เราต่างผ่านอดีต และมีปัจจุบันที่ต่างกัน

เคล็ดวิชา คุยกับคนเห็นต่าง : บทเรียนที่ 2

ทำไมเรื่องการเมือง ศาสนา และการใช้ชีวิต จึงเป็นประเด็นท็อปฮิต ที่ชวนทะเลาะในครอบครัว ระหว่างรุ่นพ่อแม่ กับรุ่นลูก?

การอธิบายความเชื่อ ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ ต่อคนรุ่นเก่า บางครอบครัวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะคุยกันได้ลงตัว

เพราะทุกประสบการณ์ที่ผ่านมา สร้างบทเรียนและความเชื่อที่แตกต่างกันในชีวิต The Active x Thailand Talks คุยกับ ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองความเห็นต่าง ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ผ่านกรอบคิด “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” เพื่อสร้างความเข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรม ประสบการณ์ ไปจนถึงพฤติกรรมของคนในสังคม ที่ตอกย้ำ “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น หรือ Generation Conflicts” 

คนรุ่นเก่า – คนรุ่นใหม่ “แตกต่าง” ตั้งแต่นิยามคำ

ผศ.ธานี เริ่มต้นชวนคุยผ่านคำ 2 คำ คือ “ความแตกต่าง” และ “ความขัดแย้ง” โดยมองว่าสังคมไทย อาจจะไม่คุ้นกับคำว่าแตกต่าง แต่มองว่าเท่ากับคำว่าขัดแย้ง เพราะมักจะให้คุณค่ากับสิ่งที่คิดเหมือนกัน เป็นคุณค่าร่วมกันของกลุ่ม ที่ชี้นำคุณค่าส่วนบุคคล สิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดี แต่ส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าความไม่เห็นต่างกันเลย ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข 

ก่อนจะบอกว่าคำว่า “ความขัดแย้ง” เป็นตัวแทนของความเห็นต่าง ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นได้ดีที่สุดเพราะ ความหมายของคำนี้ กับคนรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่ในสังคม แตกต่างกัน 

เมื่อการทดลองของเขาถามกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ว่าความขัดแย้งคืออะไร? 

คนรุ่นใหม่ ตอบว่า เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน และเป็นเรื่องปกติ บางคนมองเป็นความสร้างสรรค์ ความร่วมมือ และแสดงถึงเสรีภาพในการแสดง ในขณะที่คำเดียวกันนี้ เมื่อไปถาม ผู้ใหญ่ เกือบทั้งหมดที่ตอบคำถาม จะตอบว่า สิ่งนี้ คือความวุ่นวาย ความไม่สามัคคี เป็นปัญหาที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ไม่รับฟังซึ่งกันและกัน

ผศ.ธานี อธิบายเพิ่มเติมว่า คำตอบของคนทั้งสองกลุ่ม ไม่มีใครถูกหรือผิด แต่เป็นการให้ความหมายของคำที่ไม่เหมือนกัน สะท้อนว่าแค่คำเดียวกัน ก็มีความรู้สึกที่ต่างกันแล้ว คนรุ่นใหม่ จะให้ความหมายของการกระโจนเข้าหา (IN) คือ มองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเผชิญหน้าได้ แต่คนรุ่นเก่านั้น ให้ความหมายในเชิงการกระโจนออก (OUT) โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ควรหลีกเลี่ยง

“เมื่อคนรุ่นใหม่มองในมิติของการกระโจนเข้าหา ถ้าจะแก้ความขัดแย้งได้ ต้องแก้เชิงโครงสร้าง มีพื้นที่ของการพูดคุย ที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ผู้ใหญ่ที่มองเป็นปัญหา จึงเห็นแค่ความวุ่นวาย และไม่รับฟัง จึงไม่แปลกที่คนดีสำหรับในยุคสมัยหนึ่ง คือ คนที่ไม่สร้างความวุ่นวาย ไม่สร้างปัญหา และเชื่อฟังผู้ใหญ่…” 

ผศ.ธานี ยกข้อมูลแสดงอัตราการเกิดของคนในสังคมไทยที่ลดลงเรื่อย ๆ เด็กเกิดใหม่มีน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก ในขณะเดียวกันเราก็เจออัตราของอายุคนที่ยืนยาวมากขึ้น นั่นหมายความว่า คนแก่มีมากขึ้น แต่เมื่อพูดถึงสังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้หมายความเพียงว่ามีแค่คนแก่เท่านั้น แต่สังคมของเราจะประกอบด้วยคนหลายกลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ “เราจะอยู่ร่วมกับคนหลาย Generations”

สิ่งที่ตามมา เมื่อเรามีสัดส่วนคนหลายรุ่นที่ใกล้เคียงกัน จึงเห็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นมากขึ้นด้วย เพราะสมัยก่อนคนแก่ตายไว แต่เด็กรุ่นใหม่เกิดเยอะ จึงไม่มีปัญหา เพราะจะมีคนบางรุ่นที่มีสัดส่วนเยอะมากในประเทศ และมีแนวโน้มที่จะคิดเห็นเหมือนกัน แต่ตอนนี้ ความขัดแย้งสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก แล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง 

คำถามที่สำคัญ คือ เราจะทำความเข้าใจ “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น” ได้อย่างไร ?

ผศ.ธานี เริ่มต้นอธิบายว่า ในชีวิตของเรา เมื่ออยู่ในประเทศใด หรือสังคมใด จะอยู่ภายใต้ 3 โครงสร้างหลัก คือ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ หากสังคมนั้นดี ประชาชนมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยปกติแล้ว ทั้ง 3 เรื่องนี้จะสมดุลกันอย่างมาก หากดีเฉพาะเรื่อง แต่มีบางเรื่องที่พังพินาศ ก็จะไม่สามารถเป็นสังคมที่ดีได้ 

ความขัดแย้งระหว่างรุ่น เป็นมิติเชิงสังคม เพราะมองไปที่ความสัมพันธ์ของคน แต่หากอยากรู้ว่าความแตกต่างมาจากไหน ทำไมคนจึงคิดไม่เหมือนกัน ก็สามารพิจารณาในมิติของการเมือง และเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน โดยมี 2 เหตุผลที่ต้องพิจารณา คือ ประสบการณ์ในอดีต และบริบทในปัจจุบัน หมายความว่า อดีตผ่านอะไรมาบ้าง และปัจจุบันเราอยู่กับอะไรบ้าง 

ประสบการณ์ทางการเมืองในอดีต โดยมองไปที่รัฐบาลของประเทศไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นไทม์ไลน์ของการเมืองไทยที่ชัดเจนว่า คนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ตอนที่มีอายุ 7 ขวบ (ผศ.ธานี อธิบายว่า มนุษย์จะฟอร์มความคิดหลักตอนที่มีอายุก่อน 7 ขวบ จากการรับรู้ และการมองเห็น) คนเหล่านี้อยู่ในยุค ทักษิณ ชินวัตร, สุรยุทธ์ จุลานนท์, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“เขาโตมาในยุคความขัดแย้งทางการเมือง และสังคมที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพอยู่ตลอดเวลา โตมาท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ที่สำคัญ คือ เขาเห็นว่าการเรียกร้องทางการเมือง ด้วยกระบวนการแบบนั้นมันได้ผล… แล้วทำไมเขาถึงจะเรียกร้องบ้างไม่ได้?”

ขณะเดียวกัน คนที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ตอนที่เขาอายุ 7 ขวบ คนเหล่านี้โตมาในยุคที่รัฐบาลครองอำนาจยาวนานที่สุด คือ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จึงไม่แปลกถ้าหากถามคนกลุ่มนี้ ว่าวีรบุรุษในใจเขาคือใคร คนจำนวนหนึ่งจะตอบว่า “ป๋าเปรม” ซึ่งไม่ผิด เพราะในยุคนั้นชอบความสงบ ความสามัคคี ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม คนจำนวนหนึ่ง จึงเห็นความสงบเป็นความรุ่งเรือง คือ ความหมายของชีวิต ก่อน ผศ.ธานี สรุปว่า การที่คน 2 กลุ่มมีประสบการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน ทำให้เป้าหมาย และคุณค่าทางการเมืองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับการแสดงออก การเรียกร้อง และวิถีของการต่อสู้บนท้องถนน แต่อีกกลุ่มหนึ่งยังให้ความสำคัญกับความสงบ มีวินัย สามัคคี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ยุคเศรษฐกิจ “เฟื่องฟู” และ “ตกต่ำ” สร้างความหวังที่แตกต่าง

อีกหนึ่งเหตุผลที่ส่งผลให้ความคิดคนแตกต่างกัน คือ ด้านเศรษฐกิจ เพราะ ยุคหนึ่งประเทศไทยมีพัฒนาทางที่เติบโตอย่างมาก ด้วยอัตราเกือบ 10% หรือมากกว่านั้น และแน่นอนว่าหาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน คนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มหาศาล คือ คนที่เป็นผู้ใหญ่ในตอนนี้ แต่คนรุ่นใหม่ เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเรื่อย ๆ จึงไม่แปลกที่เขาจะคำนึงถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และมองว่านโยบายของรัฐไม่ใช่จะนำเงินไปทำอะไรก็ได้ เพราะเศรษฐกิจมันมีขนาดลดลงเรื่อย ๆ 

“เมื่อคนรุ่นก่อน ที่ยินดีกับความสงบสุข แล้วเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ก็จะยิ่งตอกย้ำว่า เพราะ ความสงบจึงทำให้เศรษฐกิจดี ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกันก็ได้ แต่เราเห็นประสบการณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างกันจากอดีตของคน…”

ขณะที่บริบทปัจจุบัน ก็มีความแตกต่างกันด้วย เพราะแม้ว่าเราจะมีสัดส่วนของคนหลายรุ่นในสังคม แต่ในอนาคตคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ จะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่คนกลุ่มที่มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ กำลังควบคุมอำนาจทางการเมือง

ทั้งหมด ผศ.ธานี วิเคราะห์ว่า เนื่องจากพื้นที่ทางการเมืองอาจจะยังไม่เปิดกว้างมากพอสำหรับคนบางกลุ่ม ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเกิดขึ้น ในเมื่อในอนาคตก็มีแต่เขา แต่ทำไมเขาถึงเลือกกำหนดอนาคตตัวเองไม่ได้ แต่คนกลุ่มหนึ่งที่เอนจอยกับวิธีคิดแบบไทยในสมัยก่อน แล้วอยากสร้างสิ่งนั้นแบบลงหลักปักฐานในสังคม เพราะคิดว่าทำแบบนี้จะดีกว่า จึงเป็นการปะทะกันระหว่างคน 2 กลุ่ม เพราะอำนาจในการกำหนดนโยบายอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง และไม่ถูกผ่องถ่ายสำหรับคนอีกกลุ่มที่คิดว่าจะอยู่ในประเทศนี้ได้นานกว่า

ในมุมทางเศรษฐกิจปัจจุบัน เมื่อต้องมองไปในอนาคต เด็กกลุ่มหนึ่งจะบอกว่า “มีความหวังน้อยมาก” เพราะ การแข่งขันสูง คนวัยทำงานน้อย และเทคโนโลยีไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น เขาคิดว่าต้องทำงานหนักแน่ ๆ ในอนาคต และงานหนักที่เขาทำ กลับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้น้อย ยิ่งกังวลว่าต้องดูแลผู้ใหญ่ในวัยเกษียณ ยิ่งทำให้มุมมองตรงนี้ต่างออกไป ผศ.ธานี บอกว่า เราจะเห็นทัศนคติที่ต่างกันของคนรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่ในสังคม คือ ต่างกันตั้งแต่อดีตที่เผชิญ และการตีความสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงนำมาสู่ความเห็นต่าง และเราไม่มีกลไกที่จะแก้เรื่องนี้ได้ดีพอ

จะเห็นได้ว่าคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี มองความขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติ และเขามองหากระบวนการจัดการกับความขัดแย้ง ผ่านการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือเปลี่ยนระบบอะไรบางอย่าง ในขณะที่คนที่อายุมากกว่า 55 ปี เขาจะมองเรื่องความสงบ สามัคคี ยอมทำตามคนกลุ่มที่เขามองว่าเป็นเรื่องที่ดี และถูกต้อง คุณค่าของคนกลุ่มนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคล

“เราจะเห็นว่าทัศนคติที่ต่างกันของคนรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่ในสังคม ต่างกันตั้งแต่อดีตที่เผชิญ และการตีความสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงนำมาสู่ความเห็นต่าง และเราไม่มีกลไกที่จะแก้เรื่องนี้ได้ดีพอ ไม่เห็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการเห็นต่างที่ดี จึงเห็นความขัดแย้งเต็มไปหมด แต่เราต้องเข้าใจให้ได้ว่าความเห็นต่างของคน 2 กลุ่มนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นเพราะเขาโตมาแบบนี้ จึงมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน…” 

“ร่วมทุกข์ร่วมสุข – ใจเขาใจเรา” แนวทางลดความขัดแย้ง

ผศ.ธานี กล่าวว่า คนทั้ง 2 กลุ่มนี้ คาดหวังการแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกส่า Trust Crisis หรือ วิกฤตของความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้เกิดความขัดแย้งในที่สุด เมื่อเราคิดว่าอีกกลุ่มหนึ่งเขาคิดไม่ดีแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองเป็นหลัก ขณะที่อีกกลุ่มก็คิดว่าเห็นแก่ตัว และไม่ยอมรับฟัง สิ่งที่รัฐควรทำ คือ Trust Building หรือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน

เพียงแค่มี Participation (การมีส่วนร่วม) และ Transparency (ความโปร่งใส) หมายถึง สร้างการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะถกเถียงกันขนาดไหน ต้องมีพื้นที่ให้พูดคุยกัน ผ่านข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักฐาน กลไกทั้ง 2 อย่างนี้จะทำให้คนเห็นต่างคุยกันได้ โดยไม่ตั้งต้นจากความรู้สึก หรือความคิดเห็น เพราะไม่เช่นนั้นจะคุยกันไม่จบ 

“มันเหมือนคำไทย 2 คำ คือ ร่วมทุกข์ร่วมสุข เพราะเมื่อได้คุยกันแล้ว หากได้จะได้ด้วยกัน หรือเสียก็จะเสียร่วมกันเมื่อเรารู้ข้อมูลของอีกฝ่าย มันคือ ใจเขาใจเรา เราจะรู้ว่าเขาทำอะไรหนักแค่ไหน หรือคิดอะไรอยู่ ถ้าจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ 2 เรื่องนี้สำคัญมาก”

แม้ข้อเท็จจริงจะมีหลายชุด แต่ ผศ.ธานี มองว่า เราต้องคุยกันพื้นฐานของหลักฐานและข้อมูลเป็นหลัก แต่ปัญหาตอนนี้คือ คุยกันบนการตีความข้อเท็จจริง ซึ่งนั่นก็คือความคิดเห็นบางคนตีความจากการรับฟังมา แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างถอยออกมา แล้วเห็นข้อมูลทั้งหมด สุดท้ายการถกเถียงที่ยังอยู่บนแนวคิด จะกลับมาสู่ข้อเท็จจริง และอันนี้มีประโยชน์กับการพัฒนาสังคมในอนาคต มีโอกาสเป็นไปได้ ที่ความจริงไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ข้อเท็จจริง ถ้าเป็นแบบนี้จะตัดสินยาก กลไกสำคัญจะกลับไปที่ “ประชาธิปไตย” อาจไม่ใช่การเลือกตั้งขนาดใหญ่ แต่เสียงส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับเรื่องไหน แปลว่าข้อเท็จจริงนั้นมีแนวโน้มที่จะใกล้เคียงกับสังคมมากกว่า 

สังคมไทยให้คุณค่ากับ “ความลับ” มากกว่า “โปร่งใส”

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในสังคมไทย คือ คุณค่าไม่ได้อยู่ที่การเปิดเผย แต่คุณค่าอยู่ที่ความลับ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมีความลับเยอะ จะมีอำนาจมากกว่า เพราะเมื่อมีอำนาจ แล้วไม่ทำตามระเบียบ ปกปิดข้อมูล ไม่ยอมแสดงผล ยิ่งอยู่ระดับสูงทางอำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความเป็นส่วนตัวมากเท่านั้น และในอีกด้านหนึ่งของความเป็นส่วนตัว คือ ความลับ เราอยู่กันแบบนี้ได้ เพราะเราเคารพและให้เกียรติผู้มีอำนาจ เลยไม่มีการตรวจสอบ 

แต่คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นความเท่าเทียมกัน เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมตรวจสอบไม่ได้ เราทุกคนเท่าเทียมกันต้องทำได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ตอนนี้คุณค่ากำลังจะเปลี่ยนจากความลับ และการเคารพนผู้มีอำนาจ มาสู่โครงสร้างที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ อาจใช้เวลาในการเปลี่ยนเรื่องนี้

“สังคมควรให้ความสำคัญกับกลไกในการแสดงออกซึ่งทัศนคติ และเป็นกลไกที่จะตัดสินว่า ทัศนคติไหนที่จะเหมาะสมที่สุดกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของสังคมในยุคสมัยนั้น ๆ แปลว่าความขัดแย้ง แม้จะมีมากมายแค่ไหนไม่เป็นไร ถ้าเรามีกลไกที่ดีพอ ที่จะรวมเอาทัศนคติของทุกคน แล้วบอกได้ว่าเรื่องไหนได้รับการยอมรับมากน้อยกว่ากัน…” 

และนี่ก็คือ ประชาธิปไตย ที่เป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แค่การอยากออกไปกินข้าวมื้อถัดไป แล้วใช้สิทธิออกเสียงในการแสดงความคิดเห็น ผ่านกลไกของการยกมือ เพื่อบอกว่าเราจะไปที่นี่ด้วยกัน เรายังเห็นไม่มากเท่าไหร่ในสังคมไทย และที่ผ่านมาเราถูกกดทับด้วยค่านิยม Seniority หรือ วัยวุฒิ เข้ามาชี้นำ จึงเห็นการมีส่วนร่วมได้ยาก ถ้าเราอยากมองการพัฒนาระยะยาว ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

เมื่อทุกคนอายุเยอะขึ้น มีโอกาสที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น คนในรุ่นที่ไม่ได้เติบโต มาจากความหลากหลาย ไม่ใช่เรื่องปกติที่เขารับรู้ เขาจึงมีตัวตนของเขาบนพื้นฐาน “ความเหมือน” กับคนอื่น ที่มายืนยันความเชื่อนั้น อาจไม่ง่ายนักที่จะทำให้เขายอมรับความเห็นต่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะเห็นคนที่โตขึ้นมาพร้อมความเห็นต่างมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะไปในทิศทางนี้โดยอัตโนมัติ สิ่งที่สังคมและภาครัฐควรทำตอนนี้ คือ การสร้างกลไก หรือพื้นที่ซึ่งเขาจะแสดงความเห็นต่าง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนสามารถหาข้อตกลงในความเห็นต่างนั้นให้ได้

  • The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์