ตอกย้ำชัดเจนว่า “ทุกวันนี้ ใครก็เป็นสื่อได้” มือถืออยู่ในมือเราทุกคน ด้านหนึ่งช่วยเชื่อมต่อทุกคนบนโลกเข้าไว้แค่ปลายนิ้ว สร้างประโยชน์มหาศาล แต่อีกด้านก็เป็นภัยเงียบได้เช่นกัน ถ้าหากว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู เลือกหันกล้องใส่เด็ก แชร์ภาพทั้งความน่ารัก ความประทับใจ ความผิดพลาดของเด็กชวนให้เอ็นดู
แต่…เราเคยถามเด็กบ้างไหม ? ว่าในสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องน่ารัก ขำขัน สำหรับเด็กแล้วมันอาจเป็นเรื่องที่ขำไม่ออกเลยก็ได้ เมื่อเขาเติบโตขึ้น ภาพความน่าอับอายนั้น ก็จะยังอยู่บนโลกออนไลน์ และกลับมาทำร้ายเขาได้เสมอ
เมื่อเด็กคนหนึ่งล้มลงและเริ่มร้องไห้ แล้วเขารับรู้ว่าพ่อแม่เลือกที่จะคว้ากล้องมาถ่าย มากกว่าคว้าตัวเขา และให้การช่วยเหลือ สุดท้ายวันหนึ่ง เขาอาจจะไม่เชื่อใจในผู้ใหญ่คนใกล้ชิดของเขาอีก เพราะความผิดพลาดในชีวิตของเขา กลายเป็นสินค้าเรียกผู้ชมให้กับพ่อแม่ หรือครูของเขาเอง
อย่าปล่อยให้สายสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก หรือครูและศิษย์ ต้องสะบั้นลงเพียงเพราะยอดแชร์
The Active ชวนผู้ใหญ่ทั้งหลายมาไตร่ตรองถึงผลกระทบของการแชร์ภาพเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ ผ่านมุมมองของ ‘ครูกระแต-ประภาศร ศรีวิเศษ’ ครูอนุบาล โรงเรียนบ้านดอนกลองหนองไฮ จ.ยโสธร และ ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไม ? จึงจำเป็นต้องสอนเด็กให้เข้าใจถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตั้งแต่ปฐมวัย พร้อมย้ำเตือนผู้ใหญ่ให้คุ้มครองและรับฟังเสียงของเด็กมากยิ่งขึ้น
สอนสิทธิเด็กอย่างไร ? ในวันที่โรงเรียนยังไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 ย้ำว่า เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตลอดจนได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ หรือเด็กกับผู้สอน บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็ก
ทั้งนี้ยังระบุให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น การระวังภัยของตนเองจากผู้อื่น ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นและรับฟังผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่เด็กเล็กต้องรู้จักสิทธิของตัวเอง ไม่ใช่เพิ่งจะสอนกันในวัยที่โตแล้ว
เรื่องสิทธิสำหรับ ครูกระแต เชื่อว่า สามารถสอนกันได้ตั้งแต่เด็ก เพราะการเข้าใจสิทธิเป็นพื้นฐานของการเป็นพลเมืองในสังคม เธอจึงเลือกใช้สื่อการสอนอย่างนิทานภาพ ‘ปิงปิงไม่ยอม’ ที่เป็นเรื่องราวของเด็กสาวชื่อ ‘ปิงปิง’ เป็นตัวละครแสดงวิธีการปฏิเสธ หรือหลีกหนีจากสถานการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ
นิทานเรื่องนี้ยังมีทั้งเวอร์ชั่นของเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย เพื่อย้ำว่า การคุกคามนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ นอกจากนี้ ครูกระแต ยังเลือกหยิบสถานการณ์ข่าวในชีวิตประจำวันมาเป็นกรณีสอนในชั้นเรียน อย่างกรณีข่าวผู้ลี้ภัย ‘โรฮีนจา’ เธอก็ทำเป็นแผนภาพง่าย ๆ ให้เด็กเข้าใจว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ต้องล่องเรือจากบ้านเกิดมาหาชีวิตใหม่ที่อื่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้เด็กเข้าใจว่า สิทธิ และ การเป็นพลเมือง ส่งผลโดยตรงต่อเขา แม้แต่ในวัยเด็ก
ยังมีวิธีการสอนเด็กให้เข้าใจถึงแนวคิดสิทธิเหนือเรือนร่างอีกมากที่ ครูกระแต เลือกใช้ เช่น การให้เด็กนอนลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วใช้สีวาดโครงร่างตัวเองขึ้นมา
จากนั้นให้นำมือที่จุ่มสี มาสัมผัสบนตำแหน่งของร่างกายที่ตนไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาสัมผัส หรือรู้สึกไม่สบายใจ หากถูกละเมิดในส่วนต่าง ๆ ครูกระแต บอกว่า เด็กแต่ละคนก็จะมีจุดต้องห้ามที่ต่างกัน และนำมาสู่โจทย์ในการอยู่ร่วมกันอื่น ๆ เช่น การคิดวิธีการทักทายให้หลากหลายโดยไม่ต้องจับเนื้อต้องตัว เช่น โบกมือ, ทำมินิฮาร์ท หรือใช้กำปั้นชน
“โรงเรียนเป็นสังคมจำลองแรก ๆ ที่เด็กต้องเจอในชีวิต เขาต้องเริ่มรู้จักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ สิ่งแรกที่โรงเรียนต้องสอนเขาคือ ‘สิทธิ’ ว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้างในสถานที่แห่งนี้ และเขาจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างแฮปปี้ด้วยวิธีไหน เช่น ใครจะพูดต้องยกมือก่อน เมื่อมีคนพูดก็ต้องมีคนฟัง ฯลฯ ถ้าเราปูพื้นให้เด็กเข้าใจเรื่องสิทธิตั้งแต่เด็ก เขาจะปรับตัวกับสังคมเมื่อเขาเติบโตได้…แต่สิ่งสำคัญคือ โรงเรียนและครูต้องทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง”
ครูกระแต
แม้มีสื่อการสอนที่ดี แต่การบ่มเพาะเรื่องสิทธิอาจไม่ราบรื่นนัก หากสถานศึกษายังไม่เปิดกว้างความหลากหลาย ยังมีกฎระเบียบลิดรอนสิทธิ บังคับเข้าร่วมกิจกรรม ยืนตากแดดหน้าเสาธงทุกเช้า และยังมีครูที่ใช้กฎเพื่อลุแก่อำนาจบางอย่างจากกรณีที่เห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน
จึงไม่แปลกที่เด็กไทยจะไม่รู้จักการใช้สิทธิและปกป้องสิทธิของตัวเอง เพราะโรงเรียนยังไม่เป็นแบบอย่างทำให้เห็นเด็กถึงการ ‘เคารพสิทธิ’ แต่สำหรับ ครูกระแต นั้นค่อนข้างโชคดี เพราะโรงเรียนที่เธอสอนอยู่เปิดกว้างเรื่องสิทธิพอสมควร เด็กอนุบาลย้อมสีผมได้ เด็กผู้ชายได้ไว้ผมที่ไม่ต้องเกรียนสั้นเหมือนทหาร และเธอยืนยันว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง และโรงเรียนมีหน้าที่สอนให้เขารู้จักรักตัวเองและตัวตนของผู้อื่น”
แต่ในยุคสมัยที่สื่ออยู่ในมือทุกคน ทำให้ทุกวันนี้สิ่งที่ทุกคนพบเห็นกันง่าย ๆ คือ คอนเทนต์ที่ครูถ่ายคลิปเด็กลง Tiktok หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ทั้งในมุมของความน่ารัก น่าเอ็นดู หรือ มุมความรุนแรงเองก็มี
สำหรับ ครูกระแต ยอมรับว่า เคยเจอกับตัวคือเพื่อนครูด้วยกันถ่ายวิดีโอเด็กเล็กตอนกำลังใช้สุขา ลงสื่อสังคมออนไลน์ เบื้องหลังไม่มีใครทราบเลยว่าเด็กที่ถูกถ่ายไปนั้นจะรู้สึกอย่างไร เมื่อภาพของเขาปรากฎบนโซเชียล และใครต่อใครก็สามารถรับชมได้ เธอจึงชวนให้ทุกคนคิดว่า หากภาพนั้นเป็นภาพของลูกตัวเอง หรือเป็นภาพของคุณเองเลย คุณจะรู้สึกสบายใจหรือไม่ และย้ำว่า เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะแชร์ภาพของใครลงสื่อออนไลน์
อย่างน้อยที่สุด ประโยชน์ที่เด็กควรได้รับจากสื่อคือความภาคภูมิใจ ไม่ใช่ความน่าอับอาย… ไม่อยากเห็นเด็กคนหนึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือเรียกยอดวิวให้กับครู ถ้าพ่อแม่เขามาเห็นก็คงไม่โอเค อยากให้คนที่ทำงานกับเด็กคำนึงถึงเด็กให้มาก ส่วนเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มันควรเป็นสามัญสำนึกของครูทุกคนอยู่แล้ว ถึงไม่มีกฎหมาย เราก็ควรปกป้องเด็กได้เอง
ครูกระแต
ครูกระแต ทิ้งท้ายว่า ครูมีคู่มือการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งออกแบบไว้ดีทีเดียว มีตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ได้ง่าย และชัดเจน ในทุกช่วงชั้น ช่วงวัย แต่คำถามสำคัญคือ เราจะสอนให้เขาเข้าใจเรื่องสิทธิจริง ๆ ได้อย่างไร ? ถ้าคนเป็นครูยังละเมิดสิทธิของนักเรียนเอง
Sharenting : ละทิ้งความเป็นพ่อแม่ แล้วหยิบโทรศัพท์มาแชร์รูปลูก
ปรากฏการณ์ที่พ่อแม่ ครู ถ่ายคลิปวิดีโอของลูกหรือนักเรียนลงโซเซียล ในมุมมองของ ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะของนักวิชาการด้านสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน อธิบายว่า อาจข่ายการ Sharenting ที่มาจาก 2 คำรวมกันคือ Share (การแบ่งปัน) และ Parenting (การเป็นพ่อแม่) ใช้เรียกกิจกรรมที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบแชร์ภาพลูกจนเกินพอดี จนอาจนำไปสู่การเผยข้อมูลส่วนตัวและกลายเป็นภาพที่น่าอับอาย เสียหายในอนาคตของเด็กได้
นักวิชาการด้านสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ยังย้ำด้วยความเป็นห่วงว่า อย่าดูดายการแชร์ภาพลูกเป็นเรื่องเล็ก ไม่เป็นภัย เพราะเคยมีกรณีของต่างประเทศ ภาพของเด็กคนหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ไปด้วยความน่าเอ็นดู กลับลุกลามไปสู่การตัดต่อ ผลิตซ้ำ จนเกิดการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน จนเด็กในวิดีโอต้องย้ายออกจากโรงเรียน ต้องกลับมาเรียนที่บ้าน และตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่เคราะห์ดีที่เขารอดมาได้
“พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่า ‘ไม่เห็นจะเป็นอะไร มองว่าเป็นเรื่องขำ ๆ’ แต่พอเด็กถูกล้อเลียนซ้ำ ๆ อยู่ทุกวัน มันก็คงไม่ขำ และเขาก็รู้สึกว่าไม่อยากที่จะเป็นตัวตลกของคนอื่นอีกต่อไปแล้ว”
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ใหญ่ด่วนตัดสินว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องตลก ๆ น่าขำ’ แต่ ผศ.มรรยาท ก็ชวนตั้งคำถามว่า แล้วเด็กเขาขำกับผู้ใหญ่ไหม ? อย่าลืมว่าคนในภาพนั้นเป็นเด็ก เขายังไม่มีวิจารณญาณที่แข็งแรงมากพอ เขายังไม่อาจจินตนาการถึงภัยคุกคามบนโลกออนไลน์
อีกทั้งเด็กก็ไม่มีอำนาจเทียบเท่าผู้ใหญ่ แค่จะปฏิเสธหรือคัดค้านก็เป็นการยาก ดังนั้นผู้ใหญ่ต่างหากที่ต้องคิดให้มากขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น หรือลองคิดแทนดูก็ได้ว่า หากเป็นตัวของเราเองถูกถ่ายและเผยแพร่เช่นนั้นบ้าง เราจะรู้สึกสบายใจหรือไม่ แม้แต่เวลาเพื่อนลงภาพหมู่แล้วใบหน้าของเราไม่พร้อม ผู้ใหญ่อย่างเราก็ยังรู้สึกไม่ดีเลย
ในฐานะแม่ ผศ.มรรยาท จึงอยากแบ่งปันช่วงเวลาดี ๆ ที่มีต่อลูก ถึงสิ่งที่พอจะทำได้ โดยไม่ทำร้ายลูกน้อยภายหลัง ดังนี้
- ขอความยินยอม (Consent) จากลูกก่อน เพราะภาพเป็นของเจ้าตัว เด็กควรได้รับรู้และมีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่ ?
- ผู้ใหญ่เองต้องช่วยเด็กคิดด้วยว่า ภาพที่ปรากฎนั้นเหมาะสมไหม หรือจะทำให้ลูกกลายเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งหรือเปล่า ?
- ถ้าภาพนั้นไม่ได้รับการยินยอม หรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นภัย ให้เก็บเป็นความทรงจำไว้เฉพาะในครอบครัว ทุกวันนี้สื่อออนไลน์มีฟังก์ชันช่วยกำจัดวงของการแชร์เนื้อหา ซึ่งจะช่วยรักษาความปลอดภัยของลูกได้มากขึ้น
แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือการที่พ่อแม่ หรือครู นำภาพของเด็กมาเผยแพร่เพื่อจุดประสงค์หากำไร หรือเพิ่มยอด Engagement บนสื่อออนไลน์ซึ่ง ผศ.มรรยาท ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจทำให้เด็กกลายเป็น ‘สินค้า’ ของพ่อแม่ ในขณะที่การสื่อสารในฐานะพ่อแม่ กับ ลูก จะเหือดหายไป แทนที่ด้วยภาพของการเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ที่ต้องพะวงอยู่กับยอด Engagement ในโซเชียลมีเดีย และเมื่อนั้นแล้ว ความเชื่อใจของลูกที่มีต่อพ่อแม่ของเขาก็จะค่อย ๆ ลดลงไป จนไม่เหลือความเป็นพ่อแม่ หรือครอบครัวกันอีก
“ลูกจะรู้สึกว่าการเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง ก็จะกลายเป็นคอนเทนต์ให้พ่อแม่แชร์บนสื่อสาธารณะ และเขาก็ไม่อยากที่จะเล่าอีกต่อไป เพราะเขาอยากคุยแค่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยากแชร์ให้คนอื่นรู้ด้วย และเราก็เสียช่วงเวลาที่ควรจะได้ผูกพันใกล้ชิดที่สุด ฟังเรื่องเขาได้มากที่สุดไป บางทีเด็กกำลังร้องไห้ แต่พ่อแม่หรือครูมองเป็นเรื่องที่ต้องรีบหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย เพราะว่าน่ารักดี สรุปนี่เรากำลังเป็นพ่อแม่ เป็นครู หรืออินฟลูเอนเซอร์ ?“
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
ผศ.มรรยาท ยังชี้ให้เห็นว่า ด้วยสภาพสังคมไทยตั้งแต่สมัยก่อนที่มองเห็นลูกเป็นเหมือนทรัพย์สิน ไม่ได้มองเห็นเด็กเป็นคน จนมาปัจจุบันนี้ สังคมก็ควรก้าวหน้ามากขึ้นด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรื่องของการละเมิดจิตใจเด็ก ประจานเด็ก หรือทำร้ายใจเด็กมันจะเกิดขึ้นน้อยกว่านี้มาก ถ้าหากผู้ใหญ่มองเห็นเด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่ง อย่าละทิ้งความเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นครูไปเพียงเพราะยอด Engagement แล้วหันมาสื่อสารกับเด็ก จ้องมอง และสัมผัสเขาให้มากขึ้น แล้วจะทำให้เราเห็นถึงความรู้สึกเขามากขึ้น
เราควรที่จะใช้เวลาอยู่กับลูกของเราในทุกวินาทีที่มีคุณค่า
ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ
จ้องมองเขา สัมผัสเขาให้มากกว่าที่ลูกเห็นเราถือกล้องโทรศัพท์
ปัญหาทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขจากหลายฝ่าย เริ่มจากคนใกล้ตัวเด็กที่สุดอย่างพ่อแม่ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครองปกป้องภัย ไม่ใช่พาลูกเข้าหาแสงโดยไม่จำเป็น ตระหนักรู้เรื่องความเป็นส่วนตัวและสิทธิเด็กให้มากขึ้น
ขณะที่โรงเรียนต้องอบรมให้เด็กรู้จักปกป้องสิทธิตัวเอง รู้จักปฏิเสธและหลีกหนีจากการคุกคาม โดยเฉพาะเด็กยุคนี้เข้าถึงสื่อง่ายขึ้นมาก สามารถโพสต์ภาพหรือถ่ายคลิปตัวเองลงโซเชียลได้คล่องแคล่ว เราคงไม่อาจบอกให้เขา ‘หยุด’ ใช้สื่อ แต่สิ่งสำคัญคือการสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ ไม่เช่นนั้นเขาจะตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย
และสุดท้ายคือการมีกลไกทางกฎหมายในการคัดกรองไม่ให้เด็กเข้าใช้สื่อก่อนวัยที่เหมาะสม และมีมาตรการเข้มงวดต่อผู้ที่เผยแพร่ภาพในลักษณะการประจานเด็กให้อับอาย เพื่อให้สังคมออนไลน์นั้นปลอดภัยต่อเยาวชนมากขึ้น
ผศ.มรรยาท ทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากกลไกข้างต้นแล้ว สื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจใหม่ให้สังคมระแวดระวังในการแพร่ภาพเด็กให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ภาพเด็กในการรายงานข่าวต้องรัดกุมไม่ให้รุกล้ำความเป็นส่วนตัว และต้องหยุดการเผยแพร่คลิปของเด็กซ้ำ
ทุกวันนี้ภาพเด็กถูกเห็นเป็นวงกว้าง เพราะส่วนหนึ่งสื่อเองก็หยิบมาเผยแพร่ต่อ ในทางกลับกัน สื่อควรมีหน้าที่ในการเป็นพื้นที่ในการรับฟังเสียงของเด็ก โดยที่ผ่านมาสังคมไทยฟังเสียงของเยาวชนน้อยเกินไป สังคมควรจะได้รับรู้ว่าเด็กเขาคิดอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้มองเห็นจิตใจเด็กมากขึ้น
และไม่ใช่แค่ปัญหาแชร์ภาพเด็กผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จนอาจทำให้พฤติกรรมเด็ก ๆ ที่ปรากฎผ่นคลิปในโซเซียลกลายเป็น Digital Footprint ผลิตซ้ำ ติดเป็นภาพประวัติอยู่ในสื่อไปตลอดเท่านั้น
ยังมีอีกภัยเงียบใครก็คาดไม่ถึง เมื่อที่สิ่งนี้อาจเลยเถิดไปสู่การกระตุ้นอาการของ ‘โรคใคร่เด็ก’ (Pedophilic Disorder) ซึ่งไม่ใช่รสนิยมทางเพศ แต่เป็นอาการทางจิตที่ไม่สามารถมีความรู้สึกทางเพศกับคนในวัยเจริญพันธุ์เหมือนกันได้ แต่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ นี่ถือเป็นอาชญากรรม ที่แอบแฝงอยู่ในสังคมไทย ไม่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก
ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นตามมาเพียงแค่ปลายนิ้วของผู้ใหญ่กดบันทึกภาพ คงเป็นบทสะท้อนอย่างดีแล้วว่าจากนี้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และ ครู จำเป็นต้องคอยปกป้อง เป็นเกราะคอยสร้างภูมิคุ้มกันด้านสิทธิ และการใช้ชีวิตให้กับเด็ก ๆ มากแค่ไหน
จะดีกว่าไหม ? ถ้าผู้ใหญ่ช่วยดูแลเขาให้เติบโตไปสู่อนาคตที่มีคุณค่า มากกว่าการสร้างภาพจำที่พวกเขาอาจไม่อยากเห็นมันอีกก็ได้เมื่อโตขึ้น