีปัญหา การออกแบบเพื่อเด็กมันก็จะออกมาแบบกรงขังเด็กและทำให้ทุกคนเหมือนกัน Mindset เราควรจะคิดว่า เขาคือทุกคนที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกับใคร และความแตกต่างนั้นทำให้สังคม เป็นสังคม”

วรพล ศิริชื่นวิจิตร

เปลี่ยน ‘ประชาธิปไตยเชิงพิธีกรรม’ เป็น ‘วัฒนธรรมประชาธิปไตย’

นักการศึกษาทั้ง 4 คนเห็นพ้องต้องกันว่า ประชาธิปไตยเชิงพิธีกรรมต้องหมดไป และหันมาส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากห้องเรียนเล็ก ๆ จากนั้นจึงขยายวงกว้างไปสู่ระดับชั้นเรียน โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา หากโรงเรียนบ่มเพาะให้เยาวชนมีวิถีพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง วัฒนธรรมนี้จะเป็นฐานรากในการสร้างประชาธิปไตยระดับชาติที่แข็งแรงได้ 

หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยในโรงเรียน คือการรับฟังเสียงของเยาวชนว่าพวกเขาต้องการอะไร รวมทั้งให้โอกาสในการให้เยาวชนออกสิทธิ์-ออกเสียง เพื่อสร้างบรรยากาศสังคมของความเป็นไปได้

The Active ได้สำรวจแนวนโยบายสภานักเรียนที่นักเรียนไทยฝันถึง จากกลุ่มตัวอย่างระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 334 คน พบว่า นโยบายสภานักเรียนที่นักเรียนอยากให้มีมากที่สุดคือ ‘รับฟังเรื่องร้องทุกข์ และเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนในการแก้ไขปัญหาต่อผู้บริหาร’ (84.6%) ซึ่งสะท้อนสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ไม่เปิดกว้างให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบโรงเรียน อันดับที่ 2 คือ ‘ปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของเพื่อนนักเรียนโดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย’ และอันดับที่ 3 คือ ‘ดำเนินโครงการด้านกิจกรรมภายในโรงเรียน เช่น กิจกรรมกีฬา ดนตรี งานวันเด็ก’ 


“โอม” ชนินทร์ ทับทิม อดีตประธานนักเรียน ระบุว่า สิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องใหม่ของโรงเรียน แต่กฎระเบียบในโรงเรียนยังล้าหลังและไม่พัฒนาตามยุคสมัย ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่คาดหวังให้สภานักเรียนเป็นกระบอกเสียงของนักเรียนเพื่อผลักดันไปสู่การแก้ไขโดยคณะบริหารของโรงเรียน ทั้งนี้ โอมเสนอว่า สภานักเรียนจะเป็นกระบอกเสียงได้ยาก หากครูผู้ดูแลสภาฯ ยังไม่ให้อิสระนักเรียนในการวางแผนหรือออกแบบนโยบาย โอมและเพื่อนคณะกรรมการสภานักเรียนจึงร่วมกันร่างธรรมนูญฉบับนักเรียนขึ้นเพื่อเสนอต่อฝ่ายบริหารโรงเรียนและทำประชาพิจารณ์ต่อไป

“ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นสภานักเรียนในเครือข่ายจังหวัดนนทบุรี หลายคนบอกว่าถ้าสภาฯ ไม่ทำตามครูที่ปรึกษาสภาฯ หลายโครงการจะถูกระงับไม่ให้เสนอต่อฝ่ายบริหาร เราเลยคิดว่าถ้ามีธรรมนูญนักเรียนจะช่วยให้เรามีหลักอำนาจในการต่อรองเพื่อประโยชน์นักเรียน เพราะเราเป็นตัวแทนของผู้เรียน ถ้าสภานักเรียนทุกโรงเรียน ทุกชุด มีความคิดแบบนี้ มันคงไม่ยากที่จะทำให้สภานักเรียนเป็นของนักเรียนจริง ๆ”

ชนินทร์ ทับทิม

อย่างไรก็ดี การจะสร้างพลเมืองวิถีประชาธิปไตยให้มีความแข็งแรงไม่ควรหยุดไว้แค่ในขอบเขตของโรงเรียน ครูจุ๊ยและครูทิวต่างเห็นพ้องว่า สภานักเรียนมีศักยภาพมากกว่าที่รัฐไทยคิด ทุกปัญหาในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นต่างเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อเยาวชนทุกคน หากรัฐไทยควบรวมให้สภานักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสภาท้องถิ่นหรือเป็นส่วนหนึ่งของการออกความคิดเห็นในการพัฒนาชุมชน รัฐไทยจะได้รับเสียงของเยาวชนที่มีคุณค่าอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งจะกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการผลักดันท้องถิ่นให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ สร้างชุมชนแห่งความเป็นไปได้ และทำให้คนหนุ่มสาวได้ขยับขยายในบ้านเกิดของตัวเองโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น

“ในฟินแลนด์มันมีการเชื่อมโยงสภานักเรียนกับสภาท้องถิ่น ในท้องถิ่นต่างประเทศ แค่เครื่องเล่นเด็กเขายังเอามาถามเด็กและให้เด็กเลือกเลย พอเขาได้เลือกเขาจะรู้สึกเป็นเจ้าของมัน ปลายทางมันคือความรู้สึก เด็กรู้สึกว่าเขามีพื้นที่สามารถพัฒนาสังคมของเขาให้ดีกว่านี้ได้ นี่ต่างหากคือ Active Citizen ที่เราอยากได้ มันไม่ได้ทำผ่านพิธีกรรมการโหวตวันเดียวแล้วจบ”

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

“สุดท้ายมันย้อนกลับไปที่เรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองว่าโรงเรียนเข้มแข็งมากแค่ไหน นักเรียนมองเห็นตัวเองในฐานะพลเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากแค่ไหน เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องที่นักเรียนจะแก้ไขเองได้ เราต้องตระหนักว่า สามารถสร้างการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐและโรงเรียนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนได้ และนี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น”

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

บทส่งท้าย

สถาบันการศึกษาเป็นสถาบันสำคัญในการกล่อมเกลาสมาชิกในสังคมเพื่อเป็นพลเมือง การปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รัฐไทยควรให้ความสำคัญ อย่าหลงลืมว่าสมาชิกที่อยู่ในสถาบันการศึกษาล้วนเป็น ‘เยาวชน’ ซึ่งเป็นช่วงวัยของการมีฝัน และหน้าที่ของระบบการศึกษาคือการส่งเสริมฝันให้เป็นจริงได้มากที่สุด แต่ฝันของเยาวชนไทยจะเป็นจริงได้อย่างไร หากโรงเรียนยังไม่เรียนรู้ที่จะรับฟัง บทความนี้คอยย้ำเตือนว่าโรงเรียนจะเป็นพื้นที่แห่งความหวังได้มากกว่าที่เป็นหากทุกคนต่างเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน

…และประเทศนี้จะน่าอยู่มากขึ้น หากประชาชนทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน

ยังมีเรื่องราวชวนคิด ตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับการสร้างพลเรียนสู่พลเมืองอีกจำนวนมากทาง The Active เชิญชวนผู้อ่านร่วมทำความเข้าใจแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมสภานักเรียนและการสร้างประชาธิปไตยในโรงเรียน ผ่านการเรียนรู้นิทรรศการออนไลน์ผ่าน Interactive Website ชุด Undo Undemocracy


อ้างอิง

  • การศึกษากับการพัฒนาประชาธิปไตย, นโยบายเร่งด่วนกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2565, กระทรวงศึกษาธิการ 
  • ไทยอันดับ2 “เด็กรังแกกันในโรงเรียน” พบเหยื่อปีละ 6 แสนคน
  • คู่มือการคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบสภานักเรียน ประจำปี 2563, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • คู่มือการจัดกิจกรรมฝึกอบรมสภานักเรียน ประจำปี 2558, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
  • คู่มือแนวทางการปฏิบัติงานกิจกรรมสภานักเรียน ประจำปี 2558, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
  • คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน, นักเรียนเลว
  • สถิติ 7 ปี ล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน ครูไม่มีสิทธิก้าวพลาด
  • ธรรมนูญนักเรียนแห่งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566
  • (ร่าง) ธรรมนูญสภานักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี พุทธศักราช…

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง