4,700 ชุมชนชาติพันธุ์ 4,700 Soft Power ? โอกาส บนความหลากหลาย

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่ม กระจายตัวใน 4,700 ชุมชน ทั่วประเทศ และล้วนแต่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีอัตลักษณ์ความโดดเด่นเฉพาะ  ทั้ง อาหาร ดนตรี ศิลปะการแสดง  เครื่องแต่งกาย ประเพณีต่าง ๆ ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมสำคัญ คำถามที่ตามมา คือจะทำอย่างไรให้ทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ถูกยกระดับดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) สร้างโอกาสด้านต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง 

เคาะงบ 5,164 ล้านบาท เดินหน้า ซอฟต์พาวเวอร์ 

กลายเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ถูกจับตาอย่างมาก สำหรับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เมื่อล่าสุด คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ  ที่มี แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เคาะงบประมาณมากถึง 5,164 ล้านบาท ใน 11 สาขา ประกอบด้วย 

อุตสาหกรรมเฟสติวัล 1,009 ล้านบาท

สาขาท่องเที่ยว 711 ล้านบาท

สาขาอาหารดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย 1,000 ล้านบาท 

สาขาศิลปะ  380 ล้านบาท

สาขาออกแบบทำโครงการ 310 ล้านบาท

สาขากีฬา เน้นเรื่องมวยไทย 500 ล้านบาท

สาขาดนตรี  144 ล้านบาท 

สาขาหนังสือ 69 ล้านบาท 

สาขาภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ส์ 545 ล้านบาท

สาขาแฟชั่น 268 ล้านบาท

สาขาเกม 374 ล้านบาท 

ขณะที่อุตสาหกรรมเฟสติวัล ที่ได้งบประมาณสูงสุด ดูจะมีความคืบหน้าให้เห็นมากที่สุด กับการวางเป้าส่งเสริมประเพณีของไทยสู่สายตาชาวโลกให้หันกลับมามองประเทศไทย ผ่านกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยปีหน้าเตรียมกิจกรรมไว้ 10,000 กิจกรรม  เช่น งานสงกรานต์ไทย วางเป้าไว้ให้เป็น IP Festival เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานสงกรานต์  จัดทั่วทั้งเดือน เพื่อหวังสร้างรายได้ในทุกพื้นที่ ที่ตั้งไว้ว่าจะมีรายได้ถึง 35,000 ล้านบาท 

ทันทีที่เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันที โดยกลุ่มที่สนับสนุน เห็นว่า เป็นการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกอยู่แล้ว ให้ยิ่งยกระดับดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเล่นสงกรานต์เพิ่มรายได้เข้าประเทศ แต่มีเสียงอีกด้านที่มองว่า อาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น หรืออาจจะกระจุกตัวในบางจุดที่เป็นย่านเศรษฐกิจ และมองไปถึงผลกระทบความกังวลต่อการใช้น้ำ เพราะมีการประเมินว่าปีหน้าจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง 

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนบางส่วนมองว่า การสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์  ไม่ควรมุ่งแค่ประเพณีวัฒนธรรมกระแสหลัก เพราะประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างมาก เพียงแต่ทุนทางวัฒนธรรมเหล่านั้นยังไม่ถูกยกระดับเพื่อดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ 

ซอฟต์พาวเวอร์ บนความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ 

หากมองถึงข้อได้เปรียบ ที่ประเทศไทยมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ มากกว่า 60 กลุ่ม  มีประชากรรวมประมาณ 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรทั้งประเทศ กระจายตัว 4,700 ชุมชน ทั่วประเทศ 

โดยล้วนมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีอัตลักษณ์ความโดดเด่นเฉพาะ  เช่น 

อาหาร   ที่มีวัตถุดิบจากพืชผักเฉพาะถิ่น ที่ให้กลิ่นรสชาติอันมีเอกลักษณ์ แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ห่อวอ ของชาวกะเหรี่ยงปะกาเกอะญอ ทางภาคเหนือ  ใส่ในแกงต่าง ๆ, โพ้เก้ ใส่ในแกง และกินแกล้มเป็นเครื่องเคียงต่าง ๆ  มีแต่เฉพาะในไร่หมุนเวียน ของชาวกะเหรี่ยงโผล่ว กะเหรี่ยงพื้นที่ตะวันตก ที่ปลูกเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์กันปีต่อปี, น้ำพริกถั่วเน่าไทใหญ่, ส่ามะเขือลีซู, น้ำพริกปลาย่าง เครื่องเทศเฉพาะของชาวเล เป็นต้น 

เครื่องแต่งกาย ที่มีเอกลักษณ์ มีเรื่องราวของที่มาวัตถุดิบการผลิต ที่อาศัยพึ่งพาควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เสื้อผ้าของชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน ชุมชนบ้านห้วยหินดำ บ้านกล้วย ป่าผาก จ.สุพรรณบุรี ที่มีการย้อม ทอผ้า จากต้นฝ้ายในไร่หมุนเวียน ใช้สีธรรมชาติ จาก เปลือก ผล และใบไม้ต่าง ๆ โดยมีวิธีการเก็บมาย้อม ที่ยึดหลักการใช้ประโยชน์ควบคู่กับรักษาธรรมชาติ  มีการทอมือด้วยลวดลายต่าง ๆ ที่ออกแบบใหม่เฉพาะตัวเดียวในโลก 

ดนตรี ศิลปะการแสดง ที่มีเอกลักษณ์  เช่น บทกวีทา ที่คลอด้วยเสียง เตหน่า เครื่องดนตรีของชาวปากาเกอะญอ, รำตง ของชาวกะเหรี่ยง คลิตี้ล่าง, ระบำรองเง็ง ของชาวเล ที่เล่าและสะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรม

ประเพณี  พิธีกรรม เช่น ประเพณีลอยเรือ  ประเพณีนอนหาด การตั้งบาฆัด หรือแคมป์ปิ้งพื่อวิถีชีวิตของชาวเล, พิธีกรรมคล้องช้าง ของชาวกูย, ประเพณีมัดมือตีข้าว กินข้าวใหม่  ของชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น 

ข้อเสนอ สู่โอกาส ดันซอฟต์พาวเวอร์ บนความหลากหลายชาติพันธุ์

ผศ.ดร.วรวิทย์ นพแก้ว หัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มองว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐพยายามให้ความสำคัญเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ แม้ในความหมายอาจยังตีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป แต่ตนเข้าใจว่า การมองแบบซอฟต์พาวเวอร์ เป็นการพยายามค้นหาพลังที่มันอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ และเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางชาติพันธุ์นี่แหละ เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่จะต้องขุดคุ้ยขึ้นมาโชว์วางอยู่บนโต๊ะให้เห็น  

แต่ก่อนอาจจะหลบอยู่ตามป่าตามเขา ตามชุมชนตามแหล่งต่าง ๆ แต่วันนี้ พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมหลาย ๆ พื้นที่ มีซอฟต์พาวเวอร์ในตัวเองอยู่แล้ว ทั้ง อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น เกาหลี พยายามโชว์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ประเทศไทยเราเองก็ร่ำรวยมากในเรื่องเครื่องแต่งกาย ร่ำรวยมากในเรื่องอาหารการกินที่สัมพันธ์กับพื้นที่ และมีความร่ำรวยทางความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ถ้าวันนี้เราโฟกัสไปแต่ละที่ เราจะเห็นความหลากหลายของซอฟต์พาวเวอร์ผุดขึ้นแต่ละจุด เกิดขึ้นมากมายมหาศาล ในป่าในเขา ในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 

“ผมคิดว่าถ้าเราจะส่งเสริมจริง ๆ มันคือซอฟพาวเวอร์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้ความหลากหลายนี้ ถูกยกให้มีคุณค่า และความหมาย ไม่ใช่มองเป็นวัฒนธรรมชั้น 2 หรือชั้น 3 ที่ถูกด้อยค่า ที่ถูกมองว่าเชย  ทำยังไงให้หยิบยกขึ้นมาเห็น”

มุมมองสำคัญ คือต้องลดอคติให้ได้ก่อน เปลี่ยนมุมมองปรับฐานคิดให้ได้ ให้เห็นความสำคัญของ ความหลากหลาย ถ้ารัฐเข้าใจเรื่องพวกนี้ เรื่องการสื่อสาร ต้องฝากไปที่รัฐบาล สื่อสารเรื่องมุมมองอคติในทางชาติพันธุ์ ทำยังไงให้ลดลงและเข้าใจความหลากหลายให้มากขึ้น อันนี้ถ้าเราเข้าใจพวกเขาก็จะมองเห็นคุณค่าและความหมายพวกเขา 

ประเด็นที่ 2 ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ วันนี้เราจะสนับสนุนอะไรยังไงก็ตาม เรื่องการสนับสนุนในวิถีการผลิตเรื่องสนับสนุนในเรื่องการปลูกกาแฟ การทอผ้า มันต้องมีพื้นที่ ในการปลูกฝ้าย ในการมีพื้นที่ในการผลิตของพวกเขา แต่ว่าปัญหาสำคัญคือปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องของข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมาย ในเรื่องของการอ้างสิทธิของรัฐเหนือดินแดนในหลายพื้นที่ ก็ไปจำกัดสิทธิของพี่น้อง เช่น ทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนไม่ได้   ทำให้พลังศักยภาพตรงนี้มันลดลง 

“ผมคิดว่าสิ่งแรกที่รัฐจะต้องทำก่อนที่จะลงมาหนุนเสริม ก็อาจจะต้องแก้ ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ได้ด้วย เพราะว่าเรื่องกฎหมาย เรื่องนโยบาย โดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้หลาย ๆ ฉบับ ยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากร และก็เรื่องของพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ที่จะสนับสนุน หรือหนุนเสริม พี่น้องให้มีศักยภาพ พวกนี้ก็ยังไม่มี  ฉะนั้นผมคิดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างอันแรกเนี่ย เราจำเป็นที่ต้องปรับต้องเปลี่ยน ต้องรื้อต้องถอน ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เข้าใจ วันนี้ถ้าเราปรับฐานคิด ให้เข้าใจความหลากหลาย กฎหมายที่มีอยู่ที่เป็นข้อจำกัด ก็ให้ปรับรื้อก่อนเพื่อให้เขาเข้าถึงทรัพยากร เพื่อให้เขาเข้าถึงฐานวัฒนธรรม พื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเหล่านี้คือส่วนสำคัญ

ผศ.ดร.วรวิทย์ นพแก้ว หัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

ประเด็นที่ 3 เมื่อเราปรับรื้อโครงสร้างอะไรเรียบร้อยแล้ว เราก็อาจจะต้องมาออกแบบวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงที่เข้าไปมีส่วน ในการออกแบบ เรื่องของวิถีชีวิตวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง  วัฒนธรรม พม. ซึ่งแต่ละที่ซ้อนกันอยู่ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง กับสำนักวัฒนธรรมจังหวัด บางทีก็ยังทำงาน ก็ยังไปคนละทิศทาง ผมคิดว่าอาจจะต้องมีการปรับจูน  และพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม จึงจะเป็นอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจกัน มีส่วนร่วมในการจัดการ มีส่วนร่วมในการออกแบบ เพื่อให้ซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอยู่ ขยับตัวไปได้  

ประเด็นที่ 4  นอกจาก กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะหนุนเสริม  เรื่องของตัวชุมชนเองก็มีส่วนสำคัญ ข้างบนสับสวิตช์แล้ว ข้างล่างก็ต้องเริ่มกระเพื่อม ต้องเข้าใจว่าวันนี้พวกเขามีสิทธิแล้ว  ให้สิทธิแล้ว ก็พร้อมจะใช้สิทธิของคุณได้เต็มที่ เต็มศักยภาพของพวกคุณ ในการสร้างพลัง ซอฟต์พาวเวอร์ที่อยู่ข้างล่างนี้ขึ้นไป ให้สังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้  อย่างที่พวกเขามีเจตนารมณ์ที่อยากจะประกาศตัวตนว่า อยากจะลุกขึ้นมาจัดการชีวิตของตนเอง จัดการระบบนิเวศของตนเอง จัดการการผลิตของตนเอง 

รวมทั้งเรื่องระบบเศรษกิจที่นำไปสู่ข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผ้าทอ เรื่องอาหาร  เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่มันเป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของพวกเขาเอง บนฐานของพวกเขา และพวกเขาก็สามารถที่จะระดมกัน สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้  ภายใต้ข้อตกลงใหม่ ถ้ามันเป็นไปได้  ข้างบนปรับเรื่องโครงสร้างให้เข้าใจกัน  ข้างล่างก็ปรับวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกัน และก็มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการร่วมกัน  เปลี่ยนสังคมใหม่ไปในทิศทางที่ดีร่วมกัน

จารุวรรณ เมืองแก่น เยาวชนกะเหรี่ยงโผล่ว บ้านห้วยหินดำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี  กล่าวว่า ในความคิดและความรู้สึกของตนเองนั้น รู้สึกว่าสัมผัสกับซอฟต์พาวเวอร์ตลอดเวลา ได้เห็น หรือรู้ว่าอยู่รอบๆตัวเรา มันคือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้อมผ้า หรือว่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม การใช้ชีวิต ของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงของเรา หลาย ๆ เรื่อง รู้ว่านี่และมันก็คือซอฟต์พาวเวอร์นะ แต่ก่อนเราไม่เคยได้ยินคำนี้เท่าไหร่ แต่พอมีการพูดถึงคำนี้ออกมา มันทำให้เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่คำแปลกใหม่ สำหรับเรา มันคือคำที่เราได้สัมผัสมาตลอด มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา  

“ถามว่า มองว่าเป็นโอกาสไหม ใช่มันคือโอกาส แต่เขาจะให้โอกาสเราไหม อันนี้ต่างหากสำคัญ คือเราจะเข้าถึงโอกาสไหมนี้ไหม ไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรืองบประมาณ  เพราะมันไม่ใช่แค่ปัจจัยนี้ปัจจัยเดียว  แต่ถ้าถามว่าเราจะเข้าถึงไหม อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า เพราะว่าเหมือนที่บอกว่าเรามีซอต์ฟพาวเวอร์โอบล้อมตัวเราไว้ แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่มีช่องทางที่จะไปต่อ มันก็ไม่มีประโยชน์“ 

จารุวรรณ เมืองแก่น เยาวชนกะเหรี่ยงโผล่ว บ้านห้วยหินดำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี 

อย่างถ้ามองถึงรูปธรรม สมมติว่าวันนี้เราทำย้อมผ้าใช่ไหม สมัยก่อนมันจะมีการปลูกฝ้าย หรือว่าปลูกวัตถุดิบที่เราใช้เองโดยที่ไม่ต้องไปซื้อจากที่อื่นเข้ามาแล้วก็มาผลิตก่อน มาทำต่อ จะมีการปลูกฝ้าย จะมีการทำไร่หมุนเวียน วิถีชีวิตทุกอย่าง ที่เป็นวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงเขาจะสัมพันธ์กันทุกอย่าง เรื่องการปลูกฝ้าย ทำไร่ เกื้อหนุนกันทุกอย่าง แต่ปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่ของตนเองดั้งเดิมที่เคยทำแบบนี้ ปัจจุบันเราทำไม่ได้แล้ว เราไม่มีโอกาสข้าถึงพื้นที่เดิมของเราแล้ว เพราะว่าด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราไม่สามารถผลิตสิ่งที่เราเคยผลิต 

“สิ่งที่มันเคยมีอยู่เองได้ทั้งหมด มันก็เลยไม่เกิดการเข้าถึงตรงนี้แล้ว แล้วเราจะยังไงต่อถ้าสมมติว่าเราจะให้ผลักดันเรื่องของทุ่มเงินให้ ก็เหมือนเปิดช่องทางให้เราและก็ควรเปิดโอกาส เปิดใจเปิดทาง  และอยากให้เปิดทั้งใจและเปิดทั้งทางด้วย เหมือนให้เราได้เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ด้วย ปลดล็อกข้อจำกัดที่ทำให้เราไปไม่ได้ด้วย”

มาถึงตรงนี้ คำถามที่ตามมา คือจะทำอย่างไรให้ทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ถูกยกระดับดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)  ที่สร้างโอกาสด้านต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ