พลิกโฉมกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ ประเทศไทย

มองอนาคตผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองต่างประเทศ

ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัจจัยรุมเร้าหลายด้าน ทั้ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นำมาสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะในทุกระดับของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต

ทว่าการออกแบบนโยบายสาธารณะยังเป็นรูปแบบการออกแบบจาก “บนลงล่าง” ทำให้หลายประเด็นไม่อาจตอบโจทย์ประชาชนในปัจจุบัน จนประเทศไทยล้าหลังห่างจากนานาประเทศเป็น 10 ปี

ดังนั้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย จะเป็นจุดเปลี่ยนนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม และมีส่วนร่วม

อีกด้านหนึ่งคือบทเรียนจากต่างประเทศที่จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ นำไปสู่การต่อยอดพัฒนานโยบายแก้ปัญหาต่าง ๆ ในทุกวิกฤต นำมาสู่การจัดห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Thailand Policy Labภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP

ไฮไลท์สำคัญคือการจัดงานเสวนา Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 2 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ มาร่วมออกแบบนโยบายพลิกโฉมประเทศไทย กว่า 1,000 คน


สำหรับเป้าหมายของงานนี้ วิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มองว่า งานนี้เป็นการนำนวัตกรรม วิธีการและเครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยในการวิเคราะห์ ออกแบบและทดสอบความเหมาะสมของนโยบาย ก่อนนำไปสู่กระบวนการดำเนินการจริง ผ่านบทเรียนต่างประเทศที่มาแลกเปลี่ยนเพราะประเทศไทยยังต้องปรับอีกหลายด้านเพื่อก้าวข้ามไปสู่การพัฒนา

หัวใจสำคัญของการทำนโยบายคือการต้องออกแบบร่วมกัน ไม่ใช่จากบนลงล่าง คานนี วิกนาราจา ผู้อำนวยการภูมิภาคโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกผู้ช่วยเลขาธิการองค์การแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการประจำศูนย์ภูมิภาคแห่งเอเชียและแปซิฟิก

“นวัตกรรมเชิงนโยบายเป็นการลงทุนที่มีความหมายมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฎิสัมพันธ์กับผู้คน การเคารพ และรับฟังซึ่งกันและกัน เป็นการทดลองออกแบบนโยบายที่ไม่ใช่เพียงอยู่ในเมืองหลวงแต่สามารถทำได้ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเป็นการออกแบบร่วมกัน ที่ไม่ใช่จากบนลงล่าง และไม่ใช่การทำงานเพียงครั้งเดียว แต่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน โดยแต่ละประเทศที่ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนนี้จะได้กลับมาทบทวนว่า ควรปรับปรุงนโยบายอย่างไรท่ามกลางวิกฤติที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน”

ดร.คริสติน่า เรอินซาลู ผู้อำนวยการโครงการ e-Democracy จากสถาบัน e-Governance ประเทศเอสโตเนีย กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้ชาวเอสโตเนียมีส่วนร่วมในกำหนดนโยบายค่อนข้างมาก โดยชาวเอสโตเนียมีประสบการณ์การใช้ Application โทรศัพท์มือถือค่อนข้างมาก เพราะเทคโนโลยีมีส่วนทำให้ชาวเอสโตเนียมีส่วนร่วมในกำหนดนโยบาย และนับเป็นชาติแรก ๆ ที่สำรวจแล้วว่า มีการใช้ระบบออนไลน์ที่เข้าถึงบริการภาครัฐได้มากถึงร้อยละ 99  E-Citizen ทำให้ชีวิตคนง่ายขึ้น

ความท้าทายนี้มีส่วนให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในระบบดิจิทัล ในการรับฟังข้อมูล ปรึกษาหารือ หรือออกแบบ เปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย  ในปี ค.ศ. 2013 ประเทศเอสโตเนียใช้หลักการ Crowdsourcing มาระดมความคิดเห็นประชาชนว่า จะเปลี่ยนระบบให้ดีขึ้นได้อย่างไร ทำให้ประชาชนสามารถร่วมเสนอกฎหมายไปที่สภาเอสโตเนีย หรือเสนอเป็นกระทู้ เพื่อแสดงความคิดเห็นได้

ทีโอ ลินยู หัวหน้าหน่วยออกแบบห้องปฎิบัติการนวัตกรรม ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของสิงคโปร์คือการให้บริการสาธารณะแบบรวมศูนย์ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  ที่ผ่านมาสิงคโปร์ต้องเผชิญกับวิกฤติมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีการออกแบบนโยบายนวัตกรรมในการให้บริการสาธารณะ เช่น การให้บริการด้านสาธารณสุขแบบดิจิทัล ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วิสัยทัศน์ของสิงคโปร์คือการให้บริการสาธารณะแบบรวมศูนย์ ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ด้าน อาจุง ลี  ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการ ศูนย์นโยบายโซล UNDP กล่าวว่า การเลือกนโยบายพลิกโฉมประเทศไปสู่ระบบดิจิตอล จะสร้างความโปร่งใสและให้อำนาจประชาชนตรวจสอบคอร์รับชั่น ถือว่ามีความสำคัญมากๆในสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งที่นี่มีประชากรร้อยละ 92 ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต มี wifi ฟรีโดยเฉพาะย่านธุรกิจ ปลายปีนี้ พ.ศ.2565 จะมีกว่า 23,700 แห่งทั่วประเทศ การทำระบบบริหารแบบออนไลน์  ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สาธารณรัฐเกาหลีมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นด้วยการให้การศึกษา และจัดหาอุปกรณ์ 300,000 ชุดให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ และช่วยให้ผู้สูงอายุ 9,900 คนที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI

“เทคโนโลยี AI ยังช่วยให้กรุงโซลเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชนในเวลากลางคืนที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบขนส่งสาธารณะหยุดบริการ การบันทึกข้อมูลกว่า 3 พันล้านรายการ ใน 1 เดือน สามารถนำมาวิเคราะห์และเพิ่มเที่ยวระบบขนส่งสาธารณะรวมทั้งสามารถคำนวนความพึงพอใจประชาชนในการเก็บค่าโดยสารที่เหมาะสมได้อีกด้วย”

การเลือกนโยบายพลิกโฉมประเทศไปสู่ระบบดิจิตอล จะสร้างความโปร่งใสและให้อำนาจประชาชนตรวจสอบการคอร์รับชั่น เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบความคืบหน้าโครงการ และการจ่ายงบประมาณให้บริษัทก่อสร้างในงวดต่างๆ ได้ตลอดเวลาผ่านเว็บไซต์ทำให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารโครงการ ช่วยลดความขัดแย้ง นวัตกรรมเชิงนโยบายช่วยลดความเหลื่อมล้ำและการคอร์รับชั่นลงได้

วาเนสซา ลิฟท์ตัน นักชาติพันธุ์วิทยา หัวหน้าโครงการ Policy Lab สหราชอาณาจักร และ   ดร.พีน่า ซาดาร์ หัวหน้าโครงการนโยบาย Policy Lab สหราชอาณาจักร กล่าวว่า กฎของการออกแบบนโยบายคือการใช้กระบวนการอำนวยความสะดวกแทนที่จะชี้นำ โดย Policy Lab ของสหราชอาณาจักรเป็น ทีมนวัตกรรมของรัฐบาลประกอบด้วยสหวิชาชีพ เช่น ศิลปิน นักออกแบบ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือ นักชาติพันธุ์วิทยา การออกแบบนวัตกรรมนโยบายต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยมีวิธีการศึกษาปัญหาแบบใหม่ ที่จะสำรวจว่าปัญหามีลักษณะอย่างไร สุดท้ายคือหนทางการแก้ปัญหา ที่มีกรอบการทำงานแบบ  Double Diamond ซึ่งมี 2 ขั้นตอนคือ ค้นหาเพื่อระบุปัญหา พัฒนาแนวคิด และส่งมอบแนวคิดเหล่านั้น การวางนโยบายที่เปิดกว้าง จะต้องตีกรอบการดำเนินการว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง  

“สิ่งสำคัญคือต้องมีหลักฐานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย หรือคนที่จะปิดช่องโหว่ได้  และต้องระบุว่าช่องโหว่เหล่านั้นจะต้องมีการแก้ปัญหาในอนาคต ต้องมีการหาหลักฐานที่ตรวจสอบได้ อาจต้องมีการสัมภาษณ์และติดตามผล และมีการติดตามผู้มีส่วนในการออกสำรวจความคิดเห็นและ  มีการโต้ตอบเพื่อที่จะดูว่านโยบายมีผลต่อชีวิตผู้คนอย่างไร จากนั้นระดมแนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย”

สร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้ออกแบบนโยบาย เทคนิกทั้งหมดจะมุ่งเน้นการดึงเสียงของประชาชนให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการกำหนดนโยบาย และกฎของการออกแบบนโยบาย คือการใช้กระบวนการอำนวยความสะดวกแทนที่จะชี้นำ และเป็นการทำงานกับประชาชนที่มุ่งสนับสนุนให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของนโยบาย ที่สร้างขึ้นและนำมาปรับใช้ในบริบทของพวกเขา

ขณะที่ สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกซ้ำเติมจากหลายปัญหา ทั้งจากโควิด-19 และวิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง  ทุกภาคส่วนต้องรวมกันพยุงทิศทางประเทศไทยให้ดีขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ ภาคราชการ เอกชน และทุกภาคส่วน ต้องพัฒนาแบบก้าวกระโดดที่จะแข่งขันได้ในเวทีโลก

จากมุมมองทั้ง 4 ประเทศ  แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบก้าวกระโดด หลังหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว นำหน้าประเทศไทยไปกว่า 10 ปีใน 5 ปี ข้างหน้าจะเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

คือปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม    การสร้างโอกาสลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม และพัฒนาสมรรถนะ การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ด้วยการส่งเสริมการ ดำเนินงาน ตามหลักเศษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อย่างชาญฉลาด เพิ่มศักยภาพ ของชุมชนในการรับมือภัยธรรมชาติ การปฏิรูปนโยบายสาธารณะของประเทศผ่าน Thailand Policy lab ที่จะต้องขับเคลื่อน เพื่อที่จะสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายให้กับประเทศไทย ด้วยการอบรมผ่านผู้ออกแบบนโยบายโดยตรง ให้เข้าถึงนักวิชาการ นักบริหาร ผ่านการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และขยายองค์ความรู้ไปให้เร็วที่สุด

ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมออกแบบนโยบายพลิกโฉมประเทศไทย กล่าวว่า หน่วยงานต้องจัดการให้นักนโยบายสาธารณะ นักวางแผนยุทธศาสตร์ ส่วนราชการ มีเวลาคิดมีวันหยุดที่จะให้สมองได้แล่น มีเวลามากพอที่จะได้คิด อันนี้เป็นสิ่งสะท้อนในคำถามของท่าน ที่ถาม นักยุทธศาสตร์ของหน่วยงานราชการ คิดอย่างไรกับการเห็นบทเรียนจากต่างประเทศ หากเราเรียนรู้จากเคสที่ล้มเหลวบ้าง ไม่ใช่มัวแต่เรียนแต่เคสที่ไปอย่างรวดเร็ว มันน่าสนใจถ้าจะเปิดมุมใหม่ในอนาคต

ส่วน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจาย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิศวกรรมปฐพี กล่าวว่า การที่จะนำ Platform กลางที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่คนจะแชร์ข้อมูลโดยที่รู้สึกว่าจะไม่ต้องได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราขการที่สามารถเล่าความจริงออกมาได้โดยไม่ต้องกังวล  

“ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานอย่างหนึ่งชื่อว่า เจ้าพระยาเดลต้า ซึ่งเราอาจได้ยิน แม่โขงเดลต้า หรือสิ่งที่เกาหลีเคยทำ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะต้องมีความจริงที่ถูกต้องก่อน ยกตัวอย่าง ในวันนี้เราปลูกข้าวโดยใช้ทุน 6 บาท แต่ขายได้เ4 บาท เราทำอะไรกันอยู่ ผมเคยเป็นกรรมการแห่งชาติ จริงๆ แล้วที่เราตั้งโจทย์วิจัยอย่างไม่ค่อยตรงไปถึง Main Point เพราฉะนั้น มันก็โยงไปว่า หากเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้เราให้ข้อมูลที่เป็นจริงได้มันก็จะดีครับ”

ด้าน ประเชิญ คนเทศ ภาคประชาสังคม กล่าวว่าว่า ประเทศเราจริงๆมีทั้งคนที่เก่งเรื่อง Design Thinking และเก่งเรื่อง System Thinking  แต่ว่ามีการเปิดพื้นที่ให้เขามาทำงานหรีอเปล่า ดังนั้นอยากกำลังใจว่าถึงเวลาแล้ว ภาคประชาชนดีใจที่มีพื้นที่กลางปลอดภัยหลากหลาย และได้รับการเชื้อเชิญมาทำให้นโยบายเหล่านี้มีประโยชน์ เราจะช่วย Thailand Policy Lab ได้ โดยเฉพาะแนวคิดต้องฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ เครือข่ายของเราพร้อมจะเป็นกำลัง โดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติจะเป็นขุมกำลังทั้งแผ่นดิน

ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเชียงราย ในฐานะนักวิชาการและนักวิจัยในพื้นที่ ถือว่าเป็นการท้าทายที่น่าสนใจ ที่จะพิสูจน์ให้ผู้กำหนดนโยบายใหม่ มียุทธศาสตร์หรือเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้จากข้อเท็จจริงในพื้นที่ อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทำเรื่องไฟป่าและหมอกควัน ในจังหวัดเชียงรายมากว่า 10 ปี เพราะเราคือผู้ประสบภัยและรวมถึงพี่น้องชาติพันธุ์ ที่เดิมทีแล้วเรื่องปัญหาไฟป่าหมอกควัน ถูกมองว่าเป็นการเผาของพี่น้องบนที่สูง แต่แท้จริงแล้ว มันมีความซับซ้อนของปัญหามากมาย

เมื่อเราเห็นว่าประเทศไทยเราจะมี Platform: Thailand Policy Lab นี้ เราดีใจมากที่เห็นคณะกรรมาธิการ นักวิชาการเก่งๆ หรือ นักการเมืองมารับฟังปัญหาในพื้นที่มากมาย แต่ก็ไม่เคยเห็นจะว่าจะมี platform ในการแก้ปัญหาออกมาเป็นรูปธรรมเลย จึงหวังว่า Thailand Policy Lab จะเป็นความหวังในการดึงทุกอย่างมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ โดยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“แต่ในขณะเดียวกัน ก็อยากฝากข้อระวังในเรื่องความปลอดภัยว่า บางปัญหามีความซับซ้อน อาจเกี่ยวข้องหลายประเด็น บางอย่างก็เข้ามาอยู่ในระบบสาธารณะไม่ได้ บางอย่างต้องมีระดับชั้นของการแลกเปลี่ยน และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้มันไม่ใช่แค่สถิติยืนยัน แต่จะต้องเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์”

ทิสาปาโมกข์ บุญส่งประสิทธิ์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) กล่าวว่า นโยบายปฏิรูปนั้นสำคัญมาก อย่างหนึ่งที่ได้พบมากคือวิถีชีวิตของชุมชนระดับฐานราก พบปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องที่นโยบายไม่สามารถแทรกแซงช่วยเหลือได้ไม่สามารถคลี่ราคลายลงได้ ทำให้สั่นคลอนอย่างน่าวิกฤตมาก

“ผมได้พัฒนาหลักสูตร ในอุดมศึกษา คือการพัฒนาชีวิต ให้คนที่เป็นฐานรากมีการเข้าถึงระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ท้องถิ่นมีบทบาทมาก แต่มักถูกลดบทบาทลง ไม่ได้ถูกเปลี่ยนจากฐานราก ขึ้นสู่ฐานบน แต่ถูกการบังคับจากฐานบนลงมาการกำหนดนโยบายสาธารณะ คิดว่าสถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีคิด จากวิธีให้คนไปต่อสู้ในโลกภายนอก แต่ให้เรียนรู้สร้างระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยตนเองได้”

ทั้งนี้ ต้องเริ่มต้นจากวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นไปถึงนโยบายส่วนกลาง ที่ผ่านมาเราถูกกำหนดจากฐานบนลงมาข้างล่างโดยตลอด ทำให้สับสน มัวแต่ไปวิ่งไล่ตัวชี้วัด ทำงานเป็นไปตามตัวชี้วัด ต้องมีการเปลี่ยนนโยบายที่จับต้องได้ ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสีย ทำอย่างไรให้ประชาชนจากฐานรากยกระดับมาเป็นผู้ประกอบการ มันสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเองได้ มันถึงเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริงได้

วิภาศศิ ช้างทอง สภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า จริง ๆ แล้วเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ประเทศ ก็น่าจะมาจากยุทธศาสตร์แต่ละจังหวัด แล้วจึงผนวกรวมเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ  และนโยบายต่างๆ ซึ่งทางสภาองค์กรชุมชนของเราได้มีการเสนอนโยบายทุกปี ส่งไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงต่างๆที่มีการเกี่ยวข้อง แต่ผลตอบรับกลับมา ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ไม่รู้ว่าเพราะเขาไม่เข้าใจ หรือเพราะอะไรไม่รู้

ดังนั้น นโยบายที่เสนอไปก็อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม การที่รัฐบาลเสนอนโยบายลงมาจะต้องมีการรับฟังเสียงของภาคประชาชนเสมอ ว่านโยบายเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรหรือมีผลดีอย่างไร หากมีผลกระทบแล้วประชาชนสะท้อนกลับไป ก็จะต้องมีการไปปรับแก้ ไม่ใช่สั่งมาแล้วต้องทำให้ได้ เช่น กฎหมายต่าง ๆ ของประชาชน รัฐบาลก็ไปปรับแก้ให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล ควรจะมีพื้นที่กลางอย่างชัดเจนเพื่อรับฟังเสียงให้คนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสบอกความทุกข์ความสุขเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้มีการปรับแก้เพื่อเป็นทางออกที่แท้จริง จะช่วยให้ปัญหาต่างๆลดลงและอาจจะหมดไปในอนาคต

ขณะที่ นิตยา กีรติเสริมสิน สื่อมวลชน องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย Thai PBS กล่าวว่า ในมุมมองของสื่อสาธารณะ มองว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ไปพร้อมกับ แนวคิดสร้างสรรค์ โดยมีข้อเสอนว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ใช้ Social media มีส่วนรวมจัดทำข้อมูลกลางบางส่วนที่เปิดเผยได้ให้เป็นส่วนประกอบต่อการเสนอนโยบาย นำไปสู่การออกแบบร่วมกันให้ได้มากที่สุด

ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประเด็นแรก Thailand Policy Lab นอกจากเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายแล้วยังสามารถพัฒนากลไกที่เชื่อมต่อ Policy Maker หรือ Policy Process ให้เป็น Formal หรือทางการมากขึ้นก็จะดี

“ผมมีประสบการณ์ทำงานเรื่อง COVID-19 จริง ๆ มีข้อแนะนำที่อาจไม่ได้มาจาก Policy เสียทีเดียวแต่ว่าทำงานร่วมกับ Stakeholder และนักวิชาการหลายกลุ่ม ข้อเสนอคือไม่มีกลไกใดๆ ชี้ชัดว่าใครต้องฟังใคร เช่น ศบค. หรือ ครม. อย่างเดียว เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้แก่ Stakeholder ด้วย”

ประเด็นที่ 2 Thailand Policy Lab สามารถตั้งเป็นพหูพจน์ได้ไหม ไม่ใช่เป็นการผูกขาดเจ้าเดียว จะเชื่อมโยงในหลาย ๆประเทศที่เขาเสนอกัน เขาไม่ผูกขาด แต่จะยกเว้น สิงคโปร์และเอสโตเนียซึ่งเป็นชาติเล็กๆ ส่วนตัวคิดว่าความต้องการน่าจะมากกว่า Lab ที่เดียว อาจจะเป็น Platform ที่ไม่ได้ผูกขาด แต่ว่ามีคนที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือ เชื่อมโยงกับองค์กรต่าง ๆ เชื่อมต่อเครือข่ายใหญ่กับสภาพัฒน์ เชื่อมต่อกับกลไกที่ตอนแรกเสนอได้ ก็อาจมีประสิทธิผลมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเสียงสะท้อนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ต้องการขับเคลื่อนให้การกำหนดนโยบายสารธารณะ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์