Documentary films for change หนังสารคดีเป็นเครื่องมือของอะไรได้บ้าง? | นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล

แร็ป​ทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ภาพยนตร์สารคดีกวาดหลายรางวัลในปี 2564 เล่าเรื่องราวชีวิตของ “นนท์และบุ๊ค” จากชุมชนแออัดขนาดใหญ่กลางกรุงเทพฯ อย่าง “คลองเตย”

นอกจากทำให้ภาพของ “เด็กสลัม” ผู้มีฝันและฝ่าฟันทะลุเพดานจากความเป็นคนชายขอบ สู่จุดเปล่งแสง ชีวิตของสองแรปเปอร์หนุ่ม ได้ทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนอีกไม่น้อย หากพวกเขารู้จักหรือมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้

แต่หนังสารคดีเรื่องหนึ่ง อาจทำหน้าที่ได้มากกว่านั้น…

บางช่วงเวลา เคยมีคำเปรียบเปรยว่า “แร็ปทะลุฝ้า” ก็ไม่ต่างอะไรกับ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” (การชุมนุมของแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่ถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564) เลย

“ภาพยนตร์ได้รับรางวัล ก็เหมือนประเด็นได้รับรางวัลไปด้วย ซึ่งก็ขอบคุณอีกครั้งกับการมองเห็นประเด็นที่เป็นความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางการศึกษา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนัง ซึ่งมันเป็นความจริง

ด้วยเรื่องราวเหล่านี้ วันนี้เราอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้เรื่องราวอีกเรื่อง ก็คือเรื่องหมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นพื้นที่ที่พูดถึงประเด็นที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมเหมือนกันกับประเด็นในเรื่อง School Town King ด้วยการใช้ทั้งการเสวนา เปิดภาพยนตร์ แสดงออกอย่างสันติวิธี แต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ถูกคุกคาม แล้วก็จับเพื่อนของเราไปเกือบ 100 คน

หากพวกเราเองเห็นด้วยกับการกดเพดานของเสรีภาพ ของการสร้างสรรค์ศิลปะ เฉกเช่นภาพยนตร์ และศิลปะแขนงอื่น ๆ ทุกปัญหาจะถูกซุกใต้พรม แล้วก็เป็นเหมือนปัญหาการศึกษา ที่ไม่ว่าจะรุ่นผมหรือว่ารุ่นของคุณทุกคน รวมไปถึงน้อง ๆ ที่กำลังประสบอยู่ อยากให้รางวัลนี้เป็นรางวัลของเครื่องมืออย่างภาพยนตร์ อยากให้เป็นรางวัลที่ช่วยขยายประเด็นนี้แล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้จริง ๆ ขอบคุณสำหรับรางวัล และพื้นที่ตรงนี้ ขอบคุณครับ”

นี่คือ speech ที่ นัท นันทวัฒน์ กล่าวในวันที่เขาและผู้กำกับ เบสท์ วรรจธนภูมิ ขึ้นรับรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมบนเวที คมชัดลึก อวอร์ด ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564

นอกจากสื่อสารประเด็นทางสังคม ตามหน้าที่ของหนังสารคดี The Active ชวน “นัท นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล” โปรดิวเซอร์จากภาพยนตร์สารคดี เรื่อง School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน คุยว่า หลังจากที่หนังสารคดีเรื่องหนึ่งได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว สื่อประเภทนี้ ยังเป็นเครื่องมือของการต่อสู้อะไรได้อีกบ้าง

“หนังสารคดี มันเป็นสิ่งที่ทำยากมาก ตั้งแต่การต้องเก็บความจริง ที่มันต้องใช้เวลา
การเอามาตัดต่อที่ไม่ทำให้มันเกิดการบิดเบือน
การยินยอมของแต่ละตัวละคร
แล้วยังต้องมาเจอกับทัศนคติของคนที่ต้องมาดูอีก

การทำงานมัน control ไม่ได้”

นัท บอกความท้าทายของการถ่ายทอดชีวิตคนผ่านการเล่าเรื่องแบบสารคดี

“จริง ๆ เราเป็นโปรดิวเซอร์หนังขนาดใหญ่เป็นเรื่องแรก ซึ่งเราก็รู้ว่าเราเองยังมีอะไรอีกเยอะในโลกของภาพยนตร์ที่เราอาจจะยังไม่รู้ แต่เนื่องด้วยความเป็นประเด็นของเรา และตัวแพลตฟอร์มหรือฟอร์แมตของมันที่เป็น Documentary films มันทำให้คนเข้าใจมันมากขึ้นได้ ”

Documentary films 101

Documentary หรือ สารคดีเป็นงานเขียนที่มีแบบแผน  เช่นเดียวกับการเขียนข่าวและบทความ แต่สารคดีจะมีความยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะสรรหาวิธีการนำเสนอและวิธีเล่าเรื่องได้มากกว่า การสื่อสารในยุคนี้ มีรูปแบบมากมาย ภาพยนตร์สารคดีเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถนำไปใช้ในการสื่อสาร การนำเสนอข้อมูล ประเด็นต่อสาธารณะที่ดีและน่าสนใจ เป็นการสื่อสารที่สร้างความสนใจให้แก่ผู้รับสารอย่างตรงไปตรงมา อย่างมีศิลปะและเสรีภาพ

“สารคดี” ไม่ได้เป็นเรื่องน่าเบื่อเสมอไป

เราคิดว่าแนวโน้มของคนที่เสพสิ่งนี้ น่าจะมีคนยอมรับในการดูมันมากขึ้น แต่อาจจะต้องมีการเปิดใจ เปิดกำแพงบางส่วนอีกนิดนึง ในแง่ของการที่บอกว่า สารคดีจริง ๆ ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเบื่อเสมอไป และการดูประเด็นมันไม่ได้เป็นการเคี่ยวเข็ญตัวเอง จากการที่เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว มากเกินไปจริง ๆ

มันก็เหมือนการที่เรานั่งอ่านบางอย่าง หรือเราไปนั่งไถทวิตเตอร์ในประเด็นที่มันเข้มข้น ซึ่งเราก็มองว่าคนน่าจะคุ้นชินกับการได้รับประเด็นเข้มข้นแบบนี้ได้ เพราะการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรามองว่า Documentary Film เป็นส่วนหนึ่งที่ย่อยข้อมูลส่วนนั้นมา แล้วเอามาวางไว้ แล้วใส่ความเอนเตอร์เทนเข้าไปบางส่วน เพื่อให้คนดูได้รับอรรถรสในการรับชม กลายเป็นว่าบางทีดูง่ายกว่าการไปนั่งตามข่าวหรือตามประเด็นที่เครียด

หรือว่าจะเป็นเรื่องของการที่ภาพยนตร์สามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่จะทำให้คุณเลือก ที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับมันหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนาเอง อาจจะได้ข้อมูลหรือข้อคิดอะไรเล็กน้อย ที่อาจจะนำพาให้เรากลับไปคิดต่อกับตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรู้ว่าตอนนี้กำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งสารคดีทำสิ่งนี้ได้ดีเลย

จุดเริ่มต้นของการมองเห็นประเด็น ไม่ยาก แต่ต้องลงทุน

ข้อจำกัดของการผลิตหนังสารคดี คือ มันใช้เวลานาน และมีช่องสำหรับการสอดแทรกเรื่องธุรกิจมันเข้ามาได้น้อยมาก เช่น ตัวละครเอง ก็ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่ภาพยนตร์ประเภทสารคดีก็มักจะเลือกที่ประเด็น เพื่อจะทำหน้าที่นี้แทน โดยเลือกประเด็นที่ well known เพื่อทำหน้าที่แทนนักแสดงที่มีชื่อเสียง (เขายกตัวอย่างญาญ่าและณเดชน์)

ฉะนั้น เราต้องทำเรื่องอะไรเพื่อให้คนทั้งประเทศหรือคนจำนวนมากรู้ อย่างเช่นเราทำเรื่อง Global warming (ภาวะโลกร้อน) คนรู้จัก แต่ต้องมองย้อนมาที่เราว่ามีศักยภาพมากแค่ไหนในการทำสิ่งนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน เราหยิบประเด็นร่วมที่เป็นประสบการณ์ของทุกคน คือ เรื่องของการศึกษา อย่างพี่ไก่ (ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับหนังสารคดี เอหิปัสสิโก) ก็หยิบเรื่องของศาสนาขึ้นมา เพราะตั้งคำถามว่ามันแปลกจังเลย อย่างที่พี่ไก่พูดอยู่บ่อย ๆ คือจุดเริ่มต้นของการเห็น เพียงแค่พระไปนั่งสวดมนต์ ข้างหน้า คือ กองกำลังพิเศษที่กำลังจะเข้ามา เห็นภาพนั้นแล้วตั้งใจจะทำเลย ของผมเองก็เช่นกัน เห็นเด็กบ่นและเด็กกำลังจะออกจากโรงเรียน เรารู้สึกว่าภาพมันคุ้น ๆ เราเองก็เคยเห็น ก็เลยอยากจะเอามาทำ

การเริ่มต้นของสารคดีมันไม่ได้ยาก มีกล้อง มีใจ มี subject มีประเด็น เราก็ถ่ายได้ carry on สิ่งนั้นไป แต่สารคดีมัน contain ชีวิตคน ทำชีวิตคนที่อยู่ในเฟรม อย่างน้องนนท์ (นนทวัฒน์ โตมา) ที่อยู่ในหนังตัวเล็กนิดเดียว ตอนหลังโตขึ้นมา ถ้าเอามาเทียบกัน แปลกมากสองสามปีน้องโตทางด้านความคิด แล้วก็ด้านกายภาพมากขนาดไหน มันคือ เวทมนตร์ของสารคดี แน่นอนว่ามันยาก ใครล่ะที่จะมาลองลงทุนกับเรา หรือ ไปอยู่ตรงนั้นนาน ๆ ขนาดนั้น ซึ่งตลาดมันก็จะจำเพาะลง คนดูก็เหมือนกัน ประเด็นนี้คือความยากของสารคดี

ทำอย่างไรให้สนุก มันมีแบบที่ว่าไม่อยากดูหนังประเภทนี้ เพราะดูแล้วต้องเครียดแน่ นี่ก็เป็นความยาก ซึ่งนายทุนเองก็มองว่ามันเป็นจุดขายของภาพยนตร์ประเภทนี้

ภาพยนตร์สารคดี เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลาย ๆ อย่าง

เราเรียกว่า หนังสารคดี ว่าเป็นเครื่องมือ ของการส่งต่อ Messenger ประเด็น อารมณ์ในสถานการณ์นั้น ๆ เรามองว่ามันเป็นพื้นที่ ที่สามารถจะพูดได้ทุกเรื่อง อยากจะคุยในประเด็นอะไร สารคดีเป็นเครื่องมือที่สามารถฉายภาพนั้น สิ่งนั้นออกมาได้

มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก ๆ ยิ่งถ้ามันเป็นสื่อแล้ว มันก็คืออาวุธดี ๆ นี่เอง ถ้ามองลงไปลึก ๆ แล้วสารคดีก็คือการฉายภาพความจริง แพลตฟอร์มเรื่องของออนไลน์ช่องของตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะฉายภาพเหล่านี้ออกไป ซึ่งจริง ๆ Eyedropper Fill ของเรานี้ก็เชื่อมาก ๆ เลยว่าจะทำให้คนได้ลองสร้างพื้นที่ในการที่จะส่งเสียงของตัวเองออกไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ตามที่ตัวเองสนใจอยู่ ผ่านศิลปะ เราเลยมองว่ามันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราสามารถที่จะเอาไปปรับใช้ได้กับทุก ๆ อย่างเลย

คนละเรื่องเดียวกัน: จอภาพยนตร์ กับ การเรียกร้องบนถนน

มันคือเสรีภาพในการแสดงออก ข้อจำกัดของภาพยนตร์ แล้วก็การแสดงออกบนท้องถนน ทั้งหมด ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกทั้งนั้น ด้วยตัวของภาพยนตร์เองก็ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็หมิ่นเหม่อยู่เหมือนกัน ด้วยการให้เรตที่สูงเกินควร ซึ่งการให้เรตเขาให้ได้แค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นคุณจะไปแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เรตนั้นจะตามหลอกหลอนคุณไปเรื่อย ๆ ยกเว้นเราจะตัดต่อใหม่ตามที่เขาระบุให้ตัดออก โดยที่เราไม่รู้เหตุผลด้วยซ้ำ

“ซึ่งจริง ๆ หนังของเราได้หลักฐานมาแล้วด้วยซ้ำ ว่าเขาให้เราเอาอะไรออกบ้าง โดยที่ก็ไม่ได้แจ้งเหตุผลอะไรมา เขาบอกว่าถ้าทำตาม ก็จะได้ 15+ ถ้าไม่ทำตาม ก็จะได้ 18+ มันคล้ายกันกับม็อบ การแสดงออกบนท้องถนน เมื่อไม่มีที่ให้ได้พูด ถ้าเช่นนั้น เราก็ไปใช้สิ่งสาธารณะที่เราเองก็เป็นคนจ่าย เอามาเป็นพื้นที่ในการพูดได้ไหม เขาก็บอกว่ามันผิดมันเหมือนกัน” 

ถ้าคุณพูดไปถึงตรงนี้ คุณจะถูกจับ แต่ถ้าไม่พูดไปถึงตรงนั้น เราก็แค่จะสลาย อะไรแบบนี้ ถ้าเราลองเอาสองอย่างมาทาบกันปุ๊บ เราจะเห็นว่า มันคือเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง อย่างภาพยนตร์เอง มันยังดีที่มีเวทีในการประกวด การขยาย สิ่งที่มันเสร็จมาแล้ว แต่ม็อบไม่มี อย่างมากที่สุดก็เทรนด์ Twitter ที่มันเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นมันก็มีเรื่องอื่นมา  อย่างหนังของผมก็เหมือนกัน หลังจากได้รับรางวัลไปแล้วหนึ่งเดือน หลังจากนี้ก็อาจจะไม่มีใครจำได้เลย มันก็เลยเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าถ้าเราได้พื้นที่ในการพูดคุยแล้วเราก็อยากจะพูดคุยในส่วนนี้ด้วย

ภาพยนตร์ได้รับการยอมรับ แต่ความจริงการเรียกร้องบนถนนกลับถูกจำกัด

คือ การแสดงออกด้วยการใช้สื่อ ในการพูดคุยกันอย่างปัญญาชนจริง ๆ มันเป็นอะไรที่อยู่ใต้เพดานที่เขาตั้งไว้แล้ว และตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเขากดเพดานให้มันต่ำลงมาอีก จนพื้นที่นั้นมันไม่มีใครนั่งอยู่ได้ อย่าว่าแค่ยืนคุยกันเลย แม้แต่นั่งแล้ว ย่อแล้ว ก็ยังอยู่ใต้เพดานนี้ไม่ได้ เหมือนจะไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้อีกเลย ฉะนั้น ศิลปะหรือรางวัลก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรมากไปกว่าการตลาด

แน่นอนอย่างแรกที่สุดคือเรารับไม่ได้ เราไม่เห็นด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่เกิด speech ในวันรับรางวัลของ คมชัดลึก วันนั้นขึ้นเลย เรารู้สึกจริง ๆ ว่ามันสองมาตรฐาน อีกทั้งภาพยนตร์ของเราไม่ใช่ได้รับรางวัล Popular โหวต แต่เป็นรางวัลที่มีบุคลากรเคยดู และให้คะแนนกับมัน และเรามีการเก็บอยู่ตลอดเวลาว่า จริง ๆ แล้วคนที่ดูหนังเราเนี่ยมีอยู่กี่คน

“ตัวเลข คือ มันประมาณสองถึงสามพันคนเท่านั้นเอง ถือว่าน้อยมาก อย่างที่เราบอกว่า ตัวหนังเรื่องนี้ ถ้ามันได้คุณค่าแล้ว การแสดงออกแบบเดียวกันด้วย energy แบบเดียวกันนี้ มันควรที่จะถูกยอมรับไปด้วย”

การให้รางวัลกับประเด็น มันอยู่ที่เรื่องจริง ๆ หรือเขาแค่สงสารเด็ก

วันนั้นมันแทบจะอยู่ในห้วงเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ (วันที่รับรางวัลและวันที่มีการสลายการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้า) มันแค่สองถึงสามวันเอง เรื่องหนึ่งได้รางวัล แต่อีกเรื่องหนึ่ง คือ โดนจับเลย แน่นอนมันไม่ใช่แค่การลิดรอนหรือการกดเพดาน แต่มันคือการบุกจับ มันคือ speechless (พูดไม่ออก) มาก ๆ เราไม่รู้จะพูดอะไรเลยตอนนั้น มันทำให้เรารู้สึกโกรธและตั้งคำถามว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไรกัน ตัวประเด็นมันถูกให้ค่าไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่แน่ใจ เราก็เลยเริ่มเดา ว่าการให้รางวัลหรือการให้ค่ากับประเด็นนี้ มันอยู่ที่เรื่องจริง ๆ หรือเปล่า หรือว่าเขาแค่สงสารเด็ก หรือเขารู้สึกอะไร

แต่ถ้าตัวเรามองดราฟท์สุดท้าย เราสงสารเด็ก เราสงสารทุกคนเลย เพราะเราเคยโดนแบบนี้ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว น้องก็ยังพูดประโยคเดิม และมีน้องกล้าที่จะกระโดดออกไปจากระบบด้วย และไปอยู่บนเส้นของความหมิ่นเหม่มาก ว่าถ้าหลุดไปแล้วก็คือหลุดไปเลย อยู่ในโซนที่คนไม่ได้เหลียวแล พอเกิดเหตุอาชญากรรมก็ไปโทษเขา ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นตัวพวกเราเองหรือเปล่าที่ผลักพวกเขาออกไป

ซึ่งอันนี้ก็คล้ายกันในแง่ของการแสดงออก ที่เป็น ‘Soft Power’ และไม่มีความรุนแรงขนาดนี้ มันเป็นการที่คุณพยายามผลักให้มันเกิดการแสดงออกที่รุนแรงมากขึ้นกว่านี้หรือเปล่า หรือต้องการให้มีการใช้คำพูดที่สุดโต่งกว่านี้หรือเปล่า เพราะพื้นที่ที่มีให้เขาได้พูดคุยกันมันไม่เกิดขึ้น แปลว่าคุณอยากให้มันเกิดความรุนแรงหรอ อันนี้คือเกิดจากการตีความของการที่ถูกสลายในวันนั้น

ทิ้งท้ายถึง ภาพยนตร์สารคดี

ผมก็รู้สึกดีใจแล้วก็ภูมิใจนะครับ กับภาพยนตร์เรื่อง School Town Kingg ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวที ก็คือรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่อยู่ทัดเทียมกับ หนัง Fiction (บันเทิงคดี) ปกติอันนี้อาจจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าหนังสารคดีก็คือภาพยนตร์แบบหนึ่ง มันไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ มันไม่จำเป็นอย่างที่พวกเราตีตรากัน ซึ่งขนาดตอนนี้หนังของเราก็เป็นที่พูดถึง

และก็มีอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังเป็นที่นิยมก็คือของพี่ไก่ ณฐพล บุญประกอบ เรื่อง เอหิปัสสิโก ซึ่งเราก็มองว่ามันเหมือนกัน หนังเรื่องนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา คุณไม่ได้เข้าไปแล้วต้องเห็นว่า ตัวธรรมกายผิดหรือรัฐบาลผิด หรือว่าใครผิด ใครถูก แต่มันเป็นหนังที่สร้างพื้นที่ในการตั้งคำถาม และในหนังเรื่องเอหิปัสสิโกไม่ได้ตั้งคำถามเพียงแค่ความเชื่ออย่างเดียว แต่มันมีประเด็นปัญหาเรื่องของการเมืองกลวิธี Propaganda มาชนกัน เหมือนเอาความเชื่อในหลาย ๆ เรื่องมารวมกันในหนังเรื่องนี้ เลยรู้สึกว่าดีใจกับกระแสนะ

ตอนนี้กระแสของเรื่องแร็ปทะลุฝ้ามันมาแล้ว แต่ ณ ตอนนั้นเองอาจจะไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควรในแง่ของช่องทางในการจัดฉาย อีกทั้งในช่วงนั้นเราทำกันเอง เราอาจจะได้แค่รอบเดียวโรงเดียว ถึงมันจะเต็มทุกวันก็จริง แต่เราก็เห็นถึงความต้องการตอนนั้นว่าคนอยากดู แต่เราก็ยังไม่สามารถที่จะขยายตัวเองไปได้ขนาดนั้น

แต่เอหิปัสสิโก ทำหน้าที่ตรงนั้นได้ดี แล้วก็จริง ๆ ก็เป็นเรื่องของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยด้วย ที่ได้เข้ามาสร้างโครงการดี ๆ เช่น หนังเลือกทาง สามารถนำหนังแต่ละเรื่องกระจายไปยังโรงให้เป็นภาพกว้างได้ อย่างที่เอหิปัสสิโกก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกจับตา

เชื่อเถอะครับว่าเรื่องศาสนานี้ มันจะเป็นเพียงจุดหนึ่งที่พาเราไปยังประเด็นอื่น ๆ ได้อีก เพราะว่ามันไม่ได้มีปัญหาเดียว แก้ปัญหาเดียว แล้วจบ มันก็คล้าย ๆ กับเรื่องการศึกษา ของแร็ปทะลุฝ้า และการเกิดของหมู่บ้านทะลุฟ้านั่นแหละ”

หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อ 8 เม.ย. 2564

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ