ภาวะความ ‘ไม่มั่นคง’ และ ‘พร่ามัว’ ของสิทธิเสรีภาพสื่อไทย

ข้อมูลล่าสุดจาก ดัชนีเสรีภาพโลก 2567 (Freedom in the World 2024) ซึ่งจัดทำโดย Freedom House พบว่าเสรีภาพของสื่อไทยมีพัฒนาการดีขึ้น” ขยับจากประเทศไม่เสรี (Not Free) ขึ้นมามีเสรีภาพบางส่วน (Partly Freedom) โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 36 เต็ม 100 จากเดิมที่ได้ 30 คะแนนในปี 2023

โดยคะแนนที่ดีขึ้นมาจาก ​หมวด “สิทธิทางการเมือง” (Political Rights) ที่ครอบคลุมด้าน กระบวนการเลือกตั้ง, การมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนหมวด ​“เสรีภาพของพลเมือง” (Civil Liberties) ครอบคลุมด้าน เสรีภาพในการแสดงออกและความเชื่อ​ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว  

นักข่าว

เนื่องใน วันนักข่าว หรือ วันนักสื่อสารมวลชนแห่งชาติ รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อไทยในปัจจุบันเริ่มจากตั้งคำถามถึงอันดับเสรีภาพที่ดีขึ้น ต้องย้อนไปดูว่าเขาเก็บข้อมูลอะไรบ้าง ใช้ตัวแปรอะไรมาเป็นตัวชี้วัดเสรีภาพ จะดูแค่ผลสรุปที่ออกมาอย่างเดียวไม่ได้

อีกทั้งหากตัดประเด็นเรื่องอันดับเสรีภาพออกไปแล้วมาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจะเห็นว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามามีหลายปรากฏการณ์ที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลชุดนี้มีมุมมองกับคนทำสื่ออย่างไร ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือการจับนักข่าว 2 คน แม้ต่อมาทาง ‘สเปซบาร์’ จะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้บอกให้นักข่าวไปทำข่าวก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นภาพสะท้อนมุมของรัฐบาลต่อคนทำสื่อ แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าไม่รู้เรื่องเป็นเรื่องของตำรวจ แต่เป็นไปไม่ได้ที่เรื่องใหญ่ขนาดนี้จะไม่แจ้งหรือไม่ปรึกษาก่อน ทั้งหมดสะท้อนว่าเรามีเสรีภาพแค่ไหน

การคุกคามทางกฎหมาย เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

อ.วิไลวรรรณ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีการตั้งข้อหาแปลก ๆ อย่างข้อหาสนับสนุนทำลายโบราณสถานฯ ซึ่งในการทำงาน นักข่าวกับแหล่งข่าวต้องทำงานที่อยู่ในเหตุการณ์ร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งทำคนละบทบาทหน้าที่ ถ้าบอกว่าสื่อกำลังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อน เราก็กำลังรายงานอยู่ ดังนั้น พอมาเจอข้อกล่าวหาตั้งข้อหาว่า ‘สนับสนุน’ จึงเป็นสิ่งที่ดูน่ากลัวมาก เพราะนักข่าวอยู่ในภาวะของความเสี่ยงอยู่แล้วจะตั้งข้อหาอะไรก็ได้

“เรามองว่าเป็นการปิดปากสื่ออีกแบบหนึ่ง คือวิธีการแบบนี้ใช้ข้อกฎหมาย ส่วนการตั้งข้อหา ​ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เอกชนทำ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมเจอเยอะมาก ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเรื่องการเมือง ซึ่งนักข่าวกับเรื่องการเมืองเป็นของที่ต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว คนทำสื่อจึงเหมือนอยู่ในภาวะความพร่ามัวของสิทธิเสรีภาพสื่อ อยู่ในภาวะความไม่มั่นคงอย่างมาก”​

ก่อนหน้านี้การข่มขู่คุกคามจะเป็นไปในเชิงกายภาพอย่างการปิดแท่นพิมพ์ซึ่งสมัยนี้ทำไม่ได้​ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่การคุกคามทางกฎหมายคือสิ่งที่น่ากลัว ความรุนแรงทางกฎหมายคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างแบบหนึ่ง ยิ่งคุณใช้กฎหมายเยอะ ยิ่งบีบรัดคุณยิ่งขึ้นมากกว่าเชิงกายภาพ มีใครบ้างไม่กลัวกฎหมาย เป็นการฆ่าเราทั้งเป็น ต่อให้คุณสู้จนถึงสุดท้ายแล้วจะเอาชนะได้ แต่ระหว่างทางมันเกิดความสูญเสียความมั่นใจ หรือตกอยู่ใต้ความกลัว ต่อให้เรากล้าหาญยังไงก็ตาม แต่ก็เป็นปุถุชน

นี่ถือเป็นการเล่นทางไซโคโลจี หรือจิตวิทยาขั้นสูง อีกทั้งไม่เคยคิดว่ารัฐจะมาเล่นในมุมนี้ ​เราจะเห็นว่าที่ผ่านมายุครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่กล้าถึงขนาดนี้ ยุคนี้ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ท้ายสุดกลับเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม 

ระบบรายได้ที่มาจากโฆษณา สู่การเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น

อ.วิไลวรรณ มองว่า อีกปัจจัยคือเรื่องธุรกิจที่เข้ามามีผลต่อการทำงานของสื่อ ซึ่งการเมืองก็เป็นตัวบีบเอกชน เอกชนก็ไม่อยากอยู่ตรงข้ามกับรัฐซึ่งจะส่งผลกระทบกับผลประกอบการ หรือการดำเนินธุรกิจของเขา บ้านเรา ธุรกิจใหญ่ ๆ เชื่อมโยงการเมืองทั้งสิ้น สื่อใหญ่ ๆ ก็ลดบทบาทเล่นการเมืองน้อยลงซึ่งถือเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง เราจะเห็นว่าข่าวการเมืองปีที่แล้วร้อนแรงขนาดไหน แต่กลับพบว่ามีการให้ “เวลา” และ “พื้นที่” รายงานข่าวการเมืองน้อยมาก โดยเลี่ยงไปเล่นข่าวดราม่าที่ไม่เป็นปัญหากับรัฐและยังได้เรทติ้งด้วย

นอกจากนี้ ระบบนิเวศสื่อ ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามา โซเชียลมีเดียเข้ามาทำให้ผู้บริโภคไปอยู่ออนไลน์มากขึ้น คู่แข่งก็ไม่ได้มีแค่คนทำสื่อวิชาชีพ แต่ยังมีทั้งอินฟลูเอนเซอร์ นักวิชาการที่เปิดพื้นที่ของตัวเอง หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่ถือเป็นคู่แข่งที่เข้ามาในระบบนิเวศ พอเป็นแบบนี้รายได้ก็ถูกแบ่ง และด้วยรูปแบบธุรกิจที่เป็นแบบสปอนเซอร์ โฆษณา เมื่อส่วนแบ่งรายได้หายไป การทำข่าวอย่างข่าวสืบสวนสอบสวนที่ต้องใช้พลังงานของทีม ใช้ระยะเวลา ต้องลงทุน จึงทำให้ข่าวแนวนี้มีน้อยลงมาก

“ทุกวันนี้คนทำข่าวต้องมัลติมีเดีย ต้องข้ามแพลตฟอร์ม  ทุกคนก็รับคนรุ่นใหม่เข้ามา ​รับคนที่มีฮาร์ดสกิล ซึ่งเป็นส่วนของการนำเสนอ มากกว่าสกิลของกระบวนการทำข่าว โครงสร้างการทำข่าวก็บิดเบี้ยวไปหมด …เราอยู่ในภาวะที่แต่ละสำนัก แต่ละออฟฟิศ นักข่าวแต่ละคนต้องทำให้ตัวเองรอด จึงอยู่ในเซฟโซน ทุกคนอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ไม่ปลอดภัย ถูกแทรกแซงหลายด้านจนอ่อนแอ ก็อยากเอาใจช่วยและยังเชื่อมั่นในคนข่าวที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในทางที่ดี”​ ​

สิขเรศ ศิรากานต์ 

เรากำลังก้าวข้ามสู่ยุควารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์​

ในขณะที่ สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ มองว่า ในวันที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนา ส่งผลให้สิทธิเสรีภาพสื่อเติบโตตามไปด้วย แต่ สิทธิเสรีภาพสื่อ มีทั้งการลดระดับ เพิ่มระดับ หรือคงที่ตลอดเวลาเป็นวัฏจักร โดยส่วนหนึ่ง​เทคโนโลยี นวัตกรรม ทำให้ช่องทางการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น นวัตกรรมนำพาให้ทุกคนเป็นสื่อได้ นำเสนอความคิด แง่มุมสะท้อนปัญหาสังคมได้ เช่น คนภูเก็ตก็สะท้อนปัญหาได้ แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทั้งเรื่องการตรวจสอบความถูกต้อง หรือการใช้สิทธิเสรีภาพไม่กระทบกับประชาชน เช่น การเสนอข้อมูลในเรื่องคดีความต่าง ๆ

ด้านหนึ่งขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยจากฝั่ง “เศรษฐศาสตร์การเมือง”​ ที่คลุมทั้งฝั่งการเมืองและทุน ซึ่งในยุคอัลกอริทึมหรือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เบื้องหลังก็ยังถูกกำกับโดยภาคการเมืองหรือทุนบางส่วน โดยงบโฆษณาแต่ละปีประมาณ 1 แสนล้านบาทเป็นงบฯ ก้อนใหญ่ ซึ่งจากการสำรวจกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงก็ยังเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งการลงเงินโฆษณาก็จะดูทิศทางการเมือง ทั้งพรรคการเมือง ภาคประชาชน หรือกลุ่มประชาชนที่ขับเคลื่อนทางการเมือง

“ในวันที่เทคโนโลยีพัฒนา นักข่าวก็ต้องอภิวัฒน์ตัวเองตามด้วย …เรากำลังก้าวข้ามสู่ยุควารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์​คือการใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งวารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์เอื้ออำนวยให้เราสามารถทำข่าวเจาะ ข่าวสืบสวนสอบสวนได้มากขึ้น ทั้งการตรวจสอบเฟคนิวส์ หรือการใช้บิ๊กดาต้ามากขึ้น”

เทคโนโลยีพัฒนา นักข่าวต้องอภิวัฒน์ตัวเองตามด้วย

ทั้งนี้ หากพูดให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล การทำงานสืบข่าวเจาะลึกงบประมาณ หากใช้ระบบเดิมต้องอ่านไฟล์เอ็กซ์เซลงบประมาณมากมาย แต่เราสามารถพัฒนาใช้นวัตกรรมมาช่วยสืบเสาะ เจาะงบฯ ได้ในทุกระดับ หรือไปจนถึงการใช้ดาต้ามาช่วยในเรื่องปัญหาท้องถิ่นที่มีการบุกรุกผืนป่า ระบบมาเฟียในจังหวัดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หากใช้ดาต้าตรงนี้ก็สามารถมาประมวลผลเสนอข่าวสารได้ ว่าปัญหานี้มีต้นตออย่างไร หรือความล่าช้าการก่อสร้างถนนพระราม 2 ก็สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์มารายงายข่าวเจาะลึกได้มากขึ้น

ในวันนักข่าว ก็อยากให้กำลังใจนักข่าว  ​ซึ่งการอภิวัฒน์ทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม  ต้องก้าวไปต่อเนื่องอยู่แล้ว อีกไม่กี่ปี​จะถึงปี 2572 เป็นวันที่สื่อทีวีหมดใบอนุญาต ช่วงนั้นจะเข้าสู่ยุค 6G สิ่งที่สำคัญคือ เทคโนโลยีก้าวเปลี่ยน  การดิสรัปชันจะมีตลอดเวลา  ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าบุคลากรของเรามีการอภิวัฒน์มากน้อยขนาดไหน 

“อย่าเป็นกลุ่มหลอนประสาทว่า AI เข้ามาจะทำให้ตกงาน แต่ต้องมองภาพว่าAI เข้ามาเราจะทำอย่างไร เจเนอเรทีฟAI คือAI เชิงสร้างสรรค์ เราจะใช้อย่างไร เช่นทำให้ข่าวสืบสวน.shมีประสิทธิภาพอย่างไร หรือใช้AI ตรวจสอบดีพเฟคส์ได้มากน้อยขนาดไหน นักสื่อสารมวลชนทุกคนควรอภิวัฒน์ตัวเองเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนพล บางยี่ขัน

นักข่าวรุ่นเก่าที่ชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ เชื่อมั่นในพลังของข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล