3 ทศวรรษ สมัชชาคนจน คนจนมีสิทธิ์ได้หรือยัง?

การเคลื่อนไหวที่ยาวนาน…รัฐไทยกับสมัชชาคนจนจะสิ้นสุดที่ตรงไหน

สมัชชาคนจน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ดำเนินมาเกือบ 30 ปี ทว่าการเรียกร้องดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ แม้จะประกาศยุติการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566

8 ตุลาคม สมัชชาคนจนปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน เร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสมัชชาคนจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดินทำกิน แรงงาน ทรัพยากร และปัญหาอื่น ๆ ที่สะสมและคาราคาซังมาหลายทศวรรษ

หลังชุมนุมต่อเนื่องครบ 31 วัน พวกเขาตัดสินใจยุติการชุมนุม แต่ก็พร้อมกลับมาใหม่หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อตกลง ตามที่หัวหน้าทีมเจรจาจากรัฐบาลอย่าง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คำมั่นเอาไว้ว่า “จริงใจ” จะแก้ปัญหาให้ตามที่ได้เจรจาและประชุมร่วมกันไปเมื่อ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

คำว่า “คนจน” อาจเป็นคำที่หลายคนรู้สึกบั่นทอนจิตใจ แต่การที่สมัชชาคนจนเกิดขึ้นมาเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว สิ่งนี้สะท้อนอะไรให้กับสังคมบ้าง แล้วเมื่อไหร่คนจนจะมีสิทธิ์ นี่เป็นคำถามที่สมัชชาคนจนต้องการคำตอบจากรัฐไทยมาทุกยุคทุกสมัย

จากการต่อสู้ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ขยายไปสู่การต่อสู้ของผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และการเคลื่อนไหวที่ยาวนานนี้ทำให้ผู้สานต่ออุดมการณ์เริ่มผลัดรุ่นไป และกลายเป็นการต่อสู้ร่วมกันของคนหลากรุ่น ซึ่งภาพที่เห็นในม็อบสมัชชาคนจนในครั้งนี้มีตั้งแต่ผู้สูงอายุจนถึงเด็กเล็กที่มาปักหลักชุมนุม

จาก สมปอง เวียงจันทร์ ถึง ไพฑูรย์ สร้อยสด แกนนำสมัชชาคนจนสองรุ่น หนึ่ง ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของเขื่อนปากมูล ส่วนอีกหนึ่ง คือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในปัจจุบัน The Active พูดคุยมุมมองการต่อสู้ที่ผ่านมา และการมองความหวังในอนาคต เมื่อก้าวสู่รัฐบาลประชาธิปไตย ว่าปัญหาต่าง ๆ ที่รอการแก้ไขจะได้รับการตอบสนองหรือไม่

คนจนต้องกำหนดอนาคตของตัวเอง

คำขวัญของสมัชชาคนจนที่ว่า “คนจนต้องกำหนดอนาคตตัวเอง” คงไม่เกินจริง เพราะจากคำบอกเล่าของ สมปอง เวียงจันทร์ วัย 74 ปี ที่หลายคนยกให้เธอเป็นไอคอนนิคของการต่อสู้ในกลุ่มสมัชชาคนจน เพราะเป็นนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องมาแล้วหลายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2532 การคัดค้านเรื่องเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี มาถึงปัจจุบัน สมปอง บอกว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาของรัฐทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้นจริงหรือไม่

ในตอนแรกเธอเริ่มต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ในตอนนั้นรู้สึกเจ็บปวดที่ข่าวสารไม่ได้สื่อออกไปสู่สาธารณะ มีการถูกสลายการชุมนุม และการถูกกระทำหลาย ๆ อย่างที่ไม่เป็นข่าว

“การที่เราต่อสู้คนเดียวมันลำบาก แล้วก็เจ็บปวด”

สมปอง เวียงจันทร์

ส่วน ไพฑูรย์ สร้อยสด วัย 40 ปี เข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวเนื่องจากในพื้นที่บ้านเกิดของเขา อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ มีการรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลนำป่าสงวนที่หมดอายุสัญญาเช่าจากบริษัทเอกชน มาจัดเป็นพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทำกิน ประสบปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ซึ่งเขาเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2546 และสืบต่อจากรุ่นพ่อของเขาที่ออกมาเรียกร้อง เขาจึงได้รับรู้ปัญหาในพื้นที่ และเข้ามาช่วยชาวบ้านในชุมชนโดยการทำหน้าที่ประสานงาน

“ชาวบ้านอย่างเรา ถ้าใครมีที่ดินนั่นคือความมั่นคง อย่างน้อยเกิดฝนแล้งหรือน้ำท่วม ที่ดินก็ยังคงอยู่ มันไม่หายไปไหน”

ไพฑูรย์ สร้อยสด

หากเปรียบเทียบระยะเวลาการจัดตั้งสมัชชาคนจนคง เทียบเท่ากับชีวิตคนหนึ่งคน แม้สังคมได้รับรู้ปัญหาของสมัชชาคนจน แต่ไม่ว่ากี่ปีผ่านไป ปัญหาไม่คลี่คลาย จึงเกิดประเด็นที่ว่า ‘เมื่อสังคมเริ่มชินชากับการเรียกร้องของสมัชชาคนจน’

สมปอง บอกว่า ที่จริงแล้วสมัชชาคนจนมีประเด็นใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องเขื่อน เรื่องที่ดิน หรือเรื่องป่าไม้ แต่ยังเรียกร้องไปถึงเรื่องนโยบาย กฎหมาย และ พ.ร.บ. เพื่อให้คนทุกระดับเท่าเทียมกัน และแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งมองว่ากฎหมายที่ผ่านมา คนในสังคมไม่ได้มีส่วนร่วม ควรเปิดโอกาสให้คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรได้มีส่วนร่วมในการจัดการด้วย มีการกระจายอำนาจและโอกาสลงสู่ท้องถิ่น ตอนนี้อำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งอาจทำให้เข้าถึงและตรวจสอบยาก

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนที่ครอบงำเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ยิ่งตรวจสอบยาก ซึ่งปัญหาก็วนเวียนอยู่เหมือนในอดีต ในอนาคตถ้ามีกฎหมายเป็นของภาคประชาชน มีการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาศักยภาพ ชุมชนก็คงจะเข้มแข็งขึ้น รัฐควรจัดการแบ่งสัดส่วนที่ทำกินให้ประชาชนอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งมีหลักประกันอย่างมั่นคงให้ด้วย ให้ความสำคัญว่าชุมชนเป็นผู้ผลิต

“ถ้ารัฐยังมองว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ผลิต ประเทศชาติไม่มั่นคงแน่นอน”

สมปอง เวียงจันทร์

เมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศของม็อบสมัชชาคนจนที่ไม่มีทีท่าว่าจะถอยกลับง่าย ๆ ก็รู้สึกได้ว่าการกำหนดอนาคตของคนจนนั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารประเทศด้วย ซึ่งจากการพูดคุยกับตัวแทนม็อบสมัชชาคนจนทั้งสองคน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การหาข้อตกลงร่วมกับรัฐไทยนั้นยังคงไม่มีบทสรุป…

การเคลื่อนไหวหยุดชะงัก

“ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล กี่ยุคสมัย ข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนก็ยังคงย่ำอยู่ที่เดิม”

สมปอง เล่าสาเหตุที่ทำให้การเคลื่อนไหวหยุดชะงัก เพราะบางรัฐบาลมีอายุไม่ถึง 2 ปีก็ยุบสภา ถูกยุบพรรค เมื่อจะตั้งคณะกรรมการเข้าที่ประชุมเพื่อหารือ รัฐบาลนั้นก็ถูกล้มไปเสียก่อน ทำให้การเรียกร้องยังคงวนอยู่อย่างนี้มาเกือบ 30 ปี

รัฐประหารครั้งล่าสุดในยุค คสช. ยังคงส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน เมื่อมีการออกกฎหมายควบคุมการชุมนุม กฎหมายทวงคืนผืนป่า รวมถึง พ.ร.ก.การประมง ฉบับล่าสุด ซึ่งแน่นอนว่าทำให้การขยับตัวของชาวบ้านลำบากเมื่อต้องใช้แหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ครั้นจะออกมาสู้ก็กลัวกฎหมาย ซึ่งก็มีชาวบ้านไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีหรือมีหมายจับ

ในฐานะแกนนำรุ่นบุกเบิก สมปอง คิดว่าการต่อสู้คงยังไม่หมดไปในเร็ววัน แต่ต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่สมัชชาคนจนเรียกร้อง เพราะในแต่ละยุคก็มีกฎหมายออกมาใหม่เรื่อย ๆ สิ่งนี้อาจทำให้บริบทของสมัชชาคนจนต้องแปรเปลี่ยนไปตามกฎหมาย แม้ตัวแทนของกลุ่มจะผลัดรุ่นไปตามกาลเวลา

ส่วน ไพฑูรย์ ให้ความเห็นว่า การประกาศใช้นโยบายทวงคืนผืนป่า ของ คสช. พื้นที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่แรกที่ถูกดำเนินการ ชาวบ้านพยายามสู้ ทั้งมาประชุมที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ต้านทานไม่ได้ ต้องอพยพออกมาจากพื้นที่ บางคนไม่มีที่ดินสักแปลง หลายคนออกมาก็ไม่เหลืออะไรต้องดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ต่างคนต่างไป กว่าจะกลับมารวมตัวกันได้ก็ต้องใช้เวลา 3-4 ปี

การรัฐประหารทำให้การขยับของสมัชชาคนจนนั้นยากขึ้น เนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับในขณะนั้น แต่เมื่อปี 2562 การเคลื่อนไหวกลับมาขยับอีกครั้ง หลังจากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ในปี 2562 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน และสมัชชาคนจนสามารถเจรจาจนทำให้รัฐบาลยอมรับว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า เป็นนโยบายที่ ‘ผิดพลาด’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเวลานั้น (วราวุธ ศิลปอาชา) ก็ยอมรับ และชาวบ้านต้องได้เงินชดเชยเยียวยา เป็นการปลดล็อกและรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนเริ่มขยับมาอีกก้าว

แต่เมื่อสิ้นสุดรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ กลไกที่เคยดำเนินการสิ้นสุดสภาพลงไปด้วย ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่อยู่ไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไปปักป้าย ยึดที่ดิน และดำเนินคดี เป็นต้น

ส่วนรัฐบาลปัจจุบัน ก็ทำให้รู้สึกว่าบรรยากาศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าได้บรรยากาศแบบนี้ ก็รู้สึกว่าการกลับมาเจรจาของสมัชชาคนจนก็น่าจะมีโอกาสที่ได้รับการตอบสนอง

“รัฐมนตรีชุดนี้ก็ยังเป็นคนเดิมที่รับรู้ปัญหาของเรา เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่รับรู้ปัญหา”

ไพฑูรย์ สร้อยสด

ความหวังของสมัชชาคนจนในรัฐบาลเศรษฐา

บทเรียนจากการเคลื่อนไหวตลอด 30 กว่าปี ทำให้สมปองได้เห็นหลายกรณีที่ทำให้การต่อสู้ของสมัชชาคนจนนั้นยังไม่สามารถสิ้นสุดได้ แต่ก็ได้เพียงหวังว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะค่อย ๆ ถูกแก้ไขไปที่ละเปลาะ และถ้ากฎหมายใด ๆ ที่ถูกครอบงำและไม่ได้ออกมาเปิดเผย ทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าก็ต้องเรียนรู้กฎหมายร่วมกัน เพื่อจะออกกฎหมายและหาทางออกร่วมกัน เพราะนับวันก็เริ่มเห็นปัญหาที่สะสมถูกเปิดเผยออกมา หวังว่ารัฐบาลจะนำหลักการของสมัชชาคนจนที่ทำเป็นแนวทางการแก้ไขให้กับประชาชนในอนาคต

รัฐบาลเศรษฐาแถลงว่ามีกฎหมายที่จะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิในการออกโฉนดได้ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ตนเห็นด้วย เพราะทุกคนจะได้สิทธิเข้าถึงที่ดิน เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. ก็จะได้มาเป็นโฉนด ได้รับการพิสูจน์ว่าพื้นที่นั้นเป็นของใคร และหวังว่าต่อไปการพัฒนาของรัฐต้องเห็นคนก่อน ศักยภาพจึงจะมีความเข้มแข็งขึ้น

“ประเทศไทยต้องมี ‘คน’ แล้วคนก็ต้องอยู่กับ ‘แผ่นดิน’”

สมปอง เวียงจันทร์

ส่วน ไพฑูรย์ มองจากนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้แถลงต่อรัฐสภา คิดว่าเรื่องหลักที่เป็นความขัดแย้งอยู่ก็ยังคงเหมือนเดิม แม้จะมีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดที่ดิน แต่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจริง ๆ เพราะสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. ถึงจะไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ก็สามารถทำกินได้โดยไม่มีใครมาแตะต้องได้ แต่ในกรณีของสมัชชาคนจนเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีสิทธิ์ถึงขนาดนั้น ก็ยังคงเป็นการครอบครองที่ยังไม่มีความแน่นอน ยังอยู่บนข้อพิพาทที่ว่า ที่ดินตรงนั้นควรจะเป็นของใคร

ดังนั้นแล้ว รัฐบาลเองก็ต้องเปิดใจยอมรับนโยบายที่สมัชชาคนจนเสนอด้วย ถ้าการแก้ไขปัญหายังไม่ ‘เห็นหัวคนจน’ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก

เขายังบอกอีกว่าที่สมัชชาคนจนยังคงเคลื่อนไหวอยู่อย่างนี้ เพราะที่ผ่านมาถูกละเมิดจากรัฐ จากโครงการพัฒนา ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยต้องแบกรับภาระ ความสูญเสีย ความไม่เป็นธรรม และความกดดันจากสังคม

“พวกคุณสบาย แต่พวกผมต้องเจ็บ พวกผมไม่มีที่ดินทำกิน คุณคิดว่ามันเหมาะสมแล้วหรือ”

ไพฑูรย์ สร้อยสด

หากมองการแก้ไขปัญหาในรัฐบาลเศรษฐา ภายใต้องค์ประกอบพรรคร่วมต่าง ๆ เขาคิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะทำอะไรได้มากไปกว่านี้…

สมัชชาคนจน

เส้นทางของสมัชชาคนจนยังคงดำเนินต่อไป ปีแล้วปีเล่าที่ยังทวงถาม และแน่นอนว่าเสียงของสมัชชาคนจนก็ถูกส่งถึงหลายรัฐบาลแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่คนจนจะมีสิทธิ์ บทสรุปคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่เวลานี้ คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มีผู้นำชื่อ “เศรษฐา” ที่ต้องรับฟังเรื่องราวของชาวบ้าน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์