เช็กความเสี่ยง​ “ระบบสาธารณสุข” รับมือโควิด-19 รอบ​ 3

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ที่มากกว่าหลักพันคนต่อวัน และเริ่มมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มทุกวัน นอกจากจะส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศไทยมีมากกว่า 46,000 คน ในวันที่ 21 เม.ย. 2564 ยังส่งผลต่อความกังวลของประชาชน ต่อความเสี่ยงของระบบสาธารณสุขกับความพร้อมในการรับมือ

แม้ กระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันว่า มีเตียง​ ยา​ และบุคลากรทางการแพทย์ “เพียงพอ” รองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลักพันคนต่อวัน แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยตกค้าง​ ต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียง ยังไม่นับผู้ติดเชื้อที่เลือกกักตัวเอง แทนการถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามที่รัฐจัดให้

ยังมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกจำนวนมากที่ต้องกักตัวเองออกจากสังคม เพื่อเฝ้าระวังอาการ รวมถึงการที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้วมากกว่าหนึ่งร้อยคน

สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้ภาพความเป็นอยู่ภายในโรงพยาบาลสนาม ที่มีเตียงติดกัน ถูกเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชัน tiktok ผู้ติดเชื้อที่ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลา 14 วัน ต้องปรับตัวและหากิจกรรมยามว่าง ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นภาพการทำงานของทีมบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่ต้องทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ข้อมูลล่าสุดจาก กรมการแพทย์ เปิดเผยจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ณ วันที่ 18 เมษายน 2564 ทั้งจากโรงพยาบาลหลัก​ โรงพยาบาลสนาม​ และ​ Hospitel​ รวม 9,317 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 6,294 เตียง ยังเหลือเตียงว่าง 3,023 เตียง​ โดยยืนยันว่ายังเพียงพอรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อได้

ถึงแม้กรมการแพทย์​ จะออกแนวปฏิบัติ สำหรับผู้ติดเชื้อที่เหมาะสมสำหรับการแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation ออกมา​ แต่ยังไม่ได้หมายความว่า มีนโยบายให้ผู้ติดเชื้อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยยังคงให้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลทั้งหมด

นพ.สมศักดิ์​ อรรฆศิลป์​ อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้แนวทางการกักตัวผู้ติดเชื้ออยู่ที่บ้านอย่างแน่นอน หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในหลักพันคนต่อวันเช่นนี้​ แต่ถึงอย่างนั้น​ นพ.สุขสันต์​ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร​ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด​ ก็ยอมรับว่า ณ วันที่ 18 เมษายน ยังมีผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ที่บ้าน อีกจำนวน 505 คน ซึ่งจะเร่งบริหารจัดการรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลโดยเร็ว

ผอ.สำนัก​การแพทย์​ กทม.​ ยังระบุอีกว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่พร้อม ที่จะไปนอนโรงพยาบาลสนาม แต่ต้องการจะนอน​ Hospitel​ ในโรงแรม​ ซึ่งปัจจุบันเตียงในกรุงเทพฯ ยังมีเพียงพอ แต่ตัวเลขจะเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งเป็นรายชั่วโมง เนื่องจากมีทั้งคนเข้าและคนออกจากระบบตลอดเวลา

น่าสังเกต​ว่า​ ความพยายามจัดหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม สวนทางกับบุคลากรการแพทย์ที่ลดลงจากการติดเชื้อโควิค-19 ณ วันที่ 18 เมษายน 2564 ติดเชื้อแล้ว 146 คน​ ทำให้ต้องแยกกักบุคลากรทางการแพทย์ออกไปอีกจำนวนหนึ่ง​ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลายแห่ง

โดย 50% พบว่าติดเชื้อจากการทำงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ป่วยไม่เปิดเผยข้อมูลและติดเชื้อจากผู้ใกล้ชิด​ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของระบบสาธารณสุข ที่อาจไม่สามารถรองรับได้​ หากจำนวนผู้ติดเชื้อ ไม่ลดลง​ และอาจนำมาสู่การวางแนวทางล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมให้กักตัวผู้ติดเชื้อที่บ้าน หรือ Home Isolation ในที่สุด

แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยังคงประเมินแนวโน้มการระบาดรอบเดือนเมษา​ยนนี้ ว่าจะเริ่มชะลอตัวในอีก 1-2 สัปดาห์​ข้างหน้า แต่มีข้อแม้ว่า การยกระดับมาตรการแบ่งประเทศไทยออกเป็น 2 โซนสี คือ สีแดง พื้นที่ควบคุม​สูงสุด​ 18 จังหวัด และ สีส้ม พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด จะต้องได้ผลในทางปฏิบัติด้วย

ส่วนเรื่อง “วัคซีน” ยังเป็นอีกความหวัง ที่สังคมตั้งคำถามถึงความล่าช้า และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามแผน ซึ่งเวลานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีน” ได้ข้อยุติว่า จะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 2-3 ยี่ห้อ จำนวน 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส

ที่ผ่านมา วัคซีนโควิด-19 จำนวน 666,210 โดส​ ถูกกระจายเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในระยะแรก ทั้ง บุคล​ากรทางการแพทย์​ และพื้นที่ที่มีการระบาด​ รวมถึงการลงทะเบียนขอรับวัคซีน ดังที่มี ส.ว. และ ส.ส. บางคน ขอเข้ารับการฉีดวัคซีนบ้างแล้ว จากจำนวนวัคซีนที่มีทั้งหมด 2,117,000 โดส ทั้งจากซิโนแวคและแอสตราเซเนกา (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย.) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นต้องมีการปรับตามสถานการณ์ ซึ่งในช่วงการระบาด​ ความสำคัญอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ต้องได้รับวัคซีน 100%

และในวันที่ 21 เม.ย. นี้ วัคซีนซิโนแวคที่เข้ามาเพิ่มอีก 1 ล้านโดส จะถูกกระจายไปเพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ประมาณเกือบ 6 แสนโดส หรือประมาณ 3 แสนคน ซึ่งจะเร่งรัดการฉีดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 เม.ย. นี้ ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ภาพรวมการฉีดวัคซีนของไทยเกิน 1 ล้านโดสภายในสัปดาห์นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์