การแพทย์ปฐมภูมิ อุ้มสังคมสูงวัยเมืองกรุง

เมื่อวิกฤต “อาสาสมัครสาธารณสุข” ในเมืองขาดแคลน?

  • ปี 2565 ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ว่าไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยสมบูรณ์” ที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด
  • ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่ได้รับการดูแลจากรัฐและระบบสาธารณสุขก่อนใคร กลุ่มผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนความจำเป็นของ “ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ” หรือ Primary care ได้ดีที่สุด
  • กรุงเทพมหานคร มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับจำนวน อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. ในชุมชน กลับมีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในต่างจังหวัด แต่นักวิชาการด้านสาธารณสุขก็มองว่ากลไกอาสาสมัครเหล่านี้ อาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะช่วยทำให้ระบบการแพทย์ปฐมภูมิสมบูรณ์ แต่ยังมีระบบเครือข่ายสาธารสุขอื่น ๆ ที่จะร่วมโอบอุ้มสังคมสูงวัยไปพร้อม ๆ กันได้

เกือบ 3 ปี ของการเผชิญโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด เพราะ “ระบบสาธารณสุข” ยังต้องเผชิญวิกฤตที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องจาก “สังคมสูงวัย” ที่หมายถึงประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในหนทางรับมือ คือ การสร้างระบบ “การแพทย์ปฐมภูมิ” ให้เข้มแข็งเพื่อช่วยโอบอุ้มกลุ่มผู้สูงอายุไม่ให้โดดเดี่ยว

อันที่จริง ระบบสาธารณสุข และผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เห็นได้จากกรณีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการจัดสรรให้ได้ฉีดวัคซีนก่อน รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อที่จะลดความรุนแรงของโรค เพราะหนึ่งในปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุคือ “ปัญหาสุขภาพ”​ นั่นเอง 

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วเมื่อปี 2564 โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 18% ของจำนวนประชากร และเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2565 นี้ คือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุไปแตะ 20% ของจำนวนประชากร

สภาพภายในโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัดเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่มารอพบแพทย์ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาแบบ Long Term Care (ระบบการดูแลระยะยาว หรือการดูแลรักษาแบบประคับประคอง/ระยะท้าย) มีมากขึ้นจนแออัด

อย่างที่ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในกรุงเทพฯ นพ.ภูริทัต แสงพานิชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บอกว่าจำเป็นต้องขยายเตียงผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่ม ซึ่งเห็นด้วยว่าการแพทย์ปฐมภูมิจะมาแก้ปัญหาคอขวดในระบบสาธารณสุข 

สังคมสูงวัย

การแพทย์ปฐมภูมิคืออะไร? 

หลัง กทม. มีนโยบายยกระดับเส้นเลือดฝอยระบบสาธารณสุข ทำให้เราได้ยินคำว่า “การแพทย์ปฐมภูมิ” บ่อยขึ้น ซึ่งหมายถึงการยกระดับหรือฟื้นหน่วยการแพทย์ปฐมภูมิกลับคืนมา 

ต้องเข้าใจก่อนว่า การแพทย์ปฐมภูมิไม่ใช่การรักษาโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพไปพร้อมกัน หากรักษาหรือไปต่อไม่ไหว จึงจะเข้าสู่ระบบการส่งต่อแบบทันที การแพทย์ปฐมภูมิก็จะไม่ต่างอะไรกับการมีหมออยู่ใกล้ตัวใกล้บ้าน 

สังคมสูงวัย

ชุมชนศิริเกษม 50 เขตบางแค เป็นชุมชนตัวอย่างของการสร้างการแพทย์ปฐมภูมิเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เราได้พบกับ ลุงสง่า รวมพล ผู้ป่วยติดเตียง อดีตทหารผ่านศึกในวัย 70 ปี อาศัยอยู่กับภรรยาในวัยใกล้เคียงกันเป็นผู้ดูแล บางวันจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่ได้รับการอบรมเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver เข้ามาเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะเข้ามาสัปดาห์ละครั้ง

แม้เธอจะไม่ได้เป็นพยาบาลวิชาชีพ แต่ในกระเป๋า Care Giver มีเครื่องมือแพทย์เบื้องต้น ที่จะคัดกรองอาการหรือตรวจสอบค้นหาความผิดปกติ เช่น เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ ชุดวัดน้ำตาลในเลือดแบบรู้ผลเร็ว และยังมีแผ่นภาพเพื่อทดสอบความจำของผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์ด้วย

วรวรรณ ทับกระจ่าย อสส.ชุมชนศิริเกษม เขตทวีวัฒนา บอกว่า อาสาสมัครสาธารณสุข ก็คือคนในชุมชน จะมีข้อมูลแผนที่บ้านที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการติดเตียงเพื่อวางแผนเข้าไปดูแลอย่างตรงจุด 

อสส. ในชุมชนนี้ มีกว่า 10 คน จำนวนนี้มีเพียง 2 คน ที่ได้รับการอบรมให้ให้เป็น Care Giver หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีทักษะพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่กว่า 500 ครัวเรือนในชุมชนศิริเกษม แทบทุกบ้านจะมีผู้สูงอายุ บางซอยมีผู้สูงอายุติดเตียง 2 คน เธอกับเพื่อน อสส. จะแบ่งพื้นที่กับรับผิดชอบเป็นซอย ซึ่งยอมรับว่าอาจดูแลไม่ทั่วถึง เพราะคนไม่พอ  

นอกจากการฟื้นฟูรักษาสุขภาพแล้ว อีกภารกิจสำคัญของการแพทย์ปฐมภูมิ คือการป้องกัน คือทำอย่างไร ไม่ให้ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นผู้สูงอายุติดเตียง หนึ่งในนั้นคือ “กิจกรรมหัดเดิน” ของกลุ่มผู้สูงอายุมีขึ้นทุกสัปดาห์ ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนศิริเกษม ซึ่งพยาบาลวิชาชีพจากศูนย์บริการสาธารณสุข 40 เขตบางแค จะมาวางแผนการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุล้ม

พยาบาลยังต้องอธิบาย “ความรู้ด้านสุขภาพ” โดยเฉพาะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องระมัดระวังการกินเป็นพิเศษ ที่ผ่านมา การกินอาหารหวานมันเค็มเป็นสาเหตุและซ้ำเติมอาการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดัน และไขมัน 

กล่าวโดยสรุป นิยามของการแพทย์ปฐมภูมิ คือ “มีหมออยู่ใกล้ตัว” ในที่นี้หมายรวมถึงการเข้าถึง “หมอ” ที่เป็นวิชาชีพจริง ๆ และหมอที่เป็น “อาสาสมัครสาธารณสุข” ที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงมีจุดอ่อนด้านแพทย์ปฐมภูมิ ด้วยสภาพสังคมที่หลากหลาย และประชากรมาก ขณะเดียวกันจำนวนของอาสาสมัครสาธารณสุขก็มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด 

วิกฤตจำนวน อสส. ในกรุงเทพมหานคร 

สังคมสูงวัย การแพทย์ปฐมภูมิ

เมื่อเปรียบเทียบ จำนวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในต่างจังหวัดมีถึง 1.04 ล้านคน ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุข 15,000 คน เพื่อให้เห็นความต่างในระดับพื้นที่ หากเปรียบเทียบ จ.นครราชสีมา กับ กรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรใกล้เคียงกัน คือ 5 และ 6 ล้านคน แต่ จ.นครราชสีมา มี อสม. 55,000 คน ส่วนกรุงเทพฯ มี อสส. เพียง 15,000 คน ยังไม่นับว่าตัวเลขประชากร 6 ล้านคนในกรุงเทพฯ นี้ ไม่รวมประชากรแฝง นี่จึงเป็นวิกฤตจำนวน อสส. ในกรุงเทพฯ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน 

สังคมสูงวัย
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ 

นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP เสนอว่าอาสาสมัครสาธารณสุขในกรุงเทพฯ อาจไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของเครือข่าย อสส. เสมอไป แต่อาจหาคนรุ่นใหม่จากกลุ่มอาสาสมัครอื่น ๆ รวมถึงมูลนิธิ ผ่านการเขียนโครงการของบประมาณจากกองทุนสุขภาพระดับเขต กทม. จัดการและขยายเครือข่ายเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 

อีกข้อสังเกตหนึ่ง คือ ปัจจุบัน อสส. แต่ละคนได้รับเบี้ยเลี้ยง 1,000 บาทต่อเดือน และได้รับอีก 500 บาทเพิ่มในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เบี้ยเลี้ยงที่ไม่มากจึงไม่สร้างแรงจูงใจมากพอในการดึงอาสาสมัคร ดึงคนเข้ามาทำงาน ขณะที่การให้เบี้ยเลี้ยงที่มากเกินไปก็จะเป็นภาระทางการเงินเช่นกัน

ปัจจุบัน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กองทุนบัตรทอง” มีผู้อยู่ในหลักประกันถึง 47 ล้านคน ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุด ได้รับงบประมาณทะลุ 2 แสนล้านบาท เพราะต้องรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยและการรับมือกับโรคระบาด

สังคมสูงวัย

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่าควรเปลี่ยนเป้าหมายการใช้เงินในกองทุนบัตรทองจากการรักษา เป็นเน้นที่การป้องกันโรค ซึ่งสอดคล้องกับการเสริมสร้างการแพทย์ปฐมภูมิซึ่งจะเป็นทางออกในในการโอบอุ้มสังคมสูงวัย 

แต่การวางระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่เข้าถึงชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีไม่กี่แห่ง และที่ชุมชนศิริเกษม เขตบางแคเป็นหนึ่งในแซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพ กทม.​ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะโอบอุ้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผนการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยถูกพูดถึงมานานแล้ว จนถึงวันนี้…วันที่เราเข้าสู้สังคมสูงวัยกันจริง ๆ จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงแผนการตั้งรับอีกต่อไป แต่สิ่งที่ต้องทำในเวลานี้ คือการวางระบบเพื่อทำงานเชิงรุก เพราะไม่มีเวลาให้เตรียมพร้อมรับมืออีกต่อไปแล้ว


Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์