5 ทศวรรษ “คนกับควาย” คีตกรรมความจน และชนชั้น

ศิลปะความจน คนกับควาย EP.2

เป็นบทเพลงเสียงเพลงแห่งความตาย
ความเป็นคนสลายลงไปพลัน
กระฏุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น
ชนชั้นชาวนาต่ำลง

บทประพันธ์เปรียบเทียบ “คนกับควาย” เกิดขึ้นเมื่อราว 5 ทศวรรษก่อน ก่อนที่วงดนตรีเพื่อชีวิตอย่าง “คาราวาน” โดย สุรชัย จันทิมาธร นำมาขับร้องใหม่ทำให้บทเพลงนี้ปรากฏตัวเป็นที่รู้จักหลังการเมืองยุคเดือนตุลา

แท้จริงแล้ว บทประพันธ์ที่ว่า ถูกแต่งขึ้นโดย สมคิด สิงสง ศิลปินมรดกอีสาน

การสนทนากับอาจารย์สมคิด ที่ตอนนี้ใช้ชีวิตวัย 72 ปี อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้เราค้นพบบางอย่าง เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการแต่งเพลงคนกับควายที่น่าสนใจ เพราะเบื้องหลังของเพลงมาจากความรู้สึกลึก ๆ ในสภาวะสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

อาจารย์สมคิด เล่าย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร มีการแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อไปรบประเทศเพื่อนบ้านแถบอินโดจีน ในเวลานั้นบ้านเมืองเรามีความเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเผด็จการภายในประเทศตัวเองยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร ขณะเดียวกัน มีกระแสต่อต้านสงครามในอินโดจีน ทั้งบ้านเราและขอบเขตทั่วโลก แม้กระทั่งอเมริกาก็ลุกขึ้นมาต่อต้านสงครามเวียดนาม เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านงานศิลปะ อย่างบทเพลง มีศิลปินเพลงอเมริกาหลายคน ที่แต่งเพลงขึ้นมาด้วยเนื้อหาที่ต่อต้านสงคราม โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม

ซึ่งในช่วงนั้น อาจารย์สมคิดยังเป็นวัยรุ่น เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อยู่ในแวดวงศิลปะ เป็นคนเขียนหนังสือตั้งแต่เป็นนักศึกษา เกาะกลุ่มกันตามประสาหนุ่มสาว ใครถนัดดนตรีเอาดนตรีมาเล่น ใครไม่ถนัดดนตรีก็อาจจะเขียน ซึ่งเวลานั้นบทเพลงที่สุรชัยมักจะหยิบยกมาเล่นคือเพลงของศิลปินอเมริกาที่เขียนต่อต้านสงครามเวียดนาม คือเพลง  Masters of War ของ Bob Dylan ได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เลยเกิดความคิดที่ว่า เราน่าจะใส่เนื้อร้องภาษาไทยขึ้นมาเทียบเคียงกับทำนองเพลงนี้ดีไหม

จากเคยอยู่บ้านนอก ใช้ชีวิตตามท้องไร่ท้องนา แล้วต้องไปเรียนต่อในเมือง อาจารย์สมคิดเล่าว่าเมื่อบรรยากาศพาไป ก็ชวนให้คิดถึงบ้าน คิดถึงวัว คิดถึงควาย ก็เลยเกิดเป็นเพลงคนกับควายขึ้นในปี 2516 ซึ่งน่าจะถูกแต่งก่อนเดือนตุลาคม 2516 แต่เพลงก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งแรกในงานแต่งของเพื่อน ณ โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ  

คนกับควาย จากเพลงในงานแต่งงาน สู่การเป็นบทเพลงสะท้อนแรงงานคนจน

เมื่อวันที่ 14-16 ตุลาคม 2516  รัฐบาลเผด็จการ ถูกโค่นล้มลงไปในยุคจอมพล ถนอม และดูเหมือนว่าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมา 2-3 ปี นับจากเดือนตุลาคม 2516 กระทั่ง 2519 ก็มาเกิดเหตุ 6 ตุลาคม กลุ่มนักศึกษาก็ถูกล้อมปราบครั้งใหญ่ จนทำให้หลายคนต้องลี้ภัยเข้าป่า เข้าดงกันไป เกิดกระบวนการนักศึกษาประชาชนหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่นั่นก็เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ไปแล้ว จากนา เข้าสู่นาครเหมือนเดิม 

“เมื่อเพลงคนกับควายปรากฏตัวออกมาแล้ว เราก็ไปร่วมกิจกรรมสังคม การเมือง ต่อต้านรัฐบาล หรือแม้แต่การเรียกร้อง รณรงค์ประชาธิปไตยในช่วงปี 2516-2518 เพลงนี้แพร่หลายบนเวที ทั้งท้องสนามหลวงหรือในมหาวิทยาลัย เมื่อมีการชุมนุม ถ้าบนเวทีมีภาคบันเทิงการเมือง ก็จะต้องปรากฏเพลงคนกับควายขึ้นมา”

กระทั่งรัฐบาลประกาศออกคำสั่งห้ามนำเพลงคนกับควายมาถ่ายทอด เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารของราชการ โดยเฉพาะทีวี ซึ่งก็มีอยู่น้อยช่องอยู่แล้วในเวลานั้น แต่ขบวนเราก็ไม่ย่อท้อ หลังจากนั้นก็มีวงดนตรีเกิดขึ้นมากมาย อย่างวงคาราวาน กรรมาชน คาราบาว พากันเอาเพลงคนกับควายไปเปิดกันอย่างยิ่งใหญ่ที่สนามหลวง การสั่งห้ามจึงถูกยกเลิกในเวลาต่อมา

คนจน การเมือง การต่อสู้ 

ในตอนนั้นเกิดขบวนการสามประสาน ซึ่งก็ประกอบไปด้วย ชาวนา กรรมกร นักศึกษา ถูกจัดอยู่ในซีกส่วนฝั่งซ้าย ขัดแย้งกับฝั่งขวา ซึ่งตอนนั้นมีขบวนการนวพล ซึ่งเป็นขบวนการโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายขวาจัด รักชาติ นับถือศาสนาพุทธ และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

“เกิดขบวนการขวาพิฆาตซ้ายขึ้นมา นักศึกษา ประชาชนถูกลอบฆ่าและทำร้าย ผมเองก็เคยถูกลอบยิงที่บ้านซับแดง จ.ขอนแก่น  หลังจาก 14 ตุลาคม 2516 ผมตัดสินใจหันหลังให้มหาวิทยาลัย และกรุงเทพฯ กลับมาทำอะไรที่ตัวเองคิดฝันที่บ้านกับเพื่อน”

ปี 2516-2519 เป็นช่วงที่เรียกว่าทดลองประชาธิปไตย กระทั่งเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519  

กระบวนการตุลา 2516 ที่ผมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มันคล้าย ๆ กับเราเตะหมูเข้าปากหมา หมายความว่า เราไปโค่นล้มเผด็จการได้ แต่อำนาจกลับเปลี่ยนมือไปตกที่มือนายทุน มันเกิดพรรคการเมือง มีการเลือกตั้งก็จริง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียง ใช้กุศโลบาย เพื่อให้ได้ที่นั่งในสภา และตั้งรัฐบาล และออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของตัวเอง มันไม่ได้ไปไหน แต่มันเป็นเพียงการเปลี่ยนมือจากเผด็จการทหาร เป็นเผด็จการรัฐสภาโดยนายทุน การเอารัดเอาเปรียบชาวนา การเอารัดเอาเปรียบคนจนยังดำรงอยู่ รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป จนตอนนี้ระบบนั้นยังคงอยู่ และยิ่งทวีความรุนแรง เมื่อเกิดลัทธิใหม่ขึ้นมาในแวดวงทุน ที่เรียกว่า ลัทธิทุนนิยม การขูดรีบแยบยลยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้วประชาธิปไตยต้องเดินไปโดยเงื่อนไขที่ไม่ให้เกิดคอร์รัปชัน ทำอย่างไรมันถึงจะไปกีดกันคอร์รัปชันได้ และจะตัดมันออกไปได้ตรงนี้ต่างหาก ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วจะเป็นประชาธิปไตย นายทุนมักใช้คำว่าประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือ แล้วก็ออกแบบการเลือกตั้งให้ตัวเองได้ชัยชนะ ต่อให้กฎหมายจะออกว่า ไม่ให้ซื้อสิทธิขายเสียง แต่ท้ายที่สุดคนเหล่านี้ก็มีวิธีที่แยบยล ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นวังวนอันนี้มาตลอด ฉะนั้น บ้านเมืองเราก็ยังวนอยู่กับเลือกตั้งและยึดอำนาจ 

เว้นช่วงให้เราได้จังหวะถาม ขณะที่การสนทนาเริ่มเข้มข้นขึ้น เราจึงเราพยายามเล่าถึงเรื่องแรงบันดาลใจและกระแส ควายผอมแบกกระสอบ ของนักศึกษาเพาะช่าง ที่มีการเลือกใช้สัญญะเล่าผ่านงานศิลปะเช่นเดียวกับเพลงคนกับควาย  

คิดว่าทำไมคนรุ่นใหม่ยังเปรียบเทียบการใช้ควายแทนแรงงาน

เพราะสถานการณ์ยังไม่ได้เปลี่ยน การเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมระหว่างชนชั้นยังมีอยู่ ฉะนั้น เนื้อหาสาระยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ ที่น้องเขาใช้งานประติมากรรมสะท้อนแนวคิดนี้ ต้องใช้คำว่าเป็น พลานุภาพ ของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพลง งานปั้น งานเขียนภาพ ก็เป็นอำนาจของศิลปะ แม้แต่นักร้อง ก็เอาเรื่องลูกชิ้นปิ้งยืนกิน ข้าวเหนียวมะม่วง เขาใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ อย่างเยี่ยม (เจ้าของผลงานควายผอมแบกกระสอบ) ที่ใช้ประติมากรรม งานปั้นเป็นเครื่องมือสะท้อนสะเทือนได้เหมือนกัน

อย่างผมเขียนเพลงคนกับควายก็เป็นศิลปะแนวคีตกรรม แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเริ่มจากงานวรรณกรรมก่อน ก่อนจะกลายเป็นงานชิ้นอื่น ๆ แต่นั่นล้วนเป็นพลานุภาพของศิลปะ 

มันสะท้อนให้เห้นว่า การเอารัดเอาเปรียบในสังคมยังไม่หายไปไหน มันยังดำรงอยู่ แต่รูปการณ์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตอนผมเป็นหนุ่ม และยุคนี้ก็ต่างกัน วิธีการเปลี่ยนไป แต่เนื้อหามันยังคงอยู่ ตราบใดที่ปัญหานี้ยังอยู่ การต่อต้าน การขัดแย้งยังอยู่เหมือนเดิม

ทำอย่างไรให้มายาคติแบบนี้หายไป และเป็นไปได้ไหม?

มันไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของใครได้ เพราะมันเป็นความเป็นจริงในสังคม หากสังคมยังเอารัดเอาเปรียบกันแบบนี้ ความขัดแย้งนี้ยังอยู่เพียงแต่ว่ารูปการณ์เปลี่ยนแปลงไป 

ท่อนไหนที่สะท้อนหัวใจของเพลงได้มากที่สุด?

กระฎุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น ชนชั้นชาวนาจึงต่ำลง น่าจะเป็นตรงนี้ แต่ความเข้าใจของผมในช่วงนั้น กระฎุมพีในตอนนั้นคลาดเคลื่อนไปนะ ความจริงคำว่าชนชั้น กระฎุมพี ยังไม่ใช่นายทุน

แล้วกระฎุมพีที่อยากสื่อสารคือใคร? 

ก็อยากจะสื่อสารจริง ๆ ก็นายทุนนั่นแหละ เป็นคนกินแรงแบ่งชนชั้น เราก็มองเห็นโรงสี เป็นคนรับซื้อข้าวชาวนาไปสีเป็นข้าวสารและขาย โรงสีกดราคาข้าวเปลือก โรงสีคือใคร คือนายทุน คนขายข้าวก็คือชาวนา ทำไมชาวนาต้องเอาข้าวไปขาย เพราะต้องการได้เงินไปซื้อปัจจัยอย่างอื่น ตราบใดที่ชาวนาต้องการเอาเงินไปซื้อปัจจัยอย่างอื่น ก็จำเป็นเอาข้าวไปขายวนอยู่อย่างนี้ นอกเสียจากเปลี่ยนความคิด ปลูกไว้กินไม่ต้องเอาไปขาย ถ้าชาวนาไม่ขาย คนที่ไม่ทำนาจะกินอะไร รวมถึงนายทุนด้วย แต่ว่าวันนั้นจะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม 

จากคนกับควาย สู่การพูดถึงการเมือง ชนชั้นทุน?

มันเป็นองค์ความรู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง ควายเวลานี้กับควายสมัยนั้นไม่เหมือนกันแล้ว สมัยนี้ไม่มีใครเอาควายมาไถนาแล้ว ใช้เครื่องยนต์กลไกหมด ควายสมัยนี้เป็นควายไม่ไถนา แต่เขาเลี้ยงเป็นควายงามราคาเป็นแสน เป็นล้าน 

ควายถูกเป็นสัญญะความจน 

ใช่ เพราะโดยนามคำว่า ควาย ของมัน ยังไม่เปลี่ยน คนก็ยังมีจินตนาการว่าควายก็คือสัตว์ที่ถูกคนนำมาใช้แรงงานเหมือนเดิม ยังไม่เปลี่ยน แต่จริง ๆ คนไม่ได้ใช้ควายมาใช้แรงงานในเวลานี้ แต่กลับนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงทางเศรษฐกิจมากกว่า อย่างผมเองเลี้ยงไว้ก็ไม่เคยจะได้เอามันมาไถนา เลี้ยงไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์ให้รู้ว่ายังมีควายอยู่ ให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นควายตัวเป็น ๆ เดินไปเดินมาตามท้องไร่ท้องนา

ช่วงท้ายของบทสนทนา อาจารย์เล่าว่า ตราบใดที่เนื้อหาชีวิต ยังมีการเอารัดเอาเปรียบกันแบบนี้ นั่นก็คงจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ในความเป็นจริง บทบาทของควายในทางเศรษฐกิจมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว จากที่เคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการใช้แรงงานในสมัยก่อน ตอนนี้น้อยนักที่จะเหลือคนที่เอาควายมาไถนา แปลว่า ความหมายของควายในความนึกคิดของคนทั่วไปยังไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นจริงในสังคม การเอารัดเอาเปรียบกันมันยังคงดำเนินอยู่

และหากถามว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของอนาคต มันคงต้องเป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อไปที่ต้องถามตัวเองและต้องตอบตัวเองให้ได้ว่ามันจะมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน กับสังคมในอุดมคติที่เราต้องการและไม่มีการเอารัดเอาเปรียบเหมือนรุ่นพ่อแม่ ที่นับวันแก่เฒ่าเคยประสบมา ฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ ฝากไว้กับอนาคต 

เพียงแต่ว่าคนรุ่นใหม่อย่าดูเบากับประวัติศาสตร์ ควรจะต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ ให้ถึงแก่นแท้ไม่เพียงแต่แวบเดียว ให้ไปลงลึก ถึงแก่นแท้

“เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนรุ่นผมก็ถือว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่มาถึงสมัยนี้ ผมกลายเป็นคนรุ่นเก่าไปแล้ว อยากจะฝากว่าคนรุ่นใหม่ยุคนี้กลับไปดูคนรุ่นใหม่เมื่อ 50 ปีที่แล้วด้วยว่าเขาทำอะไร คิดอะไร แล้วให้กลับไปดูอย่างนักเรียนรู้ อย่างนักประวัติศาสตร์ และไปเข้าใจบริบทโดยรวมว่าเวลานั้นสถานการณ์เป็นอย่างไร แล้วเปรียบเทียบกับยุคสมัยนี้ว่ามันมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม ทำไมมันถึงเกิดสงครามกัน ที่สำคัญย้อนดูประเทศไทยเมื่อ 50 ปีผ่านไป อะไรที่ยังไม่เปลี่ยน และอะไรคือสิ่งที่มันเปลี่ยนไปแล้ว มันถึงจะทำให้เราเข้าใจตัวเองเข้าใจสังคมได้ถ่องแท้ขึ้น”

ขอบคุณภาพจาก สมคิด สิงสง : คนกับควาย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ