กิน “รามยอน” กันไหม?

เคยสังเกตไหม? ทำไมซีรีส์มีซีนซู๊ดรามยอนอยู่บ่อย ๆ

ท่ามกลางกระแส K-wave “รามยอน” กลายเป็นหนึ่งเมนูที่หลายคนต้องคิดถึงหลังจากดูซีรีส์ รวมถึงภาพการกินรามยอนของไอดอลชื่อดัง ที่มักปรากฏให้เห็นผ่านรายการวาไรตี้และเรียลลิตี้โชว์ เหล่านี้มีส่วนผลักดันให้ “รามยอน” กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แม้รามยอนจะเป็นอาหารธรรมดาของชาวเกาหลีใต้ เหมาะสำหรับกินในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากทำง่าย ไม่ยุ่งยาก สามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Soft Power ของเกาหลีใต้ ทำให้“รามยอน”กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

World Instant Noodles Association รายงานการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 121,200 ล้านหน่วยการบริโภค หรือเพิ่มขึ้น 2.6% นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเกาหลีใต้ทำลายสถิติส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือ “รามยอน” (라면) มีมูลค่าพุ่งถึง 1 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 27,242 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2566 นี้

The Active ชวนมองความสำเร็จของ “รามยอน” ที่เกาหลีใต้ส่งออกเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม แต่ทำไม “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ในภาพลักษณ์คนไทยกลับกลายเป็นอาหารคนจน กับ พรพรรณ จันทร์นุ่ม สาขาวิชาภาษาเกาหลีเชิงธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พรพรรณ จันทร์นุ่ม สาขาวิชาภาษาเกาหลีเชิงธุรกิจ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Instant noodles จุดเริ่มต้นสู่ภาพลักษณ์ที่ต่างกัน

ย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์ของรามยอน ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับจีน ญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าเกาหลี อย่างจีนเราทราบว่าก๋วยเตี๋ยวเริ่มจากที่จีน ทางฝั่งญี่ปุ่นย้อนกลับไปสมัยหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะที่เป็นประเทศผู้แพ้ สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือโดยให้แป้งสาลี ทางญี่ปุ่นมองว่าแป้งสาลีน่าจะทำรายได้อะไรสักอย่าง มีบุคคลที่ชื่อว่า อันโด โมโมฟุกุ  อยากจะทำธุรกิจก๋วยเตี๋ยวที่ผลิตได้ในปริมาณเยอะ ๆ และทำให้ก๋วยเตี๋ยวมีรสชาติเหมือนเดิมแม้จะเก็บไว้นาน เขาใช้เวลากว่า 10 ปี ในการคิดค้น สุดท้ายไม่เป็นไปตามที่คิดถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว สุดท้ายเขาอยากจะลาตายจึงไปดื่มเหล้าในร้านเต็นท์ เห็นพ่อค้าในร้านเอาตัวปลาเส้นไปคลุกกับแป้งสาลีลงทอดในน้ำมัน เลยฉุกคิดได้ว่าถ้าเอาบะหมี่สดไปคลุกแป้งสาลีไปทอด แล้วหากเอามาราดน้ำร้อนก็จะคืนสภาพก็น่าจะเป็นไปได้ เลยเกิด instant ramen ขึ้นมาครั้งแรกในปี 1958

ทางฝั่งของเกาหลีใต้หลังจากได้รับเอกราชจากญี่ปุ่น ข้าวเป็นสินค้าราคาแพง มีอัตราเงินเฟ้อ คนว่างงาน สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือโดยส่งแป้งสาลีมาให้เกาหลีใต้เช่นกัน ในช่วงปี 1957 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้แหล่งสนับสนุนข้าวสาลีราคาถูกจากสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายมหาชนของสหรัฐฯ เป็นโครงการอาหารเพื่อสันติภาพนำไปสู่การดำเนินนโยบายอาหารผสมและแป้ง รัฐบาลเกาหลีใต้จึงหาวิธีที่จะกระตุ้นให้คนบริโภคแป้งสาลีให้มากขึ้น ลดการกินข้าว รัฐบาลจึงให้บริษัทซัมยัง (Samyang Food บริษัทผู้ผลิตอาหารที่มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้) เข้ามาคิดค้นให้สอดคล้องกับนโนบายกระตุ้นการบริโภคแป้งสาลี เป็นจุดเริ่มต้นของรามยอนในปี1963

ช่วงเริ่มต้นอาหารที่เป็น instant ramyeon 1 ซอง มีมูลค่า 10 วอน (30 สตางค์) แต่หากเทียบกับเซตข้าว ที่มีซุป ข้าว อยู่ที่ 30 วอน แต่คนเกาหลีก็ยังไม่คุ้นชิน ไม่ซื้อไอเดียนี้เพราะว่าข้าวคืออาหารหลัก อีกทั้งเรื่องรสชาติที่ไม่ถูกปาก จากนั้นในปี1970  ได้ถูกกระตุ้นอีกครั้ง เป็นช่วงที่ 2 ตามนโยบายของพัคจองฮี ในการกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจ ย้ายอุตสาหกรรมจากนำเข้าเป็นส่งออก เป้าหมายคืออุตสาหกรรมหนัก จึงไม่อยากทุ่มงบประมาณไปกับการผลิตข้าว เลยนำนโนบายที่สนับสนุนให้คนบริโภคข้าวสาลีกลับมาอีกครั้ง สนับสนุนให้ผู้คนบริโภคก๋วยเตี๋ยว ผลิตภัณฑ์ที่มาจากแป้งมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากพุนชิกเซ็นเตอร์ (ศุนย์อาหารที่ขายอาหารที่ทำจากแป้ง) หรือไปอยู่ในจุดพักรถ รวมไปจนถึงการเติบโตของร้านอาหารจีน เพราะร้านอาหารจีนมีเมนูที่ทำจากแป้งสาลี

จะเห็นได้ว่า “รามยอน” เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเกาหลีมาเรื่อย ๆ จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากการทำอาหารราคาถูกเพื่อให้คนบริโภค เพราะยังมีอาหารอีกมากที่ทดแทนข้าวในราคาที่ใกล้เคียงกับรามยอน ถ้าพูดถึงปัจจุบันรามยอนอยู่ที่ 900 วอน แต่ก็มีหลายเมนูที่ราคาใกล้เคียงกันแต่ก็อิ่มเหมือนกัน เช่น คิมบับ ขนมปัง ซึ่งหากเปรียบเทียบรายได้ต่อวัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยก็ใช่ว่าจะถูกหากเปรียบเทียบรายได้ต่อชั่วโมง

“ข้อมูลรายได้เกาหลีใต้จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2567 อีก 2.5% เป็น 9,860 วอน หรือประมาณ 264.40 บาทต่อชั่วโมง หากทำงาน 1 ชม. ซื้อรามยอนได้ 10 ห่อ (รามยอนเฉลี่ยห่อละ 900 วอน) แต่สำหรับที่ไทยค่าแรงวันละ 350 บาท  หารเฉลี่ย 8 ชม. อยู่ที่ชม.ละ 45 บาท ตอนนี้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ห่อละประมาณ 7-8 บาท ซื้อได้อยู่ที่ 5-6 ห่อ แต่ว่า portion ที่บริโภคน่าจะไม่อิ่ม อาจจะต้องบริโภค 2-3 ห่อ ถ้ามองว่าราคาถูกไหม? ก็ถือว่าถูกสุดในบรรดาตัวเลือก เพราะถ้าเรากำเงิน 8 บาท ไปซื้อหมูปิ้งยังไม่ได้เลย แต่ถ้ามองตัวเลือกในคนที่มีรายได้น้อยให้พอได้อิ่มก็ยังคงมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง”

Street Food ไทย ทำอย่างไรให้ไปไกลกว่านี้

การจะไปได้ไกลต้องมองเรื่องของนโยบาย ถ้าเรามองแล้วเปรียบเทียบโมเดลของเกาหลีใต้ ก่อนจะมาถึงทุกวันนี้ มีเรื่องราวมานานตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี 4-5 คนก่อน ถ้าจะมองว่าทำอย่างไรให้ดังกว่านี้ จริง ๆ อาหารไทยดังและทำหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่รูปแบบการแพร่หลายของอาหารไทยค่อนไปทางธรรมชาติ คืออาจจะเป็นอาหารแนะนำใน guide book คนมาเที่ยว ได้ลองชิมแล้วชอบมีการบอกต่อ จึงเป็นคนละรูปแบบกับการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมการกินของเกาหลีใต้

ในปัจจุบันคนใช้ Social media กันมากขึ้น สื่อไปได้ไกล เข้าถึงได้เยอะ มีอิทธิพลแข็งแกร่งกว่า มีองค์ประกอบที่มีพลังสูง ซึ่งกว่าจะมาเป็นเรื่องราวอาหารก็ผ่านมาหลายอย่าง ซีรีส์ K-Pop เขามี sources of power หลายอย่างมาทำ Marketing ให้กับอาหาร จึงเป็นคนละเส้นทางกับประเทศไทย ยกตัวอย่าง เรื่อง King the land ที่นำร้านก๋วยจั๊บญวนไปอยู่ในฉาก คนมาบริโภคมากขึ้น  หรือร้านเจ๊ไฝ คนเกาหลีรู้จักดี มีหลายคนเห็นร้านเจ๊ไฝจาก Netflix street food in Asia เหล่านี้มีอิทธิพลมาก ซึ่งเราสามารถใช้ช่องทางเดียวกันในการโปรโมทอาหารไทยได้

ข้อจำกัด กันซีน !

ในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Netflix เราจะเห็นว่ามี documentary series ที่เกี่ยวกับอาหารมากมาย อย่าง Paik’s Spirit ที่ Focus เรื่อง แอลกอฮอล์ จุดเด่นคือการดึงเรื่องราวการพูดคุยกับคนที่มีชื่อเสียง ทำให้รับรู้วัฒนธรรมการดื่มของเกาหลีใต้ที่เห็นอะไรมากกว่าแค่การดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การดื่มกับเพื่อนร่วมงาน ดื่มในพิธี  ดื่มกับครอบครัว เป็นสื่อที่จะทำลายกำแพงบางอย่าง หัวข้อการสนทนา มีตั้งแต่เรื่องราวที่ประสบความสำเร็จ ความล้มเหลว อุปสรรคในชีวิต

อย่าง EP1 พูดถึงประวัติศาสตร์ของโซจู การเป็นที่นิยม Jay Park ได้สอบถามแบคจงวอนว่าทำอย่างไรที่คนทั่วโลกจะรู้จักโซจูมากขึ้น ศิลปินหลายคนมีแอลกอฮอล์ที่เป็นยี่ห้อของตัวเอง มีการแทรกเรื่องราว แต่ว่าเกาหลีใต้ก็มีความพยายามในการควบคุม เพราะทราบดีว่าแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อสุขภาพ มีผลต่ออัตราการเกิดอุบัติเหตุ แต่การควบคุมกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงไปเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายเมาแล้วขับ หรือ กฎหมายมินซิก

กฎหมายนี้เกิดจากเหตุการณ์ขณะที่เด็กชาย”คิม มินชิก” (Kim Minsik )อายุ 9 ปี กำลังเดินข้ามทางม้าลายบริเวณด้านหน้าโรงเรียน จากนั้นได้ถูกรถที่กำลังขับผ่านชนเข้า จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาชนจึงเกิดกระแสสังคม ที่เรียกร้องให้ตระหนักถึงความปลอดภัยของเด็กมากขึ้น กำหนดว่า หากมีเด็กเสียชีวิต ผู้กระทำผิดต้องถูกคุมขังมากกว่า 3 ปีขึ้นไป หากเด็กได้รับบาดเจ็บ ผู้กระทำผิดต้องถูกคุมขังเป็นเวลา 1 ถึง 15 ปีและต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านวอน ถึง 30 ล้านวอน (140,000 – 800,000 บาท)

กลับมามองเรื่องแอลกอฮอล์ที่ฝั่งไทย จริง ๆ มีความเกี่ยวเนื่องกับทางด้านศาสนา เพราะเป็น 1 ในศีลข้อ 5 ที่คนต้องปฏิบัติตามครรลอง จึงต้องควบคุม เซ็นเซอร์ไม่ให้เกิดการโฆษณาชักจูงให้ซื้อหรือดื่ม กลายเป็นข้อจำกัดแต่ไม่ได้มีการหาทางออกใด ๆ เพิ่มเติม

ดัน หมูกระทะเป็น Soft Power หมูกระทะต้นตำหรับมาจากไหน?

เวลาคุยเรื่องหมูกระทะขอแยกเป็นประเทศ ๆ ก่อน ถ้ามองในฝั่งของไทย ถ้าลองหาข้อมูล จะเจอข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ยากมาก ซึ่งข้อมูลจากช่วงรอยต่อการรับอิทธิพลจนกลายมาเป็นที่นิยม เรื่องราวที่อยู่ในออนไลน์ก็จะพูดถึงย้อนกลับไปสมัยสงครามมองโกล คนมองโกลหิวโหยต้องการพลังงานเพื่อใช้ในการทำสงคราม มีที่มาจากตอนนั้น จึงใช้หมวกเหล็กทหารมาย่าง หรือมีการโยงกับการเกิดอาหารประเภทนี้กับประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 1968 ในฮอกไกโด ลักษณะเตาที่ใช้เป็นโดม ส่วนของไทยก็มีการพูดว่ามีการเข้ามาตอน พ.ศ.2500 มีร้านหมูเกาหลี หรือเนื้อเกาหลี ยุคแรกๆที่อยู่ทางภาคอีสาน เป็นเรื่องราวที่เราอ่านเจอแล้วมันถูกค้นเจอซ้ำ ๆ ในหลายแพลตฟอร์ม

ส่วนตัวได้ข้อมูลมาจากอาจารย์ประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง โดยเป็นข้อมูลจากนิตยสาร “คู่มือแม่บ้าน” ที่จัดทำโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในปี 2511 จะมีคอลัมน์ที่เล่าถึงคนหนึ่งไปเยี่ยมบ้านเพื่อนที่ชื่อมาลินี คุณมาลินีได้เลี้ยงอาหารชื่อ”เนื้อเกาหลี” โดยอธิบายว่าเนื้อเกาหลี ตัวเนื้อต้องหมักด้วยงาขาวคั่ว กระเทียมสับ น้ำมันหมู น้ำมันงา พริกไทยป่น ต้นหอม ซึ่งหากมองส่วนประกอบก็คล้ายๆกับหมูย่างเกาหลีในปัจจุบัน แล้วก็มีใช้เหล้าด้วย วิธีการทำก็คือ คีบย่างบนเตา มีเตรียมน้ำกระดูกหมู อธิบายไปถึงกระทะ ที่เป็นโลหะ มีช่องเป็นรู ๆ จินตนาการคล้ายกับปัจจุบัน แล้วตอนท้ายเล่าว่า ไปรู้มาได้อย่างไร “เนื้อเกาหลี” เคยไปประเทศเกาหลีหรอ? มาลินีบอกว่าเปล่า แต่ว่าสามีเคยไปเป็นทหารอยู่ที่เกาหลี นี่อาจเป็นข้อมูลหนึ่งในการรับวัฒนธรรมเกาหลีผ่านช่วงสงครามมา แต่หลักฐานที่อ้างอิงได้อาจต้องหาเพิ่มเติมต่อ..

อะไร ๆ ก็ Soft Power

หากมองเรื่อง Soft Power แล้วเราหยิบ Product ใด Product หนึ่งมาแล้วบอกว่าจะทำให้เป็น Soft Power ก็ไม่แน่ใจว่าจะตรง concept Soft Power จริง ๆ ไหม?

“จริง ๆ แล้ว Soft Power คือการทำให้คนอยากได้อยากมีในสิ่งที่เราต้องการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เรามาบอกว่าเราจะเลือกเมนูนี้ ให้เป็น Soft Power ก็ดูจะเป็นการขายตรงเกินไป ซึ่งคนละเรื่องกับ Soft Power”

หากพูดถึง Soft Power อยากให้ดูโมเดลของเกาหลีใต้เช่นกัน เแต่ก็ไม่ได้บอกว่าโมเดลของเกาหลีใต้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกประเทศได้สำเร็จ ซึ่งหากศึกษาแบบพัฒนาแบบชุมชนของเกาหลี ที่เรียกว่า แซมาอึลอุนดง (Saemaul Undong) ที่ประสบความสำเร็จในยุค 70-80 มีการนำโมเดลนี้ไปใช้ในเนปาล แทนซาเนีย แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ มาถึงปัจจุบันก็ถือว่าเป็น Lesson learned มีโมเดลมาศึกษาแล้วก็ประยุกต์ไป ถ้าถามว่าทำได้ไหม ก็คงตอบว่าเป็นไปได้ เพราะอาหารไทยมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เป็นที่รู้จัก แต่ต้องไปดูรายละเอียดข้างใน

ตอนนี้รัฐบาลอาจจะยังไม่ได้บอกแผนพัฒนา หรือรายละเอียดนโยบาย อาจจะต้องมาเซ็ตนโยบายด้วยกัน ให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่การจะเป็น Soft Power รัฐบาลไม่ใช่ผู้ควบคุมแล้วสั่งให้ทำ รัฐบาลต้องเป็นผู้สนับสนุน โดยหาองค์ประกอบ นี่เป็นเรื่องของแผนกลยุทธ์ ดึงเอกชนมาร่วมหารือกับรัฐ ว่าจะสร้างแหล่งของ Soft Power ได้อย่างไร ถ้ามีแหล่งจะขายมากกว่าอาหารก็ยังได้ มา discuss กันว่าอะไรเป็นข้อจำกัด ตัดหรือลดข้อจำกัดนั้นร่วมกัน พอเราตั้งเป้าหมายด้วยกันก็เข้าสู่การปรับกฎระเบียบ เช่น เรื่องการกลั่นสุราพื้นบ้านของไทย ถ้าเราอยากจะดึงมาให้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่เราจะผลักดันไปพร้อมกัน เราอาจจะต้องไปดูว่ามีกฎหมายอะไรที่สามารถไปลดอุปสรรคได้บ้าง

โมเดลของเกาหลีก็เป็นลักษณะเช่นนี้ เริ่มจากรัฐ คุย เซตนโยบาย แล้วมาปรับกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด หรืออาจจะเป็นเรื่องของการเซ็นเซอร์ ต้องมีการคุยว่าจะมีการลดได้อย่างไร มาคุยเรื่องกฎระเบียบ รวมไปถึงการสนับสนุนการระดมทุนจากเอกชน ควรให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนกับงบประมาณ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น Creative industry เพื่อสร้าง sources of power ให้มีมากขึ้น หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องผลักดันให้ไปสู่เวทีโลก พอเรามี Celebrity เราก็ใช้ Celebrity power มาทำ Marketing

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเรื่องความต่อเนื่องของแผน ที่เกาหลีใต้ มีกรณีศึกษาการพูดถึงรายได้ของ Jurassic Park ที่เอามาเปรียบเทียบการส่งออกของรถฮุนได 1.5 ล้านคัน เขาพูดไปตั้งแต่สมัยคิมยองซัง กว่าจะเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนผ่านสมัย คิมแดจุง โนมูฮยอน อีมยองบัก พัคกึนฮเย จนมาถึงปัจจุบัน ฉะนั้น เป็นความต่อเนื่องที่ทุกรัฐบาลจะต้องมีความต่อเนื่องและสนับสนุน แน่นอนและมั่นใจว่าเป็นไปได้ เพราะผลิตภัณฑ์ของเรามีอยู่ แต่อยู่ในส่วนของกระบวนการต่อไปเท่านั้น

ล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ผลิต ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารไทย ใช้โมเดลความสำเร็จของ “รามยอน” ผลพวงจากความพยายามในการเชื่อมโยงสินค้าเข้ากับวัฒนธรรมเกาหลี ภาพยนตร์ และศิลปินเ คป็อป ประเทศไทยอาจจะส่งเสริมการตลาดโดยการเชื่อมโยงกับ Soft Power ของไทยที่น่าสนใจ อย่างล่าสุดกระแส “Collaboration เจ๊ไฝ” เปิดตัวรามยอนรสต้มยำกุ้งเพื่อทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มมากขึ้น หรือนี่จะเป็นอีกหนึ่งหนทาง Soft Power อาหารไทยได้บ้าง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"