คนมองว่าเขา คือ ‘มัจจุราช’ แต่เราเห็นแสงสว่างในตัวเขาทุกวัน

1.02 ล้านคน คือ จำนวนของเด็กไทยที่ร่วงหล่นหายไปจากระบบการศึกษา นี่คือข้อมูลที่ กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กศส.) เปิดเผยและพบว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวนสูงถึง 1,025,514 คน จากตัวเลขหลักล้านนี้ จำนวนสูงสุดกลับอยู่ในใจกลางเมืองหลวงอย่างใน กรุงเทพฯ ถึง 137,704 คน (13.43%)

คำถามสำคัญ คือ พวกเขาหายไปไหน ? อะไรทำให้เด็กไทยกว่าล้านคนหลุดออกจากระบบ นอกจากความพยายามดึงพวกเขากลับมา ยังมีเครื่องมือ กลไกอะไรช่วยประคับประคองก่อนที่เด็ก เยาวชนกลุ่มเปราะบาง จะถูกผลักออกจากระบบ และก้าวพลาดเข้าสู่พื้นที่สีเทาไปตลอดกาล

หนึ่งในบทบาทสำคัญที่พิสูจน์ชัดมาตลอดเวลากว่า 2 ทศวรรษ คือ การทำหน้าของ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ที่มี ‘ป้ามล – ทิชา ณ นคร’ เป็นหัวเรือใหญ่ พร้อมชวนสะท้อนเรื่องราว ประสบการณ์ ผ่านเวทีเสวนา “การศึกษาที่สมองจับมือกับหัวใจ แสงสว่างในพื้นที่สีเทาของเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบ”

ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย)
บ้านกาญจนาภิเษก 

ป้ามล บอกว่า ภายใต้บริบทสังคมไทยที่มีกว่า 22 ล้านครอบครัว แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีความสามารถในระดับปัจเจกที่จะเลี้ยงดูเด็กได้ สถานการณ์เช่นนี้จึงไม่ใช่เพียงความสูญเสียของโรงเรียน หรือครอบครัวใดครอบครัวหนี่งเท่านั้น แต่เป็นความสูญเสียร่วมกันของทั้งสังคมไทย 

“ก่อนที่เด็กเหล่านี้จะถูกผลักมาที่บ้านกาญจนาฯ ทุกคนล้วนเคยเป็นนักเรียนมาก่อน แต่วันที่เขาทำผิดพลาด ประตูรั้วโรงเรียนกลับปิดลง และประตูคุกก็เปิดประตูต้อนรับทันที นี่ไม่ใช่ปัญหาของครู ของโรงเรียน หรือใครคนใดคนหนี่ง แต่เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยที่ไม่เคยให้โอกาสเด็กที่ผิดพลาด และผลักให้พวกเขากลายเป็นผู้แพ้ตลอดเส้นทางของชีวิต”

ทิชา ณ นคร

ใครกันทำให้เด็กเป็นผู้แพ้ ? บทเรียนแห่งบ้านกาญจนา ฯ

บ้านกาญจนาภิเษก สถานควบคุมเยาวชนหลังคำพิพากษา ก่อนเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ เด็กหลายาคนล้วนผ่านการก่อคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง และแม้เวลาล่วงผ่านไปแล้ว แต่หลายคนยังคงติดอยู่ในภาพจำของผู้ร้ายที่สังคมไม่เคยให้อภัย และบางราย เขาถูกแปะป้ายว่าเป็น มัจจุราช

ป้ามล อธิบายว่า ในบ้านหลังนี้มีเด็กหนุ่มจากโรงเรียนอาชีวศึกษาที่มาด้วยการก่อคดีฆาตกรรมนับสิบราย แต่เส้นทางที่เปลี่ยนพวกเขาจากสถานะเด็กนักเรียนสู่การเป็นผู้ร้ายแทบไม่ต่างกัน พวกเขาถูก drop out ออกจากระบบในช่วง มัธยมศึกษาปีที่ 2 เทอม 2 บ้านกาญจนาฯ เลือกที่จะใช้เครื่องมือหลายชนิดในการประคับประคองเด็กกลุ่มนี้ และหนึ่งในนั้นคือการเขียนจดหมายถึงตัวเองก่อนนอน

จากบันทึกของบรรดาเด็กหนุ่ม พวกเขาพาย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของชีวิต กระแสธารของชีวิตพาเขาล่องไหลไปตามการบ่มเพาะของสังคมสิ่งแวดล้อม ไม่น่าแปลกใจนักที่เด็กส่วนใหญ่ล้วนเดินทางมาจากพื้นที่เล็ก ๆ สีเทา ที่แทบไม่เคยมีแสงสว่างส่องถึงเลยแม้กระทั่งในโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่ เราอยู่ในยุคที่มีแสงสว่างส่องจ้าอย่างอุดมสมบูรณ์ให้กับใครต่อหลายคนในประเทศแห่งนี้

“หากย้อนกลับไปดูคดีป้าบัวผัน จ.สระแก้ว ผู้ก่อเหตุทุกคนเป็นเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน พวกเขาไม่ได้หลุดออกจากระบบการศึกษามาแต่ตัว หรือชื่อ-นามสกุลเท่านั้น แต่เขาพกความพ่ายแพ้ ไร้ค่าติดตัวมาด้วย นี่ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเด็กเลวนะ แต่พวกเขาคือผู้แพ้ร่วมกัน เมื่อผู้แพ้ถูกรวมอยู่ในที่เดียวกันก็พลังลบเจอพลังลบ และมันนำพาเขาไปสู่จุดที่มืดมิดที่สุด”

ทิชา ณ นคร

ป้ามล ยังเน้นย้ำว่า สังคมควรเปลี่ยนสายตาที่มองต่อเด็กเหล่านี้ใหม่ เด็กไม่ได้เกิดมาแล้วเลวร้ายด้วยตัวเอง แต่อาจเป็นเพราะระบบครอบครัวและนโยบายสาธารณะที่ปล่อยให้เด็กน้อยไร้เดียงสากลายเป็นปีศาจและซาตาน

“ข่าวของพวกเขาถูกรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน ทุกย่อหน้า ทุกตัวอักษรล้วนเต็มไปด้วยความเกลียดชัง แต่สิ่งที่คนมองไม่เห็นคือความเจ็บปวดของพวกเขาที่ผสมปนเปอยู่ในนั้น พวกเราปล่อยปละละเลยจนกระทั่งเด็กน้อยคนหนึ่งกลายเป็นปีศาจ และพวกเราอาจเป็นส่วนผสมของปีศาจตนนั้นโดยไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้”

ทิชา ณ นคร

จิตตปัญญาศึกษา : สร้างคนเติบโตด้วยหัวใจ จะเป็นผู้คอยรองรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น

จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาปรับใช้กับระบบการศึกษาทั้งกับครูผู้สอน นักเรียน และครอบครัว ด้วยหลักการที่ให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และสร้างพื้นที่ปลอดภัย บทเรียนมากมายพิสูจน์แล้วว่าเครื่องมือนี้สามารถปกป้อง โอบอุ้ม เด็ก ๆ ในสังคมไม่ให้ร่วงหล่นจากระบบได้

แต่กระบวนการเหล่านี้ ทำกับเด็ก หรือครูคงยังไม่เพียงพอ ต้องลงลึกไปถึงระดับ ครอบครัว ด้วยซึ่ง ป้ามล มองว่า เด็กที่โดนศาลพิพากษาเป็นเพียงผลผลิตปลายทางเท่านั้น แต่วงในสุดของเรื่องราวทั้งหมดคือพ่อแม่ที่เราต้องเอื้อมไปให้ถึง

“แม้ปัจจัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งติดคุกนั้นคือพ่อแม่ที่ดูแลลูกบกพร่อง แต่หากเรามองพ่อแม่ด้วยแว่นตาอีกแบบว่าพวกเขาไม่ใช่ปัญหา แต่คือโอกาสที่จะเจียระไน ฟื้นฟู เยียวยากันใหม่ และเขาคือหุ้นส่วนที่ต้องมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน”

ทิชา ณ นคร
ภาพจาก : Thicha Nanakorn 

บ้านกาญจนาฯ ทำกระบวนการทั้งกับพ่อ-แม่ และเด็ก หลายครอบครัวไม่เคยคุยกันเลย แต่กลับได้มาเปิดใจ พูดคุยกันได้ผ่านกระบวนการนี้

“มันไม่ใช่แค่การเรียกประชุมผู้ปกครองแล้วสั่งว่าเขาต้องทำอะไร แต่มันต้องมีกิจกรรมบางอย่างที่มันศักดิ์สิทธิและจับหัวใจ เราเชื่อว่านี่คือระบบที่ดี ถ้าทำได้จะช้อนเด็ก ๆ ออกมาจากการติดคุกได้อีกมาก”

ทิชา ณ นคร

ป้ามล ยังเล่าอีกว่า ที่บ้านกาญจนาฯ แตกต่างจากคุกทั่วไป เพราะที่นี่อนุญาตให้พ่อแม่มานอนกับลูก ทำกระบวนการกับลูกได้ ไม่ใช่แค่เอาของมาเยี่ยมแล้วกลับไป มีเครื่องมือหลายชิ้นที่บ้านกาญจนาฯ นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ empower พ่อแม่ หรือ หนังสือมนุษย์ ที่พาเด็ก ๆ ให้ออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง

“งานที่ผ่านมา (20 ปี ฝ่าอำนาจนิยม สู่อำนาจร่วม บ้านกาญจนาภิเษก) เราให้เด็ก ๆ สมัครใจเป็น ‘หนังสือมนุษย์’ เพื่อออกมาบอกเล่าเรื่องราวว่าเขาก่ออาชญากรรมทำไม แล้วเขาค้นพบอะไรในเส้นทางนี้”

“เด็กบางคนเดินออกจากบ้านกาญจนาฯ ไปนานหลายปีแล้ว แต่เขาเลือกที่จะกลับมาเล่าเรื่องราวนี้ให้ผู้คนฟังอีกครั้ง เราถามพวกเขาว่ารู้สึกอาย หรือรู้สึกโดนประจานไหม ทุกคนกลับบอกว่าไม่เลย แต่กลับรู้สึกดีที่สิ่งที่เล่าออกไปได้ empower คนอื่น แล้วพลังนี้มันก็กลับมาที่ตัวเอง”

ทิชา ณ นคร

พื้นที่ปลอดภัย : บทเรียนจาก ‘เล็ก-ใหญ่’ แห่งบ้านกาญจนาฯ

ภายใต้หลากหลายเครื่องมือที่บ้านกาญจนาฯ หยิบมาใช้ หลายชิ้นถูกต่อยอดกลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ที่ใช้ได้ต่อไปไม่รู้จบ เด็กบางคนไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของปัญหา แต่ยังเป็นผู้สร้างเครื่องมือด้วย เช่นเดียวกับเรื่องราวของ เล็ก-ใหญ่ อริคู่แค้นแห่งบ้านกาญจนาฯ ที่ฝ่ายหนึ่งฆ่าพ่อของอีกฝ่าย จนต้องตามมาล้างแค้นในบ้านแห่งนี้

“วันที่เรารับ ‘เล็ก’ เข้ามา เขาอยู่แค่ ม.3 แต่ฆ่าผู้ใหญ่เสียชีวิตพร้อมกัน 2 คน แฟ้มประวัติเขาอาจดูน่ากลัวสำหรับคนอื่น แต่พอมาอยู่ที่นี่ เรามองไม่เห็นแง่มุมร้ายของเขาเลย เขาคือเด็กน้อยที่น่ารักคนหนึ่ง ไม่กี่เดือนต่อมา บ้านกาญจนา ฯ รับเด็กใหม่เข้ามาอีก 51 คน และหนึ่งในนั้นคือ ‘ใหญ่’ ลูกชายของผู้ตาย แน่นอนว่าเขาคนนี้ตั้งใจเข้ามาเพื่อล้างแค้น”

“เราใช้เวลา 16 วัน จัดพิธีขอขมาเหยื่อครั้งใหญ่ หลังพิธีกรรมจบลง เราได้อ่านบันทึกของใหญ่ที่ตั้งใจเข้ามาที่นี่เพื่อล้างแค้นให้พ่อ เขาเขียนไว้ว่า ‘นี่คือค่ำคืนที่ผมหลับสบายที่สุดในรอบหลายปี รู้อย่างนี้ให้อภัยนานแล้ว’ ครั้งหนึ่งนักข่าวถามใหญ่ว่าการให้อภัยยากไหม ? เขาตอบว่า ยาก และมันต้องใช้ตัวช่วย แต่เมื่อให้อภัยไปแล้ว จะกลับมาแค้นอีกยิ่งเป็นไปไม่ได้”

สุดท้าย เรื่องราวของ 2 อริ เล็ก-ใหญ่ กลายเป็นบทสัมภาษณ์ เป็นบทความ และสุดท้ายกลายเป็นภาพยนตร์ ซึ่งเกิดเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ขึ้นมาทันที หลายปีต่อมา บ้านกาญจนาฯ ใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเครื่องมือ เปิดให้เด็กอาชีวะกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้ามาภายใต้บริบทการเป็นคู่อริกัน

“เราเปิดหนังเรื่องนี้ให้เขาดู เพื่อให้เขาเห็นว่าประวัติศาสตร์หน้านี้มันถูกเขียนแล้วโดยคนรุ่นเก่า แล้วพวกเขาจะรับผิดชอบหรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างไร จนถึงตอนนี้ ไม่เคยมีใครฆ่ากันในบ้านกาญนาฯ เด็กเหล่านี้ไม่ได้ต้องการการสั่งสอนจากคนอื่น แต่เขาต้องการการเผชิญหน้ากันภายใต้การจัดการที่เหมาะสม เหมือนกับเล็ก-ใหญ่ที่มาเจอกันด้วยความแค้นแต่จบลงด้วยการเป็นเพื่อนรักกัน”

ทิชา ณ นคร
ภาพจาก : Thicha Nanakorn 

ปัจจุบัน บ้านกาญจนาฯ สามารถคืนเด็กให้สังคม 95-97% โดยไม่ทำผิดซ้ำ และหน่วยการศึกษาอีกหลายแห่งที่นำเครื่องมือ และกระบวนการทางจิตตปัญญาไปใช้ภายใต้การออกแบบที่เหมาะสม เกิดผลอย่างชัดเจนว่า ช่วยประคองเด็กที่กำลังร่วงหล่นจากระบบได้ทันกาล

แต่เมื่อถอยออกมามองระบบการศึกษาในภาพใหญ่ เรากำลังสร้างตะแกรงร่อนที่แยกเด็กออกเป็นสายอาชีวะ-สายสามัญ เด็กจากครอบครัวยากจน หรือไม่เก่งทางวิชาการ ถูกผลักให้ไปเรียนอาชีวศึกษา และเสี่ยงร่วงหล่นจากระบบ ในขณะที่เด็กที่พร้อมกว่าจะไดัรับโอกาสสู่การเรียนสายสามัญ ดูเหมือนว่าเรากำลังติดอยู่กับระบบ “ความคู่ควร” ตามความสามารถในการเรียนและฐานะทางการเงินหรือเปล่า ?

หรือแท้จริงแล้ว ระบบการศึกษาควรมองเห็นคุณค่าของเด็กแต่ละคน เอื้อให้ทุกคนสามารถเติบโตเป็นอะไรก็ได้ที่ตนเองต้องการ และหากประเทศไทยไม่รีบหันกลับมาทบทวนเสียใหม่ ระบบที่กำลังเป็นอยู่ในบ้านเมืองนี้ อาจกำลังทำลายทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะไปพร้อม ๆ กัน