ปรากฏการณ์การชุมนุมของนักศึกษาหลายสถาบันที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้จะยังยึดโยงอยู่กับข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ ที่เสนอมาตั้งแต่ต้น คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และร่างธรรมนูญใหม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระหว่างการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาก็ปรากฏ “ข้อเสนออื่น” เข้ามาด้วย
หลายฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ต่างก็มีความกังวลหาก “ปรากฏการณ์” นี้ถูกมองด้วยความไม่เข้าใจและกลายเป็นการไม่ยอมรับในที่สุด
The Active ชวนฟังคำอธิบายปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในยุคปัจจุบันอีกครั้ง ผ่านมุมมองของ ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มองบรรยากาศการชุมนุมครั้งนี้อย่างไร
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในฐานะที่เคยศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม หรือขบวนการนักศึกษาก่อนหน้านี้ ครั้งนี้น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่คึกคักที่สุด มีคนเข้าร่วมมากที่สุด และการที่มีนักศึกษาเป็นคนนำเอง ก็เป็นครั้งแรกตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม หรือ 40 กว่าปีมาแล้วที่ไม่เห็นปรากฏการณ์แบบนี้
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไรในมุมรัฐศาสตร์
สะท้อนสิ่งที่นักเรียนรัฐศาสตร์หรือนักวิชาการเคยบอกว่า ถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยปกติ บทบาทของนักศึกษาก็จะน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะในยามที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย บทบาทจะเป็นของพรรคการเมือง NGO หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยนักศึกษาจะมีบทบาทมากในช่วงที่บ้านเมืองค่อนข้างมีความเป็นประชาธิปไตยน้อย ซึ่งพบปรากฏการณ์นี้ได้ในประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย หรือ เมียนมา
ในไทยก็เช่นกัน ยุคที่นักศึกษามีบทบาทมากที่สุด คือ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งตอนนั้นอยู่ในระบอบอำนาจนิยมของทหาร ในยุคนั้นมันเกิดสูญญากาศ ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าเคลื่อนไหวหรือโดนปราบปราม กลุ่มชาวนา กรรมกร พรรคการเมือง ก็โดนลิดรอนบทบาท ก็เหลือแต่กลุ่มนักศึกษาที่มีอุดมคติ มีความใฝ่ฝัน มีความบริสุทธิ์ในการเคลื่อนไหว และลุกออกมาเป็นกองหน้าในการเคลื่อนไหว ในขณะที่กลุ่มอื่นไม่กล้าเคลื่อนไหว
รัฐบาลควรมองการชุมนุมอย่างไร
คิดว่าเยาวชนก็คือลูกหลานของเราเอง คือ อนาคตของเรา ดังนั้น รัฐบาลก็ควรรับฟัง ขณะที่พลเอก ประยุทธ์ จะพูดอยู่เสมอว่า ปัจจุบันเรามีประชาธิปไตยแล้ว และท่านก็มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลรัฐประหารแล้ว มันไม่ใช่ยุค คสช. แล้ว ตอนนี้มีรัฐธรรมนูญ มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ก็ยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด อย่างสงบและสันติ เป็นการเคลื่อนไหวที่สันติวิธีมาก ๆ และมีข้อเสนอที่ชัดเจน ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ก็เป็นข้อเสนอในกรอบประชาธิปไตย ก็คือยังยึดอยู่ในเรื่องที่มันถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เรียกร้องสิ่งที่อยู่นอกกรอบกฎหมาย ซึ่งในแง่นี้รัฐบาลยิ่งต้องรับฟัง
รัฐบาลจะจัดเวทีพูดคุยกับนักศึกษา แต่ด้านหนึ่งก็จับกุมแกนนำ?
คิดว่าจุดนี้ที่ทำให้นักศึกษายิ่งออกมามากขึ้น เพราะมันไปตอกย้ำว่าข้อเสนอของเขาที่ขอให้หยุดคุกคามประชาชน มันยังไม่เป็นจริง ซึ่งนักศึกษาก็เสนอชัดเจนมาตลอดและทำได้ง่ายที่สุดยิ่งกว่าข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญหรือยุบสภา เมื่อเขาชุมนุมอย่างสันติ ตำรวจก็ไม่ควรไปคุกคามเขา การอุ้มแกนนำที่จังหวัดพิษณุโลกไปกักขังหน่วงเหนี่ยว เหตุการณ์นั้นเป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมาย ซึ่งอันตรายมาก ๆ และรัฐบาลต้องพึงระวัง
ตอนนี้ฝ่ายนิติบัญญัติและพรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องออกมาเตือนสติรัฐบาล รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนต้องออกมาเตือนว่ารัฐบาลกำลังทำในสิ่งที่ล้ำเส้นเกินกรอบของกฎหมาย การละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ควรเกิดขึ้น ในเมื่อรัฐบาลอ้างมาตลอดว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นเหมือนเป็นการเติมเชื้อฟืนเข้ากองไฟ นักศึกษาจะยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น เพราะปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมไทยก็ถูกตั้งคำถามมากอยู่แล้ว
สิ่งที่รัฐควรจะต้องทำตอนนี้?
ในเมื่อมีกลไกกรรมาธิการ ก็ต้องทำงานอย่างจริงจัง ตั้งเวทีคุยกับนักศึกษา แต่ตอนนี้นักศึกษาเขาไม่เชื่อมั่นแล้ว และยิ่งเกิดเหตุการณ์ที่มีการออกหมายจับ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจ กลไกกรรมาธิการก็จะยิ่งไม่น่าเชื่อถือ ตัวนายกรัฐมนตรีก็กำลังจะขาดความน่าเชื่อถือ ในเมื่อท่านไปตระเวนคุยกับสื่อมวลชน พบสื่อออนไลน์ และบอกว่าจะรับฟังเสียงนักศึกษา แต่ไม่กี่วันต่อมามีหมายจับออกมา นักศึกษาก็จะรู้สึกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ก็จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน จุดสำคัญอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี ที่ต้องแสดงว่าตนอยากรับฟังจริง ๆ และไม่ควรไปคุกคาม ไม่ควรออกหมายจับ
ประเมินการเมืองหลังจากนี้?
มองว่ามีจุดเสี่ยงหลายจุด รัฐบาลก็ง่อนแง่น มีความขัดแย้งกันสูง ปรับ ครม. ครั้งนี้ก็มีหลายกลุ่มอกหัก ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเหมือนเดิม ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่คนเดือดร้อนมากขึ้น ซึ่งประเทศไหนที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ยากที่จะมีการเมืองที่สงบ คนจะเดือดร้อน ตกงาน นำมาสู่ม็อบ อาจไม่ใช่แค่ม็อบนักศึกษา แต่รวมถึงคนที่เดือดร้อนจากเศรษฐกิจ แล้วจะมาผสมกับการชุมนุมของนักศึกษา
ซึ่งนักศึกษานั้น ประเด็นพื้นฐานของเขา คือ ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งศึกในและศึกนอกที่มาจากประชาชน
ถ้ารัฐบาลไม่สามารถบริหารอำนาจได้อย่างระมัดระวังและฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลจะเผชิญกับวิกฤตหนัก ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ
ห้วงเวลาที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยง?
จากวันนี้ไปถึงสิ้นปี ประเทศไทยก็อยู่ในภาวะเสี่ยงแล้วที่เราจะเผชิญหน้ากับการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพอีกครั้ง และอาจจะเกิดการเผชิญหน้าได้สูง นักลงทุนก็เริ่มกังวล สำคัญที่สุดคือรัฐบาลที่ควรกำหนดได้ว่า อยากให้มันคลี่คลายหรืออยากจะนำไปสู่การเผชิญหน้า เพราะอำนาจอยู่ในมือรัฐบาล ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ หยุดคุกคาม และเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเลย ส.ว. ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญถ้าออกมาร่วมด้วย ก็จะได้ใจประชาชนว่าไม่ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ผมว่ามันเดินไปได้อย่างสงบ
ม็อบมุ้งมิ้ง รัฐพยายามใช้คำพูดแบบนี้?
ไม่ควรไปดูแคลนเขา ในเมื่อนักศึกษาเป็นอนาคตของชาติ เขาออกมาขนาดนี้ ตากแดดตากฝน ปกติเขาไม่ออกมาหรอกถ้าไม่เดือดร้อนหรือหมดความอดทนจริง ๆ ที่ผ่านมาผู้ใหญ่มักจะบอกว่า อยากให้นักศึกษาสนใจเรื่องบ้านเมือง อย่าเอาแต่เรียน ต้องคิดถึงคนอื่น ตอนนี้นักศึกษาออกมาแล้ว เพราะเขาคิดถึงเรื่องชาติบ้านเมืองแล้ว เราก็ยิ่งต้องสนับสนุนและทำให้เขารู้สึกว่า สังคมนี้เป็นของพวกเขาด้วย เขามีโอกาสที่จะกำหนดอนาคตของเขาด้วย
คิดว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเริ่มดำเนินการได้เลย ตอนนี้เป็นฉันทามติของสังคมแล้ว ทุกฝ่ายรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ ไม่อย่างนั้นประเทศเราก็จะไม่สามารถพ้นจากวิกฤตได้ ในเรื่องหยุดคุกคามก็ทำได้เลย ในเรื่องการฟังเสียงประชาชนก็ทำได้เลยเช่นกัน คือ ต้องสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมได้ และรู้สึกปลอดภัยที่จะส่งเสียง ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่มีรัฐบาลไหน ปลอดจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ และกลไกตำรวจทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ควรปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมือง
[หมายเหตุ : ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ให้สัมภาษณ์วันที่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 18.00 น.]