ดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ให้คนทั้งโลกหลงรักประเทศไทย

การท่องเที่ยวธรรมชาติของไทย เป็นรายได้หลักทางหนึ่งของประเทศ เรามีหาดสวยที่สุดในโลก และภูเขา ทะเล ที่เป็นจุดหมายของนักเดินทาง ท่ามกลางข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา คำถามสำคัญคือจะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร ไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติบอบช้ำ ให้การจับจ่ายช่วยกระจายรายได้สู่ธุรกิจรายย่อยในท้องถิ่นต่างๆ ที่สำคัญคือทำให้การมาเยือนของคนต่างถิ่นไม่ทำให้เอกลักษณ์ความเป็นไทยถูกละเลยไปด้วย

ยุทธศาสตร์ใหม่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงชูจุดขายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ หรืออำนาจละมุน ผ่านแนวคิด 5F คือ Food (อาหาร) Fashion (แฟชั่น) Fight (ศิลปะการต่อสู้ มวยไทย) Festival (เทศกาล ประเพณี) และ Film (ภาพยนตร์) ประกอบกับหลักคิดใหม่ ๆ ทางการตลาดเพื่อยกระดับมูลค่าการท่องเที่ยว ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ท้องถิ่นไปด้วยกัน

The Active สรุปบทเรียนจาก งานสัมมนา “The Soft Power Tourism Forum 2023” เพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากนักวิชาการ นักการตลาด ในการจุดประกายความคิด พิชิตกลยุทธ์การท่องเที่ยวไทย

รู้จุดขาย รู้ตลาด เรียกลูกค้าเงินหนาเข้าประเทศ

ศ.เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า วันนี้การท่องเที่ยวของประเทศไทยอยู่ในระดับสากลเรียบร้อบแล้ว เราเป็นจุดหมายของนักเดินทางทั่วโลก และการท่องเที่ยวก็เป็นแหล่งรายได้อันดับต้น ๆ ของประเทศเช่นกัน แต่คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวสามารถนำไปสู่ความยั่งยืน คือมีทั้งคุณค่าและสร้างมูลค่าสูงได้ด้วยการใช้ซอฟต์พาวเวอร์

เป้าหมายที่ต้องการคือ 1. การท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 2. นักท่องเที่ยวและเจ้าบ้านต้องได้รับคุณค่าทางใจ 3. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4. สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ความเข้าใจ และสงบสุข หากดูโครงสร้างทางรายได้ทางเศรษฐกิจของไทยมีที่มาจาก ที่พัก อาหาร ช้อปปิง สิ่งดึงดูดใจ เป็นปัจจัยที่เราต้องร่วมกันสร้างมูลค่า ผ่านตัวช่วยต่าง ๆ ได้แก่

1. เทคโนโลยี ใช้เพิ่มศักยภาพการให้บริการ ทั้ง social media big data geolocationlization virsual chatbot รวมถึงการใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงาน เช่น Henna Hotel ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้หุ่นยนต์ให้บริการต้อนรับนักท่องเที่ยว แนะนำข้อมูลพื้นฐาน เป็นภาษาต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์สำรวจความเรียบร้อย หุ่นยนต์ช่วยเป็นไกด์นำทาง เราอาจไม่เคยคิดว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้ แต่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกชุมชนเริ่มมีการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนแล้ว ทำงานเสริมศักยภาพของคน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับประเทศไทยต้องประเมินดูว่าเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแค่ไหน

2.ซอฟต์พาวเวอร์ คือพลังละมุน ได้แก่ อาหาร การถ่ายทอดที่มาที่ไปเรื่องราวจากแหล่งที่มา สร้างโอกาสท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ ภาพยนตร์ สร้างภาพลักษณ์ พลังบวกทำให้คนดูรู้สึกหลงรักและอยากมาประเทศไทย อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามวัฒนธรรมที่ส่งต่อผ่านภาพยนตร์ ปัจจุบันสร้างมูลค่าได้นับหมื่นล้านบาท อย่างที่เห็นว่าชาวจีนหลายคนดูซีรีส์วายแล้วก็ตามมาใส่ชุดนักเรียนมาเที่ยวประเทศไทย การออกแบบแฟชั่นไทย ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจับจ่ายซื้อของเสื้อผ้าของไทย ศิลปะการป้องกันตัว เช่น มวยไทย ปัจจุบันสร้างมูลค่าได้นับแสนล้านบาท เทศกาลประเพณีไทย งานกิจกรรมของแต่ละพื้นที่ต้องมีเอกลักษณ์และทำให้เกิดการกระจายตัวของผู้คนไปเที่ยวที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

“ซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นตัวกระตุ้นที่มีศิลปะทำให้คนหลงรัก หัวใจสำคัญคือทำให้หลงรัก ถ้ารักเมื่อไหร่ให้ทำอะไรก็ง่าย เพราะเวลานี้จะคำนึงถึงกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว ในระดับสากลยังพบว่า การใช้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์ล้ำหน้ามาก แต่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 35 ดังนั้นประเทศไทยต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ก้าวหน้ามากขึ้น”

ศ.เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า

ปัจจัยในระดับประเทศทั้งภายนอกและภายในที่ต้องคำนึงถึง เรื่องแรกคือ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องข้ามผ่านอุปสรรคภายในประเทศประการต่าง ๆ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านโรคระบาด ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว ความเสี่ยงด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงทางการเมืองและความไม่สงบ เพราะทุกความไม่เสี่ยงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนา

เรื่องที่สองคือ การมีนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยต้องมาจากประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ในช่วงที่จีนปิดประเทศเนื่องจากโรคระบาด พบว่ารายได้ด้านการท่องเที่ยวของไทยตกลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความมั่นคงภายในด้วย โดยการสำรวจข้อมูลและวิเคราะห์จากดัชนีวัดคุณภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่าง ๆ พบว่าประเทศที่มีความมั่งคง น่าสนใจ และสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้สะดวก (ไม่เกิน 28 ชั่วโมง) กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ทั้งทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล ทวีปยุโรป เช่น รัสเซีย โปรตุเกส ฝรั่งเศส สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ทวีปอเมริกา เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา ทวีปโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย และนิวเซีแลนด์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โอมาน การ์ตา บาเรน มาเก๊า ออสโตเนีย ไอร์แลนด์ โครเอเชีย ปานามา

เรื่องที่สามคือ ต้องรู้จักตัวเอง (DNA) และเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป้าหมายชัดเจน การเก็บข้อมูลศักยภาพ จุดเด่น จุดขาย และเอกลักษณ์ของไทย พบว่า ธีมการท่องเที่ยวของเรา โดดเด่นอันดับ 1 คือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและธรรมชาติ รองลงมาคือ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี การท่องเที่ยวชุมชนและวิถีท้องถิ่น การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวนิเวศธรรมชาติ ตามลำดับ ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องพิจารณาโดยละเอียดถึงของดีแต่ละพื้นที่ด้วยว่าควรจะส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบใด และการส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ตลาดใหม่ ๆ และการขยายฐานลูกค้าที่ไม่ซ้ำกลุ่มเดิม ๆ

เรื่องที่สี่ การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายราคาสูง การวิเคราะห์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีฐานเงินสูง 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวเน้นไปที่การท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เช่น หาดป่าตอง เชียงคาน ชอบเที่ยวกับครอบครัว เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว พักค้างคืน เฉลี่ย 3 วัน 2 คืน ต่อทริป ในวันหยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และมักเลือกเที่ยวรีสอร์ต ใช้ชีวิตแบบ slow life ทั้งนี้ยังพบว่า คนรวย ๆ มักเที่ยวอยู่ไม่กี่จังหวัด คือจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อยุธยา กาญจนบุรี โคราช ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง เป็นต้น

“การสำรวจข้อมูล กลุ่มเป้าหมาย ความต้องการ โอกาส ศักยภาพ และช่องโหว่ต่าง ๆ ทำให้เรายิ่งต้องพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวในประเทศของเราให้ดีขึ้นด้วย การเที่ยวอย่างมีคุณภาพ หมายความว่า ผู้ประกอบการต้องเตรียมการให้บริการที่ดี และต้องเลือกกลุ่มลูกค้า ใช้เครื่องมือให้ถูกในการวางแผนการตลาด ที่สำคัญคือใช้ซอฟต์พาวเวอร์ พลังละมุนที่ทำให้คนรัก ทำให้คนหลง ทำให้คนชื่นชอบ พร้อมเป้าหมายบางอย่างอยู่เบื้องหลังด้วย”

การท่องเที่ยวที่ขายประสบการณ์ ร่วมสร้างความยั่งยืน

ผศ.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอนาคตการท่องเที่ยวไทยอาจจะตีตลาดในยุโรปได้ยากมากขึ้นเพราะมีเทรนด์สำคัญของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2019 นั่นคือกระแสของการดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มีข้อมูลยืนยันว่าการบินระยะไกลปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และเป็นเรื่องที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสะท้อนความกังวล ค่านิยมด้านการบินเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยตั้งใจว่าจะไปบินระยะไกล ซึ่งไทยห่างจากยุโรปมาก จะทำให้ยังไงให้นักเดินทางรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะมาเยือน เพื่อแลกกับการสูญเสียเชิงพลังงานและสิ่งแวดล้อมของโลก ภาคธุรกิจทุกวันนี้อาจจะต้องคำนึงถึงการคำนวนเชิงคาร์บอน และการชดเชยคาร์บอนเพื่อยืนยันต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมียุทธศาสตร์ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ประกอบด้วย Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ทางฝั่งภาคเอกชนก็มีแนวคิดเรื่อง ESC คือ Environment Social Governance ยังไม่รวมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หรือ SDGs ที่มีอยู่เดิม คำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจท่องเที่ยวของเราตอบโจทย์เป้าหมายเหล่านี้ และตอยโจทย์ลูกค้าที่กำลังเปลี่ยนบริบทไป

ถ้าเราต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะตั้งเป้าหมายการเติบโตเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ ตัวอย่างที่ อัมสเตอร์ดัมมีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนได้ แต่มีคนพื้นที่แค่ราว ๆ 2 ล้านคน และในหลายกรณีนักท่องเที่ยวรบกวนการใช้ชีวิตของคนอัมสเตอร์ดัม และทำให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันในเชิงกฎหมาย วิถี วัฒนธรรม ดังนั้นต้องคำนึงถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับเมือง แบบที่ไม่เยอะจนล้นเกินไป หรือแม้แต่รูปแบบการพัฒนา การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เหมาะสม

“มีตัวอย่างชุมชนหนึ่งของอัมสเตอร์ดัม เป็นหมู่บ้านที่สวนงามน่าอยู่ สัญจรทางเรือเป็นหลัก คนในชุมชนลงมติและตั้งเป้าหมายว่า อย่างไรก็ตามจะไม่ตัดถนนเข้ามาในหมู่บ้านเด็ดขาด รับนักท่องเที่ยวจำกัดในแต่ละวัน หากมีทัวร์ใหญ่มาก็จะปฏิเสธลูกค้า และมีจุดยืนเรื่อง zero barbon zero waste ชัดเจน คอนเซปต์ของเขาคือ ยิ่งทำให้ยากจะยิ่งแพง แปลว่าไม่จำเป็นต้องรับนักท่องเที่ยวเยอะแล้วจะถึงจะรวย เพราะแบบนี้ก็รวยได้ด้วยเหมือนกัน”

ผศ.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับประเทศไทยเรื่องนี้ต้องจัดการให้ได้ เรามีประสบการณ์ให้เห็นแล้ว คือชุมชนที่มีจุดขายเรื่องตลาดน้ำและหิ่งห้อย โด่งดัง คนไปเยอะมาก ต่อมาเกิดร้านค้ามากมายที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ด้วย วันดีคืนดีมีเรือเต็มไปหมดเลย พาคนนอกเข้ามาแต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไร เมื่อชาวบ้านรำคาญ มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ก็ตัดต้นลำพูทิ้งหมดเลย หิ้งห้อยก็หายไปเพราะไม่มีที่อยู่ การท่องเที่ยวก็ซบเซาลง เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และน่าเสียดายมาก

ดังนั้นการเที่ยวจนล้นจึงไม่ใช่คำตอบ การเพิ่มไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายแต่การพอน่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย พอดี ไม่น้อยไปไม่มากไป ใช้ caring capacity มาใช้บริหารจัดการ เดิมการตลาดเราจะดีใจมากหากการเติบโตทางธุรกิจเกินเป้า แต่นั่นคือการมองด้วยมุมเดิม วันนี้เรามาคุยกันไหมว่า โตแล้วไม่เกินเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ล้น และกระทบกับสังคม สิ่งแวดล้อม ถ้ามีมุมคิดแบบนี้ได้เราจะทำธุรกิจได้ยั่งยืนขึ้น เปลี่ยนจากเพิ่มเป็นพอ นี่คือตัวชี้วัดที่ 1

ตัวชี้วัดที่ 2 คือ ความสัมพันธ์กับลูกค้า คือสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับแบรนด์ เป็นทางเลือกการใช้กลยุทธ์ที่ดีกว่าเรื่องของราคา เพราะหากตัดราคาให้ถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า คู่แข่งก็ตัดราคากับเราได้ การลดแลกแจกแถมจึงเหมือนปุ่มนิวเคลียร์ที่มีแต่เสีย แต่ความสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นการสร้างคุณค่าอีกประการให้กับแบรนด์ และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดได้ เช่น ไปรษณีย์ไทย ให้บริการมายาวนานจนคุ้นเคยกับพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้มีการเพิ่มบริการ คือนอกจากส่งจดหมายพัสดุ ยังมีบริการจัดจำหน่ายสิ่งของเดลิเวอรี่ประจำ เช่น ยาสีฟัน ผ้าอ้อม ก็ให้บริการส่งในรูปแบบของสมาชิกที่ซื้อต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างการทำธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องยึดติดกับเรื่องราคาเท่านั้น

“ยกตัวอย่าง ผลการสำรวจเมนูโปรดของไทยในมุมมองต่างชาติหรือนักท่องเที่ยว คือ ข้าวเหนียวมะม่วง แต่อาหารไทยที่ได้ชื่อว่าอร่อยก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มันมีความหมายมากกว่าเดิม ให้มีความลึกซึ้ง มีประโยชน์มากกว่าขึ้น มีอยู่ชุมชนหนึ่งนอกจากจะพานักท่องเที่ยวกินมะม่วงแล้ว เม็ดมะม่วงที่เหลือนำมาใช้เป็นกิจกรรมสอนนักท่องเที่ยวปลูกมะม่วง เขาจึงรู้ว่าการปลูกมะม่วงไม่ได้ง่ายนะ สร้างประสบการณ์ที่จดจำให้นำไปเล่าต่อ พอถามว่าประทับใจเรื่องไหน ไม่ใช่เรื่องอร่อยแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เขาได้ปลูกต้นมะม่วงด้วย และให้ความรู้สึกว่าเขาได้ให้สิ่งที่คืนกลับจากสิ่งที่บริโภคไป มันเป็นแนวคิดคือความยั่งยืนในยุคนี้เลย ชุมชนก็ได้ประโยชน์ด้วย รูปแบบการคิดนี้เป็นแนวทางที่ดี ที่หลายชุมชนพยายามคิดถึง มีการพาไปกินข้าวแล้วทำนา เรียนรู้กระบวนการทำนา จากการดูมวยจากเมื่อก่อนเริ่มสอนไหว้ครูที่สนามมวย”

สำหรับการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดไม่ยาก แต่จะทำอย่างไรให้คนในชุมชนไม่ทะเลาะกันเอง หลายชุมชนเมื่อทำการท่องเที่ยวแล้วขัดแย้งกันเองในที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการบริหารจัดการ อาจต้องเริ่มจากการมองในก่อนนอก ตัวอย่างที่ดีคือ ชุมชนคลองแดน หมู่บ้านกินรี จุดเชื่อมต่อจังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช หลายปีมานี้มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนวัยทำงานเข้าเมืองไปหมด วันหนึ่งอยากให้ลูกหลานกลับมา จึงคิดสร้างตลาด จัดตั้งกรรมการ สภาชุมชน มีการคัดเลือกสินค้าที่เข้ามาขาย ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีพลาสติก ต้องขายของไม่เหมือนกัน ห้ามขายแพง ระบบการจัดการที่ดีทำให้ตลาดจากเล็ก ๆ ก็ขยายใหญ่ขึ้น ลูกหลานมารำมโนราห์โชว์นักท่องเที่ยว หลายบ้านปรับตัวเป็นที่พักโฮมสเตย์ มีกิจกรรมกินปิ่นโตรวมกัน ในช่วงวันหยุดเป็นจุดหมายของหลายคน เฉพาะวันเสาร์ รายได้เฉลี่ย 8,000 บาทต่อวัน

“การเติบโตของตลาดดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและลูกหลานให้กลับมาอยู่บ้าน เมื่อขายดีภายหลังเริ่มมีแนวคิดว่าเปิดวันอาทิตย์ด้วยดีไหม เมื่อเข้าสู่แนวคิดนี้เข้าสู่สภาหมู่บ้าน มติเอกฉันท์บอกว่าไม่เปิด เพราะยึดเป้าหมายวันแรกที่ตั้งโครงการคืออยากให้ลูกหลานกลับมา ถ้าวันอาทิตย์ต้องเปิดร้านอีกวัน จะมีเวลาไหนคุยกัน เมื่อได้ลูกหลานกลับมา ได้เงินเข้าบ้านแล้ว มีความสุขแล้ว พอ นี่คือกินรีทองคำของภาคใต้ ที่แข็งแรงจากข้างในไม่ได้เอาใจลูกค้าอย่างเดียว”

ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมาจะคิดแต่เรื่องยอดขายกำไรอย่างเดียวไม่ได้ สูตรใหม่คือ 3P Profit (ประโยชน์) People (ผู้คน) Planet (โลก) คือกำไรก็ต้องได้ คนทำงานโอเคไหม สังคมชุมชนมีความสุขไหม และสุดท้ายคือโลกยั่งยืนไหม ปัจจุบันลูกค้าฝั่งยุโรปใช้หลักคิดนี้หมดแล้ว ดังนั้นถ้าเราพยายามวัดผล 3 เรื่องนี้ได้จึงจะตอบโจทย์ ถ้าองค์กรของท่านตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ ตั้งเป้าหมายเรื่องคนแล้วหรือยังว่าเราจะลดความขัดแย้งในองค์กรให้ได้ครึ่งหนึ่ง ถ้ามองคนด้วยสายตาของความเป็นคน จะวิถีวัฒนธรรมแบบไหน ก็มีความน่าสนใจในตัวเอง หรือจะสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทุกอย่างต้องผสมผสานและไปด้วยกัน สุดท้ายจะนำไปสู่ความยั่งยืน

“ชวนเปลี่ยนมุมคิด เมื่อก่อนเราอยากเติบโต อยากเพิ่มขึ้นแต่เราเพิ่มไปด้วยว่าโตเท่าไหร่ถึงจะพอ จะไม่เน้นรายได้สูง ๆ ระยะสั้น ๆ แต่เน้นความลึกซึ้ง สร้างกิจกรรมที่ให้คุณค่าความหมายกับนักท่องเที่ยว สมัยก่อนลูกค้ามาก่อน แบบนั้นทำร้ายคนในกันเองหรือเปล่า และสุดท้าย คือความยั่งยืน เราไปถึงจุดนั้นไหม หากท่านทำได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังของการท่องเที่ยวซอฟต์พาวเวอร์ที่ยั่งยืน”

ใช้ฐานข้อมูล สร้างกลยุทธ์ทางการตลาด

ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน กล่าวว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในไตรสมาสที่ 4 ของ ปี 2565 จากการสำรวจข้อมูลจาก social listening ข้อมูลจากการแชร์ การโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ต่อการตลาด พบว่า โซเชียลมีเดียมีผลสูงต่อการตัดสินใจท่องเที่ยว แนะนำว่าการทำการตลาดออนไลน์ปัจจุบันอย่าไปทำแบบเราใช้มันทำงาน แต่ให้เล่นเหมือนที่เราเล่นโซเชียลมีเดียปกติ แค่เล่นผ่านแอคเค้าต์ของธุรกิจเราให้เป็นเท่านั้นเอง ถ้าไม่รู้จะจ้างใครมาช่วยทำดีอย่างแรกคือไปดูโพรไฟล์เขาก่อน ว่าเขาเล่นเขาทำคอนเทนต์เหมือนอย่างที่เราอยากได้ไหม งานเราจะออกมาดีตรงใจคนจ้างและคนทำงาน

ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน

ในปลายปีที่ผ่านมาคนชอบไปที่จังหวัดไหนกัน? Top10 จังหวัดที่คนพูดถึงมากที่สุดเมื่อไปเที่ยว คือเชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต 3 จังหวัดหลักเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง อันดับ 4 นครนายก เริ่มมาแรงมากกว่าที่คิด กาญจนบุรี ก็เช่นกัน ไต่ลำดับขึ้นมา ส่วนที่ตกอันดับคือ เชียงราย กระบี่ น่าน จากนั้นคือ สงขลา และแม่ฮ่องสอน ส่วนการรีวิวแบบไหนที่เป็น Top Hilight Content เช่น รีวิวประสบการณ์ความลำบาก เล่าอย่างตรงไปตรงมา มีกระทู้ถามสถานที่เที่ยวในกรุงเทพฯ รีวิวโดยดารา หรือคลิปพาสัตว์เลี้ยงไปพักผ่อนด้วย สุดท้ายคือคอนเทนต์หรูหรา อย่างนั่งเครื่องบินส่วนตัวไปเที่ยวหัวหิน เหล่านี้คือเรื่องที่คนสนใจ

แล้วคนชอบไปเที่ยวที่ไหนบ้าง? 40% ไปทะเล 30% ไปดอย/ภูเขา 10% ไปน้ำตก ที่เหลือคือ ป่า ถ้ำ ริมแม่น้ำ เขื่อน ซึ่งสัดส่วนการไปเที่ยวแต่ละสถานที่ก็เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ช่วงเวลาด้วย Top Post สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีที่ไหนบ้าง ทะเล ได้แก่ ทะเลสวนวังแก้ว จ.ระยอง เกาะล้าน จ.ชลบุรี เกาหลีเป๊ะ จ.สตูล ดอย/ภูเขา ได้แก่ ทะเลสาบดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ดอยสกาด ปัว จ.น่าน ดอยช้าง จ.เชียงราย น้ำตก/ป่า/ถ้ำ/แม่น้ำ ได้แก่ ป่าโกงกาง จ.ชุมพร แม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี น้ำตกบนแบงค์พัน หรือน้ำตกกรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ

เวลาคนไปเที่ยวชอบเช็คอินที่ไหน? 36% ที่พัก 25% คาเฟ่ 15% ร้านอาหาร 13% ตลาด 11% วัด สถานที่ของเรามีจุดเด่นเหล่านี้หรือเปล่า สถานที่ดี ๆ เป็นช่องทางการตลาดที่ทำให้เกิดบทสนทนาในสังคม ช่วยโปรโมทได้ในทันที แล้วรายละเอียดเป็นอย่างไร ที่พัก อันดับ 1 คือ โรงแรม รองลงมาคือรีสอร์ต กางเต็นท์ พูลวิลลา โฮมสเตย์ และแพ ซึ่งในบางประเภทแปรผันตามช่วงเวลาเช่นกัน การทำคอนเทนต์ให้ดูอลังการอาจไม่ได้ดึงดูดเท่าคอนเทนต์ง่าย ๆ สร้างความเข้าใจ

นักท่องเที่ยวไทยชอบไปเที่ยวกับใคร? 46% ครอบครัว 35% เพื่อน 13% คนเดียว 5% แฟน 1% สัตว์เลี้ยง ข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ออกแบบแพคเกจที่พักสำหรับการวางแผนของนักท่องเที่ยวให้ตรงใจได้ เพราะโรงแรมจำนวนไม่น้อยมักออกแบบที่พักสำหรับคู่รัก แต่จากข้อมูลพบว่าไม่ใช่กลุ่มหลักของการเที่ยว

“การจะวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากดาต้าต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลก่อน ปัจจุบันเราเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาพักมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ทำดาต้าให้ดีตั้งแต่แรกเราก็จะไม่มีข้อมูลที่จะนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแหล่งที่มาของลูกค้า มาจากไหน ชาติอะไร เพศอะไร มากับใคร มากี่คน พักห้องแบบไหน ช่องทางไหนที่พร้อมจ่ายกว่ากัน จองผ่านช่องทางไหน มาพักวันไหน เป็นลูกค้าเดิม หรือรายใหม่ และหากว่าจัดระเบียบข้อมูลดีมากตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องเสียเวลามาจัดใหม่ ทั้งแบบฟอร์ม ระบบการลงข้อมูล ต่อมาคือการนำมาทำเป็นภาพให้เห็นได้ชัดเจน และอ่านตีความ เกิดไอเดียในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเหล่านั้น สร้างกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์กับลูกค้าได้ น่าเสียดายที่หลายโรงแรมใช้ข้อมูลเหล่านี้น้อยมาก”

ตัวอย่างหนึ่ง จากประสบการณ์การไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และไปพักซ้ำเป็นครั้งที่สอง สิ่งที่โรงแรมทำคือสามารถค้นข้อมูลตรงนี้ได้ และประเมินได้ว่าลูกค้าชอบโรงแรมเราแล้ว คำถามคือจะดูแลให้ดีกว่าลูกค้าคนใหม่หรือเปล่า เพราะลูกค้าเก่าสร้างยอดขายได้ง่ายกว่าลูกค้าใหม่ เพราะสิ่งที่เคยเจอคือถูกเปลี่ยนห้องกระทันหัน ทำให้เสียความรู้สึกและไม่ไปอีก ดังนั้นหากใช้ข้อมูลมาประเมิน วิเคราะห์ลูกค้า จะสามารถให้บริการได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น และไม่เสียลูกค้าไปอย่างน่าเสียดาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้