คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี… แบบใด ? เมื่อ ‘นโยบายประชาชน’ รัฐยังไม่ตอบรับ

หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มบริหารประเทศ และก็ถือเป็นห้วงเวลาที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มก้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งออกมาตั้งคำถาม ตรวจสอบ คัดค้านนโยบายรัฐบาล ไปจนถึงการออกมาทวงสัญญาการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็แทบมองไม่เห็นรูปธรรม

แม้ถ้อยคำแถลงของ นายกฯ แพทองธาร เน้นย้ำการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดู ๆ แล้วก็อาจสอดรับกับคำประกาศที่ นายกฯ แพทองธาร เคยลั่นวาจาไว้ตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง’66 คือ การทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

แต่คำถามคือ สิ่งที่นายกฯ แพทองธาร พูด จะทำได้จริงแค่ไหน ? ในเมื่อหลายนโยบายดันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ภาคประชาชนรับรู้ และร่วมกันจับตา นโยบายเรื่องดันตรงกันข้ามกับนโยบายรัฐที่ภาคประชาชนมองเห็น และกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดเวลานี้

ตบเท้าทวงสัญญารัฐบาล

ทันทีที่ นายกฯ แพทองธาร และคณะรัฐมนตรี ได้ฤกษ์เข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการในสัปดาห์แรก เครือข่ายภาคประชาชน ในนาม เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ เครือข่ายรักษ์ระนอง จ.ระนอง นัดรวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง นายกฯ แพทองธาร เพื่อขอให้ยกเลิก โครงการแลนด์บริดจ์ และหยุดผลักดัน กฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) พร้อมขอให้ทบทวนนโยบายการบริหารประเทศ ในกรณีทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว

เครือข่ายฯ อ้างถึงกรณีที่รัฐบาลแถลงนโยบายการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง นายกฯ แพทองธาร ประกาศสานต่อโครงการแลนด์บริดจ์ ต่อจากรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่ตลอดการทำหน้าที่เกือบปี  ได้เดินสายต่างประเทศ เพื่อโรดโชว์ นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ให้กับผู้นำประเทศ และนักลงทุน ซึ่งมองว่า เป็นวิธีการบริหารประเทศที่ไม่เคารพกระบวนการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับชาติ ที่จะส่งผลผลกระทบกับประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล  

“อยากให้ถามชาวบ้านด้วย เพราะทั้งฉันและชาวบ้าน เพื่อน ๆ ในระนอง ชุมพร เดือดร้อนแน่นอน เพราะไม่รู้เลยว่าจะเอาที่บ้าน ที่ทำกินของพวกเราไปให้ชาวต่างชาติตั้ง 99 ปี แล้วลูกหลานของเขาที่จะอยู่ต่อไปเขาจะทำยังไง เพราะ สนข. ไม่ได้พูดเลยว่า เขาจะให้อย่างงั้นอย่างงี้ แต่ฟังมาตลอดไม่มีประโยชน์สำหรับชาวบ้านเลย จึงอยากจะขอความเห็นใจจาก นายกฯ ขอความกรุณาให้รับฟังชาวบ้านอีกหลายกลุ่ม ที่เขามาไม่ได้ อันนี้เป็นแค่ตัวแทนส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องไปฟังถามชาวบ้านจริง ๆ ในพื้นที่”   

ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ เครือข่ายรักษ์ระนอง จ.ระนอง

เครือข่ายฯ ยังได้ขอให้ พรรคภูมิใจไทย ถอนร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC  2 ฉบับ ที่พรรคเสนอ ซึ่งขณะนี้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 77 แล้ว เหลือเพียงการลงนามรับรองจากนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา 

นอกจากนั้นประสานไปยัง สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ขอให้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้ทบทวนและยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ. SEC และโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง

แถลงนโยบายคู่ขนาน จาก ‘ประชาชน’ ถึง ‘ประชาชน’  

ก่อนหน้านี้ย้อนไปวันแถลงนโยบาย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ได้จัดเวทีสาธารณะแถลงนโยบายประชาชน คู่ขนานไปกับการแถลงนโยบายรัฐบาล โดยเห็นว่า นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อของรัฐบาลไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ปัญหาของประเทศ  ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน และแม้ว่า รัฐบาลจะมีการเขียนนโยบายเร่งด่วน ข้อ 10 ที่ให้ความสำคัญต่อการจัดสวัสดิการสังคม สร้างความเท่าเทียมโอกาสเศรษฐกิจให้กลุ่มเปราะบาง แต่ยังเป็นลักษณะการเขียนไว้แบบเลือนลาง และยังคงเป็นการสร้างโอกาสในเชิงการให้การสงเคราะห์มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของชีวิต อย่างรัฐสวัสดิการ 

กลุ่มพีมูฟ ยังได้ร่วมกันอ่านคำแถลงนโยบาย 10 ด้าน ต่อ ประชาชน ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ประกอบด้วย

  • สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

  • การกระจายอำนาจ

  • การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

  • ที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม

  • การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • การป้องกันภัยพิบัติ

  • การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์

  • สิทธิและสถานะบุคคล

  • รัฐสวัสดิการ

  • ที่อยู่อาศัย  

โดยกลุ่มพีมูฟย้ำว่า เป็นนโยบายที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่แต่สมาชิกพีมูฟเท่านั้น

โดยนโยบายทั้ง 10 ด้านนั้นประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ บอกว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งยังเห็นว่าการจะผลักดันนโยบายประชาชนให้เดินหน้าต่อได้ นอกจากการให้ความสำคัญของรัฐบาลในการสานต่อตั้งกลไกเพื่อเดินหน้าการแก้ปัญหาจากรัฐบาลที่ผ่านมาให้มีความคืบหน้า ยังต้องเดินหน้าขยายแนวร่วมที่เห็นตรงกันในประเด็นต่าง ๆ ไปจนถึงการผลักดันเรื่องนี้ทั้งในและนอกสภาฯ ด้วย

“ต้องทำงานใน 2 พื้นที่มากขึ้น และเป็น 2 พื้นที่ ที่พีมูฟเองก็ต้องปรับกระบวนการ เข้าไปเชื่อมกับพันธมิตร ไปจูนกัน ก็จะมีเพื่อนพันธมิตรนอกสภาฯ มากขึ้น พีมูฟก็ต้องรุกไปทำงานต่อเนื่องกับพรรคการเมือง ต้องวางยาวไปถึงกระบวนการขับเคลื่อนในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 70 อันนี้พีมูฟต้องวางยาวอย่างน้อย 3 ปี ว่าพรรคไหนจะซื้อนโยบายของพีมูฟบ้าง และในระหว่างที่ยังมีโอกาสอยู่ในสภาก็ต้องมีการดำเนินการ เพราะหลายนโยบายเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ”

ประยงค์ ดอกลำใย
ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ

หวังรัฐบาลฟังเสียงประชาชน แก้ข้อครหาเอื้อทุนเอื้อพวกพ้อง ?

ขณะที่มุมมองของ ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า บทบาทรัฐบาลไม่ใช่แค่การเข้ามาอ่านมาแถลงนโยบาย แต่บทบาทของรัฐบาลที่เข้ามารับงานรับผิดชอบ คือผู้ที่จะมารับฟัง พร้อมกับการทำให้สิ่งที่รับฟังนั้นสอดคล้องกันเป็นกระบวนของการเตรียมตัว ที่จะประกาศนโยบายรองรับด้วยกันไปได้อย่างไรด้วย  

จึงหวังว่าการประกาศนโยบายของรัฐบาล ควรวางอยู่บนพื้นฐานทั้งประสบการณ์ ในแง่ของงานที่รัฐบาลนี้ก็ได้มีบางส่วนริเริ่มแก้ปัญหาข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมอย่างพีมูฟไปบ้างแล้ว จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่ ที่มีความใหม่ของคนรุ่นใหม่ในรัฐบาลเองด้วย จะมีความกระตือรือร้น ที่ผู้นำรัฐบาลจะช่วยให้บรรยากาศการเริ่มต้นเป็นรัฐบาล ผู้รับผิดชอบบ้านเมือง เป็นผู้รับฟัง พร้อมสืบสานการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่ต่อเนื่องกันมา 

ศ.กิตติคุณ สุริชัย ระบุว่า ไม่ได้พูดเพื่อชวนให้มองการแก้ปัญหาเพียงให้มีการเรียกร้องชุมนุม แล้วค่อยมาตอบทีละเรื่อง แต่หลายเรื่องต้องยอมรับว่าเดินมาต่อเนื่องแล้ว และก็มีการพูดจากัน รวมไปถึงการเก็บข้อมูลที่ลึกซึ้งกันพอสมควร บางส่วนกลายไปเป็นข้อเรียกร้องที่เรียกว่า ร่างกฎหมายออกมา เช่น กม.นิรโทษกรรม และ ล้างมลทิน  ซึ่งอันนี้ก็โยงไปถึงการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายบางส่วน ซึ่งบางทีอาจจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาหนึ่ง แต่เมื่อใช้อำนาจทำให้ไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งขึ้นมา

ที่เห็นชัดคือ กรณีทวงคืนผืนป่า ไปทำให้พี่น้องหลายชุมชนมาก ต้องกลายไปเป็นจำเลยของคดีความ และถูกขับออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยกันมายาวนาน ผ่านมาจนได้ข้อสรุปมาขั้นหนึ่งแล้ว อันนี้จึงต้องถือว่า เป็นต้นทุนที่ดีมากของการทำงานร่วมกันของทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กับทางรัฐบาล  

“ก็น่าจะเป็นโอกาสสำคัญของรับบาลที่จะแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นการยกระดับเรื่องการแก้ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มันจะทำให้การเมืองในรัฐบาลที่คนมักจะพูดกันว่า เป็นเรี่องของคนบางกลุ่ม เป็นเรื่องพรรคพวก เป็นเรื่องของคนมาฝึกงาน ซึ่งจริงก็ต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่บ้างที่มาฝึก แต่ประเด็นใหญ่ คือ ความจริงจังของคนที่เข้ามารับผิดชอบระดับประเทศ ในระดับมาเป็นรัฐบาลนั่นแหละ จะทำให้ความคาดหวังของประชาชนไม่รู้สึกจิตตก ที่พูดๆกันก็จะเปลี่ยนบรรยากาศไปเลย ดังนั้นผมคิดว่า ถ้ารัฐบาลปัจจุบันประกาศทำต่อ เดินหน้านโยบายประชาชน เป็นเรือธงได้ ก็เป็นสัญญานที่ดี ไม่ใช่แค่สร้างสิ่งหวือหวา แต่จริง ๆ คือมีความจริงจังในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาล”

ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว
ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายภาคประชาชนสำเร็จ ศ.กิตติคุณ สุริชัย เห็นว่า นอกจากภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมามีบทบาทในการติดตามความคืบหน้าทางนโยบายอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกต่าง ๆ ต้องใช้ พหุพาคี คือส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในและนอกสภาฯ และต้องนึกถึงภาควิชาการด้วย หลายฝ่ายต้องมาช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะถ้ามีความคิดร่วมกัน โดยความรู้วิชาการก็ต้องได้รับการกระตุ้นเตือนในการเข้ามารับผิดชอบปัญหาประชาชน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเผชิญปัญหาความผิดพลาดการพัฒนา และต้องแก้ปัญหาของตนเองลำพัง ซึ่งอาจไม่เพียงพอ

ดังนั้น ระยะเวลาของการทำงานหลังจากนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลเองจะได้พิสูจน์การทำงาน และถูกจับตาอย่างมากจากภาคประชาชน ว่าจะทำตามคำมั่นในการแถลงนโยบายได้แค่ไหน

“ที่รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐ ไรสัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ ที่ประชาชนหวังหลุดพ้นจากการสงเคราะห์ สู่ รัฐสวัสดิการ ที่เป็นหนึ่งในข้อเสนอนโยบายสำคัญของภาคประชาชนที่ขอมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ไปจนถึงการให้ความสำคัญต่อเสียงและข้อเสนอนโนบายต่าง ๆ ของภาคประชาชน ที่พิสูจน์ความจริงใจไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง หรือกลุ่มก้อน กลุ่มทุนใด ๆ”

ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ