ภารกิจ 3 วัน กับการคัดกรองเชิงรุกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน บนบ่าของนักรบชุดขาว ในนาม ทีมแพทย์ชนบท
3 วัน ทีมแพทย์ 16 ทีม กับ 40 ชุมชนแออัดและแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภารกิจนี้หนักหนาและไม่ง่าย
นอนวันละ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มภารกิจ 21 ก.ค. จนถึงวันสุดท้าย 23 ก.ค. 2564
รางวัลของคนทำงาน คือ ทุกคนได้รับการตรวจและเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันท่วงที
วันแรกของการตรวจในรอบนี้ ทุกทีมประจำจุดตรวจ 8 โมงเช้า เริ่มตรวจ 9 โมง
วันแรกเสร็จภารกิจ 5 ทุ่ม ตรวจได้ทั้งหมด 9,402 คน ติดเชื้อ 1,854 คน ภารกิจเหมือนเดิมทุกวัน เพิ่มเติมคือคนตรวจมากขึ้น พบคนติดเชื้อสูงขึ้น แต่ละจุดพบอัตราการติดเชื้อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 รวม 3 วัน ตรวจได้ทั้งหมด 31,518 คน พบผู้ติดเชื้อ 5,086 คน คิดเป็นร้อยละ 16.14
ก่อนหน้านี้ ทีมแพทย์ชนบทเดินทางมาตรวจคัดกรองไปแล้ว เมื่อวันที่ 14-16 ก.ค. ที่ผ่านมา และยังไม่ทั่วถึง จึงเดินทางมาอีกรอบ ถึง 16 ทีม ได้แก่ ทีมสุโขทัย ทีมจะนะ+ยโสธร ทีมเชียงราย+ไทรงาม ทีมขอนแก่น ทีมด่านมะขามเตี้ย ทีมน่าน+บางกรวย ทีมชัยภูมิ+ลพบุรี ทีมสุรินทร์ ทีมนครศรีธรรมราช และทีมนาทวี+ปาดังเบซาร์
การทำงานตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทีมแพทย์ต้องเร่งมือและทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้ตามแผนที่วางไว้ บางทีมต้องย้ายจุดตรวจถึง 3 จุดต่อวัน ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เกินเวลาเคอร์ฟิว แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เดินหน้าตรวจคัดกรองโดยหวังให้ประชาชนทุกคนที่ตั้งใจมาได้รับการตรวจเชื้อ
ทัศนีย์ สิงห์ธนะ พยาบาลอาสาจากทีมแพทย์ชนบทน่าน เล่าให้ฟังว่า เธอมาเป็นอาสาร่วมตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งนี้ เพราะเห็นว่าที่จังหวัดน่านคนติดไม่มาก และคนที่ติดคือคนที่เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร การมาครั้งนี้จึงเหมือนมาช่วยควบคุมการระบาดจากต้นทางด้วย เธอยอมรับว่าไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ คนติดเชื้อจากชุมชนแออัดจำนวนมากในแต่ละจุด เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ได้พัก เพราะคิดว่าอยากเร่งตรวจให้ทัน แต่ที่สุดแล้วแต่ละวันก็เสร็จหน้างานสี่ทุ่มทุกวัน
“ตื่นมาเตรียมของอุปกรณ์ตั้งแต่ตี 5 ออกจากโรงแรม 6.30 น. ถึงที่พัก 5 ทุ่ม แบบนี้ทุกวัน ข้าวไม่ค่อยกิน เพราะเหนื่อย และถอดชุดลำบาก ส่วนใหญ่ดื่มน้ำหวาน กินอีกทีตอน 5 ทุ่มทีเดียว เหนื่อยนะ แต่ก็ดีใจ เพราะคนที่มาตรวจทั้งคนแก่ เด็ก เราเห็นเขาได้ตรวจ พอไม่ติดเชื้อ เขาก็มั่นใจ อุ่นใจขึ้น เราเลยรู้สึกดี”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า ชุมชนแออัดถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานคร คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการตรวจ การระบาดก็ง่าย ด้วยลักษณะทางกายภาพและบุคลิกของชุมชน การตรวจพบคนติดเชื้อและแยกคนกลุ่มนี้ออกให้เร็วที่สุด พิกัดพื้นที่เสี่ยงจะช่วยการควบคุมการระบาดได้ และต้องการสื่อสารให้ภาครัฐตื่นตัว เคลื่อนไหวและโฟกัสที่การตรวจรักษา และฉีดวัคซีนให้เร็วและทำระบบให้ควบคู่รองรับกัน
“ชุมชนแออัดถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานคร แต่เข้าไม่ถึง น่าสงสารมาก และไม่ต้องกลัวว่าตรวจเจอแล้วจะเป็นปัญหา ชาวบ้านเขารู้ เขากลัว เขาจะจัดการตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่ถ้าไม่ตรวจ ไม่รู้ คุมระบาดไม่ได้”
นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ภาคประชาชน) หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันให้เกิดการตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งนี้ บอกว่า ภาคประชาชนมีบทบาทในการเลือกพื้นที่การตรวจคัดกรอง โดยเน้นไปที่ชุมชนแออัด เนื่องจาก ประชาชนกลุ่มนี้มักเข้าไม่ถึงการตรวจ ตรวจเองก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง
“เงินค่าตรวจ 3,000 บาท ไม่ใช่น้อย ๆ การระบาดในชุมชนแออัดหากไม่มีการตรวจคัดกรอง ไม่รู้ใครติดเชื้อ ก็ไม่สามารคุมการระบาดได้”
ปัญหาที่ผ่านมายังพบว่า คนที่ติดเชื้อแล้วเป็นกลุ่มสีเขียวสามารถดูแลรักษา แบบ Home Isolation และ Community Isolation ได้ ด้วยการจับคู่กับคลินิกอบอุ่นระบบของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะมีการดูแลทั้งการประเมินอาการ อาหาร ยา และอุปกรณ์ส่งถึงบ้าน
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะคลินิกอบอุ่นไม่มีความพร้อมตามนโยบายบางแห่งไม่มีระบบรองรับ
การตรวจคัดกรองเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบทรอบนี้ ภาคประชาชนจัดทีมอาสามาทำงานการลงทะเบียนรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านภายในจุดตรวจ ซึ่งหากคนที่ตรวจพบผลจากแอนติเจน เทสท์ คิทเป็นบวก จะได้รับการตรวจซ้ำแบบ RT-PCR อีกครั้ง สแกนคิวอาร์โค้ด 1330 เพื่อจับคู่กับคลินิกอบอุ่น และรอติดต่อกลับภายใน 48 ชั่วโมง
“เราติดต่อขอให้คลินิกชุมชนลงพื้นที่กับเรา เพื่อรับคนติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เรามีเพียงอาสาภาคประชาชนมาทำงานตรงนี้หนักมากใน 3 วันที่ผ่านมา”
เครือข่ายฯ ยังยอมรับว่า การจับคู่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่บ้านกับระบบแพทย์ปฐมภูมิใกล้บ้านยังคงมีข้อจำกัด และแม้ว่าทุกคนที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วครั้งนี้ ก็ไม่อาจการันตีว่าผู้ป่วยจะได้รับการติดต่อกลับและเข้าสู่ระบบการดูแลภายใน 48 ชั่วโมงจริง และอาจไปกระจุกตัวในระบบอีกหรือไม่ หากไม่มีแผนรองรับ
นี่นับเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่ทีมแพทย์ชนบทจะร่วมสมทบทำงานการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พวกเขาเชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือ ร่วมแรง จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และตลอด 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือโดยดีจากทุกฝ่าย เช่น สปสช. กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานท้องถิ่น สำนักอนามัย กทม. และอีกหลายภาคส่วน
แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่ายุทธศาสตร์ของ กทม. และรัฐบาล จะพุ่งเป้ามาที่การตรวจคัดกรองเชื้อให้ทั่วถึงได้มากน้อยแค่ไหน
ตรวจแล้วทุกคนเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ทันท่วงที รวมถึงวัคซีน คือ เกราะป้องกันที่ทรงอนุภาคที่แท้จริง