“ความล้มเหลวในภาคเกษตรและชนบท” และผลจากมาตรฐาน คุณภาพ และการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนต้องแสวงหาสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด โดยการเข้ามาแย่งชิงกันในเมือง เกิดเป็นชุมชนในพื้นที่รกร้าง อันเป็นต้นกำเนิดของ สลัม
เมื่อถึงยุคที่คิดจะกระจายความเจริญออกนอกเมือง การพัฒนาที่เกิดขึ้นก็กำลังมองไม่เห็นหัว คนจน พวกเขาต้องเผชิญกับการไล่รื้อ ทั้งที่ “คนจนเป็นแรงงานสร้างเมือง”
อ่านมุมการแก้ปัญหาคนจน จากปากคนจน กับ นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ทั้งเรื่องโครงสร้างและข้อจำกัดด้านกฎหมาย กับโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการ
เมื่อเครือข่ายสลัม “นิยามความจน“
“ความจนมีหลายมิติและค่อนข้างซับซ้อน” ความจนไม่ได้หมายถึงเพียงการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี บ้านที่ทรุดโทรม หรือมีความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ในทางกลับกัน บางคนมีบ้าน มีครอบครัว แต่ไม่มีรายได้ อาชีพ มีหนี้สิน เหล่านี้ถือเป็นความยากจนเช่นกัน
“คนจน” ไปอาศัยอยู่บ้านเช่า คอนโดมิเนียม หรือทาวน์เฮาส์ แต่เป็นหนี้จำนวนมาก บางคนต้องกู้เงินรายวัน ซึ่งไม่กล้าบอกใครว่าจน เพราะกลัวถูกมองว่าไม่ได้จนจริง สภาวะไร้ที่พึ่งเช่นนี้ส่งผลให้บางคนตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
ส่วน “ชุมชนแออัด” มีทั้งบ้านที่จนและบ้านที่รวย ซึ่งรวยมาจากการทำงานกับคนจน เช่น การออกเงินกู้ ขายน้ำประปา/ไฟฟ้าต่อพ่วง เป็นต้น ฉะนั้นชุมชนแออัดไม่ได้หมายถึงชุมชนที่มีแต่คนจนอย่างที่คนภายนอกเข้าใจ
ภาพจำ “ความจน”
จากการที่ต้องผ่านประสบการณ์ความยากจนมามากมาย ทั้งประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว และประสบการณ์ทำงานในชุมชนแออัด เป็นหนึ่งในคนจนที่อยู่อาศัยในสลัม ครอบครัวยากจน แม่พิการ พ่อป่วย ตัวเองต้องทำงานตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว
เมื่อตนเองได้รับผลกระทบจากการถูกไล่รื้อ ได้พบปะกับคนที่เดือดร้อนเหมือนกัน ทำให้เปิดวิสัยทัศน์กว้างขึ้น โดยมองเห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความยากจนอันได้แก่ “โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม” เช่น การเข้าไม่ถึงการศึกษา อยากเรียนต่อทางบ้านก็ไม่มีเงินส่งเสียค่าเทอม หรือแม้แต่เงินไปโรงเรียนก็ไม่มีให้ การใช้เส้นสายหรืออภิสิทธิ์ในการสมัครงาน คนไม่มีวุฒิการศึกษาไม่สามารถทำงานได้
เธอพบว่า สายตาคนอื่นที่มอง “คนจน” มองว่า เด็กสลัม เรียนจบเดี๋ยวก็มีสามี มีลูก ติดยา ไม่ต้องไปคิดอะไรเยอะ สิ่งเหล่านี้ถูกพูดกรอกหูทุกวัน
ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเกิดขึ้น เครือข่ายสลัม 4 ภาค มักถูกกล่าวหาว่า “พวกคนจนทำให้เดือดร้อน อยากจะขอแต่เงินรัฐบาล รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาแจกจ่ายให้” แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่คนจนต้องการ คือ “รัฐสวัสดิการ” เพราะเป็นสิ่งที่บุคคลผู้เสียภาษีพึงได้รับ ไม่เพียงเฉพาะแก่คนจน แต่หมายรวมถึงประชาชนทุกคน ซึ่งไม่ใช้การสงเคราะห์หรือการแจกเงินอย่างที่รัฐฯ พยายามทำอยู่
เคยมีคนแสดงความคิดเห็นว่า “คนพวกนี้ดราม่า ไม่จนจริงหรอก” หรือ “คนพวกนี้แหละที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ร้องขออย่างเดียว ไม่เคยคิดทำ คนที่รวยเพราะเขาลำบากทำมา” ซึ่งทำให้เห็นมุมมองของคนในสังคมต่อคนจน
“โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กยากจน” จะแยกกลุ่มเด็กยากจนกับเด็กมีเงินออกจากกัน เพื่อให้เห็นความต่าง ระหว่างเด็กยากจนที่รอกินข้าวฟรีกับเด็กมีเงินที่หาซื้อกินเองได้ การจัดการที่ทำให้เกิดมาตรฐานที่ไม่เป็นธรรม ช่องว่างที่เหลื่อมล้ำเหล่านี้ เป็นส่วนผลักดันที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง โดยหวังอยากเห็น ทุกคนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
ปัญหาจากการดำเนินงานของรัฐบาล
1. นโยบายรัฐที่ออกมาไม่เคยแก้ปัญหาให้คนจนอย่างแท้จริง แต่ เน้นการส่งเสริมสาธารณูปโภคให้แก่ชนชั้นกลาง มากกว่า เช่น การสร้างคมนาคมที่สะดวกอย่างรถไฟฟ้า (ราคาแพง คนจนไม่สามารถเข้าถึงได้) การให้ที่จอดรถ (คนจนไม่มีรถให้จอด)
2. ไม่กระจายความเจริญสู่นอกเมือง ทำให้เกิดปัญหาคนอพยพมาหางาน โอกาสที่ดีกว่าในเมือง เกิดคนจนเมือง – สลัม
3. “การให้” โดยไม่ถามความสมัครใจของชาวบ้าน มีนัยยะของการกีดกันการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน การจัดแจงจับคนลงกล่องตามที่รัฐเห็นว่าเหมาะควร นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังเพิ่มปัญหาอีกด้วย
4. “การตัดสิน” หรือ “การมีทัศนคติที่ไม่ดี” ต่อคนจน หรือ ชุมชนแออัด เช่น การมองว่าสลัมเป็นพื้นที่สีแดง มียาเสพติด ต้องย้ายออก ซึ่งในความเป็นจริงยาเสพติดมีอยู่ทุกที่ในสังคมไทย ไม่ใช่แต่ในสลัม
5. “การไม่ให้ประชาชน (คนจน) มีส่วนร่วม” ในการออกแบบ หรือพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ถูกเอาใจใส่โดยรัฐฯ แต่คนจนถูกละเลย – มองข้าม
พัฒนาการของปัญหา – การแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและความยากจน
พัฒนาการของประเทศไทยเริ่มดีขึ้น ซึ่งกว่าจะดีขึ้นต้องผ่านการต่อสู้ เรียกร้อง หรือการรวมกลุ่มคนจน เพื่อบอกสิ่งที่รัฐควรทำ เพราะปัญหาทุกอย่างถูกแก้ไขแบบเฉพาะหน้า แม้กระทั่งมีนโยบายโครงการ “บ้านมั่นคง” ที่การเคหะแห่งชาติ ดำเนินการย้ายคนจนออกนอกเมือง โดยผู้อยู่อาศัยไม่สามารถเลือกพื้นที่เองได้ เป็นการดำเนินงานที่ขาดการร่วมออกแบบ หรือมีส่วนร่วมตัดสินใจ กลับยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทับซ้อนขึ้นมา เช่น ปัญหาไม่มีงานทำ กรณีตัวอย่าง บางคนเป็นลูกจ้างแถวท่าเรือ แต่ถูกย้ายออกไปอยู่อาศัยนอกเมือง สุดท้ายก็ต้องเดินทางกลับเข้ามาทำงานในเมืองอยู่ดี
เกิดองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับคนจนเมืองอย่าง พชม. (สำนักงานพัฒนาชุมชน) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ในปี 2543 เพื่อดำเนินการในรูปแบบองค์กรมหาชน เป็นการ “การรวมตัวกันของชาวบ้าน ชุมชน” เพื่อแก้ปัญหาหรือขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง เพราะตอนนี้ทุกภาคส่วนมีการจัดตั้งมวลชนของตัวเองแข่งกัน หากภาคประชาชนไม่มีการรวมกลุ่ม เราก็จะไม่มีอำนาจต่อรองหรือเรียกร้องอะไรได้ เพราะกลไกที่มีอยู่เดิมไม่เอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านยื่นหนังสือไปตามขั้นตอน แต่หนังสือกลับหาย ดังนั้น ชาวบ้านต้องสร้างอำนาจต่อรองนอกกฎหมาย
การแก้ปัญหาคนจน ในความคิดของภาคประชาชน คือ การมี “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยประชาชนทุกคนจะได้รับอย่าง “ถ้วนหน้า” เท่าเทียมกัน ได้แก่ การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้รับการดูแลจากรัฐอย่าง “ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์” เพราะการสงเคราะห์เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนอ่อนแอและทะเลาะกัน
เธอยกตัวอย่างการสงเคราะห์เงินเยียวยาจากรัฐที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึง และทำให้เกิดการตัดสินว่าพวกคนจนรอรับแต่เงินช่วยเหลือ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งที่คนจนเรียกร้องและต้องการเพื่อประโยชน์ระยะยาว คือ “รัฐสวัสดิการ” ที่รัฐฯ ควรดำเนินการเพื่อประชาชนทุกคนในประเทศ
การแก้ปัญหาคนจน ไม่ใช่การทำให้คนจนหมดไป แต่เป็นการทำให้คนทุกคนเข้าถึงโอกาส สาธารณูปโภค การศึกษา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น มีการผลักดันเรื่อง “บำนาญ 3,000 บาท” ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป จากปกติให้เบี้ยยังชีพเพียง 600 – 700 บาท ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา และไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเงินนี้ เพราะต้องลงทะเบียนพิสูจน์ความยากจน
ต้องมี “การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” โดยรัฐบาลต้องตระหนักถึงความต้องการของประชาชน โดยฟังเสียงของประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผน/แก้ปัญหา รวมถึงการแก้กฎหมายบางตัวที่เป็นข้อจำกัด ที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ “หากกฎหมายเป็นอุปสรรค ก็ต้องแก้ที่อุปสรรค ก่อนไปแก้ที่ส่วนอื่น”
ปัญหาที่ยังคงอยู่
ปัญหาที่ดิน ซึ่งเครือข่ายฯ ผลักดันให้เกิดการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม มีองค์กรอื่นร่วมต่อสู้อย่างสมัชชาคนจน แต่ไม่เห็นพัฒนาการ หรือความเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบันก็ยังคงต้องต่อสู้อยู่ ปัญหาเศรษฐกิจก้าวกระโดดจากคนที่ทำเรื่องเกษตร มาทำเรื่องอุตสาหกรรมแทน
“ภาคอุตสาหกรรมกลายเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ในประเทศไทย แต่พืชพันธุ์ดั้งเดิมในภาคการเกษตรสูญพันธุ์ไปหลายตัวแล้ว เพราะไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอด ซึ่งถือเป็นความหายนะ ทั้งที่เราเคยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่เรากลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐฯ แต่รัฐสนับสนุนส่งเสริมให้คนทำอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดแทน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการไล่ที่ชาวบ้าน เพื่อการขยายเมือง และปัญหาความเหลื่อมล้ำ”
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ปัญหา “คนจน” ยังอยู่
เธอบอกว่า ปัจจัยสำคัญ คือ รัฐไม่เปิดช่องให้ภาคประชาชนได้ทำงานหรือมาส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีกรอบของสังคมที่ไม่เอื้อ เช่น กฎหมาย ที่มีข้อจำกัด ใช้กฎหมายอย่างเต็มอำนาจ ทำให้เรื่องต่าง ๆ ดำเนินการยากลำบากกว่าเดิม
หรือ กลไกท้องถิ่น ที่ไม่มีอำนาจจัดการได้จริง หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น กระจายอำนาจออกไป จะรวดเร็วและง่ายต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่หากท้องถิ่นดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ ชาวบ้านจะเป็นคนตัดสินใจและจัดการเอง
ระบบ “ข้าราชการ” เป็นใหญ่ เป็นอีกข้อจำกัด เพราะอำนาจอยู่ที่ข้าราชการ เช่น ชาวบ้านผลักดันเรื่องโฉนดชุมชน การจัดการที่ดิน แต่อำนาจอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด สุดท้ายชาวบ้านไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลัง ยังไม่นับรวมการที่ประชาชนห่างออกจากรัฐราชการ มีปัญหาการตรวจสอบอำนาจ การทำงานของข้าราชการที่ล่าช้า และไม่เป็นไปเพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ข้าราชการไม่ยืดหยุ่น ไม่เคยคิดนอกกรอบ ทำตามกฎหมายข้อบังคับทุกอย่าง ทั้งที่ข้อบังคับไม่ถูกต้อง เอาเปรียบชาวบ้าน และชาวบ้านไม่เคยมีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมาย
นุชนารถ ยกตัวอย่าง การสร้างบ้านของคนจนบนที่ดินขนาด 16.9 ตารางวา ไม่สามารถเว้นข้างละเมตรได้ ต้องเว้นข้างละ 2 เมตร ซึ่งค่อนข้างกินพื้นที่เยอะ หากต้องเว้นพื้นที่รอบบ้านเช่นนี้ คนจนจะนำเงินที่ไหนมาซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปลูกบ้าน เรื่องนี้จึงต้องเคลื่อนไหวในนำมาสู่การแก้กฎกระทรวง ว่าหากทำบ้านมั่นคง ควรจะเว้นระยะร่นแค่หนึ่งเมตร
การเกิดชุมชนแออัด – คนจน – เมือง
เกิดจากการพัฒนาประเทศที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ คนในภาคการเกษตรล่มสลาย ต้องขายที่ดิน ทิ้งที่ทำกิน และอพยพเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเมืองเพื่อมาหางานทำ สร้างชุมชนในที่รกร้างในเมือง (มีทั้งเช่าที่ดินและบุกรุกที่ดิน) เริ่มชักชวนเพื่อน พี่น้อง เข้ามาอยู่ในชุมชน (ต้นกำเนิดสลัมในกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ ๆ ที่เจริญ เช่น สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น) ประเทศเริ่มพัฒนา สร้างทาง ขยายเมือง เกิดการไล่รื้อที่
สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการไม่กระจายความเจริญออกไปนอกเมือง “เมื่อความเจริญกระจุกตัวอยู่ในเมือง คนก็หลั่งไหลเข้าเมือง” ซึ่งรัฐควรส่งเสริมภาคการเกษตรในพื้นที่นอกเมือง ให้ประชาชนมีงานทำ มีขนส่งที่ดี ถ้ามีการส่งเสริม พัฒนาพื้นที่นอกเมืองเช่นนี้ คนก็ไม่ได้อยากเข้ามาแออัดอยู่ในเมือง
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจาก “มาตรฐาน คุณภาพ การกระจายทรัพยากร” ที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนต้องแสวงหา สิ่งที่คิดว่าดีที่สุด โดยการเข้ามาแย่งชิงกันในเมือง เกิดความแออัดกระจุกตัวอยู่ในเมือง ตัวย่างเช่น “การศึกษา” คนยังเชื่อว่าต้องพยายามเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่เหมือนในเมืองอย่างกรุงเทพฯ พอถึงยุคที่คิดจะกระจายความเจริญออกนอกเมือง คนก็ไม่อยากย้ายแล้ว เพราะมีงานทำอยู่ในเมืองแล้ว แม้จะยังมีปัญหาเรื่องการโดนไล่ที่ด้วย แต่เมื่อมีอาชีพทำอยู่ในเมืองก็ยากที่จะอยากขยับขยายโยกย้ายออกไปพื้นที่อื่นที่ห่างไกล เช่น ทำงานกวาดขยะอยู่ทองหล่อ ถ้าต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปหนองจอก จะเข้ามาทำงานอย่างไร
“คนจนเป็นแรงงานสร้างเมือง” เมืองจะเจริญได้อย่างไรหากปราศจากแรงงาน ฉะนั้นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับ คือ ควรอยู่อาศัยในเมืองได้ ต้องมีงานทำในเมืองได้ และมีการคมนาคมที่เอื้อ สอดคล้องกับค่าแรง 300 แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าที่มีราคาแพงได้ ซึ่งในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า กลุ่มคนที่จะยากลำบาก ยากจนที่สุด รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ได้แก่กลุ่มคนใช้แรงงาน โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน
การไล่ที่ – ไล่รื้อ
ขณะนี้ กทม. กำลังพยายามไล่ที่ชุมชนริมคลองประมาณ 2,000 กว่าแห่ง โดยใช้ ม.44 จัดการกับ 9 คลองหลักไปแล้ว แต่คลองย่อยที่โดนไล่และไม่มีใครรู้ ได้รับผลกระทบ คือ ไม่ได้ค่ารื้อถอน กลายเป็นคนไร้บ้าน มีบางคนมาร้องเรียนที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายฯ ก็ช่วยเหลือโดยการจับมาลงกับชุมชนที่มีที่ดินเหลือ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีที่อยู่อาศัย
การไล่ที่ เกิดควบคู่ไปกับการขยายเมือง เช่น การสร้างรถไฟฟ้า หรือคอนโดมิเนียม การสร้างสวนสาธารณะ แทนที่การขยายเมืองจะนับรวมคนในพื้นที่ไปด้วย แต่ภาคธุรกิจและรัฐกลับเลือกผลักคนบางกลุ่มออกจากพื้นที่ เช่น กรณีที่จะมีการสร้างรถไฟสายสีเขียว ชาวบ้านดีใจมาก เพราะจะได้นั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ หรือไปโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น แต่เมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างกลับติดป้ายไล่ที่ชาวบ้านในย่านนั้น เพราะภาคธุรกิจอย่างคอนโดซื้อที่เหล่านั้นเตรียมพร้อมรับการสร้างรถไฟไว้แล้ว
นอกจากนี้ ไม่เคยมีการสอบถามชาวบ้านก่อนการก่อสร้าง ไล่รื้อ ไม่มี “การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” ชาวบ้านไม่เคยมีส่วนร่วมกับโครงการที่รัฐต้องการดำเนินการเลย รัฐใช้วิธีการไล่ที่โดยใช้กฎหมายเป็นอำนาจบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่
ทั้งที่ก่อนไล่รื้อมีความร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐกับชาวบ้านในพื้นที่ในการร่วมกันพัฒนาชุมขน เช่น ชาวบ้านเป็นอาสาสมัครคัดแยกขยะ แต่เมื่อมีการดำเนินการไล่รื้อ กทม. ทำเหมือนชาวบ้านเป็นศัตรู “เหมือนหลอกใช้ประชาชน” เป็นเครื่องมือในการทำงานให้ กทม. ผ่านการตั้งคณะกรรมการชุมชน ดังนั้น ต้องเป็น “ประชาชน” เองที่รวมกลุ่มกัน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆและปกป้องพื้นที่ของตนเอง
เธอมีความเห็นทิ้งท้ายว่า การทำกระบวนการก่อนย้ายออก เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญ บางพื้นที่เจ้าของที่ดินยอมรับและเข้าใจ แต่บางพื้นที่ไม่ต้องการเจรจากับชาวบ้าน แต่มีตัวแทนรับจ้างไล่รื้อมาเจรจาแทน ซึ่งตัวแทนไม่ได้คำนึงชาวบ้านอยู่แล้ว เพราะถ้าได้ที่เร็วก็จะได้งบประมาณเร็ว