อยู่กับตัวเองก็ไม่แย่เท่าไร… ไหวไหม ? เมื่อก้าวสู่สังคม ‘คนโสด’

เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงอยู่ในโหมดเดทกับตัวเองซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ที่พบเห็นได้บ่อยมากขึ้นในสังคมยุคนี้ ไม่ว่าจะเดินห้างคนเดียว ดูหนังคนเดียว กินข้าวคนเดียว คนภายนอกที่มองเข้ามาอาจคิดว่าเรารู้สึกเหงา แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไลฟ์สไตล์ชัดเจนแบบนี้

นี่อาจสะท้อนภาพการใช้ชีวิตได้ว่า การเลือกทำกิจกรรมคนเดียวก็ไม่ได้แย่เสมอไป กลับกันนี่คือวิถีทางที่สร้างความสบายตัว สบายใจให้กับเหล่าคนโสด จนคนมีคู่อาจจะอิจฉาก็ได้…

“แค่อยู่เป็นโสด อยู่กับตัวเอง ก็ไม่แย่เท่าไร
ไม่มีคนคุย ไม่ต้องมีใครมาสนใจ จะเป็นอะไร
แบบนี้ก็ดีจะตาย”

เนื้อเพลง “เดทกับตัวเอง” ของศิลปินวง Slapkiss คงแทนใจของคนโสดหลาย ๆ คนในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้กดดันตัวเอง หรือรีบร้อนให้มีความรัก หรือมีความสัมพันธ์อย่างใครเขา และมีความภูมิใจในความโสด ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในสังคม

แต่ความโสด อาจไม่ได้เป็นแค่เรื่องของปัจเจก หากกลายเป็นสิ่งที่อาจส่งผลต่อสังคมเชิงกว่าในอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและบทความทั้งในไทยและต่างประเทศที่พร้อมใจกันชี้ว่า โครงสร้างสังคมอาจได้รับผลกระทบในไม่ช้า หากเทรนด์การอยู่เป็นโสดนั้นสูงขึ้น

อย่างบทความ “Lazy Single Economy” โดย FutureTales Lab TH ที่อธิบายไว้ว่า ประชากรโลกอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 แต่ในระยะกลาง อย่างปี 2037 อัตราการเกิดจะลดลงในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เจเนอเรชั่น X และ Baby Boomer กำลังมีอายุยืนยาวขึ้นและมีตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ส่วนเจเนอเรชั่น Y และ Z จะมีโอกาสในการเติบโตน้อยลง พวกเขาเติบโตขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและมีแนวโน้มที่จะเป็นโสด ซึมเศร้า โดดเดี่ยว และหมดไฟ

และยังมีรายงานในญี่ปุ่นที่พบว่า ครัวเรือนที่ใช้ชีวิตคนเดียว บริโภคเนื้อหาออนไลน์มากกว่า 1.5 ถึง 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีสองคนหรือมากกว่านั้น รวมถึงวิดีโอ เพลง และอีบุ๊ก 97% ของผู้บริโภคที่เป็นคนเดียวซื้อของออนไลน์ 62% กล่าวว่า ผู้นำความคิดเห็นหลักหรือบุคคลที่มีอิทธิพลในด้านความคิด (Key Opinion Leader หรือ KOL) มีอิทธิพลต่อการซื้อของออนไลน์ของพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเศรษฐกิจสำหรับคนโสดอาจพัฒนาไปสู่การแสวงหาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะต้องเป็นประโยชน์และปรับให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคน

ผลกระทบต่ออนาคต

  • การอยู่คนเดียวและชีวิตที่ขี้เกียจกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางและผจญภัยคนเดียวมากขึ้น SHEconomy (เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง) จะเติบโตเมื่อการเดินทางเริ่มกลับมาในปี 2024 โครงสร้างพื้นฐานและแหล่งท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อรองรับกลุ่มนี้ด้วยที่พักและการเดินทางที่ปลอดภัย

  • ธุรกิจบันเทิงออนไลน์และความบันเทิงทางเพศจะยังคงเติบโตต่อไป แต่ต้องมีความต้องการสำหรับการควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ

จากการคาดการณ์ของบทความดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า เทรนด์ของคนโสดไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมโลก การแปรเปลี่ยนของสภาพแวดล้อม อาจทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนนั้นกล้าเลือกที่จะอยู่คนเดียว เพราะหลายคนมองว่าเป็นสบายใจมากกว่าการอยู่แบบคู่ สังคมคนโสดเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี แล้วเราจะสังเกตเห็น และได้อะไรจากที่ก้าวสู่สังคมคนโสดบ้าง ?

The Active พูดคุยกับ ภก.ณภัทร สัตยุตม์ นักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม และนักพฤติกรรมศาสตร์ ได้อธิบาย วิเคราะห์ถึงเทรนด์ของสังคมคนโสด ว่า ตอนนี้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น เริ่มที่จะเป็นโสดมากกว่ามีคู่

ถ้าดูข้อมูลจากต่างประเทศ หรือการวิจัยในไทยก็จะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์มีการขยับมากขึ้น แต่ถ้าไม่ดูอ้างอิงจากตัวเลขที่เป็นเปอร์เซ็นต์ เราลองมองไปตามคนรอบตัวหรือโซเชียลมีเดียก็จะเห็นเทรนด์ ที่ถึงแม้คนจะพูดว่าอยากมีคู่เป็นโสดแล้วเหงา 

“เราก็เห็นว่าไลฟ์สไตล์ของคนใช้ชีวิตโสดนั้นง่ายขึ้น ดีขึ้น รวมไปถึงสื่อเอง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์หรือละครต่าง ๆ ก็จะเห็นว่าคาแรคเตอร์หรือบทบาทของตัวละครต่าง ๆ ไม่อิงกับบทบาทที่ต้องมีคู่เสมอไป ฉะนั้น ถามว่าคนโสดมากขึ้นจริงไหม ก็ต้องบอกเทรนด์ไปทางนั้นมากขึ้น เพราะถึงแม้เขาจะอยากมีแต่ก็เห็นว่าเขาอยู่คนเดียวได้ มีการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้อยู่คนเดียว เป็นโสดได้ง่ายขึ้น”

ภก.ณภัทร สัตยุตม์

‘เหมยลี่’ ในชีวิตจริง!

‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ภาพยนตร์ไทยเรื่องดังเมื่อ 15 ปีก่อน ปลุกกระแสสาวโสด วัย 30 ปี ให้มีหวังอีกครั้ง กับการเจอความรักดี ๆ แบบ ‘คุณลุง’ พระเอกในเรื่อง แต่อีกมุมก็มีสาว ๆ หลายคนเริ่มท้อใจกับชีวิตที่อายุใกล้จะเท่า ‘เหมยลี่’ แล้ว แต่ยังไม่พบรักสักที…

คริส หอวัง รับบทแสดงเป็น ‘เหมยลี่’ ในภาพยนตร์ ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’

ถ้าดูจากเนื้อเรื่องอาจเป็นเพราะวิถีชีวิตของเหมยลี่ และการที่ลองเปิดโอกาสให้ได้ไปเจอคน รวมถึงความมั่นใจภายในว่าพร้อมจะมีคู่หรือเปล่า เป็นเหมือนด่านที่ต้องฝ่า ถ้าอยากมีคู่ขึ้นอยู่ว่าเราพร้อมที่จะก้าวออกไปไหม ในพื้นที่ที่อาจจะผิดหวัง เสียใจ บางทีคนก็อาจจะไม่ได้ก้าวเข้าไปตั้งแต่ด่านแรก หรือก้าวไปแล้วเริ่มลองคุย ลองคบกับใครสักคน ประเมินเขาว่าจะให้ไปด่านต่อไปหรือเปล่า ยังไม่รวมถึงว่าการจะเจอคน ๆ นั้นที่จะเจอจากไหน เพราะบางที่การใช้ชีวิตมันไม่เอื้อ

“เลิกงานก็ค่ำมืด หรือทำงานเป็นกะ ไม่เป็นเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบกับเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ จะเห็นได้ว่าด้วยวิถีชีวิต ความเชื่อ ความคิดภายใน มันค่อนข้างจะเป็นด่าน หรืออุปสรรคที่จะทำให้เรามีคู่ได้ยาก”

ภก.ณภัทร สัตยุตม์

“กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองโรแมนติก” สภาพแวดล้อมเมืองทำให้เราโสด ? 

ถ้ามองในเรื่องของเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของผู้คน ในมุมพฤติกรรมศาสตร์ไม่ใช่แค่ความเชื่อ ไม่ใช่แค่แรงจูงใจ แต่สิ่งแวดล้อมเอื้อไหม ? ที่จะทำให้อยากมีคู่

ถ้ามองคนที่อายุประมาณ 30 กว่า แล้วใช้ชีวิตในที่ที่อากาศก็ร้อน การจราจรติดขัด มีการเงินที่ต้องแบกรับ รวมไปถึงสุขภาพที่มีความเครียดทำให้อยากโฟกัสกับตัวเองมากกว่า ก็จะไม่ค่อยได้อยากมีความสัมพันธ์หรือเอาความเครียดนี้ไปคุยกับใคร

บางคนมีรถเป็นของตัวเอง ต้องขับรถไปทำงาน หรือถ้าจะไปใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้าก็หนาแน่น จึงไม่ได้มีโอกาสที่จะมีบรรยากาศโรแมนติกมาในหนัง…

ส่วน ‘พื้นที่สาธารณะ’ ถ้ามีไลฟ์สไตล์ชอบออกกำลังกาย ชอบดูหนัง ฟังดนตรี ไปเที่ยวธรรมชาติ หรืออ่านหนังสือ เรามีพื้นที่ที่ไม่ได้มีรั้วมีขอบกั้น เพื่อให้คนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้มีโอกาสพูดคุย ได้เจอกันหรือไม่…

ถ้ามีแบบนี้อาจจะตีความได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองโรแมนติกขึ้น ความหมายก็คือ เอื้อให้คนมีคู่ได้ง่ายขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นนอกจากความเครียดจากการเดินทางแล้ว ก็ยังไม่ได้เจอใคร ในพื้นที่สาธารณะก็มีแต่ห้าง แล้วก็ปัญหาอาชญากรรม ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้น ในเรื่องความสัมพันธ์มันอาจจะไม่ได้ง่ายนัก เพราะเริ่มจากติดลบมากกว่าเริ่มจากศูนย์เสียด้วยซ้ำ

ปัจจัยที่ทำให้คนเลือกเป็นโสด

ภก.ณภัทร มองว่า มี 3 ปัจจัยด้วยกันที่อาจทำให้เป็นโสด ซึ่งตีความผ่านเลนส์ของพฤติกรรมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

  • ปัจจัยที่ 1 ‘ค่าเสียโอกาส’
    สิ่งที่ได้จากการมีคู่คือมี Social support มีคนคอยอยู่ข้าง ๆ ในวันที่เราอาจจะไม่ใช่คนที่เราอยากเป็น ไม่ใช่คนที่ดีนัก เขาช่วยสนับสนุนและพาเราผ่านวันยาก ๆ ไปได้ แต่ยังมีค่าเสียโอกาสที่เราเสียโอกาสไป เช่น บางครั้งเวลาส่วนตัวอาจจะมีน้อยลง ต้องมีการแบ่งปันกันมากขึ้น ในส่วนของเป้าหมาย อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร 

    ในการตัดสินใจในแต่ละครั้งจะมีคู่ของเราเป็นสมการ หรือบางครั้งอาจถูกชี้นำ และนำทางด้วยคู่ของเรา เป็นค่าเสียโอกาสที่เราได้ในเรื่องของการประคับประคองในเรื่องของจิตใจ อารมรณ์สังคม แต่แลกกับความเป็นส่วนตัว เป้าหมายต่าง ๆ รวมถึงกำลังแรงที่เราใช้ในการมีคู่ เป็นเหมือนค่าเสียโอกาส

  • ปัจจัยที่ 2 ‘ค่านิยมสังคมที่ยอมรับได้มากขึ้น’
    อาจจะน้อยลงในการที่จะถามว่า “ทำไมยังไม่มีแฟน ?” ถึงแม้จะยังมีคำถามอยู่เหล่านั้นอยู่ เราก็จะตอบว่า “อยากอยู่เป็นโสด” ไม่อยากมีแฟน ก็ไม่มีใครมาเซ้าซี้ว่าทำไม หรือต้องพาใครมาเจอ ฉะนั้น การยอมรับเปิดกว้างขึ้นด้วยสื่อ และคนรอบข้างที่ยอมรับ แม้กระทั่งอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้คนรู้สึกว่าถ้ามีแล้วไม่ดี ก็อาจจะไม่ต้องมีคงดีกว่า

  • ปัจจัยที่ 3 “โครงสร้างหรือสิ่งแวดล้อมทำให้การเป็นโสด”
    ถึงแม้เราจะเหงา จะไม่มีคู่ซัพพอร์ต แต่มีทางเลือกเปิดกว้างขึ้นมาก ทั้งเรื่องของบริการสุขภาพจิต คาเฟ่หมา-แมวคลายเหงา การออกเดินทางท่องเที่ยวตัวคนเดียวก็สามารถทำได้ 

“สังคมยอมรับได้ ไม่มีใครมากดดัน คนอื่น ๆ ในสังคมก็โสดเหมือนกัน การใช้ชีวิตสามารถตอบโจทย์ และอยู่ได้ ถึงแม้จะมีเหงาบ้างบางเวลา แต่ก็มีทางเลือกให้เราจัดการตัวเองได้ ก็เลยคิดว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวสนับสนุน”

ภก.ณภัทร สัตยุตม์

เทรนด์การครองโสดในสังคมต่างประเทศ 

ภาพรวมเทรนด์เป็นโสดอาจคล้ายกันหมด โดยเฉพาะมีอัตราการหย่าร้างสูง ปัจจุบันการหย่าร้างก็ถูกยอมรับมากขึ้น ว่าถ้าอยู่ไปแล้วเป็นปัญหาต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ การเลือกที่จะหย่าร้าง ออกมาใช้ชีวิตแบบแยกเดี่ยว แต่ยังปฏิสัมพันธ์กันได้ก็อาจจะสบายใจกว่า

อีกเทรนด์ที่คล้ายกัน คือ อัตราการเกิด และเทรนด์ สภาพเศรษฐกิจที่มีภาวะความเครียดทางการเงิน รวมไปถึงสะท้อนไปที่เรื่องของการงาน การใช้ชีวิต เพราะฉะนั้น สภาพสังคมเป็นไปในทิศเดียวกัน ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ขยับมาสู่ว่าสังคมที่เป็นโสด ค่านิยมและการยอมรับก็จะเพิ่มขึ้นว่าเป็นโสดไม่ได้ผิดปกติอะไร 

“ขีดเส้นว่าเพราะฉันอายุเท่านี้ต้องมีแฟนแล้วแต่งงาน เมื่อก่อนค่านิยมเป็นแบบนั้น อายุเท่านี้ต้องมีคู่แล้วนะ อายุเท่านี้ต้องแต่งงานแล้วนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีขีดเส้นตรงนั้นแล้ว”

ภก.ณภัทร สัตยุตม์

ความยืดหยุ่น การจะมีคู่ไม่ได้แปลว่าต้องมีคู่แล้วแต่งงาน เพราะเดี๋ยวนี้มันมีความลื่นไหลในความสัมพันธ์ ว่าเป็นแบบเพื่อนสนิท เพื่อนพิเศษ มันอาจจะมีเรียกว่ามีคู่ แต่อาจจะไม่ได้เรียกว่ามีคู่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และก็ไม่ได้เรียกว่าโสดร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน 

เพราะมีความสัมพันธ์ที่แยกย่อยออกไป ที่ทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่มันจะเอียงไปทางด้านโสดเพราะไม่ได้ถูกประทับว่านี่คือคู่ นี่การสมรส มันเริ่มมีความยืดหยุ่นตรงนี้

รวมไปถึงเทรนด์ของประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มมีการจัดการเรื่องที่เป็นอุปสรรค เช่น สวัสดิการ เรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพ รวมไปถึงการซัพพอร์ตทางสังคมว่า ถึงแม้คุณจะโสด แล้วคุณดันมีปัญหาสุขภาพใจ คุณคุยกับใครได้บ้าง ถ้าเหงาจะไปพื้นที่ไหน หรือมีกิจกรรมที่ประเทศหรือเมืองนั้นออกแบบเพื่อให้คนโสดมาร่วมคลายเหงา จัดการจิตใจ และก็ได้มีความสุขกันได้ 

ผลกระทบ – โอกาส ในวันที่มีแต่สังคม ‘คนโสด’

ภก.ณภัทร ยังยกตัวอย่าง ทางฝั่งอเมริกา หากเปรียบเทียบแล้วคนที่เป็นโสด อาจเสียเปรียบกว่าในแง่การเมือง เพราะในเรื่องของการหารายได้ และการใช้จ่าย ถ้าไปคนเดียวอาจจะแพงกว่า ฉะนั้น การเงินอาจจะได้น้อยลง ค่าใช้จ่ายอาจแพงขึ้น หรือการปกป้องความเสี่ยงทางการเงิน ในเวลาที่เราเจ็บป่วยก็ต้องดูแลตัวเอง 

ขั้นแรกอาจกระทบทางเศรษฐกิจ ถ้าเป็นโสดแล้วไม่ได้วางแผนทางการเงิน บางทีก็อาจจะแย่ นี่คือทางฝั่งอเมริกาที่เขามีค่าใช้จ่ายทางการเงินสูง

ส่วนฝั่งไทยที่กระทบแน่ ๆ คือ กำลังแรงงาน และอัตราการเกิด แต่เป็นปมสองชั้นคือ คือ คนที่มีคู่แล้วจะเลือกมีลูกหรือเปล่า เพราะอนาคตสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่สามารถสร้าง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เริ่มมีจำกัด และกลายเป็น ‘เดอะแบก’ โดยคนหนึ่งอาจจะแบก 3 – 5 คน ในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวมาก ๆ ว่าเราไม่ได้มีคู่ หรือมีลูก ดังนั้น เรื่องกำลังแรงงานต้องวางแผนให้ดี

ถ้ามองไปข้างหน้า 5 – 10 ปีจะเกิดอะไรขึ้น ? ภก.ณภัทร มองว่า อย่างแรกคงเห็นโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น อย่างเช่น คาเฟ่สัตว์เลี้ยง การบริการหาคู่ หรือคนที่เหงาได้มาทำกิจกรรมด้วยกัน มาเจอกัน ทำให้ได้รู้จักคนอื่น ๆ 

ส่วนการผลักดันเชิงนโยบาย ถ้ามองที่ประเด็นเรื่องโสด ต้องมองไปถึงค่าเสียโอกาส ว่า โครงสร้างของประเทศมีอะไรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตบ้างไหม ?  

ถ้าหากแต่งงานแล้วมีลูก การลาหยุด ลางาน มองว่า ส่วนมากภาระการตัดสินใจในการเลือกที่จะเป็นโสดมักเป็นผู้หญิง เพราะถ้าจะแต่งงานมีลูกความก้าวหน้าทางอาชีพเขาอาจจะลดลงไป หรือจะต้องมาโฟกัสกับลูก อีกอย่างที่สำคัญ คือ ในส่วนของสวัสดิการของรัฐ เงินอุดหนุน ค่าเล่าเรียน มีหรือไม่ที่จะรองรับพวกเขา 

“ถ้าค่าเสียโอกาสยังสูง การเลือกอยู่เป็นโสด หรือการไม่มีลูกอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าเลือกมากกว่า แต่ถ้าเกิดมีจัดสรร มีการปรับโครงสร้างสวัสดิการต่าง ๆ ให้มันใกล้เคียง คนอาจจะตัดสินใจที่เลือกว่าการมีคู่ มีลูก มีครอบครัวอาจจะสบายกว่า” 

ภก.ณภัทร สัตยุตม์

การมีคู่ทำให้เกิด ‘ความคาดหวัง’…เป็นโสดอาจจะดีกว่า ?

ภก.ณภัทร ย้ำว่า การมีคู่มักเป็นเรื่องของความคาดหวัง ว่า ถ้ามีชีวิตคู่แล้วจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ? นี่อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไปไม่ถึงการมีคู่

“ตอนที่เราเป็นโสด เราอยากมีคู่ คาดหวังว่า ถ้ามีคู่แล้วจะโรแมนติกมากเหมือนในหนัง ในละคร สวีทกันทุกวัน แต่ในความเป็นจริง พอได้คบไปสักระยะมันเริ่มมีข้อขัดแย้ง โดยที่ก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่คู่ เพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวัง หรือบางคนก็มองว่าการมีคู่ชีวิตจะต้องดีขึ้น การมีคู่แล้วถ้าฉุดรั้งหรือทำให้ต้องชะลอลง มันทำให้เสียโอกาส เสียประโยชน์บางอย่าง หรือว่าจริง ๆ แล้วคนนี้ไม่ใช่คู่ของเขา บางทีก็เป็นเรื่องของความลังเลใจว่าพร้อมจะมีใครหรือพร้อมจะดูแลใครหรือยัง”

ภก.ณภัทร สัตยุตม์ ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี