‘ราชบุรีโมเดล’ ยาแนวการศึกษาไทย ตีโจทย์ใหม่ ให้เด็กได้เรียน

“รัฐบาลมุ่งมั่นให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา
เราตั้งเป้าหมาย ZERO DROPOUT
แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
พัฒนาการเรียนที่ยืดหยุ่นให้ตรงความต้องการ
เน้นทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต”

คำแถลง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2567

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศเอาไว้ว่า “จะไม่ให้เด็กไทยคนไหนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา” หรือ “Thailand Zero Dropout” เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเล่าเรียนและพัฒนาตนเอง สู่การเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ หาเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นอีกแรงสำคัญสู่การพัฒนาประเทศ เพื่อรับมือกับภาวะแรงงานขาดแคลนในสังคมผู้สูงอายุ

แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปให้ถึงรูปธรรมความสำเร็จอย่างที่นายกฯ ตั้งเป้าหมาย แต่อย่างน้อยความพยายามเหล่านั้น ก็เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วที่ จ.ราชบุรี พิสูจน์ให้เห็นมาตั้งแต่ ปี 2565 เริ่มจากพื้นที่นำร่อง จนกลายเป็น ราชบุรีโมเดล เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ถ้ายังจำกันได้ เดือนตุลาคม ปีก่อน (ปี 2566) The Active เคยลงพื้นที่ และค้นหาความหมายของคำว่า ราชบุรีโมเดล โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ในช่วงวัยรอยต่อขึ้น ม.3

บีม, เปา, พ็อต และ เอ็ม คือ เยาวชนทั้ง 4 คนที่พลัดหลงจากระบบการศึกษา เพราะข้อจำกัดของทางบ้าน และปัญหาทางใจส่วนตัว ต่อมาได้รับการค้นหาและช่วยเหลือจาก โรงเรียนมหาราช 7 อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และภาคีเครือข่ายที่มีส่วนช่วยเหลือ ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสศึกษาต่อในการศึกษาทางเลือกภายใต้ระบบ “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” จากวันนั้น…จนถึงวันนี้

  • เปา เรียนจบรับวุฒิฯ ม.3 แล้ว และเลือกศึกษาต่อในวิทยาลัยเทคนิค

  • พ็อต เรียนจบ ม.3 และเลือกเข้าทำงานต่อ

  • เอ็ม ได้กลับมาเข้าเรียนต่อในโรงเรียน

  • บีม ได้ย้ายไปอยู่ที่ตรัง แต่ยังได้รับการติดตามเสมอจากทางโรงเรียน

นอกจากนี้ ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ได้เรียนจบ และเข้าทำงานต่อด้วยวุฒิฯ ที่พวกเขามี

ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 ผู้ดูแลเด็กที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษา บอกว่า หลังจากที่โรงเรียน ได้นำร่องการจัดการศึกษา “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” มาร่วมปีกว่า ขณะนี้ได้เปิดหลักสูตรเต็มรูปแบบ และมีนักเรียนที่เคยหลุดจากระบบ กลับมาสมัครเรียนใหม่ด้วยใจที่หวังวุฒิฯ ม.3 เป็นขั้นต่ำ

ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง ครูและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7

โดยโรงเรียนได้รับการสนับสนุน มีระบบการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ มีอุปกรณ์การเรียนทางไกลทำให้ขยายผลการช่วยเหลือไปยังเด็กช่วงชั้นอื่นได้นอกจากเด็กมัธยมฯ ต้น นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกกฎทรงผม ให้เด็กไว้ผมยาวได้ เพื่อให้นักเรียนสบายใจต่อการ กลับมาในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง

“มีเด็กหลายคนที่เคยหลุดไป กลับมาสมัครเรียนใหม่ เพราะพวกเขาก็อยากเรียนจบ แต่ที่ผ่านมาการศึกษามันไม่ยืดหยุ่นพอสำหรับพวกเขา พอเขาเห็นว่าเราเปิดโอกาสให้เขาเรียนได้สะดวกมากขึ้น พวกเขาก็ยินดีที่จะเรียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันสนับสนุนให้โรงเรียนมีศักยภาพมากพอที่จะสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ถึง 3 รูปแบบ”

ครูพีช-จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง

แต่ในช่วงที่ผ่านมาของความพยายามแก้ปัญหา ครูพีช ยอมรับว่า โรงเรียนได้ค้นพบโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ เช่น เด็กที่ตกหล่นเป็นเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) แต่ตอนนี้ได้การสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จัดครูสอนประกบที่บ้าน รวมถึงทางเขตพื้นที่การศึกษาเองก็เข้าใจถึงวิธีการดำเนินงานมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาบุคลากร หลักสูตร เพื่อสอดรับกับนโยบาย ราชบุรี Zero Dropout และขยายผลไปยังโรงเรียนคู่พัฒนาข้างเคียงด้วย

การเรียนรู้ตลอดชีวิต : ยาแนวรอยต่อการศึกษา

ช่วงชั้นมัธยมฯ ต้น ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มักเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่เด็กส่วนใหญ่จะตกหล่นไปจากห้องเรียน คำถามคือ เมื่อพวกเขาตัดสินใจก้าวออกจากรั้วโรงเรียน ใคร ? จะรับหน้าที่เป็นผู้ติดตามกลับเข้าสู่การศึกษาอีกครั้ง

ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม

คำตอบอาจเป็นโรงเรียน แต่เด็กที่เคยขยาดห้องเรียนไปแล้ว จะบังคับให้กลับไปเรียนแบบเดิมก็อาจเสี่ยงหลุดซ้ำซ้อนได้ “ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต” จึงเข้ามาเป็นยาแนว เชื่อมรอยต่อการศึกษา ช่วยเด็กหาเส้นทางชีวิตตัวเองกันใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องตีกรอบเฉพาะห้องเรียนเท่านั้น

นี่เป็นบทบาทที่ ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม เชื่อว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยโรงเรียนรับช่วงต่อเด็กที่ตัดสินใจออกจากห้องเรียน มาตั้งต้นและค้นหากันใหม่ว่า เด็กมีเป้าหมายในชีวิตอย่างไร ? อยากเรียนรู้แบบไหน ? และวุฒิการศึกษาแบบใดที่จะพาเขาไปสู่ชีวิตที่เขาต้องการได้ ? ครูติ๊ก จึงเชื่อมั่นว่า เด็กทุกคนมีจิตวิญญาณในการเรียนรู้อยู่เสมอ เพียงแต่โรงเรียนอาจติดกรอบการศึกษาแบบเดิมอยู่

“เราพบว่าเด็กที่ออกมาจากการศึกษา เขาไม่ได้ออกมาด้วยรอยยิ้ม แต่เขาเสียน้ำตา เขาไม่ได้ดีใจฉลองที่ตัดสินใจเช่นนั้น ดังนั้น ศูนย์การเรียนรู้ฯ จะช่วยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เน้นที่กระบวนการฟื้นฟู ปรับพื้นฐานกันใหม่ มากกว่าอัดความรู้ให้กับเขา และเมื่อเขาพร้อมแล้ว ยินดีจะกลับเข้าระบบ เราก็จะช่วยเขาหาเส้นทางที่ตรงกับโจทย์ชีวิตของเขามากที่สุด”

ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง

สำหรับบทบาทของศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังต้องอาศัยการอธิบายอีกมาก เพราะหลายสถานศึกษายังไม่เข้าใจแนวคิด “การศึกษาที่ยืดหยุ่น” ซึ่งครูติ๊ก มองว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนยังติดกับภาพการสอนแบบเดิม แต่เด็กเกิดมามีพรสวรรค์แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าหากสังคมจะตีตราเขาว่าเป็นเด็กมีปัญหา

เขายังหวังว่าครูรุ่นใหม่ จะมีใจที่เปิดกว้าง มองเห็นวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดนี้ ครูต้องมีเวลาได้มีเวลาอยู่กับเด็ก ช่วยเหลือเด็กและได้มองเห็นแววตาเด็กทุกคนได้นานมากพอ

“การศึกษาตลอดชีวิต” คือแนวคิดที่ยืนยัน ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะได้เรียนรู้ เพียงแต่ระบบการศึกษาไทยมีพื้นที่ให้เขาได้กลับไปหรือไม่ ? ครูติ๊ก ยังแบ่งปันว่า ทุกวันนี้โรงเรียนอาจไม่ใช่ความหวังเดียวของชุมชนอีกแล้ว เพราะท้องถิ่นเองสามารถสร้างองค์ความรู้ของพวกเขาได้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ถ้าหน่วยงานช่วยกันเสริมแรง เสริมทุน ชุมชนและเยาวชนก็จะได้พื้นที่ในการพัฒนาร่วมกัน และเยาวชนก็จะไม่หล่นหายไปไหนจากท้องถิ่น

ครอบครัวยากจน-พ่อแม่ห่างลูก : โจทย์ท้าทาย ‘ราชบุรีโมเดล’

ราชบุรี Zero Dropout มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาไทยให้ได้รับการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนและครอบครัวออกจากความยากจนได้ อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จ.ราชบุรี เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีพื้นที่เป็นเขตเมือง เขตกึ่งเมือง รวมถึงมีพื้นที่ติดกับชายแดน ทำให้มีประชากรทั้งไทยพื้นถิ่นราชบุรี ไทยเชื้อสายจีน ไทญวน มอญ เขมร และอื่น ๆ ซึ่งอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคมชนบท สังคมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม แต่งานส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเมืองหลวง

เด็กหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาทางครอบครัวที่จะต้องแยกทางกัน พ่อแม่ต้องทิ้งลูกเพื่อเดินทางไปทำงานในเมือง หรือลูกก็ต้องออกจากห้องเรียนไปทำงานเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้ จึงทำให้พวกเขาไม่ได้เรียนต่อและกลายเป็นแรงงานที่มีค่าแรงต่ำซึ่งจะส่งผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเมืองราชบุรี

ขณะที่เยาวชนชาติพันธ์ุ ก็มีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก และมีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงเผชิญหน้ากับทัศนคติที่ไม่ดีต่อกลุ่มชาติติพันธ์ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกบดบังโอกาสมากกว่าเด็กทั่วไป

โดยสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของ จ.ราชบุรี ตามที่รายงานมีดังนี้

  • เด็กเล็กอายุ 3 – 5 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 3,762 คน

  • เด็กอายุ 6 – 11 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 4,373 คน

  • เด็กอายุ 12 – 14 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 1,804 คน

  • เยาวชนอายุ 15 – 18 ปี ไม่อยู่ในระบบการศึกษา 4,936 คน

การออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นกับชีวิตของผู้เรียนมากขึ้นจึงไม่ใช่แค่ “ทางเลือก” แต่เป็น “ทางรอด” ให้สังคมไทยสามารถโอบอุ้มเยาวชนให้ยังอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้

โดย พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ระบุว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แม้ตอนนี้สถานศึกษาหลายแห่งในราชบุรีเริ่มนำร่องหลักสูตรดังกล่าวแล้ว เช่น โรงเรียนมหาราช 7 แต่ระบบดังกล่าวอาศัยทรัพยากรอย่างมาก ทั้งครูที่ต้องมีเวลาอยู่กับเด็กมากพอ ผู้บริหารที่เข้าใจรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทุนอุปกรณ์การเรียนรู้ที่มากพอ รวมถึงกลไกราชการ ที่เปิดกว้างต่อการออกแบบหลักสูตร จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ? โรงเรียนไม่อาจพัฒนาเด็กได้ตามลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

3 ปีผ่านไป… ‘ราชบุรี Zero Dropout’ ทำอะไรไปแล้วบ้าง ?

ราชบุรีโมเดล ได้ช่วยเหลือไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว 8,769 คน ด้านสถานศึกษาเด็กประถมวัย ได้มีการอบรมอาสาสมัครจำนวน 125 คน และช่วยเหลือและค้นหาเด็กอีก 250 คน ขณะที่กลไกของจังหวัดได้จัดทำระบบข้อมูล Zero Dropout จ.ราชบุรี เพื่อช่วยค้นหา ติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังมีกลไกการช่วยเหลืออื่น ๆ อีก เช่น

  • จัดสรรทุนช่วยเหลือเด็กยากจนและยากจนพิเศษไม่ให้หลุดออกจากระบบ 6,712 คน

  • ช่วยเหลือนักเรียนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาในสังกัด สพป. เขต 1 และเขต 2 สพม. และอาชีวศึกษา 700 คน

  • จัดสรรทุนช่วงชั้นรอยต่อโรงเรียนสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. 18 โรงเรียน 707 คน

  • พัฒนาสถานศึกษาต้นแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตใน 12 โรงเรียน เป็นต้น

สำหรับกระบวนการค้นหา และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และโครงข่ายข้อมูลของทั้งประเทศเชื่อมโยงกันในแต่ละจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะต้องไปสำรวจว่ามีเด็กคนใดหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่

  • หาก “สำรวจไม่พบ” เช่น หาบ้านไม่พบ, เสียชีวิต, ติดคุก หรือย้ายที่อยู่ ก็จะนำข้อมูลใหม่นี้ ไปปรับปรุงสถานะในระบบ “Thailand Zero Dropout”

  • หาก “สำรวจพบ” จะให้เด็กเข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองปัญหา
    • หากเด็ก “ไม่พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา” ไม่ว่าเงื่อนไขใดให้พาเด็กเข้าสู่กลไกเตรียมความพร้อมและฟื้นฟูทางด้านสุขภาพกายและใจ ด้านเศรษฐกิจและสังคม

    • แต่ถ้าหากเด็ก “พร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา” หรือการเรียนรู้อีกครั้ง ก็สามารถให้เด็กเลือกว่าจะเรียนรู้ในลักษณะใด เช่น สายสามัญ หรือสายอาชีพ หรือการศึกษาทางเลือกอื่นที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น การเรียนในศูนย์การเรียนรู้,โรงเรียนมือถือ, บ้านเรียน หรือพัฒนาทักษะกับสถานประกอบการ เพื่อให้เด็กสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองให้มากที่สุด

สิ่งสำคัญของการดำเนินงาน “ราชบุรี Zero Dropout” คือการไม่ตีตราเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่ต้องมองว่าเด็กเหล่านี้เผชิญหน้ากับเงื่อนไขชีวิตที่พวกเขาไม่อาจแก้ไขโดยลำพังได้ เช่น พัวพันกับยาเสพติด, ครอบครัวยากจน, บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกล, มีปัญหาทางสุขภาพกายหรือใจ ฯลฯ

ดังนั้นชุมชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงภาคเอกชน จึงต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ และประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้พวกเขาสามารถได้กลับมาอยู่ในระบบการศึกษา หรือได้อยู่ในการเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นการศึกษาถือเป็นใหญ่ เป็นวาระทางสังคม ที่ตอกย้ำว่าการแก้ปัญหาจะอาศัยแค่การทำงานของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ และบทบาทที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน กลายเป็นช่วยเติมเต็ม สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า เยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต แม้ประเด็นด้านการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่ภาคเอกชนถนัด แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างกลไกอย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็ก เยาวชนไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

“เราอยากเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนรายอื่น สามารถเข้ามาช่วยผลักดันวาระทางการศึกษาได้ในอนาคตเช่นกัน”

สมัชชา พรหมศิริ

ไม่ต่างจาก ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ยืนยันว่า ราชบุรีโมเดล ถูกวางให้เป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อให้โอกาสกับเด็กทุกคนได้เรียน

“เรากำลังสร้างนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้เป็นต้นแบบของการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษากับคนทั้งประเทศ การจัดกิจกรรม All for Education Ratchaburi Zero Dropout จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ กสศ. จะร่วมเป็นพลังหนุนของชาวราชบุรีให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบที่สำคัญของประเทศให้ได้”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ

ไม่เพียงสร้างนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น มอบโอกาสให้เด็กได้มองเห็นหนทางการเรียนต่อที่ตรงตามความต้องการ ในแบบฉบับที่ตัวเองถนัด ราชบุรีโมเดลยังช่วยให้เด็ก และเยาวชนกว่า 400 คน ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ ทักษะการศึกษา และอาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการ เกิดแผนการจัดการศึกษาใน 32 ตำบลของ จ.ราชบุรี มีหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่นกว่า 5 หลักสูตร และที่สำคัญคือ เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนนอกระบบการศึกษา กับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดอีกด้วย

ถึงตรงนี้ผลลัพธ์ของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดจนต้องทิ้งเด็กคนไว้ข้างหลัง ทำให้ จ.ราชบุรี กลายเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็ก และเยาวชน ที่ไม่ว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไร มีข้อจำกัดยังไง พวกเขาก็ต้องได้เรียน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง