#Saveคนกลางคืน: ลมหายใจเฮือกสุดท้าย “ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน”

กว่า 1 ปี ของการระบาด “โควิด-19” ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ส่วนการตอบสนองทางสาธารณสุขในประเทศไทย มีทั้งการจำกัดการท่องเที่ยว การกักด่าน จำกัดการเดินทาง ห้ามออกจากบ้านเวลากลางคืน ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก และการปิดสถานศึกษา ฯลฯ ทุกมาตรการควบคุมโรคยังคงดำเนินไป ผ่อนคลาย หรือ เข้มข้น แล้วแต่จังหวะของตัวเลขผู้ติดเชื้อและสถานการณ์การระบาด

การระบาดระลอกใหม่ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564 หรือการระบาด “ระลอกซ้อนระลอก” ทำให้พื้นที่สีแดง อย่างกรุงเทพมหานคร ต้องยกระดับมาตรการการควบคุมโรคเป็นแบบ “เข้มข้น” อีกครั้ง

โรงเรียน สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ในจำนวนนี้ ยังมี ผู้ประกอบการร้านอาหารกลางคืน รวมอยู่ด้วย

บ้างถูกสั่งปิดชั่วคราว บ้างถูกลดเวลาเปิดให้บริการ แม้ว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากจากผลกระทบทั้ง 2 ระลอก เมื่อเจอการระบาดรอบนี้ ยิ่งเหมือนการตัดท่อเครื่องช่วยหายใจของสถานประกอบการประเภทนี้ไปอีก

Where Do We Go ร้านอาหารย่านลาดพร้าว – วังหิน กทม. หนึ่งในร้านที่ได้รับผลกระทบ มีโต๊ะอาหารที่ถูกเก็บไว้เกือบครึ่งร้าน ส่วนหน้าร้านก็ไร้ลูกค้านั่ง อย่างเคย

The Active พูดคุยกับ กฤตวัฒน์ สุริย์ หรือ ตั้ม เจ้าของร้าน

เขาเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรก ซ้ำเข้าไปอีกในรอบนี้ จากเดิม เวลาที่เปิดร้านคือช่วงกลางคืน จึงได้รับผลกระทบเป็นเท่าตัว เพราะจากที่เคยเปิดร้านเวลา 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ก็ต้องปิดร้านเร็วขึ้นเป็น 3 ทุ่ม เท่ากับว่า มีเวลาขายแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

“เราก็ปรับตัวมาตั้งแต่รอบแรกแล้ว ด้วยความที่ร้านเราเป็นร้านผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก็ต้องถูกเหมารวมและมีข้อจำกัดเรื่องเวลาให้บริการ กฏหมายที่ออกมาก็ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เราเป็นคนหาค่ำกินเช้า ก็เหมือนกับคนที่หาเช้ากินค่ำ ที่จะต้องเลี้ยงดูครอบครัว และคนข้างหลัง ในการดำรงชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบมาก ๆ”

การปรับตัว ต่อลมหายใจ ประคองคนข้างหลัง

การตกแต่งหน้าร้านที่เปลี่ยนไป ตู้กระจก หม้อดินเผาหรือจิ้มจุ่ม และเครื่องครัว เครื่องเคียงของเมนูอาหารอีสาน ถูกนำมาโชว์ให้เห็นว่า นี่คือการปรับตัวที่พอจะทำได้ในสถานการณ์นี้

“ร้านมี 2 โซน คือ ที่นั่งข้างในกับนั่งข้างนอกอยู่แล้ว พอเกิดสถานการณ์โควิด เราก็เปลี่ยนว่าไม่ให้นั่งทานอาหารในร้าน ให้นั่งนอกร้าน และก็มีส่งดิลิเวอรี อาหารที่เราทำเอง ส่งเอง ครีเอทเมนูอาหารใหม่ ๆ คือ มีมาตลอด ตั้งแต่โควิดครั้งแรก เรามีเมนูอาหารอีสานมาใหม่ตลอด จนเราไม่รู้จะขายอะไร ไม่รู้จะทำอะไรมาขายแล้ว”

เขายังเล่าถึงสถานการณ์รอบล่าสุด ที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาก แต่เมื่อการระบาดรอบที่ 2 เขาใช้รถเข็นมาแต่งหน้าร้านเพื่อให้เป็นจุดสังเกต แต่ครั้งนี้ เขาเอารถตู้มาจอดไว้หน้าร้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามหลายช่องทางและหลายวิธีการ

“แต่มันเกิดเอฟเฟคต่อมาเรื่อย ๆ คนไม่กล้าออกมาซื้อของ คนจับจ่ายใช้สอยมันก็น้อยลง  ทุกที ซึ่งตอนนี้เราจะหายใจแทบไม่ได้แล้ว  มันหนักหนาจริง ๆ”

นอกจากการเปิดร้านขายให้เร็วขึ้น เพื่อจะยืดเวลาทำมาหากิน เจ้าของร้านยังต้องปรับเมนูใหม่ ๆ ไว้ดึงดูดลูกค้า อีกทั้งเพิ่มช่องทางการเสิร์ฟอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการบริการดิลิเวอรี

แน่นอนว่าทั้งพนักงานหรือแม้แต่เจ้าของร้านเอง ก็ต้องปรับบทบาทมาเป็นคนส่งอาหาร

“การใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตต้องระมัดระวังขึ้น 1 ปีมานี้ผมยังไม่เห็นทางภาครัฐมีมาตรการการป้องกันอย่างจริงจัง เหมือนวันต่อวัน ซึ่งนี่ผ่านมา 1 ปี ควรจะมีการปัญหาที่ดีขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้มันเลยเถิดมาขนาดนี้ ให้ประชาชนตัวเล็ก ๆ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ช่วยเหลือกันเอง ทั้งที่ทุกคนต้องทำมาหากิน โดยที่เราก็ยังต้องตั้งคำถามว่า เราจะใช้ชีวิตยังไงกันต่อ”

เขาบอกว่า จากการพูดคุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจกลางคืนด้วยกัน ก็ช่วยเหลือกันเพื่อที่จะให้ร้านรอดและไปต่อได้ ขณะเดียวกัน เพื่อน ๆ ที่ทำธุรกิจแบบนี้ ก็ปิดตัวไปหลายคน บางคนปิดกิจการไปตั้งแต่การระบาดรอบแรก ส่วนตัวเขาเองและเพื่อนบางส่วนที่เลือกจะต่อสู้จนถึงทุกวันนี้ แต่ก็หนักหนาพอตัว หลังจากนี้ไม่รู้จะเป็นอย่างไรบ้าง

สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ เหมือนเป็นการฉายภาพซ้ำ ที่ทำให้เห็นสถานการณ์ที่แย่ลงกว่าทุกรอบ แม้จะมีความพยายามปรับตัวของผู้ประกอบการ แต่ร้านอาหารไม่น้อยต้องหยุดชะงักไป

ผู้ประกอบการบางกลุ่มเลือกที่จะรวมตัวกัน พยายามยื่นหนังสือถึงภาครัฐ เพื่อให้พิจารณาการประกาศคำสั่งปิด อีกทั้ง หากจะต้องมีการสั่งปิดจริง อยากจะให้มีการเยียวยา ซึ่งยื่นหนังสือไปตั้งแต่การระบาดรอบแรก แต่จนตอนนี้ ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ออกมาจากภาครัฐ

“จริง ๆ ในกลุ่มเรามีข้อเสนอ ยื่นต่อรัฐหลายช่องทางเลยนะ ในเรื่องของการเยียวยาผู้ประกอบการกลางคืน เช่น ผ่านทางสมาคมคราฟต์เบียร์ ก็ยื่นหนังสือไปหลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่เห็นจะมีการตอบรับเยียวยาอะไรเลย เราขอแค่ให้เราได้มีช่องทางทำมาหากินเพิ่มขึ้น”

เขาบอกว่า ภาครัฐไม่ควรใช้วิธีเหมารวมว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง หรืออื่น ๆ เป็นเหมือนกันหมด เพราะแม้ทุกคนจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ควรวิเคราะห์ไตร่ตรองว่า ร้านอาหารกลางคืนบางประเภท ก็ไม่ได้เป็นตัวแพร่เชื้อเสมอไป

“พวกผมใช้ชีวิตบนพื้นฐานมาตรการมากที่สุดแล้วนะ ใส่หน้ากาก ล้างเจลแอลกอฮอล์ นี่คือเราปฏิบัติแบบสากลเลย แต่ก็มาโทษคนทำงานร้านอาหารกลางคืนเป็นตัวแพร่เชื้อ ผมว่ามันก็ไม่ได้เสมอไปนะครับ”

“มันไม่ได้ยุติธรรมมาตั้งแต่แรก และสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่ทางออก”

ผมมองว่าหลาย ๆ ส่วน ความยุติธรรม มันไม่มีมาตั้งแต่แรกแล้ว มาตรการออกมา มาตรการการป้องกันต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งแรก คือ มันไม่ยุติธรรม แล้วก็เกิดเอฟเฟคขึ้นมาเรื่อย ๆ คนที่ทำถูกต้อง ตอนนี้เขากลับกลายเป็นผู้แพ้ คือ ทำถูกต้องทุกอย่าง ป้องกันตัวเอง ล้างมือ โต๊ะตั้งห่างกัน มีที่ล้างมือตลอด แต่ทำไมคนที่ทำถูกต้อง ต้องเป็นผู้แพ้เสมอไป

“ถ้าพูดก็น่าจะรู้ว่ามันคืออะไร เพราะเราก็แค่ประชาชนทั่วไป”

รอบนี้ ผลกระทบจากคลัสเตอร์หลัก มีคนติดเชื้อเยอะมาก แต่ทำไมเตียงสนามที่รองรับผู้ป่วยกลับไม่เพียงพอ ค่าตรวจมีราคาแพง โรงพยาบาลไม่มีเตียงสำรอง ทั้งที่ผ่านมา 1 ปีแล้ว ควรมีแผนสำรองกับการระบาดนี้ วัคซีนก็เช่นกัน รัฐไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อถือให้ประชาชนแล้ว  ทำไมเราต้องพึ่งพากันเองหรอ ประเทศจะไปอย่างไร ก็ในเมื่อตรงนี้ยังแก้ไข เยียวยาไม่ได้เลย

ถ้าหากว่ารัฐฟังอยู่…?

จริง ๆ แล้วเวลาที่ถูกจำกัด ผมมองว่าไม่มีผลอะไรเลย เพราะว่ามาตรการแต่ละร้านเขาปกป้องตัวเองอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งแรก ที่เว้นระยะห่างของโต๊ะ รับจำนวนลูกค้าเท่าที่ภาครัฐกำหนดไว้ ส่วนช่วงเวลาที่กำหนดมา มันแค่ลดจาก 6 ชั่วโมง มาเป็น 3 ชั่วโมง รายได้มันจะมาจากตรงไหน

“ผมมองว่า ถ้าเราขายได้ปกติ ก็ให้จัดหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบได้นะ ดูตามร้านเลยว่ามีมาตรการตามที่กฎหมายกำหนดไหม ถ้าไม่มีก็สั่งปิดไปตามกฎหมาย ผมว่ามันตรวจสอบได้ถ้าจะตรวจ”

แคมเปญ #saveคนกลางคืน

มันเป็นการที่ทุกคนเห็นใจกัน ในภาวะสถานการณ์แบบนี้ หลาย ๆ ร้านที่คุยกันมา คือแคมเปญนี้ ทำให้เรากลุ่มผู้ประกอบการณ์ รู้สึกตั้งคำถามจริง ๆ ว่าเราจะไปต่อไหม เรายังอยากทำและอยากไปต่อหรือเปล่า ซึ่งทุกคนก็บอกว่าสู้ มันทำให้เราเห็นว่า เราไม่ได้สู้คนเดียว เรามีเพื่อนฝูงที่คอยช่วยเหลือกัน ซึ่งนี่คือการที่เราช่วยกันเองและไม่มีภาครัฐ มาช่วยอะไรเลย

“ผมเข้าใจว่ามีหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม การท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ก็อย่ามองข้ามคนกลางคืน คน หาค่ำกินเช้า

หาค่ำกินเช้า ได้รับผลกระทบต่างจาก หาเช้ากินค่ำ อย่างไร?

แน่นอน คนที่เปิดร้านช่วงกลางคืนตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน มันแค่เวลา 6 ชั่วโมงเองในการขาย ส่วนภาคเช้าก็เป็นธุรกิจร้านอาหารทั่วไปคล้าย ๆ เรา เขามีเวลาในการค้าขายเหมือนกัน แต่เราก็อาจจะน้อยกว่า เพราะเราต้องรอคนเลิกงานมากินข้าว กินอาหารกัน ซึ่งภาครัฐก็สั่งปิด ให้เวลาที่จำกัด คนก็ไม่กล้าออกมากิน และช่วงเวลาที่กำหนดคือน้อยมาก คนที่มากินข้าวเขาก็รีบมา รีบกิน ซึ่งรายได้มันหายไปชัดเจนมากเลย แทบจะ 99%  ซึ่งเรามีทั้ง ดิลิเวอรีส่งถึงบ้าน ปรับเปลี่ยนไม่รู้กี่อย่างแล้ว ทำเท่าที่บ้านพอจะทำได้ มันก็เห็นได้ชัด มีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับเข้ามาเลย

ถ้าการะบาดโควิด -19 ยังเป็นแบบนี้ คิดว่าข้างหน้าธุรกิจหาค่ำกินเช้าจะเป็นอย่างไร ?

คลัสเตอร์สถานบันเทิงครั้งนี้ ผู้ประกอบการกลางคืน หวั่นอยู่ไม่น้อยหากออกมาตรการคุมเข้มเช่นนี้ แต่ไม่มีแนวทางเยียวยา ก็มีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการ เสี่ยงปิดกิจการ

“จริง ๆ ทุกอย่างมันก็ควบคู่ไปด้วยกัน มันก็สำคัญกับเศรษฐกิจ เพราะมันเป็นการจับจ่ายใช้สอย ก็เหมือนกับคนไปเที่ยว แล้วไปหาร้านอาหารกลางคืนกิน โซนนี้ร้านนี้อร่อย มันก็คือการหมุนเวียน การใช้จ่าย เศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้น ซึ่งถ้าเราไปปิดกั้นเขาเขาจะไปใช้จ่ายที่ไหน เราจะเอารายได้จากไหน”

เขาบอกว่าไม่รู้จะกังวลอะไรแล้ว สู้ จนไม่รู้จะสู้อย่างไรแล้ว ตอนนี้สิ่งที่คิดคือ ทำอย่างไรให้สามารถดูแลคนข้างหลังได้ ทั้งพนักงาน ครอบครัว โดยที่ป้องกันตัวเองให้ไม่ติดเชื้อด้วย ตอนนี้สิ่งที่พอทำได้ ก็ต้องหาช่องทางทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าที่ตัวเองจะรู้สึกว่าไม่ไหว

“ผมว่ามันยาก แต่แค่มีกำลังใจให้กัน อย่าพึ่งท้อ”

ร้านอาหารย่านลาดพร้าววังหิน ร้านนี้ เป็นเพียงหนึ่งในผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย ที่ได้รับผลกระทบ เพราะผู้คนที่ต้องทำอาชีพหาค่ำกินเช้า ยังมีอีกหลายกลุ่ม และไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะสามารถประคับประคองสถานการณ์ให้อยู่รอด ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ได้

เพราะสำหรับบางคน นี่อาจเป็นเอือกสุดท้ายของลมหายใจ นับถอยหลังสู่การวางมือ จากเส้นทางทำมาหากินนี้อย่างถาวร


Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ