ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : “แก้รัฐธรรมนูญ” สร้างกติกาใหม่ที่ยอมรับความเห็นต่าง

จากอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มาถึงวันที่ต้องมองดูลูกศิษย์วัยหนุ่มสาวกำลังชุมนุมเรียกร้อง “การเมืองที่ดี” ในยุคปัจจุบัน

อะไรคือ “บทเรียนทางการเมือง” ที่อยากส่งต่อให้รุ่นน้องในฐานะรุ่นพี่ และทางออกที่เป็นจริง จากวิกฤตที่เขาทบทวน เรียนรู้ จากประสบการณ์ตลอดกว่า 30 ปี คืออะไร

The Active ชวนฟังข้อความชัด ๆ จาก “ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ปิดช่องทางแก้ปัญหาในสภาฯ นักศึกษาเลยต้องลงถนน

ถ้าพูดในเรื่องสัญญาณที่เกิดความรุนแรง ต้องบอกก่อนว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดอีกแล้วในประเทศไทย และก็คิดว่าไม่มีใครที่ตั้งใจจะให้เกิดความรุนแรงตั้งแต่แรก แต่ความขัดแย้งในทางการเมือง ถ้าหากไม่มีการรับฟังตามสมควร หรือไม่เกิดการเคารพสิทธิของกันและกันในการแตกต่างทางความคิด ก็จะนำไปสู่จุดที่เขม็งเกลียว และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้

ถ้าเปรียบเทียบกับยุคพฤษภาคม 2535 ตอนนั้นจุดเริ่มต้นคือการยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แล้วมีการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปีถัดมา พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี เดือนถัดมา คือ เมษายน และเหตุการณ์ก็เกิดเดือนถัดมาคือพฤษภาคม  รวมระยะเวลาเพียง 1 ปี กับ 3 เดือน หรือตอน 14 ตุลาคม ก็เริ่มจากปี 2514 ที่ จอมพล ถนอม กิตติขจร ฉีกรัฐธรรมนูญ และกว่าจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ปี 2516 คือ อีก 2 เดือนต่อมา แต่ปัจจุบันนี้ ถ้านับตั้งแต่ปี 2557 มัน 6 ปี แล้ว

หมายความว่า ถ้ามองในแง่นี้ ผู้ใหญ่ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกในการแสดงออกของนักศึกษา ก็อยากให้มองเทียบกับในสมัยที่ผู้ใหญ่เคยออกมาเรียกร้องในอดีต ตอนนั้นระยะเวลาสั้นกว่านี้มาก ปี 2535 ก็แค่ปีเดียว หรือตอน 14 ตุลาคม ก็ 2 ปี แต่คราวนี้มัน 6 ปี คือถ้าเด็กอยู่ปี 1 อายุ 18 ปี เขาอยู่อย่างนี้มา 6 ปี ตั้งแต่ปี 1 และจุดเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งนี้คือปี 2549 หรือ 14 ปีที่แล้ว นักศึกษาปี 1 อายุแค่ 4 ขวบเอง

“การแก้ปัญหาความเห็นต่างทางความคิดของคนในบ้านเมือง โดยกระบวนการและวิถีทางประชาธิปไตย ก็ต้องจบที่ใครจะเข้าไปเป็นตัวแทนในสภาด้วยกระบวนการเลือกตั้ง จบที่หีบเลือกตั้ง สมัยก่อนเขาจะบอกว่า ก็เลือกตั้งจบแล้ว แต่ทำไมครั้งนี้ไม่จบ”


เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้แสดงผลตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เปลี่ยนไปสู่อำนาจทางการเมือง เพราะมี ส.ว. ที่ คสช. เลือกไว้ แล้วก็ต้องเข้าใจในเรื่องที่ว่า 14 ปีที่ผ่านมามีเพียง 2  พรรคที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน คือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ทีนี้พอมีตัวเลือกใหม่มา แล้วคนที่เป็น First time voter คือ คนที่เพิ่งเกิดเมื่อ 18 ปีที่แล้ว และตอนนี้เป็นนักศึกษาที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองในขณะนี้ ก็อาจจะอยากเลือกในแบบที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ แต่พอเลือกแล้ว ก็ดันไปยุบพรรคที่เขาเลือก

“คือถ้าหากปล่อยให้ใช้กระบวนการในสภากันตามปกติ มันจะมีแฟลชม็อบได้ยังไง จะมีการชุมนุมเหรอ ทำให้กระบวนการที่ควรจะได้ใช้ตัวแทน คือจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง แล้วใช้ตัวแทนไปสู้กันในสภา พอไปปิดช่องนั้น ก็เลยเกิดการออกมาข้างนอก”


ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ เกิดการปฏิวัติ 2 ครั้ง มีเหตุการณ์นองเลือด 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งคนตาย 94 คน อีกครั้งคนตาย 30 คน และมีชุมนุมใหญ่อีก 2-3 ครั้ง มีการยึดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดกรุงเทพฯ ยึดสี่แยกราชประสงค์ ลองคิดดูว่าถ้านักศึกษาเขาเติบโตขึ้นมากับการเมืองที่ไม่ใช่แบบนี้ เขาก็คงไม่ออกมาแสดงออกแบบนี้

คิดว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา ก็คือ ต้องมองว่าเขาเรียกร้องอะไร เขาเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เรียกร้องการหยุดคุกคามเสรีภาพ เพราะเขารู้สึกว่าความเห็นของเขาถูกคุกคาม มีการติดตามตัว ซึ่งเรื่องนี้หยุดคุกคามนี้ทำได้เลย คือบางทีอาจเป็นการติดตามข่าว แต่ในมุมของนักศึกษาเขาจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นการติดตามเฉยๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น ก็ต้องเข้าใจความรู้สึกของนักศึกษา

ประสบการณ์อดีต : การชุมนุมไม่ใช่ปัจจัยเดียวของชัยชนะ

14 ตุลาคม 2516 ที่ชนะ ไม่ใช่เพราะการชุมนุมล้วน ๆ แต่ชนะเพราะในกองทัพแตกกัน ในตอนกลางดึกวันที่ 13 ตุลาคม ตอนนั้นรัฐบาลก็ยอมนักศึกษาแล้วที่จะให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ตอนที่นักศึกษาสลายตัวกลับบ้าน เกิดมีตำรวจมาขวางไม่ยอมให้กลับ และเกิดการใช้กำลัง ก็เลยลุกลามเป็นจลาจล คือมีคนไม่อยากให้จบ หรือมองอีกทางคือ ตอนนั้นนักศึกษาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือโค่นจอมพลถนอม กิตติขจร และก็มีคนตาย 72 คน จากเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม และเกิดการปราบปรามตามมา ความหมายคือ 14 ตุลาคม ไม่ได้ชนะเพราะการชุมนุมโดยลำพัง

ปี 2535 ที่ชนะก็ไม่ใช่เพราะการชุมนุมโดยลำพัง แต่เพราะมีคนตาย 44 คน และสูญหายอีก 300 คน จนกระทั่ง พลเอก สุจินดา ไม่สามารถจะบริหารบ้านเมืองได้ต่อไป เพราะเกิดการประท้วงทั้งประเทศ ต้องลาออก หรือ กปปส. ที่ปิดกรุงเทพฯ 6 เดือน ก็จบด้วยการยึดอำนาจของกองทัพที่เป็นผลมาจนปัจจุบัน คือสถานการณ์มันจบลงไม่ใช่ด้วยการชุมนุม แต่จบด้วยการยึดอำนาจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตอนนั้นแค่ยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่เขายอมแพ้เพราะการชุมนุม

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล บนรถปราศรัย


หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2551 ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน คือยกระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ คำถามคือ เราสามารถทำอะไรที่มากกว่าที่พันธมิตร หรือ กปปส. หรือ นปช. เคยทำได้ไหม ตอนนั้น นปช. ก็ยึดราชประสงค์อยู่ 2 เดือน จะทำอะไรที่มากกว่ายึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยึดราชประสงค์ ปิดกรุงเทพฯ

อยากชวนนักศึกษาให้ทำในสิ่งที่ชาญฉลาดกว่าที่ผู้ใหญ่เคยเคลื่อนไหวไว้ การยกระดับการชุมนุม ให้ดูว่าเคยทำมากสุดถึงไหน แล้วได้ผลหรือเปล่า ตอนพันธมิตรก็สำเร็จด้วยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน ไม่ใช่ด้วยการชุมนุมโดยลำพัง

“ความหมายคือ ถ้าเราไม่พอใจการเมืองของผู้ใหญ่ที่ทำไว้ ผมคิดว่าเป็นเรื่อง challenge  หรือท้าทายนักศึกษา ว่าเขาจะมีการเมืองในแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากที่เคยทำกันมา และทำให้บ้านเมืองสูญเสีย เกิดการนองเลือดได้หรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เขาคิดออก  เพียงแต่ที่พูดไปคือต้องการชี้ให้เห็นว่า เราต้องระวัง 14  ตุลาคม ไม่ใช่เรื่องของภาพคนเป็นแสนคนมาชุมนุมแล้วชนะ ไม่ใช่ แต่ 14 ตุลาคม ชนะเพราะทหารแตกกัน แล้วเกิดการนองเลือด ถนอมจึงต้องลาออก”


อยากให้เป็นเรื่องที่นักศึกษาเขาท้าทายในการคิดวิธีการ ในยุคนี้ยังมีสิ่งที่สมัยพฤกษภาคม 2535 กับ 14 ตุลาคม ไม่มี สมัยผมปี 2535  ผมก็มีสิ่งที่ 14 ตุลาคม ไม่มี ผมมีเพจเจอร์ ผมมีแฟสกส์ มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสมัย 14 ตุลาคมไม่มี

ถามว่ายุคนี้นักศึกษามีอะไรที่พฤกษภา 35 และ 14 ตุลา ไม่มี ก็คือโซเชียลมีเดีย มี facebook ทวิตเตอร์ สมาร์ตโฟน ที่สมัยก่อนไม่มี ก็เป็นโจทย์ของเขา เพียงแต่ว่า ก็ต้องระวัง

เรื่องการเขียนข้อความบนป้าย สมัยก่อนเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนที่เขียนอะไรบนป้ายแล้วยกขึ้นมาเป็นความเห็นของเขา แต่สมัยก่อนการจะออกสื่อได้ ต้องผ่าน บก. ถ้า บก. เห็นข้อความที่ไม่เหมาะสม บก. ก็จะไม่ออกข่าว ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ยุคของโซเชียลมีเดีย พอยกป้ายขึ้นแล้วถ่ายรูปโพสต์เลย ภาพก็ออกสื่อทันที เพราะทุกคนสามารถที่จะถ่ายทั้งคลิปหรือภาพนิ่งแล้วโพสต์ได้เลย


เรื่องพวกนี้ก็ต้องระวัง เพราะบางประเด็นก็เป็นเรื่องที่แทนที่จะเรียกแนวร่วม กลับเป็นการเรียกฝ่ายตรงข้ามออกมา มันเคยเกิดมาแล้วในช่วงหลัง 14 ตุลาคม ที่มีอาชีวะเป็นอีกข้างที่มาใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ซึ่งไม่ได้บอกว่าครั้งนี้จะใช้ความรุนแรง เพียงแต่คล้าย ๆ แบบนี้มันเคยเกิดแล้ว และไม่ควรจะเกิดอีก

“การเมืองคือการเอาชนะใจประชาชนตรงกลาง สิ่งที่นำมาสู่ชัยชนะที่แท้จริง คือทำให้ประชาชนที่ยังเฉย ๆ อยู่ ยังอยู่ตรงกลาง ๆ มาเห็นด้วยได้อย่างไร ดังนั้น อะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้คนตรงกลางเขาไม่เห็นด้วย ต้องระวัง หลีกเลี่ยง แต่ด้วยความที่โซเชียลมีเดียมันออกสื่อเลย ก็คงต้องจริงจังมากขึ้นในการดูกันเองว่าอะไรที่เลยขอบเขตก็ต้องช่วยกันดูแล”


แก้รัฐธรรมนูญ สร้างกติกาใหม่ที่ยอมรับความเห็นต่าง

ปัญหามันเกิดจากรัฐธรรมนูญที่ตั้งมาโดย คสช. แต่ถ้าหากมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ว่าจะเลือกพรรคไหน รู้สึกว่าเป็นกติกาของเรา ก็ไม่มีประเด็นมาเรียกร้องว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญกันแบบนี้

ต้องมองให้เห็นว่า มันคือการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่เราตกลงกัน ที่มันเป็นปัญหามาถึงขณะนี้ เพราะกติกาเขียนข้างเดียว แม้จะยอมทำตามกติกาที่เขียนข้างเดียว แต่พอพรรคซึ่งคนที่กำลังแฟลชม็อบกันอยู่เลือกมากกว่าพรรคอื่นได้เข้าสภา ดันไปปิดช่องทางนั้นด้วยการยุบพรรค ก็เลยเกิดสิ่งที่ในตอนนี้


คิดว่าเราต้องไม่ทำผิดซ้ำอีกในแง่ที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยมันแสดงออกกันได้ในขอบเขต ก็ต้องให้รับฟังกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือสถานศึกษา อย่าไปกีดกันเขา ให้เขาแสดงออกในรั้วมหาวิทยาลัย อย่าไปห้ามเขา เพราะเป็นเรื่องการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรส่งเสริมด้วย ถ้าเป็นการแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตยและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

“ผมคิดว่า วิธีการทำให้มันจบคือ มาตกลงกันว่า ในการอยู่ร่วมกัน กติกาต้องเป็นอย่างไร แล้วจากนี้ถ้าจะขัดแย้ง ก็ขัดแย้งภายใต้กติกานี้ ดังนั้น สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ที่นักศึกษาเรียกร้องมาก็มีเหตุผลที่รัฐบาล พรรครัฐบาล และ สว.ต้องฟัง ผมคิดว่าเรามาหาทางแก้ปัญหากันเถอะ อย่าให้นักศึกษาต้องมากดดันเรียกร้อง แล้วเป็นเรื่องที่นำไปสู่อะไรที่มันไม่ควรเกิดเลย”

Author

Alternative Text
นักเขียน

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว