ตบ-ตี ให้หลาบจำ! ใช้ความรุนแรง ‘ดัดนิสัย’ ไม่ใช่เรื่องปกติ

จากกรณี เยาวชน วัย 14 ปี สูบบุหรี่ในห้องน้ำโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ จนถูก พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ลงโทษ ด้วยความรุนแรง และสั่งแก้ผ้าเพื่อทำให้อับอาย ภายหลังผู้ปกครองของเยาวชนดังกล่าว ยอมรับผิดและพร้อมรับผิดชอบค่าปรับ ในขณะที่การทำร้ายร่างกาย ทำให้อับอาย ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และจะเอาความถึงที่สุด ขณะที่พล.ต.นพ.เหรียญทอง ก็ยืนยันไม่ขอโทษ เพราะเชื่อว่าต้องการสอนเด็กให้หลาบจำ และให้สังคมไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

เหตุการณ์นี้หนีไม่พ้นข้อถกเถียง ว่าการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง เพื่อหวังดัดนิสัย จะก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อเยาวชนจริงหรือไม่ ?

The Active ชวนหาคำตอบเรื่องนี้จากมุมมองของ ครูมะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ กระบวนกรและนักออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งยอมรับว่า การใช้ความรุนแรง ทำให้อับอาย หรือทำให้เกิดความกลัว เพื่อให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น พบเห็นได้บ่อยในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกห้องเรียนก็ตาม

ครูมะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ กระบวนกรและนักออกแบบการเรียนรู้

ใช้ไม้แข็ง อาจไม่ได้ทำให้เรียนรู้

สมัยก่อนมีคำกล่าวว่า “ไม้เรียวสร้างคน” ซึ่งเป็นวิธีการสั่งสอนของผู้ใหญ่ให้เด็กหลาบจำในความเจ็บปวด ทำให้เด็กกลัว และไม่กล้าที่จะทำผิดซ้ำอีก ซึ่งครูมะพร้าว เชื่อว่า วิธีนี้อาจได้ผลจริง เปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า “เหตุใดเขาจึงไม่ควรปฏิบัติเช่นนี้อีก”

“สมมติเราอยากให้เด็กได้เรียนรู้ว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี แล้วเราใช้ความรุนแรงให้เด็กหลาบจำ เขาอาจจะไม่กล้าทำอีกแล้ว แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น มันไม่ได้ทำไปบนความเข้าใจว่าทำไมเขาจึงไม่ควรสูบบุหรี่ เขาอาจจะไม่สูบอีกเพราะแค่กลัวการลงโทษ ไม่ใช่เพราะเรียนรู้ว่า เขาไม่ควรสูบบุหรี่เพื่อความงอกงามในตนเอง”

ครูมะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

ความรุนแรง ดัดนิสัย ต้องไม่ใช่เรื่องที่สังคมอนุญาตให้ทำ

ครูมะพร้าว สะท้อนว่า การลงโทษที่รุนแรงทำให้เยาวชนเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความกลัวมากกว่าความเข้าใจ และอาจนำไปสู่การทำผิดในเรื่องอื่นซ้ำ ๆ ได้อีก เช่น เขาอาจจะลองดื่มเหล้า เสพสารเสพติด ฯลฯ นำไปสู่การลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น อาจต้องมีหมอเหรียญทองอีกหลายคน เพื่อมาไล่กวดตีเด็กทุกครั้งที่เขาทำผิด หรือโรงเรียนอาจต้องเขียนกฎเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบหน้า เพื่อตีกรอบพฤติกรรมของเด็กให้เหมาะสม ผลสุดท้ายแผลใจก็จะตกอยู่กับเด็ก ยิ่งไปกว่านั้น เด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อดัดนิสัย เป็นเรื่องที่สังคมอนุญาตให้ทำได้

“การใช้ความรุนแรงกับเขา ทั้งทางกาย และทางวาจา ทั้งใช้ไม้เรียวตี และดุด่า มันคือการประกาศให้เด็กรับรู้ว่า อ๋อ สิ่งนี้อนุญาตให้เกิดขึ้นได้ในสังคมนะ เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลย ที่เขาจะเข้าใจว่าในเมื่อมันเกิดขึ้นได้ แล้วทำไมฉันจะทำแบบนั้นด้วยไม่ได้ มันก็คงเป็นวงจรส่งต่อกันไป”

ครูมะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องช่วยกันมองมุมใหม่ และหาวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก โดยไม่ต้องทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจกันอีกต่อไป แม้ไม่ง่าย แต่ครูมะพร้าว ก็อยากให้เข้าใจว่า เด็ก เยาวชนยังเป็นวัยที่พลั้งพลาดได้ แต่สังคมจะทำอย่างไร ? ให้เขาได้เรียนรู้จากความผิดนั้น และไม่ทำผิดซ้ำอีก

เป็นไปได้ไหม ? สื่อสารกับเด็กอย่างเห็นใจ แทนการลงโทษรุนแรง

หากมองด้วยมุม มนุษยนิยม เชื่อว่า “การที่เด็กแสดงพฤติกรรมออกมา แปลว่า เด็กมีเหตุผลเบื้องหลังในการกระทำ” เช่น เขาอาจจะสูบบุหรี่เพราะเขาอยากมีเพื่อน ถ้าผู้ใหญ่ไปทำโทษให้เขาไม่สูบบุหรี่ แต่ปัญหาที่เขาต้องการเพื่อนยังไม่ถูกแก้ไข เขาก็อาจจะหลงผิดในทางอื่นอีก เพื่อให้ได้มีเพื่อน ดังนั้นการสื่อสารกับเด็กอย่างเห็นอกเห็นใจจึงสำคัญมาก เพราะจะทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง และช่วยเด็กแก้ไขปมในใจได้ถูกจุด และไม่ต้องใช้วิธีทำร้ายเขาอีกด้วย

แต่เมื่อสภาพสังคมเต็มไปด้วยสิ่งล่อลวงเยาวชน ชุมชนยังไม่ปลอดภัย สังคมจึงคาดหวังว่า โรงเรียน จะช่วยบ่มนิสัยให้เด็ก เยาวชนเดินไปในทางที่ถูกต้องได้ ซึ่ง ครูมะพร้าว ย้ำว่า การเชื่อแบบนั้นอาจโยนภาระให้ครูและโรงเรียนมากจนเกินไป เพราะกระบวนการเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในรั้วโรงเรียน แต่พวกเขายังเรียนรู้จากครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ ครูไทยยังต้องแบกรับภาระที่นอกเหนือจากการสอน เช่น งานเอกสาร, ธุรการ, งานต้อนรับต่าง ๆ จนไม่มีเวลามากพอที่จะนั่งมองตาของเด็กทุกคนในชั้นเรียนได้อย่างถี่ถ้วน

“นี่อาจเป็นข้อเรียกร้องที่ cliché (ซ้ำซากจำเจ) แต่การที่ครูคนหนึ่งจะได้นั่งมอง และพูดคุยกับเด็กทุกคนถึงปัญหาในใจ อย่างแรก คือพวกเขาต้องมีเวลามากพอ เพราะเมื่อเขาต้องไปทำงานที่นอกเหนืองานสอน และเด็กก่อปัญหาขึ้น เขาก็จำต้องเลือกใช้วิธีการรวบรัด คือการใช้อำนาจกำราบให้เด็กหยุดพฤติกรรมนั้น และสุดท้ายครูก็ไม่ได้ใช้วิธีการสอนเด็ก เพื่อแก้ไขปมในใจเขาอย่างแท้จริง”

ครูมะพร้าว-ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

สั่งสอนให้เรียนรู้จากความผิดพลาด

สิ่งสำคัญกับคำถามที่ว่า ทำไม ? คน ๆ หนึ่งจึงเลือกใช้วิธีรุนแรงสั่งสอนเด็ก คำตอบจาก ครูมะพร้าว เชื่อว่า คงไม่ใช่แนวคิดที่ติดตัวมาแต่เกิด ส่วนหนึ่งมาจากการหล่อหลอมกันในสังคมไทย ที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เด็กและผู้ใหญ่ได้มานั่งพูดคุยเปิดใจกัน เมื่อภาพนั้นไม่เคยเกิดขึ้น คนจึงมองไม่เห็นว่า จะมีวิธีการใดอีก ที่จะทำให้เด็กเรียนรู้จากความผิดพลาดได้

นอกจากนี้ ครูมะพร้าว ยังเชื่อว่า เหตุผลที่ครูไทย และผู้ใหญ่บางคน เลือกใช้วิธีการลงโทษรุนแรง อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ Know-how (วิธีการ) หรือ อาจลองวิธีใหม่ ๆ แล้วเด็กก็ยังเป็นเหมือนเดิม ซึ่งก็ยิ่งสนับสนุนข้อเรียกร้องที่ว่า “ครูไทย ต้องมีเวลามากขึ้นในการอยู่กับนักเรียน”

ถึงตรงนี้ กรณีเยาวชน วัย 14 ปี ได้กลายเป็นคดีความไปแล้ว พร้อมทั้งอยู่ในขั้นตอนการประสานสหวิชาชีพเข้ามาดูแล เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับเยาวชน แต่เสียงสะท้อนในโลกออนไลน์ ก็ยังมองว่า หน่วยงานอย่าง แพทยสภา ควรออกมาสื่อสารถึงการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ด้วยเช่นกัน

เพราะการทุบตี ดุด่า และทำให้อับอายของคนเป็นแพทย์ ไม่ต่างจากการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 2 หลักทั่วไป ข้อ 5 ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรม และเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง”

นี่คือสิ่งที่สังคมบางส่วนออกมาตั้งคำถาม และเรียกร้อง นอกเหนือจากความผิดของใครก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าความผิดที่เด็กกระทำ หรือ ความรุนแรงที่ผู้ใหญ่ก่อขึ้นเองก็ตาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล