ถอดโจทย์ระบบการศึกษาไทยจากคำขวัญวันเด็ก นายกฯเศรษฐา

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อสร้างเด็กที่มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย แนะรัฐบาลเร่งปรับหลักสูตรแกนกลางภายใน 2 ปี 

วันนี้ (13 ม.ค. 2567) พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มองโลกกว้างคิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย เป็นคำขวัญวันเด็กปีนี้ ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มอบไว้เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 เมื่อถอดโจทย์จะทำอย่างไรให้ เด็กในคำขวัญไม่เป็นเพียง เด็กในความฝัน ที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็นเท่านั้น งานวิจัยของทีดีอาร์ไอก็พบว่า ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังไม่น่าสร้างเด็กที่ มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เนื่องจากสาเหตุอย่างน้อย  3 ประการ ดังนี้

ประการที่หนึ่ง เป้าหมายไม่ตรงโจทย์ หลักสูตรแกนกลางยังเน้นความรู้เป็นหลัก ไม่เน้นทักษะและทัศนคติเพียงพอให้เด็กมีสมรรถนะในการ “มองโลกกว้าง” นอกจากนี้ ในด้านความรู้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการคิดระดับพื้นฐานยังไม่ไปถึงการคิดขั้นสูงมากนัก จึงไม่น่าจะสร้างเด็กที่ “คิดสร้างสรรค์” ได้

ประการที่สอง ระบบไม่เอื้อให้ครูจัดประสบการณ์เรียนรู้ได้เต็มที่ เนื่องจากครูมีภาระงานอื่นนอกเหนือการสอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการรายงานผลตามนโยบายหรือโครงการของส่วนกลาง ทำให้ไม่สามารถสอนได้เต็มที่ นอกจากนี้ เกณฑ์การประเมินครูให้น้ำหนักกับผลลัพธ์ของตัวเด็กไม่มากนัก จึงไม่น่าสร้างแรงจูงใจให้ครูพัฒนาทักษะที่จำเป็น

ประการที่สาม การป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กยังไม่เป็นระบบ ที่ผ่านมาถือว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความพยายาม แก้ปัญหา แต่มีลักษณะเป็นการแก้แบบเป็นครั้ง ๆ ไป ทำให้ยังพบเห็นข่าวการละเมิดสิทธิหรือคุกคามอยู่ต่อเนื่อง

ทำอย่างไรให้ “เด็กในคำขวัญ” ไม่เป็นเพียง “เด็กในความฝัน”

“เด็กในคำขวัญ” จะไม่เป็นเพียง “เด็กในความฝัน” ระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ว่า ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา และมีการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน

ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ข้อที่หนึ่ง เร่งปรับหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 2 ปี โดยให้อิงสมรรถนะ และส่งเสริมการคิดขั้นสูง จากการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร โดยอาจนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการพัฒนามาก่อนเป็นจุดเริ่มต้น หรือพัฒนาในรายวิชาที่พร้อมทำได้ทันที

ข้อที่สอง กำหนดกฎกติกาให้หลักสูตรแกนกลางมีการทบทวนและปรับอย่างสม่ำเสมอ โดยผลักดันให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ กำหนดให้มีวงรอบการปรับที่ชัดเจน โดยไม่นานเกินไปจนความรู้หมดอายุ หรือไม่สั้นจนเกิดไปโรงเรียนปรับตัวไม่ทัน เช่น ทุก 6 ปี เป็นต้น

ข้อที่สาม ลดภาระงานอื่นครูเพื่อให้สอนได้เต็มที่ โดยในปีแรก กระทรวงศึกษาธิการควรทบทวนโครงการที่โรงเรียนต้องรายงานผลเพื่อบูรณาการการให้มากที่สุด และสำหรับปีต่อ ๆ ไปตั้งตัวชี้วัดจากงานปกติที่โรงเรียนทำ เช่น การประกันคุณภาพ และคะแนนสอบในห้องเรียน เป็นต้น โดยไม่สร้างตัวชี้วัดใหม่ ๆ ให้โรงเรียนต้องรายงาน

ข้อที่สี่ ปรับเกณฑ์การประเมินครูโดยเน้นผลลัพธ์ของตัวเด็ก โดยให้น้ำหนักกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นสำคัญ ส่วนด้านที่เหลืออาจประเมินจากภาระงานหรือกิจกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิชาชีพหรือพัฒนาคุณภาพโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) และผลการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เป็นต้น

ข้อที่ห้า มีมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กอย่างเป็นระบบ โดยนำมาตรการที่มีอยู่แล้ว อาทิ ศูนย์บริการประชาชนของกระทรวงศึกษาธิการ มาเสริมกลไกเพิ่มเติม เช่น ระบบการร้องเรียนที่ไม่เปิดเผยตัวตนผู้ร้องเรียน ระบบการตรวจสอบเหตุ ระบบการส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นกรณีไม่สามารถแก้ปัญหาภายในโรงเรียนได้ และกำหนดให้ความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินภายนอกของสถานศึกษา เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active