หากจะกล่าวถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ของสังคมไทย โจทย์ใหญ่ที่ทุกรัฐบาลตามแก้ แต่ไม่พูดถึงหรืออธิบายสาเหตุของความจนเสียก่อน อาจเป็นการตัดทอนฉากหลังของการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทสู่เมือง
The Active คุยกับ รองศาสตราจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการเพื่อแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ย้อนมองประวัติศาสตร์ไทยผ่านนิยามความจน
นิยามคนจน
นิยามของคนจน มักถูกสร้างโดยนักเศรษฐศาสตร์ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก เช่น ผ่านมิติของเส้นความยากจนหรือการวัดด้วยโภชนาการ (แคลอรี่) ของอาหารที่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม รศ.สังศิต เสนอว่าเราสามารถคัดกรองความยากจนได้ผ่านตัววัด คือ มีรายได้น้อย รายจ่ายมากกว่ารายได้ หรือการไม่มีเงินสดพอจะใช้ในการดำรงชีวิต และขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวบุคคลนั้น รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของภาครัฐ การได้รับบริการพื้นฐานทางสังคมต่าง ๆ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและมั่นคง การขาดทักษะที่เพียงพอที่จะเข้าถึงตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน
นอกจากนั้น นิยามความยากจนยังสัมพันธ์กับพื้นที่อยู่อาศัย เช่น การอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่มีค่าครองชีพสูงกว่าพื้นที่ในจังหวัดอื่น เป็นต้น ทำให้ในระยะยาวคนจนเหล่านี้จะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีอนาคต
การกำหนดนิยามความจนนั้นจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ แต่จะใช้มิติจากนักเศรษฐศาสตร์มาเป็นตัวกำหนด เพราะมิติอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจนั้น มักใช้วัดความยากจนได้ยาก เช่น มิติด้านการศึกษาที่ต้องประเมินผลในระยะยาว เป็นต้น
การเกิดขึ้นของคนจน
คนจนเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของทรัพย์สินเอกชน (private property) ซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนที่มีกับคนที่ไม่มี คนไทยที่เป็นคนจนในอดีตส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกไพร่หรือทาสก่อนยุค 2475
สมัยนั้นไม่ได้ถูกเรียกว่าคนจน แต่จะถูกเรียกว่า “ไพร่” หรือ “ทาส” และมีคนที่เป็น “เจ้านาย ขุนนาง” แทน ทั้งนี้ มิติความรวย-จน นั้นจะเริ่มเห็นชัดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ที่มีกลุ่มทุนเริ่มเติบโตมากขึ้น
โดยตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ทำให้คนที่อยู่ในชนบทจำนวนมากกลายเป็นคนที่ต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง เพราะภาคการเกษตรไม่ประสบความสำเร็จ การผูกชีวิตไว้กับราคาพืชผลไม่สามารถเป็นคำตอบได้ว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้น นอกจากนั้น การขาดแคลนน้ำและต้องพึ่งพาอาศัยแต่น้ำฝนนั้นทำให้คนไม่มีโอกาสที่จะทำงานได้ทั้งปี จึงทำให้เกษตรกรต้องอพยพเข้าสู่เมืองและกลายมาเป็นแรงงานรับจ้าง ดังนั้น ลูกหลานของคนเหล่านี้จึงเกิดในเมืองไปด้วยนั่นเอง
สถานภาพของคนจนในประวัติศาสตร์ ไพร่ ทาส
คนจนในอดีตก็คือไพร่และทาส โดยมีเจ้านายเป็นเจ้าของชีวิตของพวกเขา เมื่อไพร่มีลูก ลูกก็จะต้องเป็นไพร่ ถ้าใครเป็นทาส ลูกเกิดมาก็ต้องเป็นทาส คนเหล่านี้ได้อยู่กินกับเจ้านาย ถ้ามีศึกสงครามก็ต้องไปออกรบ ส่วนคนจนในปัจจุบันนั้นไม่มีเจ้านายโดยตรง มีแต่คนที่เป็นนายจ้างหรือนายทุน เป็นแรงงานที่มีความเป็นเสรี เช่น หากไม่พอใจที่จะทำงานกับนายจ้างคนไหนก็สามารถลาออกไปอยู่ที่อื่นได้ เพราะฉะนั้น แรงงานที่เป็นคนจนในยุคใหม่นั้นมีโอกาสที่ดีกว่าคนจนในอดีตอย่างไพร่หรือทาสที่จะต้องผูกติดกับที่ดินและเจ้านายของพวกเขา
คนจนในไทย 2 กลุ่มใหญ่
1 – คนจนที่อยู่ในภาคการเกษตร โดยสาเหตุของความยากจนมาจากความขาดแคลนแหล่งน้ำในการผลิต เพราะที่ผ่านมากว่า 60 ปีนั้น ภาครัฐสามารถผันน้ำให้แก่เกษตรกรได้เพียง 22 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งประเทศ เช่น ในภาคอีสานที่มีพื้นที่ชลประทานในภาคการเกษตรเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 94 เปอร์เซ็นต์ ต้องรอพึ่งพาน้ำฝนเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
ดังนั้นภาคการเกษตรจึงทำงานได้แต่เพียงช่วงฤดูกาลเท่านั้น ในช่วงเวลาที่เหลือหากอยากมีงานทำก็จะต้องเข้าเมืองมาเพื่อหางานอื่นเลี้ยงชีพ
นอกจากนั้น คนในภาคการเกษตรยังอายุสั้นเพราะใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ต่อมาเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิตลงก็ยิ่งทำให้ความยากจนของคนในครอบครัวหนักซ้ำเติมเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ความยากจนของคนในชนบทจึงมาจากความขาดแคลนน้ำ และการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกที่ทำให้ต้นทุนการเกษตรแพงสูงขึ้นและทำให้เกิดความเจ็บป่วย
2 – กลุ่มคนที่อยู่นอกภาคการเกษตรหรือกลุ่มคนจนเมือง หรือคนชั้นกลางระดับล่างที่มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นคนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปที่ไม่มีความแน่นอน หรือกลุ่มที่เป็นแม่ค้าขายของตามข้างถนน ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลก็มีนโยบายห้ามขายของข้างทางอีก คนเหล่านี้จึงถูกบังคับให้จนเพราะการดำเนินอาชีพนั้นขัดแย้งกับนโยบายของรัฐ
นโยบายของรัฐยิ่งทำให้คนจน จนมากขึ้น
การไม่ส่งเสริมความรู้ ก็ทำให้เกษตรกรเลือกทำเกษตรเชิงเดี่ยวแทนเกษตรแบบผสมผสาน เช่น การไม่ส่งเสริมความรู้ก็ให้การเกษตรแบบผสมผสานไม่เกิดขึ้นจริง แม้จะมีแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาแล้วก็ตาม แต่ รศ.สังศิต คิดว่าการจะเปลี่ยนความเคยชินของพวกเขานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกเขายังติดกับวิถีชีวิตแบบเดิมและยังใช้สารเคมีแบบเดิมในการทำการเกษตร ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเหตุให้พวกเขายากจนแบบดักดาน
สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และค่าพรีเมียมข้าว
แต่เดิม… ครอบครัวคนไทยจะทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยจะปลูกข้าวและพืชผักต่าง ๆ ไว้เป็นอาหาร แต่เมื่อเราทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษ อังกฤษเลือกใช้วิธีทุ่มเข้ามาขายผ้าในเมืองไทย เมื่อคนไทยพบว่าผ้าที่อังกฤษนำมาขายนั้นมีราคาถูกกว่า และมีความสวยงามกว่า ชาวบ้านจึงเริ่มซื้อผ้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันอังกฤษก็บีบให้คนไทยปลูกข้าวเพื่อให้เกิดการส่งผลผลิตไปยังประเทศอาณานิคมต่าง ๆ ทั่วโลก จากนั้นเป็นต้นมารังสิตจึงกลายเป็นทุ่งปลูกข้าวขนาดใหญ่และเกิดการทำพืชเชิงเดี่ยว นั่นก็คือการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว ระบบที่เน้นให้ผลิตตามทุนหรือระบบตลาดจึงทำให้คนไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองน้อยลงและหันไปพึ่งพาการส่งออกผลผลิตมากขึ้น
นอกจากนั้น เกษตกรยังประสบปัญหาการกดราคาข้าวให้ต่ำเพื่อให้คนทำงานสามารถยังชีพในราคาที่ถูกได้ โดยตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีแรงงานอพยพจากชนบทจากทั่วประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น
การที่รัฐบาลพยายามกดราคาข้าวให้ต่ำลงนั้นมาจากวิธีการเก็บค่า “พรีเมียมข้าว” ซึ่งเป็นการเก็บภาษีค่าส่งออกข้าวและนำเงินเข้าคลัง ทำให้ชาวนาได้เงินน้อยลงจากการขายข้าวเพื่อการส่งออก ชาวนาจึงมีรายได้น้อยลงจากการขายข้าวเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะทางรัฐบาลไม่ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการเกษตรและไม่จัดสรรแหล่งน้ำให้เกษตรกร ดังนั้น ในมุมมองของ รศ.สังศิต การจะทำให้เกษตรกรหายจนได้ก็จำเป็นจะต้องหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรใช้นั่นเอง
รศ.สังศิต ยกตัวอย่างแม่บ้านที่ทำงานประจำอยู่บ้านของเขาว่า ชีวิตของแม่บ้านท่านนี้เหมือนผักตบชวา คือ ลอยไปอย่างไม่มีจุดหมายและลอยไปอย่างไม่แน่นอน เพราะคนจนไม่รู้ว่าคำตอบและอนาคตของชีวิตจะอยู่ที่ไหน
เงินกู้นอกระบบทำชาวนาจำนวนมากสูญเสียที่ดิน
เขาระบุว่า กฎหมายขายฝากของประเทศไทย เป็นกฎหมายที่ทำให้ชาวนาสูญเสียที่ดินเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อชาวนาจะนำที่ดินไปจำนองนั้น เขาต้องการที่จะไถ่คืน แต่กฎหมายกลับเขียนไว้ว่าเป็นการขายฝาก ทำให้เมื่อชาวนาผิดสัญญา ก็จะโดนยึดที่ดิน นอกจากนั้น ธนาคารและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงนายทุนเงินกู้เอง ก็เป็นสถาบันหนึ่งที่ไปดูดซับที่ดินของชาวนามาเป็นจำนวนมาก อันที่จริงแล้วที่ดินนั้นมีเพียงพอสำหรับชาวนาทุกคน แต่เมื่อต้องประสบกับดอกเบี้ยเงินกู้ราคาแพงก็จึงทำให้คนเหล่านี้สูญเสียที่ดินและต้องออกมาเป็นแรงงานรับจ้างอยู่ในภาคเมืองแทน
การย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติและชุมชนลดความเข้มข้นลง การแบ่งปันผลผลิตก็ลดความเข้มข้นลงจนทำให้เกิดความตึงเครียดและความเจ็บป่วยทั้งจากงาน อาชีพ และความไม่แน่นอนของชีวิตที่มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เมื่อเจ็บป่วยแล้วก็ยังไม่มีเวลาไปรักษาจนส่งผลให้คนจนตายเร็วกว่าคนทั่วไป
แก้ปัญหาน้ำ เพื่อลดความยากจน
สำหรับ รศ.สังศิต การศึกษาถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนจนสามารถหลุดออกจากวงจรความยากจนของคนรุ่นพ่อคุณแม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกคนจนมักมีชีวิตที่หนีไม่พ้นความยากจน จะมีก็เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเลื่อนระดับชั้นทางสังคมขึ้นมาได้
เขาขยายความว่าสาเหตุที่ทำให้คนจนในภาคชนบท จนซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เพราะความไม่แน่นอนของน้ำที่จะใช้บริโภคและการผลิตในภาคการเกษตร ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำและที่ดินได้ ก็จะทำให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนไปได้นั่นเอง
โดยที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจน ได้เสนอให้รัฐบาลนำลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำที่มีอยู่มาสร้างเป็นฝายแกนซีเมนต์ทุก 5 กิโลเมตรในลุ่มน้ำนั้น ๆ ก็จะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้เพียงพอได้อย่างมหาศาล ทันทีที่เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปีและเปลี่ยนมาใช้การเกษตรแบบผสมผสานรวมถึงการเกษตรแบบอินทรีย์ พวกเขาก็จะมีรายได้อย่างน้อย ๆ วันละ 2,000 – 3,000 บาทในทุกครัวเรือน
นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนยังเสนอให้สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก การขุดบ่อบาดาล การใช้ระบบน้ำหยดโดยพลังงานโซลาร์เซลล์ เป็นต้น เพราะมีต้นทุนการทำโครงการเหล่านี้ในราคาถูกและใช้เวลาในการติดตั้งที่ค่อนข้างสั้น
รศ.สังศิต เชื่อมั่นว่ามันจะทำให้ชีวิตของคนในชนบทเปลี่ยนไปอย่างทันทีและโดยสิ้นเชิง เขายังเสนอโมเดลที่ให้รัฐบาลกลางร่วมลงทุนกับองค์กรกรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทำโครงการในการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
“เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในการต่อรองทางตลาด ดังนั้น หากชุมชนใดเกิดการรวมตัวกันเพื่อทำการเกษตรเชิงผสมผสานก็จะสามารถนำผลผลิตไปขายที่ตลาดได้ทุกวันเพื่อสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ”
เขาเสนอให้รัฐบาลจัดโครงการที่จะให้ผู้มีความสามารถซึ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ลงไปประจำพื้นที่ เพื่อวางระบบการตลาดในการขายสินค้าการเกษตรให้กับคนในพื้นที่ชนบทเพื่อลดภาระของรัฐบาล และลดปริมาณงานของเกษตรกรลงด้วย
คนจนเมือง
คนจนในภาคเมืองนั้น มีความหลากหลายทางอาชีพมากกว่าคนจนในชนบท เช่น การรับจ้างทั่วไป การทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานที่มีค่าจ้างราคาถูก คนจนเมือง ยังเป็นคนที่มีการศึกษาน้อยและมีปัญหาซ้ำเติม เช่น ปัญหาเรื่องยาเสพติด การพนัน หวยใต้ดิน ซึ่งถือเป็นแหล่งที่ดึงดูดคนจนเป็นอย่างมากทั้งในชนบทและในเขตเมือง ทำให้คนจนเหล่านี้เกิดความจนแบบรุ่นต่อรุ่น
คนจนในเมืองยังมีอีกหลากหลายประเภท เช่น กลุ่มคนที่ไปเช่าห้องอยู่ร่วมกันหลายคน หรือกลุ่มคนที่ทำงานในระยะยาวแล้วไม่ค่อยมีอนาคต เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้นแล้วก็ถูกเลิกจ้างจนทำให้ต้องไปรับจ้างรายวันเพื่อหารายได้ชดเชย
“คนจนจึงไม่ได้จนด้วยอาชีพเดียว แต่จนด้วยหลายอาชีพกว่าที่เขาจะตายจากโลกนี้ไป”
คนจนต้องดิ้นรนทำหลายอย่างแต่ก็จะไม่ประสบความสำเร็จกับอะไรง่าย ๆ
คนจนเมืองส่วนหนึ่งทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อคนเมืองมาก เช่น กลุ่มคนที่เก็บของเก่าขาย แต่ชีวิตคนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงมากทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และในเชิงสาธารณสุข ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงควรเข้ามาดูแลเรื่องสุขอนามัยของกลุ่มคนจนเมืองเหล่านี้
คนจนเพราะขี้เกียจ?
รศ.สังศิต คิดว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วก็ย่อมจะต้องมีคนจนเพราะความขี้เกียจอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถไปช่วยอะไรเขาได้ ทั้งนี้ เขาคิดว่า คนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนขี้เกียจ เช่น เมื่อมีฝนตก เกษตรกรส่วนใหญ่ก็มีความกระตือรือร้นที่จะทำนาทั้งนั้น ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงอยากทำงาน แต่ว่าเป็นรัฐที่ไม่อาจตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนจนได้ นอกจากนั้น การแข่งขันแบบทุนนิยมระบบตลาดยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
ดังนั้นแล้ว หากกลุ่มคนเปราะบางทางสังคมไม่ได้รับการเติมเงินเข้าไปในระบบหรือในการใช้จ่าย ก็จะทำให้พวกเขาไปต่อได้ยาก ดังนั้น สถาบันการเงินจะต้องออกมาตรการเพื่อเยียวยาและอุ้มชูกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อไม่ให้หลุดออกนอกระบบ อย่างกรณีการเยียวยาด้วยเงินกู้ 4 แสนล้านบาท
กรมประชาสงเคราะห์ เพื่อดูแลคนจน
รศ.สังศิต ชี้ว่า การเกิดขึ้นของ กรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบัน ยกระดับเป็น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) นั้นเป็นความต้องการของรัฐบาลที่จะเข้ามาดูแลคนจน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ ก็ไม่อาจดูแลปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเมื่อทั้งหมดนั้น เป็นงานในเชิงสงเคราะห์ หรือการยื่นปลาให้คนกิน ไม่ใช่สอนให้คนตกปลา ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหาคนจนก็จำเป็นจะต้องแก้ไขและเพิ่มเติมเรื่องอาชีพให้กับพวกเขา เพื่อจะทำให้พวกเขาพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
การทำงานแบบสังคมสงเคราะห์ของรัฐบาลยังจัดทำขึ้นแบบสูตรเดียวทั้งประเทศ ซึ่ง รศ.สังศิต คิดว่าเป็นการมองปัญหาแบบด้านเดียว ดังนั้น งานที่รัฐบาลต้องทำเพื่อดูแลคนยากจนก็คือการดูแลเรื่องความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย นอกจากนั้น หน่วยงานแต่ละหน่วยของภาครัฐยังเห็นคนจนไม่เท่ากัน และไม่นำข้อมูลแต่ละภาคส่วนมาบูรณาการร่วมกัน จนทำให้เกิดความสับสนด้านข้อมูลเมื่อต้องทำงานอะไรขึ้นมา