‘สูงวัย’ เครียด-อารมณ์ร้าย! คนใกล้ตัวชะลอได้ ก่อนเสี่ยงป่วย ‘สมองเสื่อม’

การก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” กลายเป็นสภาวะทางประชากรที่เราได้ยินคำ ๆ นี้มาอย่างน้อย 3-4 ปีมาแล้ว ด้วยสถานการณ์เด็กเกิดน้อย สวนทางกับประชากรคนไทยที่เข้าสู่ช่วงสูงวัย ล้านกว่าคนต่อปี

คำถามที่ตามมาคือ เราได้เตรียมการรับมือกับการดูแลผู้อาวุโสในครอบครัว หรือคนที่เรารักดีพอแล้วหรือไม่ ? เพราะสิ่งที่ต้องยอมรับคือ การดูแลสุขภาพอนามัย ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อ “ภาวะสมองเสื่อม” ภัยเงียบที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นภาวะที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลีกหนีไม่พ้นถ้าไม่ได้เตรียมการรับมือ และป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ

ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2558 พบ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม 47.47 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 75 ล้านคน ในปี 2573 สำหรับภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในประเทศไทย พบเฉลี่ยร้อยละ 2 ถึง 10 โดยข้อมูลในปี 2563 พบทั่วประเทศ มีจำนวนผู้สูงอายุ ทั้งสิ้น 11,627,130 คน คิดเป็นร้อยละ 17.57 ของประชากร คาดว่า อาจมีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในไทยมากถึงกว่า 1 ล้านคน

เมื่อ สมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมองเกิดการสูญเสียหน้าที่การทำงานหลาย ๆ ด้านพร้อมกันอย่างช้า ๆ กระทบไปตั้งแต่ ความจำ การรู้คิด การตัดสินใจ จนเริ่มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเกิดปัญหาด้านพฤติกรรม และอารมณ์ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว กระสับกระส่าย หวาดระแวง

อารมณ์รุนแรง ความรู้สึกนึกคิด ขาดการยับยั้งชั่งใจ กลายเป็นผลสืบเนื่องที่แสดงออกผ่านพฤติกรรมของผู้สูงอายุ สิ่งนี้อาจกำลังบ่งบอกคนใกล้ชิด คนรอบข้าง ถึงภาวะความเสี่ยงอยู่หรือไม่ ?

แล้วตัวผู้สูงอายุ หรือคนในครอบครัว คนใกล้ชิด จะมีวิธีการรับมือ ป้องกัน ภาวะสมองเสื่อมได้แค่ไหน ?

The Active ชวนหาคำตอบกับ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยให้คำอธิบายว่า พฤติกรรมของผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องมีภาวะสมองเสื่อมเสมอไป แต่ในวัยที่อายุมากขึ้น ต้องเผชิญอยู่กับการปรับตัวแทบทุกมิติ และการปรับตัวที่เข้ามาอาจค่อย ๆ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาวะทางจิตทีละน้อย

ภัยเงียบ ‘ภาวะสมองเสื่อม’

ยกตัวอย่าง คนวัยเกษียณ ยิ่งเป็นข้าราชการระดับสูง ผู้มีอำนาจ จากเดิมที่เคยมีลูกน้อง มีคนห้อมล้อม มีคนคอยนับหน้าถือตา เมื่อต้องเกษียณออกมาอยู่บ้านเฉย ๆ สำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองถูกลดทอนลงไป ไม่มีลูกน้อง ไม่มีอำนาจเหมือนเดิม จากที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของครอบครัว ของลูกหลาน กลายมาเป็นคนสูงวัยที่ต้องให้ลูกหลานมาดูแล ถ้าคนวัยเกษียณปรับตัวกับช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้ อาจทำให้คน ๆ นั้นเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้เลย

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ยังอธิบายถึงระดับความเสี่ยงของพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงภาวะสมองเสื่อม โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีปัญหาการปรับตัว และยอมรับในคุณค่าของตัวเองที่อาจถูกลดบทบาทไม่ได้ ผลที่ตามมาคือ ความเครียด พอเครียดก็เชื่อมโยงไปสู่อารมณ์ ความรู้สึก แค่ความเครียดถือเป็น ระดับแรก ที่สมองยังปกติ เพียงแต่มีภาวะทางอารมณ์ร่วมด้วย

ใน ระดับที่สอง คือ ภาวะที่เริ่มกระทบต่อความจำ เริ่มหลงลืม การควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ก็จะทำได้ไม่ดีตามไปด้วย หนักที่สุด คือระดับที่สาม เมื่อมีพฤติกรรมที่แสดงออกชัดเจนว่าไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น หลงลืม ดูแลตัวเองไม่ได้ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ในที่สาธารณะ

“สมองเสื่อมไม่ได้มีผลในเรื่องความจำอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความคิดและอารมณ์ด้วย เช่น การใช้เหตุผลได้น้อยลง เริ่มควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นของ ภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้น แต่ยังไม่ถึงกับสมองเสื่อมจริง ๆ ระหว่างที่ยังไม่เป็นโรคสมองเสื่อม จะมีช่วงเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า Pre – Dementia จะมีอาการ เช่น ขี้หลงขี้ลืม แต่ไม่มีพฤติกรรมขั้นรุนแรงที่รบกวนต่อการดูแลชีวิตตัวเอง แต่พอเข้ามาสู่ภาวะสมองเสื่อมจริง หรือ Dementia ก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เริ่มมีปัญหา ไม่สามารถที่จะดูแลการอยู่การกินของตัวเอง ดูแลกิจวัตร สุขลักษณะของตัวเองได้ นั้นก็จะกลายเป็นโรคสมองเสื่อม เป็นอาการป่วย” 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

นพ.ยงยุทธ บอกด้วยว่า สมอง ไม่ได้เสื่อมกะทันหัน แต่เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปนี้ จะเริ่มมีอาการทั้งเรื่องความจำที่แย่ลง การควบคุมอารมณ์แย่ลง ก็เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ ขณะเดียวกันอายุที่มากขึ้นของคนจะเกิดขึ้นพร้อมกับความเสื่อมของสมองด้วย ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไร การเสื่อมของสมองก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น คนอายุ 60-70 ปี ก็จะเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม อายุยิ่งมากขึ้นภาวะสมองเสื่อมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ภาวะสมองเสื่อม…ป้องกันได้ 

ทำอย่างไร ? จึงจะช่วยป้องกัน ชะลอภาวะสมองเสื่อม นพ.ยงยุทธ อธิบายว่า ผู้สูงอายุจะต้องดูแลตัวเองให้ดี ทั้งเรื่องการกินอาหาร การเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย เพราะถ้าไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะทำให้สมองยิ่งเสื่อมเร็ว รวมทั้งการบริหารจิตใจ ลดความเครียด นี่ก็คือเหตุที่คนสูงอายุจะต้องฝึกจิต นั่งสมาธิ ฝึกสติ จะเป็นตัวช่วยทำให้การเสื่อมของสมองลดความรุนแรงลง

“คนทุกคนมีปัญหาการปรับตัว การเรียนรู้ที่มีชีวิตที่ดี สุขภาพจิตดี ทำไมผู้สูงอายุต้องเรียนรู้ธรรมะ เพื่อจะได้อยู่กับการปรับตัวได้ดี ฝึกสมาธิ ฝึกสติ ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ส่วนสำคัญคือจิตใจต้องควบคุมความเครียด ยิ่งเรามีความเครียดมาก ความเสื่อมของสมองก็จะเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิ ฝึกสติ ปล่อยวาง ก็จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้สมองเสื่อมน้อยลง พร้อมทั้งต้องรักษาการเคลื่อนไหวไว้ให้กระฉับกระเฉง ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก แต่แค่มีการเดินเหิน มีการยืดเหยียด กินอาหารที่มีกากใยมีโปรตีนพอสมควร ลดแป้ง ลดหวานให้น้อย” 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

ปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงซึมเศร้า 

การที่คนเราต้องปรับตัวในช่วงสูงวัย ถ้าปรับตัวได้ไม่ดี ก็อาจจะแสดงออกมาในเรื่องของอารมณ์ และพฤติกรรม เพราะฉะนั้นลูกหลานมักจะบ่นว่า ทำไม ? ผู้สูงอายุบางคนขี้น้อยใจ หรือ ทำไมผู้สูงอายุถึงชอบพูดแต่เรื่องความหลัง พูดถึงบุญคุณที่มีต่อลูกหลาน สิ่งนี้เป็นอาการของผู้สูงอายุ ที่จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ได้ เพราะว่าถ้าปรับตัวไม่ได้ ความเครียดเหล่านี้ก็จะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้สูงอายุ 

นพ.ยงยุทธ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เพราะในภาวะที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ในภาวะที่มีความเครียดเรื้อรัง ภาวะความเสื่อมของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หดหู่ ผิดหวัง นาน ๆ เข้าจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ คุณหมอ ย้ำว่า

“การจัดการอารมณ์และความเครียดเป็นเรื่องสำคัญ” 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

สร้าง ‘คุณค่า’ แก่ผู้สูงวัย 

สำหรับแนวทางการรับมือการดูแลผู้สูงอายุเพื่อชะลอความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมนั้น นพ.ยงยุทธ เน้นย้ำว่า ต้องพยายามทำให้ผู้สูงอายุมีคุณค่า โดยการที่จะมีคุณค่าได้ มีคุณค่าได้หลายอย่าง เช่น

  1. สร้างคุณค่าโดยการประกอบอาชีพ ยังให้คำปรึกษาได้ ยังทำงานได้ ยืดอายุการทำงานให้มากที่สุด ไปพร้อม ๆ กับดูแลสุขภาพให้ดี ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ก็ยังอนุญาตให้ผู้สูงอายุทำงาน หากยังสุขภาพดี

  2. สร้างคุณค่าทางสังคม เช่น เป็นผู้นำชุมชนเป็น ผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกหลาน สังคมไทยผู้สูงอายุมักเป็นผู้ดูแลหลาน ก็ถือว่าช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังมีคุณค่าอยู่ 

“คุณค่าเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือสังคมจะช่วยทำให้เป็นการสูงวัยที่มีคุณค่า เราก็ไม่ควรจะต้องกังวลในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นปัญหาและความท้าทายที่แท้จริงก็คือทำอย่างไร ให้สังคมผู้สูงอายุเป็นสังคมสูงอายุอย่างมีคุณค่า“ 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS