พริษฐ์ วัชรสินธุ : “สภาเดี่ยว” ทางออกวิกฤตการเมือง

ปัญหาของ สว. ไทยชุดปัจจุบันนี้ คือ มีอำนาจเยอะมาก แต่ที่มากลับ ไม่ได้ยึดโยงกับเสียงประชาชน เป็นเหมือนสัญลักษณ์และการรวมกันของความไม่ชอบธรรมทุก ๆ อย่างของระบอบการเมืองไทย

.
.

กระแสทั่วโลกกำลังเอียงไปทางนี้มากขึ้น คือ การบอกว่าไม่จำเป็นต้องมี สว. เลย หรือเรียกว่า “ระบบสภาเดี่ยว” คือแทนที่จะมีสภาคู่ คือ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็ให้เหลือแค่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว

.
.

แต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญกว่า ว่าจะเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ คือ ต้องแตะเรื่องวุฒิสภา ถกเถียงกันว่าเราจะเอาอย่างไรกับวุฒิสภา และการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องครอบคลุมถึงทางออกของวุฒิสภา แต่สิ่งที่กังวล คือ อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่มีการแตะเรื่องวุฒิสภา

The Active คุยกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า – Conlab อดีตกลุ่ม New Dem กับมุมมองคนรุ่นใหม่ต่อทางออกวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน

แก้วิกฤตการเมือง ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

พริษฐ์ ฟันธงตั้งแต่คำตอบแรกว่า ทางออกจากวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา

พริษฐ์บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในช่วงที่รัฐบาลมาจากคณะรัฐประหาร และอาจไม่ได้เปิดรับฟังมุมมองที่กว้างขวางเท่าที่ควร และยังมีคำกล่าวด้วยว่ารัฐธรรมนูญนี้เขียนขึ้นมาเพื่อตนเอง ยิ่งตอกย้ำที่มาที่อาจจะไม่ชอบธรรม ส่วนในเรื่องกระบวนการ ถึงแม้จะมีการจัดประชามติขึ้นจริง แต่ก็จะเห็นว่าไม่มีความเป็นกลาง กลุ่มที่เห็นต่างหรือรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกดำเนินคดี แม้กระทั่งตัวคำถามพ่วงก็ถูกเขียนในลักษณะชี้นำมาก

“สุดท้ายคือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีความถดถอยในมาตรฐานประชาธิปไตยไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับฉบับปี 2540 หรือฉบับปี 2550 โดยภาพที่ชัดเจนที่สุดคือให้มี สว. 250 คนเข้าร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น ถ้าจะแก้วิกฤตการเมืองปัจจุบัน หลีกเลี่ยงไม่พ้นการแก้รัฐธรรมนูญ”

คำถามต่อมาก็คือ แล้วส่วนไหนที่เป็นปัญหามากที่สุด พริษฐ์ตอบว่า “วุฒิสภา” ซึ่งหากแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะวุฒิสภา ก็จะเป็นการแก้ไขที่ไม่ยั่งยืนและไม่ได้แตะที่โครงสร้างอย่างแท้จริง เพราะวุฒิสภาปัจจุบัน เป็นเหมือนสัญลักษณ์และการรวมกันของความไม่ชอบธรรมทุกๆ อย่างของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบัน ใน 5 มิติ

มิติแรก เป็นสัญลักษณ์ของการบริหารบ้านเมืองที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยที่ทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน ในการกำหนดทิศทางของประเทศ ถ้าคิดเป็นตัวเลข จะเห็นว่าวันที่รัฐสภามีมติเลือกนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 750 เสียง 500 เสียงจาก สส. ที่มาจาก 38 ล้านคนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และอีก 250 เสียงมาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากคณะกรรมการสรรหา 10 คน


“ถ้าคิดเป็นตัวเลขและหารออกมา จะได้คำตอบว่า คณะกรรมการสรรหา สว. 1 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชนทั่วไป 2 ล้านเท่า ในการกำหนดว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ปัญหาแรก วุฒิสภาจึงสัญลักษณ์ของความไม่เป็นประชาธิปไตยของระบอบเรา”

มิติที่สอง เริ่มเห็นวุฒิสภามีกระบวนการหลายอย่างที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ประเด็นแรก 6 ใน 10 ของคณะกรรมการสรรหา สว. เลือกตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนอีก 3 คนเลือกพี่หรือน้องเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ในจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 250 คน มีถึง 6 ที่นั่งที่ถูกจัดสรรไว้สำหรับ ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นข้าราชการประจำ ดังนั้น นอกจากเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังตอกย้ำเรื่องของการบริหารประเทศด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน

มิติที่สาม สว. เองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการพยายามที่จะควบคุมการเมืองไทยทั้งระบบ โดยจะเห็นว่าอำนาจ สว. ไม่ได้มีแค่การเลือกนายก แต่ยังสามารถยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย โดยจะแก้มาตราอะไรก็จะต้องมี สว. อย่างน้อย 1 ใน 3 อนุมัติ หรือจะแต่งตั้งใครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ต้องมี สว. เสียงข้างมากมารองรับ

มิติที่สี่ ไม่เห็นความหลากหลายในวิชาชีพของวุฒิสภา แม้จะบอกว่าวุฒิสภาคือการรวมตัวของคนที่อาจจะไม่อยากเป็น สส. และยังเป็นการรวมตัวกันของคนหลากหลายอาชีพ แต่ถ้าดูอาชีพของ สว. ในปัจจุบัน จะเห็นว่าร้อยละ 40 เป็นทหารหรือตำรวจ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าสัดส่วนของประชากรทั่วไป ก็มีคำถามว่าทำไมถึงให้ความสำคัญกับอาชีพเหล่านี้มากกว่าสาขาวิชาชีพอื่น ๆ

มิติที่ห้า ที่เห็นชัดขึ้นหลังจาก สว. ชุดนี้เข้ามาทำงาน คือท้ายที่สุดแล้ว สว. ชุดนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอย่างที่ สว. ควรจะทำ โดยเห็นได้จาก 145 มติที่เสนอผ่านจาก สส. และไปสู่การพิจารณาของ สว. ปรากฏว่าผ่านทุกมติ ไม่มีมติไหนที่ถูกปัดตก และผ่านด้วยคะแนนเสียงอนุมัติเฉลี่ยประมาณร้อยละ 96.1

“มันจึงเป็น 5 สัญลักษณ์ของปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน ดังนั้น จะแก้รัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ ถ้าไม่แตะเรื่อง สว.”

เสนอแนวคิด “สภาเดี่ยว”

พริษฐ์กล่าวว่า การแก้ สว. ไม่มีสูตรตายตัว แต่สมการที่สำคัญคือทำยังไงให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน ปัญหาของ สว. ไทยชุดปัจจุบันนี้คือ มีอำนาจเยอะมาก แต่ที่มากลับไม่ได้ยึดโยงกับเสียงประชาชน ซึ่งแตกต่างจากหลักการที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกใช้กันคือ อำนาจและที่มาต้องสอดคล้องกัน

พริษฐ์ยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักรก็มีวุฒิสภาแต่งตั้ง แต่อำนาจของ สว. เขาน้อยมาก ทำได้มากที่สุดคือชะลอร่างกฎหมายไป 1 ปี คือถ้า สส. ผ่านกฎหมายมา แล้ว สว. ไม่เห็นด้วย ทำได้มากที่สุดคือชะลอไป 1 ปี ถ้าถึงที่สุด สส. ยังยืนยันคำเดิม สว. ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ดังนั้น เมื่ออำนาจน้อย ที่มาก็เลยไม่จะจำเป็นต้องยึดโยงมาก

หรือสหรัฐอเมริกาที่แตกต่างกัน สว. ที่นั่นมีอำนาจเยอะมาก โดยมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจในการถอดถอนประธานาธิบดี ดังนั้น ที่มาของเขาจึงต้องมีความยึดโยงกับเสียงประชาชน ก็เลยเป็นเหตุว่าทำไมที่อเมริกาจึงการเลือกตั้ง สว. และมีตัวแทนจากแต่ละรัฐเข้ามานั่งในวุฒิสภา

เมื่อไม่จำเป็นว่าจะเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง แต่สิ่งสำคัญคือต้องสอดคล้องกับที่มา พริษฐ์เห็นว่า ทำให้ประเทศไทยมี 3 ทางเลือก ทางเลือกแรกไปตามโมเดลเหมือนสหราชอาณาจักร คือ ลดอำนาจ สว. แต่งตั้ง เช่น ตัดอำนาจเลือกนายก ตัดอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ หรือทางเลือกที่สอง คือไปแบบสหรัฐ อำนาจเยอะไม่เป็นไร แต่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะกลับไปคล้ายกับในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มี สว. เลือกตั้ง

“ส่วนทางเลือกที่ยังไม่ค่อยถูกถกเถียงในสังคมไทยเท่าไหร่ แต่ก็เป็นทางเลือกที่กระแสทั่วโลกกำลังเอียงไปทางนี้มากขึ้น คือการบอกว่าไม่จำเป็นต้องมี สว. เลย หรือเรียกว่า “ระบบสภาเดี่ยว” คือแทนที่จะมีสภาคู่ คือทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็ให้เหลือแค่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว”

พริษฐ์บอกว่า ถ้าดูจากองค์ประกอบของรัฐไทย ประเทศที่มีรัฐเดี่ยวเหมือนกับไทย ไม่ได้เป็นสหพันธ์รัฐ และไม่ได้เป็นระบบรัฐสภาที่มีประธานาธิบดี ประเทศที่มีลักษณะแบบนี้มีทั้งหมด 31 ประเทศทั่วโลก โดยมีถึง 20 ประเทศ หรือ 2 ใน 3 ใช้ระบบสภาเดี่ยวแล้ว และตัวเลขนี้ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประเทศไทยเขามองว่ามีถึง 3 เหตุผลที่ควรเป็นสภาเดี่ยว

“ข้อแรกคือเรื่องงบประมาณ ถ้าบวกตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปให้กับ สว. ชุดปัจจุบัน บวกเงินเดือนคณะทำงานด้วย ค่าดำเนินการ หรือกระทั่งค่าสรรหา สว. ตกอยู่ที่อย่างน้อย 1 พันล้านบาทต่อปี นี่ยังไม่นับรวมค่าน้ำไฟ ก็ต้องมาถามว่าคุ้มค่าไหม ในวันที่งบประมาณแผ่นดินก็ถูกนำไปใช้กระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด คุ้มค่าไหมในการใช้ 1 พันล้านบาทต่อปีกับองค์กรนี้

อย่างที่สอง ในเรื่องของต้นทุนของแรงและความพยายามในการหาสมดุลอำนาจของที่มา หลายประเทศพยายามจะหาสมดุลระหว่าง 2 สภานี้มานานมาก แต่ไม่สำเร็จ นิวซีแลนด์พยายามจะไปโมเดลแบบอังกฤษคือ สว. แต่งตั้ง แต่ก็ไม่สามารถหากระบวนการแต่งตั้งที่ได้คนที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ในที่สุดก็ต้อเลิก สว. ไปเมื่อปี 1951

ประเทศสวีเดนก็พยายามจะมีโมเดลแบบเดียวกับสหรัฐ คือให้มีอำนาจมาก แต่พอทำไปสักพักก็ได้คนที่เข้ามาที่หน้าตาคล้ายๆ กับกลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ก็เลยกลายเป็นสภาที่เหมือนกัน 2 แห่ง และไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ต้องยกเลิกในปี 1970 เช่นเดียวกัน

“กลับมาถามประเทศไทยว่าจำเป็นไหมที่จะต้องเสียแรงเสียเวลามาหาสมดุลนี้ เมื่อหลาย ๆ ประเทศที่คล้ายกับไทยก็ได้พยายามแล้ว แต่ก็จบที่สภาเดี่ยว”

หน้าที่ที่เคยคาดหวัง สว. : องค์กรอื่นทำได้ดีกว่า

พริษฐ์กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่สามซึ่งสำคัญที่สุด คือ บางหน้าที่ของ สว. ที่เคยถูกคาดหวัง องค์กรอื่นกลับทำได้ดีกว่า โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลที่กระจายและเข้าถึงง่ายขึ้น เทคโนโลยีมีมากขึ้น และความตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น

หน้าที่แรก “นิติบัญญัติ” เดิมเคยคาดหวังว่าวุฒิสภาจะเข้ามาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย คือเอาความรู้ของเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพมาช่วยกลั่นกรองกฎหมาย เพื่อที่ว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้วจะสอดคล้องกับความเห็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็พบว่ากลไกกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะมีประสิทธิภาพพอแล้ว และในความเป็นจริงก็ดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการร่างกฎหมาย ไม่ใช่เอาวุฒิสภามาใช้ในขั้นตอนสุดท้าย

และเมื่อดูกระแสของโลกปัจจุบัน จะเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงและตามทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจึงสำคัญมาก ดังนั้น การที่สามารถลดเวลาในการออกกฎหมายได้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะอาจจะเกิดสถานการณ์ที่เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ออกมา แต่กว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาจะออกกฎหมายมาวางขอบเขตของเทคโนโลยีนี้ ถึงตอนนั้นก็คงถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ไปแล้ว

“ มันอาจจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวของระบบรัฐสภามากขึ้น ถ้าเราลดเหลือสภาเดียว และเอาผู้เชี่ยวชาญที่เคยอยู่ในวุฒิสภามามีส่วนร่วมในขั้นตอนกรรมาธิการ”

อย่างที่สอง หน้าที่ในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งปัจจุบันก็มีข้อครหาที่องค์กรอิสระเองก็เผชิญอยู่ คือที่มาของกรรมการไม่ได้ยึดโยงกับเสียงประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าทางแก้คือให้ประชาชนเลือกตั้ง เพราะไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ในวังวนของอำนาจทางการเมือง แต่พริษฐ์มองว่า ควรให้อำนาจนี้ตกอยู่ในมือของผู้แทนราษฎร ซึ่งก็เป็นวิธีหนึ่งที่บอกว่า อย่างน้อยมีตัวแทนของประชาชนเข้ามารับรองหลายชื่อคนเหล่านี้

“เพียงแต่ว่าควรเพิ่มเงื่อนไขมากกว่าปกติ ก็คือแทนที่จะบอกว่า เสียงข้างมากของ สส. พอแล้ว เราอาจจะบอกว่า ถ้าจะรับรองชื่อองค์กรอิสระ ต้องเป็นเสียงข้างมากของทั้ง สส. ฝ่ายรัฐบาล และ สส. ฝ่ายค้าน หมายความว่า ทุกคนที่จะมาดำรงตำแหน่งใน กกต. หรือ ปปช. ต้องได้เสียงทั้ง สส. ฝ่ายรัฐบาลและ สส. ฝ่ายค้าน”

และหน้าที่สุดท้าย คือหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ถึงแม้ชุดปัจจุบันจะมีสมาชิกวุฒิสภาที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ แต่พริษฐ์เห็นว่า หากให้อำนาจตรงนี้ตกอยู่ในมือของประชาชนในภาพรวม ก็อาจจะออกแบบการตรวจสอบรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

“ถ้าเราสามารถติดอาวุธให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ถ้าสามารถออกกฎหมายที่คุ้มครองคนที่กล้าชี้เบาะแสหรือกล้าเปิดโปงการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมของภาครัฐ ถ้าเราสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถทำให้การแสดงความเห็นมันถูกแปลเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง บางทีการพึ่งพาประชาชนให้ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ อาจจะมีประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าพึ่งผู้เชี่ยวชาญ 250 คนเสียอีก”

ก่อนเถียงกันว่า สภาเดี่ยวหรือสภาคู่ ต้องกล้าแตะเรื่องวุฒิสภาก่อน

พริษฐ์ย้ำว่า ตอนนี้สิ่งที่สำคัญกว่าว่าจะเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ คือ ต้องแตะเรื่องวุฒิสภา ถกเถียงกันว่าเราจะเอาอย่างไรกับวุฒิสภา และการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องครอบคลุมถึงทางออกของวุฒิสภา แต่สิ่งที่กังวลคืออาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่มีการแตะเรื่องวุฒิสภา

“ผมว่านี่อันตรายมาก เพราะเราเริ่มเห็นจากผลกระชุมของกรรมาธิการในรัฐสภาที่ศึกษาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงออกมาว่า แก้แค่ 256 คือแก้ให้รัฐธรรมนูญแก้ง่ายขึ้น หรือบางคนบอกว่าโฟกัสแค่กฎหมายเลือกตั้งอย่างเดียวซึ่งก็จำเป็น แต่กลายเป็นว่าเราไปแก้แค่สิ่งที่มันเอื้อประโยชน์กับนักการเมืองอย่างเดียว คือถ้าไม่มีการพูดถึงวุฒิสภาเลย ผมเกรงว่าเราจะไม่สามารถออกจากวังวนปัจจุบันที่กติกามันไม่เป็นกลาง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว