ความเสี่ยงที่ตามมาจากการท้องไม่พร้อม
คือราคาที่ผู้หญิงต้องจ่าย…
ทำไมหมอไม่ยอมทำแท้ง ?
ไม่ใช่แค่ผู้หญิงอย่างน้อย 7,000 คน หรือเฉลี่ย 643 คนต่อเดือน ที่เข้าไม่ถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเท่านั้น ที่ฝากคำถามไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ แต่บุคคลในแวดวงสาธารณสุขบางส่วนก็ตั้งคำถามนี้เช่นเดียวกัน เมื่อกฎหมายพร้อม ระเบียบกระทรวงฯ อนุญาตให้ผู้หญิงและแพทย์ทำได้ภายใต้เงื่อนไข โดยไม่มีความผิด
เมื่อไหร่พวกเธอจึงจะเข้าการทำแท้งปลอดภัย หรือความเสี่ยงที่ตามมาจากการท้องไม่พร้อม คือราคาที่ผู้หญิงต้องจ่าย…
“สวัสดีครับผมชื่อธนพันธ์ หรือหมอแป๊ะ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง จนถึงวันนี้น่าจะเกิน 20 ปีแล้วครับ”
ผศ. นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวทักทายอย่างเปิดเผย และเป็นกันเอง ก่อนเริ่มบทสนทนาต่อว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้นหมายถึงเป็นการทำแท้งให้ด้วยความจำยอมเนื่องด้วยตัวเองเรียนสูตินรีเวช ต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในรูปแบบต่าง ๆ แต่หลังจากได้เป็นสูตินรีแพทย์เต็มตัว มีโอกาสพบปะกับเพื่อสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หมอด้วยกันจึงทำให้มีมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น บวกกับเวลาพบเจอปัญหาจากการทำแท้งที่เกิดขึ้นจากที่อื่น จากคนไข้ที่เราปฏิเสธแล้วกลับมาหาเราด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้ง ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวเองมีมุมมองในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่เปลี่ยนไป
ก่อนที่จะลงลึกในเรื่องมุมมองต่อการทำแท้งปลอดภัย ต้องบอกว่า หมอแป๊ะ ยังเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ แพทย์ประจำบ้านที่ใช้ทุนที่เรียนต่อในแผนกสูตินรีเวช ส่วนงานหลักคือการให้ความดูแลผู้ที่มีปัญหาอุ้งเชิงกราน มดลูกหย่อน และมีอาการปัสสาวะเล็ดราดในผู้สูงอายุด้วย เช่นเดียวกับหมอที่จบในหลักสูตรสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ส่วนการทำแท้งถือเป็นอีกหน้าที่ที่ต้องทำ
ทำไมถึงกล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นหมอทำแท้ง
“ทำไมต้องบอกว่าผมมีความกล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นหมอทำแท้ง ในเมื่อเป็นความชำนาญในวิชาชีพ ผมเองก็จบสูตินรีเวชที่แพทยสภารับรอง ถ้าเราใช้คำว่ากล้าแปลว่าต้องมีอะไรผิดปกติ เมื่อก่อนสังคมอาจจะถูกหล่อหลอมว่าเรื่องของการทำแท้งเป็นสิ่งไม่ดี แต่เมื่อเข้าใจถึงความจำเป็น มาตรฐานทางวิชาชีพ ทำให้ความคิดเปลี่ยนว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำตามหน้าที่จึงไม่ได้เกิดความกังวล นอกจากให้บริการแล้วผมยังต้องทำหน้าที่ที่สำคัญในการเป็นครูให้กับนักเรียนแพทย์ที่จะต้องสอนให้เขาเข้าใจว่า การทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร การทำแท้งจึงไม่ใช่เรื่องพิเศษหรือพิสดาร ในเมื่อการแท้งลูกเป็นหนึ่งในเรื่องราวของสุขภาพที่ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคประจำตัว เกิดการบาดเจ็บทั้งในส่วนตัวเองหรือครอบครัว วันยุติการตั้งครรภ์สากลสำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเท่ากับว่าต่อไปหลังจากนี้เราจะทิ้งอะไรไว้ให้กับโลกใบนี้บ้าง คำตอบก็คือการทำตามหน้าที่ที่เล่าเรียนมา”
เปลี่ยนใจตัวเอง ก่อนเปลี่ยนใจคนอื่น
“สมัยก่อนเวลาเราจะบรรยายที่เชียงราย ขอนแก่น กรุงเทพฯ แล้วก็มาหาดใหญ่ เราจะมี 4 จุดนี้ ในการให้ความรู้เรื่องการทำแท้ง ซึ่งเมื่อก่อนเราจะมีวิธีการทำแท้งแบบใหม่จึงต้องช่วยกันสอนบุคคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นเวลาใครถาม อาจารย์แป๊ะไปไหน? ไปทำแท้ง เวลาขึ้นลิฟท์ อาจารย์แป๊ะไปทำอะไร? ไปทำแท้ง ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่หรอกไปห้องผ่าตัดธรรมดานี่แหละ แต่เป็นการให้วัคซีนกับเพื่อน ๆ ว่ามันต้องเป็นเรื่องปกติ และทุกคนต้องสนับสนุนด้วยว่าไม่ใช่เรื่องที่เสื่อมเสียต่อวงศ์ตระกูล ดังนั้นลูก ๆ ก็ต้องรู้ว่าพ่อทำงานอะไร เพื่อน ๆของลูก คุณครูของลูกก็รู้ว่าผมทำอะไร และผมเชื่อว่าสังคมก็รับรู้ว่าหมอธนพันธ์ ทำอะไร ก็คือหมอสูตินรีเวชที่ทำหน้าที่ดูแลผู้หญิง ผู้หญิงไม่ได้มีแค่เรื่องของการท้อง ยังมีเรื่องของการตกเลือด เลือดออกผิดปกติ ภาวะวัยทอง มีบุตรยาก มันคืออนามัยของการเจริญพันธุ์ทั้งหมดตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยชรา การท้องไม่พร้อม การทำแท้ง ก็อยู่ในวงจรนี้ด้วยเช่นกัน”
บอกเด็กเสมอว่า อย่าเพิ่งชินกับความบาดเจ็บล้มตาย
“ผมว่าตลอด 20 ปี ที่เราทำงานด้วยกันมาเป็นทีมใหญ่ ๆ มีคนเข้าใจเรื่องทำแท้งเยอะมาก ส่วนหนึ่งมันก็เป็นความน่าอึดอัดใจของคนเป็นหมอเหมือนกันนะ คือเราเห็นความบาดเจ็บล้มตายเป็นเรื่องปกติจนบางทีเรารู้สึกว่าเราชินกับมัน ผมกลัวและก็เตือนลูกศิษย์เสมอว่า อย่าเพิ่งชินกับความบาดเจ็บล้มตายของคนเพราะถ้าเราชินเมื่อไหร่เราจะกระด้าง ไม่รู้สึกอ่อนโยนหรือเสียใจในสิ่งที่มีการสูญเสีย ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแบบนี้ แต่อาจารย์สอนให้เราเห็นว่าเราต้องละเอียดอ่อนกับเรื่องแบบนี้ และต้องเห็นว่ามันมีการสูญเสียเกิดขึ้นจริง และเมื่อเราร่วมสูญเสียไปกับเขาเราจะรับรู้ได้เลยว่าการให้บริการหรือไม่ให้บริการที่ส่งผลต่อสุขภาพของเขา มันก่อให้เกิดความสูญเสียจริง ๆ โชคดีที่ผมเห็นเร็ว เพราะเราเป็นโรงเรียนแพทย์ระดับภูมิภาคเพราะฉะนั้นคนเสียชีวิตด้วยเรื่องแบบนี้ก็จะถูกส่งมาที่เรา จนกระทั่งเราก็ต้องถามตัวเองว่าเราจะให้เกิดเรื่องแบบนี้จริง ๆ ไหม
มันเคยมีคำพูดติดตลกว่า หมอที่ดีต้องไม่ทำแท้ง จะต้องไม่มายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้ ไม่ให้คิด ไม่ให้ถาม ไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้เด็ดขาด มันก็เป็นความทุกข์และความสุขในเวลาเดียวกัน แต่ไม่เป็นไรหมอคนไหนไม่ทำเราก็บอกว่าขออย่างเดียวว่า พี่อย่าทำให้คนไข้ไม่ได้เจอผมนะ เพราะถ้าเกิดว่าเราขับไสไล่ส่งเขาไปโดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แล้ววันหนึ่งผู้หญิงคนเดิมเข้ามาหาเราด้วยมดลูกอักเสบ ทะลุ เราจะไม่รู้สึกอะไรเลยจริงๆ หรือ ฉะนั้นเราจะไม่วางเฉยและจะรู้สึกเจ็บปวดด้วยกันเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องสอนลูกศิษย์ แต่เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องวางลงไม่เอาความรู้สึกเจ็บปวดนั้นกลับออกไปจากหอผู้ป่วย เราจะถูกสอนเรื่องอุเบกขาเป็นอย่างดีแต่ใครจะสามารถปฏิบัติได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์จึงเป็นที่แรก ๆ ที่ประกาศตัวเองว่าเราจะให้บริการยุติการตั้งครรภ์ แต่อุปสรรคมันก็มีนะเพราะเราทำแต่ทีมหมอด้วยกัน บางครั้งผมก็ลืมพยาบาลที่ต้องอยู่ทุกแผนก อยู่หอผู้ป่วยในซึ่งเขาต้องดูคนไข้ให้เรา ช่วงหนึ่งผมไม่สามารถทำแท้งในโรงพยาบาลได้เพราะโดนประท้วงจากทีมร่วมงานที่ไม่ใช่หมอ แต่ท้ายที่สุดคนไข้ผมต้องไม่ตาย”
สู้กับกระแสต่อต้านการทำแท้งด้วยหลักการและเหตุผล
“ผมจะไม่เถียงเรื่องสิทธิของเด็ก ของเทวดา หรือยมบาล เถียงไปก็ป่วยการสู้มา 20 ปี ผมรู้ว่าเรื่องไหนควรเถียงและไม่เถียง อย่างแรกคือเราต้องรู้ว่าผู้หญิงมีสิทธิในเรือนร่างของเขา อย่างที่สองเราให้บริการได้ไหม มีข้อบ่งชี้ไหม สามสำคัญคือกฎหมายของเราแทบจะทันสมัยที่สุดในโลก ในเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์เราทันสมัยกว่าที่อื่นมากเลยตอนนี้เอาเข้าจริง ๆ ไม่มีใครที่จะไม่สามารถได้รับบริการได้ภายใต้กฎหมายที่ออกเมื่อปี 64 ตอนนี้ถ้าเกิดคุณถามว่าทำได้ไหม ผมจะตอบเลยว่าเข้าตรงข้อไหน มาตราไหนผมตอบได้หมดเพราะเห็นพัฒนาการมันมาตลอด ส่วนอีกข้อที่ผมพบก็คือการเกลี่ยทรัพยากร อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของผมมากนักแต่เรื่องนี้ผมซึ้งมากเลย ในกรณีที่คนไข้ของผมเข้ามาหาเขาบอกว่าการเอาคนนี้ออกหนึ่งคน จะทำให้ลูกอีกสามคนเรียนจบ นั่นคือการเกลี่ยทรัพยากร ซึ่งคนที่ไม่ได้ให้บริการแบบผมอาจจะไม่ได้เคยเห็นสิ่งเหล่านั้น แต่ก็จะมีคนถามบ่อย ๆ ว่าแล้วทำไมไม่ป้องกัน ….คนเรารู้ไม่เหมือนกัน ใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน เราเป็นหมอรู้เรื่องของการคุมกำเนิด แต่อย่าคิดว่าชาวบ้านของเราพี่น้องร่วมโลกของเราจะรู้เหมือนเราทุกคน
ส่วนการเข้าไม่ถึงบริการเป็นเรื่องพิเศษ คือมันไม่เหมือนการตัดไส้ติ่งเพราะมีเรื่องของความรู้สึกของผู้ให้บริการด้วย จะเห็นได้ว่ากฎหมายพร้อม รัฐพร้อม กระทรวงฯ พร้อม สถานที่พร้อม แต่คนไม่พร้อมก็คือพวกเรานั่นเอง เพราะอย่าลืมว่าเราถูกสอนมาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ดี คือผมไม่อยากจะใช้คำว่าต้องรอให้คนรุ่นผมตายหมดก่อนใช่ไหมถึงจะเปลี่ยนได้จริง ๆ การที่จะให้ผมบอกคนอื่นว่าคุณก็ทำได้มันก็มีข้อแย้งในใจเสมอเพราะการทำแท้งคือการสิ้นสุดกระบวนการตั้งครรภ์ คือการสิ้นสุดกระบวนการเติบโตของอีกชีวิตหนึ่ง แล้วก็มีคนถามว่าตกลงเด็กคนนี้จะมีสิทธิอยู่รอดไหม มันเป็นสิ่งที่ทำให้หมอหลายคนมีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะผู้ที่บาดเจ็บจากการทำแท้งนั้นไม่ใช่ผู้รับบริการอย่างเดียว ผู้ให้บริการก็มีความบาดเจ็บด้วย
ดังนั้นจึงมีคำหนึ่งว่า “การปฏิเสธโดยมโนธรรม” คือ การปฏิเสธยุติตั้งครรภ์ไปทำให้เรารู้สึกไปต่อได้ เราเป็นหมอที่ดีต่อไปได้ แต่ถ้ามองไปต่อไปข้างหน้าถ้าหากผู้หญิงคนนั้นเดินออกจากโรงพยาบาล เขาจะไปรับบริการต่อที่ไหน จะจัดการชีวิตต่ออย่างไร จะทำแท้งได้จริงหรือไม่ เกิดปัญหาตกเลือด ติดเชื้อเสียชีวิต หรืออุ้มท้องต่อไปแล้วลูกจะเติบโตมาอย่างไร จริงอยู่เราเจอหลายครอบครัวที่มีความไม่พร้อมตั้งแต่ต้น และทนเลี้ยงลูกจนเป็นเด็กที่ดีก็มีเหมือนกัน หรืออีกมุมถ้าเกิดมีหมอธนพันธ์อีกคนหนึ่งไปทำแท้งเก็บเงินเพราะการทำแท้งปลอดภัยเข้าถึงยากมาก ๆ คุณคิดดูมันจะสร้างความเจริญให้กับวงจรในด้านมืดได้มากแค่ไหน แต่ถ้าเราเอาเรื่องทำแท้งมาเปลี่ยนเรื่องปกติก็จะทำให้ค่าบริการถูกลงเพราะทำบนดินได้ปกติ แต่จะให้สังคมคิดแบบผมก็คงไม่ง่าย”
เคยทำบุญ ล้างบาป หรือเห็นผีเด็กตามบ้างไหม
“ผมนับถือศาสนาพุทธเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าเป็นเรื่องของวิชาชีพผมไม่ได้คิดถึงเรื่องบาปบุญเลย เพราะผมกำลังทำตามหน้าที่ของตัวเอง ในชีวิตของผมส่งคนในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตมากมายนับไม่ถ้วน อย่าลืมว่า ผมก็เป็นหมอสูตินรีเวชที่ดูแลรักษาคนไข้มะเร็ง หอผู้ป่วยในผมส่งคนไข้ของผมให้เขาได้เสียชีวิตอย่างสงบ ให้เขาเสียชีวิตท่ามกลางพ่อแม่พี่น้อง เช่นเดียวกันนี้เราเสียคนอายุ 20- 45 ปี จากการเป็นโรคมะเร็ง เราแค่ยุติการตั้งครรภ์มันไม่ใช่ความสูญเสียสำหรับผมการทำให้คนคนหนึ่งสามารถไปต่อได้ คนเราเกิดมามีความผิดพลาดได้ จะตั้งใจหรือไม่ก็ตามไม่ใช่เรื่องของผม เรื่องของผมก็คือว่าถ้าเค้าผิดพลาดแล้วต้องการมาใช้เราเป็นเครื่องมือทำให้เขาหาย เราต้องทำให้เขาปลอดภัยให้ได้ เมื่อเขาเสร็จจากตรงนี้ต้องมีชีวิตต่อได้ บอกแล้วถ้าเราพูดว่าเราทำตามหน้าที่หลักการมีอยู่แค่นี้ ฉะนั้นการทำบุญเข้าวัดผมไม่เคยสนใจเรื่องแบบนี้ เวลาทำแท้งเสร็จถ้าเกิดเห็นตัวเด็กออกผมก็จะบอกว่าไปเกิดใหม่นะลูก แต่ไม่ได้รู้สึกร่วมหรือเศร้าใจอะไร คนที่ควรจะเศร้าใจด้วยก็คือแม่เขามากกว่า”
20 ปี กับการเติบโตของการให้บริการทำแท้งในวงการสาธารณสุขไทย
“พอเราเริ่มออกไปทำงานให้กับชุมชนวิชาชีพ ก็เห็นว่าหลายคนเห็นด้วยกับเรา เราก็สอนเทคนิคการทำแท้งปลอดภัย มุมมองของตัวเอง เพราะฉะนั้นในเรื่องของการปรับเปลี่ยน Mindset ผมจะเป็นหนึ่งในผู้ให้การบรรยายกับทีมอาจารย์เพราะว่ามีคนเริ่มเห็นด้วย และคนให้บริการเพิ่มมากขึ้นจนท้ายที่สุดผมจำได้ว่าจุดเปลี่ยนของเรา คือการไปที่ จ.นครราชสีมา และในทีมนั้นมีหมอทั่วไปรวมกลุ่มกันแล้วบอกว่าอาจารย์ทำงานมาเยอะแล้วผมจะเป็นตัวหนุน และช่วยทำให้การเข้าถึงมันง่ายขึ้น จึงมีการรวมกลุ่มกันเป็นแพทย์อาสา (RSA) คือการส่งต่อมาเพื่อยุตติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น มีสายด่วน 1663 และกรมอนามัยมาเป็นเจ้าภาพร่วม มีการพูดถึงการเอายาเข้ามาใช้ในการทำแท้งอย่างปลอดภัย และกระทรวงสาธารณสุขก็เข้ามาเป็นส่วนร่วมที่ทำให้การทำแท้งเป็นสวัสดิการ เพราะรัฐเห็นแล้วว่าการทำแท้งเถื่อนเราเสียค่าใช้จ่ายหลักแสนถึงหลักล้าน แต่เราเรียกความสมบูรณ์ของร่างกายกลับมาไม่ได้
ส่วนในด้านของการปรับแก้กฎหมายการทำแท้งผมว่าเราแทบจะทันสมัยสุดๆ แล้วนะ โดยเฉพาะมาตรา 305 (3) ผมว่าเป็นสิ่งที่ผมรักกฎหมายฉบับนี้มาก เพราะสมัยก่อนการจะมาทำแท้งด้วยการทำผิดทางเพศจะต้องแจ้งความก่อน คิดดูสิผู้หญิงถูกข่มขืนแจ้งความจะเกิดอะไรขึ้น การซักการถามก็เป็นการข่มขืนซ้ำทางวาจาถึงตำรวจจะไม่ได้ตั้งใจ มาที่โรงพยาบาลเจอผมก็ต้องถามซ้ำโดนข่มขืนครั้งที่สาม แต่คงไม่มีครั้งไหนที่น่ากลัวเท่ากับการข่มขืนหน้าบัลลังก์ศาล ทนายก็ต้องถามให้ได้ว่าการข่มขืนครั้งนั้นเป็นการสมยอมหรือไม่มันเลวร้ายมาก แต่กฎหมายฉบับใหม่เขียนว่าแค่เข้ามาแจ้งกับหมอว่าถูกข่มขืน ผมก็แค่บันทึกในเวชระเบียนว่าโดนข่มขืน กระทำชำเรามาเมื่อไหร่ เรื่องนี้รู้เฉพาะผมกับเขาเป็นความลับ คนจะเปิดดูเวชระเบียนได้มีแค่ผมคนเดียว นี่คือระบบที่เราป้องกันเอาไว้”
หรือมาตรา 305 (5) ถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ไปจนถึง 20 อาทิตย์ก็ทำได้ แต่กรุณาเข้ามาในระบบเพราะถ้าทำแท้งเองที่บ้านอาจจะเกิดอันตราย กฏหมายจึงบอกว่าถ้าจะปลอดภัยต้องเข้ามาในโรงพยาบาลที่มีการให้บริการดูแล หากตกเลือดโรงพยาบาลผมมีห้องผ่าตัด ฉะนั้นกฎหมายตอนนี้มันสร้างความปลอดภัยอย่างที่สุดเหลือแต่พวกผมแล้วว่าจะทำหรือเปล่า”
“โรงพยาบาลนี้ รับทำแท้ง” สำคัญแค่ไหน
“ในช่วงต้นต้น ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การติดป้ายบอกว่าทำแท้งได้ ไม่ได้ยังไง ผมว่าเราจะต้องบอกสังคมให้รู้ว่ากฎหมายมันเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้กฎหมายให้ทำแท้งได้โดยเท่าถึงเท่าเทียม ในมุมมองของผมอีก 5 ปีข้างหน้าถ้าคนในสังคมรู้ว่าการทำแท้งเข้าถึงและให้บริการได้ เราอยากลดอายุของการท้องไม่พร้อมและมาขอทำแท้งให้น้อยลง คืออายุครรภ์ประมาณ 6 -9 สัปดาห์ยังทำได้ง่าย อย่าลืมว่าก่อน 12 สัปดาห์การแท้งทุกชนิดปลอดภัย ทำที่บ้านได้ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องไปรบกวนใครในระบบสาธารณสุขมากมายแต่ถ้าเกิน 12 สัปดาห์ คุณจะต้องนอนในโรงพยาบาล และต้องมีคนอีกมากมายที่เกี่ยวข้องพยาบาลอีกหลายคนที่ต้องมานั่งดูว่าเด็กที่ทำแท้งเกิดอะไรขึ้น เขาต้องเห็นเด็กที่ทำแท้งถ้าเขาทำใจไม่ได้เขาจะตกนรกกับการทำงานมาก ๆ มันไม่ใช่คนแบบผมที่จะเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ “
คำถามสุดท้ายก่อนจากกัน ว่าอยากฝากอะไรเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล 28 ก.ย.65 หมอแป๊ะพูดด้วยท่าทีที่จริงจัง ต่างจากการสัมภาษณ์สบาย ๆ ตลอดการพูดคุยที่ผ่านมา ว่าสำหรับเขาเรื่องของการทำแท้งไม่ใช่วาระพิเศษ กิจการสำคัญของชีวิตก็คือว่า ตนเองเข้ามาเรียนในคณะแพทย์เพื่ออะไร เคยปฏิญาณกับอาจารย์ก่อนจะรับวุฒิบัตรว่าเราจะดูแลสุขภาพเพศหญิงเราทำแบบนั้นแล้วหรือยัง ในการป้องกันการบาดเจ็บล้มตายจากโรคที่ป้องกันได้