จุดเปราะบางของคนสองรุ่น

Thailand Talks 2023 #เห็นต่างคุยกันได้

“ผมเป็นนักสู้ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ต้องต่อสู้เพื่อที่จะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นนักเรียนรู้ ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากจะขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าตลอดเวลา พัฒนาตัวเอง ฝ่าฟันอุปสรรค ชีวิตผมไม่ได้ลำบากที่สุด แต่ก็ไม่ได้สบาย ดูเหมือนมีโพรไฟล์ดี เป็น high flyer แต่มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น จริงอยู่ว่ามีสิ่งที่อำนวยความสะดวก และโอกาสในชีวิตหลายอย่าง แต่การมีสิ่งนี้ก็ทำให้ชีวิตยากขึ้นด้วย ประสบความสำเร็จก็มี ล้มลุกคลุกคลานก็เยอะ มีความไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกตัวเองยังดีไม่พออยู่เสมอ เป็นมุมที่คนอื่นไม่ค่อยเห็น”

‘สันติธาร เสถียรไทย’ อธิบายตัวเองแบบนั้น การท้าทายต้วเองและการก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลาดูเหมือนจะเป็นดีเอ็นเอของเขาอย่างไม่มีอะไรปฏิเสธได้ ลองดูโพรไฟล์ของเขา

  • Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Sea Group ที่เป็นเจ้าของ Garena, Shopee และ AirPay และเป็นบริษัทเทคโนโลยี “ยูนิคอร์น” ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
  • เป็นผู้เขียน “Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต” สำนักพิมพ์มติชน
  • เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียธนาคาร Credit Suiss มีหน้าที่วิเคราะห์พยากรณ์เศรษฐกิจและให้คำแนะนำการลงทุนในเอเชีย
  • เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มาช่วยคิดออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 (Global Chief Economist Community)
  • เคยทำงานที่กระทรวงการคลังในประเทศไทย และ Government of Singapore Investment Corporation

ดร.สันติธาร จบปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจ จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

จบปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และโทจากมหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Sciences (LSE)

สันติธาร เสถียรไทย

Luck is when preparation meets opportunity

เราต้องเตรียมพร้อม สะสมความรู้ ทักษะ mindset เพื่อที่จะสามารถฉวยโอกาสไว้ได้เมื่อมันมาถึง คติประจำตัวของเขาที่พอจะบอกอะไร ๆ ได้บ้าง และโพรไฟล์ด้านบนเป็นเหมือนโทรฟี่สำหรับความสำเร็จ แต่ในระหว่างทางเขามองโลกอย่างไร รวมทั้งบทบาทล่าสุดที่เขาแบ่งเวลามาทำเรื่องความขัดแย้งและความเห็นต่างระหว่างรุ่น คุณมีความฝันวัยเด็กบ้างไหม

ผมไม่แน่ใจว่าวัยเด็กฝันอะไร มันไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ที่แน่ ๆ คือมองคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบ ได้แรงบันดาลใจหลายอย่างจากท่าน ทำให้ผมอยากเป็นคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี ๆ ได้ในสังคมที่ตัวเองอยู่ ไม่ว่าจะในทีมที่ทำงานอยู่ ในระดับบริษัทองค์กร หรือในระดับประเทศ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ขนาดของความฝันก็อาจจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของชีวิต

จำได้ว่าผมเคยฝันอยู่ลึก ๆ ว่าผมอยากไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ตอนเด็ก ๆ เคยมีรูปถ่ายกับคุณพ่อที่ Havard Yard แล้วก็มีความฝันว่าอยากไปยืนอยู่ตรงนั้น โดยที่ตัวเองเป็นคนใส่ครุยปริญญา ซึ่งฝันนี้ก็บรรลุแล้ว นอกจากนั้นผมอยากเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางเดินใหม่ ๆ พื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครไปมาก่อน ซึ่งมันเป็นการกำหนดเส้นทางชีวิตผมเหมือนกัน อย่างผมเป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอก สาขานโยบายสาธารณะ ที่ Havard Kennedy School หลังจากนั้นทำงานในภาคการเงินระหว่างประเทศ ที่ไม่ค่อยมีคนไทยทำมากนัก ซึ่งทำให้ผมเลือกเดินทางนี้ ผมอยากพิสูจน์ตัวเองเหมือนกันว่าผมจะไปได้ไกลแค่ไหน ต่อมากระโดดจากภาพการเงินมาภาคเทคโนโลยี

ผมคิดว่ายิ่งเดินทางแตกต่างยิ่ง unique คนอื่นก็ทำไม่ได้ การท้าทายตัวเองแบบนี้มันอาจจะอยู่ในดีเอ็นเอของผมก็ได้

ทำไมถึงกระโดดข้ามสาย เศรษฐศาสตร์มาการเงิน และต่อมาเทคโนโลยี คุณคิดว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ผมก็ไม่ได้วางแผนชีวิตขนาดนั้น จำได้ว่าผมเริ่มสนใจโลกตอนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ผมสนใจเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม ผมเกิดคำถามว่าประเทศที่ทะเยอทะยานจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ทำไมพลาดได้ขนาดนี้ ตอนนั้นผมกำลังไปเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ เพื่อนฝรั่งมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ว่าเป็นตัวปัญหาเศรษฐกิจ (หัวเราะ) ผมพยายามอธิบายนะ แต่ผมไม่มีความรู้พอที่จะทำอย่างนั้นในตอนนั้น อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์

ทำไมการเงิน? ตอนเด็ก ๆ ผมไม่ชอบการเงินมาก ๆ เรียนแย่มาก ไม่อยากทำงานสายนี้ แต่มีโอกาสได้ไปทำงานเกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศสมัยทำงานอยู่กระทรวงการคลัง กลับมีความสนใจมากขึ้น สนใจการเงินเชิงนโยบาย ตอนทำปริญญาเอกก็เลือกหัวข้อทางด้านการเงิน ระหว่างเรียนก็ฝึกงานบริษัทการเงิน กองทุน ไปด้วย คือผมคิดว่าเวลาเรามองจากมุมวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กับมุมมองด้านนโยบาย มันยังให้ภาพที่ไม่ครบ ผมอยากเข้าใจวิธีคิดของคนในแวดวงการเงิน อะไรทำให้เขาคิด และตัดสินใจแบบนั้น ๆ ดังนั้น จะเข้าใจได้จริง ๆ ก็ต้องพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน ตอนนั้นบอกตัวเองว่าคงอยู่สัก 2-3 ปี แต่ไป ๆ มา ๆ มันมีความท้าทาย และรู้สึกชอบมากกว่าที่คิด เลยบอกตัวเองว่าลองทำงานด้านนี้อีกสักพักตั้งเป้าหมายว่าอยากไต่เต้าขึ้นไปเป็นระดับผู้บริหารที่ดูแลรับผิดชอบทั้งภูมิภาคได้ ซึ่งผมบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว

ส่วนทำไมเทคโนโลยี? คือเทคโนลียีคือสิ่งที่ผมไม่ถนัดที่สุด บทความอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับเทคฯ ผมขอผ่าน ไม่อ่าน แต่ช่วงเวลานั้นมันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเทคโนโลยี ตอนนั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เยอะมาก และผมเพิ่งจะมีลูก ผมถึงเริ่มสนใจเรื่องของอนาคต พอคิดถึงอนาคตของลูก ก็คิดถึงอนาคตของตัวเอง แล้วเราจะมองภาพอนาคตได้อย่างไรถ้าเราไม่ทำความเข้าใจเรื่องดิจิทัล ผมจึงต้องกัดฟันเรียนรู้มัน ตอนผมเริ่มเขียนหนังสือ (Futuration เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต) ผมได้มีโอกาสได้คุยกับคนเยอะมาก แล้วถ้าเราไม่เข้าไปอยู่ในแวดวงของดิจิทัลเราจะไม่เข้าใจมันจริง ๆ ผมเลยเดินหน้าด้วยความสงสัยเข้าไปหา

อะไรที่ทำให้คุณสนใจการปะทะกันของคนแต่ละรุ่น (generation crash)

ผมต้องพบกับความแตกต่างเสมอ ทั้งชีวิตและการทำงาน ทั้งความต่างของรุ่น ความต่างทางวัฒนธรรม ต่างทางความคิด ความเชื่อ และผมต้องทำงานกับคนที่หลากหลาย ผมเห็นปัญหาหลายเรื่อง หลายมิติ ผู้ชนะในบางที่อาจจะเป็นผู้แพ้ในบางที่ก็ได้ และผมเป็นคนรุ่นกลางต้องทำงานกับผู้ ใหญ่และคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมก็ให้ความเคารพกับคนทั้งสองรุ่น ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างรุ่น ระหว่าง culture

คุณคิดว่าจุดที่เปราะบางมากที่สุดของคนสองรุ่นคืออะไร

ผมคิดว่าสิ่งที่เปราะบางที่สุด คือ ความมีอคติระหว่างรุ่น เราคาดหวัง และมีอคติต่อคนรุ่นอื่นว่าพวกเขาจะมีความคิดต่อเรื่องหนึ่ง ๆ อย่างไร แต่ในความเป็นจริงมันไม่จำเป็นต้องต่างกันเสมอ คนรุ่นใหญ่อาจจะคิดเหมือนคนรุ่นเล็กก็ได้ หรือในทางกลับกัน ความแตกต่างระหว่างรุ่นไม่ได้หมายถึงทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างกันเพียงอย่างเดียว มันมีทัศนะทางสังคมวัฒนธรรม หรือในประเด็นอื่น ๆ แต่มันมักจะถูกเชื่อมโยงเข้าสู่การเมืองเสมอ โดยสรุปแล้วผมคิดว่ามันเป็นปัญหาเรื่องการไว้ใจซึ่งกันและกัน (TRUST)

เราจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันยังไง

ความพยายามลดความขัดแย้ง ต้องเข้าใจก่อนว่าการปรองดองไม่ได้แปลว่าต้องทำอะไรเหมือนกัน สมานฉันท์ไม่ได้แปลว่าต้องคิดเหมือนกัน ความแตกต่างเป็นสิ่งที่โอเค ความพยายามแก้ไขความขัดแย้งโดยการทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนแต่ละรุ่นเกิดมาในบริบทเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ต่างกัน ทำให้คนคิดไม่เหมือนกัน มองโลกต่างกัน

ผมมักจะพูดเสมอว่า Disruption เกิดจากเสียงที่เราไม่ได้ยิน สังคมหรือองค์กรถูก disrupt เพราะเราไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเสียงของความเปลี่ยนแปลง เป็นคำเตือน หากไม่ฟังก็จะทำให้องค์กรไม่สามารถปรับตัว เมื่อไม่ปรับตัวจึงเกิดสิ่งที่ใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเข้ามาแทนที่สิ่งเก่าที่ล้าสมัย

ทำอย่างไรเราถึงจะได้ยินเสียงแห่งความเปลี่ยนแปลง

การจะได้ยินเสียงเหล่านี้ สังคมหรือองค์กรต้องมีผู้ฟังที่ดีที่หลากหลาย เพราะคนแต่ละรุ่นได้ยินเสียงคนละแบบ ดังนั้น เราจึงควรมีคนหลายรุ่นในองค์กรเพื่อช่วยกันรับฟังเสียงของความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันการได้ยินเสียงคนละแบบของคนต่างรุ่นนี่เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งหากทั้งสองรุ่นนำข้อดีของแต่ละรุ่นมารวมกันองค์กรก็ไปได้ดี โอกาสที่ถูก Disrupt ก็ลดลง ดังนั้นความแตกต่างเป็นเรื่องที่ดี ที่จำเป็น และไม่เสมอไปที่ความต่างคือความขัดแย้ง

เราจะสร้าง TRUST ระหว่าง generation อย่างไร

การจะสร้าง Trust มันมีขั้นตอนที่เราเรียกว่า 4E เพื่อช่วยลด tension ; Empathy Equlity Eco-System Express :

Empathy คือ ความเข้าอกเข้าใจว่าเราอาจจะเกิดมาในโลกกันคนละใบ ในบริบทในเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ต่างกัน ทำให้เรามองโลกกันคนละแบบ

Equality คือ ความเท่าเทียม เราต้องเข้าใจและยอมรับก่อนว่า คนเท่ากัน ให้ความเคารพที่จะไม่มองว่าอีกฝ่ายเป็นเด็กเมื่อวานซืน หรือเป็นคนรุ่นไดโนเสาร์ คนเท่ากันแต่เกิดเร็วช้ากว่ากันเท่านั้นเอง

Eco System คือ วิธีคิดของคนรุ่นใหญ่ที่มักจะยึดติดกับตัวบุคคล จะคิดว่ามีคนดีอยู่ในหลายตำแหน่งสำคัญขององค์กร จะเป็นสิ่งที่ดี แต่คนรุ่นเล็กมองที่ระบบที่เป็นธรรม การเปลี่ยนแปลงที่ระบบ บางทีคุยคนละเรื่องเดียวกัน

Express คือ พวกเขามีวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกัน คนรุ่นใหญ่มักเจรจากันแบบประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่พูดตรง ๆ มีอะไรก็ไปคุยกันนอกรอบ นี่คือคนไทย คำนี้มีปัญหานิดนึงต้องเติมว่า นี่คือคนไทย “สมัยก่อน” แต่คนรุ่นใหม่ชอบพูดตรง เพราะชอบความตรงไปตรงมา วิจารณ์กันต่อหน้า ขวานผ่าซาก หรือบางทีถูกมองว่าพูดไม่เพราะ ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน สามารถเป็น deal breaker ได้เลย เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนรุ่นเล็กเขามีความรู้สึกไม่มีใครฟังปัญหาของเขา เขาอาจจะเคยเข้าตามระบบ แต่ปัญหามันไม่ถูกแก้ ปัจจุบันพวกเขาอยู่ในโซเชียลมีเดีย เขาคิดว่าหากเขาต้องการเปลี่ยนแปลง ถ้าเขาสามารถทำให้ประเด็นนั้น ๆ เป็น viral ปัญหาจะถูกแก้ทันที แต่การจะทำให้ viral ได้มันต้องแรง แหลม ซึ่งพอพวกเขาชินกับ culture แบบนั้นในชีวิตจริงมันเลย แหลม ทิ่มแทง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหามันอยู่ที่วัฒนธรรม social media อย่างเดียว แต่ปัญหาคือช่องทางปกติมันไม่มี ถ้าปลดล็อกตรงนี้ได้การสื่อสารข้ามรุ่นอย่างเข้าอกเข้าใจก็เป็นไปได้

ซึ่งขั้นตอน 4E มันเป็นทักษะ มันจึงต้องการการฝึกฝน ใช้เวลา

แล้วเราจะจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นได้ยังไง คนรุ่นใหญ่อย่างไรก็มีอำนาจมากกว่ารุ่นเล็ก

ผู้ใหญ่ต้องเริ่มทำก่อน ต้องโน้มเข้าหาเด็ก เพราะเขามีอำนาจมากกว่า ซึ่งมันจะต้องทำ 3 วิธีเพื่อสร้างเป็นสะพานเชื่อม

  1. ต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น คนรุ่นเด็กไม่มีใครแปลกใจเรื่องนี้ แต่ผู้ใหญ่คิดว่าไม่มี เพราะคิดว่าถ้าเราคุยกันเรื่องนี้ก็จะโยงการเมือง
  2. ต้องเข้าใจว่าการสร้าง Trust มันใช้เวลาต้องค่อย ๆ สร้าง เปรียบเหมือนเรามีแผล ต้องค่อย ๆ รักษา ใช้เวลา ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ
  3. การสร้าง Trust คือ ไม่ใช่ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน การปรองดอง การสมานฉันท์ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดเหมือนกัน เรากำลังซ่อม “ความสัมพันธ์” ซึ่งมีความแตกต่างแต่สามารถคุยกันได้ ไม่ต้องเห็นเหมือนกันแต่เข้าใจกัน

ถ้าความขัดแย้งระหว่างรุ่นยังดำรงอยู่ต่อไป เราจะเผชิญหน้ากับอะไร

ถ้าเราไม่สามารถสลายความขัดแย้งได้ เราจะขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้ Trust เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะในสังคมที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ การที่สังคมเผชิญกับวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ จำเป็นที่สังคมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น หากเราไม่มี Trust สังคมก็ไม่สามารถแก้ปัญหา หรือปรับตัวได้ ทำให้สังคมเคลื่อนไปต่อไม่ได้ กลายเป็นสังคมที่ล้มเหลว ถ้าไม่มี trust คนรุ่นใหญ่ไม่เชื่อใจคนรุ่นเล็ก กลัวเสียสถานภาพ ยึด status quo เอาไว้ไม่ให้เปลี่ยน หรือคนรุ่นเล็กเห็นว่าคนรุ่นใหญ่ไม่ทันต่อการปรับตัว ช้าเกินไป หรือไม่ไว้ใจคนรุ่นเขา เขาก็ยิ่งจะเข้าไปปรับเปลี่ยนให้เร็วขึ้น เกิดเป็นความแตกหัก ในทางเศรษฐศาสตร์เรามักจะพูดกันว่า ประเทศที่ปฏิรูปไม่สำเร็จเป็นประเทศที่ขาด Trust

  • ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายน 2565

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Thailand Talks 2021 – 2022

Thailand Talks 2023 #เห็นต่างคุยกันได้ #ทอล์กให้เข้าใจแล้วไปต่อ

  • สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://thailandtalks.org/register แล้วเตรียมตัวมาเจอกันวันที่ 26 พฤศจิกายน 2023 ที่ เดอะเกรท รูม ชั้น 29 พาร์คสีลม (The Great Room, Park Silom) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศุภชัย เกศการุณกุล

เป็นช่างภาพพอร์ทเทรต เขียนความเรียงและสัมภาษณ์เพื่อเล่าเรื่องที่ภาพถ่ายทําไม่ได้ และต่อมาทําสารคดีภาพเคลื่อนไหว เพราะอยากได้ยินน้ําเสียงของผู้คน